ThaiPublica > คอลัมน์ > นโยบายออสเตรเลีย ในการใช้ Green Hydrogen เป็นพลังงานทดแทน

นโยบายออสเตรเลีย ในการใช้ Green Hydrogen เป็นพลังงานทดแทน

29 มกราคม 2022


ณัฐภาณุ นพคุณ รองอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
ทวิตเตอร์ @NatapanuN

ที่มาภาพ : https://www.energy.nsw.gov.au/renewables/renewable-generation/hydrogen#-potential-hydrogen-uses-in-nsw-

รัฐบาลออสเตรเลียมีนโยบายในการมุ่งลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (NET Zero) ภายในปี 2050 ซึ่งสอดรับกับแนวทางที่ได้หารือในที่ประชุม COP26 ในปีที่ผ่านมา การนำกรีนไฮโดรเจนมาใช้เป็นพลังงานทดแทนถือเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีสาขาสำคัญที่รัฐบาลออสเตรเลียให้ความสำคัญในลำดับต้น ในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดการปลดปล่อยคาร์บอน

โดยออสเตรเลียเป็นประเทศแรกที่จัดทำยุทธศาสตร์ไฮโดรเจนระดับชาติขึ้นในปี 2019 ซึ่งกำหนดเป้าหมายให้ออสเตรเลียเป็นประเทศผู้ส่งออกไฮโดรเจนชั้นนำของโลกในปี 2030 โดยในส่วนของรัฐบาล New South Wales ได้ถ่ายทอดยุทธศาสตร์มาจัดทำแผนการพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนของรัฐ ซึ่งกำหนดเป้าหมายให้เป็นผู้ผลิตไฮโดรเจนระดับนำของโลก และได้จัดทำโรดแมปที่ครอบคลุมทั้งวงจรเพื่อให้กรีนไฮโดรเจนสามารถเป็นทางเลือกด้านพลังงานสะอาด ตั้งแต่การพัฒนาเทคโนโลยีและการวิจัย การสร้าง supply chain พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาบุคลากรและอุตสาหกรรมที่รองรับ รวมทั้งสร้างความต้องการในตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

โดยหัวใจสำคัญที่จะทำให้แผนงานบรรลุเป้าหมายคือจะต้องสามารถผลิตไฮโดรเจนให้เป็นพลังงานทางเลือกที่มีต้นทุนต่อหน่วยที่ต่ำลง และสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมหันมาใช้พลังงานปล่อยคาร์บอนต่ำแทนการใช้พลังงานรูปแบบเดิม เพื่อให้ประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายในการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนลงร้อยละ 50 ในปี 2050 ได้

โดมินิค เพอร์รอตเทต มุขมนตรีแห่งรัฐ New South Wales ที่มาภาพ : https://www.smh.com.au/politics/nsw/perrottet-backs-australia-s-biggest-hydrogen-plan-to-power-state-s-future-20211012-p58zdk.html

เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว โดมินิค เพอร์รอตเทต มุขมนตรีแห่งรัฐ New South Wales ได้แถลงนโยบายการผลิต กรีนไฮโดรเจนในรัฐ ซึ่งจะมีศูนย์กลางการผลิตอยู่ที่เขตฮันเตอร์และเขตอิลลาวาร์ร่า รัฐบาลได้อนุมัติงบกระตุ้นโครงการ 3,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย โดยกำหนดเป้าหมายสำหรับปี 2030 ดังนี้

    1) ผลิต Green Hydrogen ได้ 110,000 ตันต่อปี
    2) อัตราการแยกสลายสารที่อยู่ในสถานะของเหลวด้วยไฟฟ้า (Electrolyser) อยู่ที่ 700 เมกะวัตต์
    3) มียานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยไฮโดรเจน 10,000 คัน และให้ร้อยละ 20 ของยานพาหนะขนส่งขนาดใหญ่ของรัฐบาล NSW เปลี่ยนไปใช้พลังงานไฮโดรเจน
    4) มีเครือข่ายระบบก๊าซผสมร้อยละ 10 (Gas network bending)
    5) ความสามารถในการผลิตพลังงานทดแทน 12 กิกะวัตต์
    6) มีสถานีจ่ายไฮโดรเจน 100 แห่ง และ
    7) ราคาไฮโดรเจนลดลงเหลือ ต่ำกว่า 2.8 ดอลลาร์ออสเตรเลีย ต่อกิโลกรัม

รัฐ New South Wales ใช้กลยุทธ์ 3 เสาในการพัฒนาโครงการกรีนไฮโดรเจน คือ

เสาที่ 1 สร้างปัจจัยเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม (Enable industry development) เป็นขั้นตอน เตรียมความพร้อม ศึกษาค้นคว้า วางแผนด้านการผลิต การจัดเก็บ การขนส่งของไฮโดรเจน พัฒนาแรงงาน ให้ทุนวิจัยนวัตกรรมใหม่ ๆ กำหนดกฎระเบียบและมาตรฐานเกี่ยวกับอุตสาหกรรมไฮโดรเจน

เสาที่ 2 วางรากฐานอุตสาหกรรม (Lay industry foundation) รัฐบาลจะให้เงิน สนับสนุนโครงการต่าง ๆ เพื่อพัฒนาปัจจัยสนับสนุนพื้นฐานสำหรับอุตสาหกรรมไฮโดรเจนเพื่อรองรับการขยายตัว ในอนาคต เพื่อสร้างศูนย์กลางไฮโดรเจนที่เขตฮันเตอร์และอิลลาวาร์ร่า (Hydrogen hub initiative) สร้างสาธารณูปโภคด้านการผลิตไฮโดรเจน (Hydrogen production infrastructure) สร้างเครือข่ายสถานีเติมไฮโดรเจนและการขนส่งไฮโดรเจน (Hydrogen refueling corridor)

เสาที่ 3 ขยายสเกลอย่างรวดเร็ว (Drive rapid scale) รัฐบาล New South Wales มีโครงการสนับสนุนการขยายตัวของอุตสาหกรรมไฮโดรเจน โดยลดต้นทุนห่วงโซ่การผลิต เช่น ยกเว้นค่าไฟฟ้า (Electricity scheme exemptions) ให้ทุนสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ปรับรูปแบบเพื่อรองรับ Net Zero (Supporting transformative industrial projects) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดราคาไฮโดรเจน

โรดแมปนี้จะทำให้รัฐติดอันดับ 10 เปอร์เซ็นต์ ในกลุ่ม OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development) ที่มีค่าไฟฟ้าอุตสาหกรรมต่ำที่สุดจากยุทธศาสตร์และแผนงานระดับชาติ ที่มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีที่ลดการปล่อยคาร์บอนเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมาย Net Zero ในปี 2050 รัฐบาลระดับรัฐได้จัดทำแผนเพื่อสร้างศูนย์กลางเทคโนโลยีพลังงานสะอาดของตนเองรองรับ เพื่อสร้างงานและขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใน โดยมุ่งดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ โดยพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตพลังงานสะอาดทดแทน ตามเป้าหมายของรัฐบาลกลาง ที่จะเป็นผู้ผลิตไฮโดรเจนและผู้ส่งออกพลังงานสะอาดชั้นนำในระดับโลกแทนอุตสาหกรรมถ่านหิน โดยในชั้นนี้ รัฐ New South Wales ได้เริ่มหารือกับญี่ปุ่นในเรื่องการร่วมลงทุนด้วยแล้ว

ในส่วนของไทย จะเป็นโอกาสให้พิจารณายุทธศาสตร์และแผนงานด้านการผลิตไฮโดรเจนของออสเตรเลียและรัฐบาล New South Wales ซึ่งอาจมีประเด็นที่ไทยสามารถแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากออสเตรเลียได้ ซึ่งรัฐ New South Wales มีการวางแผนงาน ที่ครอบคลุมทั้งระบบนิเวศน์ในการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานไฮโดรเจนให้สามารถทดแทนการใช้พลังงานรูปแบบเดิมได้ในต้นทุนที่ต่ำ ซึ่งไทยอาจพิจารณาสร้างความร่วมมือได้ในอนาคต