ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > เกาะติดคดีนักการเมือง 2 พรรคใหญ่ 12 คดี หลัง ป.ป.ช. ส่งคดี ถอดถอน “นิคม-สมศักดิ์-ยิ่งลักษณ์” รวมทั้ง 36 ส.ว.

เกาะติดคดีนักการเมือง 2 พรรคใหญ่ 12 คดี หลัง ป.ป.ช. ส่งคดี ถอดถอน “นิคม-สมศักดิ์-ยิ่งลักษณ์” รวมทั้ง 36 ส.ว.

3 ตุลาคม 2014


ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา คดีถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา รวมถึงคดีถอดถอนอื่นๆ ที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา ซึ่งถูกชะลอไว้เพราะมีการรัฐประหารเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ดังนั้น เมื่อสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เข้ามาทำหน้าที่ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติเมื่อ 31 กรกฎาคม 2557 จึงได้พิจารณาเรื่องนี้ต่อ และได้ส่งสำนวนการถอดถอนกลับให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาใหม่ในการปรับแก้สำนวนให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ปี 2557

นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา(ซ้าย)และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา  ที่มาภาพ :http://images.voicecdn.net/contents/640/330/horizontal/48301.jpg ที่มาภาพ : http://img.tnews.co.th/tnews_1385085460_3250.jpg
นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา(ซ้าย)และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา
ที่มาภาพ :http://images.voicecdn.net/contents/640/330/horizontal/48301.jpg
ที่มาภาพ : http://img.tnews.co.th/tnews_1385085460_3250.jpg

ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2557 นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ชี้แจงกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ดำเนินการกรณีถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามข้อบังคับของ สนช. ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยเสียงข้างมาก มีมติส่งคดีถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ไปยังประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 64 ประกอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 6 วรรคสอง

นอกจากนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังมีมติเป็นหลักการเกี่ยวกับกรณีถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่น การถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีถอดถอนอดีตสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 39 ราย รวมทั้งการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆ ด้วยว่า หากเป็นการกล่าวหาว่า ผู้ถูกกล่าวหาส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่นตามมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ก็อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะดำเนินการไต่สวนต่อไป จึงให้พนักงานเจ้าหน้าที่รวบรวมข้อมูลในเรื่องดังกล่าว แล้วเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

สำหรับคดีถอดถอนสำคัญที่รวบรวมได้เบื้องต้น ปัจจุบันยังค้างอยู่ในกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แก่

1) คดีถอดถอนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากมีพฤติการณ์ส่อว่าทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ดังนี้ 1. ฆาตกรรมประชาชน 2. แทรกแซงการใช้อำนาจขององค์กรในกระบวนการยุติธรรม “กรณีการชันสูตรพลิกศพ” 3. ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันและระงับเหตุวางเพลิง “ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์”

2) คดีถอดถอนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กับพวก ออกจากตำแหน่ง เนื่องจาก มีพฤติการณ์ส่อว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย สืบเนื่องจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัด ปริมณฑล เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2553

3) คดีถอดถอนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ออกจากตำแหน่ง ในการเห็นชอบผลการประกวดราคาโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า สายสีม่วง ช่วงบางใหญ่–บางซื่อ

4) คดีถอดถอนนางพรทิวา นาคาศัย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เกี่ยวกับการทุจริตในการระบายข้าว

5) คดีถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากมีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมาย

6) คดีถอดถอนและตรวจสอบการกระทำอันมิชอบของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง จากกรณีกู้เงินสำหรับแผนบริหารจัดการน้ำตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท

7) คดีถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ กับพวก ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากมีพฤติการณ์กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กระทำการโดยทุจริต และใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย โดย 1. ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยยุทธศาสตร์ เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2554 2. ไม่ได้กระทำการเปิดเผยราคากลางและรายละเอียดการคำนวณราคากลางงานก่อสร้าง 3. ดำเนินการต่างๆ เพื่อมิให้มีการแข่งขันราคากันอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับผู้เสนอราคารายใดรายหนึ่งให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ

8) คดียื่นถอดถอนนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐนนตรี ขึ้นเวทีปราศรัยในงาน “เพื่อไทย เพื่ออนาคตประเทศไทย 2020” ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยเนื้อหาสาระขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 30 โดยถูกเชื่อมโยงถึงการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาลและนางสาวยิ่งลักษณ์ในฐานะผู้บังคับบัญชา

9) คดีถอดถอนคณะรัฐมนตรีรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีมติให้สนับสนุนกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา

10) คดีถอดถอนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง กรณีกองทัพบกสั่งซื้อเรือเหาะที่มีราคาสูงกว่าความเป็นจริง

11) คดีถอดถอนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายก-รัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง กรณีการทุจริตจัดซื้อยานเกราะ ล้อยางจากยูเครน

12) คดีถอดถอนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง กรณีส่อว่าทุจริตต่อหน้าที่เกี่ยวกับวิกฤติน้ำมันปาล์ม ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายน้ำมันปาล์มแห่งชาติ โดยมีผู้ใกล้ชิดซึ่งเป็นเจ้าของสวนปาล์มและโรงหีบน้ำมันปาล์ม ซึ่งครองตลาดปาล์มถึง 80% ของประเทศ ได้ประโยชน์จากวิกฤติราคาน้ำมันปาล์มขาดแคลนอย่างมาก

ติดตามคดีคงค้างของบรรดาบุคคลสำคัญทางการเมืองที่ยังอยู่ในกระบวนการไต่สวนของ ป.ป.ช. ได้ที่ “ป.ป.ช. เร่งสาง 13 คดี พัวพัน 6 อดีตนายกรัฐมนตรี และบุคคลสำคัญทางการเมือง คดีม็อบแดง-เหลือง ทุจริตข้าว-โรงพักตำรวจ “พระสุเทพ-พรทิวา-บุญทรง” ติดร่างแห”