เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์
สุดสะเทือนใจกับข่าว พ่อเคาะโลงลา “น้องอิคคิว” หลังลูกชิ้นติดคอเป็นเจ้าชายนิทรา 10 ปี (ข่าวไทยรัฐออนไลน์ 8 ก.ค.2567) อุบัติเหตุอันคาดไม่ถึงของคนเป็นพ่อเป็นแม่ที่เกิดขึ้นเมื่อราว 10 ปีก่อน ในวันที่กำลังนั่งรับประทานสุกี้อย่างมีความสุขกับลูก ๆ จู่ ๆ ลูกชิ้นปลาก็เกิดติดคอ “อิคคิว” ลูกชายวัย 7 ขวบ กระทั่งต้องกลายเป็นเจ้าชายนิทราที่พ่อแม่ต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิดตลอด 10 ปีที่ผ่านมา กระทั่งเดือน มิ.ย. อิคคิวมีอาการไม่สู้ดีนัก จึงต้องส่งเข้าโรงพยาบาล จนวันที่ 7 ก.ค. 67 อิคคิวก็จากไปอย่างสงบที่ รพ.อุดรธานี ท่ามกลางความโศกเศร้าของคนพ่อแม่และน้องสาวของอิคคิว
หลายปีก่อน รายการเจาะใจเคยนำเสนอกรณีคุณยายป้อนลูกชิ้นปลา (ทั้งลูก) จนติดคอหลานชายวัย 3 ขวบ หลานหมดสติไปหลายวัน แต่แล้วก็ฟื้นขึ้นมาด้วยอาการสมองพิการ ไม่เฉพาะแต่ลูกชิ้น แต่ยังมีอีกสารพัดของกินที่ต้องระวังเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นไส้กรอก กุนเชียง หมูแผ่น ข้าวหลาม ก็ล้วนแล้วแต่เคยตกเป็นข่าวอุดหลอมลมเด็ก ๆ มาแล้วทั้งสิ้น
บรรดาลูกกวาด ลูกอม หมากฝรั่ง เยลลี่ หรือแม้แต่ก้อนน้ำแข็งที่ผู้ใหญ่ไม่น้อยมักจะเอาใส่ปากเด็ก ๆ ด้วยคิดว่าอม ๆ ไปเดี๋ยวมันก็ละลายในปากเอง โดยลืมคิดว่าสิ่งใดที่อุดหลอดลมมีเวลาแค่ 4 นาทีเท่านั้นที่จะช่วยชีวิตของเขาให้รอดจากการขาดอากาศหายใจ
บรรดาของกินที่เสี่ยงติดคอข้างต้นก็ไม่ถึงกับจะกลายเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับลูก ๆ เพียงแต่ก่อนที่ลูกจะนำเข้าปาก เราจำเป็นต้องแยกหรือหั่นให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็นลูกชิ้น ไส้กรอก ข้าวหลาม และรวมถึงบรรดาผลไม้ทั้งฝรั่ง มะม่วง แครอต กล้วย เชอรี่ องุ่น และถั่วต่าง ๆ ฯลฯ
และย่อมรวมถึงการแกะแคะเมล็ดผลไม้ทั้งหลายแล้วนำไปทิ้งอย่าให้เหลือ เพราะเมล็ดผลไม้ คืออีกต้นเหตุที่เคยติดหลอดลมเด็ก ๆ มาแล้วนักต่อนัก ทั้งเมล็ดมังคุด สละ เงาะ ทุเรียน ฯลฯ แม้แต่ในศูนย์เด็กเล็กและอนุบาลหลายแห่งที่ทางทีมศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดีเคยสำรวจก็พบว่า มีไส้กรอกไม่ได้หั่น ฝรั่งชิ้นโต และเยลลี่เหนียวหนึบ เป็นอาหารกลางวันใส่ถาดให้เด็ก ๆ ด้วย
นอกจากนี้ผู้ดูแลก็ไม่ควรเร่งให้เด็กต้องกินข้าวเร็ว ๆ ซึ่งนอกจากจะเสี่ยงต่อการสำลักจนอาหารหลุดลงไปอุดหลอดลมแล้ว ยังเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคกระเพาะอาหาร
ไม่แต่ของกินได้หรือเมล็ดผลไม้ต่าง ๆ เพราะธรรมชาติของเด็กวัย 1 ถึง 4 ขวบนั้น ทุกสิ่งรอบตัวล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่น่าสนใจ โดยเฉพาะมือที่พร้อมจะไขว่คว้าแล้วหยิบใส่ปากอันเป็นวิธีสำรวจโลกโดยการลิ้มลอง หนทางที่ปลอดภัยคือควรเคลียร์พื้นที่เพื่อไม่ให้มีสารพัดสิ่งตกอยู่ตามพื้น หรือหล่นอยู่ตามซอกมุมใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นเหรียญ กระดุม เข็มกลัด ตะปู ดังนั้นจึงควรหมั่นปัดกวาดเช็ดถูพื้นบ้านทุกซอกมุมให้สะอาดและเกลี้ยงเกลาอยู่เสมอ
รวมถึงบรรดาฮีโร่ที่มาในรูปแบบตัวตุ๊กตุ่นพลาสติกทั้งหลาย ก่อนจะซื้อให้ลูกก็จะต้องเลือกตัวที่ใหญ่กว่า 3.2 เซนติเมตร และควรจะอยู่ในท่ากางแขน เพราะหากตัวตุ๊กตุ่นมีขนาดเล็กกว่า 3.17 เซนติเมตร และสั้นกว่า 5.71 เซนติเมตร ก็เสี่ยงต่อการสำลักเข้าหลอดลมและอุดตันทางเดินหายใจของเด็กได้ นอกจากนี้ ลูกโป่ง คือของเล่นเสี่ยงภัยที่จะต้องไม่ให้ลูกเล็ก ๆ เล่นอย่างเด็ดขาด เด็ก ๆ มักจะตั้งหน้าตั้งตาเป่าลูกโป่งพรวด ๆ จนลูกโป่งผลุบเข้าปากลงไปติดคอ โดยมากเกิดจากจังหวะที่ต้องหายใจเข้าเพื่อเติมลมเข้าปอด เด็ก ๆ มักจะสูดอากาศอย่างแรง ในขณะที่ลูกโป่งจ่ออยู่ที่ริมฝีปาก จังหวะที่พลาดก็คือ เด็กสูดอากาศเข้าพร้อมยางลูกโป่ง แล้วมันก็พรวดเข้าไปอุดตันทางเดินหายใจ
นอกจากนี้ทางศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ยังพบว่า พ่อแม่หลายครอบครัวให้เงินลูกไปโรงเรียนแม้ในชั้นอนุบาล ทั้งที่โรงเรียนเตรียมทั้งอาหารและขนมไว้พร้อมแล้วทุกวัน ดังนั้นเหรียญทั้งหลายจึงมักกลายเป็นของเล่นที่เด็ก ๆ มักเอาไปโยนเล่นบ้าง เอาเข้าปากอมเล่นบ้าง กลายเป็นความเสี่ยงที่ครูจะช่วยไม่ทัน (หลายปีก่อนเคยมีข่าวเด็กอนุบาลในโรงเรียนแห่งหนึ่งที่ปทุมธานี แข่งเล่นเกมกับเพื่อน ๆ ด้วยการอมเหรียญบาทเข้าปาก แล้วใช้ลิ้นกระเดาะเหรียญขึ้นไปบนเพดานปากกระทั่งมีเด็กน้อยคนนึงกระเดาะพลาดจนลงไปติดหลอดลม)
ภาครัฐเองมีโครงการโครงการอบรมการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและการกู้ชีพ (First Aid @ CPR) ที่ให้ความรู้กับประชาชนในหลายพื้นที่ แต่ถึงเวลาที่หน่วยงานต่าง ๆ ต้องร่วมมือกับจัดการกับอุบัติเหตุในเด็กเยาวชนอย่างรอบด้าน เช่น การบรรจุเป็นหลักสูตรการเรียนการสอน การจัดสรรงบประมาณเพื่อเสริมสร้างความรู้ให้ชุมชนและครอบครัว
ทำอย่างไร เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมอุดตันทางเดินหายใจ
หากเกิดกับเด็กอายุน้อยกว่า 1 ขวบ
1.หากเด็กสำลัก ไอติด ๆ กันเป็นชุด ๆ แต่ใบหน้าและริมฝีปากยังไม่เขียว ยังส่งเสียงร้องได้บ้าง ให้อุ้มให้อยู่ในท่านั่ง แล้วตบหลังเบา ๆ เพื่อกระตุ้นการไอ
2.แต่หากเสียงแหบแห้ง หรือไอมากจนเหนื่อยอ่อน ใบหน้าเขียว เริ่มมีอาการซึม ให้ช่วยเหลือเพื่อนำสิ่งแปลกปอมออกจากทางเดินหายใจโดยใช้วิธีทุบหลังและกดหน้า โดย
-
1) วางเด็กคว่ำลงบนแขน แล้ววางแขนนั่งลงบนหน้าตัก โดยให้ศีรษะของเด็กอยู่ต่ำ
2) ทุบหลัง 5 ครั้งติดต่อกัน โดยใช้สันมือทุบแถว ๆ กึ่งกลางกระดูกสะบักทั้งสองข้าง
3) จากนั้นพลิกเด็กให้หงายบนแขนอีกข้างซึ่งวางบนหน้าตัก โดยให้ศีรษะอยู่ต่ำเช่นกัน แล้วกดหน้าอกโดยใช้สองนิ้วของเรากดบนกระดูกหน้าอกในตำแหน่งที่ต่ำกว่าเส้นลากระหว่างหัวนมทั้งสองลงมาหนึ่งความกว้างของนิ้วมือ
4) ให้ทำซ้ำ ๆ จนกว่าสิ่งแปลกปลอมนั้นจะหลุดออกมา
5) หากเด็กหมดสติให้ทำการประเมินการหายใจ ประเมินการเต้นของชีพจรและให้การช่วยเหลือการหายใจด้วยการเป่าปาก สลับกับการนวดหัวใจ
หากเกิดกับเด็กอายุมากกว่า 1 ขวบ
-
1.หากเด็กสำลัก ไอติด ๆ กันเป็นชุดๆ แต่หน้าและริมฝีปากยังไม่เขียว ยังส่งเสียงร้องได้บ้าง ให้พยายามกระตุ้นให้เด็กไอ
2.ถ้าเด็กไม่สามารถพูดออกมาได้ หรือมีอาการหนักอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น หายใจลำบาก หน้าซีด เขียว ให้ทำการกดท้อง โดยให้เรายืนด้านหลังเด็ก แล้วอ้อมแขนมาด้านหน้า กำมือเป็นกำปั้น แลวางกำปั้นด้านหัวแม่มือ วางลงบนกึ่งกลางหน้าท้อง (เหนือสะดือ) ของเด็ก
3.กดโดยให้แรงมีทิศทางเข้าด้านในแล้วเฉียงขี้นบน กดซ้ำจนกว่าสิ่งแปลกปลอมจะหลุดออกมา หรือจนกว่าเด็กจะหมดสติ ให้ประเมินการหายใจ การเต้นของชีพจร และให้การช่วยเหลือด้วยการเป่าปากสลับกับการกดท้อง
4.การกดท้องในเด็กที่หมดสติ ด้วยการให้เด็กนอนในท่านอนราบ ให้เรานั่งคร่อมตัวเด็ก แล้ววางสันมือบนท้องเด็กในตำแหน่งที่สูงกว่าสะดือเด็ก กดในทิศทางเข้าด้านในและเฉียงขึ้น
5.กด 5 ครั้งแล้วเปิดปากเพื่อสำรวจดูว่ามีสิ่งแปลกปลอมหลุดออกมาแล้วหรือไม่
ที่สำคัญควรจำเบอร์ฉุกเฉินให้ได้ หรือ บันทึกไว้ในมือถือ หรือติดแผ่นโต ๆ ไว้ในบ้าน ได้แก่ สายด่วน 1669 (สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ)