ThaiPublica > ประเด็นร้อน > บันทึกภาคประชาชน > บันทึกภาคประชาชน : 6 อดีตผู้ว่าการ ธปท. แลไปข้างหน้า ความท้าทายที่ต้องเผชิญ

บันทึกภาคประชาชน : 6 อดีตผู้ว่าการ ธปท. แลไปข้างหน้า ความท้าทายที่ต้องเผชิญ

18 พฤษภาคม 2022


เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2565 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัดสัมมนา “เหลียวหลัง แลหน้า กับผู้ว่าการ ธปท.” ในโอกาสครบรอบ 80 ปี ธปท. โดยเชิญ 6 อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยมาร่วมสนทนา (ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์, ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล, ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล, นางธาริษา วัฒนเกส, ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล และ ดร.วิรไท สันติประภพ) โดยผู้ว่าการฯ แต่ละท่านเหลียวหลังถึงปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น และแนวการดำเนินนโยบายของ ธปท. ในการแก้ปัญหาขณะนั้น พร้อมทั้งใช้ประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาแลหน้า เพื่อเสนอแนะแนวทางการดำเนินนโยบายของ ธปท. “ไทยพับลิก้า” ขอนำเสนอมุมมองการ เหลียวหลัง ของแต่ละอดีตผู้ว่าการ ธปท. เพื่อบันทึกประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและการดำเนินแนวนโยบายในขณะนั้น ดังนี้

การเสวนากับอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2565 นอกจากอดีตผู้ว่าการ ธปท. จะมีการเหลียวหลังประสบการณ์การทำงานด้านเศรษฐกิจ การเงิน ในแต่ละยุคสมัยแล้ว ยังได้มีการแลไปข้างหน้า เพื่อเสนอมุมมองและความท้าทายต่างๆ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องเผชิญและหาแนวทางในการรับมือ เพื่อสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

  • บันทึกภาคประชาชน : “ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์” เหลียวหลัง ธปท. 80 ปี ว่าด้วยวิกฤติต้มยำกุ้ง
  • บันทึกภาคประชาชน: ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ธปท. 80 ปี กู้ความเชื่อมั่นและศรัทธา “วิกฤติต้มยำกุ้ง”
  • บันทึกภาคประชาชน: ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล เหลียวหลัง ธปท. 80 ปี กับงานปรับโครงสร้างแบงก์ชาติ
  • บันทึกภาคประชาชน: “ธาริษา วัฒนเกส” เหลียวหลัง ธปท. 80 ปี ว่าด้วย วิกฤติเศรษฐกิจ-การเมือง
  • บันทึกภาคประชาชน : “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ธปท. 80 ปี ว่าด้วย 3 เสาหลักของแบงก์ชาติ
  • บันทึกภาคประชาชน: “วิรไท สันติประภพ” ธปท. 80 ปี กับงาน “จับควันให้ไว ดับไฟให้ทัน”
  • ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์

    สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากในขณะนี้ คือ ภาครัฐมีการขาดดุลการคลังติดต่อกันมานานมาก ทำให้ภาระหนี้สูงขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าฐานะการคลังไทยไม่เหมือนในอดีตที่ต้องทำการคลังที่ยั่งยืน แต่หากขาดดุลการคลังมากเกินไป ถึงจุดหนึ่งก็ต้องรีบแก้ไข เวลานี้ไทยไม่มีปัญหาการขาดดุลแฝด เพราะมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด มีเงินออม แต่ภาครัฐได้ทำให้คนเชื่อว่าประชานิยมเป็นเรื่องธรรมดา มีอะไรก็ใช้จ่ายไปเยอะแยะ และฐานะการคลังของไทยยังซ่อนปัญหาไว้เยอะมาก ถ้าเมื่อไหร่ที่การคลังไม่สามารถดูแลตัวเองให้ดีกว่านี้ ภาระจะตกมาอยู่ที่นโยบายการเงินทันที

    นอกจากนี้ หลายเรื่องที่ทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจ ต้นเหตุอยู่ที่ real sector (ภาคเศรษฐกิจแท้จริง) หรือเป็นปัญหาที่คนอื่นเป็นคนทำไว้ แล้วมาโผล่ที่การเงินไม่มีเสถียรภาพ เป็นปลายเหตุที่ ธปท. ต้องรับภาระแก้ไขฝ่ายเดียว ฉะนั้น ธปท. คงต้องพยายามออกแรงแบบในอดีต คือ ผู้ว่าฯ ธปท. ต้องพยายามพูดคุยกับรัฐบาล ซึ่งส่วนมากเขาไม่ค่อยฟัง ยิ่งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ธปท. จะเหนื่อยมาก แต่ก็ต้องพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด

    และถ้าเมื่อไหร่ที่มีความจำเป็นชัดเจนว่า ธปท. ต้องทำนโยบายเข้มงวด ที่คนอื่นไม่ชอบ ก็ต้องใจแข็งที่จะทำ เพราะถ้าไม่มี ธปท. เป็นด่านสุดท้าย ก็ไม่รู้ว่าเศรษฐกิจจะตกเหวไปอยู่ที่ไหน

    ขณะเดียวกัน ธปท. ยังมีความท้าทายที่เริ่มเห็นจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี โดยเฉพาะดิจิทัลเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิด financial opportunity หรือเครื่องมือ แนวทางใหม่ๆ อยู่เสมอ ซึ่งมีข้อดีที่ตอบสนองความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน แต่ในฐานะธนาคารกลาง สิ่งสำคัญ คือ การมองไปข้างหน้าว่าอะไรจะเกิดขึ้น จะส่งผลกระทบต่อสิ่งที่ ธปท. เป็นห่วงมากน้อยแค่ไหน อย่างสถาบันการเงิน จะทำให้ landscape ของสถาบันการเงินเปลี่ยนแปลงแค่ไหน การตอบสนองต่อผู้บริโภคต่อการใช้นโยบายการเงินเปลี่ยนแปลงแค่ไหน และคงจะต้องทันต่อเหตุการณ์ หลายเรื่องเป็นสิ่งที่น่าปวดหัวของคนที่ทำงานด้านนี้ เพราะเหมือนเป็นการไล่ตามสิ่งที่เกิดใหม่ๆ แต่ ธปท. มีการวางพื้นฐานค่อนข้างดี คน ธปท. ที่ทำงานด้านนี้ก้าวหน้า และได้รับความยอมรับ

    นอกเหนือจากนี้ ในอนาคต การทำงานของ ธปท. จะยากลำบากขึ้น มีความซับซ้อนและเชื่อมโยงกับหลายหน่วยงานมากขึ้น มี stakeholder ที่คาดหวังกับ ธปท. รวมทั้งมีพันธมิตร มีเครื่องมือที่จะทำงานร่วมกับ ธปท. ได้ ขณะนี้มีการพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่าง ธปท., สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.), สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โดยทีมงานของ ธปท. อาจจะต้อง forward looking บ้าง แทนที่จะไล่ตามจับ มีการมองไปข้างหน้าว่าอะไรจะเป็นปัญหา เป็นความเสี่ยง และรีบวางระบบ ด้วยการทำงานร่วมกันระหว่าง 3-4 หน่วยงานที่รับผิดชอบแต่ละด้าน ซึ่งที่ผ่านมามีตัวอย่างการทำงานร่วมกัน หลายเรื่องแสดงให้เห็นว่า ทุกหน่วยงานตื่นตัวและเปิดใจเข้าหากันที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหา เช่น cryptocurrency ที่ ธปท. กับ ก.ล.ต. ที่ออกมาบอกใกล้เคียงกัน ว่าเห็นความเสี่ยงอะไร และในฐานะผู้กำกับดูแล มีบางอย่างไม่สนับสนุนให้ทำ หรือกรณีหุ้นกู้ที่มีเครดิตเรตติ้งต่ำ มีตัวเลขว่าไม่สามารถคืนเงินต้นได้ และอาจถึงขั้นล้มละลาย ทำให้เกิด systematic risk คือ คนขาดความเชื่อถือในหุ้นกู้ทั้งหมด ตอนนั้นถือว่า ธปท. กับก.ล.ต. จับมือกัน และมีกระทรวงการคลังเข้ามามองปัญหาด้วยกัน บางครั้งมีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลด้วยกัน ทำให้มีคำตอบได้ว่า หุ้นกู้อะไรบ้างที่ครบกำหนดแล้วจะมีปัญหา ธปท. มีฐานข้อมูลว่า เป็นลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์ใด มีสิทธิ์กู้ยืมจาก ธปท. เพื่อชดเชยเรื่องพวกนี้หรือไม่

    นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการสื่อสาร ให้ความรู้ด้านการเงินใหม่ เพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทัน อย่างพิพิธภัณฑ์แบงก์ชาติ ที่มีนิทรรศการหมุนเวียน ควรเพิ่มเรื่อง digital economy หรือเศรษฐกิจดิจิทัลใหม่ๆ ถือเป็นการบริหารความเสี่ยงให้คนที่มาดูรู้ว่าจะมีอะไรใหม่ๆ เข้ามา เขาควรจะเตรียมตัวอย่างไร และในฐานะ ธปท. จะช่วยให้เขาปรับตัวอย่างไรในการรับมือกับสิ่งใหม่ๆ ที่เข้ามามากมาย และไม่คาดคิด

    ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล

    นโยบายการคลังขณะนี้เหมือนไม่มีนโยบาย คือ ใช้เงินไปเรื่อยๆ โดยไม่คิดว่าจะขาดดุลการคลังเท่าไหร่ ในน้ำหนักแค่ไหนจึงจะเพียงพอ ประเทศไทยจึงต้องเน้นเรื่องการมีนโยบายการคลังที่จริงจัง ส่วน ธปท. นโยบายการเงินก็เดิน inflation targetting ต่อไป และคงต้องสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจพอสมควร เพราะถ้าไม่เติบโต จะเก็บภาษีไม่ได้

    “ในเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ นั้น ทีมงาน ธปท. ในปัจจุบันเป็นผู้มีความรู้ที่ทันสมัย แล้วสามารถรับมือกับเรื่องเทคโนโลยีได้ค่อนข้างดี ผมชอบทัศนคติของทีมงาน ธปท. เรื่องคริปโทเคอเรนซีเป็นอย่างยิ่ง ที่ห้ามนำมาใช้ซื้อขายสินค้า หรืออื่นๆ หลายอย่าง รวมทั้งพยายามพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลขึ้นมา แต่อยากให้พัฒนาเร็วกว่าแผนที่วางไว้ เพราะถ้ามีสกุลเงินดิจิทัลขึ้นมา จะป้องกันไม่ให้คริปโทเคอเรนซีขยายเข้าไปในวงการค้าได้”

    ธาริษา วัฒนเกส

    บทบาทหน้าที่ของ ธปท. คือ ดำเนินนโยบายการเงิน ดูแลเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจ การเงิน แต่พันธกิจของ ธปท. คือการพัฒนาความอยู่ดีกินดีอย่างยั่งยืน ฉะนั้น หัวข้อที่เกี่ยวข้องไม่ใช่เพียงนโยบายการเงิน เสถียรภาพทางการเงินเท่านั้น กรณีวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ประเทศต่างๆ ใช้นโยบายอิงนโยบายการเงินเป็นส่วนใหญ่ มีการปั๊มเงินเข้าในระบบเยอะมาก ทำให้ผลพวงความเสียหายโยงมาถึงไทยทุกวันนี้ เป็นไปตามคำที่ว่า “ขว้างงูไม่พ้นคอ” และการที่เครื่องจักรเศรษฐกิจทำงานได้บางเครื่องจักร บางช่วง การอุปโภคดี บางช่วงส่งออกดี แต่มีทางหรือไม่ที่จะช่วยให้เครื่องจักรทุกตัวเดินหน้าอย่างยั่งยืน ไม่ใช่หน้าที่ของ ธปท. ฝ่ายเดียว แต่ ธปท. ก็มีหน้าที่ในฐานะเสาหลักหนึ่งของประเทศ และในแง่กฎหมาย ธปท. สามารถประสานงานกับอีก 3 สายงานได้ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ ในการร่วมกันแก้ปัญหาที่มีเยอะมาก ทั้งปัญหาเดิมอย่างหนี้ครัวเรือน หรือปัญหาระดับประเทศ ความสามารถในการแข่งขัน กับดักรายได้ปานกลาง ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ และยังมีโจทย์ใหม่ๆ อีกมาก ทั้ง technology disruption หรือ ESG การดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ที่เกี่ยวข้องกับ ธปท. คือธนาคารพาณิชย์กับภาคการเงิน ควรมีบทบาทในการแก้ปัญหาโลกร้อนหรือไม่ หรือความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ที่ต่อไปจะมีการเปลี่ยนขั้วอำนาจเศรษฐกิจ การเมือง ในโลกอย่างแน่นอนไม่ช้าหรือเร็ว ส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจ การเงิน เช่น ระบบการชำระเงิน สกุลเงินต่างๆ ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้ ธปท. มีความจำเป็นต้องเข้าไปมีบทบาท เป็นต้น

    ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

    ปัญหาเรื่องนโยบายการเงินการคลังนั้นมีมาโดยตลอด แต่ในจุดนี้นั้น ปัญหาใหญ่เป็นเรื่อง governance (ธรรมาภิบาล) ของประเทศ เป็นเรื่องระบบยุติธรรม คนจำนวนไม่น้อยเห็นว่า governance ของประเทศไม่ดี เกิด disgovernance ขึ้น ทำให้เกิด discourage ตัวอย่างที่คลาสสิก และถกเถียงกันมาก คือ ไทยขาดคนที่เก่งเรื่อง STEM หรือ องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ขาดคนที่มีความรู้เรื่องเทคโนโลยี แต่ความจริงแล้วเด็กรุ่นใหม่ๆ เก่งมาก และไปทำงานที่อื่น ในซิลิคอนวัลเลย์บ้าง หลายคนทำงานในสิงคโปร์ เป็นต้น เรื่องนี้กว้างกว่าภาคเศรษฐกิจแท้จริง กว้างกว่าเรื่องนโยบายการเงินการคลังะต้องการการ rethink และการ reform

    ส่วนเรื่องเทคโนโลยีนั้น ที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีความก้าวหน้ามาไม่รู้จบ ที่เห็นเวลานี้ เกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัลที่มาประยุกต์เป็นทรัพย์สินดิจิทัล หรือคริปโทเคอร์เรนซีก็แค่เป็นฉากหนึ่ง วันข้างหน้าจะมีมาอีก รวมทั้งคอมพิวเตอร์ที่ต่อไปจะเปลี่ยนจากระบบไบนารีเป็นควอนตัมคอมพิวเตอร์และอีกสารพัด เป็นความท้าทายที่ไม่รู้จบ แต่หลักก็คือความเป็นผู้นำขององค์กร คือ

      1. อย่าไปอยู่แต่ความสำเร็จในอดีต
      2. ต้องรู้ก่อนที่คนอื่นจะมาปรับเปลี่ยนเรา
      3. การใช้ประโยชน์จากความหลากหลายในหลากรูปแบบ

    พวกนี้ล้วนเป็นคุณสมบัติที่พึงอยากเห็นในความเป็นผู้นำที่ดี ไม่ว่าจะเป็นความเป็นผู้นำรายบุคคล หรือความเป็นผู้นำรวมหมู่ ส่วนคริปโทเคอเรนซี, ทรัพย์สินดิจิทัล, บิตคอยน์, บิทคับ พวกนี้เป็นเพียง dot หรือ จุดเล็กๆ ในประวัติศาสตร์ แล้วก็จะมี dot ใหม่ๆ เข้ามาอยู่เรื่อยๆ แต่ถ้าเราจับหลักพวกนี้ได้ อย่างน้อยก็จะเผชิญกับความท้าทายเหล่านี้ได้

    วิรไท สันติประภพ

    คุณค่าหลักของ ธปท. เรื่อง ยืนตรง มองไกล ยื่นมือ ติดดิน ยังเป็นหลักสำคัญ แต่บริบทการตีความอาจต้องให้เท่าทันกับภาวะแวดล้อมและความท้าทายที่เผชิญ เช่น คำว่ายืนตรง คงไม่ได้หมายความเพียง ซื่อสัตย์ คน ธปท. ไม่โกง ตรงไปตรงมา เท่านั้น แต่ที่สำคัญคือ ต้องกล้าทำในสิ่งที่ควรจะทำ โดยเฉพาะบทบาทการเป็นผู้กำกับดูแล ที่ต้องเข้าไปเปลี่ยนแปลงความบิดเบือนอีกหลายอย่างที่เกิดขึ้น รวมทั้งเมื่อเกิดภาวะวิกฤติที่อาจไม่ได้อยู่ในขอบเขตของ ธปท. โดยตรง

    แต่ถ้าไม่ทำ จะเป็นเรื่องขว้างงูไม่พ้นคอ และเกิดผลเสียมากกว่ามาก คำว่า “ยืนตรง” จึงต้องตีความให้สอดรับกับความท้าทายใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะบทบาทผู้กำกับ

    เรื่องมองไกล คงต้องทั้งมองกว้างและมองไกล เพราะระบบเศรษฐกิจที่ไทยกำลังเผชิญมีความเชื่อมโยงกันสูงมาก มีหลายองค์ประกอบ หลายปัจจัย และคงต้องมองไกลไปถึงทางออกด้วย หลายครั้ง ธปท. มองไกลเก่ง ในลักษณะประมาณการณ์เก่ง ดู scenario ต่างๆ ที่จะเกิดเก่ง แต่จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการมองไกลที่นำไปสู่ทางแก้ปัญหาด้วย ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้างหลายอย่าง
    เรื่องยื่นมือ และติดดิน สำคัญมาก เพราะไม่ว่าจะมีกรอบกฎหมายอะไรก็ตาม แต่ท้ายที่สุดจะชนะใจประชาชนได้หรือไม่ คำนี้สำคัญมาก ความเป็นอิสระของ ธปท. ในการดำเนินงาน หรือจะทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือของ ธปท. ความน่าเชื่อถือจะเกิดได้ประชาชนต้องเห็นประโยชน์ เห็นถึงผลงานที่ทำ สิ่งที่ทำจะตอบโจทย์ประชาชนได้ ต้องเปิดใจไปยังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลายมากขึ้น และต้องติดดิน แบบ practical คือ สิ่งที่ทำต้องเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม หลายปัญหาที่เผชิญเป็นปัญหาใหญ่ เช่น หนี้ครัวเรือน การขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องการเงิน การขาดความสามารถในการแข่งขัน ถ้า ธปท. ไม่ทำอะไร จะกลับมาเป็นปัญหาด้านเสถียรภาพที่หนีไม่พ้น

    ส่วนม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อถามว่ามีอะไรเพิ่มเติมหรือจะฝากอะไรหรือไม่ บอกว่า “มิบังอาจครับ ที่มา(วันนี้)เพราะมิบังอาจ เมื่อท่านเชิญแล้ว ก็ต้องมา ต้องพูดอะไร ก็พูด ถ้าเผื่อไม่ต้องพูดแล้ว ก็โอเคแล้ว”