ไม่ได้เป็นครั้งแรกที่แหล่งผลิตก๊าซในประเทศพม่าประกาศปิดเพื่อปรับปรุง แต่ก่อนหน้านี้เคยปิดชั่วคราวมาแล้วหลายครั้ง
ล่าสุด เมื่อปลายปี 2554 แหล่งผลิตก๊าซเยดากุน มีการปิดตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2554 ถึงวันที่ 9 มกราคม 2555 ซึ่งส่งผลให้ปริมาณก๊าซที่จำหน่ายลดลง
จนกระทบต่อปั๊มเติมเอ็นจีวีที่อยู่ทางภาคตะวันตกของประเทศ และเขตฝั่งธนบุรี 16 แห่ง ต้องปิดให้บริการชั่วคราว ขณะที่ปั๊มตามแนวท่อก๊าซอีก 39 แห่ง เปิดให้บริการเฉพาะรถใหญ่เท่านั้น ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ใช้รถเอ็นจีวีเป็นอย่างมาก โดยทำให้คิวรอเติมก๊าซยาวเป็นกิโลเมตรจนล้นออกมานอกปั๊ม 40 แห่ง ที่ ปตท. เตรียมไว้ให้
และในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ก็เช่นกัน ที่จะมีการปิดซ่อมบำรุงแท่นขุดเจาะที่แหล่งก๊าซยาดานาและเยตากุน ในวันที่ 5-12 เมษายน นี้ ซึ่งจะทำให้การนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากพม่าขาดหายจากระบบไปถึง 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
คำถามจึงมีอยู่ว่า ความมั่นคงทางพลังงานของประเทศไทยมีมากน้อยเพียงใด?
เพราะดูเหมือนแทบทุกครั้งที่มีการซ่อมแซมในประเทศเพื่อนบ้านเมื่อใด ความโกลาหลจะเกิดกับประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ทุกครั้ง
ด้วยเพราะประเทศไทยไม่สามารถบริหารจัดการพลังงานภายในประเทศได้ และยังต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศอยู่มาก
จากรายงานประจำปี 2554 ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ระบุว่า ในปี 2554 ประเทศไทยมีการใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ขั้นต้นสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 4
คิดเป็นตัวเลขเฉลี่ยประมาณ 1.85 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน แบ่งเป็น พลังงานจากปิโตรเลียมถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ประกอบด้วย ก๊าซธรรมชาติ 44 เปอร์เซ็นต์ และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม 36 เปอร์เซ็นต์ ถ่านหินและลิกไนต์ 17 เปอร์เซ็นต์ และพลังงานน้ำ 3 เปอร์เซ็นต์
โดยในส่วนของปิโตรเลียมนั้น มีการจัดหาน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันสำเร็จรูป คิดเป็นปริมาณรวม 1,792,900 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน
เป็นการจัดหาจากแหล่งปิโตรเลียมในประเทศ รวมกับพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย รวม 796,300 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน แบ่งในรูปของก๊าซธรรมชาติ 3,288 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ก๊าซธรรมชาติเหลว 88,324 บาร์เรลต่อวัน และน้ำมันดิบ 134,557 บาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็น 44 เปอร์เซ็นต์ของการจัดหาปิโตรเลียมทั้งหมด
ขณะที่อีก 56 เปอร์เซ็นต์ หรือ 996,600 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยแบ่งเป็น น้ำมันดิบ 788,500 บาร์เรลต่อวัน ก๊าซธรรมชาติ 144,700 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน คอนเดนเสท 5,400 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ก๊าซธรรมชาติเหลว 16,300 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม 41,700 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน
ที่น่าสนใจคือ การนำเข้าก๊าซธรรมชาติทั้งหมดถูกนำมาใช้ในกิจกรรมประเภทต่างๆ ตามสัดส่วนดังนี้ เพื่อการผลิตไฟฟ้า 60 เปอร์เซ็นต์ ใช้ในโรงแยกก๊าซ 21 เปอร์เซ็นต์ ใช้ในอุตสาหกรรม 14 เปอร์เซ็นต์ และใช้ในการผลิตเอ็นจีวี 5 เปอร์เซ็นต์
นอกจากประเทศไทยจะนำเข้า-ส่งออก “พลังงาน” เพื่อการผลิตไฟฟ้าแล้ว อีกส่วนหนึ่งยังมีการนำเข้า-ส่งออก “ไฟฟ้า” ตามแนวชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย คือ ประเทศมาเลเซีย ลาว พม่า กัมพูชา
โดยในปี 2554 มีการนำเข้าพลังงานไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 10,682 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง เพิ่มขึ้นจากปี 2553 คิดเป็น 46.6 เปอร์เซ็นต์ มูลค่ากว่า 13,766 ล้านบาท ซึ่งเป็นสัดส่วนการนำเข้าจากประเทศลาวถึง 99.9 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ 0.1 เปอร์เซ็นต์ มาจากการนำเข้าจากประเทศมาเลเซีย
อย่างไรก็ตาม ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็ได้ส่งออกพลังงานไฟฟ้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านเช่นกัน โดยส่งออกเป็นจำนวนทั้งสิ้น 1,645 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง มูลค่า 5,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2553 ร้อยละ 1.9 โดยเป็นสัดส่วนการส่งออกให้ประเทศลาว 46.9 เปอร์เซ็นต์ กัมพูชา 29.5 เปอร์เซ็นต์ มาเลเซีย 19.6 เปอร์เซ็นต์ และพม่า 4 เปอร์เซ็นต์
นี่คือสถานะพลังงานของประเทศ!