
ประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 1976 มีประเด็นที่กลายเป็นข่าวพูดกันไปทั่วบ้านทั่วเมือง ถึงกรณีที่บริษัทอากาศยานสัญชาติอเมริกัน ชื่อบริษัท ล็อกฮีด (Lockheed) ได้ทำการเจรจาธุรกิจครั้งสำคัญ จนคนรุ่นหลังนำมาเรียกต่อๆ กันว่าเป็น “ดีลแห่งศตวรรษ” (Deal of the Century) ในดีลครั้งนั้น บริษัทล็อกฮีดถูกจับได้ว่าติดสินบนเจ้าหน้าที่ระดับสูงในประเทศต่างๆ เป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 22 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อให้แน่ใจว่า การเจรจาซื้อขายเครื่องบินของบริษัทจะสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ชนะคู่แข่งในการประมูลแข่งขัน
จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ของสหรัฐอเมริกาทำการสำรวจบริษัทเอกชนอื่นๆ เพิ่มเติม ในกรณีการติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐในต่างประเทศ พบว่ามีกว่า 400 บริษัท ที่ยอมรับว่ามีการจ่ายสินบนจริง เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ รวมเป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐ
ปี 1977 สภาครองเกรส ในสมัยประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ จึงได้ผลักดันให้มีการออกกฎหมายเพื่อป้องกันและปราบปราม ไม่ให้บริษัทเอกชนสัญชาติอเมริกันทำการติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐในต่างประเทศ ในชื่อกฎหมายว่าด้วยการกระทำอันเป็นการทุจริตข้ามชาติ (Foreign Corrupt Practices Act) หรือที่เรียกกันว่า FCPA เพื่อเอาผิดผู้ที่ไปติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐในต่างประเทศ
ขณะที่กฎหมาย FCPA มีผลบังคับใช้อย่างเข้มงวด บริษัทสัญชาติอเมริกันกลับร้องเรียนต่อรัฐบาลสหรัฐว่า กฎหมายดังกล่าวทำให้บริษัทสัญชาติอเมริกันเสียเปรียบในการแข่งขันกับบริษัทต่างชาติ เพราะประเทศอื่นๆ ไม่มีกฎหมายในลักษณะนี้ แต่แทนที่รัฐบาลสหรัฐจะยกเลิกกฎหมายตามที่มีการร้องขอ กลับไปหาความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ อย่างจริงจัง จนนำไปสู่การร่วมมือกับองค์กรเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development) หรือ OECD ผ่านอนุสัญญา OECD ว่าด้วยการต่อต้านการให้สินบน ในปี 1999 เพื่อผลักดันให้ประเทศต่างๆ เข้าร่วมการต่อต้านการติดสินบนในต่างประเทศ
อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ เป็นอนุสัญญาที่มีผลผูกพันทางกฎหมายต่อประเทศสมาชิก โดยบังคับให้รัฐภาคีต้องกำหนดเรื่องการให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศเป็นความผิดทางอาญา และต้องดำเนินการกำหนดนโยบายในการป้องกันและปราบปราม อีกทั้งกำหนดโทษสำหรับความผิดดังกล่าว
อนุสัญญาฉบับนี้ ถือเป็นเครื่องมือต่อต้านการทุจริตในระดับสากลฉบับแรกและฉบับเดียวที่มุ่งเน้นการเอาผิดกับฝ่ายที่ทำการให้สินบน (supply side) กล่าวคือ บุคคลหรือบริษัทเอกชนซึ่งเสนอหรือสัญญาว่าจะให้ หรือได้ให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ และรัฐภาคีจะต้องแสดงเจตนารมณ์ รวมทั้งให้การรับรองว่า บริษัทเอกชนในประเทศจะดำเนินกิจการและทำการลงทุนอย่างมีจริยธรรม ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการทุจริต และไม่ให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในต่างประเทศ
ปัจจุบันมีประเทศที่เป็นภาคีอนุสัญญาทั้งหมด 38 ประเทศ คือ ประเทศสมาชิกของ OECD 34 ประเทศ รวมถึงประเทศอาเจนตินา บราซิล บัลแกเรีย และแอฟริกาใต้

อนุสัญญาดังกล่าว ได้ระบุถึงหลักการและรายระเอียดที่สมาชิกจะต้องปฏิบัติทั้งสิ้น 17 มาตรา ในภาพรวมทั้งหมด อนุสัญญาไม่ได้กำหนดอย่างชัดเจนว่า ประเทศสมาชิกจะต้องกำหนดบทลงโทษผู้ที่ติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐต่างประเทศไว้เป็นมาตรการแบบเดียวกันทั้งหมด แต่เปิดโอกาสให้แต่ละประเทศสามารถกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ ได้ตามความเหมาะสม เพียงแต่ระบุหลักการคร่าวๆ ว่า บทลงโทษจะต้องมีการกำหนดโทษทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางปกครองแก่ผู้ที่กระทำความผิด ให้มีประสิทธิผล ตามลักษณะของแต่ละประเทศ
ตัวอย่างการลงโทษของประเทศต่างๆ ก็มีความแตกต่างกัน เช่น ประเทศเยอรมัน มีบทลงโทษผู้ที่ติดสินบนด้วยการจำคุก 3–5 ปี และยึดทรัพย์ที่ได้มาจากการติดสินบนทั้งหมด ซึ่งรวมไปถึงกำไรที่เกิดจากการติดสินบนด้วย หากไม่ใช่บุคคลธรรมดาแต่เป็นกรณีของนิตุบุคคลที่ไม่สามารถลงโทษด้วยการจำคุกได้ บทลงโทษจะเปลี่ยนเป็นตัดสิทธิ์ไม่ให้รับงานจากภาครัฐตามเวลาที่กำหนด
ส่วนประเทศไทยนั้น คณะกรรมการป้องกันและปราปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช ในฐานะหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพในการดูแลและเตรียมประเทศไทยเพื่อเข้าสู่การเป็นภาคีของอนุสัญญา OECD ว่าด้วยการต่อต้านการให้สินบน ได้ประเมินว่า การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาจะทำให้ไทยได้แสดงออกถึงเจตนารมณ์ในการต่อต้านการทุจริตและสร้างความน่าเชื่อถือต่อต่างประเทศ
นอกจากนั้น ยังมีประโยชน์ด้านการค้าและการลงทุนที่จะเกิดขึ้น การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญานี้จะทำให้ธุรกิจของไทยมีการติดสินบนลดลง เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อการแข่งขันไม่มีการจ่ายสินบน ต้นทุนของบริษัทก็จะต่ำลง เงินที่เหลือจากการไม่ติดสินบนจึงนำไปใช้ในด้านอื่นๆ ได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน การเป็นภาคีของอนุสัญญา OECD ยังเป็นการดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศให้มาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นเพราะมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่า เนื่องจากบริษัทต่างๆ ไม่ต้องมาจ่ายสินบนให้กับไทย
ปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่ระบุถึงความผิดอันเกิดจากการติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐในต่างประเทศ แต่ที่ผ่านมาได้เคยมีความพยายามผลักดันให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา เพื่อเอาผิดการติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐในต่างประเทศในประเด็นที่เกี่ยวข้อง คือ การขยายความคำว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้ครอบคลุมเจ้าหน้าที่ของรัฐของประเทศอื่นด้วย หรือการแก้ไขกฎหมายความร่วมมือทางอาญาระหว่างประเทศ เพื่อให้ขอบข่ายในการบังคับใช้ขยายกว้างออกไป และเรื่องสุดท้ายคือ การติดตามเรียกทรัพย์สินคืนในกรณีที่ทรัพย์สินอยู่ในต่างประเทศ แต่เรื่องทั้งสามก็ตกไปในช่วงการเปลี่ยนรัฐบาล สถานะของไทยในปัจจุบันจึงเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ และอยู่ในขั้นตอนเตรียมความพร้อมและทำการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายในเรื่องการให้สินบน เพื่อให้มีมาตรฐานทัดเทียมกับต่างประเทศ เตรียมเข้าสู่การเป็นภาคีของอนุสัญญาต่อไป
ดังนั้น หากประเทศไทยสามารถแก้ไขกฎหมายได้สำเร็จ และเข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศได้จริง ผลจากการกระทำเหล่านี้จะเป็นการช่วยส่งเสริมและลดปัญหาการทุจริต การให้และรับสินบนได้ต่อไปในอนาคต และยังส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ สร้างความแข็งแกร่งในการทำธุรกิจระหว่างประเทศ ขยายตลาดลงทุน สร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไปในอนาคต
4 คดีสินบนข้ามชาติของไทย
ประเทศไทยมีคดีที่เป็นผลมาจากกรณีการติดสินบนระหว่างประเทศ และเป็นผลจากกฎหมาย FCPA ของสหรัฐ ทีบริษัทเอกชนให้การซัดทอดมายังเจ้าหน้าที่ประเทศไทย จนนำไปสู่การสืบสวนสอบสวน ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีคดีทั้งหมด 5 คดี เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย FCPA ของสหรัฐอเมริกา 4 คดี และคดีที่เป็นการทุจริตข้ามชาติของประเทศอื่นอีก 1 คดี
คดีแรก เป็นคดีที่นางจุฑามาศ ศิริวรรณ อดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) รับสินบนจำนวน 60 ล้านบาท จากนายเจอรัลด์ และนางแพทริเซีย กรีน นักสร้างภาพยนตร์ชาวอเมริกัน เพื่อให้ได้สิทธิ์การจัดนิทรรศการภาพยนตร์นานาชาติ ที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2550
จุดเริ่มต้นของคดีนี้ เกิดจากการที่ศาลสหรัฐอเมริกาและเอฟบีไอ ได้ดำเนินคดีตามกฎหมาย FCPA ของสหรัฐกับนายเจอรัลด์และนางแพทริเซีย กรีน ในข้อหาให้สินบนกับนางจุฑามาศ ทำให้นายเจอรัลด์และนางแพทริเซีย กรีน ถูกศาลสหรัฐอเมริกาพิพากษาให้มีความผิดและถูกตัดสินจำคุก 6 เดือน จากนั้นจะถูกกักบริเวณในบ้านอีก 6 เดือน และต้องจ่ายค่าชดใช้ 250,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 8 ล้านบาท ส่วนนางจุฑามาศ ศิริวรรณ และบุตรสาวนั้น ขณะนี้กำลังถูกดำเนินคดีจากศาลของทั้งสองประเทศ
คดีที่สอง เป็นคดีที่บริษัท อลิอันซ์วัน (Aliance One) ติดสินบนพนักงานโรงงานยาสูบของไทยในช่วงปี 2543–2547 เป็นเงินมูลค่ากว่า 2 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 60 ล้านบาท) โดยแลกเปลี่ยนกับสัญญาซื้อขายมูลค่าราว 18.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 540 ล้านบาท) โดยอลิอันซ์วันถูกตัดสินว่ามีความผิดในปี 2543 ได้ยินยอมจ่ายค่าปรับเป็นเงิน 9.45 ล้านเหรียญสหรัฐ และจ่ายเงินคืนรายได้จากผลกำไรเป็นเงิน 10 ล้านเหรียญสหรัฐ ในส่วนของประเทศไทยกำลังอยู่ในระหว่างการไต่สวนของ ป.ป.ช.
คดีที่สาม เป็นคดีที่บริษัท จีอีอินวิชั่น (GE InVision) ที่ขายเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดให้กับสนามบินสุวรรณภูมิ หรือที่รู้จักกันในคดี CTX ถูกตรวจสอบจาก ก.ล.ต. สหรัฐ ตามกฎหมาย FCPA หลังจากที่มีการสอบสวนพบว่า บริษัทมีการจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ของประเทศจีนและฟิลิปปินส์จริง จนนำไปสู่การเปิดเผยต่อ ว่ามีการเตรียมที่จะจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ไทยด้วย ซึ่งในท้ายที่สุดบริษัท GE InVision ถูกปรับเป็นเงิน 800,000 เหรียญสหรัฐ และยอมสารภาพเพื่อแลกกับการไม่ถูกฟ้องในศาล ในส่วนของประเทศไทยนั้น หลังจากที่ฝ่ายอัยการมีความเห็นแย้งกับ ป.ป.ช. ด้วยเหตุผลว่ามีข้อไม่สมบูรณ์ในคดี ป.ป.ช. จึงยื่นฟ้องเอง
ปัจจุบันคดียังไม่สิ้นสุด มีนักการเมืองและผู้ที่เกี่ยวข้องกว่า 30 คน คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต รมว.คมนาคม และกลุ่มคณะกรรมการและพนักงานบริษัทการท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ (บทม.) คณะกรรมการและพนักงานบริษัทการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) และกลุ่มกิจการร่วมค้า ITO ซึ่งเป็นนิติบุคคลภาคเอกชน รวมทั้งสิ้น 25 ราย
คดีที่สี่ เป็นคดีที่บริษัท ไดอาจีโอ (Diageo) เจ้าของสุรายี่ห้อ จอห์นนี่ วอล์กเกอร์ จ่ายสินบนแก่เจ้าหน้าที่ในอินเดีย เกาหลีใต้ และไทย เพื่อแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์ด้านภาษีและการจำหน่ายสุราในประเทศดังกล่าว สำหรับกรณีของประเทศไทย ไดอาจีโอได้จ่ายเงินสินบนประมาณ 600,000 ดอลลาร์สหรัฐ (18 ล้านบาท) แก่เจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูงคนหนึ่งที่เป็นอดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตั้งแต่ปี 2548–2550 เพื่อช่วยเหลือบริษัทในเรื่องภาษีสรรพสามิตและภาษีศุลกากร โดยบริษัทยอมจ่ายค่าปรับกว่า 16 ล้านเหรียญสหรัฐ (480 ล้านบาท) เพื่อแลกกับการไม่ถูกฟ้องร้อง ในส่วนของประเทศไทย ปัจจุบันกำลังอยู่ในระหว่างการไต่สวนและรวบรวมข้อมูลหลักฐานของ ป.ป.ช.
และคดีสุดท้าย เป็นคดีที่ไม่เกี่ยวกับกฎหมาย FCPA เนื่องจากเป็นบริษัทของประเทศออสเตรีย คือบริษัท สไตเออร์–เดมเลอร์–พุค (Styer–Daimler–Puch) หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อคดีรถดับเพลิง กทม. ที่มีการฮั้วประมูลนั้น ป.ป.ช. ได้มีการชี้มูลความผิดแล้ว และขั้นตอนอยู่ในศาลอาญา โดยมี ป.ป.ช. เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นักการเมือง บริษัทเอกชนและเจ้าหน้าที่ระดับสูงรวมทั้งสิ้น 6 คนคือ นายโภคิน พลกุล อดีต รมว. มหาดไทย นายประชา มาลีนนท์ อดีต รมช. มหาดไทย นายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว. พาณิชย์ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีตผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร บริษัท สไตเออร์–เดมเลอร์–พุค และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร