ThaiPublica > คอลัมน์ > ปลาทูที่ผมรู้จัก (ตอนที่2)

ปลาทูที่ผมรู้จัก (ตอนที่2)

3 มกราคม 2021


วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์

ปลาทู

ในฐานะที่เป็นคนริมทะเลที่มหาชัย เกิดในครอบครัวที่ทำการประมง มีเตี่ยเป็น “ไต้ก๋งโป๊ะ” ทั้งที่อ่าว “แม่กลอง” และ “มหาชัย” ในยุค 2490 – 2510 ตัวผมจึงมีโอกาสได้ออกทะเลไปเที่ยว “โป๊ะ” ปีน “ราวโป๊ะ” ดูเขาจับปลาตามประสาเด็กอยู่บ่อยครั้ง วันนี้ จึงขออาสาเขียนเรื่อง “ปลาทูที่ผมรู้จัก” ฝากไว้เป็นบันทึกเรื่องราวของปลาทูในอีกมุมหนึ่ง ครับ

ต่อจากตอนที่1

4.เครื่องมือจับปลาทู

ต้องเข้าใจว่า “ปลาทู” จัดอยู่ในประเภท “ปลาผิวน้ำ (Pelagic specie)” ที่มีลักษณะการรวมฝูง อาศัยอยู่ในทะเลตั้งแต่ระดับผิวน้ำลงไปถึงกลางน้ำ เช่นเดียวกับปลาในวงศ์ปลาอินทรี (Scombridae) อื่น ๆ เช่น ปลาอินทรี ปลาโอ เป็นต้น แต่ “ปลาทู” เป็นสัตว์น้ำที่มีถิ่นฐานในเขตน้ำตื้น (ลึกไม่เกิน 100 เมตร) บริเวณใกล้ชายฝั่ง วางไข่ตลอดทั้งปี

ดังนั้น เครื่องมือประมงบางประเภทที่ใช้จับ “ปลาทู” จึงจัดอยู่ในกลุ่มเครื่องมือเฉพาะประเภทสัตว์น้ำ (Selective fishing gears) เช่น “อวนดำ” หรือ “อวนติดตา” แต่ก็มิได้หมายความว่า “เครื่องมือ” นั้น จะไม่สามารถจับสัตว์น้ำชนิดอื่นได้ ถ้านำ “อวนดำ” หรือ “อวนติดตา” ไปวางในพื้นที่ที่มีฝูง “ปลาทู ปลาที่จับได้ส่วนใหญ่ก็จะเป็น “ปลาทู” แต่ก็จะมีสัตว์น้ำอื่น ๆ ที่อยู่ในบริเวณนั้นติดอวนมาด้วย

ในทางกลับกัน หากนำไปวางในพื้นที่ที่มิใช่มีแต่เฉพาะฝูง “ปลาทู” ปลาที่ติดอวนมาก็จะเป็นปลาชนิดอื่นเป็นส่วนใหญ่ และมีปลาทูเพียงส่วนน้อย สำหรับเครื่องมือประมงอื่น ที่มิใช่เครื่องมือที่ใช้จับสัตว์น้ำเฉพาะประเภท เช่น “โป๊ะ” อวนลาก” “อวนรุน” “โพงพาง” ฯลฯ ก็จะจับสัตว์น้ำได้หลากลายประเภท เช่น กุ้ง ปู ปลาต่าง ๆ ฯลฯ

เครื่องมือประมงที่สำคัญของไทยซึ่งนำมาใช้จับ “ปลาทู” ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ได้แก่

(1)”โป๊ะ” เป็นเครื่องมือจับปลาแบบประจำที่ติดตั้งในทะเลบริเวณปากแม่น้ำ (ห่างฝั่งตั้งแต่ 1-10 กิโลเมตร บริเวณน้ำลึกระหว่าง 5-10 เมตร) ประกอบด้วยพื้นที่ 2 ส่วน คือ

ส่วนแรกเป็น “ตัวโป๊ะ” ทำด้วยเสาไม้เนื้อแข็ง (ต่อมาเมื่อเสาไม้มีราคาแพง จึงเปลี่ยนเป็นเสาไม้ค้อ (ปาล์มต้นเดี่ยว เนื้อไม้แกร่ง) สำหรับ “โป๊ะ”ที่อยู่ในเขตน้ำตื้น จะใช้ “ไม้ไผ่” ที่มัดติดกันปักแทน) นำมาปักเรียงกันเป็นรูปวงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางของวงประมาณ 50-60 เมตร ยึดโยงติดกันด้วย “ราวโป๊ะ” ที่ทำด้วยไม้รวกมัดรวมกันให้แน่น เพื่อไม่ให้สั่นคลอนเสียหายเวลาที่ถูกพัดพาด้วยกระแสน้ำและกระแสลม แล้วกรุล้อมด้านในของเสาด้วยเฝือก (ไม้ไผ่ผ่าซีกแล้วถักให้ติดกันเป็นผืน) ให้แน่นหนาเพื่อป้องกันมิให้ปลาใหญ่ลอดออกได้ (เฉพาะ “โป๊ะเฝือก”เท่านั้น ถ้าเป็น “โป๊ะยก” จะไม่มีเฝือก) โดยในบริเวณปากโป๊ะจะทำเป็น “ห้องลวง” ปลา ที่ปลาสามารถ “เข้าได้ แต่ออกไม่ได้”

ส่วนที่สอง บริเวณตรงกลางห้องลวงจะทำการปัก “ไม้รวก” เป็นแถว เพื่อเป็น “ปีกโป๊ะ” โดยค่อย ๆ ขยายปีกให้แผ่กว้างออกไปทางปากแม่น้ำ เพื่อรอดักปลาที่ว่ายมาตาม กระแสน้ำในเวลา “น้ำลง” “ปีกโป๊ะ” จะมีจำนวนทั้งหมด 4-6 ปีก ซึ่งปีกกลาง และปีกใหญ่จะเป็นปีกที่ยาวที่สุด บางโป๊ะอาจมีความยาวมากกว่า 500-1000 เมตร นอกจากนี้ ยังมีการปลูก “กระต๊อบ” เพื่อเป็นที่พักของคน “เฝ้าโป๊ะ” ไว้ด้วย ซึ่งการทำ “โป๊ะเฝือก” ในพื้นที่อ่าวไทยตอนในจะทำตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ส่วน “โป๊ะยก” ในบางพื้นที่อาจทำได้ตลอดทั้งปี

“โป๊ะเฝือก” และ “โป๊ะยก” นอกจากจะแตกต่างกันในเรื่อง (1) การกั้นคอกด้วย “เฝือก” ตามที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีความแตกต่างกันในเรื่อง (2) ขนาด โดย “โป๊ะเฝือก” จะมีขนาดใหญ่กว่า และ (3) วิธีการจับปลา โดย “โป๊ะเฝือก” เมื่อถึงเวลาจับปลาจะต้องนำ “เรือโป๊ะ” เข้าไปในตัวโป๊ะ โดยเริ่มขึงอวนไว้ที่ด้านในของปากโป๊ะข้างหนึ่ง แล้ว “รุกอวน” ด้วยการขยับเรือไปเรื่อย ๆ จนกว่าอวนจะวนกลับมาบรรจบกันเป็นวงกลม แล้วจึงดึงสายมานเพื่อปิดก้นถุงอวนเพื่อไม่ให้ปลาลอดออกไปได้ หลังจากนั้นจึงดึงอวนตีวงให้แคบลงเรื่อย ๆ เพื่อจะได้ใช้ “เฮีย (สวิง)” ตักปลาขึ้นเรือ

แต่สำหรับ “โป๊ะยก” จะมีการกางอวนทิ้งไว้ในน้ำภายในโป๊ะตลอด โดยปล่อยให้อวนด้านที่อยู่บริเวณปากโป๊ะต่ำลงถึงติดหรือใกล้กับพื้นทะเลเพื่อให้ปลาว่ายเข้ามาในอวน ส่วนด้านอื่น ๆ โดยรอบจะยกให้สูงพ้นน้ำอย่างน้อย 1 เมตร เพื่อไม่ให้ปลาออกไปได้ เวลาที่จะจับปลาก็จะดึงอวนบริเวณปากโป๊ะเพื่อ “ยกอวน” ขึ้นมาก่อน แล้วขยับเรือไปในทิศทางที่อวนส่วนที่เหลือขึงอยู่ เพื่อตีวงให้อวนแคบลงเรื่อย ๆ เพื่อจะได้ใช้ “เฮีย (สวิง)” ตักปลาขึ้นเรือเช่นเดียวกัน เมื่อจับปลาแล้วจะกางอวนทิ้งไว้ตามเดิม จนกว่าจะกลับมาจับปลาในรอบใหม่ สำหรับขนาดอวนที่ใช้นั้น “โป๊ะเฝือก” จะมีอวน 2 ขนาด โดย “ไต้ก๋ง” จะพิจารณาเลือกใช้ “อวน” ตามขนาดของปลาที่เห็นอยู่ใน “โป๊ะ” เป็นเกณฑ์ ถ้าเห็นว่ามีปลา “ขนาดเล็ก” (ที่มิใช่ลูกปลา) เช่น “ปลาไส้ตัน” ก็จะใช้อวน “ตาถี่” เข้าจับปลา แต่หากเห็นว่ามีปลา “ขนาดใหญ่” อยู่ใน “โป๊ะ” “ไต้ก๋ง” ก็จะใช้อวน “ตาห่าง” เข้าจับปลาแทน ส่วน “โป๊ะยก” จะใช้อวนเพียงขนาดเดียวที่จับได้ทั้งปลาตัวเล็กและปลาตัวใหญ่

“เรือโยง” “เรือโป๊ะ” และ “ราวอวน” ที่พบเห็นได้ตามจังหวัดชายทะเลที่มีการทำโป๊ะ

การทำโป๊ะ ในสมัยก่อนจะใช้เรือ 2 ลำ ประกอบด้วย “เรือโยง” และ “เรือโป๊ะ” โดยเรือโยง จะทำหน้าที่ลากจูง “เรือโป๊ะ” ที่เป็นเรือประมงไปยัง “โป๊ะ” เพื่อจับปลา อันที่จริง “เรือโป๊ะ” ก็คือ “เรือฉลอม” ที่ใช้เป็นเรือทำการประมงและบรรทุกปลากลับเข้าฝั่งนั่นเอง ต่อมาภายหลัง เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายเจ้าของจึงติดเครื่องยนต์ในเรือโป๊ะและใช้งานเพียงลำเดียว ส่วนในฝั่ง “เจ้าของโป๊ะ” จะมีการจัดสร้าง “ราวอวน” ไว้บริเวณท่าน้ำ เพื่อใช้สำหรับนำอวนกลับมาตากแดด เพื่อยืดอายุการใช้งาน มิให้เปื่อยยุ่ยโดยเร็ว

การจับปลาด้วยโป๊ะจะทำในเวลาที่ “น้ำลงเต็มที่” ของทุกวัน เมื่อกระแสน้ำพัดพาปลาตามน้ำออกมาจากปากแม่น้ำเข้าอวนแล้ว ซึ่งในพื้นที่อ่าวไทยตอนในโดยปกติจะมีน้ำขึ้น-ลงวันละ 2 ครั้ง ยกเว้นวันที่น้ำตาย (ช่วงวันขึ้น 8 ค่ำ และวันแรม 8 ค่ำ) ชาวประมงก็จะออกเรือไปจับปลาเพียงครั้งเดียว ในช่วงที่เป็นฤดูกาลของปลาฝูง เช่น “ปลาทู” “ปลาหลังเขียว” และ “ปลาไส้ตัน” การจับปลาเพียงครั้งเดียว อาจได้ปลาจำนวนมาก จนต้องใช้เรือโป๊ะถึง 2-3 ลำ ในการบรรทุกปลาเพื่อกลับเข้าฝั่ง บางครั้งต้องกลับเข้าฝั่งขึ้นปลาแล้วกลับออกไปใหม่ เพราะบรรทุกไม่หมดก็มีครับ

“ผมจำได้ว่า มีหลายปีทีเดียว (ช่วงประมาณ พ.ศ. 2500-2505) ที่ “เรือโป๊ะ” เราจับปลาทูได้มาก ขายได้วันละหลายพันบาทติดต่อกัน จนมีการจ้าง “วงลิเก” มาฉลองกันที่ลานหน้าบ้านเลยทีเดียว”

สำหรับการเก็บรักษาความสดของปลา จะไม่ใช้อุปกรณ์หรือวัสดุใด ๆ เนื่องจาก “โป๊ะ” ทั้งหมด จะตั้งอยู่ไม่ไกลจากฝั่งมากนัก (แล่นเรือไม่เกิน 3 ชั่วโมง) เพียงการปิดฝาระวางเรือ และกางเต็นท์คลุมไว้ก็เพียงพอแล้ว ส่วนปลาที่จับได้ก็จะมีปลาหลากหลายชนิด ทั้ง “กลุ่มปลาผิวน้ำ” และ “กลุ่มปลาหน้าดิน” ไม่ใช่มีแต่เฉพาะ “ปลาทู” อย่างที่หลาย ๆ คนเข้าใจกันครับ

ปัจจุบัน การทำ “โป๊ะเฝือก” ไม่มีให้เห็นแล้ว ส่วน “โป๊ะยก” ในพื้นที่น้ำลึก (ห่างฝั่งมาก ๆ) ก็ไม่มีแล้วเช่นกัน รวมทั้งที่ “แม่กลอง” ด้วย จะเหลือเพียง “โป๊ะยก” น้ำตื้น ที่อยู่บริเวณใกล้ฝั่ง (ห่างฝั่งไม่เกิน 1 กิโลเมตร) ในพื้นที่อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรีเหลือเพียง 1-2 แห่งเท่านั้น ดังนั้น ที่ “คนขายปลาทู” ในตลาดต่าง ๆ ที่อ้างว่าปลาที่ขายนั้น เป็น “ปลาทูโป๊ะแม่กลอง” นั้น คง “ไม่ใช่” เพราะวันนี้ ทั้ง “การทำโป๊ะ” และ “ปลาทูโป๊ะ” ได้กลายเป็นตำนานไปแล้วครับ

ชีวิต “ลูกเรือโป๊ะ” ยามกลับเข้าฝั่ง ต้องนั่งปะอวน เพื่อเตรียมออกไปจับปลารอบใหม่

การที่ชาวประมงเลิก “ทำโป๊ะ” กันไป ก็มาจากสาเหตุหลายประการ ตั้งแต่ข้อจำกัดของ “โป๊ะ” ที่เป็น “เครื่องมือประจำที่” เคลื่อนย้ายไม่ได้ การถูกรุกล้ำโดย “เครื่องมือเคลื่อนที่” ทั้งหลายที่เคลื่อนมาดักจับปลาใกล้ ๆ “โป๊ะ” เช่น อวนลาก อวนล้อม อวนลอย อวนติด ฯลฯ จึงทำให้แทบจะไม่มีปลาเหลือหลุดรอดเข้ามาในโป๊ะ

เมื่อประกอบกับค่าเงินลงทุนที่สูงขึ้น (เสา-ไม้ มีราคาแพงขึ้น) และใช้ได้เพียงปีเดียวก็ต้องลงทุนใหม่ แม้จะโชคดีที่ “หอยแมลงภู่” มีราคาแพงขึ้น แต่ก็ไม่ทำให้การทำโป๊ะนั้นคุ้มค่ากับการลงทุน ยิ่งเมื่อเจอกับปัญหาแรงงานที่หายาก และกฎหมายต่าง ๆ ที่ไม่เป็นธรรม (และมีบทลงโทษที่รุนแรง) การทำโป๊ะจึงค่อย ๆ หายไปทีละอ่าว จนไม่เหลือให้ได้เห็นเช่นในอดีตแล้ว (ครอบครัวเราเลิกทำ “โป๊ะ” ไปประมาณปี พ.ศ. 2510)

สิ่งที่น่าเสียดายสำหรับผม คือ “องค์ความรู้และภูมิปัญญาเกี่ยวกับการทำโป๊ะ” ก็สูญหายไปพร้อมกับโป๊ะด้วย จำได้ว่าสมัยเด็ก ๆ ผมและพี่น้อง 2-3 คนโตได้เรียนรู้และช่วยเหลือครอบครัวในการทำงานในช่วงวันหยุดหรือปิดเทอม โดยไปกับเรือบ้าง ได้หัดถือท้ายเรือยนต์ ดูแลรักษาเครื่องยนต์ หัดผูกเชือกด้วยเงื่อนต่าง ๆ ฝึกหัดการเย็บเฝือก การซ่อมปะอวน การย้อมอวน (ที่ทอจากเส้นด้าย) ด้วย “เปลือกไม้ตะบูน” ออกมาเป็น “สีเซี้ยบ” เพื่อยืดอายุเส้นด้าย (ทำให้เรา และลูกเรือได้อานิสงส์ในการย้อมเสื้อ/กางเกงผ้าดิบเป็น “สีน้ำตาลอมแดง” ไปด้วยโดยไม่เสียสตางค์) การโคนโป๊ะ (เป็นการเอาฤกษ์เอาชัยในการปักเสาต้นแรกในฤดูกาลนั้น) การดูน้ำ ดูปลาเข้าโป๊ะ การรอเวลา ฯลฯ

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ในองค์ความรู้ และภูมิปัญญาของชาวบ้านที่หายไปกับการล่มสลายของ “โป๊ะ” อย่างน่าเสียดายครับ

(2) อวนตังเก เป็นเครื่องมือประมงแบบเคลื่อนที่ประเภท “อวนล้อมจับ” เริ่มนำเข้ามาใช้จับปลาในประเทศไทย ในช่วงปี พ.ศ. 2470-2480 โดยชาวประมงจีน และญี่ปุ่น หลังจากนั้นก็เป็นที่นิยมและนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในหมู่ชาวประมงไทย โดยเรียนรู้ทั้งจากชาวประมงจีนและญี่ปุ่น เนื่องจาก ในปี พ.ศ. 2482 ประเทศไทยได้ออกพระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิการประมงในน่านน้ำไทย เพื่อรักษาสิทธิในการจับปลาไว้ให้กับคนไทย (และต่อมาได้ออกพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 เพื่อเก็บค่าธรรมเนียมในการใช้ทรัพยากรและบำรุงรักษาพันธุ์สัตว์น้ำ รวมทั้งออกพระราชบัญญัติจัดระเบียบกิจการแพปลา พ.ศ. 2496 เพื่อจัดตั้งองค์การสะพานปลาอีกด้วย) ซึ่งโดยกฎหมายนี้ ทำให้ชาวประมงจีนและญี่ปุ่นไม่สามารถทำการประมงด้วยเครื่องมือ “อวนตังเก” ต่อไปได้ หากชาวประมงต่างชาติเหล่านั้นต้องการจะทำประมงในน่านน้ำไทยต่อไป ต้องเปิดโอกาสให้คนไทยถือหุ้นในกิจการไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ต้องใช้เรือที่จดทะเบียนเป็นเรือไทย และต้องมีลูกเรือเป็นคนไทยทั้งหมด ยกเว้นคนต่างด้าวที่เป็นครูผู้สอนที่มีได้ไม่เกินร้อยละ 25 เท่านั้น จึงมีเจ้าของเรือบางส่วนขายเรือหรือเข้าเป็นหุ้นส่วนกับคนไทยเพื่อใช้สิทธิตามกฎหมายดังกล่าว และจำเป็นต้องถ่ายทอดองค์ความรู้ในการจับปลาด้วย “อวนตังเก” ให้กับคนไทยตั้งแต่นั้นมา

“เรือตังเก” สมัยแล่นใบ

ในสมัยก่อน “เรือตังเก” ยังเป็นเรือสำเภาที่ใช้ใบอยู่ เนื่องจากเครื่องยนต์ยังมีราคาแพงและไม่สะดวกในการใช้ การออกทำประมงจะมี “เรือโล้” จำนวน 2 ลำ ลากอวนออกไป “ล้อมฝูงปลา” โดยไต้ก๋งจะเป็นผู้มองหา “ฝูงปลาทู” โดยปีนขึ้นไป “บนห้าง” ที่อยู่บน “เสากระโดงเรือ” หรือ “เสาใบ” เพื่อจะมองหาปลาได้ในระยะไกล และจะหยุดเรือเพื่อสังเกตทิศทางการว่ายน้ำของปลาทูที่แน่นอน รวมทั้งกระแสน้ำและกระแสลมว่าไหลหรือพัดไปทางไหน ก่อนที่จะตัดสินใจปล่อย “เรือโล้” ทั้ง 2 ลำ ลงน้ำ และโล้เรือด้วยแรงคน ลาก “อวนตังเก” แยกกันออกไปในทิศทางตรงข้ามกัน เพื่อไปล้อมอวนไปดักหน้าและกั้นทิศทางการว่ายของปลา เมื่อเรือลากอวนทั้งสองด้านมาบรรจบกันเป็นรูปวงกลม จึงนำปลายอวนร้อยเข้ากับรอก และชัก “สายมาน” ปิดก้นถุงด้านล่างของอวนเพื่อไม่ให้ปลาทูหนีหลุดรอดออกไปได้ จากนั้นจึงสาวอวนบางส่วนขึ้นเรือใหญ่เพื่อตีวงให้แคบลง และยกอวนขึ้นเรือ ถ้ามีปลาจำนวนมากอยู่ในอวน ก็จะใช้ “สวิง (เฮีย)” ทยอยตักปลาขึ้นเรือ ก่อนที่จะกู้อวนทั้งหมดขึ้นมาบนเรือ ถ้าได้ “ปลาทู” ไม่มากนัก “ไต้ก๋ง” ก็จะยังคงมองหาฝูงปลาทูต่อไป โดยไม่กลับเข้าฝั่ง ในสมัยนั้น ไม่มีห้องเย็นสำหรับเก็บปลาสด หรือน้ำแข็งสำหรับเก็บรักษาปลา จึงใช้เกลือในการ “ดองเค็ม” เพื่อเก็บรักษาปลาทูไม่ให้เน่าเสียแทน

“อวนตังเก” มีลักษณะเป็นผืนอวนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยาวประมาณ 220-250 เมตร อวนลึก (กว้าง) 10-50 เมตร มีทั้งตาถี่ และตาห่าง ถือว่าเป็นเครื่องมือประมงในเชิงพาณิชย์เครื่องมือแรกที่นำมาใช้จับสัตว์น้ำในน่านน้ำไทย เพราะสามารถจับปลาได้ครั้งละจำนวนมาก โดยเฉพาะ “ปลาทู” ต่อมาเมื่อมีการนำเครื่องยนต์ดีเซลมาใช้กับเรือประมงมากขึ้น “เรือตังเก” ที่ใช้ใบก็เลือนหายไป โดยรูปร่างของเรือส่วนใหญ่คล้ายกับเรือประมงพาณิชย์ทั่วไปในปัจจุบัน ความแตกต่างที่โดดเด่น คือ ด้านบนของเก๋งเรือ จะมี “กระโจมดูปลา” ตั้งอยู่ เพื่อให้ “ไต้ก๋ง” ได้ปีนขึ้นไปดูปลา และยังใช้ “เรือโล้” จำนวน 2 ลำ เพื่อลากอวนออกไป “ล้อมฝูงปลา” เช่นเดิม

เครื่องยนต์ดีเซลสมัยแรก ๆ ที่นำมาใช้ในเรือประมง เป็นแบบ “เครื่องเผาหัว (Semi-Diesel)” ที่ใช้กำลังอัดอากาศต่ำ ผมจำได้ว่าด้านบนของเครื่องยนต์จะมี “หัวกะโหลก (Hot Bulb)” ที่เวลาจะติดเครื่องต้องใช้ “เตาฟู่” เผาให้ร้อนก่อน จึงจะติดเครื่องได้ ซึ่งต่อมาเมื่อ “เครื่องยนต์ดีเซลแบบหมุนเร็ว (High Speed Diesel)” มีราคาถูกลง เรือประมงจึงเปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์แบบนี้กันหมดจนถึงปัจจุบัน

การทำประมงด้วย “อวนตังเก” จะทำกันในเวลากลางคืน โดยเฉพาะในคืนข้างแรม (ช่วงแรม 3 ค่ำ – ขึ้น 12 ค่ำ) เนื่องจากสามารถมองเห็นฝูงปลาได้ชัดเจน โดย “ไต้ก๋ง” จะขึ้นไป “บนห้าง” หรือ “รังกา” ที่ตั้งอยู่บนหลังคาเก๋งเรือ เพื่อสังเกตดู “ฝูงปลาทู” จากการพลิ้วไหวของผิวน้ำ ก่อนที่จะตัดสินใจ “ปล่อยเรือโล้” เพื่อจับปลาทู ส่วนในคืนข้างขึ้น “เรือตังเก” จะหยุดทำการประมง เพราะยากที่ “ไต้ก๋ง” จะมองเห็นการพลิ้วไหวของผิวน้ำจากฝูงปลาทูได้ ลูกเรือก็จะได้พักผ่อน และก็จะได้รับค่าจ้าง ค่าตอบแทนในช่วงนั้นด้วย และเป็นที่มาของคำว่า “หยุดหงาย” ของชาวเรือตังเก

ภาพวาด “เรือตังเก” วาดโดยพันโท ปรีชา มาลากรอง นายทหารที่รักชีวิต “ชาวเรือ” มากกว่าบนฝั่ง
ภาพ “เรือตังเก” ที่ดัดแปลงมาเป็น “เรืออวยดำ” รุ่นแรกๆ เมื่อประมาณ พ.ศ. 2520
ถ่ายโดยพันโท ปรีชา มาลากรอง

“เรือตังเก” ที่ใช้แรงคน แรงลม และภูมิปัญญาในการออกหาปลา ในอดีต แม้ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนจากการใช้ใบมาสู่เครื่องยนต์เผาหัว และเครื่องยนต์ดีเซลหมุนเร็ว รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงเครื่องมือและวิธีการจับปลา โดยเลิกใช้ “เรือโล้” มาเป็นเรือลำเดียว ตามพลวัตรก็ตาม แต่เมื่อต้องแข่งขันกับเครื่องมือ “อวนลาก” ที่นิยมใช้กันมากหลังจากปี พ.ศ. 2503 ทำให้ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งเปลี่ยนแปลงเครื่องมือไปใช้เครื่องมือ “อวนลาก” แทน โดยอีกส่วนหนึ่งมีการปรับเปลี่ยนไปใช้อวนไนล่อน “สีดำ” ที่เป็นพัฒนาการใหม่ในการ “ล้อมปลา” คล้าย “อวนตังเก” แทน สุดท้าย “เรือตังเก” ที่ใช้ “อวนตังเก” ก็ค่อย ๆ เลือนหายจนหมดไปจากสารบบเครื่องมือประมงในประเทศไทย ตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2515-2520 (กลายเป็น “เรืออวนดำ”) อย่างไรก็ตาม คำว่า “ตังเก” ก็ยังถูกใช้เรียกเรือประมงลำโต ๆ ว่า “เรือตังเก” มาจนถึงทุกวันนี้ แม้ว่าแท้ที่จริงแล้วจะ “ไม่ใช่ “เรือตังเก” อย่าที่เคยเป็นแล้วก็ตาม

(3)อวนฉลอมหรืออวนดำ เป็นเครื่องมือประมงพาณิชย์แบบเคลื่อนที่ประเภท “อวนล้อมจับ” ที่พัฒนาต่อยอดมาจาก “อวนตังเก” โดยใช้เนื้ออวนคนละประเภท และใช้เรือเพียงลำเดียวในการลากอวนแล่นล้อม “ปลาทู” ที่เป็นสัตว์น้ำเป้าหมาย อวนชนิดนี้สามารถใช้ได้ที่ความลึก 6-30 เมตร โดยในปัจจุบัน มีการขยายความยาวอวนไปเป็น 400-800 เมตร ความลึกอวน 40-80 เมตร ขนาดตาอวน 38 มิลลิเมตร (1.5 นิ้ว)

วิธีการทำประมง ด้วยเครื่องมือ “อวนดำ” นี้ ชาวประมงมักจะทำการประมงในเวลากลางคืน (โดยเฉพาะในเดือนมืด แต่เนื่องในปัจจุบัน มีอุปกรณ์ช่วยหาปลาที่มีทั้ง “เครื่องเอคโค่ซาวเดอร์” และ “โซน่าร์” ทำให้สามารถทำประมงได้โดยไม่ต้อง “หยุดหงาย”) โดยเริ่มออกเรือไปในตอนบ่ายหรือใกล้ค่ำ เมื่อถึงพื้นที่เป้าหมาย ก็จะแล่นเรือค้นหาฝูงปลาโดยใช้ “เครื่องเอคโค่ซาวเดอร์” หรือ “โซน่าร์” (ถ้ามี) ผสมกับการใช้สายตาและประสบการณ์ของ “ไต้ก๋ง” ประกอบกัน เมื่อพบฝูงปลาแล้วจะแล่นเรือช้าลงและวนดู เพื่อตรวจสอบชนิดของปลาและคาดคะเนขนาดของฝูงปลา เพื่อดูว่าจะคุ้มค่ากับการลงอวนหรือไม่ รวมทั้งดูกระแสน้ำและกระแสลมว่าไหลหรือพัดไปทางไหน เพื่อตัดสินใจว่าจะต้องวางอวนอย่างไร จากนั้นจะสั่งปล่อยอวนลงน้ำและแล่นเรือโอบล้อมฝูงปลาเป็นวงกลม หลังจากล้อมรอบฝูงปลาไว้ได้แล้วจะทำการกว้านสายมานขึ้นเรือ เพื่อปิดด้านล่างของอวนแล้วทำการกู้อวนขึ้นเรือ โดยสาวอวนบางส่วนขึ้นเรือใหญ่เพื่อตีวงให้แคบ (โดยใช้แรงคน) และยกอวนขึ้นเรือ ถ้ามีปลาจำนวนมากอยู่ในอวน ก็จะใช้ “สวิง (เฮีย)” ทยอยตักปลาขึ้นเรือ ก่อนที่จะกู้อวนทั้งหมดขึ้นมาบนเรือ ถ้าได้ “ปลาทู” ไม่มากนัก “ไต้ก๋ง” ก็จะยังคงมองหาฝูงปลาทูต่อไป จนกว่าจะใกล้รุ่ง แล้วจึงนำเรือกลับเข้าฝั่งเพื่อให้ทันขายในตอนเช้า และจะทำเช่นนี้ทุกวัน เว้นแต่ในช่วงเวลา “ปิดอ่าว” ที่จะทำให้ลูกเรือได้พักผ่อนกัน

ปลาทูที่จับได้ด้วยเครื่องมือ “อวนดำ” จะมีการแช่เย็นด้วยน้ำแข็งผสมน้ำทะเล ทำให้คุณภาพปลามีความสดจนถึงฝั่งไม่แพ้ปลาทูที่จับได้ด้วยเครื่องมือ “โป๊ะ” (ในความเห็นของผม)

การล้อมปลา
ที่มา: http://marinerthai.blogspot.com/2012/01/surrounding-nets.html
เรือ “อวนดำ” ขณะกลับเข้าฝั่ง

(4)อวนติดตา เป็นเครื่องมือประมงชนิดหนึ่งที่จัดอยู่ในกลุ่ม “อวนลอย” ใช้งานโดยการแขวนอวนให้ลอยอยู่กลางน้ำขวางอยู่ในทะเล เพื่อดักจับปลาที่ว่ายผ่านเข้ามา ส่วนใหญ่จะใช้มากในหมู่ชาวประมงพื้นบ้าน แต่ที่เป็นเครื่องมือประมงพาณิชย์ก็มีเช่น “อวนลอยปลาอินทรี” “อวนล้อมติดปลาทู” เหตุที่ชาวประมงนิยมใช้กันมาก เนื่องจากมีความเหมาะสมกับลักษณะพื้นที่ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ที่มีกองหินใต้น้ำหรือพื้นที่ราบ น้ำลึกหรือน้ำตื้น ผิวน้ำหรือหน้าดิน ทั้งยังเป็นเครื่องมืออวนที่มีโครงสร้างง่าย การใช้ไม่ยุ่งยาก และการลงทุนไม่สูงมาก (ยกเว้นอวนลอยปลาอินทรี)

ในสมัยก่อน “อวนติดตา” มีความยาวประมาณ 120-200 เมตร ลึก (กว้าง) ประมาณ 20 เมตร ใช้ตาอวนขนาด 4.7-5.2 เซนติเมตร ทำด้วยเส้นเอ็นใส ด้านบนมีทุ่นลอยติดให้อวนลอยน้ำ การจับด้วยเครื่องมือนี้ มีทั้งแบบวางเป็นแนวตรงขวางทางสัตว์น้ำโดยปล่อยผืนอวนทิ้งไว้ให้สัตว์น้ำว่ายชนตาอวนเอง และแบบวางอวนปิดล้อมสัตว์น้ำแล้วทำให้สัตว์น้ำตกใจว่ายน้ำมาชนอวน ชาวประมงจะใช้เรือแจววิ่งหาฝูงปลา และวางแนวทุ่นอวนล้อมรอบฝูงปลาเพื่อกั้นทิศที่ปลาว่ายน้ำ ขณะล้อมอวนชาวประมงจะใช้ไม้กระทุ่มน้ำเพื่อให้ปลาตกใจว่ายพุ่งเข้าติดตาอวน ก่อนจะสาวอวนขึ้นเรือเพื่อปลดปลา

ปัจจุบัน มีการปรับใช้ “อวนติดตา” ในหลายพื้นที่ (รวมทั้งอวนลอยและอวนจม ที่มีวิธีการทำประมงที่คล้ายคลึงกัน) โดยเฉพาะในบริเวณชายฝั่ง ด้วยเรือประมงพื้นบ้าน โดยมีการลดความสูงของอวน ลงเหลือประมาณ 5-10 เมตร แต่เพิ่มความยาวจาก 120-200 เมตร ออกไปจนถึง 10,000-20,000 เมตร (ด้วยความยินยอมพร้อมใจของรัฐ) พร้อมทั้งปรับระดับความลึก (กว้าง) ของ “อวนติดตา” ที่เคยจับปลาในบริเวณผิวน้ำ (ต่ำกว่าระดับผิวน้ำประมาณ 5 เมตร) โดยให้อวนสามารถมีความลึก (กว้าง) ได้ตามชนิดของสัตว์น้ำเป้าหมายและตามความต้องการของชาวประมง (ระดับผิวน้ำจนถึงระดับหน้าดิน) ซึ่งทำให้เกิดความกังวลว่าจะเป็น “เครื่องมือทำลายล้างพ่อพันธุ์/แม่พันธุ์ของสัตว์น้ำที่เข้ามาวางไข่และอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนในบริเวณใกล้ชายฝั่ง” โดยเฉพาะ “ปลาทู” ในฤดูวางไข่ (ปิดอ่าว)

(5)อวนลาก เป็นเครื่องมือประมงพาณิชย์ที่ใช้จับสัตว์น้ำชนิดที่อาศัยอยู่ที่บริเวณพื้นทะเล หรือเหนือพื้นทะเล ที่เรียกว่า “ปลาหน้าดิน (Demersal specie)” โดยการลากอวนที่มีลักษณะเป็นถุงไปเรื่อย ๆ อวนลากจะมีขนาดตาอวนที่กว้างบริเวณปากถุง และค่อย ๆ ลดขนาดตาอวนลงเรื่อย ๆ จนถึงกึงก้นถุง เพื่อเปิดโอกาสให้สัตว์น้ำขนาดเล็กบางส่วนสามารถลอดออกจากอวนได้ ขณะเดียวกันก็เป็นการลดแรงต้านของกระแสน้ำ ลดการใช้พลังงาน (น้ำมัน) และทำให้เรือแล่นได้เร็วขึ้น ส่วนในบริเวณก้นถุงจะมีขนาดตาถี่ (ในปัจจุบัน กฎหมายประมงอนุญาตให้ใช้ตาอวนได้ไม่น้อยกว่า 5.0 เซนติเมตร) ในการลากอวนจำเป็นต้องมีอุปกรณ์ หรือวิธีการที่ช่วยให้ปากอวนกางหรือถ่างออก ซึ่งเป็นที่มาของการเรียกชื่อเฉพาะของเครื่องมือประเภทนี้ คือ (1) อวนลากคู่ (Pair trawls) ที่ใช้เรือสองลำลากอวนผืนเดียวไปข้างหน้า โดยแล่นคู่ขนานห่างกันพอควร (2) อวนลากแผ่นตะเฆ่ (Otter board trawls) ที่ใช้แผ่นตะเฆ่ทำมุมรับกระแสน้ำด้วยความเร็วที่เหมาะสมทำให้อวนถ่างออก (3) อวนลากคานถ่าง (Beam trawls) ที่ใช้คาน (ไม้หรือเหล็ก) ค้ำด้านหน้าของอวนเพื่อถ่างปากอวนให้กางออก

การทำประมงด้วยเครื่องมือ “อวนลาก” นั้น จะใช้เรือประมงแล่นไปในแหล่งประมงที่ “ไต้ก๋ง” คาดว่าจะมีสัตว์น้ำอาศัยอยู่ จากนั้นจะปล่อย “อวน” ที่มีลักษณะคล้ายถุงกาแฟลงไปในน้ำ และทำการลากอวนนั้นไปเรื่อย ๆ จนเวลาผ่านไปประมาณ 2-3 ชั่วโมง หรือเมื่อคาดว่าจะมีสัตว์น้ำติดเข้ามาในอวนจำนวนพอประมาณ จึงทำการ “กู้อวน” ขึ้นมาบนเรือ และ “ไต้ก๋ง” ก็จะปล่อย “อวน” ผืนใหม่ลงน้ำเพื่อทำการลากต่อไปไม่ให้ขาดความต่อเนื่อง (เว้นแต่จะได้สัตว์น้ำไม่มากพอ จึงต้องเปลี่ยนสถานที่ใหม่) เสร็จแล้วก็จะทำการ “คัดเลือก” ชนิดของสัตว์น้ำที่จับได้ โดยแยกชนิดและขนาดเพื่อบรรจุใส่ “ถาด ลัง หรือถัง” เพื่อนำไปแช่เย็นในน้ำแข็ง หรือแช่แข็งในห้องเย็นภายในเรือทันที เพื่อรักษาคุณภาพและความสดของสัตว์น้ำที่จับได้ หลังจากนั้น ลูกเรือก็จะได้พักผ่อน หรือทานอาหาร ก่อนที่จะมีการ “กู้อวน” ขึ้นมาบนเรือในรอบต่อไป

“อวนลาก” เป็นเครื่องมือประมงพาณิชย์ที่กรมประมงนำเข้ามาจากเยอรมันเพื่อทดลองใช้ และประสบผลสำเร็จ (เคยทดลองนำมาใช้ก่อนหน้านั้นโดยผู้เชี่ยวชาญชาวไต้หวันละญี่ปุ่นแต่ไม่สำเร็จ) โดยคณะผู้เชี่ยวชาญสามารถจับ “ปลาหน้าดิน” ได้เป็นจำนวนมาก จึงทำให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนเรือประมง จากที่เคยใช้เครื่องมือชนิดอื่น ๆ มาเป็นเครื่องมือ “อวนลาก” กันอย่างแพร่หลายในเวลาไม่นานนัก และเครื่องมือนี้เอง ทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนสถานะจากประเทศที่เคย “นำเข้า” สัตว์น้ำจากต่างประเทศเพื่อการบริโภคไปเป็น “ผู้ส่งออกสุทธิ” สินค้าสัตว์น้ำ ตั้งแต่ พ.ศ. 2507 (จนถึง พ.ศ. 2558 ที่ประเทศไทยต้องกลับมานำเข้าสินค้าสัตว์น้ำเพื่อการบริโภคอีกครั้ง เพราะการแก้ไขปัญหา “IUU Fishing” ที่ผิดพลาดของรัฐไทย) และติดอันดับ “ประเทศผู้จับสัตว์น้ำทะเล” ในระดับหนึ่งในสิบของโลกในเวลาไม่นาน

เครื่องมือประมงประเภท “อวนลาก” นั้น แม้ว่าจะเป็นเครื่องมีที่มีประสิทธิภาพในการจับปลา แต่ก็ มีจุดอ่อนอยู่ 2-3 ประเด็น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญชาวเยอรมันที่ทำการสาธิตได้บอกไว้ คือ

    (1) เครื่องมือประเภทนี้ มีประสิทธิภาพสูงในการจับสัตว์น้ำหน้าดิน จำเป็นต้องมีการ “จำกัดจำนวน”

    (2) เครื่องมือประเภทนี้ อาจทำลายพื้นทะเลหรือแหล่งปะการัง จำเป็นที่จะต้องมีการ “จำกัดพื้นที่ใช้งาน” โดยเฉพาะในบริเวณแหล่งปะการัง

    (3) เครื่องมือประเภทนี้ เป็นเครื่องมือที่จับปลาได้ไม่เลือกชนิด ดังนั้น ต้อง “พิจารณาใช้ “ขนาดตาอวน” ให้เหมาะสม” แต่เนื่องจากไม่มีใครคาดคิดว่า เครื่องมือชนิดนี้จะมีการนำไปใช้อย่างแพร่หลายในเวลารวดเร็ว ประกอบกับกรมประมงก็มิได้ตะหนักถึงจุดอ่อนดังกล่าว จึงไม่มีการกำหนดมาตรการในการกำกับดูแลการใช้เครื่องมือชนิดนี้ จนส่งผลให้ทรัพยากร “สัตว์น้ำหน้าดิน” ของไทยเกิดความเสื่อมโทรมในเวลาไม่นาน และเป็นจุดอ่อนให้บุคคลบางกลุ่มโจมตีว่า เครื่องมือ “อวนลาก” เป็น “เครื่องมือประมงทำลายล้างที่ต้องกำจัด” ทั้ง ๆ ที่เป็นเครื่องมือที่ถูกต้องตามกฎหมายไทย และองค์การเกษตรและอาหารแห่งสหประชาชาติ (UN-FAO) รับรองให้ใช้ได้ทั่วไป เพียงแต่ต้องมีการกำหนดมาตรการในการใช้ให้เหมาะสมเพื่อแก้ไขจุดอ่อนที่กล่าวมาข้างต้นเท่านั้น

หลายคนอาจจะสงสัยว่า เครื่องมือ “อวนลาก” ที่เป็นเครื่องมือประมงที่ใช้จับ “ปลาหน้าดิน (Demersal specie)” แต่เหตุใดจึงสามารถนำมาใช้จับ “ปลาทู” ที่เป็น “ปลาผิวน้ำ (Pelagic specie)” ได้ คำตอบง่าย ๆ ครับ “ปลาทู” แม้จะเป็น “ปลาผิวน้ำ” แต่ก็อาศัยลึกลงไปถึง “กลางน้ำ” ในขณะที่เครื่องมือ “อวนลาก” นั้น แม้ว่าจะเป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับจับ “ปลาหน้าดิน” แต่ด้วยลักษณะของอวนและวิธีการจับ ทำให้สามารถจับปลาได้ตั้งแต่ “กลางน้ำ” ลงไปถึง “หน้าดิน” “ปลาทู” จึงได้เข้าไปใน “อวนลาก” ของชาวประมงนั่นเอง

อ่านตอ่ตอนจบ