ThaiPublica > ประเด็นร้อน > พลิกเกมเศรษฐกิจ กับ 10 แนวคิดนักเศรษฐศาสตร์ > พลิกไทยสู้โลกเดือด อยู่ให้รอดด้วยความโปร่งใสและการเปิดเผยข้อมูล

พลิกไทยสู้โลกเดือด อยู่ให้รอดด้วยความโปร่งใสและการเปิดเผยข้อมูล

6 กุมภาพันธ์ 2024


ธนิดา ลอเสรีวานิช

โลกร้อน ไทยเดือด เสี่ยงหนักหากรัฐบาลยังคงนิ่งเฉย

ปี 2023 คือปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น 1.35 องศาเซลเซียส จากยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม เข้าใกล้ภาวะโลกเดือดที่กำหนดว่าอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสไปทุกที ความหวังสุดท้ายของโลกที่พยายามกดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกตามเป้าของความตกลงปารีสเริ่มเลือนลาง

ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ ไทยมี ‘จุดเดือด’ ที่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ในโลก ส่งผลให้ไทยจำต้องเผชิญความท้าทายที่อาจยากเกินรับมือ

จากการคำนวณของ Global Climate Risk Index ไทยติดอันดับที่ 9 ของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติรุนแรงและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลก คิดเป็นมูลค่าความเสียหายราว 7,720 ล้านดอลลาร์ สรอ. และมีการประมาณการไว้ว่า GDP ของไทยอาจลดลงมากถึงร้อยละ 43.6 ภายในปี 2048 หากรัฐบาลยังไม่จัดการกับปัญหาสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง

นอกจากความเสี่ยงเชิงกายภาพแล้ว ไทยยังพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลสูง ทำให้ปรับตัวลดก๊าซเรือนกระจกได้ยาก ต้องใช้เงินทุนมหาศาลในการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เสี่ยงต่อการล้มหายของธุรกิจเมื่อต้องปรับกระบวนการผลิต รวมถึงต้องรับมือกับแรงกดดันจากนโยบายทางการค้าของเหล่าประเทศมหาอำนาจ อาทิ มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ของสหภาพยุโรปที่เก็บภาษีนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงจำนวน 6 รายการ ที่แม้ปัจจุบันประเทศไทยยังคงได้รับผลกระทบในวงจำกัด แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าไทยจะอยู่รอดท่ามกลางสงครามสีเขียว

Status Quo ของรัฐที่นับวันยิ่งท้าทาย

เมื่อหันกลับมามองประเทศไทย รัฐบาลที่มีภาระล้นมือได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศอย่างค่อยเป็นค่อยไป และไม่มีกลไกประสานการทำงานให้เป็นระบบ โดยไม่ได้สร้างเครือข่ายที่แข็งแกร่ง แบ่งหน้าที่รับผิดชอบอย่างชัดเจน หรือแม้แต่จะมอบหมายอำนาจและงบประมาณอย่างเพียงพอ แม้จะมีแผนการดำเนินงานบ้างแล้ว เช่น แผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อบรรลุการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (National Determined Contribution: NDC) แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าหรือเห็นรัฐใช้เครื่องมือในการออกนโยบายมากเท่าที่ควร

เครื่องมือการดำเนินนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศแบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ ได้แก่ นโยบายสั่งการและควบคุม นโยบายที่อิงกลไกตลาด และนโยบายส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าด้วยกัน โดยไม่ว่าจะดำเนินการในรูปแบบใด ความท้าทายยิ่งยวดของไทยคือ การบรรลุผลลัพธ์ในการจำกัดและจัดการกับความเสี่ยงจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยโลกได้จริงและยั่งยืน โดยเฉพาะที่นโยบายจะต้องไม่สนับสนุน ‘การฟอกเขียว (greenwashing)’ ตัวการสำคัญที่บิดเบือนกลไกตลาดด้วยความไม่สมมาตรของข้อมูล (Asymmetric Information) ทั้งทางตรงและทางอ้อม

การฟอกเขียว คือ ‘การกล่าวอ้างเกินจริง’ ครอบคลุมทั้งการสร้างภาพลักษณ์ว่าเป็นสินค้าหรือบริษัทที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแต่ไม่มีหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจริง, การเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของธุรกิจที่เกินจริง, การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมแบบฉาบฉวย, รวมถึงการเลือกใช้กลไกตลาดในการลดก๊าซเรือนกระจกแทนที่จะลดการปล่อยมลพิษโดยตรง ซึ่งการกล่าวอ้างเกินจริงจะสร้างความเข้าใจผิดในตลาด ธุรกิจเองหาช่องว่างของข้อมูลในการนำเสนอสินค้าและบริการที่ไม่สามารถช่วยลดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้จริง ส่งผลให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าหรือบริการที่เป็นเพียงโฆษณาชวนเชื่อสีเขียว รวมถึงการจัดสรรเงินทุนของภาคการเงินสำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Finance) ก็ไม่สามารถดำเนินงานได้ตรงจุด การฟอกเขียวจึงเปรียบเสมือนการทุ่มเงินมหาศาลไปกับการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ซุกปัญหาไว้ใต้กองเงินที่ก่อให้เกิดต้นทุนราคาแพงต่อเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว

ไม่ว่าจะด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณที่ปันส่วนให้กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพียง 540 ล้านบาท หรือการลำดับความสำคัญที่จัดปัญหาสภาพภูมิอากาศไว้ลำดับท้าย…

ไทยจำเป็นต้องปลดตัวเองออกจากกับดักแห่งความนิ่งเฉยโดยไม่ฟอกเขียว

นี่จึงเป็นเวลาเหมาะสมที่ต้องเร่งเครื่องให้พ้นสถานะปัจจุบัน (Status Quo) ด้วยการผสมผสานนโยบายเพื่อลดต้นทุนและความเสี่ยงจากการปรับตัวที่ไม่ทันการณ์

สู่อนาคตที่ยั่งยืน หยุดกลไกตลาดที่บิดเบือนด้วยความโปร่งใส

‘ความโปร่งใส’ เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาประเทศในทุกด้าน และเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มต้นทุนการฟอกเขียว รัฐต้องเร่งพัฒนาฐานข้อมูลกลางที่ข้อมูลมีคุณภาพน่าเชื่อถือและประชาชนสามารถเข้าถึงได้ สามารถดึงข้อมูลที่ละเอียดที่สุดเพื่อใช้ทั้งตรวจสอบการดำเนินธุรกิจว่าเข้าข่ายการฟอกเขียวหรือไม่ และใช้วางแผนกลยุทธ์การปรับตัวสู่กติกาใหม่ในโลกที่ยั่งยืน

รัฐควรให้ความสำคัญกับข้อมูลความยั่งยืนของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเพิ่มขึ้น ธุรกิจ SMEs ถือเป็นเส้นเลือดฝอยของระบบเศรษฐกิจและเป็นห่วงโซ่อุปทานของบริษัทขนาดใหญ่ การเก็บข้อมูลที่ละเอียดจะช่วยให้ประเทศประเมินสถานะปัจจุบันของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ชัดเจนขึ้น

ในปี 2023 ธนาคารกลางสิงคโปร์เปิดตัว Greenprint ฐานข้อมูลความยั่งยืนสำหรับธุรกิจทุกขนาดในรูปแบบออนไลน์ ผนึกกำลัง AI ช่วยคำนวณข้อมูลที่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กอาจไม่สามารถจัดเก็บได้ให้ครบถ้วน เช่น ข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อม ข้อมูลการเดินทาง-ขนส่ง ซึ่งจะช่วยให้ตลาดมีข้อมูลคุณภาพที่ครบถ้วนและเข้าถึงง่าย โดยแพลตฟอร์มจะเปิดโอกาสให้ธุรกิจสามารถเลือกได้ว่าจะเปิดเผยข้อมูลกับใคร ซึ่งธนาคารกลางสิงคโปร์ร่วมมือกับคู่ธุรกิจสำคัญจัดตั้งนิติบุคคลใหม่เพื่อขับเคลื่อนแพลตฟอร์มโดยเฉพาะ ปัจจุบันอยู่ระหว่างทดลองใช้โดยเริ่มจัดเก็บข้อมูลของธนาคารและบริษัทเป้าหมายก่อน

Taxonomy ตัวช่วยสำคัญของการเปิดเผยข้อมูลให้ทัดเทียมสากล

นอกจากฐานข้อมูลแล้ว คุณภาพของข้อมูลยังเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้กลไกตลาดทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ไทยจึงต้องการตัวคัดกรองที่มีความน่าเชื่อถือ มีนิยามที่เข้าใจตรงกัน ซึ่ง Thailand Taxonomy ที่จัดทำโดยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานกำกับดูแลในภาคการเงินจึงเป็นตัวช่วยสำคัญที่จะทำให้การเปิดเผยข้อมูลนั้นใช้งานวัดผลได้จริงและมีความเป็นสากล

Thailand Taxonomy เปรียบได้กับ ‘พจนานุกรม’ หรือตัวคัดกรองและจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ใช้วัดว่ามีการดำเนินงานที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากเพียงใด หรือเรียกอย่างง่ายว่า Green Taxonomy โดยจะแบ่งกิจกรรมเป็น 3 กลุ่มตามลักษณะสัญญาณไฟจราจร กล่างคือ

  • ‘สีเขียว’ หมายถึงกิจกรรมที่สามารถช่วยลดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศได้ตามเป้าหมายของความตกลงปารีส เช่น การผลิตไฟฟ้าด้วยโซลาร์เซลล์ หรือการใช้รถยนต์ไฟฟ้า
  • ‘สีเหลือง’ สำหรับกิจกรรมนั้นมีโอกาสจะลดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศได้หากได้รับการปรับปรุงกระบวนการผลิตหรือมีเทคโนโลยีช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ เช่น การผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงชีวภาพที่ไม่ปล่อยคาร์บอนมากเกินตัวชี้วัดที่กำหนด ซึ่งกิจกรรมที่เป็ฯสีเหลืองยังถือว่าเป็นกิจกรรมที่สามารถปรับตัวได้ (Transition)
  • ‘สีแดง’ ในกรณีที่กิจกรรมนั้นไม่สามารถลดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศได้ เช่น การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน
  • การพัฒนาและจัดทำ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 ครอบคลุมกิจกรรมในภาคพลังงานและการขนส่งก่อนเนื่องจากเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีนัยสำคัญและมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง โดยจะใช้เงื่อนไขและตัวชี้วัดที่ชัดเจน อิงตามหลักวิทยาศาสตร์สภาพภูมิอากาศ และสอดคล้องกับบริบทของไทยในการจัดกลุ่ม พร้อมกันนี้ยังพยายามจัดทำเงื่อนไขและตัวชี้วัดให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล อาทิ ความตกลงปารีส และ Taxonomy ระดับภูมิภาค อาทิ EU Taxonomy และ ASEAN Taxonomy ที่มีเป้าหมายเพื่อหลีกเลี่ยงการฟอกเขียว อย่างไรก็ดี ปัจจุบันยังไม่มีกฎระเบียบบังคับเปิดเผยข้อมูลตามมาตรฐานดังกล่าว ในการนี้ รัฐสามารถใช้ Thailand Taxonomy เป็นจุดเริ่มต้นของการออกแบบการเปิดเผยข้อมูลตามเงื่อนไขและตัวชี้วัดที่ดังกล่าว

    Thailand Taxonomy ยังเป็นมาตรฐานคำนึงถึงการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมด้วยข้อกำหนด “Do No Significant Harm”กล่าวคือ การดำเนินงานเพื่อลดผลกระทบในวัตถุประสงค์ใดวัตถุประสงค์หนึ่ง จะต้องไม่สร้างความเสียหายหรือผลกระทบด้านลบต่ออีกวัตถุประสงค์หนึ่ง เช่น เพื่อลดผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะต้องไม่สร้างความเสียหายต่อความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น และยังมี Minimum Social Safeguard หรือข้อกำหนดด้านสังคมที่ต้องปฏิบัติตาม ซึ่งเมื่อนำไปประเมินกิจกรรมได้อย่างครอบคลุมยิ่งขึ้น นอกจากนี้ Thailand Taxonomy กำหนดให้มีการทบทวนเป็นระยะเพื่อให้เงื่อนไขและตัวชี้วัดสอดรับกับบริบทด้านสภาพภูมิอากาศและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

    ในปัจจุบัน การนำ Thailand Taxonomy ไปใช้ยังคงเป็นไปตามความสมัครใจ และไม่มีการกำหนดรูปแบบการเปิดเผยข้อมูลที่สอดคล้องกับ Thailand Taxonomy อย่างชัดเจน รัฐอาจพิจารณากฎระเบียบการเปิดเผยข้อมูลภาคบังคับเพื่อกระตุ้นและสร้างแรงผลักดันให้ธุรกิจรับมือกับปัญหาสภาพภูมิอากาศผ่านการประเมินตนเองตามลำดับความพร้อม หรือเผยองค์ประกอบของการรายงานในเบื้องต้นให้สาธารณชนทราบล่วงหน้า ซึ่งไทยสามารถศึกษารูปแบบการรายงานข้อมูลและลำดับเวลาการรายงานข้อมูลได้จากประสบการณ์ของสหภาพยุโรป โดยสหภาพยุโรปตั้งต้นด้วยการกำหนดให้บริษัทขนาดใหญ่ที่มีจำนวนพนักงานมากกว่า 500 คนเริ่มเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สอดคล้องกับ EU Taxonomy ก่อนตามรูปแบบตารางที่กำหนดจากรัฐบาลกลาง

    เร่งมือจัดทำ พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

    รัฐที่ภาระล้นมือจำเป็นต้องมีคู่มือในการดำเนินงานสำคัญ ‘พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ จะช่วยให้รัฐมีความชัดเจนในการสร้างกลไกเชิงสถาบันที่แข็งแกร่ง ให้อำนาจและความรับผิดชอบได้อย่างตรงจุด เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเป็นการส่งสัญญาณให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ และประชาชนรับมือเรื่องภาษีคาร์บอน การเปิดเผยข้อมูล รวมถึงรายละเอียดอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการวางแผนกลยุทธ์ ผ่านการกำหนดแรงจูงใจและบทลงโทษ

    การประกาศใช้ พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่นานาประเทศ นักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติ รวมถึงประชาชน และแสดงจุดยืนว่ารัฐมีแผนลงมือจัดการกับปัญหาสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรม

    พัฒนาตลาดคาร์บอนภาคบังคับอย่างรอบคอบ

    ขอออกตัวก่อนว่า ตลาดคาร์บอนสุ่มเสี่ยงที่จะเข้าข่ายการฟอกเขียวในกรณีที่ตีความว่าเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างฉาบฉวย และยังคงเผชิญความท้าทายจากความไม่แน่นอนของกฎระเบียบผู้เขียนยังคงเชื่อว่าตลาดคาร์บอนควรเป็นทางเลือกลำดับท้ายเมื่อต้องรับมือกับปัญหาสภาพภูมิอากาศ สิ่งที่สำคัญกว่าการใช้เงินซื้อสิทธิในการปล่อยมลพิษเพิ่ม คือการทุ่มเม็ดเงินเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง

    อย่างไรก็ตาม ตลาดคาร์บอนภาคบังคับก็มีข้อดีเรื่องระดับความเข้มงวดในการบังคับใช้ โดยรัฐจะกำหนดเพดานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามความจำเป็น หากไม่สามารถปฏิบัติได้ก็จะถูกลงโทษ ซึ่งแรงจูงใจและบทลงโทษของกลไก Cap & Trade ภายใต้ระบบซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีศักยภาพเป็นแรงขับเคลื่อนให้ธุรกิจหันมาลดผลกระทบต่อโลกอย่างจริงจัง รายงานของ IMF คาดการณ์ว่าราคาคาร์บอนจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ประเทศใดที่ยังไม่เข้าตลาดก็น่าจะตกขบวนไปไกล

    ตลาดคาร์บอนภาคบังคับของไทยเริ่มได้จากการพัฒนาและคำนวณปริมาณการปล่อยคาร์บอนเพื่อจัดทำกลไก Cap & Trade นี่จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ยืนยันว่าฐานข้อมูลนั้นสำคัญ พร้อมกันนั้น รัฐควรตรวจสอบโครงการที่ได้การรับรองคาร์บอนเครดิตเป็นระยะเพื่อปิดช่องว่างจากปัญหา Moral Hazard รวมถึงพิจารณาระบุคำแนะนำหรือแนวทางการใช้คาร์บอนเครดิตในกิจกรรมที่ไม่สามารถชดเชยหรือลดการปล่อยได้ในเชิงเทคนิคและในทางปฏิบัติเท่านั้นเพื่อหลีกเลี่ยงการฟอกเขียว โดยรัฐควรให้ความรู้ควบคู่เพื่อให้ธุรกิจตระหนักถึงความเสี่ยงและข้อจำกัดของคาร์บอนเครดิตซึ่งเป็นเครื่องมือทางการเงินรูปแบบหนึ่ง

    เพราะโลกใบนี้ไม่มีใบที่สอง ทุกวันนี้จากเคยมีทางเลือกเราเหลือเพียงทางรอด ไทยจำเป็นต้องยกปัญหาสภาพภูมิอากาศให้เป็นวาระระดับชาติต่อเนื่องยาวนาน พร้อมติดคันเร่งสร้างความโปร่งใสผ่านข้อมูลที่มีคุณภาพและเข้าถึงได้ ลดปัญหาความไม่สมมาตรของข้อมูลเพื่อหลีกเลี่ยงการฟอกเขียวที่เป็นต้นทุนราคาแพง เพื่อนำพาประเทศเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำได้อย่างทันการณ์

    อ่านต่อ…พลิก “วิกฤติผูกขาด” สู่ “สนามแข่งขันที่เหมาะสม” ด้วยนโยบายการแข่งขัน

    ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของดีลอยท์ ประเทศไทย

    อ่านเพิ่มเติม
    National Oceanic and Atmospheric Administration (2024). 2023 was the world’s warmest year on record, by far.
    David Eckstein, Vera Künzel, Laura Schäfer (2021). Global Climate Risk Index 2021.
    วัชรินทร์ ชินวรวัฒนา (2023).นโยบายการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว เปรียบเทียบของไทยและต่างประเทศ.
    สฤณี อาชวานันทกุล (2022).รากฐานนิยมเทคโนโลยี และข้อจำกัดของตลาดคาร์บอน.
    คณะทำงาน Thailand Taxonomy (2022). มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ระยะที่ 1
    Asian Development Bank (2023). Thailand Times: Financing Gaps and Sustainable Finance Development Journey in Thailand.
    Ravi Menon (2023).Developing the ecosystem for energy transition.
    LDC Expert Group, UNFCCC (2015). Best Practices and Lessons Learned.
    The Straits Times (2023). Household electricity bills set to rise as carbon taxes to increase in 2024.
    Yun Gao and Jochen M. Schmittmann (2022). Green Bond Pricing and Greenwashing under Asymmetric Information.
    IMF (2019). Fiscal Monitor: How to Mitigate Climate Change.