ThaiPublica > คอลัมน์ > 30 ปี กับ 3 ปัญหาสำคัญด้านพลังงานไทย

30 ปี กับ 3 ปัญหาสำคัญด้านพลังงานไทย

18 มิถุนายน 2024


ประสาท มีแต้ม

ในช่วงกลางเดือนนี้รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน โดยกระทรวงพลังงานกำลังจะนำแผนแผนพลังงานชาติ(National Energy Plan) ออกมารับฟังความคิดเห็นจากประชาชน แผนนี้เป็นแผนแม่บทฉบับใหม่ที่รวมเอาเรื่องพลังงานทั้งหมด ทั้งน้ำมัน ไฟฟ้า ก๊าซ แผนพลังงานทดแทน และการอนุรักษ์พลังงานมารวมไว้ด้วยกัน โดยที่เดิมทีนั้นแผนใหม่นี้ได้ริเริ่มมาตั้งแต่เมื่อปี 2021 ปลายสมัยของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และมีแผนว่าจะออกมาใช้งานในปี 2022 แต่ในที่สุดก็เพิ่งจะออกมาในช่วงนี้ท่ามกลางเสียงวิจารณ์กันต่างๆนานาถึงเหตุผลที่ต้องล่าช้ามากว่า 2 ปี

คาดว่าแผนพลังงานชาตินี้จะถูกใช้งานตั้งแต่ปี 2567-2580 กระทรวงพลังงานอ้างว่าแผนพลังงานชาติเป็นแผนที่กำหนดทิศทางการพัฒนาด้านพลังงานของประเทศ “เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ” แต่ในความเป็นจริงจะเป็นอย่างไรนั้น ผู้บริโภคควรเข้ามามีส่วนร่วมและติดตามตรวจสอบในทุกขั้นตอน

สื่อบางสำนักได้นำเสนอรายละเอียดของร่างแผนนี้บางส่วนว่า ภายใต้แผนนี้จะมีการควบคุมไม่ให้ค่าไฟฟ้าสูงเกินกว่า 4 บาทต่อหน่วย (ปัจจุบัน หากใช้ 500 หน่วยต่อเดือน จะต้องจ่ายค่าไฟฟ้ารวมภาษีแล้วเฉลี่ย 4.73 บาทต่อหน่วย) บางท่านอาจจะรู้สึกดีใจกับค่าไฟฟ้าในแผนดังกล่าว แต่เท่าที่ผมได้ศึกษาผลงานวิจัยของกลุ่มที่ชื่อ Rethinkx (นำโดย Tony Seba – เคยได้รับเชิญให้มาบรรยายในประเทศไทย) พบว่า ในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า การผลิตไฟฟ้า 100% จากโซลาร์เซลล์ (Solar) กังหันลม (Wind) และแบตเตอรี่(Battery) หรือ 100% SWB ในสหรัฐอเมริกาและที่อื่นๆเกือบทั่วโลกเป็นไปได้และจะมีต้นทุนค่าไฟฟ้าเพียงประมาณ 3 เซ็นต์หรือประมาณ 1.20 บาทต่อหน่วยเท่านั้น

ดังนั้น การพิจารณาแผนพลังงานในยุคที่โลกมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วมากเราจึงจำเป็นต้องตามโลกให้ทัน อย่าให้ใครมาหลอกเราได้ง่ายๆอีกต่อไป

ในบทความนี้ ผมจะยังไม่พูดถึงเรื่องในอนาคต แต่จะขอย้อนไปดูในอดีต 30 ปีที่ผ่านมาว่า นโนบายและแผนพลังงานของเราได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างไร

โดยใช้ข้อมูลดิบจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ในช่วงปี พ.ศ.2536-2566 และเพื่อไม่ให้ข้อมูลมากเกินไป ผมจึงเลือกใช้ข้อมูลในช่วง 2 ปีแรกคือ 2536-2537 และ 2 ปีสุดท้ายคือ 2565-2567 มาเสนอดังภาพ

ปัญหาที่ 1 ราคาพลังงานเมื่อเทียบกับรายได้(จีดีพี)แพงขึ้นจาก 11% เป็น 15%

สมมุติว่าประเทศไทยเราเป็นครอบครัวเดียว ตัวชี้วัดแรกที่เราควรพิจารณาก็คือ ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของครอบครัวนี้มีสัดส่วนเป็นร้อยละเท่าใดของรายได้ซึ่งในที่นี้ก็คือจีดีพีนั่นเอง จากตารางพบว่า ในช่วง 2 ปีแรก ครอบครัวนี้จ่ายค่าพลังงานร้อยละ 11 ของรายได้ แต่ในช่วง 2 ปีสุดท้ายได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 15 นั่นหมายความว่า ค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ ของครอบครัวนี้ต้องลดลง หรือไม่ก็มีหนี้สินมากขึ้น ความแตกต่างที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 นี้ หากมีรายได้เดือนละ 3 หมื่นบาทก็หมายถึงหนี้สินเพิ่มขึ้นเดือนละ 1,200 บาทต่อเดือน นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่หนี้ครัวเรือนของคนไทยสูงเป็นอันดับต้นๆของโลก

เพื่อให้เกิดการเปรียบเทียบกับครอบครัวอื่น พบว่า ประเทศสหรัฐอเมริกามีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเมื่อเทียบกับจีดีพีในปี 2565 เท่ากับ 5.6% (ข้อมูลจาก Energy Information Agency)

ปัญหาที่ 2 ความสามารถในการพึ่งตนเองลดลงเฉลี่ยเกือบ 3 เท่าตัว

ความสามารถในการพึ่งตนเองด้านพลังงานหมายถึงร้อยละของมูลค่าการใช้พลังงานที่มาจาจากแหล่งพลังงานภายในประเทศเมื่อเทียบกับมูลค่าการใช้พลังงานทั้งหมด จากตารางจะเห็นว่า ในช่วงปีแรกเรามีความสามารถถึงร้อยละ 75 นั่นคือ เรานำเข้าพลังงานเพียงร้อยละ 25 (หรือประมาณ 89,000 ล้านบาท) แต่ในปี 2566 ความสามารถในการพึ่งตนเองได้ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 32 หรือนำเข้าถึงร้อยละ 68 หรือประมาณ 1.796 ล้านล้านบาท

หากย้อนไปดูของปี 2565 ความสามารถในการพึ่งตนเองได้ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 16 เท่านั้น ทั้งนี้เป็นเพราะสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน เห็นไหมครับว่าการที่เราต้องยืมจมูกคนอื่นหายใจนั้นมันอันตรายขนาดไหนโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศที่รายได้ต่ำและขาดความสามารถในการแข่งขันในหลายด้านอย่างประเทศเรา

เมื่อหาค่าเฉลี่ยของช่วง 2 ปีแรกกับช่วง 2 ปีสุดท้ายก็พบว่า ความสามารถในการพึ่งตนเองของไทยได้ลดลงจากร้อยละ 67 เหลือเพียงร้อยละ 24 หรือลดลงเกือบ 3 เท่าตัว

นี่คือ ความผิดพลาดและล้มเหลวที่สำคัญในเชิงนโยบายพลังงานของประเทศไทยเรา ไม่น้อยไปกว่าความผิดพลาดในนโยบายด้านอื่นๆ เช่น การศึกษา ที่เราบ่นกันจนไม่รู้จะบ่นกันอย่างไรแล้ว

ปัญหาที่ 3 การใช้พลังงานหมุนเวียน(แบบดั้งเดิม)ลดลง จาก 18% เหลือ 3%

ในประเด็นนี้ กระทรวงพลังงานใช้คำว่า “พลังงานหมุนเวียน” ซึ่งผมเข้าใจเอาเองว่าน่าจะเป็นประเภทไม้ฟืน ถ่านไม้ เป็นต้น ผมจึงได้เพิ่มคำว่าแบบดั้งเดิม ซึ่งไม่ใช่แบบสมัยใหม่ที่นำมาผลิตไฟฟ้า เช่น แสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล เป็นต้น

จากตารางจะเห็นว่าการใช้พลังงานหมุนเวียน(แบบดั้งเดิม)ได้ลดลงจากร้อยละ 18 หรือเพียงร้อยละ 3 เท่านั้น ทั้ง ๆที่ประเทศเราอยู่ในเขตร้อนชื้นที่ต้นไม้สามารถเติบโตได้ดีมากหากมีการจัดการอย่างถูกหลักวิชาเราสามารถนำต้นไม้มาทดแทนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติได้เป็นจำนวนมาก แต่เราก็ไม่ได้ทำ

จากข้อมูลของกระทรวงพลังงาน(ไม่ได้แสดงในตารางนี้) พบว่ามูลค่าพลังงานหมุนเวียนที่ใช้ในปี 2566 ได้ลดลงเหลือเพียง 7 หมื่นล้านบาท โดยลดลงจากปีก่อนๆ ทั้งในแง่ของปริมาณพลังงานและมูลค่าเป็นตัวเงิน

จากตารางดังกล่าว หากมองในบางมุมเราจะเห็นแนวโน้มที่ดี(แต่ยังดีช้าและน้อยไป) คือ ร้อยละของมูลค่าการใช้ไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 เป็นร้อยละ 36 ของค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน เพราะโลกในอนาคตจะเป็นโลกที่ทำให้สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เป็นไฟฟ้า (Electrification) ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์เครื่องใช้ในครัวและรถยนต์ไฟฟ้าเป็นต้น

ทางออกจาก 3 ปัญหาสำคัญด้านพลังงานอยู่ที่ไหน

บางคนอาจจะมีความเชื่อว่า เพราะประเทศไทยเรามีแหล่งทรัพยากรปิโตรเลียมภายในประเทศไม่มากพอจึงจำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ความสามารถในการพึ่งตนเองด้านพลังงานของเราจึงมีน้อยหรือต่ำ เป็นเรื่องของสภาพทางภูมิศาสตร์ที่ธรรมชาติของโลกได้จัดสรรมาให้แล้ว จะไปตำหนิกล่าวโทษนักการเมืองไม่ได้

ความเชื่อดังกล่าวเป็นความจริงอยู่บ้างเมื่อในอดีต แต่ในช่วงหลัง(ย้อนไป 10 กว่าปี) จนถึงปัจจุบันนี้เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนทั้งโซลาร์เซลล์และกังหันลมได้มีความก้าวหน้าไปมาก หลายประเทศจึงได้ปรับเปลี่ยนนโยบายมาสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนแบบสมัยใหม่มากขึ้น โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ เช่น เยอรมนี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย หรือแม้แต่เวียดนามซึ่งได้กำหนดไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าล่าสุด(PDP 8) ว่าจะส่งเสริมให้บ้านอยู่อาศัยและอาคารสำนักงานอย่างน้อย 50% ติดโซลาร์เซลล์ภายในปี 2030

กล่าวเฉพาะญี่ปุ่นซึ่งมีแสงแดดต่อตารางเมตรประมาณครึ่งหนึ่งของไทย แต่ในปี 2565 ญี่ปุ่นสามารถผลิตไฟฟ้าด้วยโซลาร์เซลล์ได้ประมาณ 1 แสนล้านหน่วย ในขณะที่ปี 2566 ไทยเราซื้อก๊าซธรรมชาติ(ซึ่งประมาณ 70% เป็นการนำเข้าและในราคาที่แพงมาก) คิดเป็นเงิน 3.45 แสนล้านบาท เพื่อผลิตไฟฟ้าได้ 1.1 แสนล้านหน่วย (เฉลี่ยเฉพาะค่าก๊าซฯอย่างเดียวหน่วยละ 3.02 บาท)

นี่คือความจริงที่ผู้กำหนดนโยบายพลังงานของไทยที่ผ่านมาไม่ได้สนใจที่จะเพิ่มความสามารถในการพึ่งตนเองอย่างตั้งใจ

สมมุติว่า เราคิดจะเพิ่มความสามารถในการพึ่งตนเอง โดยลดการใช้ก๊าซธรรมชาติ(ที่ต้องซื้อจากต่างประเทศ) ให้เหลือ 40% แล้วหันมาใช้โซลาร์เซลล์แทน (อย่าโต้เพิ่งแย้งว่ามีปัญหาทางเทคนิค) โดยอาศัยข้อมูลในตารางข้างต้นนี้ เราสามารถคำนวณได้ว่า ในปี 2566 ความสามารถในการพึ่งตนเองของไทยจะเพิ่มขึ้นจาก 32% เป็น 40%

คราวนี้มาดูข้อโต้แย้งที่เรามักจะได้ยินกันอยู่เสมอจากผู้กำหนดนโยบายรวมทั้งนักวิชาการด้านพลังงานบางส่วนว่า “พลังงานแสงอาทิตย์มีน้อย ราคาแพง ไม่เสถียร กลางคืนจะเอาไฟฟ้าที่ได้ใช้”

เรามาดูข้อมูลการผลิตจริงของรัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งมีประชากร 40 ล้านคน แต่ใช้ไฟฟ้ามากกว่าประเทศไทยค่อนข้างเยอะ

นโยบายที่รัฐนี้นำมาใช้เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่ายมากคือ หากมีแสงแดดและลมให้ผลิตได้เต็มที่และส่งไฟฟ้าเข้าสายส่งได้เลย ไฟฟ้าที่ผลิตจากอย่างอื่นให้ลดการผลิตลงมา(ซึ่งสามารถทำได้ทันทีโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ผลิตจากก๊าซฯ) หากยังมีไฟฟ้าเหลือใช้ก็ให้เก็บเข้าแบตเตอรี่เพื่อนำไปใช้ในตอนกลางคืน ดูภาพประกอบข้างล่าง

จากภาพที่เห็นเป็นก้อนสีเหลืองคือปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตจากแสงแดดใน 24 ชั่วโมงของวันที่ 30 เมษายนปี 2564 เราจะเห็นว่ามีขนาดเล็กกว่าของวันเดียวกันของปี 2566 ในขณะที่สีส้มแสดงปริมาณไฟฟ้าที่ได้จากแบตเตอรี่ซึ่งเก็บไฟฟ้าที่เหลือใช้ในตอนกลางวัน แล้วนำมาใช้ในตอนหัวค่ำซึ่งดวงตะวันได้ลับฟ้าไปแล้ว โปรดสังเกตว่าไฟฟ้าที่ผลิตจากก๊าซฯในปี 2566 มีขนาดเล็กกว่าของปี 2564 อย่างชัดเจน นี่คือการเพิ่มการพึ่งตนเอง

ปัจจุบันรัฐแคลิฟอร์เนียได้มีการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านแล้วประมาณ 2 ล้านหลังคา นี่คือความพยายามในการเพิ่มความสามารถในการพึ่งตนเองของรัฐนี้

ผมขอจบบทความนี้ด้วยการยกเอา “คุณค่าหลัก 2 ประการของความเป็นมนุษย์” ของนักปรัชญาชาวเยอรมันท่านหนึ่ง คือ หนึ่ง มีความเป็นอิสระ ไม่ตกเป็นทาสใครหรือสิ่งเสพติดใดๆ และ สอง ต้องรับผิดชอบต่อสังคม

การยึดติดกับพลังงานฟอสซิลที่ราคาสามารถปั่นได้ตามที่ผู้มีอำนาจต้องการนั้นขัดแย้งกับคุณค่าหลักของความเป็นมนุษย์ทั้งสองประการโดยแท้

อนึ่ง ประเทศไทยเราได้ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมานานตลอดเกือบ 30 ปีที่ผ่าน แต่ก็ไม่ได้ปฏิบัติตามนั้นจริง โดยเฉพาะหลักการ 3 ข้อที่ว่า “ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันที่ดี”ถึงเวลาแล้วที่แผนพลังงานชาติฉบับใหม่จะต้องกลับมาทบทวนถึงความผิดพลาดในอดีตแล้วร่วมกันสร้างอนาคตของชาติตามหลักปรัชญาดังกล่าวอย่างจริงจังกันเสียที ผู้บริโภคจึงควร ร่วมกันติดตามและแสดงตนเสนอความคิดเห็นกันนะครับ