ThaiPublica > เกาะกระแส > ปม”คลัง”แย้ง “แบงก์ชาติ” จดหมาย”กิตติรัตน์” กับวาระเพื่อชาติหรือเพื่อใคร !

ปม”คลัง”แย้ง “แบงก์ชาติ” จดหมาย”กิตติรัตน์” กับวาระเพื่อชาติหรือเพื่อใคร !

13 กุมภาพันธ์ 2013


นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯและรมต.คลัง(ซ้าย) นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร นายกรัฐมนตรี(กลาง) นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานกรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มาภาพ : http://www.bangkokpost.com
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯและรมต.คลัง(ซ้าย) นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี(กลาง) นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานกรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มาภาพ : http://www.bangkokpost.com

ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา กระแสความขัดแย้งเชิงนโยบายระหว่างรัฐบาลที่นำทีมโดย “นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ซึ่งมีผู้ว่าการ “ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ตกเป็นเป้าครั้งนี้ แรงกดดันนับวันจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น เพราะเป็นการพูดผ่านสื่อเสียส่วนใหญ่ แทนที่จะนั่งจับเข่าคุยกันด้วยเหตุและผล

ประเด็นที่รัฐมนตรีคลังออกมาแสดงความห่วงใย และจี้ให้คณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องรับผิดชอบเรื่อง “ผลขาดทุนของ ธปท.” และเรื่อง “การลดดอกเบี้ย” ดูแลเงินบาทไม่ให้แข็งค่า เพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออก

ประเด็นเหล่านี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีให้เห็นทุกยุคทุกสมัย แต่สิ่งที่ต่างไปจากอดีตคือ ท่าทีของรัฐมนตรีคลัง “นายกิตติรัตน์” ซึ่งแสดงออกด้วยการเขียนจดหมายทำ “หนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร” ส่งถึงประธานคณะกรรมการแบงก์ชาติ โดยระบุว่า “เพื่อให้คณะกรรมการทุกท่านรับทราบบทบาทและหน้าที่ของตนว่า จะต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อผลกระทบใดๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศเป็นสำคัญด้วย” พร้อมกับบอกด้วยว่า “กระทรวงการคลังยังเป็นห่วงภาระหนี้สะสมของ ธปท. ที่มียอดหนี้สะสมติดลบเพิ่มขึ้นทุกปีด้วย”

การที่รัฐมนตรีคลังส่งหนังสือถึงประธานคณะกรรมการแบงก์ชาติ แม้จะอ้างว่าทำตามกฎหมายกำหนดไว้ แต่ในทางปฏิบัติมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง เพราะตีความได้ว่าเป็นการ “ข่มขู่” ธนาคารกลางอย่างโจ่งแจ้ง ซึ่งผู้รู้ในแวดวงธนาคารกลางต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เคยมีปรากฏให้เห็นมาก่อน หรือหากจะมีก็เป็นในทางลับ ไม่ใช่เปิดเผยผ่านสื่อเช่นนี้

ขณะที่ฝั่งแบงก์ชาติ “ผู้ว่าฯประสาร” ฟันธงยืนยันว่า อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันเหมาะสมแล้ว และพยายามอธิบาย “หลักคิด” การทำงานของแบงก์ชาติในการดำเนินนโยบายการเงินและนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน แต่ก็ยังตกที่นั่งลำบาก เพราะประเด็นที่รัฐมนตรีคลังจี้ให้ดูแลโดยเฉพาะเรื่องขาดทุนแบงก์ชาติที่เพิ่มขึ้นเป็น 5.3 แสนล้านบาท ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องเข้าใจยาก อธิบายเท่าไรทางรัฐมนตรีคลังก็ฟังไม่เข้าใจสักที และอาจรวมถึงอีกหลายๆ คนด้วย

นางธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
นางธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ปมขัดแย้งระหว่างกระทรวงการคลังกับผู้ว่าแบงก์ชาติครั้งนี้ มีข้อสังเกตที่น่าสนใจจากอดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ “ดร. ธาริษา วัฒนเกส” ผู้ว่าการแบงก์ชาติคนที่ 21 และเป็นผู้ว่าการในช่วงรอยต่อของกฎหมายแบงก์ชาติฉบับเก่ากับฉบับใหม่ ได้ให้สัมภาษณ์กับ “สำนักข่าวไทยพับลิก้า” เกี่ยวกับประเด็นร้อนระหว่างกระทรวงการคลังกับแบงก์ชาติว่า เป็นเรื่องปกติที่รัฐมนตรีคลังซึ่งเป็นฝ่ายรัฐบาลจะเห็นต่างจากแบงก์ชาติ เพราะมีมุมมองเกี่ยวกับขอบเขตระยะเวลาในการดำเนินนโยบายต่างกัน

โดยกระทรวงการคลังเกือบของทุกประเทศมักมองระยะสั้น ประมาณ 4 ปี เพราะเป็นช่วงที่หวังว่าจะสร้างผลงานเมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ จะได้กลับเข้ามาเป็นรัฐบาลได้อีก ดังนั้น ที่ทำได้ในช่วง 4 ปี คือ กระตุ้นเศรษฐกิจให้ดูดี โดยเน้นให้มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น ขณะที่แบงก์ชาติ (ไม่เฉพาะแบงก์ชาติของประเทศไทย) จะมองระยะยาวมากขึ้น เพราะมีเป้าหมายการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงดูแลการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจด้วย

“ผู้กำหนดนโยบายการเงินของแบงก์ชาติคือ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ดังนั้น ในเมื่อมุมมองระยะเวลาของกระทรวงคลังกับแบงก์ชาติไม่เหมือนกัน กนง. กับกระทรวงคลังก็ไม่ควรจะคุยกัน เพราะคงไม่เหมาะสม โดยการพิจารณาของ กนง. ต้องดูข้อมูลอย่างรอบด้าน และตัดสินนโยบายซึ่งอาจต่างหรือสอดคล้องกับรัฐบาลก็ได้ ขึ้นอยู่กับข้อมูลเป็นสำคัญ”

การดำเนินนโยบายการเงินในปัจจุบัน ดร.ธาริษากล่าวว่า ภายใต้กฎหมายใหม่ ผู้ว่าการแบงก์ชาติไม่ได้ตัดสินเพียงคนเดียว แต่อยู่ในรูป กนง. และแบงก์ชาติก็ไม่สามารถโน้มน้าว กนง. ได้ โดยในการประชุม กนง. ที่ผ่านมา ผู้ว่าการแบงก์ชาติจะเป็นคนแสดงความคิดเห็นคนสุดท้ายหลังจากคณะกรรมการท่านอื่นๆ แสดงความคิดเห็น จากนั้นถึงจะตัดสินใจลงคะแนนเสียง เหตุผลที่ทำเช่นนั้นเพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาว่าผู้ว่าแบงก์ชาติโน้มน้าวที่ประชุม กนง.

แต่กรณีระหว่างรัฐมนตรีคลังกับผู้ว่าการแบงก์ชาติ ดร.ธาริษาบอกว่า ควรจะคุยกัน ซึ่งมีทั้งเวทีแบบทางการที่กฎหมายกำหนดไว้ และเวทีไม่เป็นทางการ ซึ่งรัฐมนตรีคลังสามารถคุยกับผู้ว่าแบงก์ชาติได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาขาดทุนของแบงก์ชาติ เรื่องดอกเบี้ย เรื่องอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น

“แต่เท่าที่เห็นไม่มีการคุยกัน และใช้วิธีแบบสั่งผ่านสื่อ แทนที่จะคุยกันเป็นการภายใน และการส่งหนังสือถึงประธานคณะกรรมการแบงก์ชาติจะเป็นการสร้างเงื่อนไขเพื่อจะนำไปสู่การทำอะไรต่อไปหรือไม่ ซึ่งไม่รู้” ดร.ธาริษาตั้งข้อสังเกต

สำหรับประเด็นร้อนที่เห็นต่างเรื่อง “ดอกเบี้ย” ระหว่างกระทรวงคลังกับแบงก์ชาติ ดร.ธาริษากล่าวว่า เมื่อเปรียบอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยกับประเทศในภูมิภาคจะเห็นว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยไม่สูงกว่าประเทศอื่น มีประเทศอื่นสูงกว่าบ้าง ต่ำกว่าบ้าง อัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 2.75% จึงไม่ถึงกับมีนัยสำคัญ หรือไม่ใช่ปัจจัยหลักดึงดูดเงินทุนไหลเข้า

นอกจากนี้ ในทางเศรษฐศาสตร์ เวลาดูอัตราดอกเบี้ยก็จะดูที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง คือ อัตราดอกเบี้ยนโยบายหักเงินเฟ้อ ซึ่งพบว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงของไทยติดลบ และต่ำเป็นอันดับสามของภูมิภาค

เปรียบเทียบดอกเบี้ยนโยบาย

ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์สำหรับลูกค้ารายใหญ่ (MLR) อยู่ที่ 7-8% และเงินเฟ้ออยู่ที่ประมาณ 3.39% เมื่อคำนวณอัตราดอกเบี้ย MLR ที่แท้จริงก็จะอยู่ประมาณ 3.6-4.6% ซึ่ง ดร.ธาริษามองว่าเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ไม่สูงจนเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการใช้จ่ายในประเทศ

“ไม่เข้าใจว่าการมีนโยบายไปลดอัตราดอกเบี้ยตอนนี้ของรัฐบาลมีวัตถุประสงค์อะไร” ดร.ธาริษาตั้งข้อสังเกตและพยายามช่วยคิดต่อว่าเขาจะลดดอกเบี้ยเพราะอะไร

ข้อแรก ลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่คิดว่าไม่ใช่ เพราะว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น แม้ส่งออกยังไม่ดีขึ้นมาก และหากดูตัวเลขอัตราการว่างงานล่าสุดก็อยู่ระดับต่ำที่ 0.4% เป็นเครื่องชี้บ่งบอกว่าเศรษฐกิจยังขยายตัวไปได้ และการใช้จ่ายในประเทศยังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

เพราะฉะนั้น คิดว่าอธิบายไม่ได้ว่าเป็นการลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะถ้าคิดอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยิ่งบอกไม่ได้ว่าอัตราดอกเบี้ยเราสูงเกินความจำเป็น

ข้อสอง ลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดเงินทุนไหลเข้า แต่ลดแล้วจะลดเงินทุนไหลเข้าได้จริงหรือไม่ เรื่องนี้ต้องไปดูอัตราดอกเบี้ยประเทศอื่นๆ ว่าสูงกว่าไทยหรือไม่ แล้วเงินเข้าออกเป็นอย่างไร ก็จะพบว่า บางประเทศดอกเบี้ยสูงแต่เงินไม่ไหลเข้า ขณะที่บางประเทศอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าไทยแต่มีเงินไหลเข้า เพราะฉะนั้น ดอกเบี้ยอาจไม่ใช่ปัจจัยสำคัญเสมอไป

หรือลดอัตราดอกเบี้ย ชะลอเงินทุนไหลเข้า เพื่อลดแรงกดดันเงินบาทไม่ให้แข็งค่า แต่ลดอัตราดอกเบี้ยแล้วลดเงินทุนไหลเข้าหรือไม่ “ไม่รู้” หรือหากช่วยลดเงินทุนไหลเข้าได้จริง แต่จะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนจริงหรือไม่ “ก็ไม่รู้”

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูข้อมูลค่าเงินกับอัตราดอกเบี้ยของแต่ละประเทศ พบว่า มีทั้งดอกเบี้ยสูงและดอกเบี้ยต่ำกว่าไทย แต่ค่าเงินก็อ่อนค่ากว่า อาทิ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ อัตราดอกเบี้ยสูงกว่าไทย แต่ค่าเงินกลับอ่อนกว่า เป็นต้น

ตารางเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงค่าเงินในภูมิภาค

ดร.ธาริษาลองคิดต่อว่า ถ้าเงินบาทอ่อน กลุ่มที่ได้ประโยชน์คือผู้ส่งออก แต่หากดูมูลค่าการส่งออกและนำเข้า จะเห็นว่าสัดส่วนมูลค่าการส่งออกและนำเข้าใกล้เคียงกันมาก

จึงมีคำถามจากอดีตผู้ว่าแบงก์ชาติว่า ทำไมต้องดูแลเงินบาทอ่อนเพื่อส่งเสริมส่งออกด้านเดียว ในขณะที่การนำเข้าก็มีความสำคัญ โดยเฉพาะในภาวะที่ปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท ยิ่งมีความจำเป็นต้องเพิ่มผลิตภาพการผลิต โดยใช้เครื่องจักร เครื่องมือ ถ้าเงินบาทแข็งจะได้นำเข้าเครื่องจักรเพื่อลดต้นทุน เป็นการแก้ปัญหาผลกระทบการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ขาดแคลนแรงงานเพราะว่าจ่ายค่าจ้างไม่ไหว การนำเข้าเครื่องจักรมาผลิตทดแทนจะเป็นทางแก้ปัญหาได้ นอกจากนี้ เมื่อเงินบาทแข็งค่า ราคาน้ำมันก็ถูกลง ทุกคนได้ประโยชน์ถ้วนหน้า

“ทำไมดูแลแต่ส่งออก ไม่ดูแลนำเข้าด้วย ที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายเพิ่มรายได้แล้ว แต่ไม่เห็นนโยบายที่เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตบ้าง ดังนั้นควรดูให้รอบด้าน”

ข้อสาม ลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดภาระขาดทุนแบงก์ชาติ ประเด็นขาดทุนแบงก์ชาติ การลดอัตราดอกเบี้ยไม่สามารถทำให้พลิกผันจากขาดทุนขึ้นมาได้ สิ่งเดียวที่จะทำกำไรได้คือ เลิกเข้าไปแทรกแซงค่าเงิน ลดขนาดทุนสำรองระหว่างประเทศลง

ดร.ธาริษาอธิบายเพิ่มเติมว่า เงินสำรองระหว่างประเทศที่มีประมาณ 1.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุหลักที่ทำให้ขาดทุนเพราะเงินบาทแข็ง เมื่อแปลงมูลค่าเงินตราต่างประเทศเป็นเงินบาทจึงทำให้เกิดผลขาดทุน ไม่ใช่ขาดทุนจากดอกผล ประเด็นที่เสนอให้ลดดอกเบี้ยเพื่อเอามาแก้ขาดทุนจึงแก้ไม่ได้

“ต่อให้ลดอัตราดอกเบี้ยลงครั้งละ 0.25% จนไปถึง 0% ก็แค่เป็นการลดภาระดอกเบี้ย ไม่ใช่เงินต้นหรือเงินสำรองระหว่างประเทศ 1.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพราะฉะนั้น ไม่สามารถอธิบายได้ว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยมาแก้ขาดทุน”

ประเด็นแบงก์ชาติขาดทุนกำลังเป็นประเด็นร้อนสั่นคลอนเก้าอี้ผู้ว่าแบงก์ชาติในปัจจุบัน เพราะถูกรัฐมนตรีคลังจี้ให้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น ขณะที่ ดร.ธาริษามีความเห็นว่า เรื่องแบงก์ชาติขาดทุน เป็นเรื่องที่พูดกันไม่จบ เพราะขาดทุนมานานและพูดกันมานานว่า แบงก์ชาติขาดทุนเพื่อชาติ

“ถ้าจะยกประเด็นขาดทุนแบงก์ชาติมาเอาผิดผู้ว่าแบงก์ชาติปัจจุบันเพื่อปลดก็คงทำได้ แต่ต้องตั้งคำถามกลับด้วยว่า เป็นการขาดทุนจริงหรือไม่ เพราะว่าส่วนใหญ่เป็นการขาดทุนทางบัญชี เงินสำรองระหว่างประเทศไม่ได้หายไปไหน ทุกดอลลาร์ ทุกยูโร และเงินตราต่างประเทศทั้งหมดไม่หายไปไหน แต่เมื่อแปลงค่าเป็นเงินบาทก็หายไป เพราะเงินบาทแข็ง”

ดร.ธาริษากล่าวว่า ที่ผ่านมามีนโยบายให้แบงก์ชาติดูแลค่าเงินบาท เมื่อมีเงินไหลเข้ามาแบงก์ชาติก็ต้องเข้าไปซื้อ ทำให้ขาดทุน และแบงก์ชาติไม่มีทางจะต้านดีมานด์ซับพลายในตลาดการเงินโลกได้ ทำได้แค่ชะลอการแข็งค่าของเงินบาทไม่ให้เร็วเกินไป หรือไม่ให้ผันผวนมากเกินไป

“เพราะฉะนั้น ไม่ถูกต้องที่ว่าให้ดูแลค่าเงินบาทแล้วขาดทุนแล้วก็บอกว่าแบงก์ชาติทำไม่ถูกต้อง ถ้าไม่ให้ขาดทุนก็ต้องไม่แทรกแซงดูแลค่าเงินบาท”

อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่ก็ขาดทุนเพราะการดำเนินนโยบายการเงิน แต่เมื่อหักกลบกำไรบางแห่งก็ขาดทุนมากน้อยหรือมีกำไรมากน้อยต่างกันไป แต่กรณีของแบงก์ชาติไทยที่ขาดทุนมาก สาเหตุหลักอีกประการหนึ่งมาจากระบบบัญชีของแบงก์ชาติ

ดร.ธาริษากล่าวว่า ระบบบัญชีของแบงก์ชาติมีการแยกเป็น 2 บัญชี ต่างจากธนาคารกลางอื่นๆ ที่มีระบบบัญชีเดียว โดยกรณีของแบงก์ชาติบัญชีที่ได้กำไรก็กองอยู่ในบัญชีหนึ่ง ส่วนบัญชีที่ขาดทุนก็กองอยู่อีกบัญชีหนึ่ง ถ้าเอา 2 บัญชีรวมกันจะทำให้การขาดทุนของแบงก์ชาติไม่น่าเป็นห่วง

ทั้งนี้ ในสมัยนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เป็นรัฐมนตรีคลัง ก็ตั้งคำถามเรื่องขาดทุนของแบงก์ชาติเช่นเดียวกัน ตอนนั้นทางแบงก์ชาติได้อธิบายเรื่องระบบบัญชีแบงก์ชาติที่แยกเป็น 2 บัญชี โดยระบุว่า หากมีการรวมทั้งสองบัญชีจะทำให้ส่วนของทุนแบงก์ชาติเป็นบวก สะท้อนฐานะของแบงก์ชาติยังแข็งแกร่ง

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธปท.
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธปท.

เพราะฉะนั้น แม้แบงก์ชาติจะชาดทุนเพิ่ม ซึ่งในสมัย ดร.ประสารอาจมีการขาดทุนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปอีก เพราะแนวโน้มเงินบาทยังแข็งค่าขึ้น จนอาจกลายเป็นประเด็นโจมตี ดร.ประสารว่าทำให้แบงก์ชาติเสียหายขาดทุนจำนวนมาก แต่ ดร.ธาริษา เชื่อมั่นว่า ผู้ว่าประสารทำเพื่อชาติ เพราะการขาดทุนของแบงก์ชาติเป็นการขาดทุนเพื่อชาติ

“เรื่องระบบบัญชีแบงก์ชาติและการขาดทุนของแบงก์ชาติ เป็นเรื่องที่เข้าใจยากและยากที่จะอธิบายให้เข้าใจง่าย แต่แบงก์ชาติก็ต้องพยายามอธิบายเพื่อสร้างความเข้าใจกับทุกภาคส่วน”

นอกจากนี้ ดร.ธาริษาได้แสดงความห่วงใยหากมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยว่า ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน หากลดอัตราดอกเบี้ยจะมีผลเสีย เพราะถ้าอัตราดอกเบี้ยต่ำจะไปกระตุ้นสินเชื่อ กระตุ้นการใช้จ่าย ทำให้หนี้ภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น ตอนนี้อัตราเงินเฟ้ออาจไม่ใช่ประเด็น แต่ประเด็นที่ต้องดูและติดตามคือ ภาวะการใช้จ่ายเกินตัว

“ต้องไม่ลืมว่าวิกฤติที่เกิดขึ้นในอเมริกาเพราะมีภาวะการใช้จ่ายเกินตัว ซึ่งเป็นผลจากการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำมากในช่วงปี 2002 ถึง 2004 จนทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ขึ้นไปสูงมาก กว่าเขาจะขึ้นดอกเบี้ยในปี 2004 ก็ไม่ทันแล้ว ฟองสบู่อสังหาฯ เกิดขึ้นไปแล้วจนในที่สุดฟองสบู่แตก เกิดวิกฤติตามมา บ้านเราก็มีความเสี่ยงเช่นนั้น”

ดร.ธาริษามองว่า ความเสี่ยงฟองสบู่ของไทยตอนนี้ “ก็น่ากลัวนะ” แต่ไม่ใช่ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งอาจมีเฉพาะบางพื้นที่เฉพาะกลุ่มลูกค้า แต่ที่น่าห่วงคือ หนี้ภาคครัวเรือน เนื่องจากสินเชื่อขยายตัว 14-15% หรือในอัตราเลขสองหลักถือว่าสูง และสินเชื่อที่โตมากคือสินเชื่อรถยนต์ซึ่งขยายตัว 39% และสินเชื่อส่วนบุคคลก็ขยายตัวสูงกว่า 20% และหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเป็น 8 ล้านล้านบาท

ความเสี่ยงหนี้ครัวเรือน

ดร.ธาริษากล่าวว่า สัญญาณที่เห็นนี้เราไม่รู้ว่าสินเชื่อเหล่านี้จะยังกระฉูดเพิ่มขึ้นจากนี้ไปอีกหรือเปล่า แต่ถ้าลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกเมื่อไร สินเชื่อจะขยายตัวเพิ่มขึ้น เพราะการที่อัตราดอกเบี้ยลดลง ทำให้ภาระการใช้หนี้น้อยลง ทำให้คนอาจรู้สึกว่าไม่เป็นไร สามารถผ่อนชำระหนี้ได้อีก ซึ่งคนที่จะเดือดร้อนคือคนที่มีรายได้น้อย

ขณะที่นโยบายภาครัฐทั้งหลายก็เป็นนโยบายที่ทำให้ประชาชนขาดวินัยการจับจ่ายใช้สอย และขาดวินัยการก่อหนี้ นี่คือประเด็นที่ต้องคิด อย่ามองด้านเดียว ต้องมองทั้งในแง่เศรษฐกิจขยายตัวดี และความเสี่ยงก็มี จึงไม่ควรนิ่งนอนใจ

“อยากให้ออกมาบอกกันตรงๆ ว่ามีปัญหาเฉพาะหน้าคืออะไร แล้วถ้ามีปัญหาก็มาหาทางแก้ แต่ตอนนี้ไม่ชัด แล้วการดำเนินนโยบายการเงิน-การคลังในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันโดยมุ่งระยะสั้นอย่างเดียว โดยไม่มองระยะยาวและไม่ดูภาพแมคโครเลย อาจสร้างความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการดำเนินนโยบายการเงินต้องมีความน่าเชื่อถือ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น หากดำเนินนโยบายแบบไม่ไปทางนี้ที ทางนั้นที จนกระทบความน่าเชื่อถือ สุดท้ายสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ ประเทศชาติจะล่มจมได้”

สุดท้าย ดร.ธาริษาย้ำอีกว่า สิ่งที่รัฐบาลทำขณะนี้เหมือนเป็นการตั้งหรือสร้างเงื่อนไขเพื่อนำไปสู่การกระทำอะไรบางอย่าง มากกว่าการแก้ปัญหาที่แท้จริง