ThaiPublica > ประเด็นร้อน > พลิกเกมเศรษฐกิจ กับ 10 แนวคิดนักเศรษฐศาสตร์ > พลิกเกมเศรษฐกิจ กับ 10 แนวคิดนักเศรษฐศาสตร์

พลิกเกมเศรษฐกิจ กับ 10 แนวคิดนักเศรษฐศาสตร์

18 กุมภาพันธ์ 2024


เศรษฐกิจไทยในวันนี้ ‘วิกฤติ’ หรือไม่ เป็นคำถามยอดฮิตในตอนนี้ ที่มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางทั้งในหน้าสื่อสาธารณะ ในโลกโซเซียล ไปจนถึงเวทีการอภิปรายและตัดสินนโยบาย ซึ่งคำตอบก็คงขึ้นอยู่กับนิยามคำว่า ‘วิกฤติ’ ของแต่ละคนและการตีความที่แตกต่างกันไป

ถ้าถามว่าวันนี้เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะวิกฤติรุนแรงเหมือนต้มยำกุ้ง หรือวิกฤติโควิดไหม?

ส่วนใหญ่คงจะเห็นตรงกันว่าไม่ใช่ แต่สิ่งที่กล่าวขานกันมากขึ้นเรื่อยๆ คือ ไทยกำลังเผชิญกับ ‘วิกฤติต้มกบ’ นั่นคือ สภาวะเศรษฐกิจที่ค่อยๆ โตช้าลง ซบเซาลงอย่างต่อเนื่องแต่ไม่รุนแรง ทำให้ไม่รู้ตัวว่ากำลังตกอยู่ในอันตรายเสมือนกบที่อยู่ในหม้อต้มที่น้ำค่อยๆ อุ่นขึ้น กว่ากบจะรู้ตัว น้ำก็เดือดและกระโดดหนีไม่ทันแล้ว จึงโดนต้มจนสุก

‘วิกฤติต้มกบ’ นี้ไม่ได้ส่งผลกระทบที่เห็นได้ชัดผ่านตัวเลขเศรษฐกิจอย่างฉับพลันทันที แต่จะค่อยๆ ออกอาการผ่านเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงเรื่อยๆ ศักยภาพลดลง แข่งขันยากขึ้น ดึงดูดการลงทุนยากขึ้นซึ่งมักมีสาเหตุมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่หยั่งรากลึกมายาวนานและแก้ไขได้ยาก

การแก้ปัญหาด้วยนโยบายที่เพียงมุ่งผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจในระยะสั้น คงไม่สามารถทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากวิกฤติต้มกบที่มีรากฐานมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างได้ เปรียบเสมือนการเอาน้ำเย็นมาเติมในหม้อต้มกบ ซึ่งอาจทำให้กบกระชุ่มกระชวยขึ้นมาได้ชั่วครู่ชั่วคราว แต่สักพักน้ำก็จะกลับร้อนขึ้นมาอยู่ดี กลับเข้าสู่ชะตากรรมเดิมของเจ้ากบผู้น่าสงสารตัวนั้น

สิ่งที่สร้างความน่ากังวลยิ่งขึ้นก็คือ การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่มาเร็วและแรง เกิดขึ้นพร้อมกันในหลายด้าน ซึ่งจะยิ่งสร้างอุปสรรคต่อเศรษฐกิจไทยให้เติบโตต่อไปได้ยาก ความท้าทาย 5 ด้านที่สำคัญ ได้แก่

    (1)โครงสร้างประชากรไทยที่แก่ตัวลงเร็ว นำไปสู่ปัญหาการขาดแคลนแรงงานและศักยภาพแรงงานที่ลดลง ตลาดภายในประเทศหดตัวตามจำนวนประชากร อีกทั้งภาระทางการคลังที่เพิ่มขึ้นเรื่อยตามสัดส่วนประชากรสูงวัย

    (2) ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศที่่ทวีความรุนแรงขึ้น การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนขึ้น นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงภูมิศาสตร์การค้าและการลงทุนโลก รวมถึงทำให้เกิดกระแสทวนกลับของโลกาภิวัตน์ (De-globalization) ที่เศรษฐกิจไทยเคยได้รับประโยชน์มาโดยตลอด

    (3) การปฏิวัติเทคโนโลยีไปสู่โลกยุคดิจิทัลและยุค AI ซึ่งนำมาทั้งโอกาสและความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและภาคธุรกิจ หากไทยไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีครั้งใหญ่นี้ หรือไม่เตรียมความพร้อมทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานและทักษะแรงงานให้สอดรับกับความต้องการในยุคดิจิทัล ก็จะแข่งขันกับประเทศอื่นได้ยากขึ้นในสมรภูมิใหม่ที่ไร้พรมแดน

    (4) การเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ ที่จะสร้างผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม จากการที่ไทยเสี่ยงจะเกิดภัยพิบัติจากภาวะโลกร้อนและสภาพอากาศที่แปรปรวนมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก อีกทั้งโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีภาคเกษตรและท่องเที่ยวที่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ภาคอุตสาหกรรมและส่งออกของไทยยังเสี่ยงที่จะถูกกระทบจากการกฎเกณฑ์นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเข้มข้นขึ้นในต่างประเทศอีกด้วย และ

    (5) ความผันผวนและไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นมาก ในด้านเศรษฐกิจ ภาคการเงินและนโยบาย ทั้งจากความแตกแยกของขั้วการเมืองที่เพิ่มขึ้นในแต่ละประเทศและระหว่างประเทศ ความเปราะบางในภาคการเงินที่เพิ่มขึ้นจากระดับหนี้ที่สูงขึ้นทั่วโลกจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่จะเกิดบ่อยและทวีความรุนแรงขึ้น การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่ยากจะคาดเดาว่าจะทำให้รูปแบบการทำธุรกิจและภูมิทัศน์การแข่งขันในโลกอนาคตเปลี่ยนไปอย่างไร

ความท้าทายทั้งหมดนี้ล้วนแต่จะทำให้หายนะจาก ‘วิกฤติต้มกบ’ อาจมาเยือนได้ ‘เร็วและแรง’ ขึ้นกว่าเดิม เปรียบเสมือนน้ำในหม้อต้มกบที่ร้อนเร็วขึ้นเพราะมีลมพัดกระพือให้ถ่านไฟลุกโชน และกบเองก็เป็นกบแก่ที่กระโดดได้ไม่สูงเหมือนก่อน ยิ่งเสี่ยงที่จะหนีตายไม่ทัน

วิกฤติต้มกบนี้ ประเด็นสำคัญอยู่ที่เจ้ากบแก่ในท้องเรื่อง ‘ไม่รู้ตัว’ ว่าตัวเองกำลังตกอยู่ในอันตราย คิดว่าน้ำที่อุ่นขึ้นเป็นไปตามฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงไปชั่วคราว เดี๋ยวก็จะกลับมาเย็นเหมือนเดิม จึงไม่คิดว่าจะต้องกระโจนหนีไป กว่าจะรู้ตัวก็สายเกินไปแล้ว

แต่หากเราทำความเข้าใจเรื่องราวที่เป็นรากเหง้าของปัญหาที่แท้จริง เตือนให้กบรู้ตัวถึงวิบัติภัยที่กำลังคืบคลานเข้ามา และหาทางออกจากวิกฤตินี้ร่วมกัน ก็อาจจะ ‘พลิก’ รักษาชีวิตเจ้ากบตัวนี้ไว้ได้

ชุดความบทความ “พลิกเกมเศรษฐกิจ กับ 10 แนวคิดนักเศรษฐศาสตร์” ร่วมเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงที่เน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่ประเทศไทยต้องปฏิรูปเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างอย่างจริงจังตั้งแต่วันนี้ก่อนที่จะสายเกินแก้ โดยนำเสนอ 10 แนวคิดที่จะช่วยแก้เกมเศรษฐกิจไทย จากมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์หลากหลายแขนง

10 บทความนี้อาจจะไม่ได้ครอบคลุมในทุกมิติที่ประเทศไทยควรต้องเริ่มลงมือแก้ไข แต่เป็นตัวอย่างแนวความคิดที่พยายามมองแต่ละโจทย์เศรษฐกิจด้วยความเข้าใจถึงสาเหตุที่แท้จริงและข้อจำกัดในด้านต่างๆ พิจารณาตามหลักการและหยิบยกเอาตัวอย่างความสำเร็จในต่างประเทศมาประยุกต์ใช้ในบริบทของเศรษฐกิจไทย และเสนอแนะแนวทางการริเริ่มที่เป็นรูปธรรม สามารถผลักดันให้เกิดขึ้นได้จริง เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการยกเครื่องเศรษฐกิจไทยครั้งใหญ่ ปิดจุดตายของประเทศ

เริ่มต้นจากบทความ พลิกโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ด้วยนโยบายมุ่งเน้นพันธกิจ (Mission-Oriented Policy) โดย แบ๊งค์ งามอรุณโชติ ที่ชวนมองโจทย์เศรษฐกิจไทยจากภาพใหญ่ให้ทุกคนเห็นถึงความจำเป็นที่ประเทศจะต้องเริ่มต้นจากการมีเป้าหมายการพัฒนาประเทศที่ชัดเจนภาครัฐต้องมีบทบาทเชิงรุกมากขึ้น และต้องทำงานร่วมกับภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาสังคมที่จะร่วมกันขับเคลื่อนภายใต้ภารกิจใหญ่ของประเทศร่วมกัน บทความ พลิกแพลงใช้ Supply-Side Policy เพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ โดย ก้องภพ วงศ์แก้ว ชี้ให้เห็นว่าการรับมือกับความท้าทายรูปแบบใหม่ที่กล่าวถึงข้างต้นซึ่งส่วนใหญ่เป็น shocks ด้านอุปทานมากกว่าด้านอุปสงค์ จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับนโยบายเชิงโครงสร้างเพราะนโยบายกระตุ้นอุปสงค์ในระยะสั้นไม่สามารถรับมือกับ supply shocks ได้และบางครั้งอาจต้องเผชิญกับข้อจำกัด หรือ trade-off ในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

นโยบายเชิงโครงสร้างที่สามารถนำมาปรับใช้กับประเทศไทยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของนโยบายและปลดล็อกศักยภาพของเศรษฐกิจไทย ยกตัวอย่าง เช่น การขับเคลื่อนการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนในการสร้างแพลตฟอร์มปรับทักษะดิจิทัลระดับประเทศสำหรับแรงงานไทยทุกคน เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคดิจิทัล (พลิกระบบพัฒนาทักษะ เพิ่มมูลค่าตลาดแรงงานไทยในยุคดิจิทัล โดยฐิติมา ชูเชิด )การผลักดันให้มีการแข่งขันมากขึ้นในภาคการเงินโดยการสร้าง ecosystem และแนวนโยบาย Open Data เพื่อให้ผู้ใช้บริการทางการเงินได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากข้อมูลส่วนบุคคลของตนเอง (พลิกโอกาสการแข่งขัน ด้วยการสร้างกลไกการรับส่งข้อมูล โดย จารีย์ ปิ่นทอง ) การปรับเปลี่ยนรูปแบบและกลไกในการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ให้สะท้อนความเสี่ยงที่แท้จริงของลูกหนี้และมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งจะสร้างแรงจูงใจที่ถูกต้องให้ SMEs ในการพัฒนาศักยภาพ เพิ่มความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ขณะที่จะช่วยลดภาระการอุดหนุนของภาครัฐในระยะยาว(พลิกกลไกค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อตอบโจทย์ SMEs อย่างตรงจุด โดย ณชา อนันต์โชติกุล) ความจำเป็นในการยกปัญหาสภาพภูมิอากาศเป็นวาระแห่งชาติ โดยเริ่มต้นจากการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากกิจกรรมของธุรกิจต่างๆ เพื่อสร้างความโปร่งใสลดปัญหาความไม่สมมาตรของข้อมูลเพื่อหลีกเลี่ยงการฟอกเขียว และเพื่อสามารถต่อ ยอดไปสู่นโยบายอื่นๆ ที่จะเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำได้อย่างทันการณ์ (พลิกไทยสู้โลกเดือดอยู่ให้รอดด้วยความโปร่งใสและการเปิดเผยข้อมูล โดย ธนิดา ลอเสรีวานิช)

นอกจากจะมีเป้าหมายที่ชัดเจนเพื่อกำหนดทิศทางและนโยบายเชิงรุกในด้านต่างๆ ของประเทศแล้ว การวางกรอบกติกา หรือ rules of the game ที่ชัดเจนว่าผู้เล่นต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจจะสามารถมีปฏิสัมพันธ์และแข่งขันกันในขอบเขตและรูปแบบใดได้บ้าง และเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ใดสำหรับประเทศก็เป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายทั้งจากภายในและภายนอกประเทศที่จะมีมากขึ้น ดังในบทความ พลิกวิกฤตผูกขาด สู่สนามแข่งขันที่เหมาะสม ด้วยนโยบายการแข่งขัน โดย พีรพัฒ โชคสุวัฒนสกุล

อันที่จริงแล้วไม่ได้เป็นเรื่องยากที่มองเห็นว่านโยบายแบบใดบ้างที่จะดีต่อประเทศและช่วยแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ แต่คำถามที่สำคัญกว่าคือ ทำไมนโยบายเหล่านั้นจึงไม่เกิดขึ้นจริง? ทำอย่างไรจึงจะปลดล็อกการบริหารงานของภาครัฐเพื่อผลักดันให้นโยบายต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าเกิดขึ้นจริงได้? ข้อเสนอแนวทางหนึ่งคือ การเริ่มต้นจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลของภาครัฐสร้างระบบฐานข้อมูลแบบเชื่อมโยงเพื่อช่วยในการออกแบบนโยบาย เพิ่มประสิทธิภาพของการใช้จ่ายภาครัฐและปรับปรุงคุณภาพการบริการสาธารณะ (พลิกโฉมการออกแบบนโยบายสาธารณะด้วยระบบฐานข้อมูลแบบเชื่อมโยง โดย ฐานิดา อารยเวชกิจ) สิ่งดังกล่าวเป็นการสร้างฐาน ‘ความไว้วางใจ’ ของประชาชนในการมอบให้รัฐเป็นตัวแทนในการทำงานสาธารณะผ่านการบริหารจัดการงบประมาณที่ต้องมีความยืดหยุ่น พร้อมรับมือกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงและความท้าทายที่เพิ่มมากขึ้น

การเปิดข้อมูลการใช้งบประมาณของรัฐไทยอย่างมีความหมาย มีคุณภาพ ครบถ้วน เข้าถึงง่าย จะเป็นก้าวแรกที่สำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างรัฐและประชาชน (พลิกกระบวนทัศน์จัดการงบประมาณให้ตอบสนองความท้าทายของประชาชน โดย ฉัตร คำแสง) และท้ายที่สุด การสร้างกลไกการมีส่วนร่วมเพื่อให้ประชาชนสามารถร่วมออกแบบและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะได้ภายใต้กระแส ความขัดแย้งและความเห็นต่างที่เพิ่มมากขึ้นในสังคมไทย (พลิกการปฏิรูปนโยบายสาธารณะให้ยั่งยืนด้วยกลไกการมีส่วนร่วม โดย สมประวิณ มันประเสริฐ) จะช่วยให้เราสามารถ ‘พลิกเกมเศรษฐกิจ’ ให้เกิดขึ้นได้จริงและยั่งยืน