ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เปิดข้อพิพาท ป.ป.ช.-อสส. งัดข้อ 30 คดี เผย 17 สำนวน ป.ป.ช. ฟ้องเอง ลุ้นคดีถอดถอน-อาญา “น.ส.ยิ่งลักษณ์”

เปิดข้อพิพาท ป.ป.ช.-อสส. งัดข้อ 30 คดี เผย 17 สำนวน ป.ป.ช. ฟ้องเอง ลุ้นคดีถอดถอน-อาญา “น.ส.ยิ่งลักษณ์”

9 มกราคม 2015


น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี(ขวา)และนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ (ซ้าย) ที่มาภาพ :http://newscontent.thaivisa.com
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี(ขวา)และนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ (ซ้าย) ที่มาภาพ :http://newscontent.thaivisa.com

มีแนวโน้มสูงว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะรอดพ้นจากการถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง กรณีไม่ระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวจนก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ตามสำนวนถอดถอนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ส่งให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา

ด้วยเพราะจำนวน “มือ” ของ สนช. ไม่ถึงเกณฑ์ที่จะ “ลงดาบ” ถอดถอนให้สำเร็จ ซึ่งจะมีผลต่อการเพิกถอนสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากต้องใช้เสียง 3 ใน 5 ของจำนวน สนช. เท่าที่มีอยู่ หรือ 132 เสียง

สนช. ส่วนใหญ่มองว่าข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช. ไม่มีความชัดเจนเท่าที่ควร โดยเฉพาะประเด็นการพิสูจน์ทราบว่าอดีตนายกรัฐมนตรีคนนี้มีส่วนรู้เห็นกับการทุจริตหรือไม่

ประกอบกับคะแนนการลงมติถอดถอนอดีต 2 ประธาน คือ นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว. ก่อนหน้านี้ ที่ สนช. 87 คน เห็นว่าควรรับสำนวนถอดถอนไว้พิจารณา ขณะที่ สนช. อีก 75 คน ยืนยันว่า สนช. ไม่ควรรับสำนวนดังกล่าวไว้พิจารณา ส่วนอีก 15 คน งดออกเสียง

การ “เช็คชื่อ” ครั้งนี้ พิสูจน์ได้ว่าจำนวน สนช. ที่ไม่เห็นด้วยกับการ “ถอดถอน” ไม่ต่างไปจากกลุ่มที่เห็นว่าควรถอดถอน

แต่ใช่ว่านายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศจะผ่านพ้นผลพวงการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวไปได้ เพราะยังเหลือคดีอาญาอีก 1 คดี ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมกันระหว่างคณะทำงานร่วมของ ป.ป.ช. และอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ของสำนวน หลังจากที่เกิดความเห็นขัดกันทางกฎหมาย

หลังจากวันที่ 8 พฤษภาคม 2557 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ชี้มูลความผิด ก่อนที่จะส่งสำนวนคำร้องให้ อสส. ในฐานะ “ทนายแผ่นดิน” พิจารณาเพื่อดำเนินการสั่งฟ้องต่อศาลต่อไป

แต่เมื่อ อสส. เห็นว่าสำนวนที่ ป.ป.ช. ส่งมายังมีข้อไม่สมบูรณ์อยู่หลายประการ ตามกฎหมายต้องตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อร่วมกันพิจารณาให้สำนวนมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

โดยใช้เวลาดำเนินการนานถึง 4 เดือน ผ่านการประชุมร่วม 3 ครั้ง แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป โดยทั้ง 2 ฝ่ายต่างยืนยันจุดยืนเดิมที่เคยประกาศไว้

ฝ่ายของ อสส. เห็นว่ายังมี 3 ประเด็น ที่ยังไม่มีความชัดเจนในสำนวน คือ 1. โครงการจำนำข้าวเป็นโครงการที่รัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ป.ป.ช. ต้องรวบรวมพยานหลักฐานให้ชัดว่า นายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการที่จะยับยั้งโครงการที่เป็นนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภาหรือไม่

2. ควรทำการไต่สวนว่านายกรัฐมนตรีมีการดำเนินการตรวจสอบและป้องกันการทุจริตหรือไม่ อย่างไร ผลการตรวจสอบเป็นอย่างไรหลังได้รับการท้วงติงจาก ป.ป.ช. และ สตง.

3. ต้องระบุว่ามีการทุจริตในขั้นตอนไหน การอ้างถึงรายงานวิจัยของทีดีอาร์ไอว่ามีความเสียหายจำนวนมาก แต่มีเพียงหน้าปก ต้องรวบรวมรายงานทั้งฉบับมาประกอบให้สมบูรณ์

ขณะที่ ป.ป.ช. เห็นว่า สำนวนทุกอย่างมีความสมบูรณ์แล้ว โดยได้ไต่สวนพยานหลักฐานต่างๆ ครบถ้วน นอกจากนี้ ประเด็นที่ อสส. ต้องการให้สอบเพิ่มไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์

แต่ในที่สุด การประชุมร่วมกันครั้งที่ 4 ฝ่าย ป.ป.ช. ยอมสอบพยานเพิ่มเติมจำนวน 2 ปาก คือนายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) และ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ในปมจีทูจี ที่ทั้งสองให้ข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกัน

โดยขั้นตอนหลังจากขั้นตอนการสอบพยาน ตัวแทนคณะทำงานร่วมจะส่งพยานหลักฐานเพิ่มเติมไปยัง อสส. เพื่อให้พิจารณาว่าสำนวนมีความสมบูรณ์เพียงพอที่จะสั่งฟ้องหรือไม่

ดังนั้น การประชุมคณะทำงานร่วมครั้งที่ 5 ซึ่งจะมีขึ้นภายในเดือนมกราคมนี้ จะมี “คำตอบสุดท้าย” จากทาง อสส. ว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งถ้า อสส. ไม่สั่งฟ้อง ป.ป.ช. จะแต่งตั้งทนายเพื่อดำเนินการส่งฟ้องต่อศาลเอง(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

ข้อกล่าวหาป.ป.ช. ต่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

อย่างไรก็ตาม คดีจำนำข้าว ไม่ใช่คดีแรกที่เกิดข้อพิพาทขึ้นระหว่าง ป.ป.ช. และ อสส. เพราะตั้งแต่ปี 2549 ที่ ป.ป.ช. ชุดที่ 3 ซึ่งมีนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เป็นประธาน ป.ป.ช. เข้ารับตำแหน่ง มีการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมระหว่าง อสส. และ ป.ป.ช. มาแล้วกว่า 30 ชุด โดย ป.ป.ช. มีมติส่งฟ้องเอง 17 คดี

นั่นหมายความว่า อสส. เห็นว่าสำนวนของ ป.ป.ช. มีข้อไม่สมบูรณ์มากกว่า 30 คดี และมีการตั้งคณะทำงานร่วมกัน ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของคดีที่ตั้งคณะทำงานร่วมทั้งหมด

และเป็นที่น่าสังเกตว่า ในจำนวน 17 คดี ที่ อสส. ไม่สั่งฟ้องให้ ป.ป.ช. นั้น ส่วนใหญ่เป็นคดีที่อยู่ในการจับตาของสาธารณชนและมีความเกี่ยวข้องกับ “บิ๊กเนม” การเมือง อาทิ

คดีทุจริตซื้อรถดับเพลิงและเรือดับเพลิง

ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดกรณีทุจริตซื้อรถดับเพลิงและเรือดับเพลิง นายประชา มาลีนนท์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย, พล.ต.ต. อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีตผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม., นายสมัคร สุนทรเวช อดีตผู้ว่ากรุงเทพมหานคร, นายโภคิน พลกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพานิชย์ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มีมูลความผิดทั้งทางวินัยและอาญา

ส่วนกรณีนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่ากรุงเทพมหานคร คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่ามีความผิดทางวินัยอย่างเดียว

โดยขณะนั้น คณะทำงานร่วมในฝ่าย อสส. เห็นว่า พยานหลักฐานไม่สมบูรณ์พอที่จะดำเนินคดีกับนายโภคิน นายวัฒนา และนายอภิรักษ์ ตรงข้ามกับความเห็นคณะทำงานของ ป.ป.ช. ที่เห็นว่าพยานหลักฐานสมบูรณ์พอ ที่จะดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาทุกราย

ทำให้ ป.ป.ช. อาศัยอำนาจตามกฎหมาย ฟ้องผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด แต่ต่อมาศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำพิพากษาลงโทษและยกฟ้องจำเลยตรงกับที่ อสส. มีความเห็นสั่งฟ้อง โดยให้นายประชาและทายาทของนายสมัคร ชดใช้ค่าเสียหาย 587 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2547 ส่วนจำเลยอื่นๆ ศาลยกฟ้อง

คดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดทางอาญา นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ในขณะนั้น กรณีสั่งสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 หน้าอาคารรัฐสภา

ส่วน พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.ท. สุชาติ เหมือนแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล มีมูลความผิดทั้งวินัยการอาญา

คดีนี้คณะทำงานร่วมระหว่าง ป.ป.ช. และ อสส. ไม่สามารถหาข้อยุติในคดีได้ ป.ป.ช. จึงเป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเอง ขณะนี้ศาลได้รับคำฟ้องไว้แล้ว

คดีเขาพระวิหาร

ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดทางอาญากับนายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และคณะรัฐมนตรีที่สนับสนุนให้ประเทศกัมพูชาขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก

โดยมีการตั้งคณะทำงานร่วมกับ อสส. แต่ อสส. ไม่สั่งฟ้อง ป.ป.ช. จึงเป็นโจกท์ยื่นฟ้องเองต่อศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยศาลรับเรื่องไว้วินิจฉัยแล้ว

คดีสนามกอล์ฟอัลไพน์

ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดทางอาญากับนายเสนาะ เทียนทอง อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กรณีทุจริตการโอนขายที่ธรณีสงฆ์ หรือสนามกอล์ฟอัลไพน์ และตั้งคณะทำงานร่วมกับ อสส. แต่ไม่สามารถหาข้อยุติเกี่ยวกับการดำเนินการฟ้องคดีได้ ป.ป.ช. จึงเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเองต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่ศาลฎีกาฯ ได้ตัดสินว่าการฟ้องคดีของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ขาดอายุความ

คดีตั้งผู้บริหารทีพีไอ

ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดทางอาญากับ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตีกับพวก ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 กรณีเห็นชอบให้กระทรวงการคลัง โดย ร.อ. สุชาติ เชาว์วิศิษฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น เข้าไปเป็นผู้บริหารแผนคนใหม่ของบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทีพีไอ โดยมิชอบ ซึ่ง พ.ต.ท. ทักษิณได้รู้เห็นหรือทราบเรื่องที่กระทรวงการคลังยินยอมเข้าเป็นผู้บริหารแผนคนใหม่ของทีพีไอตามที่ศาลล้มละลายกลางร้องขอ แต่ไม่คัดค้านหรือทักท้วง ทั้งที่การที่กระทรวงการคลังเข้าไปเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ เป็นการกระทำที่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ของกระทรวงการคลัง ตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ระบบราชการ ซึ่ง ป.ป.ช. ได้ตั้งคณะทำงานร่วมกับอัยการสูงสุด แต่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเองต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญา ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการฟ้องคดี

คดีตั้งกรรมการสรรหาบอร์ด ธปท.

ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดทางอาญา นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กรณีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการตั้งกรรมการสรรหาบอร์ดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และได้ตั้งคณะทำงานร่วมกับ อสส. แต่ไม่สามารถหาข้อยุติเกี่ยวกับการดำเนินการฟ้องคดีได้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเองต่อศาลฎีกา แผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

คดีแก้ไขสัญญาสัมปทานดาวเทียม

ป.ป.ช. มีมติชี้มูลทางอาญากับ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กรณีแก้ไขสัญญาสัมปทานดาวเทียมฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

และชี้มูลความผิดนายไกรสร พรสุธี ขณะที่ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงไอซีที และนายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ ขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ มีความผิดทางวินัยร้ายแรง

โดย ป.ป.ช. ได้มีการตั้งคณะทำงานร่วมกับ อสส. แต่ไม่สามารถหาข้อยุติเกี่ยวกับการดำเนินการฟ้องคดีได้ ป.ป.ช. จึงเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเองต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ส่วนคดีที่คณะทำงานร่วมทั้ง 2 ฝ่าย ได้ข้อยุติร่วมกัน และ อสส. เป็นผู้สั่งฟ้องคดีให้ ป.ป.ช. อาทิ

คดีส่งเสือโคร่งเบงกอลไปประเทศจีน

ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตอธิบดีกรมป่าไม้ และ นายมานพ เลาห์ประเสริฐ เจ้าหน้าที่บริหารงานป่าไม้ระดับ 7 ทั้งทางอาญาและวินัย กรณีส่งเสือโคร่งเบงกอล 100 ตัวไปประเทศจีน
โดย อสส. เห็นว่าสำนวนของ ป.ป.ช. มีความไม่สมบูรณ์ จึงตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อทำให้สำนวนมีความสมบูรณ์ขึ้น และสามารถหาข้อยุติได้ อสส. จึงดำเนินการสั่งฟ้องคดีดังกล่าวต่อศาลอาญา แต่ท้ายที่สุดศาลอาญามีคำพิพากษายกฟ้อง

คดีเบิกงบหลวงไปกฐิน

ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดทางอาญาคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา อดีตผู้ว่าการการตรวจเงินแผ่นดิน และนายคัมภีร์ สมใจ ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานและทรัพยากรบุคคล ว่าขณะดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ได้จัดสัมมนา จ.น่าน เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2546 ไม่ชอบ โดยไม่ได้มีการสัมมนากันจริง แต่เพื่อให้บุคคลที่มีรายชื่อเข้ารับการสัมมนาไปร่วมงานถวายผ้าพระกฐินพระราชทานสามารถเบิกค่าเดินทาง ค่าที่พักและค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้ โดยคดีนี้ ป.ป.ช. ได้ตั้งคณะทำงานร่วมและได้ข้อยุติร่วมกันทำให้ อสส. มีคำสั่งให้ฟ้องคดีอาญาต่อ บุคคลทั้งสองฐานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 83

โดยคดีนี้คณะทำงานร่วมได้ใช้เวลา 1 ปีในการรวบรวมพยานหลักฐานจนครบถ้วนและได้ข้อยุติ แล้วจึงส่งให้ อสส. เมื่อเดือนสิงหาคม 2557 หลังจากมีการแจ้งข้อหาไม่สมบูรณ์วันที่ 29 สิงหาคม 2556

คดีไร่ส้ม

ป.ป.ช. มีมติ สั่งชี้มูลความผิดทางอาญากับนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมการบริษัท ไร่ส้ม จำกัด นางสาวมณฑา ธีระเดช เจ้าหน้าที่ บจก.ไร่ส้ม และนางพิชชาภา หรือ ชนาภา เอี่ยมสะอาด หรือ บุญโต เจ้าหน้าที่ธุรการระดับ 5 สำนักกลยุทธ์การตลาด บมจ.อสมท ผู้ถูกกล่าวหารวม 4 ราย กระทำการโฆษณาเกินเวลาในการจัดทำรายการคุยคุ้ยข่าว ที่ออกอากาศทาง อสมท ปี 48-49 โดยไม่ชำระค่าโฆษณาเกินเวลาให้กับ อสมท รวมเป็นเงินกว่า 138,790,000 บาท

โดยมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่าง ป.ป.ช. และ อสส. ซึ่งคณะทำงานร่วมมีข้อยุติฟ้องดำเนินคดี โดย อสส. จะเป็นผู้สั่งฟ้องต่อศาล และขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการร่างคำฟ้อง

คดีผู้ว่าททท.

ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดนางจุฑามาศ ศิริวรรณ อดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เรียกรับสินบนจากนักธุรกิจชาวสหรัฐฯ เพื่อให้ได้สิทธิจัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ โดย ป.ป.ช. ตั้งคณะทำงานร่วมกับ อสส. หลังจากที่ อสส. เห็นว่ายังมีข้อไม่สมบูรณ์ในสำนวน

ในที่สุด คณะทำงานร่วมฝ่าย ป.ป.ช. ได้รวบรวมหลักฐานต่างๆ ในประเด็นที่ฝ่ายอัยการเห็นแย้งจนสมบูรณ์แล้ว มีหลักฐานครบทั้งจากฝ่ายไทยและสหรัฐฯ โดยเฉพาะเอกสารเส้นทางการโอนเงินไปยัง 4 ประเทศ ของนางจุฑามาศ ได้แก่ สหรัฐฯ อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ และสิงคโปร์ จึงได้ข้อยุติร่วมกันระหว่างคณะทำงานทั้ง 2 ฝ่าย หลังคณะทำงานร่วมใช้เวลาร่วมกัน 2 ปี 11 เดือน 20 วันก่อนที่จะส่งไปยัง อสส. พิจารณาอีกครั้งว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่

ด้วยสถิติการที่ อสส. ไม่สั่งฟ้องคดีที่ชงจาก ป.ป.ช. ทำให้หน่วยงานทั้งสองจึงถูกมองว่า “ไม่ลงรอย” กัน จนส่งผลกระทบให้การดำเนินการเอาผิดเป็นไปด้วยความล่าช้า นำไปสู่ข้อเสนอของคณะกรรมธิการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมืองและองค์กรอิสระ ในสภาปฏิรูปแห่งชาติ ให้เพิ่มอำนาจให้กับ ป.ป.ช. ให้สามารถดำเนินการฟ้องร้องคดีต่อศาลได้เองโดยไม่ต้องผ่าน อสส. อีกต่อไป เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

ขณะเดียวกัน ป.ป.ช. ขอแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อปรับปรุงมาตรการในการส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ให้มีประสิทธิภาพเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน ให้ สนช. พิจารณา

โดยมีสาระสำคัญที่เกี่ยวกับประเด็นสอบสวนคือ เพิ่มอำนาจ ป.ป.ช. ให้มีอำนาจเสมือนพนักงานสอบสวน โดย ป.ป.ช. สามารถยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ออกหมายจับและให้มีอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจาณาความอาญาเช่นเดียวกับพนักงานสอบสวน จากเดิมที่เมื่อผู้ถูกกล่าวหาไม่ไปรายงานตัวตามกำหนด ป.ป.ช. ต้องแจ้งต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจัดการให้ได้ตัวผู้ถูกกล่าวหา เพื่อส่งให้ อสส. ดำเนินคดีต่อไป

แม้จะมีข้อเสนอออกมามาก แต่กระนั้น นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. กลับมองว่า ป.ป.ช. ไม่ควรทำหน้าที่ส่งฟ้องเอง แต่ควรที่จะฟ้องผ่านกระบวนการ โดย อสส. ที่มีหน้าที่กลั่นกรองสำนวนที่จะส่งฟ้องศาลซึ่งจะทำให้สำนวนมีความสมบูรณ์และรอบคอบมากกว่าที่จะให้ ป.ป.ช. ส่งฟ้องเอง

“อสส. เป็นทนายแผ่นดิน ท่านมีแนวทางต่างๆ ตรงนั้นคิดว่าจะดี เพราะ ป.ป.ช. เองทำแล้วไม่ใช่ว่าจะรอบคอบทั้งหมด เพราะสำนวนอาจไม่สมบูรณ์ เขาวางลู่ไว้ให้ อสส. พิจารณาอีกทีหนึ่งแล้วถึงจะส่งฟ้องศาล คิดว่าเป็นเรื่องที่คานกัน เป็นเรื่องของความรอบคอบ ซึ่งหากมีข้อขัดแย้งกันในมุมมองทางกฎหมาย ต่างฝ่ายต่างเห็นไม่ตรงกัน ป.ป.ช. สามารถฟ้องเองได้ ซึ่งเป็นหลักที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติอยู่ ก็ดีอยู่แล้ว”

ประธาน ป.ป.ช. เปิดเผยด้วยว่า จากการพูดคุยกับผู้บริหารของ อสส. ครั้งล่าสุด เพื่อสรุปงานในปี 2557 ร่วมกัน ทั้งสองฝ่ายพยายามแก้ไขปัญหาความเห็นต่างทางกฎหมายระหว่าง 2 หน่วยงาน พร้อมกับตั้งเป้าให้มีการตั้งคณะทำงานร่วมให้น้อยลง เป็นแนวทางความร่วมมือแทน เช่น การตั้งพนักงานอัยการเป็นอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีเจ้าหน้าที่รัฐถูกกล่าวหากระทำผิดต่อหน้าที่ตั้งแต่ต้น เพื่อแก้ปัญหาเรื่องข้อไม่สมบูรณ์ของสำนวนจนทำให้ต้องตั้งคณะทำงานร่วมในภายหลัง

นี่เป็นแนวทางที่ทั้งสองฝ่ายพยายามลบภาพ “เกาเหลา” เพื่อแก้ปัญหาข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด จนทำให้การประชุมร่วมครั้งสุดท้ายซึ่ง อสส. ต้องมีท่าทีที่ชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไรกับคดีอาญาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นที่น่าจับตาอย่างยิ่ง