ThaiPublica > คอลัมน์ > การ์ตูนไม่ใช่สำหรับเด็กเท่านั้น

การ์ตูนไม่ใช่สำหรับเด็กเท่านั้น

27 กุมภาพันธ์ 2023


เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์

เคยดูการ์ตูนอยู่ แล้วเพื่อนเดินมาเห็นเลยถูกบอกว่า เรามันเด็ก จึงสงสัยว่า “โตแล้วยังชอบดูการ์ตูน มันผิดด้วยหรือ” ตอนนี้ผมอายุบรรลุนิติภาวะแล้ว แต่การ์ตูนยังเป็นหนึ่งในสิ่งที่มีความสุข คงคล้ายๆ กับคนที่ชอบดูหนังแอ็กชัน หนังสืบสวนสอบสวน และหนังประเภทอื่นๆ

น่าสงสัยอยู่เช่นกัน เพราะขณะที่อยู่ในวัยมัธยมก็เคยถูกห้ามไม่ให้ดูภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง เนื่องจากได้เรต ฉ.20 แต่ใครจะคิดว่า เมื่อคนเราอายุโตขึ้นเกิน 20 แล้วก็กลับถูกสังคมห้ามไม่ให้ดูสื่อบันเทิงบางประเภทอีกอยู่ดี

การ์ตูนไม่ว่าจะไทย ญี่ปุ่น หรือตะวันตก โดยส่วนใหญ่ถูกจัดให้อยู่ในความเข้าใจว่าเป็นสื่อเฉพาะสำหรับเด็ก ไม่ใช่กงการอะไรของวัยผู้ใหญ่ซึ่งมีงานทำแล้วจะมานั่งดูได้ บางทีความคิดเช่นนี้ก็ส่งผลกระทบถึงคนที่อยู่ในแวดวงใกล้เคียง เช่น ผู้ใหญ่ที่ชอบคอสเพลย์ สะสมหุ่นฟิกเกอร์ ชอบเข้าสวนสนุก หรือเล่นสวนน้ำ

เหตุใดผู้ใหญ่หลายต่อหลายคนยังชอบดูการ์ตูนอยู่ มีเหตุผลชวนให้สนใจมากมาย เช่น การ์ตูนช่วยเยียวยาเราจากโลกความเป็นจริงอันโหดร้าย ซึ่งเต็มไปด้วยภาระการงาน ครอบครัว หนี้สิน เพราะในโลกการ์ตูน หลายครั้งทุกอย่างไม่จำเป็นต้องสมเหตุสมผล และเป็นโลกแฟนตาซีที่สัตว์พูดได้ คนบินได้ หรือได้ออกไปทำตามความต้องการที่เกิดขึ้นได้ยากในโลกจริง เช่น ออกตามล่าหาขุมทรัพย์

นอกจากนี้ ตัวแสดงหรือแคแรกเตอร์ในการ์ตูนยังเป็นสิ่งคงทน เพราะโดยมากจะไม่แก่ลง ไม่เปลี่ยนไป และไม่ตาย เป็นอย่างไรก็เป็นเช่นนั้น ด้วยเหตุนี้เอง ทุกครั้งที่เรากลับไปดูการ์ตูน จึงเสมือนช่วยย้อนวันเวลากลับไปสมัยที่เคยไม่ต้องแบกรับหน้าที่ต่างๆ มากเช่นทุกวันนี้ และความคงทนนี้เอง ในมุมหนึ่งคือความไว้วางใจและความเชื่อใจ เหมือนเพื่อนเก่าที่อย่างไรก็เป็นเหมือนเดิม

การ์ตูนยังนับเป็นสื่อบันเทิงที่ “easy to enjoy” หรือชวนให้สนุกได้ง่าย หลายต่อหลายเรื่อง ไม่ต้องดูตั้งแต่ต้น หรือดูจนจบ แค่ดูบางฉากก็เข้าใจและเพลิดเพลินแล้ว เนื่องจากโครงเรื่องเล่าในการ์ตูนมักมีความพิเศษในตัวมันเอง

อีกสิ่งสำคัญคือ การ์ตูนยังมอบโลกที่ไร้ขอบเขตให้เรา อาจนับได้ว่าการ์ตูนสร้าง hyperreality หรือสภาวะเกินจริง เนื่องจากโลกในความเป็นจริงล้วนเต็มไปด้วยความรับผิดชอบและหน้าที่ที่ต้องทำ ในขณะที่โลกในการ์ตูน (ซึ่งสมจริงในตัวมันเอง) ไม่อาจถูกจำกัดด้วยกฎแห่งความเป็นจริง หรือจะใช้คำว่าโลกแห่งความฝัน ซึ่งคอยเติมเต็มฝันกลางวันของมนุษย์เราก็ว่าได้

นอกเหนือจากนี้ การมีรสนิยมส่วนบุคคลก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรถูกตัดสินตีตรา บางคนชอบดูกีฬา บางคนชอบดูข่าวการเมือง ก็เช่นเดียวกัน ปรากฏการณ์นี้ยังเกิดเป็นคำเรียกสำหรับผู้ใหญ่ที่ใจยังรักการ์ตูนว่า เป็น “kidult” หรือ kid + adult ซึ่งการ์ตูนที่ว่ายังรวมถึงอนิเมะ มังงะ และหนังที่มีตัวการ์ตูนปนด้วย

แม้ในปัจจุบัน การทำหน้าที่ในฐานะคนดูต่อการ์ตูนอาจจำกัดอยู่ในวงผู้สนใจ เราอาจไม่ค่อยได้เห็นงานเสวนาเกี่ยวกับการ์ตูนเรื่องนั้นๆ หรืองานวิจารณ์ที่ลึกซึ้งเข้มข้น ผู้เขียนจึงมองว่า นอกจากการ์ตูนยังอาจถูกลดคุณค่าจากสังคมลงเมื่อเราโตขึ้น การ์ตูนยังขาดพื้นที่ส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจข้ามช่วงวัยอีกด้วย

เพราะในโลกของการ์ตูนเองก็ยังประกอบด้วยความสลับซับซ้อนและแบ่งออกเป็นหลายหมวดหมู่ ตั้งแต่เด็กเล็กดูได้ จนถึงแบบที่เด็กไม่ควรดู รวมไปถึงการ์ตูนที่ออกแบบมาเพื่อความสนใจเฉพาะ เช่น อาหาร การเมือง สัตว์เลี้ยง การผจญภัย วิทยาศาสตร์ ศาสนา ปรัชญา สังคม ครอบคลุมและตอบสนองเรื่องราวอีกหลากหลาย แบบเดียวกันกับสื่อภาพยนตร์และสื่ออื่นๆ ทำหน้าที่อยู่

ดังนั้น จึงไม่เกินเลยหากจะบอกว่า การชอบดูการ์ตูนนั้นไม่ได้ชี้วัดว่าเรามีอายุเท่าไร หรือเราโตแล้วหรือยัง การ์ตูนก็เช่นเดียวกับสื่อบันเทิงในเนื้อหาและรูปแบบอื่นๆ คือ “สำหรับคนที่ชอบ ย่อมมีคุณค่าเสมอ” และการ์ตูนก็คงเป็นเช่นเดียวกันนี้นี่เอง