
เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2558 มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ครั้งที่ 25/2558 วาระสำคัญคือการดำเนินกระบวนการถอดถอนนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ออกจากตำแหน่งตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ประกอบมาตรา 56 (1) และมาตรา 58 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ในคดีทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด
ก่อนเริ่มกระบวนการ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ได้ชี้แจงถึงขั้นตอนการลงมติ ซึ่งตามกฎหมายจะต้องเป็นการลงคะแนนด้วยวิธีลับ มีการแจกบัตรลงคะแนนให้กับสมาชิก สนช. ทุกคน คนละ 3 ใบ เพื่อนำไปกาในคูหาก่อนหย่อนลงในหีบบัตรลงคะแนน
ผลการลงคะแนน ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ปรากฏว่า ที่ประชุม สนช. ได้ลงมติถอดถอนนายบุญทรง ด้วยคะแนน 180:6 ถอดถอนนายภูมิ ด้วยคะแนน 182:5 และถอดถอนนายมนัส ด้วยคะแนน 158:25 ทำให้บุคคลทั้งสามถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง และห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือในทางราชการเป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันที่มีมติถอดถอน
คดีนี้เป็นคดีที่สอง ที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองถูกที่ประชุม สนช. ลงมติให้ถอดถอน ต่อจากคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งที่ประชุม สนช. ลงมติเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2558 ให้ถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ด้วยคะแนน 190:18 เสียง
ย้อนรอยคดีจีทูจี 2 ปี 6 เดือน ก่อน “บุญทรง-พวก” ถูกถอดถอน
สำหรับคดีทุจริตระบายข้าวแบบ G to G เริ่มต้นขึ้นในเดือนธันวาคม 2555 เมื่อ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้เข้ามาตรวจสอบ ใช้เวลาปีเศษ ก่อนที่ ป.ป.ช. จะมีมติตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน ต่อมาในวันที่ 20 มกราคม 2558 ป.ป.ช. ก็มีมติเป็นเอกฉันท์ 7:0 ชี้มูลความผิดนายบุญทรงกับพวก รวม 21 คน ทั้งความผิดทางวินัยและอาญา โดยนายบุญทรง นายภูมิ และนายมนัส ถูกดำเนินคดีถอดถอนด้วย
ทั้งนี้ สนช. ได้เริ่มกระบวนการถอดถอนบุคคลทั้ง 3 ในวันที่ 2 เมษายน 2558 นัดแถลงเปิดสำนวนในวันที่ 23 เมษายน 2558 และแถลงปิดสำนวนในวันที่ 7 พฤษภาคม 2558 ก่อนจะมีการลงมติในวันที่ 8 พฤษภาคม 2558.