ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯสั่ง ‘ธรรมนัส’ สอบทุจริตข้าวรายงาน ครม.ด่วน! – มติ ครม.ไฟเขียวคมนาคมก่อหนี้ 8 ปี 91,653 ล้าน

นายกฯสั่ง ‘ธรรมนัส’ สอบทุจริตข้าวรายงาน ครม.ด่วน! – มติ ครม.ไฟเขียวคมนาคมก่อหนี้ 8 ปี 91,653 ล้าน

30 มกราคม 2024


เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ภายหลังการประชุม ครม.ที่ด้านหน้า ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
  • นายกฯสั่ง ‘ธรรมนัส’ ลุยสอบทุจริตข้าวในกระทรวงรายงาน ครม.ด่วน!
  • เผย ‘พีระพันธุ์’ ขับ ‘เจ๋ง ดอกจิก’ พ้นคณะทำงานแล้ว
  • เล็งย้ายอาชีวะคู่อริออกนอกเมือง แก้ปมตีกัน
  • ตั้ง “รอย อิงคไพโรจน์” นั่งเลขาฯสมช.
  • ไฟเขียวงบฯกสศ. 7,885 ล้าน ดูแลเด็กนอกระบบการศึกษา
  • มติ ครม.แก้ กม.เลิกลงโทษยึดเรือประมง – ทำผิดงดหาปลาชั่วคราว
  • ไฟเขียวคมนาคมก่อหนี้ผูกพัน 8 ปี 91,653 ล้าน
  • ตั้งงบฯปี’68 สร้างคุก ‘อุตรดิตถ์-ยโสธร’ 3,390 ล้าน
  • ตั้ง ‘อัครุตม์ สนธยานนท์’ คุมบอร์ด ธอส.
  • เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายหลังการประชุม ครม. นายเศรษฐา ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว และได้มอบหมายให้นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ

    นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เรื่องแรกที่ผมแจ้งให้ที่ประชุม ครม.ทราบ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ รัฐบาลได้จัดพิธีอันเชิญพระบรมสารีริกธาตุ จากประเทศอินเดีย มาประดิษฐานชั่วคราวในเมืองไทย ตั้งแต่วันวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นต้นไป โดยจะนำไปประดิษฐานให้ครบทุกภาค เริ่มต้นจาก กรุงเทพมหานครที่สนามหลวง , ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ , ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดอุบล และภาคใต้ จังหวัดกระบี่ โดยนายก ฯได้กล่าวเชิญชวนประชาชนเข้าสักการะ พร้อมกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันประชาสัมพันธ์และสนับสนุนกิจกรรม

    แก้ กม.ประมงไม่ขัด IUU ชงกฤษฎีกาตรวจทาน 1 เดือน

    นายเศรษฐา กล่าวว่า เรื่องที่ 2 เราให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเรื่อง IUU ให้กับชาวประมง ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน แต่ก็ต้องทำ วันนี้ที่ประชุม ครม.ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง โดยที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการต่างประเทศ มีความเห็นร่วมกันว่า ร่างกฎหมายดังกล่าว “ไม่ขัดแย้งกับหลักการของ IUU ซึ่งขั้นตอนต่อไป ก็จะส่งให้กฤษฎีกาพิจารณาตรวจสอบร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน จากนั้นจะส่งให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างกฎหมายในสัปดาห์หน้า คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 2 เดือน และจะนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม.อีกครั้งหนึ่ง”

    กำชับหน่วยงานตั้งงบผูกพันตามระเบียบ เน้นคุ้มค่า – ประโยชน์สูงสุด

    นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า เรื่องที่ 3 วันนี้มีหลายหน่วยงาน เสนอคำขอใช้งบประมาณ ประจำปี 2568 ที่ก่อภาระหนี้ผูกพัน ตั้งแต่ 1,000 ล้านบาท ขึ้นไป มาหลายโครงการ จึงขอให้พิจารณาไปตามกฎหมาย , ระเบียบ และมติ ครม.ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เกิดความคุ้มค่า เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่พี่น้องประชาชน

    ไฟเขียวงบฯกสศ. 7,885 ล้าน ดูแลเด็กนอกระบบการศึกษา

    นายเศรษฐา กล่าวว่า เรื่อง 4 ที่ประชุม ครม.เห็นชอบการใช้จ่ายเงินเกี่ยวกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อดูแลเด็กที่หลุดออกนอกการศึกษาประจำปีงบประมาณ 2568 เพื่อส่งเสริมให้จำนวนเด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาให้เป็นศูนย์ให้ได้ตามนโยบาย Thailand Zero Dropout และเห็นชอบเห็นชอบในกรอบวงเงินด้านอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์การวิจัย และนวัตกรรมเพื่อพิจารณาให้คนไทยมีทักษะเพิ่ม ส่งเสริมความสามารถของ Start Up และ SME

    ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนการใช้เงินของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ภายในกรอบวงเงิน 7,884,878,100 บาท ตามนัยมาตรา 6 (3) ของพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 โดยให้กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ พร้อมรายละเอียดของกลุ่มเป้าหมายและค่าใช้จ่ายที่ชัดเจน ตามความจำเป็นอย่างเหมาะสมโดยคำนึงถึงประโยชน์ที่กลุ่มเป้าหมายจะได้รับเป็นสำคัญ รวมถึงพิจารณานำเงินนอกงบประมาณหรือเงินอื่นใดของ กสศ. มาสมทบค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานให้ครอบคลุมทุกแหล่งเงิน เพื่อให้สอดคล้องตามนัยพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณตามขั้นตอนของกฎหมายวิธีการงบประมาณ ซึ่งสำนักงบประมาณจะได้พิจารณารายละเอียดของแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณของ กสศ. ให้สอดคล้องกับแนวทางและหลักเกณฑ์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ภายในกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 อีกครั้งหนึ่ง ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

    ตั้ง “รอย อิงคไพโรจน์” นั่งเลขาฯสมช.

    เรื่องสุดท้าย นายเศรษฐา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบแต่งตั้ง พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ ให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)

    เผย ‘พีระพันธุ์’ ขับ ‘เจ๋ง ดอกจิก’ พ้นคณะทำงานแล้ว

    ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตในโครงการต่างๆของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการอย่างไร นายเศรษฐา ตอบว่า ที่ประชุม ครม. ก็ได้เน้นย้ำเรื่องการป้องกันการทุจริตมาโดยตลอด ตั้งแต่เรื่องการบริหารการใช้จ่ายงบประมาณ รวมถึงเรื่องร้องเรียนที่เกิดขึ้น หรือ ที่เรียกกันว่า นักร้อง หรือ อะไรก็ตามที แต่ก็ต้องให้ความเป็นธรรมทุกๆฝ่าย ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น

    ถามต่อไปถึงการแต่งตั้งบุคคลที่จะมาช่วยงานรัฐมนตรีด้วยหรือไม่ ที่จะต้องกำชับให้ดี หลังเกิดกรณีของ นายยศวริศ ชูกล่อม หรือ “เจ๋ง ดอกจิก” ซึ่งมีข่าวรายงานว่าเป็นคณะทำงานของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)

    นายเศรษฐา กล่าวว่า นายพีระพันธุ์ กล่าวยืนยันว่า “นายยศวริศไม่ได้เป็นคณะทำงานของนายพีระพันธุ์ และเข้าใจว่านายพีระพันธ์ได้ออกข่าวชี้แจงไปแล้ว”

    เล็งย้ายอาชีวะคู่อริออกนอกเมือง แก้ปมตีกัน

    ถามถึงกรณีความขัดแย้งของนักศึกษาอาชีวะได้ดำเนินการไปอย่างไร นายกรัฐมนตรี ตอบว่า กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ได้มีการหยิบยกปัญหาทางสังคม และเยาวชนมาหารือ ซึ่งที่ประชุม ครม. ได้มีการพูดคุยกันในประเด็นนี้ และตนก็ได้เน้นถึงมาตรการความปลอดภัยทางสังคม เพื่อจัดการดูแลประชาชนในเชิงลึก รวมถึงได้สั่งการให้ดูในทุกเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของอาชีวศึกษาที่มีปัญหาทะเลาะกัน จึงได้มีการพิจารณาว่า “ในระยะยาวอาจจะต้องมีการย้ายสถาบันออกไปนอกเมือง เพื่อที่จะดูว่าสถาบันที่มีความขัดแย้งเมื่ออยู่ห่างไกลกันแล้ว ยังมีเกิดปัญหาขัดแข้งกันอีกหรือไม่ รวมทั้งได้สั่งให้ อว.และสำนักงานงานตำรวจแห่งชาติ แก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน และให้แต่ละโรงเรียนมีมาตรการอย่างรัดกุมร่วมกับผู้ปกครอง”

    เข็น พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ เข้า ครม.เร็วที่สุด

    ถาม ความคืบหน้า พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ ที่รัฐบาล kick off แล้วจะนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม.เมื่อไหร่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ยังไม่เข้า และยังไม่แน่ใจว่าจะนำเข้าที่ประชุมครั้งถัดไปหรือไม่ ต้องขอดูวาระก่อน แต่วันนี้ยังไม่มี ไม่เห็นผ่านตาเลย แต่ขอยืนยันว่าจะทำให้เร็วที่สุดแน่นอน

    มอบ ‘สมศักดิ์’ จี้ทุกหน่วย เร่งแก้ กม.ขวางการทำธุรกิจ

    ด้านนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ นายก ฯมีข้อสั่งการว่าขอให้ทุกกระทรวง หรือ ทุกหน่วยงาน เร่งตรวจสอบ และเสนอกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบเสนอเข้าที่ประชุม ครม. โดยเร็ว ซึ่งข้อสั่งการดังกล่าวนี้ สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 นายกฯเคยมีข้อสั่งการ โดยขอให้ทุกกระทรวง ทบวง กรม กลับไปทบทวนกฎหมายของหน่วยงานตัวเอง ทั้งกฎหมาย และระเบียบเดิมว่ามีกฎหมายอะไรที่ต้องยกเลิก ก็ให้รีบเสนอมา รวมทั้งกฎหมายฉบับใหม่ๆ ที่กระทรวงนั้นๆเป็นเจ้าภาพ ต้องรีบเสนอเข้ามา ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้ทีมงานไปติดตามข้อมูลดังกล่าว วันนี้นายกฯได้แจ้งต่อที่ประชุม ครม. ว่าการเสนอกฎหมายของรัฐบาลล่าช้ามาก จึงมอบหมายให้นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ในฐานะผู้ประสานงานกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องทุกกระทรวงไปเร่งรัดไม่ว่าจะเป็นการแก้ไข หรือ นำเสนอกฎหมายใหม่ๆให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาโดยเร็ว เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายที่นายกรัฐมนตรี เคยให้สัมภาษณ์ไปหลายครั้งเกี่ยวกับเรื่อง Ease Of Doing Business

    “นายกฯต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศภายใต้หลักการของรัฐอำนวยการ ไม่ใช่รัฐอุปสรรค โดยรัฐอำนวยการ ต้องมีกฎระเบียบที่ทันสมัย และเป็นกฎระเบียบที่เน้นบทบาทของภาครัฐในการเป็นผู้อำนวยความสะดวก ไม่ใช่เป็นผู้ควบคุม หรือ กำกับ” นายชัยกล่าว

    สั่ง ‘ธรรมนัส’ สอบทุจริตข้าวรายงาน ครม.ด่วน!

    นายชัย กล่าวว่า ช่วงนี้มีข่าวปรากฎตามสื่อมวลชนต่างๆ เกี่ยวกับโครงการต่าง ๆของกระทรวงกระเกษตรและสหกรณ์ นายกรัฐมนตรีจึงขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงการต่าง ๆตามที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ เช่น โครงการส่งเสริมการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าว หรือ โครงการปรับปรุงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อให้ความจริงปรากฏ และรายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบโดยเร็ว

    วอน รมต.ลงพื้นที่แก้ PM 2.5

    นายชัย กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีเป็นห่วงเรื่อง PM 2.5 นายกฯได้ย้ำกับที่ประชุม ครม.ว่าเรื่องนี้ถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลชุดนี้มาก ๆ เพื่อที่จะทำอากาศให้สะอาดแก่ประชาชน ดังนั้นการออกกฎหมายและประสานงานกับประเทศเพื่อนบ้านที่ได้ทำไปแล้ว ปัญหาได้บางพื้นที่ผ่อนคลายลง แต่ในหลายพื้นที่อยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วงเช่นกรุงเทพ และปริมณฑล นายกฯ จึงขอให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องทุกท่านให้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบสภาพของปัญหาว่า มีปัญหาอะไรที่จะสามารถแก้ไขช่วยเหลือประชาชนได้ในระดับพื้นที่เลย รวมทั้งหามาตรการลดปัญหา PM 2.5 ลงให้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

    มติ ครม. มีดังนี้

    นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกฯ , นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี , และนางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษก ฯ ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

    แก้ กม.เลิกลงโทษยึดเรือประมง – ทำผิดงดหาปลาชั่วคราว

    นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ประชุม ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก. การประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. … ตามที่ประธานกรรมการแก้ไขปัญหาการประมงทะเล เพื่อฟื้นฟูการประมงทะเลและอุตสาหกรรมการประมง เสนอ

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ประธานกรรมการแก้ไขปัญหาการประมงทะเล เพื่อฟื้นฟูการประมงทะเลและอุตสาหกรรมการประมง เสนอว่า สืบเนื่องจากบทบัญญัติบางประการของ พ.ร.ก. การประมง พ.ศ. 2558 และ พ.ร.ก. การประมง (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2560 ไม่สอดคล้องกับวิธีการทำประมงในประเทศ จึงส่งผลกระทบกับชาวประมง ทำให้ชาวประมงบางส่วนต้องเลิกอาชีพทำการประมงไป และเป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพประมง

    โดยในคราวประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการประมงทะเล เพื่อฟื้นฟูการประมงทะเล และอุตสาหกรรมการประมง ครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ได้มีมติเห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ. แล้ว และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) โดยกรมประมงได้จัดทำการรับฟังความคิดเห็นผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่ เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ. รวมทั้งได้จัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายตามแนวทางมติคณะรัฐมนตรี (19 พ.ย. 2562) และได้เผยแพร่ผลการรับฟังความคิดเห็นพร้อมการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายให้ประชาชนได้รับทราบแล้ว

    ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯได้เสนอแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวมาด้วยแล้ว จำนวน 21 ฉบับ (ประกอบด้วยกฎกระทรวงจำนวน 1 ฉบับ ระเบียบจำนวน 2 ฉบับ และประกาศจำนวน 18 ฉบับ)

    นายชัย ย้ำว่า รัฐบาลชุดนี้เห็นว่าพระราชกำหนดที่ออกมาเมื่อ 8-9 ปีก่อนนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อจะเอาผิดกับคนที่กระทำผิดกฎหมาย IUU และยังมีลักษณะที่ไม่ละเอียดพอ หรือ ไม่ได้แบ่งแยกระหว่างเรือประมงในเชิงพาณิชย์ที่ออกไปหาปลาระยะไกล หรือ นอกน่านน้ำของราชอาณาจักรไทย และไม่ได้แยกประมงพื้นบ้านเป็นการเหมารวมหมด ทำให้เกิดผลกระทบต่อชาวประมงพื้นบ้านที่อยู่ชายฝั่งทะเลกว่า 20 จังหวัด ประมาณ 600,000 กว่าครัวเรือน

    ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการออกพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชกำหนดฯ โดยเพิ่มรายละเอียดเข้าไปว่าประมงพื้นบ้านที่ไม่ได้เกี่ยวข้อง หรือ ไม่ได้สร้างปัญหาอะไรเลย ก็ไม่ควรได้รับผลกระทบไปด้วย แต่ยังมุ่งเน้นที่จะจะต้องรักษาสมดุลระหว่างการเอาผิดกับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตา IUU ในระดับสากลนานาชาติ ควบคู่ไปกับการรักษาไว้ซึ่งวิถีชีวิตการทำมาหากินของชาวประมงพื้นบ้านตามชายฝั่งทะเลไทย โดยสาระสำคัญที่มีการเปลี่ยนแปลงไปมีดังนี้

  • ในอดีตประมงพื้นบ้านเวลาไปขึ้นทะเบียนไม่ได้กำหนดเรื่องสัญชาติ ไม่ได้มีสัญชาติไทย ก็มาขอได้ แต่ต่อจากนี้ไปการขึ้นทะเบียนประมงพื้นบ้านจะต้องมีสัญชาติไทยเท่านั้น
  • ในอดีตเจ้าของเรือประมงมีเรือ 3 ลำ หากไปกระทำความผิดเพียง 1 ลำ จะถูกยึดเรือทั้งหมด 3 ลำ ซึ่งในกฎหมายที่แก้ไขใหม่จะการยกเลิกเรื่องการยึดเรือ และถ้าทำผิดจะถูกพักใบอนุญาตห้ามออกหาปลาชั่วคราว เฉพาะเรือลำที่กระทำความผิด ไม่ได้ลงโทษแบบเหมารวมทั้งหมด
  • เรือประมงขนาด 10 – 15 ตันกรอส เดิมจะโอนใบอนุญาตให้ทายาทไม่ได้ แต่ต่อจากนี้ไปสามารถโอนให้ทายาทได้
  • และสุดท้ายต้องรายงานสถิติการทำประมงภายในวันที่ 31 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งในอดีตไม่มีการรายงานเลยต่อไปนี้จะต้องมีการรายงานอันนี้คือตัวอย่างสาระสำคัญ
  • ไฟเขียวคมนาคมก่อหนี้ผูกพัน 8 ปี 91,653 ล้าน

    นายชัย กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติให้ความเห็นชอบในหลักการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 สำหรับรายการงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมท่าอากาศยาน และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ รวม 42 โครงการ ระยะเวลาดำเนินการ ปี 2568-2575 รวมวงเงินทั้งสิ้น 91,653.30 ล้านบาท โดยมีวงเงินที่จะขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 15,627.94 ล้านบาท ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว ครม. ได้มีมติ (16 ต.ค. 2566) เห็นชอบแนวทางการจัดทำงบประมาณและปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และวันที่ 16 ม.ค 2567 เห็นชอบการปรับปรุงปฏิทินงบประมาณฯ ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ โดยหน่วยงานที่มีการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณมากกว่าหนึ่งปีงบประมาณ สำหรับรายการที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ให้นำเสนอ ครม. พิจารณาอนุมัติก่อนเสนอรายละเอียดคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ภายในวันที่ 2 ก.พ. 2567

    กระทรวงคมนาคมได้รับรายงานจาก กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) กรมท่าอากาศยาน (ทย.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เสนอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 สำหรับรายการที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป จำนวน 42 โครงการ ระยะเวลาดำเนินการ ปี 2568-2575 รวมวงเงินทั้งสิ้น 91,653.30 ล้านบาท โดยมีวงเงินที่จะขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 15,627.94 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่มีความพร้อมที่จะเริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568

    กรมทางหลวง (ทล.) เสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 37 โครงการ ระยะเวลาดำเนินการ ปี 2568-2571 วงเงินรวม 69,877.70 ล้านบาท ประกอบด้วย

  • แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ 35 โครงการ วงเงินรวม 66,027.70 ล้านบาท
  • แผนงานบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 2 โครงการ วงเงินรวม 3,850 ล้านบาท ซึ่งมีวงเงินที่จะขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 13,975.54 ล้านบาท
  • กรมทางหลวงชนบท (ทช.) เสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ในแผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ จำนวน 3 โครงการ ระยะเวลาดำเนินการ ปี 2568-2570 วงเงินรวม 4,920 ล้านบาท ซึ่งมีวงเงินที่จะขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 984 ล้านบาท

    กรมท่าอากาศยาน (ทย.) เสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ในแผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ จำนวน 1 โครงการ คือ งานก่อสร้างต่อเติมความยาวทางวิ่ง ขยายทางขับ ลานจอดเครื่องบิน และองค์ประกอบอื่นๆ ท่าอากาศยานชุมพร ตำบลชุมโค อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ระยะเวลาดำเนินการ ปี 2568-2571 วงเงินรวม 1,500 ล้านบาท (ปีงบประมาณ 2568 วงเงิน 300 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2569 วงเงิน 300 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2570 วงเงิน 450 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2571 วงเงิน 450 ล้านบาท) ซึ่งมีวงเงินที่จะขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 300 ล้านบาท

    และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ในแผนยุทธศาสตร์พัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ จำนวน 1 โครงการ คือ โครงการเช่ารถโดยสารประจำทางปรับอากาศพลังงานสะอาด (EV) ระยะเวลาดำเนินการ ปี 2568-2575 วงเงินรวม 15,355.60 ล้านบาท (ปีงบประมาณ 2568 วงเงิน 368.40 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2569 วงเงิน 2,219.20 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2570 วงเงิน 2,219.20ล้านบาท ปีงบประมาณ 2571 วงเงิน 2,225.28 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2572-2575 วงเงิน 8,323.52 ล้านบาท) ซึ่งมีวงเงินที่จะขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 368.40 ล้านบาท

    ตั้งงบฯปี’68 สร้างคุก ‘อุตรดิตถ์-ยโสธร’ 3,390 ล้าน

    นางรัดเกล้า กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 สำหรับรายการงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป จำนวน 2 โครงการ จำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 3,390.41 ล้านบาท ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ ดังนี้

      1. โครงการก่อสร้างเรือนจำจังหวัดอุตรดิตถ์ พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ จำนวน 1,767.25 ล้านบาท
      2. โครงการก่อสร้างเรือนจำจังหวัดยโสธร พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบตำบลสำราญ อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร จำนวนเงิน 1,623.16 ล้านบาท

    ทั้งนี้ เพื่อทดแทนเรือนจำเดิมที่มีสภาพชำรุดทรุดโทรมและถูกใช้งานมาเป็นเวลานาน พื้นที่ภายในมีความแออัดและคับแคบอันส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ที่ตั้งของเรือนจำเดิมซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองได้ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยของประชาชนและชุมชน รวมทั้งก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมแก่ชุมชนโดยรอบ เช่น ปัญหากลิ่นรบกวนจากการบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น โดยการก่อสร้างเรือนจำแห่งใหม่จะทำให้เรือนจำมีโครงสร้างและส่วนประกอบอาคารที่ได้มาตรฐาน สามารถควบคุมและป้องกันการหลบหนีได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีพื้นที่ที่เอื้อต่อการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังสำหรับการฟื้นฟูและพัฒนาพฤตินิสัยอย่างเป็นสัดส่วนตามหลักสากล รวมทั้งมีระบบกำจัดขยะมูลฝอยและน้ำเสียซึ่งป้องกันไม่ให้เกิดปัญหามลภาวะและสิ่งแวดล้อมต่อชุมชนตลอดจนสามารถอำนวยความสะดวกและให้บริการประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ

    นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้ข้อสั่งการว่าขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบในรายละเอียดให้งบประมาณที่จะใช้ในการก่อสร้างนั้น มีความเหมาะสมกับขนาดและความจำเป็นของรูปแบบเรือนจำ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบและจะดำเนินการตามข้อสั่งการ

    เห็นชอบความร่วมมือพัฒนาบุคลากรไทย-จีน

    นางรัดเกล้า กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างกรมความร่วมมือระหว่างประเทศของ กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) แห่งราชอาณาจักรไทยกับองค์การความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของจีนแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ตามที่ กต. เสนอ

    องค์การความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของจีนแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (China International Development Cooperation Agency: CIDCA) ได้เสนอร่างบันทึกความเข้าใจฯ เพื่อให้ฝ่ายไทยพิจารณาโดยร่างบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าวมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดกิจกรรมความร่วมมือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยดำเนินการผ่านกิจกรรมต่างๆ สรุปสาระสำคัญดังนี้

    วัตถุประสงค์ – เพื่อกระชับความร่วมมือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สนับสนุนการแลกเปลี่ยนบุคลากร และส่งเสริมมิตรภาพระหว่างไทย-จีน

    สาขาที่แลกเปลี่ยน – เศรษฐกิจและการค้า เกษตร สาธารณสุข วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม การศึกษา สิ่งแวดล้อม และสาขาอื่นๆ ที่สองฝ่ายตกลงร่วมกัน

    การดำเนินงาน

    ฝ่ายไทย

      1. จัดส่งข้อเสนอสำหรับความร่วมมือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งครอบคลุมถึงรูปแบบการฝึกอบรม สาขา และระยะเวลาดำเนินงานไปยังสถานเอกอัครราชทูตจีนในประเทศไทยเพื่อพิจารณาเป็นประจำทุกปี
      2. คัดเลือกผู้สมัครที่เหมาะสมสำหรับแผนงานฝึกอบรม การอบรมเชิงปฏิบัติการ และสัมมนาที่จัดในจีน รวมถึงดำเนินการเพื่ออำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนไปยังจีน
      3. จัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกในการฝึกอบรม และบริการจัดการเจ้าหน้าที่สำหรับกิจกรรมที่จัดในประเทศไทย
      4. อำนวยความสะดวกแก่การปฏิบัติงานของผู้เชี่ยวชาญจีนในประเทศไทย รวมถึงการตรวจลงตราแก่ผู้เชี่ยวชาญจีน และการบริหารจัดการเจ้าหน้าที่ เพื่อประสานการดำเนินงานตามแผนงานที่ได้ตกลงไว้

    ฝ่ายจีน
    1. เชิญบุคลากรจากประเทศไทยเข้ามาร่วมฝึกอบรมระยะสั้นในระดับทวิภาคีและพหุภาคี รวมถึงการอบรมเชิงปฏิบัติการและสัมมนา ซึ่งจีนเป็นเจ้าภาพ
    2. จัดส่งผู้เชี่ยวชาญเพื่อฝึกอบรมบุคลากรในประเทศไทย และสนับสนุนสื่อการเรียนการสอนและวัสดุอุปกรณ์สำหรับการฝึกอบรมที่จำเป็น ตามคำขอของฝ่ายไทย

  • มอบทุนการศึกษาสำหรับบุคลากรจากประเทศไทย
  • รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ดังนี้
    • (1) ค่าเดินทางไปกลับระหว่างจีนและไทย สำหรับบุคลากรทั้งสองฝ่าย
      (2) ค่าธรรมเนียมการฝึกอบรมและการเรียนการสอน รวมถึงสื่อการเรียนการสอนและวัสดุอุปกรณ์สำหรับการฝึกอบรม
      (3) ค่าอาหาร ค่าที่พัก และค่าเดินทางในจีน สำหรับผู้เข้าร่วมจากฝ่ายไทย
      (4) ค่าอาหาร ค่าที่พัก ค่าเดินทาง และค่าเบี้ยเลี้ยงของบุคลากรจีนในระหว่างพำนักที่ประเทศไทย
      (5) ค่าประกันอุบัติเหตุสำหรับผู้เข้าร่วมจากประเทศไทยในระหว่างการเข้าร่วมอบรมและสัมมนาในจีน รวมถึงการดูแลรักษาพยาบาลในกรณีฉุกเฉินและอุบัติเหตุ
  • ดำเนินความร่วมมือในรูปแบบไตรภาคีผ่านการฝึกอบรมให้กับประเทศที่สามหรือระดับจังหวัด
  • การมีผลบังคับใช้ – นับตั้งแต่วันที่มีการลงนาม และจะมีผลไปจนกว่าผู้เข้าร่วมฝ่ายหนึ่งจะแจ้งให้อีกฝ่ายทราบเป็นลายลักษณ์อักษรผ่านช่องทางการทูต เพื่อยุติบันทึกความเข้าใจฯ ผ่านช่องทางการทูต

    ประโยชน์และผลกระทบ – การจัดทำบันทึกความเข้าใจฯ จะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานของไทยในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ การฝึกฝนทักษะความรู้จากจีนในสาขาที่ไทยและจีนได้ตกลงกัน รวมถึงความร่วมมือไตรภาคีผ่านจัดหลักสูตรฝึกอบรมให้กับประเทศที่สามหรือระดับจังหวัด และช่วยยกระดับบทบาทไทยในฐานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนากับประเทศต่างๆ รวมถึงยังสะท้อนความมุ่งมั่นของไทยต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

    แก้ กม.เพิ่มอำนาจ จนท.ตรวจ ‘เมาแล้วขับ’

    นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติอนุมติหลักการร่างกฎกระทรวง (ฉบับที่..) พ.ศ. … ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอ เพื่อเป็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการในการทดสอบปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับ 13 ) พ.ศ. 2565 รวมทั้งกำหนดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่ถือว่าเป็นความผิดให้เหมาะสมกับผู้ขับขี่แต่ละประเภท

    นายคารม กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง เป็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการในการทดสอบปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2565 และครอบคลุมถึงการตรวจพิสูจน์บุคคลที่อยู่ในภาวะที่สามารถให้ความยินยอมในการตรวจพิสูจน์การมีปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายได้ แต่ไม่สามารถทดสอบด้วยวิธีการตรวจวัดจากลมหายใจได้ รวมทั้งกำหนดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่ถือว่าเป็นความผิดให้เหมาะสมกับผู้ขับขี่แต่ละประเภท สรุปสาระสำคัญ ได้ดังนี้

    1. วิธีตรวจหรือทดสอบ ตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์โดยใช้วิธีการ ดังนี้ 1) ตรวจวัดลมหายใจ โดยวิธีเป่าลมหายใจ 2) ตรวจจากเลือด (ต้องได้รับความยินยอม) และ 3) ตรวจวัดจากของเสียอย่างอื่นจากร่างกาย เช่น ปัสสาวะ โดยกำหนดให้ส่งตัวผู้ขับขี่ไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดและเก็บตัวอย่างเลือด ปัสสาวะ หรือของเสียอย่างอื่นด้วยวิธีการทางการแพทย์ที่เจ็บปวดน้อยที่สุด และไม่เป็นอันตรายอย่างอื่น ซึ่งจากเดิมกำหนดให้ “ตรวจจากปัสสาวะ” เป็น “ตรวจจากของเสียอย่างอื่นจากร่างกาย เช่น ปัสสาวะ” เพื่อให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น

    2. หน้าที่ของพนักงานสอบสวนและแพทย์ กรณีมีอบัติเหตุจากการขับขี่และมีพฤติการณ์เชื่อว่าผู้ขับขี่หรือบุคคลที่อาจเป็นผู้ขับขี่ได้กระทำการฝ่าฝืนตาม ม.43 (2) ในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น ให้พนักงานสอบสวนพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริงว่าผู้ขับขี่หรือบุคคลที่อาจเป็นผู้ขับขี่กระทำการฝ่าฝืนดังกล่าวหรือไม่ทุกกรณี ตามวิธีการตรวจหรือทดสอบวัดปริมาณแอลกอฮอล์ เดิมเจ้าพนักงานฯ ไม่มีอำนาจในการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์บางกรณี เช่น บุคคลที่อยู่ในภาวะหมดสติหรือได้รับอันตรายแก่กายจนไม่อาจให้ความยินยอมในการตรวจพิสูจน์

    3. กรณีผู้ขับขี่สามารถให้ความยินยอมในการตรวจพิสูจน์แต่ไม่สามารถทดสอบด้วยการวัดจากลมหายใจ ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการ ดังนี้ 1. ส่งตัวผู้ขับขี่ไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด และแจ้งเป็นหนังสือขอให้แพทย์ตรวจพิสูจน์ปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายบุคคล ภายใน 3 ชั่วโมง นับแต่พนักงานสอบสวนได้รับแจ้งเหตุ หรือด้วยวาจา วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีการอื่น จากนั้นให้พนักงานสอบสวนแจ้งเป็นหนังสือ ภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่พนักงานสอบสวนได้รับแจ้งเหตุ 2. ให้แพทย์เก็บตัวอย่างจากเลือด ปัสสาวะ หรือของเสียอย่างอื่น และให้ออกหลักฐานเป็นหนังสือแสดงผลการตรวจพิสูจน์โดยเร็ว โดยให้พนักงานสอบสวนเก็บรวบรวมในสำนวนการสอบสวน และ 3. ให้สันนิษฐานว่าบุคคลที่เป็นผู้ขับขี่ซึ่งไม่ยอมให้แพทย์ตรวจพิสูจน์โดยไม่มีเหตุอันควรนั้นมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด โดยให้แพทย์บันทึกการไม่ยินยอมนั้นและแจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนคดีตามที่กำหนด

    สำหรับปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด แบ่งออกดังนี้
    1) กรณีตรวจวัดจากเลือด (เจาะเลือด) หากผู้ขับขี่ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่า 50 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 มิลลิลิตร (หรือมิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์) หรือเกินกว่า 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์สำหรับบางกรณี เช่น ผู้ขับขี่ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ ผู้ขับขี่ที่ได้รับใบอนุญาตขับรถชั่วคราว เป็นต้น หรือกรณีผู้ขับขี่ซึ่งไม่ยอมให้แพทย์ตรวจพิสูจน์โดยไม่มีเหตุอันควร ให้สันนิษฐานว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด

    2) กรณีตรวจวัดจากลมหายใจหรือปัสสาวะให้เทียบกับปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเป็นเกณฑ์มาตรฐาน ดังนี้

      2.1 กรณีตรวจวัดจากลมหายใจ ให้ใช้ค่าสัมประสิทธิ์ในการแปลงค่าเท่ากับ 2,000 (กรณีหากตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์จากลมหายใจได้ค่าเท่าใดให้คูณด้วย 2,000 โดยให้ผลลัพธ์ที่ได้เทียบเท่ากับปริมาณแอลกอฮอล์ที่ตรวจโดยการเจาะเลือด เช่น หากวัดปริมาณแอลกอฮอล์จาก ลมหายใจได้ค่า 0.04 ให้คูณด้วย 2,000 จะได้ผลลัพธ์เท่ากับ 80 ซึ่งเทียบได้ว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 80 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 มิลลิลิตร (หรือมิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์) และ
      2.2 กรณีตรวจวัดจากปัสสาวะ ให้ใช้ค่าสัมประสิทธิ์ในการแปลงค่าเท่ากับเศษ 1 ส่วน 1.3 (กรณีหากตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์จากปัสสาวะได้ค่าเท่าใดให้คูณด้วยเศษ 1 ส่วน 1.3 โดยให้ผลลัพธ์ที่ได้เทียบเท่ากับปริมาณแอลกอฮอล์ที่ตรวจโดยการเจาะเลือด เช่น วัดปริมาณแอลกอฮอล์จากปัสสาวะ วัดค่าได้ 78 ให้คูณด้วย เศษ 1 ส่วน 1.3 จะได้ผลลัพธ์เท่ากับ 60 ซึ่งเทียบได้ว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 60 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 มิลลิลิตร (หรือมิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์)

    ตั้ง ‘อัครุตม์ สนธยานนท์’ คุมบอร์ด ธอส.

    นายคารม กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติ/เห็นชอบในเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ และผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐ มีรายละเอียดดังนี้

    1. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายสุพัฒน์ เมธีวรพจน์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการคณะคณะรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    2. การรับโอนข้าราชการตำรวจมาบรรจุเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สำนักนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอรับโอน พลตำรวจเอก รอย อิงคไพโรจน์ ข้าราชการตำรวจ ตำแหน่ง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มาบรรจุเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป โดยผู้มีอำนาจสั่งบรรจุทั้งสองฝ่ายได้ตกลงยินยอมในการโอนแล้ว

    3. การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) เสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ จำนวน 8 คน เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสี่ปี ดังนี้

      1. นายชลธิศ สุรัสวดี ด้านการบริหารจัดการที่ดิน
      2. นายคณิต สุขรัตน์ ด้านทรัพยากรดิน
      3. นายวีระชัย นาควิบูลย์วงศ์ ด้านการปฏิรูปที่ดิน
      4. นายมณฑล สุดประเสริฐ ด้านการผังเมือง
      5. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ขวัญชัย ดวงสถาพร ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
      6. นายเสรี นนทสูติ ด้านกฎหมาย
      7. รองศาสตราจารย์ชนินทร์ ทินนโชติ ด้านเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ
      8. นายกุลิศ สมบัติศิริ ด้านเศรษฐศาสตร์

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

    4. การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ แต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 4 ราย ดังนี้

      1. นางอัญชลี สุวจิตตานนท์ รองอธิบดี (นักบริหารระดับต้น) กรมส่งเสริมการเกษตร แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
      2. นางสาวนฤมล สงวนวงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวง (นักบริหารระดับต้น) สำนักงานปลัดกระทรวง แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
      3. นายถาวร ทันใจ รองอธิบดี (นักบริหารระดับต้น) กรมประมง แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
      4. นายกฤษ อุตตมะเวทิน รองอธิบดี (นักบริหารระดับต้น) กรมส่งเสริมการเกษตร แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เป็นดันไป

    5. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการต่างประเทศ)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 9 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่างและสับเปลี่ยนหมุนเวียน ดังนี้

      1. นายฉัตรชัย วิริยเวชกุล อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
      2. นายปิยภักดิ์ ศรีเจริญ เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมานามา ราชอาณาจักรบาห์เรน ให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก
      3. นางสาววิมลพัชระ รักษาเกียรติ เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออสโล ราชอาณาจักรนอร์เวย์ ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงซันติอาโก สาธารณรัฐชิลี
      4. นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศ ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม
      5. นายนิกรเดช พลางกูร เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมสารนิเทศ
      6. นางสาวอุรวดี ศรีภิรมย์ เอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรไทยประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
      7. นางพันทิพา เอี่ยมสุทธา เอกะโรหิต รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรไทยประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย
      8. นายไพศาล หรูพาณิชย์กิจ เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเม็กซิโก สหรัฐเม็กซิโก ให้ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
      9. นางสาวนิธิวดี มานิตกุล เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออสโล ราชอาณาจักรนอร์เวย์

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป ซึ่งการแต่งตั้งข้าราชการให้ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำต่างประเทศทั้ง 5 รายดังกล่าว (ลำดับที่ 1, 3, 4, 6 และลำดับที่ 9) ได้รับความเห็นชอบจากประเทศผู้รับแล้ว

    6. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ (กระทรวงการต่างประเทศ)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอแต่งตั้ง นายธานี แสงรัตน์ เอกอัครราชทูต (นักบริหารการทูต ระดับสูง) สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ไปดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต (นักบริหารการทูต ระดับสูง) สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี สำนักงานปลัดกระทรวง สืบแทนนายวิชชุ เวชชาชีวะ ซึ่งได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้นายวิชชุฯ พ้นจากตำแหน่งดังกล่าว และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต (นักบริหารการทูต ระดับสูง) สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ญี่ปุ่น สำนักงานปลัดกระทรวง ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2567 ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ ลงวันที่ 25 มกราคม 2567

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

    7. การแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

    คณะรัฐมนตรีมีมติเป็นหลักการมอบหมายให้รัฐมนตรี เป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ตามความในมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 1 ราย ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค) ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ

    8. แต่งตั้งข้าราชการประเภทบริหาร ระดับสูง (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง จำนวน 4 ราย ดังนี้

      1. เลื่อน นางเตือนใจ คงสมบัติ รองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน ขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
      2. เลื่อน นางสาวสนธยา บุณยภูษิต รองอธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
      3. เลื่อน นางสาวนภาพร เมฆาผ่องอำไพ รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
      4. เลื่อน นางสาวชวนชม จันทะวงษ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

    9. การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดังนี้

      1. นายสิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เป็นประธานกรรมการ
      2. นายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิทยาศาสตร์
      3. นายวีระพงษ์ แพสุวรรณ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิทยาศาสตร์
      4. นางปังปอนด์ รักอำนวยกิจ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านสังคมศาสตร์
      5. นายอาร์ม ตั้งนิรันดร เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านมนุษยศาสตร์

    โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

    10. การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอให้คณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทยมีจำนวนเกินกว่าสิบเอ็ดคนแต่ไม่เกินสิบห้าคน และแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย ดังนี้

      1. พลตำรวจโท ประจวบ วงศ์สุข ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารการกีฬา
      2. ร้อยโท ปรีชาพล พงษ์พานิช ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย

    โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

    11. การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอ แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) แทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้

      1. นายอัครุตม์ สนธยานนท์ ประธานกรรมการ
      2. นายธะเรศ โปษยานนท์ กรรมการ

    โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2567 เป็นต้นไป และให้ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของประธานกรรมการหรือกรรมการซึ่งตนแทน

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 30 มกราคม 2567 เพิ่มเติม