สำนักข่าวออนไลน์ “ไทยพับลิก้า” ได้นำเสนอข่าวก๊าซเอ็นจีวีในรถยนต์ ซึ่งมีการเติมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปเพื่อปรับค่าความร้อนตามที่บริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) ชี้แจง และบริษัทปตท.ยืนยันว่าก๊าซเอ็นจีวีที่จำหน่ายเป็นก๊าซแห้งโดยมีคุณสมบัติตามมาตรฐานถังก๊าซ ISO 11439
ต่อประเด็นนี้มีความเห็นจากนักวิชาการทางด้านวิศวกรรมยานยนต์ได้ตั้งข้อสังเกตหลายประการต่อเรื่องนี้
แหล่งข่าวจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ยานยนต์เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเด็นที่เป็นห่วงคือความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัยสาธารณะที่อาจเกิดขึ้นจากคุณสมบัติก๊าซเอ็นจีวีที่ไม่ตรงตามสเปคที่ใช้กับมาตรฐานถัง ISO 11439 ซึ่งต้องเป็นก๊าซแห้ง แต่จากข้อมูลคุณสมบัติก๊าซเอ็นจีวีที่จำหน่ายเป็นก๊าซเปียก ดังนั้นหากคุณสมบัติของก๊าซไม่ได้ตามสเปคที่กำหนดไว้ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเกี่ยวโยงกับความปลอดภัยสาธารณะ ซึ่งอาจจะมีผลทำให้ถังก๊าซเอ็นจีวีมีอายุการใช้งานสั้นลง
ทั้งนี้ ตามมาตรฐานสากลทั่วโลกกำหนดว่าจะต้องมีการตรวจสอบถังก๊าซเอ็นจีวีที่ผ่านการใช้งานมาแล้วทุกๆ 5 ปี แต่ขณะนี้ในไทยยังไม่มีหน่วยงานใดมาทำหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพของถังที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว 5 ปี ซึ่งที่ประเทศไทยมีการติดตั้งก๊าซในรถยนต์อย่างจริงจังในปี 2549 เป็นต้นมา
“เมื่อทางการกำหนดว่าถังที่ใช้ต้องเป็น ISO 11439 เพราะเป็นเรื่องปลอดภัย แต่ขณะที่ผู้ขายก๊าซเอ็นจีวีไม่สามารถผลิตก๊าซได้ตรงตามสเปคที่กำหนดไว้ตามมาตรฐาน ISO-11439 คำถามว่าผู้บริโภคเชื่อได้อย่างไรว่าถังที่ใช้อยู่จะปลอดภัย ใครการันตีความปลอดภัยสาธารณะที่อาจจะเกิดขึ้นจากการใช้ถังก๊าซดังกล่าว นี่คือประเด็นที่ต้องการให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องออกมาดูแลในเรื่องนี้อย่างจริงจัง” แหล่งข่าวกล่าว
ปัจจุบันมีรถยนต์ที่ติดตั้งก๊าซเอ็นจีวีประมาณ 280,000 คัน ในจำนวนนี้แบ่งรถยนต์นั่งประมาณ 180,000 คัน และที่เหลือเป็นรถบรรทุก,รถโดยสารและรถบัสประมาณ 100,000 คัน ปกติรถขนาดใหญ่ติดถังก๊าซคันละ 6 ใบ หรือถ้าเฉลี่ยแค่คันละ 3 ใบ ต้องใช้ถังก๊าซ 300,000 ใบ ดังนั้นถ้ารวมกันคาดว่าจะมีถังก๊าซในรถยนต์ประมาณ 5 แสนใบที่ใช้งานอยู่
แหล่งข่าวกล่าวว่าทั้งนี้ตามสเปคถังที่ได้มาตรฐาน ISO 11439 ระบุไว้ว่าจะต้องนำถังที่ผ่านการใช้งานมาแล้วทุกๆ 5 ปี ถอดออกจากรถยนต์นำมาตรวจสอบ และนโยบายที่ส่งเสริมให้ผู้บริโภคหันมาติดก๊าซในรถยนต์ก็ 5 ปีแล้ว ยังไม่มีหน่วยงานดำเนินการในเรื่องความปลอดภัยสาธารณะแต่อย่างใด แม้มีข่าวว่ากรมธุรกิจพลังงานกำลังสุ่มตรวจ แต่สุ่มกรณีนี้จะสุ่มตรวจไม่ได้ เพราะตามมาตรฐาน ISO 11439 ไม่ได้บอกให้สุ่มตรวจ มาตรฐานกำหนดให้ต้องตรวจทุกใบ ต้องถอดถังมาทดสอบ และมีใบรับรองผลการทดสอบทุก 5 ปี และ 10 ปี โดยการเอ็กซเรย์อย่างละเอียด
“ภาครัฐยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง ถามว่าหน่วยงานไหนจะเป็นผู้รับผิดชอบ เริ่มตั้งแต่กรมขนส่งทางบกเป็นหน่วยงานที่อนุญาตให้นำก๊าซไปติดในรถยนต์ ต้องกำหนดระเบียบออกมาก่อน ส่วนเรื่องการทดสอบหรือตรวจสอบถัง เนื่องจากเป็นถังที่นำเข้า หน่วยงานที่จะต้องทดสอบคือสำนักมาตรฐานอุตสาหกรรม หรืออาจจะต้องมีการแต่งตั้งบริษัทเอกชนเข้ามาทดสอบ โดยการกำกับดูแลน่าจะเป็นกรมขนส่งทางบก”
ส่วนเครื่องมือที่ใช้ในการทดสอบคุณภาพถังที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว 5 ปี ขณะนี้มีที่กรมธุรกิจพลังงานเครื่องเดียวเท่านั้น แต่ไม่สามารถรองรับการตรวจสอบถังก๊าซที่ติดอยู่ในรถยนต์ได้ถัง 3-5 แสนใบได้
“วันนี้นักวิชาการทุกมหาวิทยาลัยทราบดีว่าก๊าซเอ็นจีวีที่นำมาเติมในรถยนต์ ไม่ได้คุณสมบัติตามมาตรฐานถัง ISO 11439 แต่เราก็หวังว่าปตท.จะทำมาตรฐานก๊าซให้ดีขึ้น ที่ผ่านมาทางคณะกรรมการกำหนดคุณภาพก๊าซตั้งแต่สมัยนายวิโรจน์ คลังบุญครอง ไล่มาจนถึงสมัยนายเมตตา บันเทิง เป็นอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน ได้เชิญปตท.มาหารือเพื่อกำหนดคุณสมบัติก๊าซเอ็นจีวีตามมาตรฐานถังที่กำหนด แต่ปตท.มาประชุมบ้าง ไม่มาประชุมบ้าง ทางกรมธุรกิจพลังงานก็ยอมผ่อนปรนให้ และหลังจากที่มีรถยนต์ที่กำลังเติมก๊าซอยู่ที่ช้างสามเศียร จ.สมุทรปราการ ระเบิด ผู้บริหารปตท.ได้ให้ปากคำที่กรรมาธิการ วุฒิสภาว่าก๊าซของปตท.ไม่มีไฮโดรเจนซัลไฟด์ ซึ่งเขายืนยันอย่างเป็นทางการ ทางกรรมาธิการก็ต้องเชื่อเขา เพราะถือว่าเป็นคำให้การกับภาครัฐ แต่ถ้าพิสูจน์ว่าก๊าซเอ็นจีวีไม่ได้มีคุณสมบัติดังที่ให้ปากคำ ถือว่าเป็นการให้ข้อมูลเท็จซึ่งถือว่ามีความผิดได้”
ในประเด็นนี้ แหล่งข่าวกล่าวว่าเมื่อปตท.ให้การที่รัฐสภาว่าก๊าซของปตท.ไม่มีไฮโดรเจนซัลไฟด์ ทางกรมธุรกิจพลังงานจึงเตรียมประกาศคุณสมบัติก๊าซเอ็นจีวีใหม่ว่าไฮโดรเจนซัลไฟด์ต้องเป็นศูนย์ แต่ปรากฏว่าปตท.ไม่ยอม เพราะไม่สามารถผลิตก๊าซเอ็นจีวีที่ไม่มีไฮโดรเจนซัลไฟด์เป็นศูนย์ได้ ทางกรมพลังงานจึงกำหนดคุณสมบัติตามมาตรฐานถัง ISO 11439 คือมีไฮโดรเจนซัลไฟด์ 23 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ส่วนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปนอยู่ในเนื้อก๊าซตามมาตรฐาน ISO 11439 กำหนดไว้ไม่เกิน 4 % ของปริมาตร แต่ประกาศกรมธุรกิจพลังงานปี 2542 กำหนดว่าในเนื้อก๊าซเอ็นจีวีให้มีคาร์บอนไดออกไซด์มีปนอยู่ไม่เกิน 18 % ถ้ากำหนดที่ 4 % ตามมาตรฐาน ISO 11439 ปตท.จะไม่มีก๊าซเอ็นจีวีมาขายเพราะไม่สามารถผลิตได้ตามมาตรฐานดังกล่าว แม้ตามแผนงานปตท.กำหนดไว้ว่าในอนาคตจะต้องอยู่ที่ระดับ 4-8 % ของปริมาตร แต่ปัจจุบันคาร์บอนไดออกไซด์ยังอยู่ที่ 12 %
แหล่งข่าวตั้งข้อสังเกตอีกว่า นอกจากประเด็นข้างต้นที่ต้องกังวลแล้ว ในส่วนของบริษัทประกันภัยรถยนต์จะรับผิดชอบอย่างไร ถ้ามีกรณีถังก๊าซที่ติดตามรถยนต์ระเบิด แล้วบริษัทประกันฯหยิบประเด็นผู้เอาประกันภัยไปเติมก๊าซเอ็นจีวีที่ไม่ได้ปตามมาตรฐาน ISO 11439 ก็อาจจะไม่ยอมจ่ายค่าสินไหมได้ หรือไม่เช่นนั้นบริษัทประกันภัยต้องปรับค่าเบี้ยประกันภัยกันใหม่ซึ่งอาจจะแพงขึ้น หรือถ้าบริษัทประกันภัยทำประกันความเสี่ยงต่อไปยังบริษัทประกันฯที่อยู่ต่างประเทศ (RE-INSURANCE) แล้วบริษัทประกันภัยต่างประเทศไม่จ่ายเงินชดเชยให้กับบริษัทประกันภัยไทยจะทำอย่างไร
“ประเด็นนี้ยังไม่เคยมีการนำขึ้นมาพิจารณาหรือศึกษาอย่างละเอียด หากมีการอ้างว่านำก๊าซที่ไม่ตรงตามสเปคมาเติม บริษัทประกันภัยจะหยิบยกขึ้นมาเป็นข้ออ้างไม่จ่ายค่าสินไหมได้ไหม ปัญหาตอนนี้คือมีการกำหนดคุณสมบัติถัง และคุณสมบัติก๊าซที่จะใช้กับถังแบบนี้ แต่ปรากฏว่าก๊าซที่เติมไม่ได้ตามสเปค ใครจะการันตีว่าอายุการใช้งานของถังจะใช้ได้ตามที่บอกไว้หรือไม่ เพราะถังก๊าซบางยี่ห้อที่ได้ ISO-11439 ระบุว่ามีอายุการใช้งาน 15 ปี บางยี่ห้อก็ 20-25 ปี หรือเติมก๊าซได้ไม่เกิน 10,000 ครั้ง” แหล่งข่าวกล่าว
“เอ็นจีวีปตท.” เป็นก๊าซเปียก หรือแห้ง?
สำหรับคำนิยามก๊าซเปียก (WET GAS) หรือก๊าซแห้ง (DRY GAS) จากข้อมูลของ Encyclopedia Britannica อธิบายคำว่า ก๊าซเปียก คือก๊าซที่มีสารไฮโดรคาร์บอนเป็นส่วนผสม ทั้งที่อยู่ในรูปของก๊าซและของเหลว โดยอะตอมของไฮโดรคาร์บอนที่ผสมอยู่นั้นจะมีน้ำหนักของอะตอมมากกว่าก๊าซอีเทน(C2) เช่น ก๊าซโพรเพน(C3) หรือก๊าซบิวเทน(C4)
ส่วนก๊าซแห้ง คือ ก๊าซธรรมชาติที่อยู่ในสถานะของก๊าซเสมอ โดยมีส่วนผสมของก๊าซไฮโดรคาร์บอนหนัก เช่น ก๊าซอีเทน,บิวเทน โพรเพน ผสมอยู่ในปริมาณที่น้อยมาก
ส่วนข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติระบุว่าก๊าซแห้ง คือก๊าซธรรมชาติที่มีการแยกก๊าซไฮโดรคาร์บอนอื่นๆที่ผสมอยู่ออกไปจนเหลือก๊าซมีเทน(CH4) เป็นส่วนผสมมากที่สุด ถือเป็นก๊าซแห้ง แต่ถ้ามีไฮโดรคาร์บอนตัวอื่นๆ ปะปนอยู่จะถือเป็นก๊าซเปียก
ดังนั้นก๊าซเปียก คือ ก๊าซธรรมชาติที่มาจากหลุมก๊าซ นอกจากจะมีก๊าซมีเทนเป็นส่วนผสมหลักแล้ว หากมีไฮโดรคาร์บอนที่มีน้ำหนักของอะตอมสูงๆ เช่น C2,C3,C4 และ C5 ขึ้นไป ผสมอยู่ในเนื้อก๊าซด้วย ถือเป็นความเปียกของก๊าซธรรมชาติ (WETNESS) ดังนั้นคำว่าก๊าซเปียก จึงไม่จำเป็นต้องมีน้ำเป็นส่วนผสมอย่างที่หลายคนเข้าใจ
ในส่วนคุณสมบัติของก๊าซเอ็นจีวีที่นำมาใช้กับถังบรรจุก๊าซที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO 11439 (ดูตามตาราง) กรณีที่เป็นก๊าซแห้งนั้นจะไม่ค่อยมีปัญหา แต่ถ้าเป็นก๊าซเปียกจะมีส่วนคาร์บอนไดออกไซด์ผสมอยู่ในเนื้อก๊าซเอ็นจีวีเกินกว่า 4% ไม่ได้
หากมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ผสมอยู่เกินกว่าที่กำหนด น่าจะถือว่าเป็นการใช้งานผิดสเปคและอาจจะมีผลกระทบต่ออายุการใช้งานของถังก๊าซ
เมื่อไปตรวจสอบกำลังการผลิตของโรงแยกก๊าซธรรมชาติของปตท. ทั้ง 5 โรง และโรงแยกก๊าซหน่วยที่ 6 ปรากฏว่ามีกำลังการผลิตก๊าซมีเทนที่มีความบริสุทธิ์ (ก๊าซแห้ง) แค่วันละ 1,861 ล้านลูกบาศก์ฟุตเท่านั้น ขณะที่ความต้องการใช้ก๊าซเอ็นจีวีมีมากถึง 4,400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
คำถามก็คือบริษัทปตท.เอาก๊าซจากที่ไหนมาเติมผสมเข้าไปในก๊าซเอ็นจีวี เพื่อให้มีปริมาณเพียงพอกับความต้องการใช้ในแต่ละวัน
สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้สอบถามเจ้าหน้าที่บริษัทปตท.ในสายงานก๊าซธรรมชาติ ยอมรับว่ามีการนำก๊าซจากอ่าวไทยที่ยังไม่ผ่านโรงแยกก๊าซ (BYPASS) บางส่วนเติมผสมเข้าไปประมาณ 900-1,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการใช้ในแต่ละวัน และส่วนที่เหลืออีก 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเป็นก๊าซที่มาจากพม่า ป้อนตรงเข้าโรงไฟฟ้าและนำมาใช้กับรถยนต์ แต่ก๊าซพม่าจะมีไฮโดรคาร์บอนที่มีอะตอมหนักผสมอยู่น้อยกว่าอ่าวไทย
อย่างไรก็ตาม ทั้งก๊าซอ่าวไทย และก๊าซที่มาจากพม่าที่ไม่ผ่านโรงแยกก๊าซธรรมชาตินั้น ก่อนที่จะนำไปใช้ในโรงไฟฟ้าหรือรถยนต์ ทางบริษัทปตท. ต้องนำก๊าซดิบมาผ่านกระบวนการแยกของเหลวออกจากตัวก๊าซเอ็นจีวี หรือที่เรียกว่า “BOILING POINT CONDENSATE UNIT:BPCU” ก่อนทุกครั้ง และมีการสุ่มตรวจสอบคุณภาพก๊าซเป็นระยะๆ เพื่อให้แน่ใจว่าในเนื้อก๊าซไม่มีไม่มี CONDENSATE ปนมาด้วย
กระบวนการ BCPU นั้น ก็คือการนำก๊าซธรรมชาติดิบดิบมาผ่านกะบวนการทำให้เย็น (COOLER) ก๊าซที่มีอะตอมหนักจะถูกควบแน่นกลายเป็น CONDENSATE กับน้ำแล้วเอาไปขายได้
ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ของบริษัทปตท.ยืนยันว่าก๊าซเอ็นจีวีที่บริษัทปตท.นำมาขายให้ประชาชนว่าเป็นก๊าซแห้ง ถึงแม้ก๊าซอ่าวไทยจะมีการเติมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กลับเข้าไปในเนื้อก๊าซจนมีสัดส่วนมากกว่า 4 % หากเป็นก๊าซแห้งก็จะไม่มีผลทำให้ผนังด้านในของถังเกิดการกัดกร่อนขณะที่นักวิชาการกล่าวว่าก๊าซเอ็นจีวีที่นำมาขายเข้าข่ายคุณสมบัติเป็นก๊าซเปียก เพราะว่าถ้านำก๊าซธรรมชาติมาผ่านกระบวนการ BCPU เพื่อแยกของเหลวออกไปแล้วกลายเป็นก๊าซแห้ง บริษัทปตท.จะมาลงทุนหลายหมื่นล้านบาทสร้างโรงแยกก๊าซทำไม ปตท.สามารถยืนยันได้หรือไม่ว่า กระบวนการ BCPU จะสามารถแยกโมเลกุลของก๊าซไฮโดรคาร์บอนหนักออกไปได้ทั้งหมด
ด้านปตท.ชี้แจงในประเด็นนี้ว่า BCPU เป็นกระบวนการเป็นเทคโนโลยีที่ปตท.ใช้แยกของเหลวออกจากเนื้อก๊าซมาตั้งแต่ก่อนที่จะมีการลงทุนสร้างโรงแยกก๊าซ โดยก๊าซที่นำมาใช้จะต้องอยู่ในสถานะของก๊าซไม่มีของเหลวปะปนเข้ามา
ส่วนสาเหตุที่ต้องลงทุนก่อสร้างโรงแยกก๊าซ เพื่อต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าของปตท. โดยก๊าซที่ได้จากกระบวนการแยกก๊าซจะนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องของปตท. ขณะที่ BPCU จะได้แค่น้ำกับคอนเดนเสต ซึ่งเอาไปแยกต่อหรือสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าไม่ได้มากนัก