ThaiPublica > เกาะกระแส > ป.ป.ช. แถลงผลงานรอบ 6 เดือน เผยเหตุล่าช้า 15 คดี เตรียมสะสางในปีนี้

ป.ป.ช. แถลงผลงานรอบ 6 เดือน เผยเหตุล่าช้า 15 คดี เตรียมสะสางในปีนี้

18 พฤษภาคม 2014


เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เปิดแถลงผลงานรอบ 6 เดือน (ปีงบประมาณ 2557 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556-31 มีนาคม 2557) ณ สำนักงาน ป.ป.ช. ที่ผ่านมาการทำงานของ ป.ป.ช. องค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบความโปร่งใสนักการเมืองและภาครัฐนั้น ได้เกิดการตั้งคำถามจากหลายฝ่ายถึงการดำเนินงานที่ล่าช้า ขณะที่ผลการจัดอันดับภาพลักษณ์ด้านการคอร์รัปชันของไทย หล่นมาอยู่ในอันดับที่ 102 จากเดิมอยู่อันดับที่ 88 ในปี 2556

ขณะเดียวกันคณะกรรมการ ป.ป.ช. ถูกจับตามองมากขึ้นจากการลงมติถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ในโครงการรับจำนำข้าว โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ถูกตั้งข้อสงสัยว่าดำเนินการรวดเร็วกว่าคดีอื่นๆ

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เปิดแถลงผลงานรอบ 6 เดือน (ปีงบประมาณ 2557 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556-31 มีนาคม 2557) ณ สำนักงาน ป.ป.ช.
เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เปิดแถลงผลงานรอบ 6 เดือน (ปีงบประมาณ 2557 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556-31 มีนาคม 2557) ณ สำนักงาน ป.ป.ช.

ทั้งนี้นายวิชา มหาคุณ โฆษกคณะกรรมการ ป.ป.ช. และนายภักดี โพธิศิริ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ชี้แจงความคืบหน้าคดีสำคัญต่างๆ 15 คดี ดังนี้

คดีที่อยู่ระหว่างการไต่สวน

คดีกล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับการทุจริตในการระบายข้าวของรัฐบาล และมีการยื่นคำร้องขอให้ถอดถอนนางพรทิวา นาคาศัย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เกี่ยวกับการทุจริตในการระบายข้าวเช่นเดียวกัน

โดยคดีนี้เริ่มในปี 2552 ที่มีการยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. ต่อมาในปี 2554 ป.ป.ช. ได้เรียกผู้ร้องเข้าไต่สวนคดี จนกระทั่งเป็นเวลากว่า 4 ปีแล้วคดียังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งทาง ป.ป.ช. เคยอ้างเหตุล่าช้าเนื่องจากเอกสารสูญหายเมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่

นายวิชากล่าวว่า “มีผู้กล่าวหาเราว่า ทำไมไม่ติดตามพยานที่ยังขาดอยู่ ทำไมถึงช้ากว่าคดีคุณยิ่งลักษณ์ เราคาดว่าจะสามารถสรุปรายงานการไต่สวนเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ภายใน 1 เดือนนี้ เพราะว่าเราได้ข้อมูลมาพอสมควรแล้ว”

คดีกล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กรณีทุจริตต่อหน้าที่ในโครงการประกันรายได้เมื่อครั้งนายอภิสิทธิ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.)

เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2557 นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย และอดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทยจำนวนหนึ่งได้ยื่นหนังสือให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบในประเด็นนี้เพิ่มเติม แต่ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2557 นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ได้ให้สัมภาษณ์กับทางหนังสือพิมพ์ข่าวสดว่า โครงการประกันราคาข้าวเพิ่งถูกส่งมาที่ ป.ป.ช. เมื่อปี 2555 โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และทาง ป.ป.ช. ได้เร่งดำเนินการมาโดยตลอด ซึ่งหากนับเวลาแล้วเรื่องนี้ก็ค้างคาอยู่ระหว่างการดำเนินงานร่วม 3 ปี และคดีนี้ก็ไม่สามารถอ้างเหตุเอกสารสูญหายจากกรณีน้ำท่วมได้ เนื่องจากยื่นเรื่องหลังเหตุการณ์น้ำท่วม

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดในการแถลงผลงานรอบ 6 เดือนของ ป.ป.ช. นายวิชากล่าวว่า “มีการร้องเรียนคุณอภิสิทธิ์มาอีกในการประกันราคาข้าวเปลือกว่า มีการทุจริตสมัยดำรงตำแหน่งนายกฯ และเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) คือร้องเรียนลักษณะคล้ายๆ กรณีคุณยิ่งลักษณ์ในตอนท้าย ฉะนั้นเราก็เริ่มดำเนินกระบวนการไต่สวนโดยเร่งด่วน คาดว่าเสร็จสิ้นในปีนี้แน่นอน เพราะว่าเรามีแนวทางไต่สวนเช่นเดียวกับการไต่สวนคุณยิ่งลักษณ์อยู่แล้ว”

คดีถอดถอนและตรวจสอบการกระทำอันมิชอบของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องจากกรณี กู้เงินสำหรับแผนบริหารจัดการน้ำตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท คดีนี้เป็นคดีสืบเนื่องจากเหตุอุทกภัยปี 2554 ทำให้รัฐบาลต้องวางแผนบริหารจัดการน้ำ เพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว แต่การดำเนินการมีเหตุไม่ชอบมาพากลจนทำให้ประชาชนยื่นฟ้องต่อศาลปกครองในเบื้องต้น

ส่วนการยื่นคำร้องให้ถอดถอนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. นั้นมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 135 ราย ขณะเดียวกัน นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เข้ายื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช. ให้ไต่ส่วนนางสาวยิ่งลักษณ์กรณีละเว้นปฏิบัติหน้าที่ไม่จัดให้มีการรับฟังความเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในการดำเนินโครงการแผนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ทั้ง 2 ฝ่ายได้ยื่นคำร้องในช่วงเดือนมิถุนายน 2556 ขณะนี้กระบวนการอยู่ในระหว่างการไต่สวน และตรวจสอบพยานหลักฐาน โดยนายวิชาคาดว่าคดีนี้จะเสร็จสิ้นภายในปี 2557

คดีกล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และข้าราชการประจำผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง กรณีทุจริตโครงการสร้างสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 แห่ง

โครงการก่อสร้างสถานีตำรวจ (ทดแทน) 396 แห่ง อยู่ในโครงการไทยเข้มแข็งของพรรคประชาธิปัตย์ ได้ทำสัญญาในสมัยที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นรองนายกรัฐมนตรีกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้อนุมัติวงเงินกว่า 5,800 ล้านบาท ปรากฏว่าเมื่อครบกำหนดโครงการแล้วการก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ (ขยายเวลา 3 ครั้ง) เหลือยังไม่ก่อสร้าง 196 แห่ง ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจและประชาชนที่มาติดต่อราชการ ไม่มีอาคารในการปฏิบัติงาน อีกทั้งยังมีการเบิกจ่ายงบล่วงหน้าไปกว่า 150 ล้านบาท

ในเบื้องต้นได้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจจากนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ต่อมาเมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2555 นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ได้นำเอกสารและหลักฐานเกี่ยวกับการก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทนทั่วประเทศ จำนวน 396 แห่งนี้ร้องเรียนต่อนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ และทางดีเอสไอได้ส่งคดีต่อให้กับ ป.ป.ช. ในปี 2556 ล่าสุดทาง ป.ป.ช. ได้เปิดเผยว่าคดีนี้อยู่ระหว่างการไต่ส่วน อีกไม่นานก็สามารถสรุปคดีแจ้งข้อกล่าวหาได้

“ดำเนินการสอบสวนไปแล้ว 27 ราย แล้วก็ทางอนุกรรมการฝ่ายเลขาธิการ ป.ป.ช. ก็ได้ลงไปตรวจสอบโรงพักในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งก็ลงนามให้ผู้กำกับและผู้บังคับการทั้งหลายได้ดูแลด้วย เพราะว่าต้องระวังความปลอดภัยเหมือนกัน เนื่องจากต้องลงไปในพื้นที่หลายๆ จังหวัด คือเราใช้วิธีสุ่มตัวอย่าง คาดว่าคงจะใช้เวลาอีกไม่นานจะแจ้งข้อกล่าวหาได้” นายวิชากล่าว

ที่มาภาพ : http://images.voicetv.co.th/contents/640/330/horizontal/64755.jpg
ที่มาภาพ : http://images.voicetv.co.th/contents/640/330/horizontal/64755.jpg

คดีกล่าวหานายสุเทพ เทือกสุบรรณ กรณีทุจริตในโครงการก่อสร้างแฟลตที่พักข้าราชการตำรวจ จำนวน 163 แห่งทั่วประเทศของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)

สืบเนื่องจากโครงการสร้างสถานีตำรวจ 396 แห่ง 30 มกราคม 2556 นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ได้เข้ายื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อดีเอสไอ ให้ดำเนินการสอบสวนโครงการก่อสร้างแฟลตที่พักข้าราชการตำรวจ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำนวน 163 หลัง มูลค่า 3,700 ล้านบาท หลังได้รับการร้องเรียนว่ามีการเปิดประมูลที่ส่วนกลางโดยมีบริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้น แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูลเช่นเดียวกับโครงการสถานีตำรวจทั้ง 396 แห่ง แต่ทราบว่าการก่อสร้างไม่มีความคืบหน้าเหมือนโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจ เช่นเดียวกันทางดีเอสไอได้ส่งคดีนี้ต่อให้แก่ทาง ป.ป.ช. รับช่วงต่อ

ล่าสุดทาง ป.ป.ช. เปิดเผยว่า “เราไต่สวนทุกวัน ไต่สวนตลอด ขณะนี้สอบพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องแฟลตไปแล้ว 19 ราย และยังต้องสอบเพิ่มเติมอีก” นายวิชากล่าว

คดีถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรณีร่วมลงชื่อเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ในประเด็นเรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภา เนื่องจากมีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2556 ตัวแทนสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จำนวน 308 คน ได้ยื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา โดยร่างนั้นได้มีประเด็นในการแก้ไขมาตรา 116 และ 214 ที่ส่อแววมิชอบ จึงมีการยื่นฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ และยื่นเรื่องนี้ให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบ

โดยมีการยื่นคำร้องจากหลายฝ่ายเมื่อปลายปี 2556 ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาและประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) กลุ่ม 40 ส.ว. และพรรคประชาธิปัตย์ ในขณะนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งสิ้น 36 ราย และกำลังอยู่ระหว่างการให้ผู้ถูกกล่าวหาเข้าชี้แจงข้อกล่าวหาต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.

“ขณะนี้เหลือสอบสวนอดีต ส.ส. ที่มาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา คาดว่าจะเสร็จสิ้นและส่งเรื่องให้วุฒิสภาดำเนินการถอดถอนได้ภายในเดือนมิถุนายนนี้ คงไม่ช้าแล้ว เพราะว่าเรานำพยานเข้ามาที่เขาอ้างอิงมา สอบกันทุกวัน ก็ไม่ได้หยุดเลย ฉะนั้นก็คิดว่าคงจะทยอยได้ตั้งแต่สิ้นเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป” นายวิชากล่าว

คดีที่ ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหาแล้ว

คดีอาญากล่าวหานางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในโครงการรับจำนำข้าว จากผลการชี้มูลของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา เป็นการชี้มูลเพื่อถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สำหรับส่วนของคดีอาญาได้กระทำแยกส่วนกัน โดยนายวิชากล่าวว่า ส่วนของคดีอาญาที่กำลังดำเนินการไต่สวนเพิ่มอยู่นั้นคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายใน 2 เดือนนี้

คดีกล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะอดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีสั่งสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 โดยมิชอบ เป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก เนื่องจากปฏิบัติการสลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2553 ที่เป็นที่ครหาว่ารัฐบาลทำเกิดกว่าเหตุ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตสูงถึง 99 ราย

เบื้องต้นคดีนี้ ป.ป.ช. ได้ชะลอการลงมติไต่สวนไประยะหนึ่ง เนื่องจากเกรงว่าจะซ้ำซ้อนกับทางดีเอสไอ หลังจากพิจารณาแล้วว่าเป็นการฟ้องคนละข้อกล่าวหา ป.ป.ช. จึงมีมติดำเนินการไต่สวนคดีในวันที่ 31 ตุลาคม 2556

ล่าสุดนายวิชาเผยเหตุที่ล่าช้าว่า “เรายังไม่ได้ชี้มูล เนื่องจากต้องรอคดีที่มีการชันสูตรพลิกศพ บัดนี้เราได้มาในบางคดีแล้ว ก็ต้องเร่งให้สุดสำนวน และเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายในเดือนมิถุนายนนี้”

คดีกล่าวหานายบุญทรง เตริยาภิรมย์ กับพวก เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เกี่ยวกับการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว และการระบายข้าว คดีนี้เริ่มตั้งแต่มีการร้องเรียนจากฝ่ายต่างๆ ในปี 2555 ซึ่งทางคณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. ได้ดำเนินการไต่สวนนายบุญทรง เตริยาภิรมย์เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในช่วงคาบเกี่ยวของการระบายข้าว จากการสืบพยานหลักฐานต่างๆ ทำให้ ป.ป.ช มีมติไต่สวนบุคคลที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม รวมไปถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และประธาน กขช. ขณะนั้น

โดยในวันที่ 16 มกราคม 2557 ทางคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติแจ้งข้อกล่าวหาแก่นายบุญทรง นายวิชาเผยว่า “ขณะนี้อยู่ระหว่างขยายผลไต่สวนกล่าวหาบริษัทเอกชนอีกมากที่เข้ามาเกี่ยวข้องในการระบายข้าวร่วมกับบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด โดยอยู่ในระหว่างขั้นตอนการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของบริษัททั้งหมด คงใช้เวลาอีกประมาณ 3–4 เดือน คิดว่าคงสรุปได้ในบางคน เพราะมีผู้ถูกกล่าวหาที่อยู่ต่างประเทศ ยังไม่สามารถที่จะติดต่อให้มายื่นแก้ข้อกล่าวหาได้

อย่างกรณีของบริษัทในจีน ที่อ้างว่าเป็นรัฐวิสาหกิจ ทั้งกวางโจวและที่เกาะไหหลำ ฉะนั้นต้องใช้เวลาสักหน่อย แต่ว่าอย่างไรก็ดีก็คงจะอยู่ในข่ายที่จะต้องเร่งดำเนินการ เพราะมีบริษัทต่าง ๆ ที่รับเข้ามาในการซื้อข้าวต่อจากบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ได้ขอมาให้ถ้อยคำด้วยความตั้งใจเลยว่าจะช่วยเหลือเรา”

คดีที่ ป.ป.ช. ต้องยื่นฟ้องเอง

คดีกล่าวหานายสมชาย วงศ์สวัสดิ์เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และพวก กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีสั่งการให้มีการสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ประกาศที่จะขัดขวางการเข้าประชุมของสมาชิกรัฐสภาเพื่อมิให้รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยการเคลื่อนมวลชนมาปิดล้อมรัฐสภาตั้งแต่ค่ำวันที่ 6 ตุลาคม 2551 เจ้าหน้าที่ได้รับคำสั่งให้เข้าสลายการชุมนุมในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

วันที่ 10 ตุลาคม 2551 ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 20 คน ได้มีหนังสือยื่นเรื่องให้มีการไต่สวนข้อเท็จจริงในการปฏิบัติหน้าที่ของนายสมชายและเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในคดีนี้ทาง ป.ป.ช. ได้ดำเนินการไต่สวน มีมติแจ้งขอกล่าวหา และพิจารณาชี้มูลความผิดในคดีอาญา คล้ายกับคดีของนางสาวยิ่งลักษณ์ในปัจจุบันที่มีการยื่นถอดถอนต่อวุฒิสภา และส่งเรื่องให้สำนักอัยการสูงสุดยื่นฟ้องต่อ รวมระยะเวลาคดีนี้ก็ล่วงเข้าสู่ปีที่ 6 แล้ว

ล่าสุดนายวิชาเปิดเผยความคืบหน้าคดีนี้ว่า “หลังจากสรุปสำนวนส่งให้อัยการ ปรากฏว่าอัยการไม่ฟ้องให้เพราะพยานหลักฐานไม่สมบูรณ์ และเห็นว่าไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอให้ฟ้อง เราเห็นควรว่าให้ฟ้องเอง ดังนั้นทางทนายความได้ส่งสำนวนการฟ้องและคำฟ้องมาให้นายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช. เป็นคนตรวจสอบแล้ว”

ด้านนายวิชากล่าวเพิ่มเติมว่า ไม่ต้องเป็นกังวลเรื่องอายุความ เพราะคดีนี้มีอายุความถึง 20 ปี คดีจะสิ้นอายุความในปี 2571

คดีกล่าวหานายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ สมัยดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย กรณีการซื้อขายที่ดินวัดธรรมามิการามโดยมิชอบ คดีนี้เป็นคดีแฉกระบวนการฮุบที่ธรณีสงฆ์ จากการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจในสมัยรัฐบาลทักษิณ1 เมื่อปี 2545 โดยนายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้น

การดำเนินคดีกับนายยงยุทธนั้นเป็นการพิจารณาต่อเนื่องมาจากการชี้มูลความผิดของนายเสนาะ เทียนทอง อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยที่มีความผิดกรณีการจดทะเบียนโอนมรดกและโอนสิทธิขายที่ธรณีสงฆ์ของวัดธรรมามิการามวรวิหาร จังหวัดปทุมธานี จำนวน 732 ไร่ โดยมิชอบ

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2555 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติชี้มูลความผิดนายยงยุทธว่า การกระทำนายยงยุทธผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมีความผิดวินัยร้ายแรง ให้ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินคดีตามกฎหมาย แต่ทางอัยการสูงสุดพิจารณาไม่ส่งฟ้อง ทาง ป.ป.ช. จึงดำเนินการฟ้องในคดีอาญาเอง ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการ

คดีถอดถอนคณะรัฐมนตรีรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีมติให้สนับสนุนกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ทางคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เพียงคนเดียว ในปี 2552 และได้ดำเนินการส่งเรื่องให้สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นผู้ฟ้องศาลต่อไป ซึ่งทางอัยการสูงสุดพิจารณาไม่ฟ้อง ทำให้ทาง ป.ป.ช. พิจารณายื่นฟ้องเอง ขณะนี้อยู่ระหว่างการนัดศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในการไต่สวน

นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา  ที่มาภาพ : http://images.voicecdn.net/contents/480/248/horizontal/83777.jpg
นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ที่มาภาพ : http://images.voicecdn.net/contents/480/248/horizontal/83777.jpg

คดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาฟ้อง-ไม่ฟ้องของสำนักงานอัยการสูงสุด

คดีกล่าวหานายสรยุทธ สุทัศนะจินดา และกรรมการบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ร่วมกันฉ้อโกงและปลอมแปลงเอกสาร กรณียักยอกเงินโฆษณาที่ได้รับเกินกว่าสัญญาที่บริษัทไร่ส้มทำไว้กับ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ทำให้ อสมท. ได้รับความเสียหายถึง 138,790,000 บาท เบื้องต้นคดีนี้ บจม. อสมท ได้เข้าร้องทุกข์กับเจ้าที่ที่ตำรวจเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2550 และทาง ป.ป.ช. ได้รับเรื่องไป รวมทั้งตั้งอนุกรรมการไต่สวนคดีนี้เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2552 มีการชี้มูลความผิดนายสรยุทธและพวกเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2555 และส่งเรื่องให้ทางสำนักงานอัยการสูงสุดดำเนินการส่งฟ้องในคดีอาญา

นายภักดี โพธิศิริ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ดีแลคดีนี้กล่าวถึงความคืบหน้าว่า ทางคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีการชี้มูลไปตั้งแต่เดือนตุลาคม 2555 และส่งไปที่อัยการสูงสุด ต่อมาในเดือนกันยายน 2556 อัยการสูงสุดได้แจ้งว่าข้อมูลไม่สมบูรณ์ และขอตั้งคณะทำงานร่วม ดังนั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติตั้งผู้แทนไปเป็นคณะทำงานร่วม แต่หลังจากการประชุมล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2557 ยังไม่ได้ข้อยุติ เพราะทั้งสองฝ่ายมีความเห็นไม่ตรงกัน อย่างไรก็ตาม การประชุมในวันที่ 30 พฤษภาคม 2557 นี้จะพยายามหาข้อยุติให้ได้

“หลังจากประชุมมาแล้ว 2 ครั้งในเดือนมกราคม 2557 ที่ผ่านมาก็ยังไม่ได้ข้อยุติ เพราะว่าทางอัยการสูงสุดก็มีข้อไม่สมบูรณ์แจ้งกลับมาเยอะมาก ทั้งหมดรู้สึกจะ 15 ประเด็น เป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะมีความเห็นที่ไม่ตรงกันกับความเห็นของทางผู้แทนของ ป.ป.ช. ฉะนั้นก็จะมีการนัดประชุมอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 30 พฤษภาคมนี้ เพื่อพยายามหาข้อยุติให้ได้ และถ้าหาข้อยุติไม่ได้ก็คงส่งเรื่องคืนมาให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาต่อไป” นายภักดีกล่าว

คดีสำคัญอื่นๆ ที่อยู่ในความดูแลของนายภักดีมีดังนี้

คดีกล่าวหาเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบการสอบสวนคดีกรมสรรพากรคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม วงเงิน 4,000 ล้านบาท ให้กับบริษัทเอกชนกลุ่มหนึ่งโดยไม่ถูกต้อง คดีนี้เริ่มจากที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น ได้รับจดหมายร้องเรียนเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงในกรมสรรพากรใช้อำนาจหน้าที่ในการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเท็จให้กับกลุ่มผู้ส่งออกเหล็กมูลค่ากว่า 4 พันล้านบาท หลังจากนั้นได้สรุปข้อเท็จจริงและส่งเรื่องให้กับดีเอสไอในการตรวจสอบต่อไป

ต่อมาทางดีเอสไอได้ส่งคดีในส่วนที่มีข้าราชการเข้ามาเกี่ยวข้องให้กับทาง ป.ป.ช. ในการไต่สวน ซึ่งนายภักดีกล่าวถึงความคืบหน้าคดีว่า “ในเรื่องนี้พื้นที่ที่มีการกล่าวหาก็จะมี 2 พื้นที่ คือ พื้นที่สรรพากรภาค 3 เขต 22 และพื้นที่สรรพากรเขตจังหวัดสมุทรปราการ โดยเฉพาะพื้นที่เขต 22 เราก็ได้มีการดำเนินการไต่สวนและก็รวบรวมพยานหลักฐานไปได้ค่อนข้างก้าวหน้าไปมากพอสมควรแล้ว ใกล้ที่จะสรุปได้ว่าสมควรจะต้องมีการแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ใดบ้าง อันนี้ก็จะปรากฏความเสียหายเฉพาะในเขตนี้มากกว่า 4 พันล้านบาท และถ้าขยายผลไปเข้าใจว่ามูลค่าความเสียหายคงมากกว่านี้อีกมาก”

คดีกล่าวหาเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรมีพฤติการณ์ใช้อำนาจโดยมิชอบ กรณีเรียกรับค่าตอบแทนการนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศผิดกฎหมาย รวมถึงการสำแดงราคาภาษีที่ต่ำกว่าความเป็นจริง คดีนี้เป็นเรื่องที่ทาง ป.ป.ช. เป็นผู้ดำเนินการในเบื้องต้น เนื่องจากเป็นการกระทำผิดของข้าราชการประจำ ต่อมาตรวจสอบพบว่ามีผู้บริหารระดับสูงของทางกรมศุลกากรเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย จึงดำเนินการส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวน ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการหาพยานหลักฐาน

โดยนายภักดีกล่าวถึงคดีนี้ว่า “ผู้ถูกกล่าวหาร้องเรียนคือเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร 108 คน ซึ่งมีเฉพาะในปี 2555 ที่เราตรวจสอบ และขณะนี้มีหลักฐานพอสมควร โดยมีอยู่ถึง 1 หมื่นกว่าคันในปีเดียว และตอนนี้กำลังจะมีการดำเนินการควบคู่ไปด้วย คือตรวจย้อนหลังกลับไป 5 ปี เพราะเข้าใจว่ามีการดำเนินการมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว ไม่ใช่ว่าเพิ่งจะมาเกิด แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นก็ถือว่าเป็นมูลค่ามหาศาล

เนื่องจากการมีเอกสารเกี่ยวข้องเยอะมาก รถก็เยอะ เราเลยต้องใช้เวลาในการที่จะจำแนกหลักฐานต่างๆ ที่ได้รับมอบมา ตรงนี้ก็อยู่ในระยะเวลาดำเนินการเพื่อที่จะไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไป” (คลิ๊กภาพเพื่อขยาย)

จำนวนคดี งบประมาณ ป.ป.ช.

ป.ป.ช. ลดปัญหาคดีค้างตั้ง “คณะอนุกรรมการจัดการคดี”

นายวิชา มหาคุณ ได้แถลงถึงผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมาว่า ป.ป.ช. มีคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบทั้งสิ้น 10,234 คดี เป็นคดีที่ยกมาจากปี 2556 ทั้งสิ้น 8,581 คดี เป็นคดีที่รับใหม่ 1,653 คดี แบ่งเป็นคดีที่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคม 2557 ทั้งสิ้น 1,075 คดี คงเหลือ 9,159 คดี

ในจำนวนคดีที่คงเหลือ แบ่งเป็นคดีที่อยู่ในระหว่างการแสวงหาข้อเท็จจริงจำนวน 7,545 คดี ซึ่งนายวิชากล่าวว่าในส่วนนี้เป็นปัญหาของทาง ป.ป.ช. มาโดยตลอด เนื่องจากการแสวงหาข้อเท็จจริงนั้นยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่วนคดีที่อยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริง 1,614 คดี ถือเป็นคดีที่มองเห็นฝั่งแล้ว เพราะส่วนใหญ่ก็จะชี้มูล

ดังนั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงได้ดำเนินการเพื่อให้คดีที่อยู่ระหว่างการแสวงหาข้อเท็จจริงลดจำนวนลง นำไปสู่การแสวงหาข้อเท็จจริง หรือยุติเรื่อง จึงได้ตั้ง “คณะอนุกรรมการบริหารจัดการคดี” โดยมีนายปรีชา เลิศกมลมาศ, พล.ต.อ. สถาพร หลาวทอง และนายณรงค์ รัฐอมฤต คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้รับผิดชอบ มีการคาดการณ์ว่าในปี 2557 ต่อปี 2558 นี้คดีในความรับผิดชอบของ ป.ป.ช. จะสามารถลดปริมาณคดีได้มากขึ้น

นายปรีชากล่าวถึงการจัดทำแผนว่า จากกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 246 วรรคท้าย ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการป้องกันและปรามปรามทุจริตประจำจังหวัด (ป.ป.จ.) ซึ่งวันวันนี้ได้ดำเนินการไป 28 จังหวัดแล้ว ขณะนี้กำลังพิจารณาอีก 44 จังหวัด ตกค้างอีก 4 จังหวัด ให้ทาง ป.ป.จ. ช่วยพิจารณาคัดกรองว่าเรื่องไหนควรจะยุติ เพราะไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. ให้ตกไป เรื่องใดมีมูลก็จะส่งมาส่วนกลางให้พิจารณาต่อ พร้อมทั้งมีความเห็นว่าเรื่องใดควรตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน หรือเรื่องใดควรให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการ

ทาง ป.ป.ช. จะกระจายคดีที่มีอยู่ประมาณ 7 พันกว่าคดี เป็นส่วนกลางประมาน 1 พันกว่าคดี ไปยังจังหวัดต่างๆ ในแต่ละจังหวัดจะมีคดีที่ต้องรับผิดชอบโดยเฉลี่ยตั้งแต่หลักสิบจนถึงร้อยคดี นายปรีชาเผยว่า จังหวัดที่มีคดีมากที่สุดคือนครราชสีมา มีคดีอยู่ประมาณ 200 คดี รองลงมาคือจังหวัดร้อยเอ็ด 188 คดี จังหวัดอุดรธานี 177 คดี ส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคอีสาน

ที่ต้องให้ ป.ป.จ. ดำเนินการนั้นถือว่าเป็นการประหยัดงบประมาณ จากเดิมต้องส่งคนจากส่วนกลางลงไปสะสางคดีในแต่ละจังหวัดซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสูง อีกทั้งสิ้นเปลืองเวลา และเป็นเรื่องที่ทาง ป.ป.ช. จะได้มีการใกล้ชิดกับผู้ร้องคดี เจ้าหน้าที่จะได้ออกไปตรวจสอบข้อเท็จจริงได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นจะทำให้เรื่องที่ค้างอยู่ 7 พันกว่าเรื่องลดน้อยลง และก็จะมีความเป็นธรรม และรวดเร็วมากกว่าเดิม ทำให้ผลของเรื่องที่ตกค้างที่สะสมมาเรื่อยๆ นั้นลดลง

โดยจะมีเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางลงไปเป็นเจ้าหน้าที่อาวุโสในการกำกับดูแล พร้อมกันนั้นเจ้าหน้าที่ใหม่ก็ต้องผ่านการอบรมก่อน อีกทั้งทางคณะอนุกรรมการติดตามคดีได้จัดให้มีเจ้าหน้าที่ติดตามประเมินผล และแก้ปัญหาต่างๆ เป็นระยะๆ ในแต่ละจังหวัดอย่างใกล้ชิด ดังนั้นข้อกังวลเกี่ยวกับคดีตกค้างต่างๆ คงจะหมดไป