ThaiPublica > คอลัมน์ > วันที่ 3 และ 4 ก.ค. 2566 คือวันที่อุณหภูมิอากาศเฉลี่ยทั่วโลกสูงที่สุด ตั้งแต่มีการบันทึก!

วันที่ 3 และ 4 ก.ค. 2566 คือวันที่อุณหภูมิอากาศเฉลี่ยทั่วโลกสูงที่สุด ตั้งแต่มีการบันทึก!

7 กรกฎาคม 2023


ประสาท มีแต้ม

แม้ว่าในช่วงนี้ประเทศเราถูกทางการจัดให้เป็นฤดูฝนและได้ผ่านฤดูร้อนมาแล้วประมาณหนึ่งเดือนกว่า ๆ แต่เราก็ยังรู้สึกว่าสภาพอากาศยังคงร้อนและอบอ้าวมากเกือบทุกวัน แม้ในเวลา 4-5 ทุ่มแล้ว หากไม่เปิดพัดลม นั่งดูทีวีเฉย ๆ เหงื่อก็ยังออกจนไหลย้อย นี่เป็นสภาพที่ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ไม่เฉพาะแต่คนไทยเท่านั้นแต่คนส่วนใหญ่ทั่วโลกกำลังประสบและรู้สึกเช่นเดียวกันครับ

เรามาดูข้อมูลที่นักวิทยาศาสตร์ได้จดบันทึกไว้ ดังกราฟในภาพนี้ก่อนเลยครับ

เส้นกราฟในภาพเป็นอุณหภูมิของอากาศรายวันที่ระดับมาตรฐานคือ 2 เมตรจากผิวโลกทั่วทั้งโลก เป็นการเฉลี่ยจากเหนือสุดถึงใต้สุด จากตะวันออกถึงตะวันตกรอบโลก แล้วนำมาหาค่าเฉลี่ยเป็นองศาเซลเซียส แม้ข้อมูลในกราฟจะนำเสนอเฉพาะในช่วงปี 1979 ถึงปัจจุบัน 2023 หรือ 40 กว่าปี แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ยืนยันว่า สถิตินี้ได้ทำลายข้อมูลทุกช่วงปีนับตั้งแต่ที่มนุษย์มีการบันทึกมา

ผมได้ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด พบว่าเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2566 อุณหภูมิเฉลี่ยเท่ากับ 17.01 องศาเซลเซียส ทำลายสถิติเก่าคือของเดือนสิงหาคม 2559 (เท่ากับ 16.92 C ซึ่งเป็นปีที่เกิดแอลนีโญ) ไปแล้ว แต่พออีก 1 วันถัดมา คือ 4 กรกฎาคม ก็มีการทำลายสถิติ 2 วันติดต่อกัน ขยับมาเป็น 17.18 C ขณะที่ผมเขียนบทความนี้ (6 ก.ค.) ยังไม่มีรายงานของวันที่ 5 กรกฎาคม แต่ไม่แน่นะครับ อาจจะมีการทำลายอีกก็ได้ เพราะของปี 2559 สูงสุดเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม

ผู้เขียนบทความ(ที่ผมอ้างถึงในภาพ) ได้อ้างถึงคำพูดของศาสตราจารย์เกียรติคุณด้านธรณีฟิสิกส์ (Bill McGuire, University College London) ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “Totally Unprecedented and Terrifying.” ซึ่งผมขอแปลว่า “ร้อนอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและน่าสะพึงกลัวสุดๆ”

อาจารย์ท่านหนึ่ง (รศ.ดร.ชัยวิทย์ ศิลาวัชนาไนย-ท่านเสียชีวิตแล้ว) เคยสอนผมว่า การดูกราฟก็เหมือนกับหมออ่านฟิล์ม X-Ray คือให้สังเกตจุดที่มันผิดปกติมากๆ แล้วหาคำอธิบายว่ามันเกิดอะไรขึ้นหรือเป็นเพราะอะไร ด้วยแนวคิดดังกล่าว เราจะเห็นว่า เส้นกราฟของปี 2023 ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม สูงกว่าของทุกปีอย่างชัดเจน

ไม่เพียงแต่อุณหภูมิของอากาศดังกล่าวเท่านั้นที่สูงเด่นอย่างชัดเจน ข้อมูลอื่นๆ เช่น อุณหภูมิรายวันเฉลี่ยของผิวน้ำทะเลทั่วโลก และขนาดของก้อนน้ำแข็งในมหาสมุทรแอนตาร์กติกาของปี 2023 ก็เพิ่มขึ้น(กรณีแรก)และลดลง(กรณีหลัง) อย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับของเดือนเดียวกันของปีก่อนๆ (ดังรูป)

นักวิทยาศาสตร์ทราบอยู่ก่อนแล้วว่า อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นเพราะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Climate Change) แต่ที่สงสัยก็คือ “ทำไมมันจึงร้อนเร็วอย่างนี้”

กรณีของอุณหภูมิของผิวน้ำทะเล ปรากฎการณ์แอลนีโญก็เพิ่งเกิดเมื่อเดือนมิถุนายนนี้เอง แต่ทำไมอุณหภูมิของผิวน้ำทะเลของปี 2566 เริ่มสูงแซงหน้าของปีก่อนๆตั้งแต่กลางเดือนมกราคมโน่น (ดูกราฟล่าง)

นักวิทยาศาสตร์ที่ชำนาญการในเรื่องนี้หลายคนได้แต่เกาหัว บางคนร้อง Oh My God! แต่ยังหาคำอธิบายไม่ได้ว่าทำไมถึงร้อนเร็ว

ขอมาดูอีก 2 ภาพครับ บางภาพมันสะท้อนได้ดีกว่าตัวหนังสือ

ภาพแรก เป็นผลกระทบที่ประชาชนได้รับทั่วโลก ดังคำบรรยายที่เขียนในภาพ (ข้อมูลถึง 4 กรกฎาคม 2566)

ข้อมูลในภาพอาจจะอ่านยากสักหน่อยนะครับ บางข้อมูลก็มีการทำลายสถิติ เช่น อุณหภูมิของประเทศสหราชอาณาจักรสูงที่สุดตั้งแต่มีการบันทึก

ของประเทศไทยเราเอง แม้ไม่ปรากฏในภาพนี้ แต่ผมจำได้ว่า เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2566 อุณหภูมิอากาศของประเทศไทยก็สูงที่สุดตั้งแต่ที่มีการบันทึกมาเช่นกัน คือ 44.6 องศาเซลเซียส ที่จังหวัดตาก

ภาพสุดท้าย สะท้อนว่า ในบางอาชีพแม้ว่าได้พยายามปรับตัวเพื่อลดผลกระทบแล้วก็ตาม แต่ก็เอาไม่อยู่ครับ

มันจึงน่าสะพึงกลัวสุดๆ

การต่อสู้กับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเป็นเรื่องใหญ่มากๆ ที่จะต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วนอย่างมียุทธศาสตร์ตามข้อตกลงปารีสเมื่อปี 2558 แต่ผ่านมาเกือบ 8 ปีแล้ว การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญ (มีส่วนถึง 75%) ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้ลดลงเลย ยกเว้นปีเดียวคือปี 2020 เพราะการระบาดของโควิด-19 (ลดลงประมาณ 6%) หลังจากนั้นก็เพิ่มขึ้นอีก
การประชุมสหประชาชาติในนาม COP28 ที่จะเกิดขึ้นในปลายปีนี้ที่ประเทศ UAE ซึ่งเป็นประเทศส่งออกน้ำมันดิบ แล้วประชาชนจะหวังอะไรได้

ผมได้ติดตามผลงานของนักวิชาการและนักคิดหลายสำนัก พบว่า หากใช้เทคโนโลยีที่มนุษย์มีอยู่แล้วและมีราคาถูกกว่าการใช้พลังงานฟอสซิลที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก็สามารถลดปริมาณการปล่อยลงได้ถึง 90% ภายในปี 2035 เร็วกว่าที่สหประชาชาติได้วางแผนไว้แต่ไม่สามารถบรรลุได้ ท่านที่สนใจลองเข้าไปดูที่ https://www.rethinkx.com/energy

ผมเองได้นำความรู้จากแหล่งนี้มาเผยแพร่ รณรงค์มาหลายปีแล้ว อยากจะเชิญชวนท่านและองค์กรภาคประชาชนที่สนใจมาช่วยกันศึกษา เพราะภัยจากการเปลี่ยนแปลงสถาพภูมิอากาศมันน่าจะพึงกลัวสุดๆ จริงๆ

ผมขอมองโลกในแง่ดีว่ามนุษย์สามารถแก้ปัญหาสำคัญนี้ได้ หากเราเปลี่ยนผู้เขียนนโยบายพลังงานจากพ่อค้าพลังงานฟอสซิลมาเป็นภาคประชาชนโดยใช้พลังงานสะอาดคือพลังงานจากแสงอาทิตย์ พลังงานลมและแบตเตอรี่ ต้นทุนถูกกว่า คุณภาพชีวิตและคุณภาพอากาศก็ดีกว่าเดิมครับ