ThaiPublica > คอลัมน์ > “เขตประมงชายฝั่ง” กับการจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำเพื่อความยั่งยืนในน่านน้ำไทย

“เขตประมงชายฝั่ง” กับการจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำเพื่อความยั่งยืนในน่านน้ำไทย

17 กุมภาพันธ์ 2024


วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์

ความสำคัญของการประมงต่อชุมชนชายทะเล ที่มาภาพ : https://www.researchgate.net/figure/The-ecological-effects-of-intensive-fishing-Fishing-effort-increases-over-time-left-to_fig8_236866843

ระบบนิเวศตามแนวชายฝั่งทะเล แหล่งผลิตสัตว์น้ำ (ecosystems as fish factories)

เมื่อกล่าวถึงการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำเพื่อความยั่งยืน เราไม่อาจจะลืมเรื่องสำคัญประการหนึ่ง นั่นก็คือ “ระบบนิเวศตามแนวชายฝั่งทะเล” เพราะชายฝั่งทะเลเป็นเสมือนแหล่งเพาะพันธุ์และอนุบาลสัตว์น้ำทะเลที่สำคัญที่สุด ซึ่งสิ่งนี้ไม่ใช่เป็นเพียงความเข้าใจของคนที่อยู่ริมทะเลของไทยเท่านั้น แต่จากการเข้าไปค้นคว้าหาอ่านจาก เว็บไซต์ต่างๆพบข้อความที่น่าสนใจอันหนึ่งที่บ่งบอกถึงความสำคัญของ “ระบบนิเวศตามแนวชายฝั่งทะเล” ในฐานะแหล่งผลิตสัตว์น้ำที่มีอิทธิพลต่อทั้งทรัพยากรและชุมชนชายฝั่ง ที่จำเป็นจะต้องให้ความสำคัญในการอนุรักษ์ จัดการ และใช้ประโยชน์เพื่อความยั่งยืนที่จะส่งต่อให้กับอนุชนรุ่นต่อๆ ไปในอนาคตด้วย

  • ประมาณร้อยละ 95 ของชนิดพันธุ์สัตว์น้ำที่มีความสำคัญทางการเศรษฐกิจทั้งหมด (มูลค่าประมาณ 190,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 6,650,000 ล้านบาท) ขึ้นอยู่กับแหล่งที่อยู่อาศัยที่อยู่ในบริเวณริมชายฝั่ง (Approximately 95 percent of all commercially important fish species depend on coastal habitats.) ซึ่งหากมีการอนุรักษ์และจัดการที่ดี ย่อมนำไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนได้
  • ป่าชายเลนที่สามารถผลิตสัตว์น้ำมูลค่าสูงพบได้ในทุกทวีปและในประเทศที่มีป่าชายเลนเป็นส่วนใหญ่ส่วนใหญ่ทั่วโลก (Mangroves with high fish production values are found on every continent and in most mangrove countries worldwide.) มีการประมาณการกันว่า “ป่าชายเลน” นั้น สามารถผลิตสัตว์น้ำหล่อเลี้ยงประชาชคนที่อยู่ริมชายฝั่งกว่า 210 ล้านคนทั้งเพื่อการเป็นอาหารและการยังชีพ
  • แนวปะการังที่อุดมสมบูรณ์และมีการจัดการที่ดีในพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร สามารถผลิตสัตว์น้ำได้ถึงปีละ 5-10 ตัน ตัวอย่างจากงานวิจัย เช่น สัตว์น้ำ 19 สายพันธุ์ได้รับการเพิ่มผลผลิตโดยแนวปะการังหอยนางรมในอ่าวเม็กซิโก ในขณะที่สัตว์น้ำ 12 สายพันธุ์ได้รับการเพิ่มผลผลิตในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกของสหรัฐอเมริกา (19 fish species were enhanced by oyster reefs in the Gulf of Mexico, while 12 species wereenhanced on the Eastern seaboard of the US) เป็นต้น
  • ในประเทศออสเตรเลีย พบว่า “หญ้าทะเล”หนึ่งเฮกตาร์สามารถสร้างมูลค่าต่อการประมงเชิงพาณิชย์ได้ถึงประมาณ 24,000 เหรียญสหรัฐ (In Australia, a single hectare of seagrass generates a commercial fishery enhancement worth approximately US $24,000)
  • ดังนั้น หากเราอยากเห็นความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำ เราจึงจำเป็นที่จะต้องมีการ “คุ้มครอง” ที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ โดยเฉพาะ “ระบบนิเวศตามแนวชายฝั่งทะเล” ทั้งเพื่อการสนับสนุน “วิถีชีวิต (livelihoods)” “เศรษฐกิจ (economies)” และ “ความมั่นคงทางอาหาร (food security)” ของคนในทุกภูมิภาคทั่วโลก

    ความสำคัญของระบบนิเวศตามแนวชายฝั่งทะเล ต่อการผลิตทดแทนของทรัพยากรสัตว์น้ำ ที่มาภาพ : https://oceanwealth.org/ecosystem-services/fisheries/

    ในส่วนของประเทศไทย หากเรานำความสำคัญของ “ระบบนิเวศตามแนวชายฝั่งทะเล” ดังกล่าว มาจำลองเข้ากับ “เขตประมงชายฝั่ง” ภายใต้บริบทของไทย ไม่ว่าจะเป็นในมิติทางนิตินัย มิติทางชีวภูมิศาสตร์ หรือมิติการจัดการทรัพยากร รวมทั้งการจัดการที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เราจะพบว่า การจัดการ “ระบบนิเวศตามแนวชายฝั่งทะเล” ใน “เขตประมงชายฝั่ง” ของไทยยังมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาและปรับปรุง ดังนี้

    1. “เขตประมงชายฝั่ง” (ในมิติทางนิตินัย) ตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ มาตรา ๕ หมายถึง เขตที่อยู่ในพื้นที่ “ทะเลชายฝั่ง” ซึ่งหมายความว่าเป็นเขตทะเลที่อยู่ในราชอาณาจักรนับจากแนวชายฝั่งทะเลออกไปสามไมล์ทะเล (โดยประมาณเว้นแต่ในกรณีที่มีความจําเป็นเพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำจะออกกฎกระทรวงกําหนดให้เขตทะเลชายฝั่งในบริเวณใดมีระยะนับจากแนวชายฝั่งทะเลออกไปน้อยหรือมากกว่าสามไมล์ทะเลก็ได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งจุดห้าไมล์ทะเลและไม่เกินสิบสองไมล์ทะเล)

    2. “เขตประมงชายฝั่ง” (ในมิติทางชีวภูมิศาสตร์) หมายถึงแหล่งที่อยู่อาศัยของพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำที่เข้ามาวางไข่ เพาะ/ขยายพันธุ์ อนุบาลและเจริญเติบโตของสัตว์น้ำวัยอ่อน ก่อนการเคลื่อนย้ายออกไปยังทะเลที่ลึกกว่า ใน“เขตประมงนอกชายฝั่ง” ต่อไป

    3. “เขตประมงชายฝั่ง” (ในมิติการจัดการทรัพยากร) หมายถึง แหล่งที่พึงกำหนดให้เป็นเขตสงวนอนุรักษ์ และขยายพันธุ์สัตว์น้ำ ที่ไม่ควรอนุญาตอนุญาตให้ใช้ประโยชน์หรือมีการใช้ประโยชน์อย่างจำกัด

    4. การอนุญาตให้มีการใช้ประโยชน์ในการจับสัตว์น้ำใน “เขตประมงชายฝั่ง” นี้จะต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวัง จำกัด และกำหนดเงื่อนไขพิเศษ เพื่อมิให้กระทบกับ “การสงวนอนุรักษ์ และขยายพันธุ์สัตว์น้ำ” หรือกระทบน้อยที่สุดเพื่อให้เกิดการอนุรักษ์และใช้ประโชยน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน

    5. “เขตประมงชายฝั่ง” (ในมิติการจัดการทรัพยากร) ในปัจจุบัน

      1) มีการห้าม “เรือประมงพาณิชย์” เข้าทำการประมงในเขตดังกล่าว
      2) มีการอนุญาตให้ “เรือประมงพื้นบ้าน” สามารถเข้าทำการประมงได้โดย (๑) ไม่จำกัดจำนวนเรือ (๒) ใช้เครื่องมือขนาดใหญ่ได้ (๓) ไม่จำกัดขนาดเรื่องยนต์ (๔) ไม่จำกัดจำนวนแรงงานและใช้แรงงานต่างด้าวได้ (๕) ไม่จำกัดการใช้เครื่องทุ่นแรง/อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อช่วยในการจับสัตว์น้ำ (เครื่องกว้าน/เครื่องโซนาร์/จำนวนและปริมาณแสงไฟล่อ) (๖) ไม่จำกัดเงื่อนไขของผู้ประกอบการ (สัญชาติ/จำนวนเรือต่อผู้ประกอบการหนึ่งคน/อายุ ฯลฯ)

      3) “เรือประมงพื้นบ้าน” ที่อนุญาตไม่มีการแยกขนาดเรือระหว่างเรือขนาดเล็กและเรือขนาดใหญ่ (ตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ “เรือประมงพื้นบ้าน” หมายถึงเรือที่มีขนาดไม่เกิน ๑๐ ตันกรอส หรือในบางกรณีสามารถมีขนาดได้ถึง ๑๕ ตันกรอส (มาตรา ๑๗๔) ของบทเฉพาะกาล)

    6. ถ้าใน “เขตประมงชายฝั่ง” ไม่สามารถอนุรักษ์ จัดการและใช้ประโชยน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำได้อย่างยั่งยืนแล้ว การประมงใน “เขตประมงนอกชายฝั่ง” ของไทย ก็ไม่สามารถเกิดความยั่งยืนได้

    7. เพื่อให้การ “อนุรักษ์ จัดการ และใช้ประโชยน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำ” ใน “เขตประมงชายฝั่ง” ได้อย่างยั่งยืน และส่งผลกระทบต่อการ “อนุรักษ์ จัดการ และใช้ประโชยน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำ” ใน “เขตประมงนอกชายฝั่ง” ได้อย่างยั่งยืนด้วย นั้น ต้องมีการจัดการ “เขตประมงชายฝั่ง” ใหม่ดังนี้

      1) ต้องแยกขนาดเรือระหว่าง “เรือประมงพื้นบ้าน” ขนาดเล็กและขนาดใหญ่ออกจากกัน โดยให้ “เรือประมงพื้นบ้าน” ขนาดใหญ่ต้องออกไปทำการประมงนอก “เขตประมงชายฝั่ง” และให้ “เรือประมงพื้นบ้าน” ขนาดเล็ก เท่านั้น ที่ยังคงทำการประมงใน “เขตประมงชายฝั่ง” ได้ต่อไป

      2) สำหรับ “เรือประมงพื้นบ้าน” ขนาดเล็ก ที่อนุญาตให้ทำการประมงใน “เขตประมงชายฝั่ง” ได้ต่อไป จะต้องมีการ (๑) จำกัดจำนวนเรือ (เนื่องจากทรัพยากรมีอย่างจำกัด และเขตพื้นที่อนุญาตเป็นเขตพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ) (๒) กำหนดคุณสมบัติของผู้ได้รับอนุญาต (สัญชาติไทย/อายุไม่ต่ำกว่า ๑๘ปี/ครอบครองเรือได้ไม่เกินคนละ ๑ ลำ ฯลฯ) (๓) กำหนดขนาดและชนิดของเครื่องยนต์ (๔) กำหนดจำนวนแรงงานและที่มาของแรงงาน (๕) กำหนดการใช้เครื่องทุ่นแรง/จำนวนและปริมาณแสงไฟล่อ/อุปกรณ์อีเล็กโทรนิคเพื่อช่วยการจับสัตว์น้ำ (๖) จำกัดชนิด จำนวน และขนาดของเครื่องมือ (๗) กำหนดการห้ามออกนอก “เขตประมงชายฝั่ง” (๘) กำหนดให้มีการจดบันทึก “ปูมเรือ” และ “ปูมทำการประมง” รายวันแบบง่าย และต้องจัดส่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทุกสิ้นเดือน (เพื่อประโยชน์ในการจัดการทรัพยากร) และ (๙) เงื่อนไขดังกล่าวข้างต้นอาจปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมตามสภาวะของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางทะเลที่เปลี่ยนแปลง

      3) สำหรับ “เรือประมงพื้นบ้าน” ขนาดเล็ก ส่วนเกิน ที่ได้รับผลกระทบจากการ “จำกัดจำนวนเรือ” ใน “เขตประมงชายฝั่ง” ต้องได้รับการชดเชยและเยียวยาจากรัฐหากไม่สามารถทำการประมงต่อไปได้

      4) สำหรับ “เรือประมงพื้นบ้าน” ขนาดใหญ่ต้องมีการกำหนดคุณสมบัติและเงื่อนไขให้สอดคล้องกับ “เรือประมงพาณิชย์” และอาจกำหนดให้น้อยกว่าหรือสามารถดำเนินการที่ง่ายและสะดวกกว่าก็ได้

    กล่าวโดยสรุป หากประเทศไทยสามารถปรับเปลี่ยนแนวคิดในการจัดการ “เขตประมงชายฝั่ง” ด้วยการให้การ “คุ้มครอง” ที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ โดยเฉพาะตาม “ระบบนิเวศตามแนวชายฝั่งทะเล” บนพื้นฐานของการอนุรักษ์ และใช้ประโยชน์เพื่อความยั่งยืนที่กล่าวมาข้างต้น

    เราก็จะมั่นใจได้ว่า ทรัพยากรสัตว์น้ำ ทั้งในเขตพื้นที่ “เขตประมงชายฝั่ง” และ “เขตประมงนอกชายฝั่ง” ของไทยจะกลับมาฟื้นตัวและมีความอุดมสมบูรณ์ให้เราสามารถเก็บเกี่ยวได้ชั่วลูกหลานในอนาคตได้โดยไม่ยาก

    นั่นย่อมหมายความว่า “วิถีชีวิต (livelihoods)” “เศรษฐกิจ (economies)” และ “ความมั่นคงทางอาหาร (food security)” ของคนในบริเวณชายฝั่งและประเทศไทยก็จะยั่งยืนตลอดไปด้วยเรือประมงพื้นบ้านขนาดเล็ก เรือประมงพื้นบ้านขนาดใหญ่