เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2565 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัดสัมมนา “เหลียวหลัง แลหน้า กับผู้ว่าการ ธปท.” ในโอกาสครบรอบ 80 ปี ธปท. โดยเชิญ 6 อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยมาร่วมสนทนา (ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์, ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล, ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล, นางธาริษา วัฒนเกส, ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล และดร.วิรไท สันติประภพ) โดยผู้ว่าการฯ แต่ละท่านเหลียวหลังถึงปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น และแนวการดำเนินนโยบายของ ธปท. ในการแก้ปัญหาขณะนั้น พร้อมทั้งใช้ประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาแลหน้า เพื่อเสนอแนะแนวทางการดำเนินนโยบายของ ธปท. “ไทยพับลิก้า” ขอนำเสนอมุมมองการ เหลียวหลัง ของแต่ละอดีตผู้ว่าการ ธปท. เพื่อบันทึกประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและการดำเนินแนวนโยบายในขณะนั้น ดังนี้
นางธาริษา วัฒนเกส เป็นผู้หญิงคนแรกที่ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในเดือนพฤศจิกายน 2549 – กันยายน 2553 จบปริญญาโทคณะเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเคโอ ประเทศญี่ปุ่น และปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน เซนต์หลุยส์ สหรัฐอเมริกา เริ่มทำงานที่ ธปท. เมื่อปี 2518 ผ่านการทำงานหลายฝ่าย และผ่านเศรษฐกิจทั้งในยุควิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2540 และวิกฤติแฮมเบอเกอร์ หรือวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ ในปี 2551
“ธาริษา” เล่าว่า ทำงาน ธปท. มา 35 ปี และเป็นผู้ว่าการ ธปท. คนเดียวที่เจอวิกฤติมาแล้ว 2 ครั้ง ทั้งวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 และวิกฤติการเงินโลกในปี 2551 โดยวิกฤติในปี 2540 ทำงานด้านอื่นอยู่ แต่เมื่อเกิดวิกฤติขึ้น นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ผู้ว่าการ ธปท. ขณะนั้น ได้ขอให้มาช่วยสายงานสถาบันการเงิน เพราะมีปัญหาต้องสะสางกันเยอะ จำได้ว่า หลังจากได้รับคำสั่งให้ย้ายมา สัปดาห์ต่อมาก็ต้องบินไปประชุมที่สิงคโปร์เลย ทั้งที่ยังไม่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ เหมือนเข้าสู่สมรภูมิ มีเรื่องที่ต้องแก้เยอะมาก โดยเฉพาะเรื่องความเชื่อมั่น ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก ไม่ใช่แค่ไปพูดให้เขาเข้าใจ แต่ต้องมีผลงานให้ปรากฏว่า ธปท. ทำงานจริงจัง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในเวลานั้น
พอมาปี 2551 ก็เจอวิกฤติเศรษฐกิจโลก ตอนนั้นเป็นผู้ว่าการ ธปท. ถือว่ามีความท้าทาย มีความตื่นเต้นกับงาน ธปท. เสมอ ความจริงผู้ว่าการ ธปท. แต่ละท่านอยู่ในตำแหน่ง มีความท้าทายตลอด ขึ้นกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการเมืองในขณะนั้นๆ
ทางด้านเศรษฐกิจ ปัญหาแรก คือ เงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว ตอนนั้นรับตำแหน่งเดือนพฤศจิกายน 2549 แต่เงินบาทแข็งค่าขึ้นมามาก ที่สำคัญเครื่องยนต์เศรษฐกิจอื่นแทบจะไม่ทำงานเลย มีเฉพาะการส่งออกที่เป็นพระเอก เพราะเครื่องยนต์อื่นแต่เดิมก็ไม่แข็งแกร่ง ยิ่งมีการรัฐประหาร ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจก็ต่ำ จึงมีส่งออกที่เป็นพระเอกอยู่ได้ แต่ค่าเงินกลับไปในทิศทางเดียว คือแข็งค่าขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งน่ากลัวมาก เพราะจะเกิดผลด้านจิตวิทยาว่า เงินบาทมีแต่ด้านแข็งค่าอย่างเดียว และไทยเป็นเศรษฐกิจเปิดขนาดเล็ก หากมีเงินไหลเข้า-ออก จะกระทบรุนแรง
ขณะนั้น ธปท. ก็ใช้มาตรการอ่อนๆ ไปสักระยะหนึ่ง จนสุดท้ายไม่ได้ผล ก็ต้องใช้ยาแรง คือออกมาตรการกันสำรอง 30% ของเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น ในแง่วิชาการสามารถถกเถียงกันได้ แต่สถานการณ์เวลานั้นมองว่าวิธีนี้จำเป็น และทำได้คล่องตัวที่สุด ทำให้สามารถสกัดเงินเข้าได้ระดับหนึ่ง
แต่เป็นเพียงมาตรการระยะสั้น ที่สำคัญ คือ เริ่มเห็นค่าเงินที่เคลื่อนไหวในลักษณะ 2 ทาง คือ แข็งบ้าง อ่อนบ้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี ที่สำคัญอีกอย่างคือ เป็นการซื้อเวลาที่จะทำข้อมูลในการติดตามว่า เงินที่ไหลเข้า-ออก มาจากตรงไหน อย่างไร และมีปัจจัยเบื้องหลังอะไรบ้าง
“เรื่องค่าเงิน เป็นเรื่องที่ผู้ว่าการ ธปท. หลายท่านพูดกันว่า เป็นท็อปฮิตของปัญหาที่ ธปท. ต้องเข้าไปดู เข้าไปเกี่ยวข้อง และมีประเด็น เหมือน ธปท. ไปเข้าข้างใดข้างหนึ่ง คือดูแลผู้ส่งออก ผู้นำเข้า เพราะมาตรการแต่ละอย่างของ ธปท. มีผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจไม่เหมือนกัน แต่ในเรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจนั้น ไม่ใช่บทบาทของ ธปท. ทั้งหมด แต่จะทำอย่างไรที่ ธปท. จะช่วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำให้เครื่องจักรแต่ละตัวในเศรษฐกิจมีความแข็งแรงพอที่จะทำงานได้อย่างยั่งยืน ไม่ได้พึ่งเฉพาะบางตัว เช่น ขณะนี้ หลังโควิด-19 เดิมพึ่งพาภาคท่องเที่ยว แต่ตอนนี้เครื่องจักรตัวนี้ไม่ทำงานแล้ว ทำอย่างไรให้โครงสร้างเศรษฐกิจมีความสมดุลมากขึ้นที่จะลดความจำเป็นที่ ธปท. ต้องเข้าไปดูแลในกรณีที่มันเหลือแค่เครื่องยนต์เดียวจริงๆ และไม่มีเครื่องมืออื่น จน ธปท. ต้องเข้าไปดูแล”
ขณะเดียวกันก็มีความจำเป็นต้องพูดคุยกับภาคเอกชน ที่ผ่านมาเคยพูดกับผู้ส่งออกหลายครั้งตั้งแต่ยังไม่ได้เป็นผู้ว่าการ ธปท. ว่า เรื่องค่าเงิน น่าจะไปลองดูบทเรียนจากญี่ปุ่นที่มีประสบการณ์เยอะมาก ค่าเงินแข็งค่ารวดเร็ว หลังข้อตกลงพลาซาแอคคอร์ด (Plaza Accord) ในปี ค.ศ. 1985 น่าจะไปเรียนรู้ว่าญี่ปุ่นทำอย่างไร ผ่านประสบการณ์อะไร จึงได้ผ่านพ้นช่วงนั้นและเติบโตต่อเนื่องได้ แต่ก็ไม่มีแอ็กชันใดเกิดขึ้นจากภาคเอกชน ซึ่งน่าเสียดาย
ดังนั้น หากเครื่องจักรทั้งหลาย กับกลไกทั้งหลาย ไม่พร้อม แต่ภาระมาอยู่กับ ธปท. ทำไปแล้วก็จะไม่ได้ผลเท่าที่ควร เป็นประเด็นที่อยากจะฝากไว้
ความท้าทายถัดมา คือ เรื่องเงินเฟ้อในช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2551 เงินเฟ้อสูงมาก เพราะราคาน้ำมันขึ้นไปสูงสุด 144 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เงินเฟ้อทั่วไปสูงกว่า 9% ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานทะลุเป้าของ ธปท. ไปอยู่ที่ 3.7% คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ส่งสัญญาณตั้งแต่เดือน พ.ค. ว่า คงจะต้องปรับขึ้นดอกเบี้ย ทำให้เกิดแรงถล่ม ธปท. เพราะภาครัฐมองว่าเป็นเรื่องของราคาน้ำมัน เป็น Supply Side การขึ้นดอกเบี้ยจะไปซ้ำเติมประชาชน
แต่จริงๆ แล้ว ถ้ามองในแง่เงินเฟ้อพื้นฐานที่ทะลุเป้าหมาย แสดงว่าอุปสงค์ในเศรษฐกิจยังค่อนข้างแรงอยู่ ไม่ใช่เป็น Supply Side อย่างเดียว ฉะนั้น การสื่อความเรื่องเหล่านี้มีความจำเป็นมาก
หลังจาก ธปท. ขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% ในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคมแล้ว ประชาชนก็ยอมรับ มีนักวิชาการที่ ธปท. ไม่ได้ไปขอให้เขียนเชียร์ก็ออกมาสนับสนุน บทเรียนที่ได้คือ ถ้า ธปท. ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา มีหลักการ มีการอธิบาย สื่อสารอย่างดี ประชาชนหรือผู้ที่เกี่ยวข้องก็จะออกมาสนับสนุน ธปท.
ความท้าทายที่สาม ด้านเศรษฐกิจ คือ วิกฤติเศรษฐกิจโลกในปี 2551 แต่ผลกระทบน้อยกว่าปี 2540 ที่ไทยเหมือนอยู่ใจกลางสมรภูมิ กลางภูเขาไฟระเบิด แต่วิกฤติเศรษฐกิจโลกปี 2551 ไทยอยู่ข้างนอก ที่สำคัญ คือ ปัจจัย 2 ด้าน ด้านหนึ่ง คือ ธนาคารพาณิชย์ไทย ใช้เงินฝากเป็นแหล่งเงินสำคัญ ไม่ได้พึ่งตลาดเงินกู้ระหว่างธนาคาร (Interbank) เหมือนสถาบันการเงินต่างประเทศ หลังเกิดวิกฤติสภาพคล่องในตลาดโลกเหือดหายไปหมด ไม่มีใครกล้าปล่อยสินเชื่อ เพราะไม่รู้ว่าใครจะล้มหายตายจากไป แม้แต่เลห์แมนบราเธอร์ส ที่เป็นสถาบันการเงินใหญ่อันดับ 4 ของโลกยังอยู่ไม่รอด ก็เลยปลอดภัยไว้ก่อน ไม่ปล่อยสินเชื่อ
แต่ไทยไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่ต้องไปพึ่งเงินจากภาคการเงินในระบบ คือมีเงินฝากเป็นฐานประจำอยู่แล้ว จึงไม่มีปัญหา แต่ ธปท. ก็ติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะเป็น Globalized World มีอะไรเกิดขึ้น ก็มาถึงไทยด้วย นอกจากนี้ ยังได้ผลพวงจากการแก้ปัญหาและยกระดับสถาบันการเงิน หลังเกิดวิกฤติปี 2540 ที่มีการปรับระบบประเมินธนาคารพาณิชย์ มีการส่งสัญญาณให้ธนาคารพาณิชย์ทราบถึงสิ่งที่ต้องระมัดระวัง คือ การบริหารความเสี่ยง ธนาคารพาณิชย์ก็จะรู้ว่า ถ้าอะไรที่มีความเสี่ยงเขาจะระวังมาก ช่วงนั้นสถาบันการเงินสหรัฐฯ ที่พังเพราะไปลงทุนใน CDO (Collateralized Debt Obligation — ตราสารที่มีหนี้เป็นหลักประกัน) หรือสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ
แต่ธนาคารไทยเวลานั้นมีเพียง 2 ธนาคารที่ไปลงทุน แต่น้อยมาก เพื่อเรียนรู้เท่านั้น ผลพวงจากสินทรัพย์เป็นพิษทั้งหลายจึงน้อย ก็ต้องยกเครดิตให้กับธนาคารพาณิชย์ที่มีความระมัดระวังในการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดี
สำหรับความท้าทายทางด้านการเมือง หลังจากอยู่ในตำแหน่งผู้ว่าการ 4 ปี มีนายกรัฐมนตรี 4 คน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง 5 คน เป็นยุคที่ใช้นักการเมืองเปลืองมาก ผลกระทบมีแน่นอน ประเด็นแรก เป็นแง่ดี คือ เวลานั้นมีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งสมาชิกส่วนหนึ่งมาจากภาคธุรกิจ ภาคการเงิน ทำให้เข้าใจการทำธุรกิจ เข้าใจกฎหมาย และกฎหมายที่ ธปท. เตรียมแก้ไว้ตั้งแต่หลังเกิดวิกฤติปี 2540 ร่างกันมาหลายเวอร์ชัน และพยายามผลักดันให้มีการผ่านสภา ก็ผ่านไม่ได้สักที แต่ในยุค สนช. มีความเข้าใจมากขึ้น แต่ก็ต้องชี้แจงทำความเข้าใจด้วย โดยวางแผนจะให้ผ่าน 4 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย, พ.ร.บ.สถาบันการเงิน, พ.ร.บ.สถาบันประกันเงินฝาก และ พ.ร.บ.เงินตรา ที่ต้องไปคุยกับลูกศิษย์หลวงตามหาบัว เรียกว่า Stakeholder อยู่ตรงไหนต้องไปหมด แต่ในที่สุด พ.ร.บ.เงินตรา ไม่ได้เอาเข้าสภา เพราะรัฐบาลเห็นว่ามีความสุ่มเสี่ยง และมีความอ่อนไหว แต่ก็ถือว่าเป็นผลกระทบในแง่บวกจากด้านการเมือง
ด้านลบ คือ มีเหตุการณ์ที่ฝ่ายการเมืองอยากจะให้คนเข้ามาเป็นกรรมการในธนาคารแห่งหนึ่งที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินถือหุ้นอยู่ เผอิญบุคคลผู้นี้มีประวัติด่างพร้อยและชื่อเสียงแง่ลบ ก็คิดว่าน่าจะไม่เหมาะให้เข้ามาเป็นกรรมการ จึงมีการนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ กรรมการก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่น่าจะเหมาะ ตัวเองในฐานะประธานกรรมการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ก็ต้องดำเนินการที่จะให้เจตนานั้นประสบความสำเร็จ ก็บล็อกไม่ให้เข้ามาได้ แต่แน่นอน มีผลตามมา
ที่ผ่านมาก็เคยมีกรณีเกิดกับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการ ธปท. ทำเป็นตัวอย่างไว้ คือ ถ้า ธปท. มีเหตุเห็นว่าผู้บริหารของธนาคารพาณิชย์มีธรรมาภิบาลไม่ดี และอาจจะเกิดความเสียหายกับธนาคารได้ ก็มีหน้าที่ที่จะต้องหยุดการดำเนินการนั้น แม้จะมีผลพวงตามมาในแง่การเมือง ตัวเองก็ถูกตั้งกรรมการตรวจสอบ มีความพยายามหาเหตุว่าประธานคณะกรรมการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ กระทำเข้าข่ายประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่ เรื่องลากยาว 1-2 ปี ภายหลังมีการเปลี่ยนรัฐบาล มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบใหม่จากผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่เชื่อถือ สรุปว่า ไม่มีอะไรที่ผิด บกพร่อง กรณีนั้นก็ตกไป
เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เตือนสติว่า ต้องยึดความถูกต้อง ไม่กังวลถึงผลพวงที่ตามมา จึงอยากจะฝากถึงผู้ว่าการ ธปท. ในปัจจุบันและคนต่อๆ ไป ว่า ถ้ามีกรณีอะไรทำนองนี้ ที่กระทบต่อชื่อเสียงของ ธปท. ว่า ทำไมไม่ดูให้ดี ทำไมไม่แยกเรื่องธรรมาภิบาลให้ดี เรื่องนี้สำคัญมาก
ประเด็นที่สาม ในเรื่องการเมืองที่เป็นผลกระทบ คือ การดูแลระบบให้ดี (Operation Risk Specifically) คงจำได้ว่าในปี 2552-2553 มีการประท้วง เกิดเหตุขัดแย้งระหว่างเสื้อหลากสี มีการประท้วงตามจุดต่างๆ เช่น ทำเนียบรัฐบาล สนามหลวง รวมถึงราชดำริ ธปท. ในฐานะกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ ดูแลระบบเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งกำกับดูแลเรื่องภายในองค์กรเอง จึงต้องดูว่า มี Operation Risk อะไรบ้าง ธปท. เป็นโอเปอเรเตอร์ระบบการชำระเงิน ก็ต้องดูแลความปลอดภัยของพนักงานว่า ต้องเดินทางผ่านจุดเสี่ยงภัยหรือไม่ จะมาทำงานได้หรือไม่ ลูกค้าที่มาใช้บริการซื้อขายพันธบัตรรัฐบาล หรือไปใช้บริการธนาคารพาณิชย์ มีความสุ่มเสี่ยงหรือไม่ นโยบายจะเป็นอย่างไร และต้องคุยกับธนาคารพาณิชย์ ต้องประสานงานกันอย่างใกล้ชิด
“ลองนึกดูว่า ถ้าสมมติ เช้าขึ้นมา หนังสือพิมพ์มีข่าวว่าระบบเคลียริงล่ม เช็คเด้งระนาว จะเกิดความตระหนกตกใจกันมากน้อยแค่ไหน จึงต้องบริหารจัดการให้ดีและไม่ให้ระบบสถาบันการเงินเป็นข่าวหน้า 1 ซึ่งเป็นเรื่องยากลำบากและสุ่มเสี่ยง ครั้งนั้นมีการเตรียมการให้พนักงานที่มีความจำเป็นจริงๆ ประมาณ 30% เข้ามาทำงาน บางช่วงก็ย้ายพนักงานไปทำงานที่ศูนย์สำรอง นอกจากนี้ ยังมี Operation Risk อื่นๆ อีก เช่น ความเสี่ยงทางด้านภัยไซเบอร์ที่เวลานี้ต้องรับมือกันไม่หวาดไม่ไหว โดย Operation Risk จะเห็นได้ไม่ชัดเจนเท่ากับความเสี่ยงด้านเครดิต ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง และจะถูกมองข้ามไป จึงอยากฝากเตือนไว้
“ธาริษา” กล่าวเพิ่มเติมในเรื่องกฎหมายว่า ทำให้การทำงานของ ธปท. เกิดความคล่องตัว เห็นได้จากเดิมกฎหมายธนาคารพาณิชย์แยกจากกฎหมายบริษัทเงินทุน ทั้งที่ทำธุรกิจประเภทเดียวกัน แต่บริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ เกิดทีหลัง แต่เกิดขึ้นจำนวนมาก และมีความเสี่ยง จึงมีการออกกฎหมายตามมา ทั้งที่การทำธุรกิจไม่แตกต่างกัน เพียงแต่บริษัทเงินทุนแทนที่จะบอกว่ารับเงินฝาก ก็เป็นการขายตั๋วสัญญาใช้เงิน เครื่องมือต่างกันเท่านั้น รวมทั้งข้อกำหนดบางอย่างไม่เหมือนกัน เช่น บริษัทเงินทุนจะตั้งกรรมการต้องขออนุมัติจาก ธปท. แต่ธนาคารพาณิชย์ไม่ต้อง เรื่องนี้ภายใน ธปท. มีการหารือค่อนข้างมาก ว่าทิศทางในการกำกับดูแลควรเป็นอย่างไร โดยเฉพาะเรื่องผู้บริหารสถาบันการเงินมีความสำคัญมากที่สุด ธปท. ใช้คำว่า ถ้าเอาคนที่ไม่สุจริต ไม่ตรงไปตรงมา มาเป็นผู้บริหารแล้ว จะต้องตามแก้อีกเยอะเลย ทั้งเรื่องระบบัญชี ระบบหลังบ้าน ไล่ตามไปหมด
ฉะนั้น ที่สำคัญมากที่สุด คือ จะต้องมีการพิจารณาเรื่องผู้บริหารตั้งแต่ต้นว่ามีความเหมาะสม นี่เป็นเรื่องพื้นฐาน ผู้บริหารที่ประวัติด่างพร้อย ชื่อเสียงไม่ดี จะให้เป็นกรรมการไม่ได้
กรณีนี้เป็นเพียงตัวอย่างเดียว ว่าการแก้ไขกฎหมายเพื่อธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุน มาอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน เพราะการกำกับดูแลเหมือนกัน และการแก้ไขเป็นการเน้นในเรื่องความเสี่ยงมากขึ้น โดยเรียนรู้จากวิกฤติปี 2540 ว่า การตั้งกฎเกณฑ์กำกับดูแลไม่ได้ช่วย เช่น การให้ธนาคารพาณิชย์ถือสินทรัพย์สภาพคล่อง โดยกำหนดตัวเลขไว้เหมือนกันทุกธนาคาร ทั้งที่แต่ละธนาคารมีความเสี่ยงไม่เท่ากัน บางแห่งรับเงินฝากประจำจำนวนมาก ไม่ค่อยมีการถอน หรือความต้องการใช้สภาพคล่องมีมากน้อยเพียงไร จึงควรพิจารณากำหนดตามความเสี่ยงของแต่ละแห่ง กฎหมายใหม่จึงสร้างระบบให้ ธปท. สามารถใช้กลไกการดูแลเรื่องของความเสี่ยง และมีข้อกำหนดกฎเกณฑ์แตกต่างกันไปในแต่ละธนาคารได้ ถ้าไม่แก้กฎหมายจะทำให้การปฏิบัติไม่เสมอภาคกัน