1721955
ซีรีส์ตับพังแห่งปี Light Shop (2024) เป็นซีรีส์เกาหลีที่จะทำคุณใจสลาย…ถ้าดูจนจบนะ เพราะความประหลาดของเรื่องนี้คือเปิดมาเหมือนจะเป็นแนวสยอง แถมยังมีหลายฉากที่อาจทำคนขวัญอ่อนช็อคได้เลย ซีรีส์ 8 อีพีจบที่จงใจจะมาทีละครึ่งซีซั่น คือ 4 อีพีแรกจะพาคนดูงงงวยเข้าไปในตรอกซอยที่จะค่อย ๆ ประกอบให้เรารู้เรื่องราวเพียงบาง ๆ ก่อนที่ 4 อีพีหลังจะเฉลยปมที่ถูกขยักขมวดเอาไว้อย่างหนักหน่วง
Light Shop ชื่อก็บอกแล้วว่าเกี่ยวกับร้านขายหลอดไฟ ร้านนี้จะเปิดทั้งคืนในซอยเปลี่ยว รอคอยคนแปลกหน้าแวะเวียนเข้ามา อาทิ หญิงสาวที่ลากกระเป๋าเดินทางกลางสายฝน, ชายที่รู้สึกหนาวเหน็บและได้ยินเสียงหมาเห่าอยู่ตลอดเวลา, นักเรียนหญิงกางร่มที่ต้องผ่านร้านนี้ทุกคืน, คนขับรถเมล์ที่ตัวเปียกตลอดเวลา, นางพยาบาลเห็นผี แล้วร้านขายหลอดไฟแห่งนี้ก็ตั้งอยู่ท้ายซอยอันมืดทึบที่ผู้คนลือกันว่าผีดุ
Light Shop นอกจากจะมีครบทั้งดราม่า ความหลอนสุดสะพรึง เรื่องเศร้าแสนสาหัสแล้ว ยังมีลีลาเล่าเรื่องที่เห็นได้ชัดว่าฉลาดเล่า วิธีการกำกับศิลป์ด้วยเทคนิคง่าย ๆ แต่สื่อความหมายมากมาย ไปจนถึงการเขียนบทชวนติดตาม และการกำกับที่ลงตัวเหลือเชื่อ และนี่คือผลงานที่ดัดแปลงมาจากเว็บตูนของ คังโดย็อง เจ้าของนามปากกา “คังฟูล” ผู้แต่งเรื่อง Moving และกำกับโดย คิมฮีวอน นักแสดงสมทบผู้คร่ำหวอดในวงการมาโชกโชน และเคยแสดงเป็นครูในซีรีส์ Moving (2023) ด้วย ซึ่ง Light Shop ยังเป็นผลงานประเดิมการกำกับเรื่องแรกของเขาอีกด้วย
จักรวาลคังฟูล
คังฟูลกล่าวว่า “ผมมีความสุขมากที่ Light Shop ได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยม เพราะตอนที่เขียนบทผมกังวลมากว่าคนดูจะเก็ทกับสิ่งที่ผมต้องการนำเสนอหรือไม่ เนื่องจากวิธีการเล่าที่แปลกต่างไปจากสูตรสำเร็จของซีรีส์ทั่วไป คือเป็นการเล่าผ่านตัวละครที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกันทีละตัว ผูกปมปัญหาไปเรื่อย ๆ จนกว่าคนดูจะจับต้นชนปลายอะไรได้ก็ปาไปอีพี 5 ผมเลยไม่แน่ใจว่าคนดูจะยังคงติดตามไปจนถึงตรงนั้นหรือไม่ แต่ผมอยากเล่าวิธีนี้จริง ๆ แล้วก็ดีใจมากที่ผู้ชมติดตามกันอย่างล้นหลามและได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี”
มีหลายคนเข้าใจผิดว่า Light Shop เป็นภาคต่อกับ Moving อันที่จริงแม้ว่ามันจะอยู่ในจักรวาลของคังฟูล แต่เป็นคนละรสชาติกันเลย ต้นกำเนิดของ Light Shop มาจากเว็บตูนที่ออนไลน์เป็นตอน ๆ เมื่อปี 2011 ซึ่งเป็นภาคแยกต่อจากเว็บตูนปี 2009 เรื่อง Again อันเป็นภาคเสริมของเว็บตูนปี 2006 เรื่อง Timing
ถ้าให้เล่าตามลำดับคือ Timing (2006) ที่เริ่มเรื่องเมื่อมีนักเรียนมัธยมปลายฆ่าตัวตายโดยไม่ทราบสาเหตุ แล้วจู่ ๆ ก็มีพวกพลังเหนือธรรมชาติปรากฎตัวขึ้นเพื่อพยายามจะยุติภัยร้ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตัวละครกลุ่มนี้มี อาทิ นักเรียนที่หยุดเวลาได้, พนักงานประจำที่ย้อนเวลาได้สิบวินาที, พนักงานฟาสต์ฟู้ดที่เห็นอนาคตล่วงหน้าได้สิบนาที และครูผู้มีลางบอกเหตุ เว็บตูนเรื่องนี้ภายหลังถูกสร้างเป็นแอนิเมชั่นซึ่งเปิดตัวในปี 2014 แล้วเข้าโรงฉายในเกาหลีปี 2015
Again (2009) เป็นเว็บตูนที่ยังไม่เคยถูกสร้างเป็นภาพเคลื่อนไหว ด้วยความเชื่อที่ว่า เมื่อคนเราตายไปเราจะไปเกิดเป็นใครสักคน ดังนั้นหากเราอยากจะต่อชะตาของเราให้มีอายุขัยยาวนานขึ้น เราต้องไปฆ่าตัวตนใหม่ของเราคนนั้น ตัวละครในเรื่อง Timing จะมาปรากฎในเรื่องนี้เพื่อปกป้องเด็กทารกเหล่านั้น ส่วนตัวละครกลุ่มใหม่ใน Again คือผู้ล่าที่รู้ว่าใครคือร่างใหม่ในชาติหน้าของเขาผ่านตัวละครที่ถูกเรียกว่า “ผู้ส่งสาร”
ส่วน Light Shop (2011) เป็นเหมือนภาคพิเศษแยกออกมาต่างหากที่เกี่ยวข้องนิดเดียวกับ Again กล่าวคือใน Again จะมีฉากสำคัญที่เกิดอุบัติเหตุบนถนนสายหนึ่งที่ทำให้รถบรรทุกคันหนึ่งแล่นเข้ามากวาดผู้คนบนท้องถนนในเวลานั้นพร้อม ๆ กัน (ในซีรีส์เปลี่ยนเหตุการณ์นี้ไปเป็นทุกตัวละครนั่งอยู่บนรถเมล์คันเดียวกัน) ดังนั้นขณะที่เรื่องอื่น ๆ ในจักรวาลคังฟูล อาทิ Timing, Again, Moving (2015), Bridge (2017) และ Hidden (ยังไม่ออนไลน์) จะเป็นแนวซูเปอร์ฮีโร่ แต่ Light Shop กลับเป็นแนวสยองขวัญแทน
อันที่จริง Light Shop เคยถูกสร้างเป็นไลฟ์แอ็คชั่นมาก่อนแล้วครั้งหนึ่ง คือเป็นหนังจีนในชื่อ Love Life Light (2023) ซึ่งเป็นหนังสยองเต็มสูบต่างไปจากฉบับซีรีส์เกาหลีค่อนข้างมาก และแทนที่จะมีศูนย์กลางเป็นร้านขายหลอดไฟ เวอร์ชั่นจีนดำเนินเรื่องผ่านตัวละครนางพยาบาลที่ย้ายเข้ามาอยู่ใหม่ในอพาร์ทเมนต์ที่เต็มไปด้วยคนตาย
แต่ความฮิตของ คังฟูล ยังไม่จบแค่นี้ เพราะล่าสุดในปีนี้ยังจะมีซีรีส์ใหม่ที่แปลงจากเว็บตูนของเขาอยู่อีกหนึ่งเรื่องคือ Witch (2025) ที่บทพระเอกได้ จินย็อง จากวง Got7 มาประกบ โรจองแอ (Hierarchy,18 Again) ซีรีส์โรแมนซ์ เกี่ยวกับหญิงต้องคำสาปที่รักใครไม่ได้เพราะจะทำให้คนคนนั้นเสียชีวิต ส่วนพระเอกจะเข้ามาล้างอาถรรพ์นี้ได้หรือไม่ ซีรีส์มีกำหนดฉาย 15 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้
ภาวะแสงสุดท้าย
“พวกเขายืนยันว่าได้มองเห็นแสงสว่าง…พวกเขายืนยันว่าได้เห็นอุโมงค์ที่มืดมิด…พวกเขายืนยันว่าได้เจอกับคนที่พวกเขารัก…อีกครั้งหนึ่ง”
ร้านขายหลอดไฟในเรื่องนี้เป็นเสมือนเส้นแบ่งระหว่างคนเป็นกับคนตาย ในซีรีส์มีหลายต่อหลายฉากที่จงใจจะถ่ายสลับกันระหว่างที่สว่างกับที่มืดตัดกันอย่างชัดเจน หรือบางทีก็เป็นภาพที่คลุมเครือไม่แน่ชัดว่าเป็นคนหรือวิญญาณ
คำถามคือ Light Shop คืออะไรกันแน่ ตรงจุดนี้อันที่จริงซีรีส์ได้เฉลยเอาไว้ในอีพีสุดท้ายเมื่อมีตัวละครหนึ่งฟื้นขึ้นมาจากโคม่าเป็นช่วงสั้น ๆ ก่อนจะเสียชีวิตลงอย่างรวดเร็ว โดยซีรีส์ได้เอ่ยคำที่แปลเป็นไทยว่า “ภาวะแสงสุดท้าย (When mind’s light returns / 회광반조)” แต่ในเรื่องไม่มีการอธิบายอะไรมากไปกว่านี้
ซึ่งตรงกับสำนวนจีน 回光返照 (อาจหมายถึง “การหักเหของแสง” ก็ได้ด้วย) อันเป็นสำนวนของศาสนาพุทธนิกายเซน มาจากแนวคิดที่ว่าจิตนั้นสว่างไสวและส่องแสงได้ ปรากฎใน อังคุตตรนิกาย Anguttara Nikaya (หนึ่งใน พระสูตรปิฎกหรือสุตตันตปิฎก อันเป็นส่วนหนึ่งของพระไตรปิฎกในฉบับสันสกฤต) ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่า “จิตเป็นสว่างไสว” อันเป็นต้นกำเนิดแนวคิดนี้ที่นิกายเซนนำไปต่อยอดศึกษาในด้านพื้นฐานแห่งจิต หรือการใช้จิตของตนเองไตร่ตรองตระหนักรู้ในจิตของตนเอง หรือการกลับไปสู่แหล่งกำเนิดจิต ปรากฎในตำราเซนหลายสำนัก อาทิ หลินจี้อี้ซวน (เสียชีวิตในปี ค.ศ.866) แห่งสำนักหลินจี้นิกายเซน กล่าวว่า “สิ่งจำเป็นในการบรรลุธรรมคือหันแสงสว่างของตนเข้าหาตนเอง และอย่าแสวงหาที่อื่นใด”, บาสซุย โทคุโช (1327-1387) กล่าวว่า “เมื่อคุณส่องแสงสว่างเข้าไปภายในโดยตรงและมองเห็นได้ชัดเจน ตัวตนอันบริสุทธิ์งดงามของคุณจะปรากฎออกมา และไม่มีอื่นใดอีกนอกจากตัวคุณ”
รากแนวคิดนี้ประกอบด้วยคำจีน 4 คำ 回 เวลา 光 แสง 返 หวนคืน 照 สะท้อน (คำนี้มีอีกความหมาย คือ ฝน ก็ได้ด้วย และน่าจะเป็นเหตุผลว่าทำไมในซีรีส์จึงมีบางคนฝนตก กางร่ม หรือตัวเปียกตลอดเวลา) โดยรวมคำนี้จะแปลว่า “ปรากฏการณ์ที่ท้องฟ้าสว่างวูบขึ้นชั่วครู่ก่อนดวงอาทิตย์จะลับขอบฟ้า” ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า Surge (ไฟกระชาก) หรือทางการแพทย์จะเรียกว่า Terminal lucidity อันเป็น “ภาวะเฮือกสุดท้ายของผู้ป่วยวิกฤติ”
วิลเลียม มังค์ (1816-1898) แพทย์ชาวอังกฤษ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่รู้จักในฐานะนักประวัติศาสตร์การแพทย์ เป็นผู้บัญญัติคำนี้ขึ้นจากรายงานกรณีศึกษาที่เขาทำ อธิบายถึงสภาพจิตใจของผู้ป่วยวิกฤติที่ฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นเวลาสั้น ๆ หรือไม่กี่วัน หรือไม่กี่สัปดาห์ก่อนจะเสียชีวิตลง ในบางกรณีจะเกี่ยวข้องกับระบบประสาท อาทิ โรคอัลไซเมอร์, เนื้องอกในสมอง, เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
ในเกาหลีใต้เมื่อปี 2018 มีกลุ่มนักวิจัยในโรงพยาบาลอิลซาน มหาวิทยาลัยดองกุก ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยด้วยการสังเกตผู้ป่วยในช่วงก่อนเสียชีวิต พบว่าจาก 151 ราย มีอยู่ 6 รายที่มีภาวะนี้ ซึ่งพบว่าเกี่ยวพันกับภาวะติดเชื้อ หรือพบได้ในภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยมะเร็ง
มิคาเอล นาห์ม นักชีววิทยาชาวเยอรมัน ระบุว่าอาการดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้แม้แต่ในกรณีของผู้ป่วยที่มีความบกพร่องทางจิตมาก่อน เขาได้กำหนดเอาไว้ 2 ประเภทย่อย ได้แก่ ประเภทที่เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป อาจจะไม่กี่สัปดาห์หรือภายในหนึ่งสัปดาห์ก่อนเสียชีวิต กับประเภทที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน อาจจะไม่กี่ชั่วโมง หรือไม่กี่นาทีก่อนเสียชีวิต
ผู้ป่วยจะมีภาวะแจ่มใสเหมือนกับไม่ได้ป่วยเลยในช่วงระยะสุดท้ายของชีวิต
ประสบการณ์ใกล้ตาย
ภาวะแสงสุดท้าย ไม่สามารถอธิบายได้ว่าอะไรเป็นตัวแปรที่ทำให้เกิดขึ้น ไม่รู้ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร อย่างไรก็ตามจากกรณีศึกษากลุ่มผู้มีประสบการณ์ใกล้ตาย Near-death experience (NDE) ค่อนข้างจะให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับภาวะนี้ได้
NDE ถูกนำเสนอโดยนักจิตวิทยาและนักญาณวิทยาชาวฝรั่งเศส วิคตอร์ เอกแกร์ ในช่วงทศวรรษที่ 1890 ก่อนที่ต่อมาจะมีผู้ศึกษาอย่างจริงจังอีกหลายราย อาทิ ในปี 1892 อัลเบิร์ต ไฮม์ นักธรณีวิทยาชาวสวิส ได้เสนอรายงานการสังเกต NDE จากช่าวก่อสร้างที่รอดชีวิตจากการตกนั่งร้านสูง, ทหารรอดสงคราม, นักปีนเขาที่ตกจากที่สูง, คนจมน้ำ
ปี 1968 ซีเลีย กรีน นักจิตวิทยาชาวอังกฤษทำการวิเคราะห์ภาวะเฉียดตาย, ในปี 1969 เอลิซาเบธ คูเบลอร์-รอสส์ จิตแพทย์ชาวสวิส-อเมริกันทำวิจัยในกลุ่มคนใกล้ตาย ฯลฯ
โดยข้อสรุปจากการศึกษาในหลายกรณี NDE จะถูกอธิบายจากผู้เฉียดตายเหล่านั้น เช่น วิญญาณแยกออกจากร่าง, ความเบาหวิว, ความสงบ, ปลอดภัย, อบอุ่น, เป็นสุข, เข้าสู่ภาวะการทบทวนชีวิต, รื้อฟื้นเหตุการณ์สำคัญในช่วงชีวิต, เห็นแสงสว่าง, เห็นญาติที่ตายไปแล้ว ซึ่งเป็นสภาวะเชิงบวก ส่วนกลุ่มที่เกิดภาวะเชิงลบก็เช่น รู้สึกทุกข์ทรมาน, ว่างเปล่า, หวาดกลัว, เห็นภาพหลอน
หลายกรณีจะเกี่ยวพันกับ แสง, อุโมงค์ หรือขอบเขตพื้นที่แห่งใดแห่งหนึ่ง และปรากฎการณ์ที่เรียกว่า Out-of-body experience (OBE) ซึ่งบัญญัติขึ้นโดยนักจิตวิเคราะห์ชาวอังกฤษ เจ. อาร์เธอร์ ฮิลล์ เมื่อปี 1918 อธิบายว่า “เป็นปรากฎการณ์ที่บุคคลรับรู้เกี่ยวกับโลกจากสถานที่นอกร่างกายของตน รู้สึกเหมือนมองเห็นตัวเอง จึงมีการสรุปได้ว่า OBE อาจเป็นส่วนหนึ่งของ NDE แต่ภาวะ OBE สามารถเกิดขึ้นได้กับกรณีอื่น ๆ ด้วยเหมือนกัน อาทิ เป็นลม, หลับลึก, เมายา
เคเนธ ริง นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ได้ระบุเอาไว้เมื่อปี 1980 ในหนังสือ Life at death: A scientific investigation of the near-death experience ว่า NDE แบ่งออกเป็น 5ขั้นตอน ได้แก่
1.สงบ 2.ภาวะแยกออกจากร่าง (OBE) 3.เข้าสู่ความมืดมิด 4.มองเห็นแสงสว่าง 5.อยู่ในพื้นที่ดินแดนหรือมิติแห่งหนึ่งแห่งใดที่มีขอบเขต ไม่สามารถออกไปจากเขตแดนนั้นได้
คังฟูลให้สัมภาษณ์ทิ้งท้ายว่า “ผีย่อมเคยเป็นคนมาก่อน และคนก็เช่นกัน ไม่มีคนคนไหนไม่ตาย ผมอยากเล่าความตาย หรือคนตายในมุมที่ต่างออกไปจากแค่เรื่องผี และความตายเป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องเจอ เพียงแต่ไม่มีใครรู้หรอกว่าโลกหลังความตายจะเป็นอย่างไร”