ThaiPublica > คอลัมน์ > 5 ปี ปลดใบเหลือง IUU Fishing (8 มกราคม 2562) แล้วไง : ประมงไทยดีขึ้นจริงหรือ

5 ปี ปลดใบเหลือง IUU Fishing (8 มกราคม 2562) แล้วไง : ประมงไทยดีขึ้นจริงหรือ

11 มกราคม 2024


วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์

เรือประมง จ.สมุทรสาคร

ประเทศไทยได้รับการแจ้งเตือนจากสหภาพยุโรป (EU) ว่าเป็นประเทศที่สาม ที่สุ่มเสี่ยงกับการทำการประมง (ทะเล) แบบ IUU Fishing (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing) เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2558 และรัฐบาลในขณะนั้น ได้ใช้กลไกในทุกภาคส่วนทั้งฝ่าบบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ดำเนินการทุกวิถีทางที่จะทำให้สหภาพยุโรปยอมรับ “สถานะของรัฐบาล (ที่มาจากการรัฐประหาร) ของตน” ด้วยการออกกฎหมายที่ขัดกับอนุสัญญาระหว่างประเทศ ขัดกับรัฐธรรมนูญฯ ของประเทศ ขัดกับหลักกฎหมายทั่วไป ขัดกับวิถีชีวิตของชาวประมงและชุมชน รวมทั้งการมีบทลงโทษที่ไม่เป็นธรรม มีอัตราโทษที่สูง ไม่ได้สัดส่วนของความผิด และบังคับใช้ด้วยความอคติและไม่เป็นไปตามหลักยุติธรรม ฯลฯ โดยไม่สนใจว่าจะทำให้ชาวประมง สังคม ชุมชน หรือเศรษฐกิจของประเทศเสียหายเพียงใดก็ตาม

ความภูมิใจ บนความ ‘Ship-หาย’ ของประเทศ

รัฐบาล(คสช.)ที่ผ่านมา ใช้เวลา 44 เดือนเศษ (3 ปี 8 เดือน 9 วัน หรือ 1,359 วัน) ด้วยการกระทำตามที่ EU สั่งการ จนกระทั่ง ได้รับการปลด ‘ใบเหลือง’ IUU Fishing เมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2562 โดยที่หลายๆ คนในสังคมต่างชื่นชมยินดี โดยเฉพาะผู้บริหารประเทศ (รัฐบาล) ในขณะนั้น ต่างดาหน้ากันออกมา ‘ไชโยโห่ฮิ้ว’ ในความสำเร็จของตัวเอง ท่ามกลางเสียงร้องและน้ำตาของผู้ประกอบการประมงน้อยใหญ่

หากเราย้อนเวลากลับไปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เมื่อวันที่เราได้รับการปลดใบเหลืองจาก EU ไม่ว่านายกรัฐมนตรี รองนายกฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อธิบดีกรมประมง ฯลฯ ต่างออกมาชื่นชมยินดีในความสำเร็จของตัวเอง เช่น

(1) นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า “พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยินดีที่สหภาพยุโรป (อียู) ประกาศปลดใบเหลืองการทำประมงไอยูยู หรือการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมของไทย ซึ่งถือเป็นเพียงประเทศเดียวที่ได้รับการพิจารณาในครั้งนี้ นับว่าเป็นข่าวดีอย่างมาก”

(2) พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้การต้อนรับนายจูเอา อะเกียอา มาชาโด ปลัดกระทรวงกิจการทางทะเล และประมงแห่งคณะกรรมธิการยุโรป และคณะผู้แทนสหภาพยุโรป โดยกล่าวว่า “เขามาแสดงความยินดีที่ไทยสามารถปลดใบเหลืองได้ และมายืนยันว่าเราจะดำเนินการทำงานร่วมกันต่อไป โดยเขาก็ชื่นชมการทำงานของเราในตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา”

(3) พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า “ไทยพร้อมที่จะเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือกับสหภาพยุโรปในการส่งเสริมการประมงอย่างยั่งยืนทั้งในระดับประเทศและภูมิภาค”

(4) นายถาวร ทันใจ รองอธิบดีกรมประมง ในฐานะโฆษกกรมประมง เปิดเผยว่า “รัฐบาลไทยโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกรมประมง ได้แก้ไขปัญหาการประมงผิดกฏหมายมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้การจัดระดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ของไทยดีขึ้น รวมถึงการแก้ไขปัญหาการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (IUU Fishing) ก็ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ซึ่งองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ชื่นชมประเทศไทยว่าสามารถดำเนินการเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี รวมถึงองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องกับการป้องกัน IUU ระดับสากล ก็ได้มอบรางวัลให้กับประเทศไทย แสดงให้เห็นว่านานาชาติให้ความเชื่อถือในเรื่องนี้ และที่สำคัญประเทศคู่ค้าให้ความสำคัญกับการทำประมงถูกกฏหมาย จนส่งผลให้การส่งออกสินค้าประมงของไทยเพิ่มขึ้น โดยปี 2565 ที่ผ่านมา การส่งออกมีมูลค่าสูงกว่า 229,000 ล้านบาท และส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง” ฯลฯ

แม้แต่ภาคเอกชน “หอการค้าไทย-สภาหอการค้าฯ-3 สมาคมสินค้าประมง” ก็ดาหน้าออกมากล่าว “ขอบคุณรัฐบาลปลดล็อกใบเหลือง” โดยนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการสายงานธุรกิจสินค้าเกษตรและอาหาร และสมาคมการค้าที่เกี่ยวข้อง “ขอขอบคุณและชื่นชมรัฐบาลเป็นอย่างยิ่งในการดำเนินการแก้ไขปัญหา IUU Fishing มาตลอดระยะเวลา 4 ปี ซึ่งสะท้อนให้สังคมโลกเห็นว่าประเทศไทยเป็นผู้นำภูมิภาคในการแก้ไขปัญหา IUU Fishing อย่างแท้จริง จะเป็นจุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญกับประเทศไทยในการการพัฒนาธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมประมงของไทยในอนาคต ตลอดจนการส่งเสริมการลงทุนของประเทศไทย และการเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่สินค้าประมงที่ส่งออกไปต่างประเทศต่อตลาดโลก และประเทศผู้นำเข้าให้เกิดการยอมรับอย่างยั่งยืน” (ที่มา : https://www.prachachat.net/economy/news-275756

รวมทั้งหน่วยงานวิจัยทางธุรกิจ เช่น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ก็ยังออกมาคาดว่า “หลังผลการแก้ไขปัญหา IUU Fishing เป็นรูปธรรม การส่งออกสินค้าประมงไทยไปยังตลาด EU ในปี 2562 น่าจะมีโอกาสพลิกกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้อีกครั้งในรอบ 8 ปี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 400-410 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 0.0-2.0 (YoY)” (ที่มา : https://www.thansettakij.com/business/379383)

สุสานเรือท่าจีน ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก Wicharn Sirichai-Ekawat
สุสานเรือท่าจีน ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก Wicharn Sirichai-Ekawat

เสียงสะท้อนจากชาวประมงและผู้เกี่ยวข้อง

ท่ามกลางเสียงความภาคภูมิใจของรัฐ และความชื่นชมยินดีของภาคอุตสาหกรรม แต่ตัวจริงเสียงจริงของผู้แทนชาวประมง อดีตผู้นำคนสำคัญในหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นักวิจัย ฯลฯ มีเสียงสะท้อนอีกมุมหนึ่ง เช่น

(1) นายกำจร มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมงสมุทรสาครและประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “การปลดใบเหลืองก็อาจมาช่วยในเรื่องการสร้างภาพลักษณ์เท่านั้น”

(2) ปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตอธิบดีกรมประมงและรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุ “แม้ไทยได้รับการปลดใบเหลืองการทำประมงผิดกฎหมาย แต่ชาวประมงยังเดือดร้อน ทุกข์ยากไม่สามารถประกอบอาชีพได้”

(3) นายวรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสตูล เขต 2 พรรคภูมิใจไทย ได้อภิปรายการยื่นญัตติให้สภาฯ ว่า “… สุดท้ายสิ่งที่เกิดขึ้นจากกฎหมายที่ไม่มีความเป็นธรรม อุตสาหกรรมประมงไทยทั้งระบบเจ๊ง กฎหมายที่ออกมาทำให้พี่น้องชาวประมงทำประมงไม่ได้ มีต้นทุนที่สูงขึ้น เรือ ห้องเย็น เจ๊งไปหายไป มากกว่าครึ่งในประเทศ จากนั้นเกิดโดมิโนเอฟเฟค ถึงตลาดปลา และแรงงานที่ขาดหายไป … ต่อมาในวันที่ 8 มกราคม 2562 EU ได้ประกาศปลดใบเหลืองให้กับประเทศไทย ชาวประมงได้อะไรจากความสำเร็จในครั้งนี้ เขาดีใจ หรือเสียใจกันแน่ เสียงที่สะท้อนกลับมาคือเสียงร้องไห้ จากการถูกบังคับใช้กฎหมาย”

(4) ไพสิฐ พาณิชย์กุล แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวหน้าชุดโครงการ “การลดความเหลื่อมล้ำ ผ่านกระบวนการยุติธรรม” สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า “การถูกปลดใบเหลืองมีผลบวกต่อภาพลักษณ์ประเทศ แต่สิ่งที่เราต้องสูญเสียไปคือวิถีชีวิตของผู้คนซึ่งเกิดขึ้นจากการที่รัฐออกกฎหมาย ทำให้หลายคนสูญเสียอาชีพ หลายคนครอบครัวแตกแยก หลายชุมชนแตกสลาย นี่เป็นเรื่องที่เราต้องเสียน้ำตาให้กับความไม่เป็นธรรมเหล่านี้ การเฮนั้นเป็นการเฮในลักษณะที่รัฐออกมาตรการต่างๆ ออกมา จนทำให้ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ เราได้ลุกขึ้นมาจัดการจนนานาชาติยอมรับ แต่ปัญหาที่เราซุกไว้ใต้พรมซุกไว้ในบ้านตัวเองใครจะเข้ามาแก้ปัญหาต่อ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมอยากทิ้งเป็นประเด็นสะท้อนกับเสียงเฮที่ว่า จริงหรือเปล่าที่เราควรจะเฮแบบมั่นใจว่าเราฟื้นฟูระบบประมงที่จะนำไปสู่การจัดการอย่างยั่งยืน” (ที่มา : https://waymagazine.org/fisherfolk-and-iuu/) ฯลฯ

ความคาดหวังไม่บังเกิด

ภายหลังจากที่ประเทศไทยได้ปลดใบเหลืองแล้ว ภายใต้กรอบ IUU Fishing ของ FAO ทุกคนคาดหวังว่าการปลดใบเหลืองในครั้งนั้น จะนำมาซึ่ง (1) ทรัพยากรที่เพิ่มขึ้น (2) การส่งออกที่เพิ่มขึ้น (3) ความเชื่อมั่นของต่างประเทศที่มากขึ้น และ (4) การประมงไทยจะยั่งยืนขึ้น แต่เมื่อหันกลับไปดูข้อมูลจากกรมประมง เราจะพบว่า ในปี พ.ศ. 2557 ก่อนการได้รับใบเหลือง เราเคยจับสัตว์น้ำได้ 1,572,561 ตัน แต่หลังจากปลดใบเหลืองแล้ว ผลการจับสัตว์น้ำกลับลดลงอย่างต่อเนื่อง เหลือเพียง 1,279,800 ตัน ในปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา (ดูตารางที่ 1)

ผลการส่งออกลดลงจาก 1,793,277.61 ตัน 227,860.49 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2557 เหลือ 1,592,675.56 ตัน มูลค่า 229,084.32 ล้านบาท (ดูตารางที่ 2) ส่วนในเรื่องของการนำเข้าอาหารทะเลกลับเพิ่มขึ้นจาก 1,628,237.48 ตัน มูลค่า 92,674.91 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2557 และเพิ่มขึ้นทุกปีเป็น 2,179,275.77 ตัน มูลค่า 157,606.54 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2565 หรือเพิ่มขึ้นถึง 551,038.29 ตัน คิดเป็นมูลค่า 64,931.63 ล้านบาท (ดูตารางที่ 3)

หากจะถามหาถึง “ความยั่งยืน (sustainability)” ในทางประมง วันนี้เราคงต้องมองทั้ง 3 มิติ ภายใต้ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs (sustainable development goals)” ขององค์การสหประชาชาติ (UN) ซึ่งประกอบไปด้วย (1) ทรัพยากรที่ยั่งยืน (2) อาชีพประมงที่ยั่งยืน และ (3) ชุมชน (สังคม) ประมงที่ยั่งยืน

คำถามที่เกิดขึ้น คือ ตลอดระยะเวลา 8 ปีเศษ ที่รัฐบาลที่ผ่านมาได้แก้ปัญหา IUU Fishing หรือ 5 ปีเต็ม ที่ EU ได้ปลดใบเหลืองแล้ว ได้นำไปสู่ความยั่งยืนทั้งสามหรือไม่ คำตอบที่ได้ คือ “ไม่”

ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอันไม่อาจปฏิเสธได้

ตลอดระยะเวลา 8 ปี 8 เดือนเศษที่ผ่านมา ข้อเท็จจริงได้ปรากฎแก่สายตาของสาธารณชนแล้วว่า

  • เศรษฐกิจของประเทศได้รับความเสียหายเกือบ 2 ล้านๆบาท
  • อุตสาหกรรมประมงของประเทศต้องล่มสลาย
  • การส่งออกสินค้าสัตว์น้ำลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
  • มีการนำเข้าสัตว์น้ำเพื่อการบริโภคมากขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน
  • ทรัพยากรสัตว์น้ำที่คาดว่าจะฟื้นตัวก็ไม่เกิดขึ้น
  • ผู้ประกอบการประมงน้อยใหญ่ได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส ถูกบังคับให้เลิกอาชีพ สูญเสียเรือ สูญเสียรายได้ มีหนี้สินล้นพ้นตัว ครอบครัวได้รับความเดือดร้อน จนบางรายถึงกับต้องทำอัตตวินิบาตกรรม
  • วิถีชีวิตของคนทะเลต้องเปลี่ยนแปลงไป
  • องค์ความรู้ทางทะเลที่เคยสั่งสมและสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคนได้ล่มสลายไป ฯลฯ ดังที่เราได้รับทราบกันผ่านสื่อสารมวลชนมาโดยตลอด
  • รัฐบาลใหม่ : รัฐบาลแห่งความหวังในการแก้ไขปัญหาประมงให้ถูกทิศ ถูกทาง และนำไปสู่ความยั่งยืน

    ตลอดระยะเวลา 8 ปี ที่ชาวประมงทั้งในนามขององค์กร (สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย) และในนามส่วนบุคคลของผู้ที่อยู่ในวงการประมง (รวมทั้งผู้เขียน) ได้พยายามอธิบายให้ผู้มีอำนาจในภาครัฐทุกระดับ ให้ดำเนินการช่วยเหลือและแก่ไข แต่การดำเนินการดังกล่าวเป็นเหมือนการ “ตักน้ำรดหัวตอ” หรือ “สีซอให้ควายฟัง” ไม่ได้เกิดประโยชน์อันใด ทำให้เสียเวลาเปล่า และผลักให้ชาวประมงไม่มีทางเลือก ต้องหันไปคุยกับพรรคการเมืองต่างๆ ที่อยู่ในฟากฝั่งฝ่ายค้านในขณะนั้น ซึ่งก็ได้รับคำตอบอย่างดีจากทั้ง 4 พรรคสำคัญ ประกอบด้วย “พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย และพรรคประชาชาติ” โดยได้พยายามที่จะช่วยเหลือในการแก้ไขกฎหมาย (พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558) ที่ไม่เป็นธรรม แต่ก็ไม่สามารถทำได้สำเร็จ เนื่องจากเป็นปลายสมัยของสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 และถูกยุบสภาไปก่อนหมดวาระเพียงไม่กี่วัน

    โรดแมปในการแก้ไขปัญหาประมงแบบเบ็ดเสร็จเพื่อความยั่งยืน

    ก่อนการเลือก ทั้ง 4 พรรค ได้มาทำการบ้านร่วมกับ “สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย” (และผู้เขียน) มีการทำแนวทางในการแก้ปัญหาทั้งระบบ (โรดแมป) ที่คาดว่าเมื่อเป็นรัฐบาลแล้ว จะได้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาประมงทั้งระบบ โดยยังอยู่ในกรอบของกติกาสากลภายใต้บริบทของประเทศไทย อันประกอบด้วย UNCLOS 1982, FAO CoC for Responsible Fishing, IPOA-IUU ฯลฯ แต่ประเด็นปัญหาคือ การถูกสกัดด้วยกติกาที่บิดเบี้ยวของรัฐธรรมนูญฯ จนนำไปสู่การการจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้า และ “การร่วมรัฐบาล” ที่ไม่เป็นไปตามคาดอย่างที่รับทราบกัน

    แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อ “พรรคเพื่อไทย” ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ก็ยังดำเนินการต่อตามที่ได้ให้สัญญาไว้กับพี่น้องชาวประมง โดยนายเศรษฐา ทวีสิน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้ทำงานเชิงรุกด้วยการลงพื้นที่ทันทีภายหลังการได้รับเลือกตั้งจากรัฐสภาให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อรับฟังปัญหา และสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวประมงอีกครั้ง

    วันนี้ รัฐบาลได้ทำงานมากว่า 100 วันแล้ว แม้ว่าจะ “ไม่เป็นไปตามโรดแมป” ข้างต้น แต่ผมก็ถือว่ายอมรับได้ เพราะคงต้องยอมรับในข้อจำกัดต่างๆ ที่ยังมีอยู่จากเงื่อนปมที่ คณะรัฐประหาร (คสช.) ได้สร้างไว้ แต่ก็ยังเป็นความหวังของพี่น้องชาวประมงครับ

    สิ่งที่เราสัมผัสได้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา อย่างน้อย 6 ประเด็นที่สำคัญ คือ

    1. การปักธงที่จะเจรจากับนานาชาติ (รวมทั้งสหภาพยุโรป หรือ EU) ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ (รวมทั้งเรื่องการประมง) บนพื้นฐานของความเท่าเทียมละอธิปไตยของชาติ

    2. การตั้ง “คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการประมงทะเล เพื่อฟื้นฟูการประมงทะเลและอุตสาหกรรมการประมง” โดยคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 240 /2566 ลงวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2566 ซึ่งมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ และนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการ ได้แต่งตั้งอนุกรรมการอีก 6 คณะ เพื่อระดมสรรพกำลังในการแก้ไขปัญหาประมงในมิติต่างๆ

    3. การตั้ง “คณะกรรมการแก้ไขปัญหาประมงทะเล” เพื่อให้การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาประมงทะเลสามารถดำเนินการบรรลุผลสําเร็จเป้าหมายและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคําสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ 709/2566 ลงวันวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 256 ซึ่งมีร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานกรรมการ

    4. การเพิ่มวันทำการประมงให้กับเรือประมง จำนวน 1,200 ลำ “เพื่อจะเป็นการสร้างงานให้กับแรงงานมากกว่า 20,000 คน และสร้างรายได้ให้กับประเทศกว่าพันล้านบาท ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นในการคืนอาชีพ คืนชีวิตให้ชาวประมงไทย”

    5. การแก้ไขอนุบัญญัติ รวม 11 ฉบับ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและอำนวยความสะดวกในการทำการประมง

    6. การเสนอแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ในเวทีรัฐสภา

    7. ฯลฯ

    บทสรุป

    1. 5 ปี ปลดใบเหลือง IUU Fishing (8 มกราคม 2562) ประมงไทย “เลวร้ายลง” เกิดความ “Ship-หาย” ทุกหย่อมหญ้าในจังหวัดชายทะเล 22 จังหวัด

    2. โชคดีที่เปลี่ยนรัฐบาลแล้ว ชาวประมงมีความหวังมากขึ้นว่าจะมีการแก้ไขปัญหาให้ถูกทางโดยเร็ว

    3. ขอบคุณรัฐบาลปัจจุบัน (ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี) ที่ได้เริ่งแก้ไขปัญหาไปบางส่วนแล้ว และจะกำเนินการต่อไป ภายใต้กรอบของกติกาสากลและบริบทของประเทศไทย เพื่อความยั่งยืน ทั้งของทรัพยากร ผู้ประกอบการ และชุมชนประมง รวมทั้งผลประโยชน์ของชาติครับ