ThaiPublica > คอลัมน์ > คุยกับวัยรุ่น Gap Year – เมื่อตัดสินใจไม่เดินตามความคาดหวังของคนอื่น

คุยกับวัยรุ่น Gap Year – เมื่อตัดสินใจไม่เดินตามความคาดหวังของคนอื่น

22 ธันวาคม 2023


เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์

“เราได้โอเน็ตท็อปของโรงเรียน ได้ทุน สอบติดมหาวิทยาลัยที่อยากเข้า แต่ช่วงสุดท้ายของมัธยม ไม่ง่ายเลย” ผู้ให้สัมภาษณ์ปัจจุบันตัดสินใจใช้ Gap year หรือปีว่างหลังจบมัธยมศึกษา แทนที่จะเข้ามหาวิทยาลัยทันทีตามแบบเพื่อน ๆ

“หมอบอกว่า เราถูกกดดันให้ต้องสำเร็จตั้งแต่เด็ก” ผู้ให้สัมภาษณ์ย้อนอธิบายถึงตนเองในวัยประถมว่า ตนมักได้รับคำชมจากครู จากพ่อแม่ เรื่องผลการเรียน รวมทั้งได้เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่ยังเด็กไม่เคยเว้น ไม่ว่าจะประกวดวาดรูป แต่งกลอน ทำหนังสั้น แข่งสุนทรพจน์ รวมถึงยังเป็นนักเรียนคนเดียวในรุ่นที่ได้อยู่ห้องคิงตลอด 6 ปีของช่วงประถมด้วย

ทว่าแรงกดดันให้ต้องประสบความสำเร็จในสิ่งต่าง ๆ ตลอดเวลานี้ นำมาซึ่งความคาดหวังในตัวเองที่เกินเลย และแลกมาด้วยความรู้สึกวิกฤติภายใน “มีคนบอกให้เรียนหมอ เรียนวิศวะ แต่ไม่เค้าได้บังคับให้เราต้องเลือกคณะอะไร สุดท้ายเราก็เลือกสถาปัตย์ แต่มันมีจุดหนึ่งคือ เราพบว่า เราไม่อยากทำอะไรแบบนี้อีกแล้ว มันเหนื่อยไปหมด ไม่มีแรงจะทำ เหมือนต้องคอยรับใช้ความคาดหวังคนอื่นตลอดเวลา” ผู้เขียนไม่แน่ใจว่า สิ่งนี้คล้ายจะเป็น Existential Crisis หรือวิกฤติทางตัวตนของผู้ให้สัมภาษณ์หรือไม่ เพราะวันหนึ่งความเชื่อที่ว่า ฉันเป็นคนแบบนี้ ได้เปลี่ยนไปชนิดไม่มีวันย้อนกลับ “หมอบอกว่า เป็น Chapter หนึ่งของชีวิต ไม่ได้คงอยู่ตลอดไป เด็กที่ถูก Push ตั้งแต่เล็ก หลายคนก็โตมาเจออะไรแบบนี้” คำว่าที่ใกล้เคียงกว่าอาจจะเป็น Spiritual Crisis หรือ วิกฤติทางจิตวิญญาณ ไม่รู้ว่า หากเราไม่ได้ชอบในสิ่งที่ทำมาตลอดชีวิตแล้ว หลังจากนี้เราจะล่องลอยไปทางไหน ในเมื่อทุกทางที่ผ่านมา มีคนช่วยวางไว้ให้หมด

“เราไปอ่านเจอคำนึงคือคำว่า Grooming คำนี้หลายคนใช้ในบริบทเลี้ยงต้อย คือคบกับใครสักคนตั้งแต่เขายังเด็ก ในกรณีของเรา เราไม่ได้คบกับคนแก่อะไร แต่เรารู้สึกว่า เราถูก Grooming เหมือนที่บ้าน ที่โรงเรียน ฝังหัวมาตลอดว่าให้เราทำนั่นทำนี่ เรารู้สึกว่า เราไม่ได้เลือกชีวิตของเราเอง” คำพูดจากหนึ่งในนักเรียนที่ประสบความสำเร็จที่สุดของรุ่นกล่าวกับเรา

“เราทะเลาะกับแม่บ่อยช่วง ม.ต้น เหมือนวันแม่เวียนมาทีไร ก็ทะเลาะกันหนักตลอด ไม่รู้เพราะเค้าคาดหวังให้เราต้องทรีตเค้าเป็นพิเศษในวันแม่มั้ย แต่นั่นแหละทะเลาะกันถึงขั้นเราต้องออกไปอยู่บ้านเพื่อน และไม่คุยกันหลายเดือน” ผู้ให้สัมภาษณ์เล่าต่อถึงคำพูดของหมอเรื่อง Isolation of Affect ซึ่งเป็นการเอาความรัก ความรู้สึกออกไปก่อน เพื่อจะให้ตัวเองอยู่รอดต่อไปได้ แต่พอแม่จากไปแล้ว ก็เริ่มกลับมารู้สึกถึง “ครอบครัวควรจะเป็นพื้นที่ที่มี Emotional soothing support แต่บ้านเรา แม่ก็ทะเลาะกันบ่อย ส่วนพ่อนึกจะแหกปากตะโกนเมื่อไรก็ทำ เหมือนคาดเดาอะไรไม่ได้”

ผู้ให้สัมภาษณ์จึงตัดสินใจหยุดทุกอย่างที่คนอื่นคาดหวัง แม้ว่าตัวเองจะทำได้ดีเสียทั้งหมด “เรารู้สึกว่า เราไม่ได้ชอบมันจริง ๆ ทำหนังสั้น วาดรูป เรียนให้เก่ง มันเป็นความชอบของคนรอบ ๆ ตัว จนเรารู้สึกว่า ครอบครัวเรา ครูเรา แคร์เราเฉพาะในด้านที่เราทำสำเร็จ แต่ไม่ได้สนใจเรื่องของเราจริง ๆ ไม่เคยถามว่า เรามีปัญหากับแฟนมั้ย เรารู้สึกยังไง”

ระหว่างการเดินทางสัมภาษณ์วัยรุ่นหลายคนในหลายบทความนี้ ผู้เขียนสัมผัสกับประสบการณ์ร่วมกันอย่างหนึ่งคือ ครอบครัวของเขาเหล่านั้นซึ่งควรจะเป็นที่พึ่งได้ในทุกสถานการณ์ กลับทำให้พวกเขารู้สึกผิดหวัง

“สุดท้ายก็ตัดสินใจหยุด ตอนนี้เกือบหนึ่งปีแล้ว ต้องอธิบายให้คนรอบ ๆ ข้างฟังเยอะมาก แต่เราว่า มันคุ้ม คุ้มที่จะได้อยู่กับตัวเอง ได้ตัดสินใจเลือกทุกอย่างด้วยตัวเอง ปีที่ผ่านมา เราไปเที่ยวหลายที่ ได้ทำงานพิเศษ ได้คิดทบทวนถึงสิ่งที่อยากทำต่อไปในอนาคตจริง ๆ และต่อให้วันหนึ่งไม่ชอบมันแล้ว หรือ อยากเปลี่ยนใจขึ้นมา เราก็รู้สึกว่า เราโอเค เพราะเราเลือกมันเอง ไม่ได้ถูก Grooming อีกแล้ว”

“เค้ารับไม่ได้หรอก เคยบอกครอบครัวว่า ที่เราทำนั่นทำนี่ตอนเด็ก เราไม่รู้เรื่อง ถูก Grooming ให้ทำ สิ่งที่ได้กลับมาคือทั้งคำด่า ทั้งประชดว่า เรามีทุกวันนี้ เพราะสิ่งที่เราทำตอนเด็กนั่นแหละ เค้าไม่เข้าใจ”

“มัธยมมันเหมือนเป็นวัยที่อิสระ ในอนาคตยังเปิดกว้างมาก ๆ ต่อให้เลือกสายการเรียน เช่น วิทย์คณิต หรือ ศิลป์ไปแล้ว เราก็ยังรู้สึกว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ได้จำกัดความฝันของเรา เมื่อเทียบกับวัยมหาวิทยาลัยที่เลือกคณะใดคณะหนึ่งแล้ว ต้องทิ้งความฝันอื่น ๆ ไปจนหมด หรือ วัยทำงานที่การย้ายสายงานนั้นก็เป็นเรื่องยุ่งยาก ถ้าเราไม่ได้ตัดสินใจใช้ Gap year ก็คงเสียดายกับตัวเองมากว่า ทำอะไรอยู่ในช่วงวัยที่ควรจะมีอิสระนี้ ต่อให้เป็นหนึ่งปีสุดท้ายก่อนจะเข้ามหาวิทยาลัยก็ตาม”