หลังจากพรรคเพื่อไทยพ่ายแพ้อย่างหมดรูปในเกมการเมือง ทั้งในฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ทำให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต้องยุบสภา ล้างไพ่การเมืองทั้งกระดาน กลับบ้านแบบมือเปล่า
แผนยุทธศาสตร์บันได 7 ขั้น ที่เคยคาดหวัง หลังชนะการเลือกตั้งได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ที่ต้องการทั้งทำกฎหมายนิรโทษกรรม กฎหมายปรองดอง และการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แล้วจัดแถวขุนทหารใน 3 เหล่าทัพเพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางการเมือง พร้อมปูทางให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้กลับบ้านแบบเท่ๆ ภายในปีที่สองของการเป็นรัฐบาล แถมด้วยการได้ใช้งบประมาณในการลงทุนทั้งในและนอกงบประมาณ 4.62 ล้านล้านบาท
แผนดังกล่าว บางแผนต้องถูกล้มเลิกโดยปริยาย บางแผนปฏิบัติการแล้วไม่สำเร็จ บางแผนได้แค่เริ่มลงมือทำ
หากพรรคเพื่อไทยต้องการไปต่อ ต้องจัดทัพใหม่ ลงสู้ศึกเลือกตั้ง และต้องชนะเลือกตั้ง จึงจะได้เริ่มต้นแผนการใหม่ อีกครั้ง
แม้ว่าการชิงชัยในการเลือกตั้ง ที่ยังไม่แน่ว่าจะมีขึ้นในอีก 48 วันข้างหน้าหรือไม่ แต่อดีตแนวร่วมพรรคไทยรักไทย ได้รวมตัวกัน “ถกลับ” ในวาระกอบกู้พรรค ฟื้นฟูประเทศ ด้วยการยื่นข้อเสนอให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เตรียมจัดทัพลงสู้ศึกเลือกตั้ง ด้วยยุทธศาสตร์ใหม่ที่ พ.ต.ท.ทักษิณถนัด คือ เมื่อถึงคราวที่อยู่ในภาวะตาอับ ถูกรุกฆาตจากทุกด้าน พ.ต.ท.ทักษิณจะไม่ยอมเดินหน้าต่อด้วยเกมที่ฝ่ายคู่ต่อสู้คิดขึ้น แต่จะล้างเกมเก่า แล้วคิดเกมใหม่
วาระที่ผ่านการตกผลึกระดับหนึ่ง เตรียมนำเสนอ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประกอบด้วยแผนยุทธศาสตร์ 5 ด้าน
ยุทธศาสตร์แรก แผนรวมขุนพลเก่าจากค่ายไทยรักไทยกลับเข้าชายคาเพื่อไทย เพื่อตอบโจทย์และอุดช่องว่างเรื่องการขาดทีมเศรษฐกิจ โชว์ความพร้อมเพื่อการบริหารประเทศด้วยมืออาชีพ โดยตัวอย่างชื่อที่ควรมีการทาบทามก็เช่น ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แล้วชักชวนนายเนวิน ชิดชอบกลับมาเป็นแนวร่วม แนวรบ แม้ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง พร้อมกันนี้ควรจัดทีมกุนซือมือแข็งด้านกฎหมายมหาชนมาเสริมทีม เพราะจากนี้ไป การต่อสู้จะเป็นสงครามการใช้ช่องโหว่ของกฎหมายรัฐธรรมนูญทุกมาตรา ชื่อวิษณุ เครืองาม และทีมเนติบริกร จึงถูกจัดอยู่ในโผที่ต้องติดตามตัวเข้าร่วมทีม
ยุทธศาสตร์ที่สอง จะเสนอให้มีการขอร้องให้คนใน ตระกูล “ชินวัตร”ถอนตัวออกจากการลงสมัครเลือกตั้งทุกรูปแบบ เพื่อแสดงความจริงใจในการร่วมวงปฏิรูปประเทศหลังเลือกตั้งกับเครือข่ายต่างๆ ทั้งนี้ ล่าสุด นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ได้กล่าวกับคนใกล้ชิดว่าจะไม่ลงสมัครเลือกตั้งในสมัยที่จะถึงนี้
ยุทธศาสตร์ที่สาม แนวทางการหาเสียง ให้ประกาศรับข้อเสนอของ กปปส. ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และคณะ ใน 4 เรื่องหลัก คือ 1. รับข้อเสนอที่จะประกาศวาระแห่งชาติในการขจัดปัญหาคอร์รัปชันทุกรูปแบบ 2. รับข้อเสนอเรื่องการกระจายอำนาจให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการทุกจังหวัด 3.รับหลักการให้ตำรวจไปขึ้นกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด 4. รับหลักการที่จะมีการแก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง 5. รับหลักการแก้กฎหมายการเลือกตั้ง ให้บริสุทธิ์ยุติธรรม ให้มีองค์กรกลาง ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ร่วมขบวนการตรวจสอบการโกงเลือกตั้งอย่างใกล้ชิดในทุกระดับ
ยุทธศาสตร์ที่สี่ พรรคเพื่อไทยจะต้องมีแผนในการหาเสียง ด้วยการต่อยอด ปรับปรุง ระบบการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ที่เคยทำมาเช่น 1. การปฏิรูประบบประกันสุขภาพ 2. การปฏิรูปโครงสร้างภาษี 3. การปฏิรูประบบราชการ และ 4. การปฏิรูปการศึกษา
ยุทธศาสตร์ที่ห้า ให้พรรคเพื่อไทยร่วมลงสัตยาบรรณกับพรรคการเมืองทุกพรรคที่ลงสนามรับเลือกตั้ง ว่าหากชนะการเลือกตั้ง หรือได้จัดตั้งรัฐบาล จะอยู่เพื่อบริหารการปฏิรูปประเทศทุกด้าน ร่วมกับเครือข่ายต่างๆ เพียง 1 ปีครึ่ง หรือนานที่สุดเพียง 2 ปี แล้วจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ทันที
อดีตแกนนำพรรคไทยรักไทยรายหนึ่งให้ความเห็นว่า ปัจจัยชี้ขาดการเลือกตั้งครั้งหน้าคือ หากพรรคใดต้องการปฏิรูปการเมือง และปฏิรูปประเทศอย่างทั่วด้าน ต้องให้มีการรณรงค์หาเสียงใน 2 ประเด็น คือ เรื่องแรก การกอบกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ เรื่องที่สอง การปฏิรูปการเมืองด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อเปิดทางให้คณะกรรมการสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ให้สอดคล้องกับการปฏิรูปประเทศ
ทั้งนี้ จะมีการสรุปบทเรียนที่พรรคเพื่อไทยเคยแพ้การเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ไว้ประกอบการคิดค้นแคมเปญเลือกตั้ง ด้วยเหตุผล 7 ข้อ เช่น
1. แคมเปญคิดบวก ไม่ตอบโต้ ไม่มีผลต่อการเพิ่มคะแนนในการคูหาการเลือกตั้ง
2. ต้องปรับปรุงทีมงานในพื้นที่กรุงเทพมหานครใหม่ เพิ่มอีกทีม แยกจากทีมของของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์
3. ต้องไม่หลงเชื่อผลโพลสำนักต่างๆ และการเขียนข่าวเชียร์ในหน้าสื่อมากเกินไป จนมีคำในรายงานถึง พ.ต.ท.ทักษิณทำนองว่า “จะชนะแบบแลนด์สไลด์”
4. ต้องหาคำตอบจากกลุ่มเสียงเงียบ-ไทยเฉย-ไทยอดทน ให้ได้ว่ากลุ่มนี้จะลงคะแนนให้ฝ่ายใด
5. ต้องเลี่ยงคำพูดในทำนองที่ว่าจะชนะเลือกตั้งเพื่อใช้อำนาจ “พลิกประเทศ” หรือคำที่สื่อถึงการเปลี่ยนแปลงแบบ “ถึงรากถึงโคน”
6. ต้องจัดทีม จัดทำการหาเสียงกับเครือข่ายคนวิชาการ ที่มีแนวคิดเป็นนักประชาธิปไตย
7. จัดตั้งนักรบไซเบอร์ มอนิเตอร์ติดตามการหาเสียง การก่อกระแสในโซเชียลมีเดีย อย่างเป็นระบบ
แผนยุทธศาสตร์ทั้งหมดนี้ จะมีการนัดหารือในระดับ “วงเล็ก” ของอดีตแกนนำ-กุนซือพรรคไทยรักไทย เพื่อร่วมกันพิจารณา และหาช่องทางทำให้ข้อเสนอนี้ถึงมือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และส่งสัญญาณกลับมา จัดทำเป็นแนวทางในการเลือกตั้งต่อไป
แต่หากแผนนี้ ถูกทีมคนใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ปฏิเสธไม่นำเสนอ หรือแปลงสาร การต่อสู้ในวังวนเกมการเมือง แบบแพ้-ชนะ ระหว่างเพื่อไทยที่ไร้หัวชัดเจน กับอีกฝ่ายที่จัดตั้งสารพัดทีมจากทุกลุ่มเครือข่ายในสังคม ร่วมกับฝ่ายประชาธิปัตย์ ก็จะยังดำรงต่อไป
เหลือเวลาอีกไม่ถึง 1 สัปดาห์ จะมีการลงสมัครเลือกตั้งทั่วไปแล้ว ทั้งฝ่ายประชาธิปัตย์และฝ่ายเพื่อไทย ต่างรอจังหวะเปิดเกมใหม่ทางการเมืองอีกครั้ง