เครือข่ายประมงพื้นบ้าน 22 จังหวัด ยื่นจม.เปิดผนึกต่อส.ว.ขอให้ทบทวนการแก้ไขพ.ร.ก.ประมงฯ ห่วงเปิดช่อง ใช้อวนตาถี่ล้อมจับตอนกลางคืน กระทบระบบนิเวศทางทะเล เสี่ยงปลาขนาดเล็กสูญพันธุ์ เสนอ 5 ข้อยกเลิกใช้อวนตาถี่ 2.5 เซนติเมตร ยกเลิกการแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มาตรา 10/1, 11, 11/1 ผ่อนคลายมาตรการคุ้มครองแรงงานเด็ก

ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. … ถูกบรรจุเข้าในระเบียบวาระการประชุมวุฒิสภาแล้วเรียบร้อยแล้ว โดยสมาชิกวุฒิสภาพิจารณาร่างดังกล่าวในวันจันทร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2568 ซึ่งที่ผ่านมาสภาผู้แทนราษฎรมีมติแก้ไขมาตรา 69 ซึ่งอนุญาตให้ใช้ “อวนตาถี่ 2.5 เซนติเมตร” และนำมาใช้จับปลาในเวลากลางคืนได้ส่งผลให้เสี่ยงต่อปลาขนาดเล็กจะสูญพันธ์กระทบต่อระบบนิเวศน์ประมง
ด้วยข้อห่วงกังวลด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเลของประเทศไทย ตลอดจนวิถีชีวิตชาวประมงและชุมชนชายฝั่ง ที่จะได้รับผลกระทบที่สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ประมงดังกล่าว
เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 13 มกราคม 2568 ที่รัฐสภา สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย 22 จังหวัด สมาคมภาคประชาสังคมด้านสิทธิมนุษยชน สมาคมนักตกปลา นักดำน้ำ รวมถึงเครือข่ายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน และสิ่งแวดล้อม ในประเทศไทยกว่า 500 คน เข้ายื่นจดหมายเปิดต่อสมาชิกวุฒิสภา เพื่อเรียกร้องให้พิจารณาทบทวน และยกเลิกการแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ซึ่งสาระสำคัญจะทำให้เกิดการประมงอวนตาถี่ด้วยวิธีล้อมจับในเวลากลางคืนได้ และกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล
นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวว่า พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 ถูกตราขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมาย ปัญหาการจับสัตว์น้ำเกินกำลังการผลิตของทะเล รวมทั้งการค้ามนุษย์ และการละเมิดสิทธิแรงงานในอุตสาหกรรมการประมงของประเทศไทย ทำให้ประมงไทย และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง สามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกและให้การรับรอง แต่ปรากฎว่าสภาผู้แทนราษฎร กลับแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ ผ่านการออกร่างพ.ร.บ.แก้ไขพ.ร.ก.กำหนดการประมงฯ ด้วยคะแนนเสียงที่ไม่เป็นเอกฉันท์ ซึ่งกรณีดังกล่าว ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะทำให้ภาคการประมงทางทะเลของประเทศไทย กลับสู่การประมงที่ปราศจากความรับผิดชอบเช่นในอดีต รวมทั้งเกิดผลกระทบในเชิงลบต่อระบบนิเวศทะเล และความยั่งยืน รวมถึงการรักษามาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนในอุตสาหกรรมการประมงของประเทศ
นายวิโชคศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าว มีการแก้ไขสาระสำคัญในหลายประเด็น เช่น การยกเลิกบทบัญญัติว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในอุตสาหกรรมการประมงทั้งหมด การอนุญาตให้อวนล้อมที่มีขนาดตาอวนต่ำกว่า 2.5 เซนติเมตร สามารถทำการประมงในเวลากลางคืน ซึ่งเป็นเครื่องมือประมงที่ถูกห้ามใช้มากว่า 40 ปี เนื่องจากส่งผลให้เกิดการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนในปริมาณมาก อันอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสมดุลของห่วงโซ่นิเวศ การปรับเปลี่ยนบทบัญญัติที่กำหนดให้ศาลสั่งริบเรือ และเครื่องมือประมงในกรณีฝ่าฝืนกฎหมายอย่างร้ายแรง เปลี่ยนเป็นการให้ศาลมีดุลยพินิจในการสั่งริบเรือ และเครื่องมือได้หรือไม่ก็ได้ รวมทั้งการลดโทษปรับลงเหลือเพียงร้อยละ 10 ของอัตราโทษเดิม
“ยืนยันว่าการออกมาร่วมกันคัดค้านแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้เป็นประเด็นเรื่องการเมือง แต่เป็นเรื่องความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ และความยั่งยืนทางอาหาร พวกเราจึงมาเรียกร้องต่อ ส.ว. ถือเป็นที่พึ่งสุดท้าย กรุณานำมาตรา 69 กลับมาพิจารณาใหม่ เนื่องจากเป็นกฎหมายที่สร้างผลกระทบให้กับประชาชน และผู้บริโภค ซึ่งไม่มีประเทศใดในโลกนี้อนุญาตให้อวนที่ตาถี่ขนาดนี้ทำการประมง เพราะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสัตว์น้ำ ถือเป็นมาตรฐานตามหลักสากลที่ทุกประเทศตระหนักและยึดถือกันมาตลอด มีแต่ประเทศไทยประเทศเดียวที่มีการแก้ไขกฎหมายเพื่ออนุญาตเหมือนกับกำลังถอยหลังกลับไปในยุคหลายสิบปีก่อน” นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ระบุ

ค้านแก้มาตรา 69 หวั่น ปลาทู -ปลาหมึก เสี่ยงหมดทะเลมากที่สุด
ด้านนายจิรศักดิ์ มีฤทธิ์ ประมงพื้นบ้านอ่าวคั่นกระได จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า การแก้ไขมาตรา 69 นับเป็นข้อกังวลของชาวประมงแทบทั่วประเทศ เพราะที่ผ่านมาประมงพื้นบ้านมีความพยายามในการอนุรักษ์ และฟื้นฟู ด้วยการใช้เครื่องมือจับสัตว์น้ำที่ถูกกฎหมาย ไม่ทําลายระบบนิเวศ แต่รัฐกลับจะอนุญาตให้เครื่องมือที่ทำลายล้างสูงอย่างอวนมุ้ง มาทำการประมง ซึ่งส่งผลต่อการขยายพันธุ์สัตว์น้ำ โดยเฉพาะสัตว์น้ำขนาดเล็กที่จะถูกจับไปทั้งหมด ทั้งนี้การทำประมงในจ.ประจวบฯ มีฤดูกาลเปิดอ่าว และปิดอ่าว ในช่วงปิดอ่าว ชาวประมงพื้นบ้านต่างร่วมมือร่วมใจไม่จับสัตว์น้ำในช่วงนี้ เพราะต้องการให้เกิดการขยายพันธุ์ แต่เมื่อมีการแก้ไขกฎหมายแบบนี้ สิ่งที่ชาวบ้านทำจะไม่มีความหมาย
“ในส่วนของอ่าวประจวบหากร่างแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ถูกใช้บังคับวันใด วันนั้นก็อาจจะถึงจุดจบของสัตว์น้ำหลายประเภท โดยเฉพาะลูกปลาทู และลูกปลาหมึก สองสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงหายไปจากอ่าวประจวบ เพราะสัญชาตญาณของลูกปลา เมื่อเห็นแสงไฟก็จะเข้ามาว่ายเล่นทําให้ถูกล้อมจับไป ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อมีการแก้ไขอนุญาตอวนล้อมปั่นไฟปลากะตัก ที่มีตาอวนขนาดเล็กเพียง 6 มิลลิเมตรเท่านั้น นั่นหมายความว่า เรือจับปลากะตักสามารถใช้แสงไฟล่อลูกปลา แล้วใช้อวนตาถี่ตักปลาไปได้ทั้งหมดทุกชนิด จะไม่มีอะไรเหลือรอดในทะเลเลย คำถามจึงเกิดขึ้นว่าการที่ชาวบ้านหยุดจับสัตว์น้ำในช่วงฤดูปิดอ่าวนาน 3-5 เดือน เราทําไปเพื่อให้ประมงพาณิชย์ได้กอบโกยหรือ” นายจิรศักดิ์ กล่าว
นายจิรศักดิ์ กล่าวว่า รัฐควรที่จะส่งเสริมเครื่องมือที่จับสัตว์น้ำโตเต็มวัย ไม่ใช่มาส่งเสริมให้จับสัตว์น้ำขนาดเล็กแบบนี้ หรือไปส่งเสริมให้จับปลากะตักในเวลากลางวันอย่างที่เคยทำกันมา ไม่ควรใช้ไฟล่อในเวลากลางคืนเพราะเกิดความเสี่ยงกับสัตว์น้ำขนาดเล็ก การกระทำเช่นนี้ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่าเป็นไปตามกระแสข่าวหรือไม่ว่าแก้ไขมาตรา 69 มาจากแรงกดดันจากประมงพาณิชย์ ที่เป็นหัวคะแนนให้กับนักการเมืองหรือไม่ ซึ่งความเสียหายที่จะเกิดขึ้นไม่ได้เกิดเฉพาะแค่ชาวประมงพื้นบ้านเท่านั้น แต่สุดท้ายก็จะกระทบต่อไปยังผู้บริโภค ที่ในอนาคตจะต้องเผชิญกับราคาปลาที่สูงขึ้น เพราะจำนวนทรัพยากรในทะเลลดลง

ด้านนายพล ศรีรัฐ ประธานองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น จ.พังงา เห็นว่า การแก้ไขมาตรา 69 เป็นการทำลายพันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจอย่างรุนแรง โดยในพื้นที่จ.พังงา มีเรือประมงพื้นบ้านประมาณ 3-4 พันลำ ที่ผ่านมาทรัพยากรในน้ำเริ่มลดจำนวนลง ประมงพื้นบ้านได้ช่วยกันอนุรักษ์ฟื้นฟู อีกทั้งเครื่องมือจับสัตว์น้ำ ทั้ง ปลา ปลาหมึก และกุ้ง ของประมงพื้นบ้านจะมีเครื่องมือเฉพาะแยกแต่ละชนิด จับเฉพาะปลาที่โตเต็มวัยเพื่อรักษาความยั่งยืนของทรัพยากรในทะเล แต่ประมงพาณิชย์ใช้เครื่องมือชนิดเดียว ตาอวนถี่ และใช้ไฟล่อลูกปลาในเวลากลางคืน ถือเป็นการทําลายพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อน ในพื้นที่จ.พังงา ปลาที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ปลาสีเสียด และปลากะพง
“อาชีพพี่น้องประมงพื้นบ้านกําลังจะหมดไปแล้ว ต่อไปคือตายแน่นอน ปัญหาคือการแก้ไขกฎหมายนี้เพื่อคนเฉพาะกลุ่ม ซึ่งมีกลุ่มทุนอยู่ข้างหลังหรือไม่ ทั้งที่กลุ่มนี้มีเรืออยู่เพียง 170 กว่าลำ และอยู่กันมาได้ 40-50 ปีแล้ว วันนี้เราจึงต่อมาต่อสู้ เพื่อปกป้องระบบนิเวศ สัตว์น้ำทุกชนิดต้องพึ่งพากันทั้งห่วงโซ่ เมื่อประมงพาณิชย์มากวาดสัตว์น้ำไปทั้งหมด จะมาไม่ได้มีแต่ปลาเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบเท่านั้น แต่จะกระทบต่อไปยังปลาขนาดใหญ่ อย่างปลาวาฬบูรด้าด้วย จึงขอวิงวอนต่อวุฒิสภาทบทวนการแก้ไขกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้เพื่อความยั่งยืนของระบบนิเวศในท้องทะเล และรักษาผลประโยชน์ให้กับประชาชนด้วย” ประธานองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น จ.พังงา ระบุ
เสนอ5 ข้อ “ห้ามใช้อวนล้อม 2.5 ซม.”
สำหรับข้อเสนอนั้น ประกอบด้วย 1. ยกเลิกการแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มาตรา 69 ให้กลับไปใช้บทบัญญัติที่ตราไว้เดิมความว่า “ห้ามใช้เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตร ทำการประมงในเวลากลางคืน” 2. ยกเลิกการแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มาตรา 10/1, 11, 11/1 ซึ่งเป็นการผ่อนคลายมาตรการคุ้มครองแรงงานเด็ก และแรงงานข้ามชาติในสถานประกอบการแปรรูปอาหารทะเล 3. ยกเลิกการแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มาตรา มาตรา 85/1 ซึ่งคือการกลับมาอนุญาตให้ขนถ่ายสัตว์น้ำกลางทะเลระหว่างเรือประมง และ4. เสนอผู้แทนจากประมงพื้นบ้าน ผู้แทนองค์กรด้านแรงงาน ผู้แทนด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ แก้ไข พ.ร.ก.การประมงฯ จำนวน 3 คน และ5. ขอให้กมธ.วิสามัญที่จะตั้งขึ้นพิจารณาแต่งตั้งที่ปรึกษาจากนักวิชาการด้านการประมง ด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล และด้านแรงงานเป็นที่ปรึกษากมธ.วิสามัญฯ

ภายหลังการยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อสมาชิกวุฒิสภา เครือข่ายชาวประมง ยังกิจกรรม เชิงสัญลักษณ์ “ใครกันนะขโมยปลาปิ้ง?” โดยการปิ้งปลาล็อตสุดท้ายที่กำลังจะหายไปจากทะเลไทย พร้อมกับการมาของอวนยักษ์ที่จะมาขโมยปลาไปจากทะเลไทย และร่วมกันรับประทานปลาปิ้งกับชาวประมงพื้นบ้าน พร้อมเวทีปราศรัย “อนาคตของทะเลไทยจะแย่แค่ไหนหากกฎหมายประมงใหม่ผ่านสภา” โดยตัวแทนชาวประมงไทย
จากนั้นเวลา13.00 น เครือข่ายประมง “ร่วมกันตามหาปลาที่หายไป” ได้เดินทางไปที่ทำการพรรคเพื่อไทย เพื่อยื่นหนังสือ ก่อนที่ในเวลา16.00 น. จัดกิจกรรม : ร่วมกันตามหาปลาที่กำลังจะหายไป ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีกิจกรรมที่น่าสนใจอย่าง “ร่วมกันหยุดอวนมุ้งยักษ์ที่กำลังจะทำให้ปลาหายไปจากทะเลไทย” โดยกลุ่มศิลปินคอมมูนิตี้อาร์ต (ศิลปะเพื่อชุมชน) กิจกรรมล่ารายชื่อปกป้องลูกปลากับกลุ่มนักดำน้ำไทย ร่วมชิมปลาปิ้งจากทะเลไทยล็อตสุดท้ายที่กำลังจะหายไปจากทะเลไทย ร่วมรับฟังข้อเท็จจริงที่กำลังจะเกิดขึ้นกับลูกปลาทะเลไทยหากกฎหมายฉบับใหม่ผ่าน และฟังเรื่องเล่า “โลกใต้น้ำจะเปลี่ยนไปหากกฎหมายผ่านสภา” โดย กลุ่มนักดำน้ำ “ไทยเราจะมีปลาให้ตกอีกหรือไม่หากกฎหมายประมงใหม่ผ่านสภา” โดยกลุ่มนักตกปลาแห่งประเทศไทย และ “ประมงไทยจะเปลี่ยนไปแต่ไหนหากกฎหมายประมงใหม่ผ่านสภา” โดยตัวแทนชาวประมง