ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เปิดสูตรคำนวณต้นทุนเอ็นจีวี ผู้ประกอบการ–ส.ว. บี้ ปตท. แจงไส้ในที่แท้จริง

เปิดสูตรคำนวณต้นทุนเอ็นจีวี ผู้ประกอบการ–ส.ว. บี้ ปตท. แจงไส้ในที่แท้จริง

11 กุมภาพันธ์ 2012


หลังจากที่ ครม. ยิ่งลักษณ์ได้มีมติเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2554 ให้ดำเนินการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในภาคขนส่ง โดยให้ทยอยขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวีเดือนละ 50 สตางค์ต่อกิโลกรัม และปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีเดือนละ 75 สตางค์ต่อกิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2555 ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2555 ทั้งนี้เพื่อให้ราคาขายปลีกก๊าซที่ใช้กับรถยนต์สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และลดภาระค่าใช้จ่ายของกองทุนน้ำมันและบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

วันที่ 7 ตุลาคม 2554 ปตท. ก็เริ่มนำแผ่นพับโฆษณาไปติดไว้ที่ปั้ม NGV ชี้แจงว่า ต้นทุนที่แท้จริงของก๊าซเอ็นจีวี จริงๆ แล้วอยู่ที่กิโลกรัมละ 14.96 บาท ไม่ใช่กิโลกรัมละ 8.50 บาท ถ้าอยากจะใช้ก๊าซเอ็นจีวีกันอย่างยั่งยืน ก็ต้องยอมให้ ปตท. ทยอยปรับขึ้นราคาก๊าซให้สะท้อนกับราคาต้นทุนที่แท้จริง

ปรากฏว่า เอกสารที่ ปตท. นำออกมาเผยแพร่ กลับไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชน โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนส่งออกมาโจมตีอย่างหนัก ในประเด็นปกปิดราคาต้นทุนของเนื้อก๊าซ โดยในวันที่ 9 มกราคม 2555 กลุ่มผู้ปประกอบการขนส่ง ทั้งแท็กซี่ สิบล้อ รถร่วมบริการ ออกมาชุมนุมประท้วงบริเวณพระบรมรูปทรงม้า และที่หน้าสำนักงานใหญ่ของบริษัท ปทต. ทำให้การจราจรเป็นอัมพาตไปหลายจุด สุดท้ายก็จบลงด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วม ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนภาครัฐและผู้ประกอบการขึ้นมาตรวจสอบราคาต้นทุนของเนื้อก๊าซ (อ่าน ภาคอุตสาหกรรมจับมือผู้บริโภค รุมนโยบายลอยตัว NGV-LPG เลือกปฎิบัติ-ปกปิดต้นทุนเนื้อก๊าซ-เอาเปรียบประชาชน)

ขณะที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองขอให้ระงับการปรับขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวี พร้อมกับเรียกร้องให้ ปตท. เปิดเผยราคาต้นทุนของเนื้อก๊าซที่แท้จริง แต่ศาลไม่รับคำร้องเฉพาะประเด็นข้อเรียกร้องให้ระงับการปรับขึ้นราคาก๊าซเท่านั้น ส่วนเรื่องการปกปิดราคาต้นทุนของเนื้อก๊าซเอ็นจีวี ยังเป็นประเด็นที่จะต้องต่อสู้กันในชั้นศาลต่อไป

ดังนั้น เพื่อให้ประเด็นนี้เกิดความกระจ่าง และเป็นที่ยอมรับของประชาชน ทันทีที่นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานต่อจากนายพิชัย นริพทะพันธุ์ จึงมอบหมายให้นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ไปว่าจ้างสถาบันวิจัยพลังงานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหน่วยงานกลาง เข้ามาทำการศึกษาโครงสร้างต้นทุนราคาก๊าซเอ็นจีวีและแอลพีจี เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้

ประเด็นที่ว่า เหตุใดผู้ประกอบการและประชาชน จึงไม่เชื่อถือข้อมูลราคาต้นทุนของเนื้อก๊าซที่ ปตท. นำออกมาเผยแพร่ต่อสาธารณชน ทั้งๆ ที่ราคานี้ได้ผ่านการตรวจรับรองจากสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยมาแล้ว แต่กลับต้องมาให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรับรองซ้ำอีกรอบหนึ่ง

แหล่งข่าวจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า สาเหตุที่ข้อมูลของ ปตท. ไม่ได้รับการยอมรับ ก็น่าจะมาจากการที่ ปตท. ไปหยิบข้อมูลราคาก๊าซเอ็นจีวีที่ขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระที่ราคา 8.39 บาทต่อกิโลกรัม มาบอกกับประชาชนว่าเป็นราคาต้นทุนของเนื้อก๊าซเอ็นจีวี

ขณะที่ผู้ประกอบการและนักวิชาการหลายท่านมองว่า ราคา 8.39 บาทต่อกิโลกรัมนั้นไม่น่าจะใช่ราคาต้นทุนของเนื้อก๊าซ แต่เป็นราคาขายที่รวมค่าบริหารจัดการและบวกกำไรเข้าไปปนอยู่ในนั้นเรียบร้อยแล้ว อย่างเช่นที่ น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภากรุงเทพฯ ออกมาระบุว่า ราคาต้นทุนของเนื้อก๊าซเอ็นจีวีน่าจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 3.37 บาทเท่านั้น ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น สนพ. จึงต้องส่งข้อมูลสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยไปให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตรวจสอบและรับรองกันอีกครั้งหนึ่ง

สำหรับสูตรในการกำหนดราคาต้นทุนก๊าซ ในหลักการประกอบไปด้วยราคาเนื้อก๊าซเฉลี่ยที่ ปตท. ไปรับซื้อมาจากผู้ผลิตหรือผู้ขาย ได้แก่ โรงแยกก๊าซของ ปตท. ทั้ง 6 โรง ที่รับก๊าซมาจากแหล่งอ่าวไทย และพม่าที่รับก๊าซมาจากแหล่งยาดานาและเยตากุน (WH) บวกกับค่าตอบแทนในการจัดหาก๊าซ (M) และค่าผ่านท่อก๊าซ ซึ่งมีค่าประกันความเสี่ยง กรณีที่ไม่สามารถส่งมอบก๊าซให้กับผู้ผลิตไม่ได้ (Risk Premium) รวมอยู่ด้วย (T)

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ส่วนรายละเอียดของการกำหนดราคาต้นทุนของเนื้อก๊าซ (WH) จะคำนวณมาจากเนื้อก๊าซที่ ปตท. ไปซื้อมาจากผู้ขายหรือโรงแยกก๊าซ โดยใช้วิธีคำนวณแบบถ่วงน้ำหนักตามค่าความร้อน หมายความว่า ก๊าซดิบที่ ปตท. ไปซื้อมาจากหลุมจะมีองค์ประกอบของสารไฮโดรคาร์บอนหลายตัว อาทิ CH4, C2, C3, C4 และก๊าซโซลีน สารแต่ละชนิดจะให้ค่าความร้อนที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะก๊าซเอ็นจีวี (CH4) เป็นก๊าซที่ให้ค่าความร้อนสูงที่สุด (37-42 เมกกะจูลต่อลูกบาศก์เมตร) เมื่อนำมาคำนวณแบบถ่วงน้ำหนักแล้ว ก๊าซเอ็นจีวีจึงมีต้นทุนที่สูงกว่าก๊าซตัวอื่นๆ ดังนั้น เรื่องราคาต้นทุนของเนื้อก๊าซ (WH) น่าจะเป็นประเด็นที่ประชาชนอยากทราบว่าจริงๆ แล้วมีต้นทุนเท่าไหร่กันแน่

องค์ประกอบของก๊าซธรรมชาติ

เพราะส่วนที่เหลือจะเป็นค่าบริหารจัดการ อาทิ ค่าตอนแทนในการจัดหาก๊าซ (M) จะถูกกำหนดตามประเภทของผู้ใช้ก๊าซ อย่างเช่น กฟผ. และผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ ปตท. จะคิดค่าตอบแทนในการจัดหาก๊าซในอัตรา 1.75% ของราคาเฉลี่ยของเนื้อก๊าซ (WH) แต่ไม่เกิน 2.1525 บาทต่อล้านบีทียู (1 ล้านบีทียูเท่ากับ 27.82 กิโลกรัม) บวกค่าบริการจัดส่งก๊าซ แต่ถ้าขายให้กับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กและภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ คิดค่าตอบแทน 9.33% ของราคาเฉลี่ยเนื้อก๊าซ แต่ไม่เกิน 11.4759 บาทต่อล้านบีทียู บวกค่าบริการส่งก๊าซ

นอกจากประเด็นเรื่องเนื้อก๊าซแล้ว แหล่งข่าวจากผู้เชี่ยวชาญด้านเอ็นจีวีกล่าวว่า ถัดไปก็จะเป็นเรื่องค่าขนส่งก๊าซไปยังสถานีในราคา 5.56 บาทต่อกิโลกรัม หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตุว่าแพงเกินไปหรือไม่ ปัจจุบัน ปตท. มีปั๊มเอ็นจีวีเปิดให้บริการอยู่ 453 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นปั๊มที่อยู่ในแนวท่อ 104 แห่ง และปั๊มที่อยู่นอกแนวท่ออีก 349 แห่ง ซึ่งปั๊มที่อยู่นอกแนวท่อก๊าซจะมีต้นทุนค่าบริหารจัดการสูงมาก ต้นทุนดังกล่าวนี้ประกอบไปด้วยเงินลงทุนก่อสร้างปั๊ม ค่าไฟฟ้าที่ใช้ในการเดินเครื่องคอมเพรสเซอร์ 2 ตัว คอมเพรสเซอร์ตัวแรกติดตั้งอยู่ที่สถานีแม่ ใช้สูบก๊าซขึ้นมาจากท่อส่งก๊าซอัดใส่รถบรรทุกของเอกชน เพื่อส่งไปยังสถานีลูกที่อยู่นอกแนวท่อ 349 แห่ง ช่วงนี้จะมีต้นทุนเรื่องค่าขนส่ง จากนั้น ที่สถานีลูกจะต้องมีการติดตั้งคอมเพรสเซอร์ตัวเล็กอีกหนึ่งตัว ทำหน้าที่สูบก๊าซจากรถบรรทุกอัดใส่รถยนต์ของลูกค้าที่มาใช้บริการ

ส่วนสถานีที่อยู่ตามแนวท่อจะมีคอมเพรสเซอร์ตัวใหญ่เพียง 1 ตัว สูบก๊าซขึ้นมาจากท่อส่งก๊าซ อัดเข้าถังบรรจุก๊าซ เพื่อเติมใส่รถยนต์ของลูกค้าได้เลย ดังนั้น ปั๊มที่อยู่ตามแนวท่อจึงไม่มีต้นทุนค่าขนส่ง ทั้งยังมีต้นทุนค่าไฟฟ้าน้อยกว่า เพราะใช้คอมเพรสเซอร์เพียงตัวเดียว

“หากจะให้แฟร์ ปตท. ก็ควรจะเปิดเผยต้นทุนค่าบริหารจัดการ 5.56 บาทต่อกิโลกรัม ออกมาให้ชัดว่า ปั๊มที่อยู่ในแนวท่อก๊าซมีต้นทุนค่าบริหารจัดการเท่าไหร่ ส่วนปั๊มที่อยู่นอกแนวท่อมีต้นทุนอะไรบ้าง จุดไหนเป็นต้นเหตุที่ทำให้ ปตท. ต้องแบกรับภาระขาดทุนจนต้องขึ้นราคาก๊าซ” แหล่งข่าวจากผู้เชี่ยวชาญกล่าว