ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > งานวิจัยแบงก์ชาติมาเลย์ ตอบข้อสงสัยทำไมธนาคารกลางบริหารทุนสำรองขาดทุน

งานวิจัยแบงก์ชาติมาเลย์ ตอบข้อสงสัยทำไมธนาคารกลางบริหารทุนสำรองขาดทุน

24 กันยายน 2011


ปัญหาการขาดทุนของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง “ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” เปิดประเด็นผ่านเฟสบุ๊คจนถูกนักวิชาการ และผู้เข้าใจเรื่องบัญชีแบงก์ชาติได้อธิบายเพิ่มเติมให้เกิดความกระจ่างมากขึ้นว่าแม้แบงก์ชาติจะขาดทุนแต่ไม่ได้สร้างความเสียหายต่อประเทศดังข้อกล่าวหา

ทั้งนี้การบริหารทุนสำรองระหว่างประเทศของธนาคารกลางประเทศอื่นๆ ประสบปัญหาขาดทุนเช่นกัน โดยเฉพาะธนาคารกลางในเอเชียที่มีลักษณะเศรษฐกิจคล้ายกัน

จากการตรวจสอบข้อมูลการขาดทุนของธนาคารกลางในเอเชีย มีรายงานของธนาคารกลางมาเลเซียหรือเนการาแบงก์ โดย Sukudhew Singh ได้วิเคราะห์ผลกระทบต่องบดุลต่างๆ ในประเทศกลุ่มอาเซียน 4 ชาติ จากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคผ่านงานวิจัยเรื่อง Implication of Balance Sheets for Macroeconomic Policies: The ASEAN-4 Perspective ซึ่งได้เสนอในงานประชุมเชิงปฏิบัติการสำหรับหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารกลางต่างๆ (Chief Economists’ Workshop Centre for Central Banking Studies) จัดโดยธนาคารกลางอังกฤษเมื่อวันที่ 17-19 พฤษภาคม 2554

เนื้อหาบางส่วนของรายงานดังกล่าวได้ชี้ถึงสาเหตุที่ทำให้ธนาคารกลางในเอเชียขาดทุน และข้อเสนอแนะเพื่อลดปัญหาการขาดทุน โดยมุ่งเน้นศึกษาประเทศในกลุ่มอาเซียน 4 ชาติ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์และไทย ซึ่งมีการสะสมทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นมาก ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงต้นปี 2554 โดยเฉพาะประเทศไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นมากที่สุด

รายงานวิเคราะห์ระบุว่า การสะสมทุนสำรองระหว่างประเทศเป็นจำนวนมาก ทำให้ธนาคารกลางในประเทศอาเซียน 4 ชาติ มีความเสี่ยงที่จะขาดทุนด้วย 2 สาเหตุสำคัญ ประการแรกมาจากการแข็งค่าขึ้นของสกุลเงินท้องถิ่นแต่ละประเทศ จากข้อมูลพบว่าสกุลเงินประเทศอาเซียน 4 ชาติมีแนวโน้มแข็งขึ้น

การแข็งค่าของสกุลเงินท้องถิ่นมีโอกาสทำให้ธนาคารกลางขาดทุน เพราะในทางบัญชีเมื่อตีมูลค่าสินทรัพย์เงินตราต่างประเทศที่สะสมอยู่ในทุนสำรองระหว่างประเทศเป็นเงินสกุลท้องถิ่น ให้สินทรัพย์ลดลงตามการแข็งค่าขึ้นของสกุลเงินท้องถิ่น ในทางตรงกันข้ามถ้าสกุลเงินท้องถิ่นอ่อนลง เมื่อตีมูลค่าสินทรัพย์เงินตราต่างประเทศ จะทำให้ฐานะทางบัญชีของธนาคารกลางนั้นๆมีกำไร เพราะสินทรัพย์เพิ่มขึ้นตามการอ่อนค่าลงของสกุลเงินท้องถิ่น

ที่มา: งานวิจัยเรื่อง Implications of Balance Sheetsfor Macroeconomic Policies: The ASEAN-4 Perspective ของแบงก์เนการา

ในส่วนนี้จึงเรียกว่า “การขาดทุนทางบัญชี” ไม่ได้เป็นการขาดทุนจริงๆ ดังนั้นสินทรัพย์เงินตราต่างประเทศที่สะสมไว้ในทุนสำรองไม่ได้หายไปไหน

ประการที่สอง ธนาคารกลางมีโอกาสที่จะขาดทุนจากการ carry cost คือ ผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยที่ได้รับจากการลงทุนถือสินทรัพย์ต่างประเทศ ในส่วนนี้จะบันทึกบัญชีอยู่ด้านทรัพย์สินของธนาคารกลาง ขณะเดียวกันธนาคารกลางก็มีภาระดอกเบี้ยจ่ายในประเทศ จากการดำเนินนโยบายการเงิน เช่น ภาระดอกเบี้ยจ่ายจากการออกพันธบัตรธนาคารกลางเพื่อดูดซับสภาพคล่องส่วนเกิน เป็นต้น ในส่วนนี้จะบันทึกบัญชีอยู่ด้านหนี้สิน

จะเห็นว่า ธนาคารกลางมีทั้งรายได้จากการลงทุนถือสินทรัพย์ต่างประเทศ และรายจ่ายดอกเบี้ยในประเทศ ส่วนต่างของดอกเบี้ยจ่ายดังกล่าวมีโอกาสทำให้ธนาคารกลางขาดทุนได้ ส่วนนี้จะเป็นการขาดทุนที่เกิดขึ้นจริงจากการบริหารสินทรัพย์เงินตราต่างประเทศของธนาคารกลาง

ในบทวิเคราะห์เนการาแบงก์ได้คาดการณ์การขาดทุนของธนาคารกลางเอเชีย 4 ชาติที่เกิดจากความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ยต่างประเทศกับในประเทศหรือ carry cost โดยข้อมูลที่ใช้ประมาณการดอกเบี้ยในประเทศ คืออัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเงิน (interbank rate) ประเภทอายุ 3 เดือนของประเทศอาเซียนทั้ง 4 ชาติ โดยอัตราดอกเบี้ยของไทยอยู่ที่ 3 % มาเลเซีย 3.2 % เกาหลี 3.5 % ฟิลิปปินส์ 3.5 % จีน 4.5 % และอินโดนีเซีย 7.1 %

ขณะที่อัตราดอกเบี้ยต่างประเทศ เนการาแบงก์ใช้ประมาณการจากผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลในกลุ่มประเทศธนาคารกลางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกเฉลี่ยอยู่ที่ 2.8 %

การประเมินต้นทุนและผลตอบแทนจากการใช้ทุนสำรองแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยน
ที่มา : งานวิจัยเรื่อง Implications of Balance Sheetsfor Macroeconomic Policies: The ASEAN-4 Perspective ของแบงก์ เนการา

จากการคาดการณ์เบื้องต้นของเนการาแบงก์เพื่อหา carry cost โดยใช้ข้อมูลทุนสำรองระหว่างประเทศของประเทศที่ประสบปัญหาขาดทุน ณ สิ้นปี 2553 พบว่า ไทย มาเลเซีย เกาหลี ฟิลิปปินส์ จีนและอินโดนีเซีย ประสบปัญหาขาดทุนเพราะอัตราดอกเบี้ยในประเทศสูงกว่าดอกเบี้ยต่างประเทศ ทำให้มีดอกเบี้ยจ่ายสูงกว่ารายได้ดอกเบี้ยรับ ขณะที่ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ ไต้หวัน อังกฤษและสหภาพยุโรปมีอัตราดอกเบี้ยในประเทศต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยต่างประเทศทำให้มีกำไรเกิดขึ้น

ระดับทุนสำรองเงินตราต่างประเทศและภาระขาดทุนที่เกิดขึ้น
ที่มา : Implications of Balance Sheetsfor Macroeconomic Policies: งานวิจัยเรื่อง The ASEAN-4 Perspective ของแบงก์ เนการา

จากกราฟจะเห็นว่า ธนาคารกลางอินโดนีเซียขาดทุนมากที่สุด ทั้งที่มีเงินทุนสำรองน้อยกว่าไทย เป็นผลจากอัตราดอกเบี้ยในประเทศของอินโดนีเซียอยู่ในระดับสูงมาก จากการวิเคราะห์ของเนกาแบงก์ใช้สมมติฐานว่า ทุกๆ ดอลลาร์จะได้รับ carry cost ดังนั้นถ้าส่วนต่างดอกเบี้ยยิ่งสูงมากก็มีโอกาสขาดทุนมาก

ธนาคารกลางมาเลเซียยังได้เสนอทางเลือกการแก้ปัญหางบดุลของธนาคารกลาง 3 ประการ ประการแรก ปล่อยให้สกุลเงินท้องถิ่นแข็งค่าขึ้น โดยการลดการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยน จะช่วยลดภาระการดูดซับสภาพคล่องที่เป็นต้นทุนของธนาคารกลาง

ประการที่สอง ใช้เครื่องมือหรือมาตรการควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้าย และประการที่สาม พยายามทำให้มีต้นทุนต่ำที่สุดด้วยการปรับเพิ่มการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องตามกฎหมายในส่วนที่เป็นเงินฝากกับธนาคารกลางเพื่อลดสภาพคล่องในประเทศ

ทั้งหมดนั้นแสดงให้เห็นว่า ธนาคารกลางประเทศอื่นๆ ต่างประสบปัญหาขาดทุนเช่นกัน และจากสาเหตุที่เหมือนๆ กัน จึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติหรือเป็นข้อกังวลแต่อย่างใด