ThaiPublica > คนในข่าว > คำทำนาย “จาตุรนต์” ก่อน “วันอัปมงคล” ประชาธิปไตย กับปฏิบัติการโละศาลเพื่อล้าง รธน. (อีกครั้งหนึ่ง)

คำทำนาย “จาตุรนต์” ก่อน “วันอัปมงคล” ประชาธิปไตย กับปฏิบัติการโละศาลเพื่อล้าง รธน. (อีกครั้งหนึ่ง)

11 กรกฎาคม 2012


“…เขาคงคิดว่าการจะได้อะไรมาต้องลงทุน ต้องแลก ทีนี้เขาจะยอมลงทุนมากน้อยแค่ไหนในการตัดสินวันที่ 13 กรกฎาคมนี้ ก็เป็นสิ่งที่เขาต้องคิด แต่เมื่อยอมลงทุนไปมาก ยอมเสียหายไปมากแล้ว จะให้กลับมือเปล่าคงไม่ได้…”

17 ชั่วโมง… เป็นเวลารวมในการออกนั่งบัลลังก์ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญระหว่างวันที่ 5-6 กรกฎาคม เพื่อพิจารณาไต่สวนกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 291 เข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือไม่

ไต่สวนพยานฝ่ายผู้ร้องไป 7 ปาก สอบพยานฝ่ายผู้ถูกร้องไปอีก 8 ปาก

มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญขอถอนตัวออกจากการพิจารณาคดีรวม 4 ราย แต่ที่ประชุมมีมติไม่ให้ถอนตัว 3 ราย ยกเว้น “จรัญ ภักดีธนากุล” ที่ชิงถอนตัวสำเร็จระหว่างการไต่สวนในวันแรก

120 ชั่วโมง… เป็นห้วงแห่งการต่อสู้ยกสุดท้าย เมื่อศาลให้ทั้ง 2 ฝ่ายจัดทำคำแถลงปิดคดี แล้วยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 11 กรกฎาคม

48 ชั่วโมงหลังจากนั้น… คือโอกาสสุดท้ายในการลุ้น-เตรียมแผนตั้งรับ-เปิดเกมรุกต่อ ก่อนมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเวลา 14.00 น. ของวันที่ 13 กรกฎาคม ท่ามกลางการจับตาดู-เงี่ยหู-ทำนาย-ทาย-ทักจากสารพัดฝ่าย ในทำนองไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรก็ทำให้ “ตุลาการวิบัติ” ไปแล้ว และสุ่มเสี่ยงต่อการทำให้ “ประเทศชาติวิกฤต”

แม้แต่ “วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์” ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ยังระบายความรู้สึกออกมากลางห้องพิจารณาคดีว่า “คดีนี้หากทอดเวลาการพิจารณานานออกไปจะเป็นเรื่องไม่เป็นมงคลทั้งสิ้น ถ้าตัดสินเร็วเกินไปก็หาว่าลุกลี้ลกลน มีธง ถ้าตัดสินช้าก็หาว่าดึงเกม”

ก่อนโมงยามสุดท้ายจะมาถึง “สำนักข่าวไทยพับลิก้า” มีนัดสนทนากับ “จาตุรนต์ ฉายแสง” อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ถึงอนาคตการเมืองไทยหลัง “ศุกร์ 13”

นายจาตุรนต์ ฉายแสง
นายจาตุรนต์ ฉายแสง

ไทยพับลิก้า : ประเมินว่า “ศุกร์ 13” นี้จะเกิดข่าวไม่เป็นมงคลกับฝ่ายไหน

อืม…คือดูแล้วนี่อย่างไรก็จะไม่เป็นมงคลต่อบ้านเมือง เพราะโอกาสจะเป็นมงคลได้มันมีช่องเดียว คือต้องวินิจฉัยว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจในการพิจารณาเรื่องนี้ และไม่มีอำนาจตรวจสอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะอันนั้นคือสิ่งที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อศาลรับพิจารณา เห็นว่าผู้ร้องสามารถมาร้องโดยตรงได้ เขารับพิจารณาได้ และยังไปตรวจสอบร่างรัฐธรรมนูญ จะให้เขาวินิจฉัยว่าสิ่งที่ทำมาทั้งหมดผิดไปแล้ว เหมือนประกาศว่าพวกข้าพเจ้าได้ทำผิดไปแล้ว มันคงไม่เกิดขึ้น เมื่อยืนยันอำนาจในส่วนนี้ ต่อให้พิจารณาแล้วเห็นว่ามาตรา 291 ที่ทำอยู่ไม่ขัดตามมาตรา 68 การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยมี ส.ส.ร. (สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ) สามารถกระทำได้ ให้เดินหน้าต่อไป สมมุติอย่างนี้ ซึ่งหลายฝ่ายจะรู้สึกว่าถ้าออกแบบนี้คือไชโยโห่ร้อง คือดีแล้ว ผมก็ยังเห็นว่าไม่เป็นมงคลอยู่ดี ยังผิดอยู่ดีที่ศาลรัฐธรรมนูญไปใช้อำนาจทั้งๆ ที่ไม่มีอำนาจ และจะกลายเป็นบรรทัดฐานว่าศาลรัฐธรรมนูญสามารถตรวจสอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งเป็นการทำลายหลักการแบ่งแยกอำนาจ ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญสามารถเป็นผู้กำหนดได้ว่าร่างรัฐธรรมนูญเนื้อหาอย่างไรถึงจะเรียกว่าขัดหรือไม่ขัดมาตรา 68 ซึ่งจะเป็นอันตรายมาก เพราะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ยากมาก นี่คือไอ้ที่เบาที่สุดแล้ว ซึ่งดูแล้วก็ไม่เป็นมงคล

แต่ผมดูแล้วมันน่าจะหนักกว่านั้นอย่างน้อยอีกขั้นหนึ่ง คือไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป หมายถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทำอยู่ ต้องสั่งให้ยุติไป ให้เลิก ด้วยเหตุผลว่า “อาจนำไปสู่การล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” นี่คือทางที่คิดว่าเป็นไปได้สูง ดังนั้น ไม่ว่าตัดสินอย่างไร ก็ไม่เป็นมงคล มันกระทบต่อการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นการขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นี่คือปัญหาใหญ่ที่สุด และทำให้วิกฤตของประเทศนี้รุนแรงขึ้นในวันข้างหน้าและหาทางแก้ยาก เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกปิดไป

ไทยพับลิก้า : หากคำวินิจฉัยออกมาให้ยุติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ บรรดาคณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา และพรรคการเมืองจะมีความผิดหรือไม่อย่างไร

เขาก็มีวิธีเขียน คือขณะนี้ความผิดมันยังไม่สำเร็จ จะบอกว่าล้มล้างการปกครองมันก็ยังไม่ได้ เพราะ ส.ส.ร. ก็ยังไม่เกิด จะร่างกันอย่างไรก็ยังไม่ทราบ ที่สำคัญคือร่างแก้ไขมาตรา 291 เพิ่งผ่านวาระ 2 ไม่มีใครรู้ว่าสมาชิกรัฐสภาจะลงมติกันอย่างไร เขาอาจจะคว่ำก็ได้หลังจากฟังความเห็นของหลายฝ่าย ร่างนี้ก็ไม่ผ่าน แล้วจะบอกว่าเขากำลังจะล้มได้อย่างไร ดังนั้นก็มีวิธีเขียนคำวินิจฉัยได้ว่า “ไม่ได้มีเจตนาจะไปล้ม” แต่ถ้าเขาจะขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป เขาก็ต้องสั่งยุติและบอกว่า “แต่อาจจะนำไปสู่การล้ม เนื่องจากร่างเสร็จแล้วไม่ได้นำกลับมาที่รัฐสภา ไม่มีหลักประกัน” ซึ่งอันนี้เป็นแนวที่อาจารย์สุรพล (นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็น 1 ใน 7 พยานฝ่ายผู้ร้อง) กับพวกก็พูดไว้ก่อน ต่อมาก็มาปรากฏเป็นสาระสำคัญของคำร้อง และต่อมาก็มาปรากฏเป็นความเห็นของประธานศาลรัฐธรรมนูญเอง และยังเป็นคำถามของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญถึง 3-4 คนที่ถามในประเด็นเดียวกัน ดังนั้น มันเห็นได้ชัดว่าประเด็นนี้กลายเป็นประเด็นใหญ่ ไม่ว่าจะออกอย่างไรมันก็เกิดความเสียหายไปแล้ว

ไทยพับลิก้า : ขณะนี้บางฝ่ายออกมาแนะทางออกที่ประนีประนอมคือให้ถอยกลับไปตั้งต้นกันใหม่ ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทีละมาตรา หากคำวินิจฉัยออกมาเช่นนี้ น่าจะทำให้ทุกฝ่ายรู้สึกโล่งหรือไม่

อันนั้นก็ผิดแล้วไง ถ้าจะทำให้ทุกฝ่ายรู้สึกโล่งเนี่ย คงจะเป็นวิธีที่เขาฉวยเอาอันนี้เป็นทางออกที่คนรู้สึกว่าโล่ง แต่จริงๆ แล้วมันผิด เพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในประเทศประชาธิปไตยทั้งหลายไม่ให้ศาลรัฐธรรมนูญมามีอำนาจในการร่างรัฐธรรมนูญ มามีอำนาจเหนือฝ่ายนิติบัญญัติ คือศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจถ่วงดุลได้ในกรณีใครไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ หรือร่างกฎหมายแล้วไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ แต่การร่างรัฐธรรมนูญต้องเป็นอำนาจของรัฐสภา เมื่อเขามาแทรกแซงอย่างนี้ บอกให้หยุดไป บอกต้องกลับไปร่างทีละรายมาตราแบบนี้ มันไม่ใช่การเจ๊ากันไป พบกันครึ่งทาง แต่เป็นการเข้ามาก้าวก่ายแทรกแซง และจะปิดทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ไทยพับลิก้า : ในเมื่อออกช่องไหนก็ไม่เป็นมงคล รัฐบาลและเพื่อไทยเตรียมแผนรองรับวันที่ 13 กรกฎาคมอย่างไร

มันมีที่เขาวิเคราะห์กันหลากหลาย บางคนบอก 1. ยกคำร้องไปเลย ไม่ได้เป็นการล้มล้าง การแก้มาตรา 291 สามารถทำได้ 2. ให้ยุติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะอาจนำไปสู่การล้ม แต่ว่าไม่ได้เห็นว่า ครม. หรือสมาชิกรัฐสภามีเจตนาจงใจจะล้ม อันนี้คือไม่นำไปสู่การยุบพรรค ถ้าใครไปร้องให้ถอดถอน หรือดำเนินคดีกับ ครม. ก็คงไปได้ไม่เท่าไร และ 3. จงใจจะล้ม ให้ยุติการแก้รัฐธรรมนูญ คนก็จะไปร้องถอดถอน ครม. ได้ ศาลอาจจะสั่งให้ยุบพรรคได้ ไอ้ตรงนี้มันคงจะขัดความรู้สึกคนมากเกินไป ดังนั้น แนวโน้มจะเกิดแรงสุด คงไม่ถึงขั้นนี้

ในความเห็นผม ไม่ว่าออกแบบไหนคือเลวหมด เป็นการลุแก่อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น เรากำลังอยู่ในระบบที่ตัวศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรคือยอมรับไม่ได้ ต้องประกาศว่าไม่ยอมรับ แต่ปฏิบัติตามไหม องค์กรที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องก็ต้องปฏิบัติตาม ถ้าเขาสั่งให้ยุติการแก้รัฐธรรมนูญที่กำลังทำอยู่ก็ต้องยุติ แต่ไม่ยอมรับ และหาทางว่าจะแก้ไขการตัดสินแบบผิดๆ นี้อย่างไรต่อไป เช่น ถ้าศาลสั่งให้ยุติ แล้วไปแก้รัฐธรรมนูญทีละมาตรา ถ้ามีพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อยู่ในสภา จะแก้มากๆ ให้มีเนื้อหาที่เป็นประชาธิปไตยก็ต้องใช้เวลา 20 ปี เพราะเขาจะอภิปรายไม่มีหยุด ก็พอดีบ้านเมืองได้วิกฤตใหญ่แล้ว เพราะรัฐธรรมนูญมันไม่เป็นประชาธิปไตย ดังนั้น ถ้าเขาสั่งว่าการแก้ต้องยุติลง ก็ต้องยุติ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทำใหม่ไม่ได้ ถ้าเราต้องการแก้ปัญหาบ้านเมือง ก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญให้ได้ ก็ต้องมาหาทางกันต่อจากความไม่ยอมรับการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ

ไทยพับลิก้า : ถ้าต้องตั้งต้นใหม่ วิธีการที่ดีสุดในการขึ้นเกมใหม่คือ

ถ้าต้องตั้งต้นใหม่ วิธีการดีที่สุดที่ควรทำเป็นอันดับแรกคือ แก้รัฐธรรมนูญบางมาตราที่เกี่ยวข้อง และจำกัดอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญเสียก่อน เช่น เขียนมาตรา 68 เสียให้ชัด ความจริงมาตรานี้มีไว้เพื่อป้องกันการปฏิวัติรัฐประหาร ไม่ได้มีไว้เพื่อป้องกันการแก้รัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 แต่ศาลโมเมไปอย่างนี้แล้ว ก็ต้องไปกำหนดให้ชัด นอกจากนั้นตามหลักของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเขียนไว้อยู่แล้วว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจตรวจสอบการร่างรัฐธรรมนูญ แต่ศาลเกิดไปวินิจฉัยในทางที่กลายเป็นตัวเองมีอำนาจ ถ้าเราจะแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ เราก็ต้องเขียนให้ชัดว่าศาลรัฐธรรมนูญต้องไม่มีอำนาจตรวจสอบการร่างรัฐธรรมนูญ

หลังจากนั้นเราจึงคิดขั้นตอนต่อไปว่า จะแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร จะให้มี ส.ส.ร. หรือมีอะไร ไม่เช่นนั้นจะแก้มากๆ ไม่ได้ เพราะถ้าให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ เขาก็จะวินิจฉัยว่า “การล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” หมายความว่าไปแตะต้องมาตราไหนไม่ได้สักอย่าง อย่างนี้ก็กลายเป็นห้ามแก้ไปเลย เป็นการตีความด้วยความคิดเผด็จการ ไม่ยอมให้ประชาชนแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เลย แก้ 291 ขัด 291 มันเป็นความคิดที่ไม่มีตรรกะ คิดว่าคนไทยไม่มีความคิดหรืออย่างไร ดังนั้น ถ้าจะตั้งต้นใหม่ ก็ต้องตั้งต้นจากการจำกัดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญเสียก่อน

ไทยพับลิก้า : ขนาดครั้งนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาไกลถึงวาระ 2 ยังติดบล็อก แล้วมั่นใจได้อย่างไรว่าอำมาตย์จะยอมให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยสลายเครื่องมือบล็อกเสียงข้างมากที่ทรงพลัง

คืออันนี้เป็นเหตุที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทั้งหมดเพื่อสกัดกั้นไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั่นเอง เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นเครื่องมือสำคัญในการให้ฝ่ายชนชั้นนำ ผู้มีอำนาจโดยไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหลาย ยังคงครองอำนาจต่อไป และยังมีอำนาจที่จะหักล้างมติประชาชน หักล้างผลการเลือกตั้ง เขาจึงยอมให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ได้ นี่คือพื้นฐานทางความคิด เหตุผล ส่วนการเคลื่อนไหวของคนที่เกี่ยวข้อง เราก็จะเห็นชัดเจน ประกอบด้วย ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการยึดอำนาจแต่เดิม ผู้ที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ผู้ที่สนับสนุนการรัฐประหาร ปกป้องรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คนเหล่านี้ได้ร่วมมือกันเป็นขบวนการเพื่อไม่ให้มีการแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ บางคนที่เคยร่วมล้มรัฐบาลพรรคพลังประชาชน (พปช.) สามารถบอกล่วงหน้าเป็นสัปดาห์ๆ ว่าศาลจะตัดสินวันที่ 13 กรกฎาคม บอกได้อย่างไร ทั้งหมดนี้คือกระบวนการไม่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ยังไปฝันหวานกันว่าเขาจะเปิดทางให้แก้ได้ เป็นไปไม่ได้แล้ว ดังนั้นฝ่ายประชาธิปไตยต้องมาคิด ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร มันคือการสกัดกั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจะทำอย่างไรให้การแก้สำเร็จให้ได้ นี่คือโจทย์ของฝ่ายประชาธิปไตย

ไทยพับลิก้า : เป็นโจทย์ของพรรคเพื่อไทยด้วยหรือไม่

ถ้าพรรคเพื่อไทยยังเป็นฝ่ายประชาธิปไตยอยู่ ก็ควรจะเป็นโจทย์ของพรรคเพื่อไทยด้วย

ไทยพับลิก้า : แต่ที่ผ่านมา คลิปเสียงนายสมศักดิ์ เกียรติ์สุรนนท์ ประธานรัฐสภา เป็นหลักฐานมัดว่าพรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายเบรกเกมตัวเอง ไม่ยอมไปต่อเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปิดสภาหนีการลงมติในวาระ3

จะว่าเองก็ไม่เชิง แต่หมายความว่าเมื่อมีการสั่งมา ทั้งๆ ที่เป็นการสั่งโดยไม่ชอบ และมีการตัดสินใจที่จะถอย หรือไม่มีการนำที่ชัดเจนว่าให้เดินหน้า ถ้าฟังจากคลิปน่ะนะ เมื่อเรื่องมาถึงขั้นนี้แล้ว ก็ต้องมาคิดกันว่าทำอย่างไรจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ตอนนี้ก็ต้องสื่อสารกับองค์กรประชาธิปไตยต่างๆ และประชาชนที่ต้องการเห็นบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยให้ช่วยกัน ถ้าเสียงประชาชนดัง พรรคการเมืองที่อิงอยู่กับประชาชนก็น่าจะทำตาม

ไทยพับลิก้า : คิดว่าคลิปเสียงที่หลุดออกมาเป็นความประมาทเลินเล่อของ “ขุนค้อน” ที่พูดโดยไม่ทันระวัง หรือเป็นความต้องการของ “ขุนนอกกระดาน” ที่จงใจปล่อยคลิปนี้ออกมาเพื่อลดแรงกดดันก่อนศาลตัดสิน

เอ่อ…ไม่ทราบ ไม่น่าจะเป็นความตั้งใจของคุณสมศักดิ์หรือแกนนำคนอื่นๆ ไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น ส่วนตื้นลึกหนาบางอย่างไรผมไม่ทราบ

ไทยพับลิก้า : แต่นายสมศักดิ์พาดพิงสิ่งที่ลึกที่สุด กรณีกล่าวอ้างว่าได้พูดกับ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ว่า “จะไปคุยกับเขาไม่ใช่หรือ แล้วถ้าง้าง (สมัยประชุมสภา) เอาไว้ จะไปคุยกับเขาได้อย่างไร” ทำให้ตีความได้ว่ามีความพยายามการเจรจา หรือฮั้วกับฝ่ายตรงข้าม

อันนี้ผมไม่ทราบเลยว่าหมายถึงอะไรอย่างไร และผมก็ไม่เชื่อว่าถึงแม้ถ้ามีการเจรจาอะไรกันจริงๆ แล้วจะเกิดผลตามที่เจรจา ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง พ.ร.บ.ปรองดอง หรือเรื่องรัฐธรรมนูญ แต่ถามว่าจากนี้จะทำอย่างไร อย่างที่บอก คือ ไม่ว่าคำวินิจฉัยจะออกมาอย่างไร มันเป็นการล้ำแดน เป็นอุปสรรคในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงต้องมาคิดกันว่าจะเดินหน้าอย่างไร ก็ต้ององคาพยพทั้งหลาย ทั้งพรรคการเมือง องค์กรประชาธิปไตย ภาคประชาชนมาช่วยกันคิด

ไทยพับลิก้า : ในขณะที่ภาคประชาชนเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญตลอด แต่พรรคเพื่อไทยกลับแสดงออกในทางยอมจำนนหลายครั้ง

(หัวเราะเล็กๆ) ผมก็ไม่สามารถอธิบายแทนพรรคได้ ก็คงจะมีกระบวนการที่ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะเรียนรู้

ไทยพับลิก้า : คาดการณ์ว่าผลที่เกิดขึ้นจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จะผลักให้คนเสื้อแดงกลับมาเป็นแนวรบและแนวร่วมที่เข้มแข็งรัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้หรือไม่ จะเคลียร์ความรู้สึกเหมือนถูกหลอกได้หรือไม่

อืม… มันก็ขึ้นกับว่าพรรคเพื่อไทยจะปรับตัวได้เร็วหรือไม่ ถ้าพรรคเพื่อไทยปรับตัว และพร้อมจะร่วมผลักดันให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย คงไม่ยากที่จะร่วมมือกับฝ่ายต่างๆ เรื่องร่วมมือกันทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยจะยากหน่อย หากคำวินิจฉัยออกมาในทำนองที่หลายคนรู้สึกว่าเป็นทางสายกลาง โล่งไปแล้ว เจ๊ากันไป แต่ยังแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้อยู่ดี อันนี้ต้องไปทำความเข้าใจว่าอย่างนั้นเป็นอันตรายอย่างยิ่ง ไม่ใช่ต้องโล่ง หรือต้องเฮ หรือต้องดีใจ ก็อาจจะเสียเวลาในการทำความเข้าใจตรงนี้เสียก่อนว่าการที่ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาแทรกแซงตรงนี้ เป็นอุปสรรคอย่างมากในการทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย แล้วค่อยมาช่วยกันคิดว่าจะแก้อุปสรรคนี้อย่างไร เรื่องมันมีความซับซ้อนอยู่บ้าง แต่สุดท้ายถ้าผลมันออกมาชัดเจนว่ายังแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้ ถ้ายังมองอะไรไม่เห็นกันอยู่ สิ่งที่จะตามมาคือการใช้รัฐธรรมนูญนี้เข้าจัดการพรรคการเมือง รัฐบาล หรือองค์กรอะไรก็ตามที่เป็นฝ่ายตรงข้ามผู้มีอำนาจ ซึ่งจะทำให้ฝ่ายต่างๆ เห็นปัญหาขึ้นเรื่อยๆ

ไทยพับลิก้า : ดูเหมือนคนพรรคเพื่อไทยกำลังเจอกับดัก 2 ชั้น นอกจากต้องต่อสู้กับฝ่ายอำมาตย์แล้ว ยังต้องต่อสู้ทางความคิดกับพวกเดียวกันด้วย

(หัวเราะ) การทำความเข้าใจ บางครั้งก็เข้าใจต่างกันบ้าง จะให้ตรงกันในเรื่องสำคัญ บางครั้งก็ต้องใช้เวลา ก็ถือเป็นธรรมดา เพียงแต่เรื่องใหญ่อย่างนี้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะสูงมาก จึงต้องการให้เกิดความเข้าใจตรงกันในเรื่องสำคัญโดยเร็วที่สุด ก็ยังหวังว่าจะเกิดความเข้าใจได้ หวังว่าทุกอย่างจะไม่สายไป

ไทยพับลิก้า : ถ้าคนเสื้อแดงที่เคยเข้าใจว่าพรรคเพื่อไทยเป็น Mass Party มองเห็นว่าแท้จริงแล้วพรรคเพื่อไทยเป็นแค่ Elite Party หลังชะลอเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญเสียเอง ต้องอธิบายว่าอย่างไร

เดี๋ยวเหตุการณ์มันจะทำให้เห็นอะไรชัดเจนขึ้น พรรคเพื่อไทยอย่างไรก็กลายเป็น Elite Party ไปไม่ได้ คุณคือส่วนที่ชนชั้นนำที่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือนอกรัฐธรรมนูญนี้ไม่ต้องการให้บริหารประเทศ ฉะนั้น ไม่ช้าก็เร็ว ความจริงมันได้แสดงออกมาแล้วหลายรอบนะครับ คุณสมัคร (สุนทรเวช อดีตนายกฯ คนที่ 25 ที่พ้นจากตำแหน่งตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงจากกรณีจัดรายการ “ชิมไปบ่นไป”) คุณสมชาย (วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ คนที่ 26 ที่พ้นจากตำแหน่งเพราะศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคพลังประชาชน พร้อมเพิกถอนสิทธิกรรมการบริหาร) เจอมากันหมดแล้ว เมื่อมาเป็นพรรคเพื่อไทยจึงไม่ใช่ข้อยกเว้น ผมไม่ได้บอกว่าใครจะถูกจัดการอย่างไรนะ แต่พรรคนี้ หรือขบวนนี้ มันไม่ใช่ฝ่ายที่ชนชั้นนำ ผู้มีอำนาจ จะยินยอมให้บริหารประเทศ โดยเฉพาะเมื่อมีรัฐธรรมนูญแบบนี้อยู่ ดังนั้นมันต้องเห็นไม่ช้าก็เร็ว ถ้ารัฐธรรมนูญยังเป็นอย่างนี้ เขาจะล้มพรรคเมื่อไรก็ได้ และแน่นอนเขาคงไม่ล้มพรรคประชาธิปัตย์

ไทยพับลิก้า : ความมุ่งหมายของนายเกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐประศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่วิจารณ์พรรคเพื่อไทยว่าเป็น Elite Party ไม่ได้หมายถึงเป็นพรรคของชนชั้นนำในสังคม แต่เป็นพรรคของชนชั้นนำในซีกรัฐบาล หรือพูดง่ายๆ ว่าพรรคของ พ.ต.ท. ทักษิณ

อันนี้ผมไม่อยู่ในฐานะที่จะไปวิจารณ์หรือแก้ต่าง ให้ความเห็นไม่ถูก

ไทยพับลิก้า : ถ้ามีใครในซีกรัฐบาลพรรคเพื่อไทยอ้างว่าเคลียร์กับฝ่ายอำมาตย์ได้แล้ว แสดงว่าไม่มีโอกาสเป็นไปได้เลย

ผมไม่เชื่อเลยว่าจะมีการเคลียร์อะไรได้ ไม่เชื่อ ไม่ได้หมายความว่าผมทราบว่ามีความพยายามเจรจาหรือไม่นะ ผมไม่ทราบ แต่ถึงแม้มี ก็ไม่เชื่อว่าจะเกิดผลสำเร็จได้ อันนี้ดูจากพัฒนาของเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน

ไทยพับลิก้า : หากยังเป็นรัฐธรรมนูญปี 2550 ซีกพรรคเพื่อไทยก็เสี่ยงต่อการถูกล้มกระดานได้ทุกเมื่อ

มีรัฐธรรมนูญแบบนี้ จะยุบพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามเมื่อไรก็ได้ที่ฝ่ายจะยุบเห็นว่าเหมาะสม จะล้มรัฐบาลหรือถอดรัฐมนตรี เมื่อมีเหตุประกอบบ้างเท่านั้นก็ทำได้แล้ว ภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ ฝ่ายที่ไม่เป็นที่พึงประสงค์ของผู้มีอำนาจก็เหมือนลูกไก่ในกำมือ เพียงแต่ว่าฝ่ายลูกไก่มีจุดแข็งอยู่เหมือนกัน จุดแข็งอยู่ที่ประชาชน ตราบที่รัฐบาลยังได้รับการสนับสนุนจากประชาชน ภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ยังต้องมีการเลือกตั้ง แล้วให้ประชาชนตัดสิน ประชาชนก็ไม่เลือกพรรคที่สนับสนุนฝ่ายชนชั้นนำ หรือฝ่ายอำมาตย์เหมือนกัน ก็ยังเป็นโจทย์ที่ฝ่ายชนชั้นนำแก้ไม่ตก คุณสามารถจัดการกับรัฐบาลที่ไม่พึงประสงค์ รัฐบาลที่ประชาชนเลือกมา คุณล้มเขาได้ แต่คุณก็ยังไม่สามารถให้มีรัฐบาลแบบที่คุณต้องการได้ถาวร เป็นได้ก็ชั่วคราว เลือกตั้งเมื่อไรก็แพ้อีก ก็ยังเป็นโจทย์ข้อใหญ่ของฝ่ายชนชั้นนำ ซึ่งเขาก็ต้องไปคิดว่าทำอย่างไรจะบอนไซพรรคที่เขาไม่ชอบ แล้วหาทางสนับสนุนพรรคที่เขาชอบ ถ้าเป็นอันนั้นได้เมื่อไร มันก็ได้ทั้งรัฐธรรมนูญ ได้ทั้งรัฐบาล เวลานี้มันได้รัฐธรรมนูญอย่างเดียว แต่ไม่ได้รัฐบาล และฝ่ายรัฐบาลพรรคเพื่อไทยกำลังจะแก้รัฐธรรมนูญ เขาก็ตีกลับด้วยการไม่ให้แก้รัฐธรรมนูญ

ไทยพับลิก้า : หากชนชั้นนำยังเล่นเกมเดิมซ้ำๆ ก็สุ่มเสี่ยงต่อการเสื่อม

เวลานี้ก็เสื่อมไปมาก จากการเล่นเกมขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญ ก็เสื่อมไปอีกมาก แต่ผมเข้าใจว่าเขาคงคิดว่าการจะได้อะไรมาต้องลงทุน ต้องแลก ทีนี้ เขาจะยอมลงทุนมากน้อยแค่ไหนในการตัดสินวันที่ 13 กรกฎาคมนี้ ก็เป็นสิ่งที่เขาต้องคิด แต่เมื่อยอมลงทุนไปมาก ยอมเสียหายไปมากแล้ว จะให้กลับมือเปล่าคงไม่ได้ เขาคงไม่ทำแน่ แต่ถ้าทำแบบเดิมต่อไปมันก็จะเสื่อม จะเสียหายไปอีก ก็ขึ้นกับว่าเขาจะลดความเสียหาย ชดเชยความเสียหายด้วยการอธิบายจนคนเข้าใจไปตามนั้นได้หรือไม่ หรืออีกฝ่ายจะชี้แจงให้เห็นว่านี่คือการทำให้บ้านเมืองเสียหายได้ดีแค่ไหน

ไทยพับลิก้า : สรุปแล้วเกมนี้ไม่มีฝ่ายไหนได้เลย ฝ่ายชนชั้นนำก็เสื่อมหนัก ฝ่ายรัฐบาลพรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้ เสียทั้งเกมแก้รัฐธรรมนูญ ทั้งเสียศรัทธาจากมวลชนบางส่วนในช่วงออกอาการยึกๆ ยักๆ

อืม… มันก็ใช่ ก็เสียไปด้วยกัน แต่ว่าถ้าพูดโดยระยะยาวแล้ว ฝ่ายประชาธิปไตยจะเสียน้อยกว่า เพราะโดยเรื่องมันเป็นฝ่ายที่ก้าวหน้ากว่า สอดคล้องกับผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติมากกว่า คือการทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย การยืนยันในสิ่งที่เป็นหลักเป็นเกณฑ์และถูกต้องตามหลักการ เพราะที่แก้รัฐธรรมนูญอยู่นี้ไม่มีอะไรขัดต่อหลักการ ทั้งหลักประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม ส่วนการเข้ามาขัดขวางด้วยข้อหาเลอะเทอะที่สุด ล้วนแต่เป็นการกระทำที่ขัดหลักประชาธิปไตย ขัดหลักรัฐธรรมนูญ คุณบิดเบือนทั้งนั้น ดังนั้น โดยเรื่องมันแล้วฝ่ายประชาธิปไตยอาจจะเสียขบวนบ้าง ทำให้เกิดการระแวงกันเองบ้าง เสียภาวะผู้นำไปบ้าง แต่มันปรับขบวนได้ง่ายกว่า และรวบรวมพลังได้ง่ายกว่า ยิ่งเรื่องมันชัด มันง่ายที่จะเข้าใจ ก็ยิ่งเร็ว ถ้าเรื่องมันซับซ้อนหน่อย ก็ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ

ในระหว่างทำความเข้าใจ รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยก็จะออกฤทธิ์ของมันไปเรื่อย เช่น กรณีนาซ่า ก็เห็นชัดๆ ว่าความเลอะเทอะของรัฐธรรมนูญนี้ทำให้ประเทศไทยเป็นตัวตลกไปแล้ว ต่อไปเขามีเซ็นสัญญาอะไรกัน รัฐบาลไทยจะเป็นประเทศเดียวที่เซ็นอะไรกับใครไม่ได้ ก็จะเห็นอีก ต่อไปมีกรณียุบพรรค ก็จะเห็นอีกว่าพรรคแบบนี้ถูกยุบได้ พรรคแบบประชาธิปัตย์ไม่ยุบอีกแล้ว เรื่องพวกนี้ก็จะทยอยเกิดขึ้น หากเกิดเร็ว คนก็จะเข้าใจเร็ว ดังนั้น ในระยะยาวผมยังเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 1-2 เดือนนี้ ฝ่ายชนชั้นนำ ฝ่ายที่ออกมาปกป้องรัฐธรรมนูญอาจคิดว่าตนได้เปรียบในแง่มีศาลรัฐธรรมนูญเป็นกำลังสำคัญ และศาลรัฐธรรมนูญสามารถวินิจฉัยอะไรแล้วคนต้องปฏิบัติตาม แต่มันทำไปท่ามกลางความเสื่อม นั่นก็จะยิ่งลำบากไปเรื่อยๆ

หมากต่อไปของ “ขุนอ๋อย”

ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลในเครือ “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี เดินเกมการเมืองภายใต้ยุทธศาสตร์ “สละแขนเพื่อรักษาหัว” หรือ “สละเบี้ยเพื่อรักษาขุน”

หากยังจำกันได้ ในยุค “สมัคร สุนทรเวช” อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 25 “จักรภพ เพ็ญแข” อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เจ้าของสมญา “บุคคลที่มีทัศนคติอันตราย” เคยถูก “ใครบางคน?” ขอร้อง (แกมบังคับ) ให้ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อป้องกันข้อหา “หมิ่นสถาบัน” ลุกลามไปลากเอาทั้งรัฐบาลให้ล้มครืน

ไม่ต่างจาก “นพดล ปัทมะ” อดีต รมว.ต่างประเทศ เพื่อนร่วมรัฐบาลเดียวกัน ที่จำต้องลุกจากเก้าอี้ที่รองก้นเพียง 5 เดือน สังเวยตำแหน่งเพียงลำพัง หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา กรณีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อพิทักษ์ส่วน “หัว” รักษา “ขุน” บนกระดาน อันจะเป็นการยืดระยะการยึดครองอำนาจของ “เครือข่ายทักษิณ”

นี่จึงเป็นที่มาของ “หมัดน็อก” ที่ “สมศักดิ์ เกียรติ์สุรนนท์” ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวอ้างกับหัวคะแนนของตนระหว่างฉลองวันคล้ายวันเกิดเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ว่าทำให้ “คนทางไกล” ถึงกับ “อึ้ง” เมื่อได้ฟังคำที่ว่า “ยุทธศาสตร์การเมือง เขาจะไม่เอาขุนออกมาเล่นถ้าไม่จำเป็น หมายถึงนายกฯ เขาจะไม่เอามาเสี่ยงถ้าไม่จำเป็น… แต่วันนี้อย่างไรจะมาแย่งเผือกร้อนไปจากมือผม”

ก่อนนำมาสู่การชะลอการลงมติร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ในวาระ 3 และปิดประชุมสภา สมัยสามัญนิติบัญญัติ แบบฉับพลัน

เมื่อเกมใต้กระดานของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย (พท.) ถูก “คนใน” เปิดโปงหมดเปลือก

เมื่อเนื้อหาทั้งหมดหลุดจากปากคำของ “ขุนค้อน” ผ่าน “คลิปร้อน” ความยาว 26 นาที

นายจาตุรนต์ ฉายแสง
นายจาตุรนต์ ฉายแสง ที่มาภาพ : facebook.com/chaturon.chaisang

จึงน่าสนใจว่า “เพื่อนร่วมพรรค” นาม “จาตุรนต์ ฉายแสง” อ่านสถานการณ์อย่างไร มองเห็นพรรคเพื่อไทยเหลือตัวเล่นบนกระดานกี่ตัว หรือเจอหมากบังคับให้ต้องเดิน “ขุน” แล้ว

เขาหยุดคิดพักหนึ่งก่อนตอบว่า “เรื่องเอาขุนออกมาใช้หรือไม่เอามาใช้ ที่มีการพูดกันคือหากมีการลงมติในวาระ 3 แล้วนายกฯ ต้องเป็นผู้นำความขึ้นทูลเกล้าฯ ความจริงมันไม่ใช่เรื่องเอาขุนออกมาใช้อะไรเลย เป็นเรื่องที่เป็นไปตามขั้นตอนตามปกติซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ถ้าลงมติวาระ 3 แล้ว นายกฯ ต้องทำอะไรต่อไป ถ้าข้อ 1 จะเป็นอย่างไร ข้อ 2 เป็นอย่างไร รัฐธรรมนูญบัญญัติเอาไว้อยู่แล้ว ไม่ได้มีเรื่องแปลว่าต้องเอาขุนออกมาเดินอะไรเลย”

นอกเหนือจาก “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ที่ประธานสภาเปรียบเป็น “ขุน” หรือ “ราชินี” ที่ต้องรักษาไว้แล้ว หากสำรวจรอบกาย “นารี 1” จะพบคนการเมืองที่ถูกยกเป็น “ท่านขุน” รายล้อมรอบตัวเธอมากมาย อาทิ “ขุนค้อน-สมศักดิ์ เกียรติ์สุรนนท์” ประธานสภา “ขุนคลัง-กิตติรัตน์ ณ ระนอง” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง “ขุนศึกฝั่งธน ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง” รองนายกรัฐมนตรี ฯลฯ

ยังไม่รวมพลช้าง, พลม้า, พลเรือ และพลราบ หรือเบี้ย ที่พร้อมพลีกายถวายหัวให้คนสกุล “ชินวัตร” อีกเป็นจำนวนมาก

เมื่อถามย้อนกลับมาที่ “ขุนอ๋อย” ว่า หลัง “ศุกร์ 13” จะกลับมาอยู่ส่วนไหนของกระดาน เขาตอบว่ายังบอกไม่ถูก

“ถ้าถามตัวผม เวลานี้ให้ความสนใจเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ต้องดูว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไร เรื่องรัฐธรรมนูญเกิดโจทย์ใหม่อะไรบ้าง เกิดปัญหาใหม่ที่ต้องคิด ต้องทำอะไรบ้าง และจะดึงความสนใจของผมไปได้ขนาดไหน”

แม้ถูกจัดเป็น “ขุนพลอันดับต้นๆ” ของ “ซีกทักษิณ” ที่เอาตัวเข้าไปพัวพันกับ “กลเกมกติกาสูงสุด” ในหลายกรรมหลายวาระ ตั้งแต่รณรงค์คว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ในชั้นลงประชามติเมื่อปี 2550 และล่าสุดคือการขึ้นเวทีวิพากษ์-ออกแถลงการณ์ส่วนตัว-ร่อนจดหมายเปิดผนึกจี้สมาชิกรัฐสภาโหวตสวนคำสั่งศาล

ทว่า น่าแปลกที่ “จาตุรนต์” หาได้ปรากฏตัวในศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีชื่อเป็น 1 ใน 8 พยานฝ่ายผู้ถูกร้อง จนถูกตีความว่าถูกคนกันเองตีกัน หรือเป็นอีกยุทธศาสตร์ของพรรคเพื่อไทยกันแน่

เกี่ยวกับประเด็นนี้ เขาแจกแจงว่า “คงเป็นเรื่องของฝ่ายที่คิดไปแก้ต่าง ไม่ได้คุยกัน เขาอาจต้องการนักกฎหมายตรงนั้น ซึ่งก็ทำหน้าที่ได้ดี”

เรื่องการชี้แจงตอบโต้ในศาลอาจสมควรเป็นบทบาทของ “เนติ”

แต่เรื่องการปลุก-ปลอบมวลชนนอกสภา

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นงานถนัดของ “ทนายนอกโรง” รายนี้

เมื่อให้เปรียบเทียบระหว่างการอยู่ในกับนอก “กระดานรัฐมนตรี” ตรงไหนจะทำหน้าที่ได้ดีกว่า?

เขายิ้มก่อนส่ายศีรษะแบบไม่อยากตอบ ไม่อยากกระทั่งได้ยินคำถาม แต่ก็ยอมเปิดปาก…

“ผมสนใจเรื่องรัฐธรรมนูญ ต้องการอยู่ในจุดที่พูดเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือวิจารณ์ศาลได้เต็มที่ เรื่องการปรับคณะรัฐมนตรี ผมไม่มีความรู้ว่าจะปรับเมื่อไร อย่างไร ไม่ได้ติดตาม”

นี่อาจเป็นคำตอบที่ไม่ต้องการล้ำหน้า “ขุน” เพื่อความสะดวกในการเดินหมากต่อไปหลังพ้นโทษแบนการเมือง โดยเฉพาะในภาวะที่เกมทั้งหมดถูกควบคุม-สั่งการจาก “ขุนนอกกระดาน”!!!