ThaiPublica > คอลัมน์ > คนไทยจ่ายค่าไฟฟ้าแพงกว่าคนมาเลเซียถึงกว่า 3 เท่าตัว!!

คนไทยจ่ายค่าไฟฟ้าแพงกว่าคนมาเลเซียถึงกว่า 3 เท่าตัว!!

20 มีนาคม 2023


ประสาท มีแต้ม กรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านบริการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค

ผมค้นพบโดยบังเอิญจากเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของประเทศมาเลเซียว่า หากคนมาเลเซียใช้ไฟฟ้าจำนวน 200 หน่วยต่อเดือนจะต้องจ่าย 302 บาท (ที่อัตราแลกเปลี่ยน 7.63 บาทต่อริงกิต) ในขณะที่คนไทยประเภทบ้านอยู่อาศัยในเขตการไฟฟ้านครหลวงจะต้องจ่ายถึง 974 บาท (ประเภท 1.2 ใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือน) คิดเป็น 3.23 เท่าของที่คนมาเลเซียจ่าย

เรียนตามตรงว่า ผมแทบจะไม่เชื่อสายตาของผมเอง เพราะคิดไม่ถึงว่ามันจะต่างกันมากถึงขนาดนี้ ทั้ง ๆ ที่รายได้ต่อหัวประชากรของคนไทย มีจำนวนเท่ากับ 0.7 ของชาวมาเลเซียเท่านั้น(คิดจากจีดีพีที่ปรับตามอำนาจการซื้อ(PPP) แล้ว) นั่นหมายความว่า หากคิดเทียบกับรายได้ที่ได้รับ พบว่าคนไทยเราต้องแบกภาระค่าไฟฟ้าเกินกว่า 4.6 เท่าของชาวมาเลเซียซึ่งเป็นเพื่อนบ้านของเราเอง

ในบทความนี้ นอกจากจะนำเสนอเปรียบเทียบค่าไฟฟ้าของสองประเทศดังกล่าวแล้ว ผมจะนำเสนออีก 2 ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้อง คือ

  • หนึ่ง รัฐบาลมาเลเซียไม่เก็บภาษีสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 600 หน่วยต่อเดือน แต่รัฐบาลไทยเก็บทุกหน่วยในอัตรา 7% โดยไม่จำแนกว่ารวยหรือจน
  • สอง ประเทศมาเลเซียส่งเสริมการติดโซลาร์เซลล์ด้วยระบบหักลบกลบหน่วย (Net Metering) แต่ประเทศไทยเราไม่เป็นเช่นนั้นครับ
  • ตามมาดูความจริงว่ามันเป็นอย่างไรกันเลยครับ

    และเพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับท่านผู้อ่านที่อาจรู้สึกไม่ค่อยเชื่อสายตา รวมทั้งอาจจะไม่เชื่อใจผมเองด้วย ผมจึงขอแนบลิงค์เว็บไซต์การคิดค่าไฟฟ้าของประเทศมาเลเซียมาพร้อมด้วยเลย https://myelectricitybill.my/bill_calculator_domestic.html

    ค่าไฟฟ้าในประเทศมาเลเซียมีวิธีการคิดคล้ายกับของประเทศไทยเรา แต่มีรายละเอียดที่ต่างกันครับ กล่าวคือประกอบด้วย 3 ส่วน คือ (1) มีค่าพลังงานไฟฟ้า(หลายปีจึงจะเปลี่ยนสักครั้ง) (2) ค่าต้นทุนที่เปลี่ยนไปจากส่วนแรกในแต่ละเดือน (เขาเรียกว่าค่า ICPT ซึ่งปัจจุบันเท่ากับ ลบ 2 เซ็นต์ต่อหน่วย) ผมเข้าใจว่าคล้ายกับค่าเอฟทีในบ้านเรานั่นเอง และ (3) ค่าภาษี Service Tax 6% สำหรับหน่วยที่มากกว่า 600 หากใช้ไม่ถึงก็ไม่เก็บเลย ดังภาพประกอบ

    เพื่อเป็นการให้ข้อมูลที่ครบถ้วนและตรงไปตรงมา ผมขอเรียนเพิ่มเติมว่าอัตราค่าไฟฟ้าในส่วนแรกของมาเลเซียเป็นอัตราก้าวหน้า โดยที่อัตรา 1-200 หน่วยแรก คิดเป็นเงินไทย 1.66 บาทต่อหน่วย ในขณะที่ของการไฟฟ้านครหลวง 1-150 หน่วยแรก อัตรา 3.25 บาทต่อหน่วย หน่วยที่ 150-400 อัตรา 4.22 บาทต่อหน่วย นี่ยังไม่รวมค่า Ft ซึ่งของไทยเราต้องจ่ายเพิ่ม 0.9343 สตางค์ต่อหน่วย แต่ของมาเลเซียติดลบ 2 เซ็นต์ต่อหน่วย

    นอกจากนี้ โดยอาศัยข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2565 พบว่า โดยเฉลี่ยคนไทยใช้ไฟฟ้าเดือนละ 200 หน่วยต่อครัวเรือน(หรือต่อรายมิเตอร์) ตรงกันกับอัตราช่วงแรกของมาเลเซียพอดีเลย ดังนั้น จึงไม่ต้องกล่าวหาว่า ผมเลือกเอาเฉพาะช่วงอัตราที่ของมาเลเซียมีราคาถูกและของไทยมีช่วงอัตราสูงมาเทียบกัน

    กล่าวมาถึงตอนนี้ ผมมี 2 ประเด็นที่ต้องขอวิพากษ์วิจารณ์

    ประเด็นแรกคือเรื่องภาษี นักเศรษฐศาสตร์บางท่านเชื่อว่า นโยบายทางภาษีเป็นเครื่องมือของรัฐบาลที่จะทำให้ความเหลื่อมล้ำของคนในชาติลดลง ดังนั้น การที่รัฐบาลมาเลเซียไม่เก็บภาษีบริการ (Service Tax) ของผู้ที่ใช้ไฟฟ้าจำนวนน้อย(ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือผู้มีรายได้น้อยนั่นเอง) และการเก็บภาษีสำหรับผู้ที่ใช้จำนวนมากกว่า 600 หน่วย(ซึ่งส่วนมากก็คือผู้มีรายได้สูงนั้นเอง)จึงเป็นการลดความเหลื่อมล้ำของคนในชาตินั่นเอง

    ประเด็นที่สอง ทำไมค่าไฟฟ้าของไทยแพงกว่า เรื่องนี้มีหลายสาเหตุประกอบกัน เช่น

    เรื่อง การมีกำลังการผลิตสำรองสูงเกินไป จากข้อมูลที่ผมหาได้พบว่า โรงไฟฟ้าทั้งระบบในประเทศไทยและมาเลเซียเดินเครื่องโดยเฉลี่ยเพียงวันละ 12 และ 13 ชั่วโมง ตามลำดับ ซึ่งในมาตรฐานสากลยอมรับกันว่า หากเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติจะต้องเดินเครื่องโดยเฉลี่ยประมาณ 20-21 ชั่วโมง (เป็นค่าเฉลี่ยทั้งปี) การที่เดินเครื่องได้เพียง 12 ชั่วโมงต่อวันจึงย่อมมีต้นทุนที่สูงกว่ากรณี 13 ชั่วโมง

    อีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้ค่าไฟฟ้าในมาเลเซียถูกกว่าของไทยก็คือค่าเชื้อเพลิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องก๊าซธรรมชาติที่ของมาเลเซียมีราคาถูกกว่า เพราะรัฐบาลเอากำไรจากบริษัทปิโตรนาสซึ่งเป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติ 100% มาอุดหนุนค่าก๊าซธรรมชาติให้ชาวมาเลเซีย แต่ของประเทศไทยเราดันมาแปรรูปให้เอกชนถึง49%

    นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่ผมหาคำอธิบายไม่ได้ เช่น ทำไมในช่วงเวลาเดียวกัน โรงไฟฟ้าถ่านหิน BLCP (จังหวัดระยอง) ขายไฟฟ้าให้ กฟผ.ในราคา 1.45 บาทต่อหน่วย แต่ โรงไฟฟ้าหงสาลิกไนต์ (ในประเทศ ส.ป.ป.ลาว) จึงขายให้ กฟผ. ในราคา 2.20 บาทต่อหน่วย และโรงไฟฟ้าเอ็กโค่วัน (จังหวัดระยองใช้ถ่านหินบิทูมินัสซึ่งแพงกว่าถ่านหินธรรมดา) ขายได้ในราคา 2.92 บาทต่อหน่วย (มันไม่น่าจะแพงถึงกว่า 2 เท่าตัว) รวมทั้งโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่จะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคตใน ส.ป.ป.ลาว ก็มีอัตราการรับซื้อที่สูงผิดปกติ ถือเป็นภาระที่รออยู่ ผมไม่เข้าใจครับ

    คราวนี้มาดูของประเทศไทยเรากันบ้าง ที่นี่ โดยผมได้สรุปของการไฟฟ้านครหลวงทั้งประเภท 1.1 และ ประเภท 1.2 ดังภาพประกอบครับ

    จากข้อมูลในตาราง(ดังภาพ) พบว่า คนไทยในเขตการไฟฟ้านครหลวงที่ลงทะเบียนเป็นประเภท 1.2 หากใช้จำนวน 200 หน่วยต่อเดือนจะเสียค่าพลังงานไฟฟ้าถูกกว่าผู้ใช้ประเภท 1.1 เกือบ 32 บาท ซึ่งผมไม่ทราบเหตุผลว่าทำไมจึงเป็นเช่นนี้ ทั้ง ๆที่อยู่ในพื้นที่เขตนครหลวงเหมือนกัน ก่อนหน้านี้ ประเภท 1.2 จะต้องจ่ายค่าบริการจาก 38.22 บาท แต่ได้ลดลงมาเป็น 24.62 บาท สุทธิแล้ว ประเภท 1.2 ยังคงจ่ายถูกกว่าประเภท 1.1 อยู่เกือบ 26 บาท

    คราวนี้มาดูแผนการส่งเสริมโซลาร์เซลล์ของรัฐบาลไทยกับรัฐบาลมาเลเซียกันบ้างครับ

    ขอเริ่มต้นจากโครงการ “โซลาร์ภาคประชาชน” ซึ่งเกิดขึ้นจากการเรียกร้องของภาคประชาชน ผ่าน “สภาปฏิรูปแห่งชาติ” หลังรัฐประหารปี 2557 รัฐบาลไทยได้อนุมัติให้รับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟ จำนวน 10 เมกะวัตต์ ในราคา 2.20 บาทต่อหน่วย เป็นเวลา 10 ปี ทั้ง ๆที่อายุการใช้งานของโซลาร์เซลล์ประมาณ 25 ปี และราคาที่คนไทยต้องจ่ายให้การไฟฟ้าเกือบ 5 บาทต่อหน่วย นอกจากนี้การซื้อขายในราคาที่ไม่เท่ากันทำให้ต้องซื้อมิเตอร์เพิ่มอีก 1 ตัว โดยไม่จำเป็น

    แต่โครงการหักลบกลบหน่วย(Net Metering) ของประเทศมาเลเซียเป็นการแลกไฟฟ้ากันระหว่างเจ้าของที่ติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน แบบหน่วยต่อหน่วย หรือในราคาที่เท่ากัน โดยมีจำนวน 800 เมกะวัตต์ ดังภาพประกอบ

    เว็บไซต์ของบริษัทที่รับติดตั้งโซลาร์เซลล์ในมาเลเซีย(ที่อ้างถึงในภาพ) ได้คำนวณให้ดูว่า กรณีบ้านที่ใช้ไฟฟ้าเดือนละ 700 หน่วย หากไม่ติดโซลาร์เซลล์ก็ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าจำนวน 286.40 ริงกิต (2,185 บาท) แต่หากผลิตจากโซลาร์เซลล์ได้จำนวน 450 หน่วย ก็จะจ่ายเพียง 60.30 ริงกิต (460 บาท) เท่านั้น

    แต่หากเป็นในเขตการไฟฟ้านครหลวงของบ้านเราก็จะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าจำนวน 3,813 บาท ไม่เชื่อก็ลองเข้าไปดูตามลิงค์ที่ผมได้กล่าวถึงในตอนต้น

    ผมจะไม่สรุปอะไร นอกจากจะขอให้ท่านผู้อ่านโปรดช่วยพิจารณาในฐานะผู้บริโภคว่า คนไทยเราควรจะทำอย่างไรดีทั้งเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่มที่คงที่ เรื่องอัตราค่าไฟฟ้าแพง และเรื่องการกีดกันไม่ให้คนไทยได้ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งมีราคาถูกมากและเป็นสมบัติที่ธรรมชาติได้มอบให้มนุษย์ทุกคนอย่างเท่าเทียมกันครับ