ThaiPublica > ประเด็นร้อน > พลิกเกมเศรษฐกิจ กับ 10 แนวคิดนักเศรษฐศาสตร์

พลิกเกมเศรษฐกิจ กับ 10 แนวคิดนักเศรษฐศาสตร์

ชุดความบทความ “พลิกเกมเศรษฐกิจ กับ 10 แนวคิดนักเศรษฐศาสตร์”ร่วมเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงที่เน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่ประเทศไทยต้องปฏิรูปเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างอย่างจริงใจตั้งแต่วันนี้ก่อนที่จะสายเกินแก้ โดยนำเสนอ 10 แนวคิดที่จะช่วยแก้เกมเศรษฐกิจไทยจากมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์หลากหลายแขนง

พลิกการปฏิรูปนโยบายสาธารณะให้ยั่งยืนด้วยกลไกการมีส่วนร่วม

บทความนี้นำเสนอแนวคิดการปฏิรูปนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมเปิดโอกาสให้คนในระบบเศรษฐกิจได้แลกเปลี่ยนความคาดหวังที่มีต่อนโยบายสาธารณะ รวมถึงข้อจำกัด และผลกระทบที่คาดว่าจะได้รับจากการประกาศใช้นโยบาย จนนำไปสู่การตัดสินนโยบายร่วมกัน ท่ามกลางภูมิทัศน์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป และอาจยิ่งส่งผลต่อความหลากหลายและความเหลื่อมล้ำให้ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

พลิกกระบวนทัศน์จัดการงบประมาณ ให้ตอบสนองความท้าทายของประชาชน

บทความนี้นำเสนอเพื่อให้เห็นว่า กระบวนการงบประมาณของไทยควรถูกยกเครื่องใหม่ เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่น พร้อมรับมือกับสถานการณ์และสารพัดความท้าทาย แต่ขณะเดียวกันก็ยังต้องมีกลไกความรับผิดรับชอบ ให้ใช้งบประมาณได้อย่างคุ้มค่า ตอบสนองต่อปัญหา และสะท้อนความต้องการของประชาชนได้ ด้วยสถานการณ์การค้าและการเมืองระดับโลกที่ไม่แน่นอน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแบบพลิกผัน และปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เกินความคาดหมายของคนมาตลอด ผนวกกับความพึ่งพาของไทยต่อโลกอย่างลึกซึ้ง ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อไทยถี่ขึ้น รุนแรงขึ้น และรับมือได้ยากยิ่งขึ้น

พลิกโฉมการออกแบบนโยบายสาธารณะด้วยระบบฐานข้อมูลแบบเชื่อมโยง

บทความนี้นำเสนอแนวคิดว่า ถึงเวลาที่รัฐบาลไทยต้องหันมาให้ความสำคัญในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูล (data infrastructure) มากขึ้น หนึ่งในนั้นคงเป็นการ “ริเริ่ม” และ “ปลดล็อก” เพื่อสร้างระบบฐานข้อมูลแบบเชื่อมโยงเพื่อความคุ้มครองทางสังคม (social protection) และการบริการสาธารณะ (public services) เพื่อให้ทันท่วงทีกับบริบทเศรษฐกิจและสังคมไทยที่จะเปลี่ยนแปลงไปในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

พลิก “วิกฤติผูกขาด” สู่ “สนามแข่งขันที่เหมาะสม” ด้วยนโยบายการแข่งขัน

บทความนี้นำเสนอว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องกำหนด “นโยบายการแข่งขัน” เพราะประเทศไทยก็ต้องการการแข่งขันที่มากขึ้นในหลากหลายภาคส่วน และการไม่มีนโยบายการแข่งขันที่ชัดเจนคือ การรับอิทธิพลของต่างประเทศมาผ่านกระบวนการทั้งทางตรงและทางอ้อม หากปราศจากนโยบายที่ชัดเจน คงเป็นการยากที่จะสร้างให้เกิด “การแข่งขันที่เหมาะสมที่สุด” ขึ้นในประเทศไทย ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศท่ามกลางความท้าทายที่เพิ่มมากขึ้นในบริบทปัจจุบัน

พลิกไทยสู้โลกเดือด อยู่ให้รอดด้วยความโปร่งใสและการเปิดเผยข้อมูล

บทความนี้นำเสนอแนวคิด่ว่า ไทยจำเป็นต้องยกปัญหาสภาพภูมิอากาศ โลกเดือด ให้เป็นวาระระดับชาติต่อเนื่องยาวนาน พร้อมติดคันเร่งสร้างความโปร่งใสผ่านข้อมูลที่มีคุณภาพและเข้าถึงได้ ลดปัญหาความไม่สมมาตรของข้อมูลเพื่อหลีกเลี่ยงการฟอกเขียวที่เป็นต้นทุนราคาแพง เพื่อนำพาประเทศเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำได้อย่างทันการณ์

พลิกกลไกค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อตอบโจทย์ SMEs อย่างตรงจุด

บทความนี้จะขอกล่าวถึงกลไก ‘การค้ำประกันสินเชื่อสำหรับ SMEs’ ที่มีศักยภาพในการลดต้นทุนให้ปรับตัวแข่งขันได้ แต่ต้องถูกพัฒนาใหม่เพื่อเพิ่มคุณภาพการเข้าถึงสินเชื่อและลดการบิดเบือนแรงจูงใจของผู้เกี่ยวข้องในระบบ

พลิกโอกาสการแข่งขัน ด้วยการสร้าง ‘กลไกการรับส่งข้อมูล’

บทความนี้นำเสนอว่า พัฒนาการทางเทคโนโลยีและข้อมูลช่วยให้ธุรกิจเพิ่มประสิทธิภาพและต่อยอดบริการให้ดีขึ้นได้อีก และยังเป็นโอกาสในการปลดล็อคปัญหาด้านการแข่งขันของประเทศไทยที่กลไกตลาดปัจจุบันยังทำงานไม่ได้เต็มที่

พลิกระบบพัฒนาทักษะ เพิ่มมูลค่าตลาดแรงงานไทยในยุคดิจิทัล

บทความนี้ต้องการชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนของประเทศและเสนอแนวทางให้แรงงาน ธุรกิจ และภาครัฐไทยพร้อมรับมือกระแสดิจิทัลเทคโนโลยีซึ่งทุกฝ่ายสามารถช่วยกันพลิกกลยุทธ์เพิ่มมูลค่าตลาดแรงงานไทยได้ท่ามกลางความท้าทายสำคัญจากการปฏิวัติดิจิทัล (Digital revolution)

พลิกแพลงใช้ Supply-Side Policy เพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ

บทความนี้นำเสนอนโยบายทางเลือกที่ผู้ดำเนินนโยบายสามารถใช้รับมือกับ Supply Shocks ขณะที่ยังสามารถสงวน Demand-Side Policy ที่มีจำกัดไว้ใช้รับมือกับ Demand Shocks นโยบาย Supply-Side Policy จะช่วยลดผลกระทบของ Supply Shocks และประคับประคองการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะสั้น พร้อมกับทยอยปรับปรุงโครงสร้างและกลไกการทำงานของระบบเศรษฐกิจในระยะยาว

พลิกโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ด้วยนโยบายการพัฒนาแบบมุ่งพันธกิจ (Mission Oriented Policy)

บทความนี้นำเสนอว่าเราจำเป็นต้องปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งใหญ่แน่นอน คำถามที่ถูกต้องคือ “จะทำอย่างไร” มากกว่า และต้องด้วยด้วยนโยบายการพัฒนาแบบมุ่งพันธกิจ Mission-oriented policy เพราะความไม่แน่นอนในโลกทุกวันนี้เป็นความท้าทาย (Challenges) ต้องแปลงความท้าทายเหล่านี้เป็น “พันธกิจ” การกำหนดพันธกิจชัด เพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่ากรณีที่ใช้ทรัพยากรอย่างกระจัดกระจาย