ThaiPublica > ประเด็นร้อน > พลิกเกมเศรษฐกิจ กับ 10 แนวคิดนักเศรษฐศาสตร์ > พลิกโอกาสการแข่งขัน ด้วยการสร้าง ‘กลไกการรับส่งข้อมูล’

พลิกโอกาสการแข่งขัน ด้วยการสร้าง ‘กลไกการรับส่งข้อมูล’

1 กุมภาพันธ์ 2024


ดร.จารีย์ ปิ่นทอง

นอกจากความท้าท้ายที่เทคโนโลยีกำลังบีบให้ทุกคนต่างต้องปรับตัวแล้ว พัฒนาการทางเทคโนโลยีและข้อมูลช่วยให้ธุรกิจเพิ่มประสิทธิภาพและต่อยอดบริการให้ดีขึ้นได้อีก และยังเป็นโอกาสในการปลดล็อคปัญหาด้านการแข่งขันของประเทศไทยที่กลไกตลาดปัจจุบันยังทำงานไม่ได้เต็มที่

‘ข้อมูล’ เป็นกุญแจสำคัญในการแข่งขันกันของธุรกิจตามกลไกตลาด มีศักยภาพพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ดีขึ้น และช่วยทำให้กลไกตลาดสามารถตั้งราคาที่เหมาะสมด้วย แต่บ่อยครั้งธุรกิจยังมีอุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูลของลูกค้า ไม่เข้าใจความต้องการหรือระดับความเสี่ยงที่แท้จริง จนทำให้กลไกตลาดไม่สามารถทำงานได้สมบูรณ์

อาการของปัญหานี้อาจเห็นได้หลายรูปแบบ เช่น ความได้เปรียบของผู้เล่นรายใหญ่ที่มีฐานลูกค้าจำนวนมากจึงสามารถใช้ข้อมูลของลูกค้าเพื่อต่อยอดธุรกิจได้มากกว่ารายเล็ก การไม่เข้าใจความต้องการหรือความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละคนได้ดีจึงไม่สามารถออกแบบบริการให้ตอบโจทย์แต่ละคนไปได้ หรือต้องจ่ายในราคาที่สูงเกินไป แต่กลไกตลาดก็ไม่เอื้อให้สามารถย้ายไปซื้อของจากผู้ให้บริการรายอื่นได้สะดวกเพราะมีต้นทุนที่มากเกินไป จนเกิดสถานการณ์ ‘ล็อคอิน’ ทำให้ลูกค้าอยู่ที่เดิม ผู้เล่นรายใหม่เข้ามาแข่งขันได้ยาก

ตลาดไม่สมบูรณ์ แข่งขันไม่เต็มที่เพราะข้อมูลไม่เท่ากัน (information asymmetry)

ประเทศไทยมีอาการนี้ในหลายตลาดด้วยกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือภาคการเงิน การเข้าถึงแหล่งเงินทุนยังเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย มากกว่า 60% ของผู้ประกอบการ SME ไม่มีมีสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFI)1 และครัวเรือนส่วนใหญ่ยังต้องพึ่งพาหนี้นอกระบบ2

เพราะการเข้าถึงสินเชื่อในระบบต้องอาศัยเอกสารหลักฐานหลายอย่างเป็น ‘ข้อมูล’ เพื่อให้ผู้ปล่อยกู้พิจารณา

แต่ธุรกิจขนาดเล็กหรือคนที่ไม่มีรายได้ประจำมักขาดข้อมูลที่น่าเชื่อถือเพื่อพิสูจน์ให้เห็นรายได้อย่างชัดเจน และยังอาจไม่มีประวัติทางการเงินหรือการกู้ยืมกับธนาคารมาก่อน

การขาดข้อมูลสำหรับประเมินความเสี่ยงของลูกค้าทำให้ผู้ปล่อยกู้ไม่กล้าให้สินเชื่อ และถึงจะสามารถหาข้อมูลเหล่านี้ได้ ยังมีขั้นตอนมากมายเพื่อขอข้อมูลมาและบางครั้งต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการขอเอกสารด้วย ซึ่งทำให้ต้นทุนในการให้สินเชื่อสูง (โดยเฉพาะสำหรับผู้กู้รายเล็ก)

นอกจากเรื่องสินเชื่อ เมื่อลูกค้าเปิดบัญชีเงินฝากหรือลงทุนกับที่ใดแล้ว ส่วนมากจะใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการอื่น ๆ พ่วงต่อไปด้วย ถ้าต้องการเปิดบัญชีกับที่อื่น จะต้องเตรียมเอกสารใหม่และไม่สะดวกนักที่ต้องคอยอัพเดทสถานะบัญชีกับแต่ละแห่งแยกกัน ไม่มีที่ไหนที่รวมศูนย์ข้อมูลบัญชีของเราไว้ในที่เดียวเลย

ในตลาดอื่น ๆ เช่น การรักษาพยาบาล หากเราต้องการย้ายไปรักษาที่โรงพยาบาลอื่น ต้องมีขั้นตอนเอกสารและยังใช้เวลาพอสมควรในการขอและประวัติการรักษาจากโรงพยาบาลจากที่เดิมไปที่ใหม่ นอกจากนี้ การซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ตหรือแพลตฟอร์มออนไลน์ ร้านค้ามักจะมีประวัติการสั่งซื้อของเรา ทำให้สะดวกในการซื้อใหม่อีกครั้ง เปรียบเทียบราคากับการซื้อครั้งก่อน หรือมีคำแนะนำสินค้าที่คาดเดาได้ว่าเราจะอยากซื้อด้วย แต่เราอาจไม่ทราบราคาของสินค้าเดียวกันในร้านอื่นได้อย่างสะดวกนัก คงต้องกดเช็คทีละรายการหรือเข้าไปเช็คที่ละร้านเอง

อาการที่เราเห็นนี้ สะท้อนอำนาจตลาดของผู้เล่นปัจจุบันที่เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขัน เพราะผู้เล่นอื่นยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของลูกค้าได้ แต่คนที่เสียประโยชน์ที่สุดกลับเป็นผู้บริโภคเอง

‘ข้อมูล’ เป็นสิทธิของใคร?

โดยหลักการแล้ว ผู้บริโภคเป็นเจ้าของข้อมูลที่เกิดขึ้นจากการสมัครและใช้บริการกับร้านค้าหรือหน่วยงานต่าง ๆ และถ้าเราต้องใช้งานข้อมูลเหล่านี้ก็ควรสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก ในปัจจุบันเราสามารถขอหลักฐานหรือประวัติการใช้งานต่าง ๆ ได้อยู่แล้ว แต่บางอย่างยังต้องขอมาเป็นกระดาษ ใช้เวลานาน มีค่าธรรมเนียม ขั้นตอนยุ่งยาก หรือแม้บางอย่างอยู่ในรูปแบบดิจิทัลแล้ว ก็ยังไม่สามารถใช้ได้สะดวก หากผู้บริโภคต้องการส่งข้อมูลข้ามผู้ให้บริการหรือหน่วยงานต่าง ๆ ก็ยิ่งยุ่งยากขึ้นกว่าเดิม ทำให้ยังไม่เกิดขึ้นมากนัก

อันที่จริงแล้ว สิทธิของเจ้าของข้อมูลในการเรียกดูหรือส่งข้อมูลตนเองไปที่อื่นได้ถูกรองรับในพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (Personal Data Protection Act: PDPA) โดยเราสามารถขอให้ผู้เก็บข้อมูลของเราอยู่ส่งไปให้หน่วยงานอื่นได้ด้วยวิธีการอัตโนมัติ ในรูปแบบที่ใช้งานประมวลผลต่อได้ด้วยอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (machine-readable format)

มีสิทธิแล้วจะใช้สิทธิในการส่งข้อมูลได้อย่างไร?

ในหลายประเทศวางกลไกให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิเพื่อประโยชน์จากข้อมูลของตนเองผ่านแนวนโยบาย Open Data ส่วนใหญ่มีกฎหมายเฉพาะเพื่อสร้างกฎกติกาให้ธุรกิจและหน่วยงานต่าง ๆ จัดเตรียมข้อมูลและวิธีการรับส่งข้อมูล และกำหนดให้ต้องส่งข้อมูลไปยังผู้ให้บริการอื่นเมื่อเจ้าของข้อมูลร้องขอ เช่น ออสเตรเลียใช้กฎหมาย Competition and Consumer Act เพื่อส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมและคุ้มครองผู้บริโภค โดยให้สิทธิของผู้บริโภค (Consumer Data Right) ในฐานะเจ้าของข้อมูลสามารถควบคุมข้อมูลของตนเองและใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น สหราชอาณาจักรใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้า (Enterprise Act) และเกาหลีใต้ออกกฎหมายการใช้และการคุ้มครองข้อมูลเครดิต (Credit Information Use and Protection Act)

นอกจากการมีกฎหมายแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การกำหนดมาตรฐานกลาง (common standards) เพื่อเป็นวิธีการรับส่งข้อมูลที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ เช่น API และ data standard เมื่อกำหนดให้ทุกคนต้องใช้มาตรฐานแบบเดียวกันแล้ว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจในสาขาไหนก็ตาม ก็มีระบบที่เชื่อมต่อข้อมูลในรูปแบบเดียวกัน ดังนั้น ธุรกิจเองไม่ต้องลงทุนเพื่อพัฒนาระบบเชื่อมต่อหลายครั้ง หลายประเทศมีองค์กรกลางในระดับประเทศกำหนดมาตรฐานกลางในการรับส่งข้อมูล รวมทั้งกำกับดูแลผู้ให้บริการที่รับส่งข้อมูลกัน เช่น Data Standards Body และ Australian Competition and Consumer Commission ในออสเตรเลีย Open Banking Limited ในสหราชอาณาจักร และ Korea Credit Information Services ในเกาหลีใต้

Data democratization ใช้ประโยชน์จากข้อมูลเราเอง-สร้างตลาดที่แข่งขันสมบูรณ์มากขึ้น

การสร้าง ecosystem ที่ลูกค้าสามารถใช้สิทธิในข้อมูลของตนเองได้อย่างเต็มที่ จะช่วยแก้ปัญหาที่ธุรกิจแต่ละรายมีข้อมูลของลูกค้าไม่เท่ากัน โดยเฉพาะธุรกิจรายเล็กหรือรายใหม่ที่ขาดโอกาสเข้ามาแข่งขันได้ เมื่อลูกค้าเป็นเจ้าของข้อมูลตัวเองและควรได้ประโยชน์จากการส่งข้อมูลเหล่านี้ไปขอรับบริการจากธุรกิจหรือหน่วยงานอื่นได้ แนวนโยบาย Open Data เป็นการสร้างกลไกที่ลูกค้าสามารถใช้สิทธิเพื่อส่งข้อมูลของตนเองจากผู้ให้บริการรายหนึ่งไปอีกรายได้ เพื่อให้ลูกค้าสามารถได้รับประโยชน์สูงสุดจากข้อมูลของตนเอง (data democratization)

การใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้มากขึ้นจะส่งเสริมการแข่งขัน ช่วยพัฒนากลไกตลาดให้ทำงานได้ดีขึ้น และสนับสนุนให้มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาแข่งขันพัฒนาสินค้าและบริการให้ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการสร้าง ecosystem นี้ออกแบบให้การรับส่งข้อมูลข้าม sector และภาคส่วนต่าง ๆ ได้ด้วยเกณฑ์กำกับดูแลและมาตรฐานกลางเดียวกัน

อ่านต่อ…พลิกกลไกค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อตอบโจทย์ SMEs อย่างตรงจุด

ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

เอกสารอ้างอิง

1 https://www.pier.or.th/dp/120/
2 https://www.pier.or.th/files/conferences/2020/pier_symposium_2020_3_1_presentation.pdf