เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์
กรณีโศกนาฏกรรมวันอังคาร 1 ตุลาคม2567 ที่มีนักเรียนและคุณครูถึง 23 คนที่ต้องเสียชีวิตจากเหตุรถทัศนศึกษาเพลิงไหม้บริเวณริมถนนวิภาวดีรังสิต จ.ปทุมธานีนั้น ได้เพิ่มความหนักแน่นของสื่อต่างชาติ (BBC., Reuters, Ap, The Guardian ฯลฯ ) ที่กระหน่ำข่าวตรงกันว่า “มาตรฐานความปลอดภัยบนท้องถนนของประเทศไทยนั้น “ย่ำแย่ติดอันอับโลก”
โดยเฉพาะ WHO (องค์การอนามัยโลก) ระบุว่า ทุกปีในประเทศไทยมีคนตายเพราะอุบัติเหตุบนท้องถนนปีละกว่า 2 หมื่นคน พิการกว่า 4 แสนคน บาดเจ็บกว่า 1 ล้านคน และได้ติดอันดับโลก 1-5 มาทุกปี แถมมีอยู่หลายปีที่ติดอันดับ 1
TDRI ได้คำนวณมูลค่าของความสูญเสียจากการเสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัสจากอุบัติเหตุจราจรของไทย พบว่าเป็นจำนวนเงินสูงถึงปีละ 15,500 ดอลล่าร์สหรัฐฯ (ราว 520,000 ล้านบาท)
จากข้อมูลพบว่า หลายประเทศที่ขึ้นชื่อในเรื่องมาตราฐานความปลอดภัยระดับสูงนั้นมีหลายสิ่งที่ตรงกันในเรื่องของการทัศนศึกษา เช่น 1. ห้ามนักเรียนเดินทางในเวลากลางคืน 2. ไม่ให้เดินทางเกินกว่า 3 ชั่วโมง 3. มีการซ้อมแผนปฏิบัติการฉุกเฉินอย่างต่อเนื่อง 4. ทุกยานพาหนะที่จะใช้ทัศนศึกษาจะต้องได้รับการตรวจสอบด้านความปลอดภัยจากคณะกรรมการความปลอดภัยแห่งชาติอย่างเข้มงวด
อันที่จริงก็เข้าใจที่มีมากมายหลายคอมเม้นท์ในโลกออนไลน์ที่พรรณาว่า เพราะพ่อแม่ไม่มีเวลาและเงินพอที่จะพาไปเที่ยวไกล ๆ ได้ เช่น กรุงเทพฯ ชายทะเลหรือน้ำตกต่าง ๆ ในประเทศ ทั้งยังเป็นความประทับใจอย่างมิรู้ลืมในวันที่ได้ไปทัศนศึกษาพร้อมกับเพื่อน ๆ ในวัยเดียวกัน จึงเห็นว่าควรจะมีกิจกรรมทัศนศึกษาต่อไป อีกหลายคอมเม้นท์ที่เห็นด้วย แต่มีข้อแม้ว่า เพียงแต่ทางโรงเรียนจะต้องบริหารจัดการให้รถทัศนศึกษานั้นมีความปลอดภัย
ในขณะที่ฝ่ายคนเป็นพ่อแม่ทั้งกังวลทั้งกลัวทุกครั้งที่ลูกไปทัศนศึกษากับทางโรงเรียน (ที่ต้องยอมให้ลูกไปเพราะไม่อยากขัดใจลูก แถมบางโรงเรียนมีการหักคะแนนด้วยถ้าเด็กคนไหนไม่ไป) ส่วนคุณครูหลายคนก็ไม่ต้องพูดถึงเพราะทั้งเครียดทั้งไม่มีความสุขทุกครั้งที่โรงเรียนจัดทัศนศึกษาสำหรับนักเรียน
สาเหตุสำคัญที่นำมาซึ่งความทุกข์นี้ก็คือ ความไม่ไว้วางใจระบบความปลอดภัยของบ้านนี้เมืองนี้ ซึ่งก็ตรงกับผลการวิจัยของซูเปอร์โพล ที่ออกมาระบุว่า ประชาชนถึง 99.2 % ต้องการให้รัฐบาลปฏิรูปความปลอดภัยทั้งระบบให้ครอบคลุมทุกกลุ่มไม่ใช่เฉพาะนักเรียน
หากใครติดตามข่าวคราวความเป็นความตายบนท้องถนนและความไม่ปลอดภัยของเด็ก ๆ ในบ้านเราก็จะเข้าใจตรงกันว่า แม้บ้านนี้เมืองนี้จะมีกฎระเบียบ กฎหมายเต็มไปหมด แต่ทั้งรัฐและคนต้องดูแลรับผิดชอบย่อหย่อน ละเลย มักง่าย และทุจริต บวกกับข่าวเด็กตายเพราะอุบัติเหตุและความรุนแรงที่ได้เห็นได้รับรู้ซึ่งเกิดแล้วเกิดอีก สะท้อนให้เห็นว่า มาตรฐานความปลอดภัยในบ้านเรามันย่ำแย่ยิ่งกว่ามาตรฐานขั้นต่ำ
นายประจวบ ผลิตผลการพิมพ์ หัวหน้าฝ่ายสื่อสารสาธารณะ ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ผู้เก็บเคสและพิเคราะห์เหตุการณ์ตายในเด็กจากอุบัติเหตุและความรุนแรงมานับหลายร้อยราย ระบุว่า
“สนับสนุนให้นักเรียนไปทัศนศึกษา แต่ 1. เด็กก่อนประถม 4 = งด 2. เด็กประถม 5-6 = ให้เที่ยวในท้องถิ่นของตน ศึกษาศิลปะ วัฒนธรรม ภูมิปัญญาชาวบ้าน 3. เด็กมัธยม = ให้เที่ยวในท้องถิ่นและจังหวัดใกล้เคียง และ 4. ภาครัฐจะต้องมีการจัดการแก้ไขปฎิรูปในเรื่องความปลอดภัยทั้งระบบอย่างทุ่มเทและต่อเนื่อง ให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนเทียบเท่าประเทศที่เขามีมาตรฐานความปลอดภัยระดับสูง
และ 5. รูปแบบที่เชื่อว่าเหมาะสมกับประเทศไทยน่าจะเป็นรูปแบบคณะทำงานเพื่อความปลอดภัยในเด็กที่มีอำนาจ มีความยืดหยุ่น และมีอิสระ โดยมีรัฐบาลอุดหนุนด้านงบประมาณให้อย่างต่อเนื่อง โดยมีการทำงานในรูปแบบของ Case Manager เช่น คณะกรรมการ Health Inspector ที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐอเมริกา หรือ หน่วยงานพิเศษ Kotsa (Korea Transportation safety Authority) ที่สังกัดคณะกรรมการการขนส่งแห่งชาติเกาหลีใต้ ที่ทั้งสองรูปแบบจากสองประเทศนี้ล้วนมีอำนาจในการปรับปรุงและตรวจสอบความปลอดภัยด้านการคมนาคมทั้งระบบ มีส่วนสำคัญในการกำหนดแผนแม่บทความปลอดภัย มีหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน มีหน้าที่ติดตามการเยียวยาช่วยเหลือครอบครัวของเด็ก ๆ ที่บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติภัยบนท้องถนน รวมทั้งมีอำนาจแจ้งความดำเนินคดีกับหน่วยงานหรือโรงเรียนที่เป็นสาเหตุให้เด็กนักเรียนต้องบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียน (สรุปคือ เกาะติดปัญหา ทำหน้าที่สื่อสาร ประสานข้อมูล ประสานงาน ยืดหยุ่น มีอิสระ และมีงบประมาณ มีอำนาจในการทำงาน )”
ดังนั้น การจะมีทัศนศึกษาต่อไปหรือไม่ จึงอยู่ที่ภาครัฐได้กระทำตามหัวข้อต่าง ๆ ข้างต้นอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม จนกระทั่งบรรลุผลเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของประชาชนได้เมื่อไหร่ เมื่อนั้นจึงควรสนับสนุนให้เด็กนักเรียนได้ทัศนศึกษา