ThaiPublica > คอลัมน์ > เปลี่ยนวันลอยกระทงเป็นวันขอบคุณแม่น้ำ

เปลี่ยนวันลอยกระทงเป็นวันขอบคุณแม่น้ำ

26 พฤศจิกายน 2023


เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์

จากสถิติศูนย์ข้อมูลกรุงเทพมหานครพบว่า ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา คนลอยกระทงน้อยลงทุกปี

กระทั่งปี 2565 หลังฟื้นจากโควิด 19 ปริมาณกระทงเพิ่มขึ้นจากเดิม 42% เป็น 572,602 ใบ แม้จะมีหลายพื้นที่ที่ปลอดกระทงโฟม 100% แต่เราทราบกันดีว่า ถึงกระทงจะทำจากวัสดุธรรมชาติ แต่การลอยกระทงในปริมาณมหาศาลนำไปสู่การเกิดน้ำเน่าเสีย โดยเฉพาะขนมปังเปื่อยยุ่ยที่ส่งผลให้น้ำมีค่าสารอินทรีย์สูงขึ้น กลายเป็นผลกระทบต่อธรรมชาติ สัตว์น้ำ และผู้คนริมแหล่งน้ำ ยังไม่รวมถึงลูกแม็ก ตะปูที่ย่อยสลายได้ยาก

ประเพณีลอยกระทงสืบทอดกันมายาวนาน แต่ในวันที่โลกเผชิญวิกฤตสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อนนั้น เราควรทบทวนกิจกรรมประจำประเพณีดังกล่าว หากเราเปลี่ยนชื่อวันลอยกระทง เป็นวันขอบคุณแม่น้ำ อาจชวนให้มีกิจกรรมสนุกสร้างสรรค์ให้ทำอีกมาก โดยไม่จำเป็นต้องสร้างขยะให้แหล่งน้ำและสร้างภาระให้คนเก็บ

เราทำอะไรได้บ้างในวันขอบคุณแม่น้ำ

1. สำรวจสิ่งมีชีวิตในสายน้ำ

โรงเรียนและชุมชนริมน้ำสามารถชวนเด็ก ๆ และประชาชนให้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิตใกล้ตัว สำรวจความหลากหลายทางชีวภาพ และทำความเข้าใจการดูแลแหล่งน้ำ

2. ดำน้ำเก็บขยะ

ปี ๆ หนึ่งมีสัตว์น้ำจำนวนมากล้มตายและบาดเจ็บจากเศษขยะ เราสามารถช่วยกันสนับสนุนกิจกรรมดำน้ำเก็บขยะเพื่อกำจัดเศษซากสารพัด ตัดอวนที่รบกวนปะการัง และสำรวจสิ่งมีชีวิตใต้น้ำไปพร้อม ๆ กัน

3. ประกวดคลองสวย

นอกจากประกวดนางนพมาศแล้ว เราสามารถต่อยอดการประกวดคลองสวย น้ำใส ไร้มลพิษ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนต่าง ๆ หันกลับมาดูแลแหล่งน้ำใกล้ตัว

4. พายเรือเลาะคลอง

ปัจจุบันบางสถานที่มีบริการนั่งเรือไฟฟ้าชมคลองแล้ว เราสามารถส่งเสริมให้บริการนี้เป็นการท่องเที่ยวที่ปลอดภัยและมีคนรู้จักมากขึ้นได้

5. เดินเที่ยวชุมชนริมน้ำ

ทั้ง กทม. และจังหวัดต่าง ๆ มีชุมชนริมน้ำที่นอกจากพัฒนาเป็นตลาดน้ำแล้ว ยังส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมให้คนใกล้ชิดกับน้ำมากขึ้น เช่น พายเรือคายัก เรือซับบอร์ด หรือเดินเที่ยวแหล่งชุมชนริมน้ำ ที่ไม่จำเป็นต้องตลาดขายของก็ได้

6. ชวนคุยผลกระทบเขื่อนฝาย

ชุมชนและสถานศึกษาสามารถตั้งคำถามและจัดวงพูดคุยถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนและฝายได้ โดยเฉพาะชุมชนที่มีปัญหาน้ำแล้ง เช่น ชุมชนที่อยู่ร่วมกับลำน้ำมูล

7. ชิมช้อปประมงพื้นบ้าน

ส่งเสริมให้ผู้คนอุดหนุนสินค้าประมงพื้นบ้าน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน

8. พาเที่ยวชุมชนจัดการน้ำ สร้างแรงบันดาลใจ

ในไทยเองมีชุมชนจัดการน้ำที่น่าศึกษาเรียนรู้หลายแห่ง เช่น บ้านห้วยหินลาดใน บ้านเกตุไพเราะ บ้านมอสวรรค์ ฯลฯ ชุมชนเหล่านี้มีโมเดลบริหารจัดการและดูแลต้นน้ำที่สถานศึกษาสามารถพาเด็ก ๆ ไปเรียนรู้ได้

9. สอนทักษะการเอาตัวรอดเมื่อจมน้ำ

การจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของเด็กไทยที่อายุต่ำกว่า 15 ปี เฉลี่ยปีละ 839 ราย หรือวันละ 2 ราย หากเราใช้เทศกาลขอบคุณแม่น้ำนี้ฝึกทักษะให้เด็ก ๆ ว่ายน้ำเป็น เล่นน้ำได้ มีไลฟ์การ์ดคอยดูแล และครูฝึกสอน จะช่วยปกป้องชีวิตเด็ก ๆ จากอุบัติเหตุทางน้ำได้

10. วันเดย์ทริปประวัติศาสตร์การเดินเรือ

เราสามารถออกแบบให้มีกิจกรรมท่องเที่ยวสำรวจเส้นทางประวัติศาสตร์ทางน้ำได้มากมาย เช่น เส้นทางเดินเรือตามนิราศสุนทรภู่, เส้นทางลี้ภัยปรีดี พนมยงค์, วิกฤตการณ์ปากน้ำ รศ.112 นอกจากนี้ยังสามารถชวนกันไปสำรวจพิพิธภัณฑ์เรือหลายแห่งได้ด้วย

11. ทบทวนข้อเสนอปกป้องแหล่งน้ำ

นอกจากกิจกรรมต่าง ๆ แล้ว เราควรทบทวนข้อเสนอให้เกิดการปกป้องดูแลแหล่งน้ำมากขึ้น เช่น สนับสนุนให้ใช้เรือไฟฟ้าในการลอยอังคารเพื่อสานต่อชีวิตคนเป็นและสิ่งมีชีวิตในน้ำ รวมทั้งหยุดการโยนอัฐิ กระถาง ธูป เทียน ลงแหล่งน้ำ, แก้ปัญหาเรือประมงและสนับสนุนประมงพื้นบ้าน, ทบทวนความจำเป็นของการทำอควอเทียมหรือพิพิธภัณฑ์น้ำในแง่จริยธรรม, กำหนดมาตรการเยียวยาชดเชยที่สมเหตุสมผลเมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลลงทะเล, ส่งเสริมให้โรงเรียนพาเด็ก ๆ ไปทัศนศึกษาแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำและอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล, ยกระดับการเก็บข้อมูลเพื่อการเตือนภัยพิบัติ, เสนอให้รัฐมีแหล่งเงินทุนสนับสนุนสตาร์ทอัพด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางน้ำและส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ, สนับสนุนอันดามันเป็นมรดกโลก ซึ่งค้างคามาเกือบ 20 ปีแล้ว, ทบทวนการก่อสร้างโครงสร้างขนาดใหญ่และกำแพงกั้นคลื่นที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ, สร้างความเข้าใจและร่วมกันลดปรากฏการณ์เอลนีโญซึ่งอุณหภูมิน้ำสูงผิดปกติ

รวมทั้งเราอาจทบทวนความจำเป็นของการลอยกระทง และช่วยกันย้ายกิจกรรมการปล่อยขยะลงแหล่งน้ำธรรมชาตินี้ ไปสู่แหล่งน้ำส่วนตัว เช่น โอ่ง หรือ อ่างในบ้าน ไม่ก็อาจเก็บมันไว้เป็นความทรงจำในหนังสารคดีและพิพิธภัณฑ์