ThaiPublica > Sustainability > Contributor > ชะตากรรมฉลามกับความ (ไม่) ยั่งยืนของการประมง

ชะตากรรมฉลามกับความ (ไม่) ยั่งยืนของการประมง

6 กุมภาพันธ์ 2024


ภาพซากฉลามกองมหึมาที่ตลาดทะเลไทย มหาชัย ที่มีนักดำน้ำเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดียเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว ทำให้สังคมหันมาให้ความสนใจกับประเด็นการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ฉลามกันอีกครั้ง ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนปัญหาอะไรบ้างเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทะเลและการจัดการประมงในปัจจุบัน

ที่มาภาพ: Nutch Prasopsin

เมื่อปี 2021 องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ได้เปิดเผย รายงานเกี่ยวกับฉลามและปลากระเบนทั่วโลกว่าสถานภาพการอนุรักษ์ของสัตว์ทะเลในกลุ่มนี้น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะราวหนึ่งในสามของฉลามและกลุ่มปลากระเบน 1,041 ชนิดทั่วโลกกำลังถูกคุกคามจนใกล้สูญพันธุ์ และมีแนวโน้มลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว ฉลามทั่วโลกหลายกลุ่มมีจำนวนประชากรลดลงกว่า 80-90% ในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา

ภัยคุกคามหลักสำหรับฉลามและกลุ่มปลากระเบนคือการจับปลาที่มากเกินไป (overfishing) ในอดีตการถูกจับโดยไม่ตั้งใจหรือเป็นสัตว์น้ำที่ถูกจับโดยบังเอิญ (bycatch) นับเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้ประชากรฉลามมีจำนวนลดลง อีกนัยหนึ่งก็คือ ความจริงเรือประมงไม่ได้ต้องการจับฉลาม แต่ได้ฉลามติดมาเองจากเครื่องมือประมงที่จับไม่เลือกประเภท เช่น อวนลากหรือเบ็ดราว

ทว่าสถานการณ์ในปัจจุบันเปลี่ยนไปมาก เพราะความที่ประมงทะเลจับปลาเศรษฐกิจหลักๆ ได้น้อยลงเรื่อยๆ รวมทั้งตลาดรองรับหูฉลามและกระเบน รวมไปถึงอวัยวะทุกส่วนของฉลามที่มีมากขึ้น ปัจจัยดังกล่าวจึงทำให้ฉลามและกระเบนที่ถูกจับมาได้เป็นที่ต้องการของตลาด จากปลาที่ไม่เคยมีราคาก็เริ่มกลายเป็นโบนัสก้อนโตของเรือประมง เพราะนอกจากหูฉลาม อวัยวะทุกส่วนก็ขายได้ราคาทั้งสิ้น บางส่วนจึงเริ่มมีการใช้เหยื่อล่อฉลามเป็นการเฉพาะมากขึ้น

ประชากรปลาฉลามในประเทศไทยลดลงอย่างมาก นับตั้งแต่เริ่มใช้การลากอวนเชิงพาณิชย์ใน พ.ศ. 2503 และจากข้อมูลด้านการประมงพบว่า ประเทศไทยเผชิญกับการลดลงของจํานวนปลาฉลามอย่างรวดเร็วที่สุดประเทศหนึ่ง จํานวนปลาฉลามที่จับได้จากการประมงทะเลลดลงอย่างรุนแรงในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา จากสถิติการประมงของประเทศไทยในช่วงปี พ.ศ. 2541 ถึง พ.ศ. 2561 พบว่ามีการจับปลาฉลามและปลากระเบนได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี พ.ศ. 2546 โดยมีปริมาณ 14,409 และ 18,131 เมตริกตันตามลําดับ หลังจากนั้นก็จับได้ลดลงอย่างรวดเร็ว โดยจับได้ต่ำสุดในปี พ.ศ. 2561 โดยจับปลาฉลามได้เพียง 419 เมตริกตัน และปลากระเบน 2,311 เมตริกตัน

ตัวเลขดังกล่าวชี้ให้เห็นว่ามีปริมาณการจับปลาฉลามลดลงถึง 97% และปริมาณการจับปลากระเบนลดลงเกือบ 90% ในเวลาไม่ถึงสองทศวรรษ

ที่มาภาพ : ทัศพล กระจ่างดารา, 2562

แม้ฉลามจะเริ่มกลายเป็นของหายาก แต่ช่วงต้นปีหรือก่อนเทศกาลตรุษจีน มักมีรายงานการพบปลาฉลามและปลากระเบนลอตใหญ่ๆ เข้ามาในแพปลาและตลาดสัตว์น้ำขนาดใหญ่อยู่เสมอ เมื่อ 5-6 ปีมาแล้ว ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางไปสำรวจทรัพยากรทางทะเลที่หมู่เกาะมะริดทางตอนใต้ของประเทศพม่า ความที่ต้องเดินทางออกจากท่าเรือจังหวัดระนองทำให้มีโอกาสได้ไปสังเกตกิจการประมงที่แพปลาจังหวัดระนอง ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าเป็นตลาดปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ และมักจะมีฉลามและปลากระเบนแปลกๆ มาขึ้นอยู่เสมอๆ

ที่มาภาพ: Petch Manopawitr

ครั้งนั้นผู้เขียนพบปลาฉลาม ปลากระเบน ปลาโรนิน ปลาโรนันวางจำหน่ายอยู่เป็นจำนวนมากจนน่าตกใจ มีตั้งแต่ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก และที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือปลาส่วนใหญ่เป็นปลาฉลามในวัยอ่อนที่ถูกจับมา ขายเป็นกองๆ หรือเป็นเข่งๆ ไม่ว่าจะเป็นปลาฉลามหัวค้อน ปลาฉลามครีบดำ ปลาฉลามเสือ ส่วนตัวเต็มวัยก็มีความหลากหลายอย่างยิ่ง เช่น ฉลามหัวบาตร ฉลามหางยาว ฉลามขี้เซา ฉลามหนู ปลาโรนิน กระเบนปีศาจ หรือแม้แต่ฉลามเสือดาว

ที่มาภาพ: Petch Manopawitr

เหตุการณ์ล่าสุดที่ตลาดทะเลไทยมหาชัยก็ไม่ต่างกัน มีการพบฉลามหลังหนาม ฉลามหัวค้อน และปลาโรนันวางจำนวนเป็นจำนวนมาก นักดำน้ำที่ได้มาพบย่อมต้องตกตะลึงเพราะปลาฉลามหลายชนิดที่หาดูได้ยากยิ่งในธรรมชาติกลับสามารถพบนอนเกลื่อนเป็นกองๆ อยู่ที่นี่น่าสนใจว่าฉลามเหล่านี้ถูกจับมาจากน่านน้ำไทยหรือไม่ นักวิชาการหลายท่านเชื่อว่าโอกาสที่จะพบฉลามมากมายเช่นนี้ในทะเลไทยหมดไปนานแล้ว

ความเชื่อที่ว่าฉลามจำนวนมากหมดไปจากทะเลไทยนานแล้วน่าจะมีส่วนจริง เพราะรายงานเมื่อปี 2021 ของ IUCN ก็ระบุว่าประเทศไทยและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน นับเป็นสองบริเวณที่พบว่าประชากรฉลามและกระเบนหมดสิ้นไปอย่างรวดเร็วที่สุดในโลก

ข้อสันนิษฐานที่มีความเป็นไปได้ที่สุดก็คือ ฉลามเหล่านี้อาจถูกจับมาจากน่านน้ำในประเทศอื่น อาจไกลถึงอินโดนีเซีย พม่า หรืออินเดียในบริเวณที่การประมงยังไม่หนาแน่นมากนัก

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของปลาฉลามในพม่าเปลี่ยนไปอย่างมาก ซึ่งคาดว่าเป็นผลกระทบโดยตรงของการทำประมง นักดำน้ำที่มีประสบการณ์ดำน้ำในประเทศพม่าต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า จุดเด่นของการดำน้ำในพม่าในอดีตก็คือฝูงปลาขนาดใหญ่ รวมทั้งปลาฉลามและกระเบนตัวโตๆ ที่หาดูได้ง่ายๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่แทบเป็นไปไม่ได้แล้ว นั่นคือความคาดหวังของนักดำน้ำส่วนใหญ่ที่ตัดสินใจไปดำน้ำในพม่า แต่งานสำรวจที่ผู้เขียนมีส่วนร่วมด้วยในหมู่เกาะมะริดเมื่อ 5-6 ปีที่แล้วแทบไม่เจอฉลามเลย การดำน้ำกว่า 30 ไดฟ์กับการพบฉลามครีบขาวตัวไม่เต็มวัยเพียงตัวเดียว ถือว่าเป็นสิ่งที่ผิดความคาดหมายของนักวิจัยทุกคนเป็นอย่างยิ่ง

ภาพฉลามตายเกลื่อนอยู่ที่แพปลาจังหวัดระนองทำให้ผมฉุกคิดว่า การจับฉลามทั้งที่โดยตั้งใจหรือโดยไม่ตั้งใจในปริมาณมากมายขนาดนั้น ย่อมจะส่งผลต่อประชากรในธรรมชาติไม่ช้าก็เร็ว เพราะฉลามและกระเบนมีลักษณะแตกต่างจากปลาอื่นๆ โดยสิ้นเชิงตรงที่พวกมันโตช้า ออกลูกคราวละไม่กี่ตัว และใช้เวลานานกว่าจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ บางชนิด เช่น ฉลามหัวบาตรใช้เวลาตั้งท้องถึง 10-12 เดือน นานกว่ามนุษย์เสียด้วยซ้ำ จะว่าไปลักษณะชีววิทยาของฉลามและกระเบนมีลักษณะคล้ายกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมใกล้สูญพันธุ์หลายชนิด คือมีอัตราการขยายพันธุ์ต่ำโดยธรรมชาติ เมื่อถูกล่าและนำมาใช้ประโยชน์อย่างไม่มีการควบคุม ประชากรในธรรมชาติย่อมไม่อาจทดแทนตัวเองได้ทัน นักวิชาการมักเรียกสิ่งมีชีวิตประเภทนี้ว่าเป็นชนิดที่จำเป็นต้องได้รับการอนุรักษ์ (conservation-dependent species) หมายความว่าถ้าปล่อยให้มีการใช้ประโยชน์อย่างไร้มาตรการอนุรักษ์ควบคุม ก็มีโอกาสที่จะหมดไปอย่างรวดเร็ว

การเปิดให้มีการค้าขายฉลามซึ่งเป็นสัตว์ผู้ล่าสูงสุดของระบบนิเวศทางทะเลกันอย่างถูกกฎหมายและเปิดเผยโดยไม่มีการควบคุม เป็นเครื่องสะท้อนว่าการอนุรักษ์ทางทะเลยังล้าหลังทางบกอยู่มาก ทั้งในเรื่องของข้อมูล จิตสำนึก ค่านิยม และการศึกษาวิจัย เพราะเราคงไม่มีใครรับได้อีกแล้วหากเดินไปที่ตลาดวันนี้และพบว่ามีคนนำซากเสือชนิดต่างๆ มาขายกันอย่างเปิดเผย แต่ในกรณีของฉลามเรากลับยอมรับได้

รายงานข้อเสนอแนะด้านนโยบายเพื่อการอนุรักษ์และการบริหารการจัดการปลาฉลามของประเทศไทย (2563) โดยองค์กร WildAid ร่วมกับ WWF ระบุถึงข้อจำกัดและช่องโหว่ในการอนุรักษ์จัดการฉลามในปัจจุบันดังนี้

  • ปัจจุบัน มีฉลามเพียงสายพันธุ์เดียวและปลากระเบน 10 สายพันธุ์เท่านั้นที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายภายใต้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ทำให้สถานะของชนิดพันธุ์อื่นมักไม่ได้รับการคุ้มครอง หรือขาดการจัดการประมงที่เหมาะสม
  • ปลาฉลามและปลากระเบนที่ถูกจับโดยบังเอิญ (bycatch) จริงๆ แล้วถือเป็นสัตว์น้ำพลอยได้ (incidental catch) ซึ่งหมายถึงการจับสัตว์น้ำสายพันธุ์ที่ไม่ได้เป็นเป้าหมายอย่างไม่ได้ตั้งใจ แต่เก็บไว้เนื่องจากมีค่าตอบแทนสูง โดยเฉพาะสัตว์น้ำที่มีขนาดใหญ่ ควรมีมาตรการหรือแรงจูงใจเพื่อกระตุ้นชาวประมงให้ปล่อยสัตว์ที่ไม่ได้เป็นเป้าหมายออกไป รวมทั้งส่งเสริมการลดการใช้เครื่องมือที่จับไม่เลือกชนิดเพื่อลดปัญหาสัตว์น้ำพลอยได้
  • การค้าในตลาดมืดหรือการค้าที่ผิดกฎหมายมักเป็นอุปสรรคขัดขวางการเก็บข้อมูล และปิดบังสถานการณ์ที่แท้จริงเกี่ยวกับปริมาณการใช้ประโยชน์จากฉลาม ที่เป็นผลพลอยได้จากการประมงและขายให้กับตัวแทนจำหน่าย
  • แม้ว่าอุทยานแห่งชาติทางทะเลมีกฎหมายที่ปกป้องฉลามและปลากระเบนอย่างเต็มที่แล้ว แต่การบังคับใช้กฎหมายยังไม่สามารถทำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะช่วงฤดูกาลปิดอุทยานแห่งชาติที่ไม่มีนักท่องเที่ยว และไม่มีเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายอย่างเพียงพอ
  • การประมงขนาดเล็กหรือประมงพื้นบ้านได้รับอนุญาตให้ทำประมงได้แม้ในพื้นที่คุ้มครอง ส่งผลให้มีการจับปลาฉลามและปลากระเบนบ่อยครั้ง
  • เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนจำกัดที่มีความรู้ในการจำแนกฉลามในระดับสกุลหรือชนิดพันธุ์ สัตว์ที่อยู่ในบัญชีไซเตส (CITES) จึงไม่ได้รับความสนใจและการตรวจสอบที่เหมาะสมเพียงพอ การตรวจสอบที่ท่าเรือมักมีความท้าทายเนื่องจากขาดความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หากกรมประมงมีข้อจำกัดด้านทรัพยากรบุคคล ควรพิจารณาให้ผู้เชี่ยวชาญช่วยสำรวจและรวบรวมข้อมูล
  • ในพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมบางแห่ง เช่น ภูเก็ต กระบี่ และพังงา ฉลามเสือดาว ปลาฉนาก และฉลามวัยอ่อนที่มีความยาวน้อยกว่า 50 ซม. ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายในประกาศแนบท้าย อย่างไรก็ตาม ความตระหนักเกี่ยวกับกฎระเบียบที่บังคับใช้อยู่ยังมีค่อนข้างน้อย และความพยายามในการติดตามและบังคับใช้ยังไม่มากเท่าที่ควร
  • การห้ามเรืออวนลากและเรืออวนรุนในระยะ 5,400 เมตรจากชายฝั่ง สามารถตรวจสอบและบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น แต่การประมงขนาดเล็กยังขาดความตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องฉลามและปลากระเบน และยังมีความต้องการสูงสำหรับการบริโภคในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ
  • กลุ่มอนุรักษ์ WildAid และ WWF มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังนี้

    1. นโยบายและระเบียบข้อบังคับ:

    ประเทศไทยมีกฎระเบียบต่างๆ เพื่อรองรับการจัดการอนุรักษ์ฉลาม แต่ขาดการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้ปัจจุบันมาตรการหลายอย่างไม่ได้นำไปปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร กรมประมงได้ดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่อการอนุรักษ์และการบริหารจัดการฉลามของประเทศไทย (NPOA-Sharks) พ.ศ. 2563-2567 มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาและการจัดทำฐานข้อมูลชีววิทยา นิเวศวิทยา การประมง และการใช้ประโยชน์ฉลามในน่านน้ำไทย 2) ประเมินสถานภาพและภัยคุกคามที่เกิดจากการประมงและสิ่งแวดล้อมที่มีต่อฉลามอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง 3) พัฒนาองค์ความรู้และขีดความสามารถในด้านการบริหารจัดการที่เกี่ยวกับฉลามของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง 4) กำหนดมาตรการอนุรักษ์ ควบคุมการทำประมง และการค้าฉลามที่สอดคล้องกับกฎระเบียบ ข้อกำหนด และพันธกรณีระหว่างประเทศ 5) พัฒนาและสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการบริหารจัดการและอนุรักษ์ทรัพยากรฉลาม

    แผนดังกล่าวถือเป็นกรอบการทำงานที่เน้นการวิจัยและติดตาม การเสริมสร้างศักยภาพมาตรการอนุรักษ์ในพื้นที่ และความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแต่ยังขาดกลไกในการประสานงานและระยะเวลาในการดำเนินการที่ชัดเจน

    นอกจากนี้ แผนดังกล่าวควรคำนึงถึงขั้นตอนที่จำเป็นต่อการติดตามการค้าชนิดพันธุ์ฉลามที่ถูกบรรจุอยู่ในบัญชีแนบท้ายที่ 2 ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ หรือไซเตส รอบล่าสุดด้วย ควรมีการจัดลำดับความสำคัญของกิจกรรมภายใต้วัตถุประสงค์ในแต่ละข้อของแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการฉลามของประเทศไทยสำหรับแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมประมง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

    สำหรับแนวทางในช่วงต่อจากนี้ กรมประมงควรเป็นผู้นำในการประสานงานและจัดตั้งคณะทำงานระหว่างหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามแผน NPOA-Sharks รวมถึงองค์กรพัฒนาเอกชน ทั้งนี้ เราได้นำเสนอข้อเสนอแนะนำสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในตารางด้านล่าง เพื่อให้การดำเนินงานตามแผน NPOA-Sharks เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

    การจัดทำและปรับปรุงแผน NPOA-Sharks ในระยะที่ 2 (พ.ศ. 2568-2572) ควรพิจารณาถึงอุปสรรคจากการดำเนินงานในแผนฉบับแรก แนวทางแก้ไขและปฏิบัติในระยะต่อไป โดยองค์กร WildAid และ WWF ประเทศไทย ยินดีที่จะสนับสนุนกรมประมงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในปรับปรุงแผนในระยะที่ 2 ต่อไป

    2. มาตรการในการอนุรักษ์:

  • ควรให้ความสำคัญกับการวิจัยและการจัดการชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามทั่วโลก ประกอบไปด้วยชนิดพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (critically endangered หรือ CR) ใกล้สูญพันธุ์ (endangered หรือ EN) และมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (vulnerable หรือ VU) และชนิดพันธุ์ที่ระบุไว้ในบัญชีแนบท้ายที่ 2 ของอนุสัญญาไซเตส
  • กำหนดแนวทางและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการมาตรการอนุรักษ์ในระดับพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็นแหล่งอาศัยที่สำคัญของฉลาม
  • ประเทศไทยได้กำหนดพื้นที่คุ้มครองครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งและทะเล 18,136 ตารางกิโลเมตรและประมาณ 5.6% ของพื้นที่ที่เป็นทะเลทั้งหมด ประเทศไทยยังคงต้องปกป้องพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งเพิ่มเติมอีก 14,212 ตารางกิโลเมตร เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (CBD) อย่างน้อย 10% ของพื้นที่ชายฝั่งและทะเล และพื้นที่เป้าหมายดังกล่าวจะปรับเป็น 30% ภายในปี 2573 พื้นที่คุ้มครองทางทะเลของประเทศไทยนั้นให้ความคุ้มครองแนวปะการัง หญ้าทะเล ป่าชายเลน และพื้นที่พื้นหน้าดิน ซึ่งพื้นที่ทั้งหมดนี้เป็นที่อยู่อาศัยของฉลามและปลากระเบน ตามกฎหมายแล้วภายในพื้นที่อุทยานแห่งชาตินั้นไม่อนุญาตให้ทำการประมงเชิงพาณิชย์และการตกปลาขนาดเล็ก แม้ว่าการตกปลาขนาดเล็กจะเกิดขึ้นและมักถูกมองข้ามก็ตาม ควรเพิ่มขีดความสามารถในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อเพิ่มการลาดตระเวน การติดตามการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นระบบเช่น ควรใช้ SMART (spatial monitoring and reporting tool) และควรให้ความสำคัญของการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับฉลาม
  • จัดทำแผนที่ที่เป็นแหล่งอาศัยของฉลามและชูให้เป็นพื้นที่ความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญ (key biodiversity area หรือ KBAs) อาจเป็นอีกหนึ่งหนทางที่จะช่วยและสร้างเครือข่ายของพื้นที่คุ้มครองทางทะเล ทั้งนี้ อาจเริ่มจากการรวบรวมและพิจารณาข้อมูลที่ได้จากการบอกเล่าเกี่ยวกับการพบเห็นฉลาม จากกลุ่มนักดำน้ำและชาวประมงผ่านโซเชียลมีเดีย
  • อุทยานแห่งชาติทางทะเลหลายแห่ง พื้นที่อนุรักษ์และคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และพื้นที่ใกล้ชายฝั่งที่มีการพบเห็นหรือจับปลาฉลามและปลาฉลามในระยะตัวอ่อน (juvenile) อยู่บ่อยครั้ง เช่น หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ เกาะห้อง จ.พังงา อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี จึงควรสร้างฐานข้อมูลกลางเกี่ยวกับฉลามในพื้นที่เหล่านี้ การวิจัยและการติดตามประชากรฉลามที่รู้จักกันเป็นอย่างดี เช่น Maya Bay Shark Watch เป็นขั้นตอนที่สำคัญในการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดการฉลาม การสร้างเขตรักษาพันธุ์ปลาฉลามหรือเขตสงวนพันธุ์ปลาฉลามที่มีข้อมูลอ้างอิงตามงานวิจัย อาจเป็นวิธีที่ดีในการสร้างการรับรู้และเน้นย้ำถึงความสำคัญของแหล่งอนุรักษ์ฉลามและการทำประมงอย่างมีความรับผิดชอบ
  • 3. การส่งเสริมความตระหนักรู้:

    ประเทศไทยมีการดำเนินโครงการรณรงค์สาธารณะเพื่อเปลี่ยนมุมมองของผู้บริโภคและการค้าขายสัตว์ทะเลอย่างต่อเนื่อง เช่น ในกรณีของการนำปลานกแก้วออกจากชั้นวางในซูเปอร์มาร์เกต การรณรงค์ที่ประสบความสำเร็จอื่นๆ ได้แก่ โรงแรมและร้านอาหารหูฉลามออกจากเมนู และการปิดพื้นที่ที่อ่อนไหวเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติ เนื่องจากนักท่องเที่ยวมากเกินไป เช่น อ่าวมาหยาในอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี และการปิดเกาะตาชัยในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน มาตรการเหล่านี้จะไม่ประสบความสำเร็จหากปราศจากการระดมมวลชน

    การรับรู้เรื่องฉลามสำหรับประชาชนทั่วไปจากการนำเสนอของสื่อ ฉลามมักถูกนำเสนอว่าเป็นสัตว์ที่ “อันตราย ดุร้าย เลือดเย็น และก้าวร้าว” โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉลามกัดคน อย่างไรก็ตาม นักอนุรักษ์ค่อนข้างประสบความสำเร็จในการให้ความรู้แก่สาธารณชนเกี่ยวกับบทบาทของฉลามในธรรมชาติและความสำคัญทางนิเวศวิทยาดังที่เห็นได้จาก เหตุการณ์ฉลามกัดคนเมื่อไม่นานมานี้ และเห็นว่าควรมีการสร้างความตระหนักให้สาธารณชนเข้าใจว่าฉลามเป็นสัตว์ที่สำคัญต่อการอนุรักษ์ทางทะเลให้มากขึ้น

    ฉลามและปลากระเบนยังคงเป็นที่นิยมในการบริโภคและจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ เมื่อไม่นานมานี้ ฉลามตากแห้งยังใช้เป็นขนมสำหรับสัตว์เลี้ยงและมีการทำการตลาดอย่างกว้างขวางโดยไม่อาจทราบผลกระทบต่อประชากรในธรรมชาติ ก็ยิ่งสะท้อนปัญหาสำคัญของการอนุรักษ์ทะเลไทย ที่ยังขาดความรู้ ความเข้าใจถึงบทบาทความสำคัญของปลาฉลาม ในขณะที่มาตรการเชิงกฎหมายก็ยังเปิดโอกาสให้มีการใช้ประโยชน์อย่างไร้การควบคุม ทำให้เสี่ยงต่อการสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ทางระบบนิเวศของท้องทะเล

    ที่มาภาพ: Petch Manopawitr

    การหายไปของฉลามอาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงการทำประมงที่มากเกินกำลังการผลิต การส่งเสริมความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับบทบาททางนิเวศวิทยาของปลาฉลามและสร้างการรับรู้ให้ปลาฉลามเป็นสัญลักษณ์ในการอนุรักษ์ จะเป็นหนึ่งในแนวทางลดการทำประมงที่มากเกินกำลังการผลิตและส่งเสริมอาหารทะเลที่ยั่งยืน

    ในขณะที่ประชากรของปลากระเบนนั้นลดน้อยลงอย่างรุนแรงแต่ได้รับความสนใจจากสาธารณชนน้อยมาก การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปลาฉลามและปลากระเบนจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างเร่งด่วน และการสร้างความตระหนักนี้อาจเริ่มจากชนิดพันธุ์ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญในการอนุรักษ์เช่น ชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามใน IUCN Red List และชนิดพันธุ์ที่อยู่ในบัญชีไซเตส ที่กำลังให้ความสำคัญของปลากลุ่มนี้เป็นพิเศษ

    เรายังมีความเชื่อว่าทะเลเป็นทรัพยากรส่วนกลาง ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ใครอยากใช้อะไรก็ใช้และใช้เท่าไหร่ไม่มีวันหมด แต่ความจริงไม่ใช่เช่นนั้น เรามีตัวอย่างมากมายของความล้มเหลวและการพังทะลายของสมดุลระบบนิเวศจากการจับปลาที่มากเกินไป ผลสรุปสุดท้ายก็คือการล่มสลายของกลุ่มชาวประมงเอง

    อ้างอิง
    Krajangdara, T. (2019). Sharks and Rays of Thailand. Country Report. Department of Fisheries.
    WildAid and WWF. 2023. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อการอนุรักษ์และการบริหารจัดการฉลามของประเทศไทย