ThaiPublica > ประเด็นร้อน > บันทึกภาคประชาชน > บันทึกภาคประชาชน : “ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์” เหลียวหลัง ธปท. 80 ปี ว่าด้วยวิกฤติต้มยำกุ้ง

บันทึกภาคประชาชน : “ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์” เหลียวหลัง ธปท. 80 ปี ว่าด้วยวิกฤติต้มยำกุ้ง

11 เมษายน 2022


ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2565 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัดสัมมนา “เหลียวหลัง แลหน้า กับผู้ว่าการ ธปท.” ในโอกาสครบรอบ 80 ปี ธปท. โดยเชิญ 6 อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยมาร่วมสนทนา[ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์, ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล, ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล, นางธาริษา วัฒนเกส, ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล และดร.วิรไท สันติประภพ] แต่ละผู้ว่าการฯเหลียวหลัง ถึงปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น และแนวการดำเนินนโยบายของ ธปท. ในการแก้ปัญหาขณะนั้น พร้อมทั้งใช้ประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา แลหน้า เพื่อเสนอแนะแนวทางการดำเนินนโยบายของ ธปท. “ไทยพับลิก้า” ขอนำเสนอมุมมองการ เหลียวหลัง ของแต่ละอดีตผู้ว่าการ ธปท. เพื่อบันทึกประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและการดำเนินแนวนโยบายในขณะนั้น

เริ่มจาก ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท. ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2540 – พฤษภาคม 2541 เป็นการดำรงตำแหน่งหลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง หากนับถึงวันนี้ ผ่านมาแล้ว 25 ปี ดร.ชัยวัฒน์ ถือเป็นลูกหม้อของ ธปท. โดยได้รับทุนจาก ธปท. ไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา จบปริญญาตรีที่ Williams College และได้รับปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology — M.I.T.) รวม 8 ปี ก่อนที่จะกลับมาทำงานที่ ธปท. นาน 25 ปี รวมความเกี่ยวพันกับ ธปท. ถึง 33 ปี ระหว่างทำงานเป็นผู้อำนวยการฝ่ายที่คุมงาน 2 สาย คือ สายนโยบายการเงิน ก่อนจะย้ายมาสายงานกำกับธนาคารพาณิชย์ ที่ถือเป็นสายงานหลักของ ธปท.ในยุคนั้น

ดร.ชัยวัฒน์ เริ่มด้วยการเล่าถึงเหตุการณ์ปี 2522-2523 ยุคที่มีนายนุกูล ประจวบเหมาะ และ นายกำจร สถิรกุล เป็นผู้ว่าการฯ ธปท. ว่า เป็นช่วงที่ต้องแก้ไขปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และบางเรื่องคล้ายคลึงกับสถานการณ์ปัจจุบัน และยังเป็นแนวทางต้นแบบในการทำนโยบายปี 2540-2541 ที่ปัญหามีความรุนแรงมากกว่า

โดยปี 2522-2523 ไทยประสบปัญหาการขาดเสถียรภาพที่มักเกิดจากการใช้จ่ายเกินตัว ซึ่งไม่ได้กระทบต่อเสถียรภาพในแง่ทำให้เงินเฟ้ออย่างเดียว แต่ทำให้เกิดการขาดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศด้วย คือมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างมากมาย เงินสำรองไม่ค่อยพอเพียง ความเชื่อมั่นของต่างประเทศต่อเศรษฐกิจไทยไม่ค่อยดี เพราะเศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจระบบเปิด ทำให้มีการความต้องการนำเข้าสูงขึ้น แต่ส่งออกได้น้อยลง จึงขาดดุลบัญชีเดินสะพัด

ส่วนปัญหาเงินเฟ้อเป็นการผสมผสานระว่างดีมานด์กับซัพพลาย โดยเฉพาะราคาน้ำมันกับราคาพืชผล นี่คือกรอบวิเคราะห์ และเป็นสาเหตุที่มีการแก้ปัญหาเป็นเรื่องเสถียรภาพเศรษฐกิจระหว่างประเทศเป็นหลักในยุคผู้ว่าฯ นุกูล และผู้ว่าฯ กำจร ยุคนั้นยังมีการขาดดุลการคลังค่อนข้างมาก ทำให้เป็นการขาดดุลแฝด หรือ Twin Deficit คือขาดดุลทั้งการคลังและดุลบัญชีเดินสะพัด แสดงว่ามีการใช้จ่ายมากทั้งภาครัฐและเอกชน

สำหรับเครื่องมือดำเนินนโยบายขณะนั้นมีความหลากหลายกว่าปัจจุบันและใช้ผสมผสานกัน ช่วงนั้นใช้นโยบายที่เข้มงวด เพื่อลดการใช้จ่ายที่เกินตัว เครื่องมือแรกคือ ควบคุมปริมาณเงิน ที่ได้ผลที่สุด คือ monetary base หรือฐานเงิน เป็นเครื่องมือที่ ธปท. ควบคุมได้ ในการปล่อยเงินหรือดูดเงินโดยภาครัฐใช้พันธบัตรระยะยาว ตั๋วเงินคลังระยะสั้น ส่วนเครื่องมือปล่อยเงินดูดเงินจากเอกชน ผ่านธนาคารพาณิชย์ คือ ตลาดซื้อคืนพันธบัตร (RP) และการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้เอกชนที่สำคัญผ่านธนาคารพาณิชย์ แต่มีการยกเลิกมาตรการ เพื่อป้องกันปัญหาการเมืองแทรกแซงให้ ธปท. ปล่อยเงินจำนวนมากไปช่วย(เอกชน)ที่นั่นที่นี่ และมีการนำกลับมาใช้ใหม่เมื่อปี 2564 ในยุค ดร.วิรไท สันติประภพ เป็นผู้ว่าฯ ธปท. เมื่อเศรษฐกิจทรุด(วิกฤติการแพร่ระบาดโควิด-19) ธปท. มีความจำเป็นต้องเข้าไปช่วย โดยแก้ไขกฎหมายให้กลับมาใช้อีกครั้ง

เครื่องมือต่อมา คือ ดอกเบี้ย ด้วยการขึ้นดอกเบี้ยมาตรฐานให้สูง สมัยก่อนยังมีเพดานดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ การขยับเพดานดอกเบี้ยมาตรฐานเพื่อส่งสัญญาณให้รู้ว่า ธปท. ต้องการให้ดอกเบี้ยในระบบการเงินสูงขึ้น

เครื่องมือที่สาม ใช้เป็นครั้งคราว คือ การจำกัดเชิงปริมาณ (Quantitive Distriction) เคยมีอยู่ครั้งหนึ่ง มีการจำกัดสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ให้ปล่อยได้โตไม่เกิน 14% เพื่อลดความร้อนแรง

เครื่องมือที่สี่ คือการดูแลเงินทุนเคลื่อนย้าย (Capital Flow) อันนี้สำคัญมาก เงินทุนระยะสั้นจะทำให้เกิดความผันผวนของค่าเงินบาท เงินทุนเข้ามามากไปก็เกิดปัญหา

แต่เครื่องมือสำคัญที่สุดคือค่าเงินบาท ที่ช่วงนั้นใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ (Fixed Rate) โยงกับเงินดอลลาร์สหรัฐ มาตรการรุนแรงที่สุดที่จะใช้ได้ คือการลดค่าเงินบาท ทำให้ระบบเข้าที่ โดยช่วงนั้นมีการลดค่าเงินบาท 2 ครั้ง ครั้งหนึ่งยุคผู้ว่าฯ นุกูล ลดค่าเงินบาท 10% ต่อมาสมัยผู้ว่าฯ กำจร ลดค่าเงินบาท 20%

“การลดค่าเงินบาทครั้งนั้น ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก ใหญ่ขนาดผู้บัญชาการทหารบกออกมาขู่รัฐบาลว่า ไม่พอใจที่ลดค่าเงินบาท นายกรัฐมนตรีสมัยนั้นก็เลยปลดผู้บัญชาการทหารบกทันที ค่าเงินจึงเป็นเรื่องใหญ่ สมัยผู้ว่าฯ กำจร นอกจากลดค่าเงินบาทแล้ว ยังมีการเปลี่ยนนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบ fixed กับดอลลาร์ มาเป็นระบบตระกร้าเงิน (Basket Currency) ทำให้มีความคล่องตัวมากขึ้น ซึ่งอยากจะชี้ว่า การดำเนินนโยบายการเงิน ต้องมีความคล่องตัว ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ได้”

ดร.ชัยวัฒน์ ระบุว่า ตลอดเวลาที่มีปัญหา ประเทศไทยต้องเข้าโปรแกรมของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เพื่อเอาเงินมาช่วยทุนสำรองระหว่างประเทศ ไอเอ็มเอฟก็ใช้สูตรเข้มงวดสูตรเดียวกับที่ ธปท. ทำ คือ เข้มงวดการเงิน เข้มงวดการคลัง และถ้าจำเป็นก็ลดค่าเงินบาท มี Fianacial Programing ที่จะบอกถึงวิธีดูเคพีไอในการเบิกเงินแต่ละงวด หนึ่งในนั้นที่น่าสนใจ คือ นอกจากการคุมการปล่อยสินเชื่อธนาคารพาณิชย์แล้ว ให้คุมสินเชื่อรัฐบาลด้วย โดยบอก ธปท. ว่า ต้องคุยกับกระทรวงการคลังให้ได้ ต้องดูแลเรื่องการคลังให้ได้ด้วย

ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ ความยากลำบากในการทำนโยบายเหล่านี้มี 3 เรื่องด้วยกัน คือ เรื่องแรก นโยบายของ ธปท. มีผลกระทบกว้าง เมื่อกระทบทุกฝ่าย ก็ต้องทำโดยต้องมี trade off โดย trade off ใหญ่ที่สุด คือ trade off ระหว่างเสถียรภาพ กับ การขยายตัวทางเศรษฐกิจ เครื่องมือที่ใช้ คือ ดอกเบี้ย จะสูงหรือต่ำ เพราะผู้ฝากเงินกับผู้กู้เงินได้ผลกระทบที่ไม่เหมือนกัน ค่าเงินบาทอ่อนหรือแข็ง ผู้ส่งออกที่ได้เงินมากับผู้นำเข้าที่ต้องใช้เงินและผู้กู้เงิน ผลกระทบจะตรงข้ามกัน ฉะนั้น นโยบายสำคัญที่ใช้เป็นหลักเวลานั้นคือ หลักความพอดี หรือหลักความสมดุล

ความยากที่สอง คือ นโยบายเข้มงวดไม่ใช่นโยบายที่ประชาชนชอบ เพราะรัฐบาล ประชาชน ชอบนโยบายผ่อนคลาย อย่างที่เล่า พอลดค่าเงิน ก็เกือบถูกขู่ว่าจะปฏิวัติ

ความยากที่สาม คือ ธปท. ต้องประสานนโยบายการเงินและการคลังให้ดี เพราะนโยบายการคลังเป็นแรงกดดันด้านดีมานด์ได้ ธปท. จึงมีหน้าที่ต้องคอยกระตุ้นและเรียกร้องให้กระทรวงการคลังพยายามลดการขาดดุล หมายความว่า ผู้ว่าการฯ ธปท. กับรัฐมนตรีคลังต้องสื่อสารกันได้ ช่วงนั้นมีเวทีที่ดีให้สองฝ่ายสื่อสารกัน คือการประชุมกองทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยน (EF) มีรัฐมนตรีคลัง ผู้ว่าการฯ ธปท. รัฐมนตรีต่างประเทศ รัฐมนตรีพาณิชย์ เป็นกรรมการ มาประชุมที่ ธปท.

“ผมเป็นเลขานุการอยู่เกือบ 10 ปี การประชุมนี้ทำให้ผู้ว่าฯ กับรัฐมนตรีคลังเจอกันทุกเดือน จะหารือส่วนตัวหรืออะไรกันก็ได้ แต่ถึงจะใกล้ชิดขนาดนั้น ก็ไม่ได้ขัดขวางรัฐมนตรีคลังปลดผู้ว่าฯ ธปท. ทั้งสองคน ครั้งที่ปลดผู้ว่าฯ นุกูล เป็นความขัดแย้งเรื่องนโยบายค่าเงิน ส่วนผู้ว่าฯ กำจร ถูกปลดในความขัดแย้งเรื่องนโยบายอัตราดอกเบี้ยสูง ถ้าเทียบกับปัจจุบันที่ใช้นโยบาย Inflation Targeting ที่เริ่มต้นสมัยผู้ว่าการฯ จัตุมงคล โสณกุล หลักเกณฑ์นี้ดี เป็นที่ยอมรับของประชาชน ทำให้ ธปท. ทำงานง่ายขึ้น ไม่มีข้อโต้แย้งมากมายเหมือนในอดีต ส่วนค่าเงินยังเป็นประเด็นสำหรับ ธปท. เพราะคนที่ไม่ชอบค่าเงินที่ทำให้เขาเสียประโยชน์จะเรียกร้องเสมอ ผู้ว่าการฯ ธปท. แทบทุกคนต้องเจอ เมื่อไหร่ที่ค่าเงินแข็ง ผู้ส่งออกจะมา และรัฐบาลก็จะถามว่าทำไมไม่แทรกแซงให้ค่าเงินอ่อนลง ฉะนั้น เรื่องเงินทุนเคลื่อนย้ายจะอยู่กับ ธปท. ไปเรื่อยๆ”

พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า คือการแก้ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่เปิดโอกาสให้ผู้ว่าการฯ ธปท. ได้ทำงานอิสระเต็มที่มากขึ้น โดยการกำหนดความสัมพันธ์รัฐบาลกับ ธปท. ไว้ว่า รัฐมนตรีคลังหรือคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะปลดผู้ว่าฯ ธปท. ไม่ได้ง่ายเหมือนเดิม สมัยก่อนรัฐมนตรีคลังเอาเรื่องเข้า ครม. แจ้งว่าเพื่อความเหมาะสมขอเปลี่ยนผู้ว่าฯ ธปท. ก็จบ เดี๋ยวนี้ต้องอธิบายเหตุผลกับสาธารณะว่าทำไมถึงจะต้องปลด”

งาน ธปท. ช่วงนั้น นอกจากธนาคารพาณิชย์แล้วยังมีบริษัทเงินทุน ประมาณ 70 แห่ง เพื่อปล่อยกู้เอสเอ็มอีและบริษัทขนาดกลาง สมัยที่ย้ายจากผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ มาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายกำกับธนาคารพาณิชย์ ตอนนั้นงานกำกับและตรวจสอบเน้นเรื่องความมั่นคงของธนาคารพาณิชย์ต่างๆ เป็นรายธนาคาร มีทั้งทำออฟไซต์ คือวิเคราะห์ข้อมูล และออนไซต์ คือไปตรวจแบงก์ แต่ตอนมารับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายกำกับธนาคารพาณิชย์ งานกำกับมีขอบเขตแคบ เลยพยายามกระตุ้นให้กว้างขึ้น มองระบบการเงิน มองในเชิงพัฒนามากขึ้น

เครื่องมือมาตรฐานสำหรับดูแลความมั่นคงของสถาบันการเงินจะมี 3 ข้อ ข้อที่หนึ่ง คือ ดูคุณภาพหนี้ของสถาบันการเงินให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ต่ำ ข้อที่สอง ดูแลว่า มีการกันสำรองหนี้สงสัยจะสูญอย่างพอเพียงหรือไม่ และข้อที่สาม คือ มีเงินทุนพอเพียงหรือไม่ ทั้ง 3 ด้านนี้ การพัฒนาสถาบันการเงินที่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ ตัวอย่างเช่น ในอดีต การเปิดสาขาเป็นเรื่องสำคัญ ธปท. ต้องการให้ธนาคารพาณิชย์มีสาขาเพื่อเข้าถึงประชาชนให้มากที่สุด โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ต้องมีมาตรการกระตุ้น ให้รางวัลให้ไปเปิดสาขารอบนอก แต่ปัจจุบันตรงข้าม แบงก์แข่งกันปิดสาขา เพราะมีโมบายแบงกิ้ง ที่เข้าถึงประชาชน หรือเป็นเครื่องมือกระจายความเจริญไปสู่ประชาชนเป็นอย่างดี

พร้อมยกตัวอย่างในช่วงปี 2536 ว่า ช่วงนั้นมีนโยบายเปิดเสรีทางการเงินอย่างเต็มที่ สมัยผู้ว่าฯ วิจิตร สุพินิจ ได้ริเริ่มเปิดสำนักงานวิเทศธนกิจ (Bangkok International Banking Facilities — BIBF) เปิดให้ธนาคารพาณิชย์ทำ Investment Banking และให้สามารถนำเงินดอลลาร์มาปล่อยกู้เป็นดอลลาร์ในประเทศ หรือ out-in เจตนาของการทำเป็นเรื่องที่ดี ต้องการให้ธุรกิจเข้าถึงเงินต่างประเทศได้ง่ายขึ้น แต่ข้อดี ก็สร้างข้อเสียในระยะยาว ซึ่งมาปรากฏผลในปี 2539 เพราะนำไปสู่การขยายสินเชื่อมากมายและไม่มีประสิทธิภาพ ผู้กู้ยืมเงินมาก็ไม่ระวังความเสี่ยง เพราะคิดว่าค่าเงินบาทมั่นคง ทำให้เกิดเศรษฐกิจร้อนแรง เกิดฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ เมื่อฟองสบู่แตกก็กระทบสถาบันการเงินไปด้วย

“นี่เป็นบทเรียนสำคัญของหลักการการดำเนินนโยบายการเงิน คือ ต้องมีความระมัดระวัง ต้องดูให้รอบด้านว่า ระยะสั้น ระยะยาวเป็นอย่างไร และมีความเสี่ยงอะไรบ้าง การบริหารความเสี่ยงจึงเป็นเรื่องสำคัญ”

พอมาถึงปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540-2541 สาเหตุมาจากปี 2534 ที่เศรษฐกิจไทยเข้ายุคเศรษฐกิจเฟื่องฟู ศัพท์ที่ใช้กันคือ โชติช่วงชัชวาลย์ ทุกอย่างดีหมด เศรษฐกิจขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นแรงกดดันต่อการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด รัฐบาลใช้จ่ายเยอะ มีการขาดดุลการคลัง ก็เข้าสู่ Twin Deficit ในขณะนั้น เมื่อฟองสบู่แตกราคาที่ดินที่ขึ้นไปสูงมาก ได้ตกลงมาอย่างรวดเร็วกระทบต่อหลักประกันที่อยู่กับสถาบันการเงิน ทำให้บริษัทเงินทุนทั้งระบบมีปัญหา ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งกระทบไปด้วย ความเชื่อมั่นในสายตานักลงทุนต่างประเทศก็ตกต่ำ เงินทุนไหลออกอย่างรวดเร็ว กระทบต่อค่าเงินบาทอย่างรุนแรง เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาการขาดเสถียรภาพรอบใหม่ในปี 2539-2540

“ธปท. ตอนนั้นต้องรับมือสองด้าน คือ เศรษฐกิจทรุด สถาบันการเงินอ่อนแอ และเป็นความร้ายแรงในขั้นวิกฤติ ถามว่าทำไมวิกฤติ เพราะมันเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า Vicious Cycle หรือวงจรอุบาทว์ คือ เมื่อเศรษฐกิจอ่อนแอ ก็ทำให้ธนาคารพาณิชย์อ่อนแอไปด้วย พอธนาคารพาณิชย์อ่อนแอ เศรษฐกิจก็ได้สินเชื่อมาทำงานน้อยลง ก็ทรุด ทำให้ปัญหารุนแรง นักลงทุนต่างประเทศถอนเงินลงทุนออกไป เพราะไม่เชื่อมั่นในประเทศไทย และเพื่อนบ้านไม่เว้นแม้แต่ประเทศเกาหลี กลายเป็นวิกฤติที่ลามไปทั่วเอเชีย

แนวทางในการดำเนินนโยบายเวลานั้น คือ เนื่องจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดขณะนั้นมาจากการใช้จ่ายด้านดีมานด์ ก็ต้องมีการเข้มงวดทางการเงินและพยายามขอให้รัฐบาลลดการขาดดุลการคลัง และใช้นโยบายดอกเบี้ยสูง มีการปรับระบบค่าเงินบาทให้คล่องตัว โดยปล่อยให้ค่าเงินบาทลอยตัวเสรี ทำให้ช่วงแรกค่าเงินบาทอ่อนตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งกระทบต่อผู้กู้เงิน โดยเฉพาะผู้กู้ BIBF(Bangkok Internaional Banking Facility) ส่งผลกระทบต่อธนาคารพาณิชย์ เมื่อเศรษฐกิจทรุด สถาบันการเงินก็ไม่มั่นคง ประชาชนและรัฐบาล ก็ไม่พอใจนโยบายเข้มงวดของ ธปท.

ในด้านการดูแลสถาบันการเงิน ช่วงแรกการที่คนไม่เชื่อมั่น มีการถอนเงิน บริษัทเงินทุนทั้งหลายเกิดปัญหาสภาพคล่อง ปัญหาช่วงแรกจึงเป็นเรื่องสภาพคล่อง ธปท. แก้ไขโดยการปล่อยสภาพคล่องผ่านกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ปล่อยมากมายจนในที่สุดปล่อยไม่ได้ และต่อมากองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ก็ถูกขอให้ทำหน้าที่อื่น เช่น รับประกันเงินฝาก ทำให้ขาดทุนต่อเนื่อง และได้รับการแก้ไขในสมัยผู้ว่าฯ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ด้วยการยืดหนี้เป็นระยะยาว จากปัญหาสภาพคล่องและหนี้เสียที่เกิดขึ้นมากมาย เงินกองทุนสถาบันการเงินร่อยหรอ ทำให้ล้มละลาย

มาตรการรุนแรงที่ ธปท. ต้องทำ คือ ปิดบริษัทเงินทุนเกือบทั้งหมด มีการแทรกแซงธนาคารพาณิชย์เพื่อเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร เปลี่ยนแปลงการทำงาน กำหนดให้เพิ่มทุน บางธนาคาร ทางการก็เข้าไปช่วยเพิ่มทุนด้วย หลักการเหล่านี้เรียกว่า แยก Good Bank กับ Bad Bank โดย Good Bank คือสถาบันการเงินที่ยังทำหน้าที่ได้ ก็ให้ทำหน้าที่ต่อไป จะได้สนับสนุนเศรษฐกิจ ถ้าเป็น Bad Bank ก็ถือว่าปิดดำเนินงาน แต่ดูแลผู้ฝากเงินโดยการประกันเงินฝาก และมีการตั้งองค์กรปฏิรูปพื่อช่วยดูแลการปฏิรูปธนาคารที่มีปัญหา มีการตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ (บบส.) ขึ้น

“ความจริงแล้วหลักการนี้ใช้ได้ เพราะเป็นการชี้ว่าปัญหาอยู่ตรงไหน ก็แก้ให้รุนแรง อันไหนที่รับไม่ได้ก็ยุติมัน แต่ถ้าช่วงที่ประชาชนตื่นกลัวว่าสถาบันการเงินจะอยู่ไม่ได้ คนไปแห่ถอนเงิน ธนาคารพาณิชย์ก็อยู่ยาก ธนาคารพาณิชย์ที่ปกติดี ก็จะอ่อนแอไป ประเด็นสำคัญ คือ ความเชื่อถือของประชาชนที่มีต่อระบบสถาบันการเงิน หรือต่อ ธปท. จึงมีความสำคัญมากต่อระบบสถาบันการเงิน”

สำหรับภารกิจของผมช่วงเป็นผู้ว่าฯ ปี 2540-2541 เรื่องแรกคือการเจรจากับไอเอ็มเอฟและธนาคารกลางประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อกู้เงินมาเสริมความมั่นคงของทุนสำรองระหว่างประเทศ เผอิญว่าเคยทำงานกับไอเอ็มเอฟ จึงรู้วิธีพูดคุยเจรจาเกี่ยวกับโปรแกรมของไอเอ็มเอฟ เมื่อมีโปรแกรมแล้วก็เป็นเครื่องมือในการสนับสนุนการระดมเงินจากธนาคารกลางอื่นๆ เพราะเขารู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยจะไปรอด ก็ให้เงินกู้ยืมมาช่วยได้

ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

เรื่องที่สอง คือ ต้องรีบสร้างเสถียรภาพค่าเงินบาท เพราะค่าเงินผันผวนมากหลังจากลอยตัวค่าเงินบาท ในส่วนภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง เมื่อค่าเงินบาทอ่อนตัวลง มีการปรับตัวของการส่งออกที่ดีขึ้น การนำเข้าลดลง ความเชื่อมั่นของต่างประเทศดีขึ้น เงินทุนก็ไหลเข้า เมื่อมีแนวทางแก้ไขที่ชัดเจนว่า ประเทศไทยจะทำอะไรบ้างอยู่ในโปรแกรมไอเอ็มเอฟ ความเชื่อถือก็มากขึ้น งานช่วงนั้นเป็นงานที่ต้องสร้างความเชื่อมั่นค่อนข้างเยอะ มีการขอความร่วมมือองค์กรในไทยที่มีความเข้มแข็ง และยังมีการใช้ประโยชน์จากเงินตราต่างประเทศ และรับความเสี่ยงได้ โดยขอให้กู้ยืมเงินเข้ามา ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี แต่ทั้งหมดก็ยังจำเป็นต้องเข้าโปรแกรมไอเอ็มเอฟ เหมือนปี 2522-2523 แต่ครั้งนี้จำนวนเงินกู้ยืมมากขึ้น เงื่อนไขก็เข้มงวดขึ้น

“มีบางมาตรการของไอเอ็มเอฟที่ผมไม่เห็นด้วย เพราะเข้มงวดเกินไป ก็ต้องพูดคุยกันว่าเราจะไม่ใช้ เช่น ตอนที่ต้องการให้ค่าเงินมีเสถียรภาพ ทางไอเอ็มเอฟก็บอกว่า ต้องขึ้นดอกเบี้ยให้สูงเพื่อดึงเงินเข้าประเทศ ข้อโต้แย้งของผมคือ อัตราดอกเบี้ยสูงมากแล้ว และเงินทุนไม่เข้ามาเพราะหวังผลตอบแทนสูง แต่เข้ามาเพราะดูความมั่นคงด้วย ถ้าดอกเบี้ยสูงมาก เศรษฐกิจทรุด เงินต่างประเทศก็ไม่เข้ามา จึงเป็นเครื่องชี้ว่า เมื่อไหร่จะเข้มงวด เมื่อไหร่จะผ่อนคลาย เมื่อเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป เป็นอีกตัวอย่างเรื่องความคล่องตัว เรื่องต่อมา คือการเพิ่มทุนของธนาคารพาณิชย์ ตอนนั้น ไอเอ็มเอฟบีบรัดมากให้เพิ่มทุนเยอะๆ เร็วๆ เพื่อให้คนมั่นใจ ข้อโต้แย้งของเราคือ การปรับตัวต้องใช้เวลา เราตระหนักถึงปัญหา แต่ช่วงนั้น เป็นช่วงที่ไม่มีเงินทุนในต่างประเทศ ถ้าบังคับมาก ต่างประเทศจะเข้ามากลืนกิจการธนาคารพาณิชย์ไทยหมด เป็นอีกตัวอย่างว่า การใช้นโยบายต้องมีความระมัดระวัง มีความพอดีด้วย”

ดร.ชัยวัฒน์ ระบุว่า “การทำงานช่วงนั้น ยากลำบากมาก เพราะทั้งประชาชนและรัฐบาลไม่มีความเชื่อถือต่อ ธปท. และไม่พอใจนโยบายเข้มงวดทั้งหลาย แต่แม้จะอยู่ในตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท. ระยะสั้น คือ 9 เดือน ก็พยายามทำงานอย่างเต็มที่ เชื่อว่าสิ่งที่ทำได้ผลระดับหนึ่ง และที่สามารถทำงานได้ผลเพราะได้ทีมทำงาน ธปท. ที่ร่วมมือทำงานกันอย่างเข้มแข็ง ต้องทำงานแข่งกับเวลา ไม่มีวันพักผ่อน เสาร์อาทิตย์ก็ต้องมาทำงานกัน ทุ่มเทพลังเต็มที่ในการหาสิ่งใหม่ๆ มาช่วยกันแก้ปัญหา คิดว่านี่คือจุดแข็งของ ธปท. คือ มีองค์กร มีบุคลากรที่เข้มแข็ง และมีความมุ่งมั่น ความตั้งใจที่จะทำงานเพื่อส่วนรวม เป็นจุดแข็งของ ธปท. ที่น่าพอใจ”

การทำงานของ ธปท. จะต้องมีความเชื่อมั่นในหลักการที่ถูกต้อง กล้าที่จะทำนโยบายที่ยาก ไม่เป็นที่ชื่นชมของประชาชน แต่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

นอกจากนี้ นโยบายการเงินต้องมีหลายองค์ประกอบ ไม่ว่าจะเรื่องความพอดี ความสมดุล ความคล่องตัว หรือความระมัดระวัง น่าจะยังเป็นหลักที่ใช้ได้ และเสริมจากสิ่งใหม่ๆ ที่จะช่วยกันคิดขึ้นมา

“แต่สุดท้าย เป็นหน้าที่ของทุกคนใน ธปท. ที่จะพยายามสร้างองค์กร ธปท. ให้เป็นที่เชื่อถือ พยายามให้มีบุคคลากรที่เข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง มีการสื่อสารที่ดีต่อ Stakeholder ที่ปัจจุบันกว้างกว่าเมื่อ 25 ปีของผมมากมาย”