ThaiPublica > คอลัมน์ > Miss Fabulous Thailand ความงามต้องนิยาม!?

Miss Fabulous Thailand ความงามต้องนิยาม!?

25 กุมภาพันธ์ 2023


1721955

ออกตัวก่อนว่าไม่ใช่กูรูนางงาม บทความนี้เขียนในฐานะชาวบ้านสองเห่อหมอนที่ไม่เคยรู้อิโหน่อิเหน่ใด แต่เผอิญแวะมาเฉี่ยวเวทีที่ดูทางออนไลน์ได้ง่าย ๆ และอาจจะผิดหูผิดตาแฟนประจำไปบ้าง ค่าที่มันไม่ใช่ซีรีส์ดราม่า แต่เป็นซีรีส์ประกวดนางงามที่ดราม่าเผ็ดแซ่บไม่แพ้กัน
Miss Fabulous Thailand เวทีประกวดความงามที่พยายามจะเปิดกว้าง จัดโดยไบรอัน ตัน (พลากร แซ่ตัน) อินฟลูเอ็นเซอร์สายลักซูรี่ ซึ่งเปิดโอกาสให้ทั้งหญิงแท้และสาวข้ามเพศมาร่วมแข่งขันด้วยกัน ที่ไม่ได้อยู่บนนอร์มของความงามตามกระแสนิยม…แต่กำลังจะเป็นสมัยนิยม(รึเปล่า) เมื่อจู่ ๆ ชีวิตชาวไทยเราก็เข้าสู่ยุคที่ถามหาความเท่าเทียมกันอย่างถ่องแท้เสียที เพราะสังคมไทยหลอกลวงและหลอมหลอนเรามาช้านานด้วยความงามแบบอำนาจนิยม ประเพณีนิยม และธรรมเนียมปฏิบัติ อย่างในละคร เช่น เป็นหญิงห้ามกระโดกกระเดก ถึงคราวก็ออกเรือนกับชายมีฐานะ บทบาทเป็นได้แค่เมียกับแม่ ฯลฯ แต่เดี๋ยวนี้เรากำลังเข้าสู่ยุคแห่งการตื่นรู้ ถามหาคุณค่าของความงามที่ไม่ได้ถูกจำกัดด้วยนิยามเดิมอีกต่อไปที่ต้อง สูง ผอม สวย

แล้วสวยแบบไหนที่เรียกว่าสวย เมื่อสังคมเปิดกว้างต่อการรับรู้เรื่อง มาตรฐานความงาม ไปจนถึงเรียนรู้ที่จะไม่เหยียดเนื้อตัวร่างกายอันแตกต่างหลากหลายของผู้อื่น

ไบรอัน ตัน

ท่ามกลางกระแสดราม่าตบตีมาอย่างช้านานของ 2 เวทีประกวดยักษ์ใหญ่อย่าง มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ และ มิสแกรนด์ไทยแลนด์ ที่ตลอดมาไม่เคยกล้าที่จะชูประเด็นปัญหาแท้จริงของสังคมไทย พยายามจะเลี่ยงไปพูดเรื่องโลก เรื่องสิ่งแวดล้อม ความยากจน รักเด็ก ความเท่าเทียมกันทางเพศ หรือไม่ก็อาชญากรรมความรุนแรง อันเป็นปัญหาสากลใดใดเอย

แต่จู่ ๆ เมื่อปีที่ผ่านมาก็ปรากฏเวทีประกวดเล็ก ๆ แต่ดูหรูหรา ฟู่ฟ่า ลักซ์ชูเสียเหลือเกิน คือ Miss Fabulous Thailand ที่ขณะนี้กำลังเข้าสู่ซีซั่นสองที่พัฒนารูปแบบจากซีซั่นแรกไปอีก ที่จากแต่เดิมต้องสวยหุ่นแซ่บ มาซีซั่นนี้ ไม่ใช่เพิ่มมาแค่กะเลยหัวโปก แต่มีทั้งกะเลยหุ่นอวบอัดผิวคล้ำ กะเลยเป็นสังข์ทอง (Ectodermal Dysplasia) แต่นั่นไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับผู้เขียน

เพราะสิ่งที่ทำให้ผู้เขียนแปลกใจยิ่งกว่า และประทับใจมาตั้งแต่ในซีซั่นแรกอย่างมาก คือคำถามรอบไฟนัล ที่นอกจากจะยกระดับแล้ว ยังเป็นคำถามฟาดหน้าเวทีใหญ่ ๆ ที่วนเวียนแต่แบบเดิม ๆ แต่สำหรับเวที ฟ้าบุญเลิศ (ชื่อเล่นของเวทีมิสแฟบูลัส ไทยแลนด์) คำถามคือปังมาก อาทิ

ส่วนหนึ่งของผู้เข้าประกวดปีนี้

“มาตรฐานความงามเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่เกิดจากการกล่อมเกลาทางสังคมเพื่อตอบสนองระบอบชายเป็นใหญ่ นอกจากนี้มาตรฐานความงามเป็นสิ่งที่ถูกประกอบสร้างและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ในปัจจุบันมาตรฐานความงามกำลังถูกท้าทายด้วยแนวคิดที่ว่าทุกคนมีความงามในแบบของตัวเอง ในความคิดเห็นของท่าน หากความงามในโลกสมัยใหม่ ไร้ซึ่งมาตรฐานเช่นนั้น เวทีประกวดความงามยังควรมีอยู่หรือไม่ เพราะเหตุใด”

“วัฒนธรรมการครองคู่ของไทยตั้งแต่อดีต มีลักษณะเป็นรูปแบบของการครองคู่หลายคน โดยที่ผู้ชายสามารถมีคู่ครองได้หลายคนได้อย่างถูกต้องตามธรรมเนียมวัฒนธรรม ในปัจจุบันการมีคู่ครองหลายคนกลายเป็นสิ่งที่ผิดหลักศีลธรรม แต่ในสังคมไทยยังคงยอมรับให้ผู้ชายมีภรรยาได้หลายคน ในความคิดเห็นของท่าน ผู้หญิงสามารถมีคู่ครองได้หลายคนเฉกเช่นเดียวกับผู้ชายหรือไม่ เพราะเหตุใด”

“ในกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ มักมีความเชื่อว่าพวกเขาต้องพิสูจน์ตนเองด้วยการประสบความสำเร็จทั้งการเรียนและการทำงานเพื่อเป็นที่ยอมรับในสังคม เพราะเหตุใดผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศจึงต้องประสบความสำเร็จมากกว่าเพศหญิงและเพศชาย”

“ในปัจจุบัน การใช้ความรุนแรงในครอบครัว ได้กลายเป็นปัญหาหลักของสังคม ผู้หญิงต้องตกเป็นเหยื่อภายใต้โครงสร้างชายเป็นใหญ่ เป็นเหตุให้เหยื่อเลือกที่จะทำร้ายร่างกายหรือจบชีวิตสามีของพวกเธอ ดังที่ปรากฏในสื่อหลายครั้ง ท่านคิดว่าเหยื่อที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับความรุนแรง และจบปัญหาดังกล่าวด้วยความรุนแรง ควรต้องโทษตามกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด?”

“ในปัจจุบันมีความพยายามจากพลเมืองที่สืบค้นและตีแผ่บรรดาดารานักแสดงที่เคยออกมาสนับสนุนรัฐประหารและเพิกเฉยต่อความรุนแรงที่ภาครัฐกระทำต่อประชาชน ในความคิดเห็นของท่าน การสนับสนุนรัฐประหารและเผด็จการอำนาจนิยมถือเป็นสิทธิเสรีภาพหรือไม่เพราะเหตุใด”

โอ้โห นี่หรือคำถามสำหรับนางงาม นางงามสมัยนี้ต้องตอบคำถามยาก ๆ ขนาดนี้เลยหรือ แต่หากพินิจคำถามดี ๆ นี่ไม่ใช่คำถามไกลตัว อย่าง เราจะช่วยโลกร้อนได้อย่างไร เราจะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร แต่มันคือคำถามใกล้ตัวที่เราคนไทยต่างรู้เห็นปัญหาเหล่านี้เป็นอย่างดี แต่ไม่เคยมีใครยกมาเป็นประเด็น โดยเฉพาะกับเวทีความงามที่เรียกได้ว่าเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับวงการอย่างแท้จริง

CMU Ambassador 2017

ทีมเชียงใหม่

ถ้าไม่นับการประกวดระดับภูมิภาค ถ้านับเฉพาะเวทีใหญ่ นี่คือเวทีเดียวในประวัติศาสตร์ชาติ ที่ทุกภูมิภาคต้องเดินทางไปร่วมประกวดกันที่เชียงใหม่ โดยใช้พื้นที่สวยงามสำคัญ ๆ ต่าง ๆ ในเชียงใหม่ โดยทีมงานชาวเชียงใหม่ล้วน ๆ ที่ทำให้ทุกสิ่งออกมาดูแพงในระดับที่เวทีใหญ่ ๆ คงงงว่าโปรดักชั่นแค่นี้ทำไมมันถึงดูแพงกว่าเวทีจากส่วนกลาง ของชนชั้นกลางชาวเมืองหลวง

เราคงไม่ต้องย้อนไปถึงประวัติศาสตร์ชาติว่าในอดีตการรวมชาตินั้น ส่วนกลางกระทำขึดเมืองเยี่ยงใดไว้กับชาวล้านนาบ้าง ไม่ว่าจะการทำลายดวงเมือง ผ่าถนนบริเวณสะดือเมือง สร้างคุกขึ้นทับหอคำ บังคับใช้อักษรไทย หรือขังคุกครูบา ฯลฯ อย่างน้อย ๆ จนถึงเดี๋ยวนี้ เชียงใหม่เมืองท่องเที่ยวอันดับต้น ๆ (ที่ล่าสุดเห็นว่าทัวร์จีนศูนย์เหรียญลงระบาดจนแทบจะเป็นอีกมณฑลของฮ่องเต้สีจิ้นผิงไปแล้ว) ที่เมื่อปีที่แล้วข้าวซอยเชียงใหม่ก็ถูกโหวตจากทั่วโลกให้เป็นอาหารประเภทซุปที่อร่อยที่สุดในโลก เมืองที่ผู้กำกับระดับโลกอย่าง อภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล เลือกที่จะย้ายไปอยู่อย่างถาวร มีศิลปิน ดารามากความสามารถมากมาย มีหอศิลป์ชื่อใหม่เอี่ยมที่กว้างขวางและแสดงผลงานระดับโลก

แต่ทุกวันนี้ยังไม่มีคมนาคมจากรัฐแม้แต่รถเมล์ประจำทาง มีแต่รถแดง มีแค่ทางรถไฟใต้ดินปลอม ๆ หน้าห้างเมญ่าที่ถูกสร้างไว้ประดับสำหรับถ่ายภาพเก๋ ๆ

แลนด์มาร์คถ่ายรูปเก๋ ๆ หน้าห้าง

ย้อนกลับไปที่ไบรอัน ตัน เจ้าของเวทีประกวด เราเห็นเขาเมื่อทศวรรษก่อนที่ทำช่องยูทูบตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เริ่มจากเป็นเมคอัพอาร์ตทิส จนเริ่มขยับมาทำคอนเทนท์ท่องเที่ยวบ้าง อาหารบ้าง รีแอครายการทีวี ซีรีส์ ไปจนถึงการประกวดนางงาม รายการแข่งขันทำอาหาร จนมารู้ตัวอีกทีเขาก็โดดมาทำตัวลักซูรี่ ที่เอาจริง ๆ สำหรับสายโปรดัคชั่นย่อมมองออกว่าหลายอย่างในรายการ เป็นเพียงการจัดฉากจากมุมเล็ก ๆ เป็นการจัดแสง เช่น ปิดไฟทั้งห้อง แล้วจัดแสงใหม่เข้าไป ว่าง่าย ๆ ว่าหลายอย่างคือการทำให้สิ่งที่ไม่ต้องลงทุนมาก ให้ดูแพง เว่อร์ เว่อร์ เว่อร์ อย่างในเพลงของนาง ซึ่งตรงนี้คือคำชม มันคือการบริหารจัดการ การเพิ่มคุณค่า รู้สเกลตัวเองว่าทำให้ออกมาเว่อร์วังได้ขนาดไหนจากทรัพยากรและงบประมาณเท่าที่มี

โดยเฉพาะทีมงานรับเชิญของรายการที่มาตั้งแต่คราวประกวดซีซั่นแรก คือช่างภาพรับเชิญ ดำรงศักดิ์ รอดเรือน จากสตูดิโอ Doccupine ที่ครั้งหนึ่งเคยสร้างความฮือฮาเมื่อการประกวด CMU Ambassador 2017 ด้วยแฟชั่นเซ็ตที่ให้ผู้เข้าประกวดไปถ่ายภาพตามถนนในเชียงใหม่ ด้วยแฟชั่นที่ประยุกต์จากลวดลายชาวเขาชาวดอยผ้าทอเชียงใหม่ และเอเชียนลุคอื่น ๆ ไม่ว่าจะกิโมโน ผ้าห่มลายดอก หรือเครื่องประดับที่คุ้นเคยกันในสายตาชนชั้นล่างไปถึงค่อนกลาง เพื่อนำเสนอในลุคแบบไฮแฟชั่น ดูโก้ เรียบหรู ดูแพง และสะท้อนภาพเมืองเชียงใหม่ปัจจุบัน

ผลงานออกแบบชุดโดย ภาวิต ประวัติ SMVEED

แฟชั่นหัวก้าวหน้า

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อการประกวดต้องเลือกหยิบแฟชั่นเมืองหลวงมาใช้ รายการนี้ก็เลือกผลงานของ SMVEED หรือ ภาวิต ประวัติ ดีไซเนอร์ชาวพัทลุงที่ตั้งแต่สมัยเรียนม.6 เขาก็คว้ารางวัลชนะการออกแบบชุดราตรีให้มิสเวิร์ลในปี 2016 ไปจนถึงชุดธีสิส Ready to Love คอลเลคชั่นที่นำเสนอความปกติที่ไม่ปกติในสังคมไทย ซึ่งจำนวนหนึ่งปรากฏในการประกวดมิสแฟบูลัสคราวนี้ด้วย

มันคือคอลเลคชั่นที่ตั้งคำถามกับสังคมไทยในหลายประเด็น นับตั้งแต่ทำไมต้องตื่นเช้าไปเคารพธงชาติ ทำไมผู้ชายต้องบวช ทำไมถ้าอ้วนแล้วจะต้องโดนล้อเลียน ทำไมการเป็นโสดถึงเสียชาติเกิด ไปจนถึงความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นและพื้นที่อาศัย

ภาวิตเคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับไอเดียผลงานของเขาเอาไว้ว่า “ธีสิสเราอยากทำประเด็นเดียวเลยคือประเด็นสังคม มันเริ่มมาจากตั้งแต่เด็กก็โตมาในบ้านที่มีความคิดทางการเมืองแบบสุดขั้วมาก ๆ มันมีความกดดันว่า เอ๊ะ เราต้องไปอยู่สักฝ่ายโดยที่ไม่รู้ตัวหรือเปล่า เราใช้ชีวิตอยู่พัทลุงซึ่งก็ดันอยู่อำเภอที่บ้านนอกมากอีก แต่เราไม่อยากอยู่ตรงนี้เลยไปสอบเรียนโรงเรียนในเมืองประจำจังหวัด โรงเรียนก็อยู่ไกล เราต้องตื่นตั้งแต่ตีห้าครึ่ง เพื่อให้มาทันเคารพธงชาติตอนเวลา 07.30 น.”

“ชีวิตช่วงมัธยมเป็นตุ๊ดก็โดนล้อ เป็นตุ๊ดอ้วนอื่นก็โดนล้อ ทำไมต้องมาทุกข์กับค่านิยมความงามที่ไม่เปิดกว้างพวกนี้ด้วย อ้วนแล้วมันเป็นปัญหาตรงไหน ทำไมกะเทยอ้วนต้องเป็นผีเสื้อสมุทร หรือมองย้อนไปรีเสิร์ชที่วาดวีนัสเอย อนาโตมี่เอง เราก็เปลี่ยนวีนัสให้เป็นตัวที่อ้วน เพราะวีนัสก็เป็นตัวกำหนดความงามตั้งแต่อดีต เปลี่ยนอย่างนี้ เพราะความงามทุกวันนี้มันเปลี่ยนแล้ว ส่วนการทำชุดเราก็ใช้โครงสร้างเต็นท์มือสองมาทำด้วย ชุดนี้ได้ใช้ทักษะเยอะมาก เข้าจักรไม่ได้ก็ต้องเย็บมือ นั่งสอยไปเรื่อย ๆ เป็นลุคที่พรีเซนต์เราที่สุดและทำยากสุด”

ความสวย สิทธิ์ เสียง เสรีภาพ อำนาจ

ในรายการของจอมขวัญ หลาวเพชร์ มีเทปหนึ่งว่าด้วยวงการนางงาม ได้เชิญ 2 นักวิชาการมาร่วมถกกัน ก็คือ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการ นักเขียน นักรัฐศาสตร์และอดีตนักการทูต ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ประจำสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต และฐิติพงษ์ ด้วงคง อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยหลายสถาบัน นักวิชาการผู้ชำนาญการด้านวัฒนธรรมการประกวดนางงาม หนึ่งในกรรมการกองประกวดและโค้ชด้านวิชาการของมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์

ปวิน: “ในทศวรรษนี้ ทศวรรษที่20 นี่ เรายังต้องมาดูอีกหรือว่าใครสวยกว่าใคร…เราไม่ควรนิยามความสวย สิ่งนี้สะท้อนธุรกิจนางงามว่ามันป๊อปปูล่าร์ในประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้น ประเทศที่เขาก้าวหน้ามาก ๆ มองข้ามว่าความสวยเป็นวัตถุผมคิดว่าเขาไม่ได้ตื่นเต้นเลยกับการประกวดอะไรแบบนี้ แน่นอนว่าประเทศเหล่านี้แม้แต่สหรัฐเองก็ยังส่งคนมาประกวด แต่ผมคิดว่าการมองของประเทศสหรัฐเองมันเป็นคนละทัศนคติกับประเทศอย่างเราหรือละตินอเมริกามอง เพราะมุมมองของสหรัฐการประกวดนางงามเป็นความบันเทิงล้วน ๆ ซึ่งถ้ามองเป็นความบันเทิงล้วน ๆ ฮอลลีวูดมีชั่วร้ายกว่าการประกวดนางงามอีก”

ฐิติพงษ์: “ต้นกำเนิดของการประกวดถูกเซ็ตให้เป็นความตื่นตาตื่นใจ เป็นโชว์เก็บเงินคนเข้ามาดู แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันไม่ได้ถูกแช่แข็งให้เป็นแบบนั้นแบบเดียว ในการเติบโตของมัน มาพร้อมกับหลาย ๆ อย่าง หนึ่งที่ผมเห็นเลยคือความเคลื่อนไหวทางสังคมทั้งหลายแหล่ เมื่อก่อนเราพบว่ามิสอเมริกาคือพื้นที่ของคนขาว แต่หลัง ๆ เราจะพบว่ามันเปิดโอกาสให้ผู้หญิงที่อยู่ชายขอบเข้ามาแสดงความคิดเห็น ยกตัวอย่างเช่นหญิงผิวดำที่เคยถูกกีดกันมาก่อน ก็สามารถเข้ามาประกวดได้ นำเสนอความงามในอีกรูปแบบท่ามกลางสังคมอเมริกันที่ถูกทำให้เป็นขาวตลอดมา ต่อให้มันเป็นพื้นที่ที่เล่นอยู่กับชุดคุณค่าทางสตรีนิยม หรือวาทกรรมของความเท่าเทียมสมัยใหม่ มาเป็นตัวชูโรง เพื่อสร้างความชอบธรรมให้การประกวดว่า มันควรจะมีอยู่นะ นี่ไงเราหาความชอบธรรมให้กับพวกผู้หญิงที่ไม่เคยมีสิทธิ์มีเสียงมาก่อนนะ พวกที่ไม่เคยถูกพูดถึงมาก่อนในสังคม…ซึ่งประเทศด้อยพัฒนาต่าง ๆ ใช้พื้นที่ตรงนี้เป็นการต่อสู้กับจักรวรรดิ์นิยม เราจะเห็นคนจากประเทศบางประเทศถูกทำให้มองเห็น มีกลุ่มคนที่ส่งแรงเชียร์อย่างบ้าคลั่ง บางประเทศที่ไม่เคยถูกมองเห็นในเวทีอื่นเลย”

“เนื่องจากมันเป็นวัฒนธรรมศึกษา ซึ่งเมื่อเราถูกกดทับจนไม่สามารถมีสิทธิ์มีเสียงได้ สิ่งหนึ่งที่ใช้ต่อสู้ได้คือการใช้อำนาจทางวัฒนธรรมในการตอกกลับ เช่น เปอโตริโก ไม่มีทางเป็นชาติเลย เพราะฉะนั้นวิธีการทำให้เปอโตริโกอยู่ได้ดีกว่าในพื้นที่ของยูเอ็นเสียอีกในการเมืองระหว่างประเทศ คือการให้นางงามคาดสายสะพายแล้วยืนบนเวทีตะโกนดัง ๆ ว่า “ปัวโตริโก้” หรืออย่างฟิลิปินส์เอย ไทยแลนด์เอย ที่โหยหาฮีโร่แห่งชาติ โหยหาการยอมรับทางวัฒนธรรมในกลุ่มประเทศมหาอำนาจ เราต่างใช้นางงามในการเปล่งเสียงประเทศของเราทั้งนั้น แล้วมันเป็นการเปล่งเสียงผ่านร่างกายของนางงาม หรืออย่างประเทศอังกฤษตอนนี้ เวทีของนางงามกลับเป็นเวทีที่เอาไว้แสดงวัฒนธรรมของกลุ่มคนที่มาจากประเทศที่เคยเป็นอาณานิคม อย่างอินเดีย หรือจาไมก้า แล้วในปัจจุบันพวกเขาปลดแอกจากการเป็นอาณานิคมโดยการใช้นางงามผิวสี ผิวสีน้ำตาลเหล่านี้ เป็นตัวแทนรัฐชาติอังกฤษบนเวทีพวกนี้ ซึ่งผมคิดว่ามันล้ำมาก”

ปวิน: “ถ้าจะมองแบบนี้ ผมก็ซื้อนะ ก็เข้าใจได้…แต่เมื่อวันที่คุณมงลงแล้วได้ตะโกนว่า “ปัวโตริโก้” แล้วอะไรคือสิ่งต่อไปสำหรับเปอโตริโก้ มันหยุดแค่ตรงนั้นเลย สิ่งที่คุณถูกสร้างให้คิดว่ามันคือความภูมิใจระดับชาติ ฉันยังยืนในดินแดนของสหรัฐ และวันนี้ฉันชนะแล้ว แต่ในที่สุดแล้วมันก็จะจางหายไป สุดท้ายมันจะกลับไปสู่ปัญหาของการประกวดนางงามอีกอยู่ดี…เราต้องการผลักดันคนชายขอบแบบนี้ โดยคนที่เป็นสตรีด้วยซ้ำ ที่ออกมายืนแถวหน้า เพื่อนำไปสู่สิทธิของสตรี ความเท่าเทียมกัน…มันไปไกลขนาดนั้นเลยหรือ เราต้องตั้งคำถามว่าเวทีนางงามมันนำไปสู่การชูประเด็นหนัก ๆ ที่นำไปสู่การเคลื่อนไหวทางสังคมระดับโลกว่า ไม่ได้แล้ว วันนี้ผู้หญิงต้องปลดแอกตัวเอง ผู้หญิงต้องเท่าผู้ชาย…ได้หรือ เวทีนางงามผลักดันไปถึงตรงนั้นหรือยัง อันที่สอง ชนะแล้วก็จริง ชนะบนเวทีโลก แล้วเรากลับมาดูหรือเปล่าว่า ในบ้านตัวเอง เมื่อคุณเอามงกลับมาในบ้านตัวเอง มันมีการพัฒนาในบ้านตัวเองอย่างไรบ้าง เช่น หัวข้อที่คุณแบกไปประกวด เช่น สิ่งแวดล้อม พอชนะกลับมา นางงามพวกนี้ได้ผลักดันประเด็นสิ่งแวดล้อมจริงหรือเปล่าหลังจากชนะแล้ว หรือในสุดกลับมาก็เดินสายเก็บเงิน”

วงบอยแบนด์ BTS ทูตวัฒนธรรมเกาหลีเข้าพบโจ ไบเดน

ฐิติพงษ์: “ผมคิดว่าตอนนี้นโนบายการต่างประเทศหลาย ๆ ประเทศเล่นอยู่กับวัฒนธรรมของคนดังมีชื่อเสียงส่วนหนึ่งเลย อย่างเกาหลีเล่นเรื่องนี้เลย ใช้วงบอยแบนด์บีทีเอสไปเป็นฑูตในยูเอ็นสื่อสารระดับโลกเลย ซึ่งไทยก็พยายามจะใช้เรื่องพวกนี้เหมือนกัน นอกจากเรื่องอาหาร หรือแฟชั่นแล้ว ล้วนแล้วแต่ปรากฎในวัฒนธรรมมวลชน ซึ่งในฐานะการเป็นเครื่องมือทางการเมืองมันก็มีอยู่จริงบนเวทีประกวด แล้วเราจะเห็นว่าเวทีนางงามตอนนี้คือตัดข้ามผ่านกันเยอะมากเลยในแง่การเลือกข้างทางการเมือง พื้นที่การประกวดนางงามถูกทำให้เลือกข้างทางการเมือง การแบ่งขั้วทางการเมืองเห็นได้ชัดที่สุดผ่านเสียงนางงาม”

ปวิน: “เดี๋ยวนี้ผ่านเวทีเลยไม่ใช่แค่นางงาม เวทีนี้สลิ่ม เวทีนี้อะไรงี้ไปเลย…มันดูดีมันดูสวย นางสาวไทยมีสายสะพาย แล้วไปพูดว่าฉันเป็นตัวแทนผู้หญิงไทยนู่นนี่นั่นทำตัวเป็นฑูต เฮ้ย แต่เดี๋ยวก่อน คุณแน่ใจหรือว่า…เรื่องการปฏิบัติต่อผู้หญิงในประเทศคุณมันโอเคแล้วหรือ ก่อนที่คุณจะเอาผู้หญิงมาชูประเด็นมาขายในเวทีระหว่างประเทศ คุณแน่ใจแล้วหรือยังว่าในประเทศไทยพวกคุณปฏิบัติต่อเพศหญิงดีแล้ว หรือสิทธิของผู้หญิงเท่าเทียมกับชายแล้วหรือยัง ทำไมประเทศคุณถึงโอเคกับการที่ผู้ชายมีเมียน้อยหลายคน…นี่ยังไม่นับนะว่าเมียบางคนยังไม่สามารถนั่งบนโต๊ะได้เท่ากับสามี คือมันดูดี ดูสวย มีมงกุฎสายสะพาย กล่าวคำพูดคำจาเป็นตัวแทนประเทศชาติ แต่อย่าลงลึกไปกว่านั้น เพราะว่าเธอจะเจ็บตัวเองเมื่อถูกตั้งคำถามย้อนกลับไปถึงประเทศตัวเอง”

ไบรอัน ตัน

ความงามต้องนิยาม!?

จากส่วนหนึ่งของการสนทนาข้างต้น ความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ด้านหนึ่งชื่นชมเป็นอย่างมากต่อเวทีมิสฟาบูลัส ที่ยกระดับการเปิดโอกาสให้นำเสนอความงามในหลากหลายแบบ ความงามในแบบที่เวทีอื่นอาจมองว่าเป็นตัวประหลาด

แต่นี่คือความท้าทายใหม่ ๆ ที่ไม่ต้องนิยามอีกต่อไปแล้วว่าอะไรคืองาม งามในสายตาใคร ใครเป็นคนตัดสินว่างาม

และอีกประเด็นที่ดีมากคือการพยายามจะสอดแทรกแง่มุมเนื้อหาทางการเมืองใส่ลงไปในแฟชั่นก็ดี แสดงให้เห็นก็ดีว่าการประกวดประชันเวทีทำนองนี้ ไม่จำเป็นต้องจิกตีตบกันเพื่อชิงมงอย่างแต่ก่อน

แต่อย่างไรก็ตามเมื่อย้อนกลับไปถึงคำถามที่เคยใช้ในรอบตอบคำถามในซีซั่นที่แล้ว ที่ผู้เขียนค่อนข้างคาดหวังมากว่าสิ่งนี้จะยังคงอยู่ในปีนี้ และแม้ว่าคำถามพวกนี้ เช่น มาตรฐานความงาม ระบอบชายเป็นใหญ่ ปัญหาของกลุ่มเพศหลากหลาย ความรุนแรงในครอบครัว ไปจนถึงการไม่สนับสนุนเผด็จการอำนาจนิยมรัฐประหาร มันกลับปรากฎเป็นคำถามในรอบสุดท้ายเท่านั้น แต่ระหว่างทางกลับไม่ได้ถูกชูประเด็นอะไรขึ้นมาอย่างจริงจังเลยแม้แต่นิดเดียว หรือแม้แต่ในรอบประกวดคราวก่อน ก็พบว่าไม่มีแม้แต่คนเดียวที่สามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ในแบบเฉียบขาด มีอุดมการณ์ เป็นแค่การตอบแบบเอาตัวรอดไปได้เท่านั้น นั่นแปลว่าพวกเธอไม่ได้ตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้เลย ทั้งที่มันอยู่ใกล้ตัวอย่างมาก

ส่วนหนึ่งของผู้เข้าประกวดมิสแฟบูลัสซีซั่นที่แล้วไปร่วมเวทีเกย์ไพร์ดที่กทม.จัด

ไม่มีการนำเสนอประเด็นเหล่านี้ในระหว่างทางของการประกวด และการตอบคำถามที่สะท้อนให้เห็นว่าผู้เข้าแข่งขันไม่ได้ตระหนักหรือใส่ใจต่อสิทธิ์ เสียง เสรีภาพ หรืออำนาจของเพศหญิง มันชวนคิดเหมือนกันว่าสุดท้ายก็กลายเป็นแค่โชว์หนึ่งที่ดูเอาบันเทิงได้ แต่ไม่ส่งผลกระทบอันใด และจางหายไปในที่สุด ไม่ผลักดัน ไม่ส่งแรงกระเพื่อม รับมงก็จบกัน เป็นแค่เวทีพ่วงโฆษณาขายสินค้า คนมงรอบลึก ๆ มีโอกาสเป็นพรีเซ็นเตอร์สินค้าต่าง ๆ หรือไปออกงานนั่นนี่ เกย์ไพร์ดบ้าง แค่นี้จบ แล้วรอการประกวดรอบใหม่ซีซั่นหน้า เท่านี้จริงดิ!?