ThaiPublica > ประเด็นร้อน > พลิกเกมเศรษฐกิจ กับ 10 แนวคิดนักเศรษฐศาสตร์ > พลิกกลไกค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อตอบโจทย์ SMEs อย่างตรงจุด

พลิกกลไกค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อตอบโจทย์ SMEs อย่างตรงจุด

1 กุมภาพันธ์ 2024


ดร. ณชา อนันต์โชติกุล

อุปสรรคและความท้าทายต่อเศรษฐกิจไทยกำลังชัดเจนและรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ส่งผลกระทบและสร้างความผันผวนในภาคการค้าและการลงทุนโลก กฎกติกาทางธุรกิจในโลกใหม่ที่เข้มข้นขึ้นในนามการดูแลสิ่งแวดล้อม พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจนส่งผลต่อรูปแบบการทำธุรกิจ รวมถึงปัญหาสังคมสูงวัยของไทยที่ทำให้ทั้งอุปสงค์ในประเทศลดลงและปัญหาขาดแคลนแรงงานรุนแรงขึ้นในอนาคต

คนที่ปรับตัวได้ยากหรือมีต้นทุนสูงกว่าในการปรับตัวจะได้รับผลกระทบจากความท้าทายเหล่านี้มากที่สุด ซึ่งธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่เรียกกันว่า SMEs เดิมทีต้องประสบปัญหาอุปสรรคมากมายอยู่แล้ว จะยิ่งอยู่ยากขึ้นหากขาดกลไกสนับสนุนที่เหมาะสม

บทความนี้จะขอกล่าวถึงกลไก ‘การค้ำประกันสินเชื่อสำหรับ SMEs’ ที่มีศักยภาพในการลดต้นทุนให้ปรับตัวแข่งขันได้ แต่ต้องถูกพัฒนาใหม่เพื่อเพิ่มคุณภาพการเข้าถึงสินเชื่อและลดการบิดเบือนแรงจูงใจของผู้เกี่ยวข้องในระบบ

ปัญหาแก้ไม่ตกของ SMEs กับการเข้าถึงสินเชื่อ

ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs เป็นปัญหาที่พูดถึงกันมายาวนาน และหลายฝ่ายต่างลงความเห็นว่าเป็นสาเหตุสำคัญลำดับต้น ๆ ที่ทำให้ SMEs บ้านเราขาดโอกาส ไม่สามารถขยายการลงทุน ทำให้ธุรกิจไม่โต ศักยภาพไม่พัฒนา และแข่งขันไม่ได้ สุดท้ายต้องล้มหายตายจากไปมากกว่าที่จะสามารถถีบตัวเองก้าวขึ้นไปเป็นธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นและเก่งขึ้น

ผู้เขียนเองเคยได้ศึกษาเชิงลึกจากข้อมูลสินเชื่อรายสัญญาและข้อมูลทางการเงินของบริษัท1 พบว่าธุรกิจขนาดเล็กพึ่งพาสินเชื่อจากธนาคารน้อยกว่ารายใหญ่ มีการใช้แหล่งเงินทุนหมุนเวียนภายในบริษัทมากกว่า และส่วนใหญ่มากกว่า 2 ใน 3 ของ SMEs ที่เข้าถึงสินเชื่อธนาคาร ก็มีสินเชื่อกับธนาคารเพียงแห่งเดียว ทำให้อำนาจต่อรองต่ำ อีกทั้งยังทำให้ความสามารถในการลงทุนของผู้ประกอบรายเล็กยังอ่อนไหวและขึ้นอยู่กับการตัดสินใจปล่อยสินเชื่อของธนาคารนั้น ๆ มากกว่าที่จะขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจและศักยภาพของ SMEs เอง

ถึงแม้งานศึกษาที่ผ่านมามักจะชี้ว่า ข้อจำกัดด้านสินเชื่อเป็นอุปสรรคต่อการขยายการลงทุนของ SMEs จริง แต่เราก็ทราบกันดีว่าปัญหาดังกล่าวไม่ใช่ปัญหาเดียว2 อีกทั้งการหว่านเงินอุดหนุนให้กับ SMEs อย่างถ้วนหน้าก็ไม่ได้การันตีว่า SMEs ทุกรายจะอยู่รอด หรือจะพัฒนาศักยภาพเพิ่มขึ้น และอาจจะเป็นการสร้างกับดักการพึ่งพาความช่วยเหลือจากภาครัฐและสร้างภาระมหาศาลให้ภาครัฐอีกด้วย ถ้าเช่นนั้นแล้ว ทางออกที่ยั่งยืนกว่าในการช่วยให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนอย่างเหมาะสมควรเป็นอย่างไร?

ข้อมูลไม่มี ต้นทุนสูง ความเสี่ยงสูง หลักทรัพย์ไม่พอ

หากลองถอยมาพิจารณาสาเหตุของปัญหาที่ SMEs มักเข้าถึงสินเชื่อได้ยากหรือไม่เพียงพอกับความต้องการว่าเป็นเพราะอะไร สามารถอธิบายได้ในมุมของปัญหาคลาสสิกในทางเศรษฐศาสตร์ นั่นคือ Information asymmetry หรือความไม่สมมาตรกันของข้อมูล พูดง่าย ๆ ก็คือเจ้าหนี้ขาดข้อมูลเพื่อใช้ในการประเมินความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อ เพราะ SMEs มักเป็นธุรกิจเกิดใหม่ อาจไม่ได้เก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบหรือเป็นมาตรฐาน ไม่มีประวัติที่ยาวนานเพียงพอกับธนาคารนั้น ๆ

นอกจากการประเมินเครดิตจะทำได้ยากแล้ว ผู้ประกอบการ SMEs ก็ยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนและความเสี่ยงทางธุรกิจที่สูงจากความสามารถในการแข่งขันและการทำกำไรที่มักต่ำกว่าคู่แข่งรายอื่น ๆ อีกทั้งต้นทุนต่อธนาคารในการพิจารณาสินเชื่อ การเตรียมเอกสาร การติดตามต่าง ๆ ของ SMEs แต่ละรายก็สูงกว่าการปล่อยสินเชื่อให้กับรายใหญ่เมื่อเทียบกับรายได้ที่ธนาคารได้รับ ทางออกของธนาคารในการลดความเสี่ยงจึงเป็นการปล่อยสินเชื่อแบบมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (collateralized loans) และการกำหนดดอกเบี้ยสูงกว่ารายใหญ่เพื่อชดเชยความเสี่ยงต่อการขาดทุนจากการปล่อยกู้ให้กับ SMEs

ดังนั้น ความสามารถในการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs จึงถูกจำกัดด้วยหลักทรัพย์ที่มีเพื่อมาค้ำประกัน มากกว่าการถูกกำหนดด้วยความสามารถในการประกอบธุรกิจและชำระคืนหนี้

ที่สำคัญ ปัญหา Information asymmetry นี้ทำให้ SMEs คุณภาพดี ที่จริง ๆ แล้วควรได้รับสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยต่ำ กลับกลายเป็นมีต้นทุนทางการเงินที่สูงเกินที่ควรจะเป็นไปด้วย บั่นทอนความสามารถในการแข่งขันอีกทางหนึ่ง

บทบาทภาครัฐในการแก้ไขความล้มเหลวของตลาด

ความยากและต้นทุนที่แพงในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับ SMEs โดยเฉพาะ SMEs ที่มีศักยภาพสูงนี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็นความล้มเหลวของกลไกตลาด (market failure) ที่เกิดจากการมีข้อมูลที่ไม่เพียงพอในการประเมินความเสี่ยงเครดิต ต้นทุนต่อธนาคารในการให้บริการสินเชื่อกับ SMEs ที่สูงเมื่อเทียบกับขนาดสินเชื่อ และอาจรวมไปถึงการแข่งขันในภาคธนาคารที่ไม่มากพอ ซึ่งทำให้อำนาจต่อรองไม่ได้อยู่ที่ SMEs

ที่ผ่านมารัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐต่างเล็งเห็นถึงความสำคัญของ SMEs ต่อเศรษฐกิจและการจ้างงานไทย และตระหนักถึงปัญหาที่ SMEs ต้องเผชิญ จึงออกนโยบายและมาตรการสนับสนุน SMEs หลายรูปแบบเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงทางการเงิน เช่น โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ Soft loans การเพิ่มบทบาทของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME Bank เพื่อสนับสนุนการให้สินเชื่อ นอกจากนี้ ยังมีโครงการค้ำประกันสินเชื่อให้กับ SMEs ในรูปแบบ Portfolio Guarantee โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการ

การค้ำประกันสินเชื่อแบบเหมาเข่ง …

อันที่จริงแล้ว กลไกการค้ำประกันสินเชื่อ (credit guarantee) ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในเครื่องมือการแทรกแซงของภาครัฐเพื่อเข้าแก้ปัญหาความล้มเหลวของตลาด ที่สามารถออกแบบให้อิงกับกลไกตลาด (market-based intervention) ได้มากที่สุดเมื่อเทียบกับการอุดหนุนของภาครัฐรูปแบบอื่นๆ

หลักการกว้าง ๆ ของการค้ำประกันสินเชื่อ คือ รัฐจะชดเชยความสูญเสียทั้งหมดหรือบางส่วนให้กับธนาคารผู้ให้สินเชื่อในกรณีที่สินเชื่อนั้นกลายเป็นหนี้เสีย แนวทางดังกล่าวช่วยลดความเสี่ยงต่อธนาคารลง เนื่องจากเป็นการถ่ายเทความเสี่ยง (risk transfer) ไปที่ภาครัฐ และทำให้ธนาคารกล้าปล่อยสินเชื่อ ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าเดิมได้ แม้ SMEs นั้นจะไม่มีประวัติกับธนาคาร หรือหลักทรัพย์ค้ำประกันที่เพียงพอ

อย่างไรก็ดี โครงการค้ำประกันสินเชื่อในรูปแบบ Portfolio guarantee scheme (PGS) ที่ใช้กันอยู่ในไทย มีข้อจำกัดหลายประการ และไม่ยืดหยุ่นพอ โดยการค้ำประกันแบบ PGS นี้ เป็นการกำหนดระดับความชดเชยความเสียหายสูงสุดจากกรณีเกิดหนี้สูญ (NPL) ในพอร์ตสินเชื่อ SMEs ของแต่ละธนาคารที่ส่งเข้าร่วมโครงการ เช่น ชดเชยสูงสุด (max claim) 30% ต่อทั้งพอร์ต ธนาคารพาณิชย์จะเป็นผู้คัดเลือกลูกหนี้เข้าโครงการเอง และลูกหนี้ SMEs จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการค้ำประกันในอัตราเดียวกันทุกราย ปัจจุบันค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 1.75% ต่อปี หากลูกหนี้ในพอร์ตบางรายไม่สามารถจ่ายหนี้ได้จนกลายเป็น NPL ธนาคารจะได้รับการชดเชยจากรัฐ แต่เคลมสูงสุดได้ไม่เกินระดับชดเชยสูงสุดที่กำหนดต่อพอร์ตสินเชื่อ

… บิดเบือนแรงจูงใจ?

เมื่อค้ำประกันสินเชื่อแบบเหมาเข่ง ไม่ได้พิจารณาค้ำประกันเป็นราย ๆ ไป ธนาคารก็มีแนวโน้มที่จะคัดเลือกลูกหนี้เพื่อให้ค่าเฉลี่ยความเสี่ยงหนี้เสียอยู่ในระดับการชดเชยความเสียหายสูงสุดของภาครัฐ เพื่อให้ได้ประโยชน์จากการค้ำประกันมากที่สุด และอาจมีแรงจูงใจให้เอา SMEs ด้อยคุณภาพมาไว้ภายใต้โครงการนี้ด้วย เพราะไม่ต้องรับความเสี่ยงเองในกรณีกลายเป็นหนี้เสีย

ผลที่ตามมาก็คือ อัตราการเกิด NPL ของ SMEs ภายใต้โครงการนี้อยู่ในระดับค่อนข้างสูง สร้างต้นทุนและภาระชดเชยให้กับภาครัฐ ในขณะที่ธนาคารเองก็ไม่ได้มีแรงจูงใจที่จะคัดกรองคุณภาพลูกหนี้ภายใต้โครงการนี้อย่างเหมาะสมพอ รวมถึงบริหารจัดการหรือช่วยเหลือลูกหนี้เพื่อลดการผิดนัดชำระหนี้ให้ได้มากที่สุด ลูกหนี้ SMEs ภายใต้โครงการนี้เอง หลังจากจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันไปแล้ว ก็ไม่มีแรงจูงใจที่ต้องพัฒนาเพื่อรักษาคุณภาพเครดิตของตัวเอง

กลไกการค้ำประกันสินเชื่อที่ตอบโจทย์กว่า

ในต่างประเทศ ภาครัฐมีการใช้กลไกการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อสนับสนุน SMEs อย่างแพร่หลาย ในรูปแบบต่างกันไปiii ตัวอย่างของประเทศในภูมิภาค เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน มาเลเซีย ไม่ได้ทำในลักษณะของ Portfolio guarantee แต่เป็น Direct guarantee หรือ Individual guarantee นั่นคือ การให้การค้ำประกันเป็นราย ๆ ไปตามการประเมินคุณภาพเครดิตและคุณสมบัติอื่น ๆ ของ SME แต่ละราย ซึ่งนับได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยเฉพาะกองทุนการค้ำประกันสินเชื่อของเกาหลีใต้ที่มีชื่อว่า Korea Credit Guarantee Fund (KODIT) ซึ่งจัดตั้งมายาวนานกว่า 40 ปี มีรูปแบบและองค์ประกอบสำคัญที่อิงกับกลไกตลาดมากกว่า Portfolio guarantee ของไทย ดังนี้iv

    (1) มีฐานข้อมูลเครดิตของ SMEs ที่เป็นระบบ ทำให้สามารถประเมินความเสี่ยงเครดิตของ SME แต่ละรายได้ จากโมเดล credit scoring ของตัวเอง เพื่อสามารถกำหนดวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ อัตราค่าธรรมเนียม ที่แตกต่างกันได้ตามระดับความเสี่ยงของ SME แต่ละราย นอกจากนี้ การที่ KODIT สามารถประเมินเครดิตได้เอง และออกจดหมายค้ำประกันให้กับ SMEs แต่ละรายเพื่อไปยื่นขอสินเชื่อกับแบงก์ต่าง ๆ ได้ ทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างธนาคารมากขึ้น สร้างอำนาจการต่อรองให้อยู่ที่ลูกหนี้ โดยไม่จำเป็นต้องมีประวัติยาวนานกับธนาคารที่เสนอสินเชื่อและไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน

    (2) ใช้ระบบการค้ำประกันบางส่วน (Partial guarantee system) นั่นคือ กำหนดสัดส่วนการค้ำประกัน (coverage ratio) ที่ผูกโยงกับระดับความเสียหายจากการปล่อยสินเชื่อ ไม่ค้ำประกันเต็มจำนวน ทำให้ธนาคารต้องรับภาระความเสี่ยงบางส่วนด้วยถึงแม้จะลดลงมามากแล้วก็ตาม เป็นการสร้างแรงจูงใจในการติดตามและบริหารจัดการความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้หลังการปล่อยกู้ไปแล้ว

    (3) มีหน่วยงานผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำปรึกษาด้านธุรกิจและการบริหารจัดการให้กับ SMEs อย่างครบวงจร ไม่ใช่ทำหน้าที่แค่เพียงรับประกันและชดเชยความเสียหายสินเชื่อเท่านั้น ทำให้ SMEs มีโอกาสพัฒนาศักยภาพและลดความเสี่ยงของความล้มเหลวทางธุรกิจ

    (4) มีความยืดหยุ่นทั้งในมิติของผู้ได้รับการค้ำประกัน รูปแบบของแหล่งเงินทุน และปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการค้ำประกันได้ตามสถานการณ์เศรษฐกิจ โดย KODIT สามารถให้การค้ำประกันธุรกิจหลายประเภทไม่จำกัดเฉพาะ SMEs เท่านั้น เช่น ธุรกิจ start up ที่ภาครัฐต้องการสนับสนุน หรือแม้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ในยามจำเป็นจากวิกฤตเศรษฐกิจ อีกทั้งยังสามารถให้การค้ำประกันการออกหลักทรัพย์ เช่น การออกพันธบัตร หรือการทำ securitization ได้อีกด้วย ในขณะที่ในปัจจุบันการค้ำประกันของไทยภายใต้โครงการ PGS ยังคงค้ำประกันได้เฉพาะ SMEs ตามนิยามที่กำหนดและได้เฉพาะสินเชื่อจากสถาบันการเงินเท่านั้น

KODIT ของเกาหลีใต้ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมากในการพัฒนา SMEs และเป็นต้นแบบสำหรับหลายประเทศ โดยอัตราส่วนการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs ในเกาหลีใต้สูงถึงกว่า 80% ของสินเชื่อธุรกิจทั้งหมด และอัตราส่วน NPL ของ SMEs ภายใต้โครงการค้ำประกันอยู่ที่เพียงไม่ถึง 1% เท่านั้น5,6 นอกจากนี้ เนื่องจากกลไกมีความยืดหยุ่น ทำให้เครื่องมือการค้ำประกันของ KODIT ยังสามารถตอบสนองได้อย่างรวดเร็วในการให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจภายใต้ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจดังเช่นสถานการณ์โควิดในช่วงที่ผ่านมา ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือช่วยรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กุญแจดอกสำคัญคือการสร้างฐานข้อมูลเครดิต SMEs

โครงการค้ำประกันสินเชื่อในรูปแบบ Portfolio guarantee scheme ที่ใช้อยู่ในไทยในปัจจุบัน อันที่จริงแล้วก็มีข้อดี คือสามารถดำเนินการออกโครงการได้เร็วเพราะไม่ต้องมีขั้นตอนการพิจารณาเครดิตรายตัวเหมือนในรูปแบบ Individual guarantee scheme และอาจเป็นทางออกที่ดีที่สุดแล้ว (second-best solution) ภายใต้ข้อจำกัดในบริบทไทย ที่องค์กรภาครัฐยังไม่สามารถดำเนินการประเมินความเสี่ยงเครดิตเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่หากประเทศไทยสามารถปรับเปลี่ยนกลไกการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs โดยเรียนรู้จากประสบการณ์ของต่างประเทศที่ประสบผลสำเร็จก็จะช่วยแก้ปัญหาที่สาเหตุได้อย่างตรงจุดมากกว่า

…เพราะจะสามารถสร้างเครื่องมือรัฐที่อิงกับกลไกตลาดมากขึ้นได้ ด้วยการกำหนดให้อัตราการค้ำประกัน ค่าธรรมเนียม และการมีส่วนร่วมรับความเสี่ยงของผู้ให้สินเชื่อ สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงอย่างเหมาะสมตามหลักการ risk-based pricing

ปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งยวดที่นำไปสู่ความสำเร็จของกลไกค้ำประกันสินเชื่อในต่างประเทศ คือ การมีฐานข้อมูลเครดิตที่ถูกต้องและเพียงพอ ทั้งข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจ ข้อมูลทางการเงิน รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับเจ้าของธุรกิจ เพื่อให้สามารถประเมินศักยภาพของธุรกิจและความเสี่ยงได้

ซึ่งในกรณีของเกาหลีใต้ ไต้หวัน และมาเลเซีย องค์กรการค้ำประกันสินเชื่อต่างได้รับความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลเครดิตกับเครดิตบูโรของภาครัฐและเอกชน รวมถึงมีการเก็บข้อมูลเพิ่มเติมเองจากการตรวจสอบและสัมภาษณ์ธุรกิจโดยตรง

ดังนั้น สิ่งที่จะเป็นบันไดขั้นแรกและเป็นกุญแจสำคัญที่ประเทศไทยควรเริ่มดำเนินการ เพื่อให้สามารถสร้างกลไกค้ำประกันสินเชื่อและการประเมินความเสี่ยง SMEs ที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ควรต้องเริ่มจากการพัฒนาฐานข้อมูลเครดิตของ SMEs ที่รวมศูนย์และมีความครอบคลุมเพียงพอ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องใช้เวลา แต่หากไม่เริ่มก้าวแรกตั้งแต่วันนี้ ก็ยากที่จะคาดหวังการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมสำหรับ SMEs ในการแก้ไขปัญหาการเข้าถึงแหล่งทุน

แรงจูงใจที่ถูกต้อง…หัวใจของการออกแบบเครื่องมือนโยบายรัฐ

หัวใจสำคัญของการออกแบบเครื่องมือนโยบายของภาครัฐ คือการสร้างแรงจูงใจที่ถูกต้อง ไม่บิดเบือน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน นำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมด้านเครดิตที่ดี (credit culture) ทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างธนาคาร และทำให้ SMEs ที่มีศักยภาพสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้นในต้นทุนที่เหมาะสม นอกจากนี้ ยังต้องจูงใจให้ SMEs เปิดเผยข้อมูลและเข้าสู่ระบบอย่างถูกต้อง (formalization) เพื่อได้รับประโยชน์จากกลไกภาครัฐได้อย่างเต็มที่

เมื่อมีระบบฐานข้อมูล SMEs ที่เพียงพอต่อการประเมินเครดิตได้อย่างแม่นยำขึ้น และ SMEs ยกระดับศักยภาพได้ดีขึ้น มีความแข็งแกร่งทางธุรกิจมากขึ้น ความจำเป็นของกลไกให้ความช่วยเหลือโดยภาครัฐก็จะลดลงตามลำดับ ลดภาระอุดหนุนของภาครัฐ อีกทั้งการที่ SMEs เข้ามาอยู่ในระบบอย่างถูกต้องโปร่งใสก็ทำให้ภาครัฐเองสามารถเก็บรายได้ภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย

ในทางตรงกันข้าม กลไกภาครัฐที่บิดเบือนแรงจูงใจ นอกจากจะทำให้ธุรกิจหรือครัวเรือนติดกับดักการพึ่งพาความช่วยเหลือจากภาครัฐและสร้างภาระทางการคลังแล้ว ยังอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจไทยติดหล่ม ไม่สามารถเติบโตและพัฒนาไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน

อ่านต่อ…พลิกไทยสู้โลกเดือด อยู่ให้รอดด้วยความโปร่งใสและการเปิดเผยข้อมูล

ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

หมายเหตุ:
1 ณชา อนันต์โชติกุล และวรดา ลิ้มเจริญรัตน์ (2018), “Finance & Firms เจาะลึกวัฏจักรสินเชื่อไทย จากข้อมูลการกู้ยืมราย สัญญา ” PIER Discussion Paper.
วรดา ลิ้มเจริญรัตน์ (2016),<“ปัญหาการลงทุนไทย มุมมองจากงบการเงินบริษัททั่วประเทศ ”/a> PIER Discussion Paper.
2 นฎา วะสี และคณะ (2019),
“นโยบายส่งเสริม SMEs: เราไปถึงสิ่งที่คาดหวังหรือยัง ” PIER aBRIDGEd.
3 OECD “Facilitating Access to Finance: Discussion Paper on Credit Guarantee Scheme”
4 Korea Credit Guarantee Fund (KODIT) website
5 OECD Finance SMEs and Entrepreneurs 2022: An OECD Scoreboard – Korea
6 ในช่วงก่อนโควิด -19 ณ สิ้นปี 2019 สินเชื่อ SMEs ไทยคิดเป็นเพียง 47% ของสินเชื่อธุรกิจทั้งระบบ และอัตราส่วน หนี้เสีย (NPL ratio) ของ SMEs โดยรวมอยู่ที่ 4.6%