ASEAN Roundup ประจำวันที่ 9-15 ตุลาคม 2565
อินโดนีเซียแจก Second Home Visa เศรษฐี นักลงทุน

วิโดโด อิกัตจาห์จานา รักษาการผู้อำนวยการตรวจคนเข้าเมืองชาวอินโดนีเซีย ประกาศเมื่อวันพฤหัสบดี(13 ต.ค.) สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงและหน่วยงานรัฐบาลอื่นที่เกี่ยวข้องจะ เปิดตัวโครงการ second home visa เพื่อดึงดูดนักลงทุนและเศรษฐีพันล้านต่างชาติ
“วีซ่าพิเศษนี้จะมอบให้กับมหาเศรษฐี คนรวยทั่วโลก และนักลงทุน ที่ตั้งใจจะพำนักในอินโดนีเซียระยะยาว เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนในอินโดนีเซีย”
วิโดโดเชื่อว่า นโยบายนี้สอดคล้องกับคำสั่งของประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ในการอำนวยความสะดวกให้กับการลงทุนจากต่างประเทศในอินโดนีเซีย ซึ่งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองพร้อมที่จะสนับสนุน ด้วยการอำนวยความสะดวกเพื่อเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุนในอินโดนีเซีย
Second home visa จะเป็นเครื่องมือสำหรับผู้ที่มีความสามารถระดับโลก, ชาวอินโดนีเซียที่อยู่ในต่างประเทศ และนักท่องเที่ยวสูงอายุต่างชาติ ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาพำนักอยู่ในอินโดนีเซียได้เป็นระยะเวลา 5-10 ปี
“Second home visa ยังอยู่ในการพิจารณาขั้นตอนสุดท้าย และคาดว่าในอนาคตอันใกล้หรืออาจจะในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า โครงการนี้จะกลายเป็นข้อบังคับที่จะมีผลบังคับใช้”
วิโดโดให้คำมั่นว่า จะปฏิบัติตามนโยบายการโยกย้ายถิ่นฐาน ที่อำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนต่างชาติที่อาศัยอยู่ในอินโดนีเซีย และพร้อมที่จะรับประกันความแน่นอนสำหรับผู้ประกอบการต่างชาติในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งท้ายที่สุดจะสามารถช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจของอินโดนีเซียได้
เมื่อเร็วๆนี้อินโดนีเซียได้ปรับเปลี่ยนแปลงนโยบายหลายอย่าง เพื่อดึงดูดความสนใจของนักลงทุนต่างชาติ และหนึ่งในนั้นคือการนำ Investor KITAS มาใช้ เศรษฐกิจอินโดนีเซียเผชิญกับความท้าทายระหว่างประเทศหลายด้าน ทั้งผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน การระบาดของโควิด-19 และสงครามยูเครน-รัสเซีย
Investor KITAS เป็นความพยายามของรัฐบาลในการปรับปรุงขั้นตอนการลงทุนจากต่างประเทศ และเสนอข้อยกเว้นและสิทธิประโยชน์ในการพำนักมากมายแก่นักลงทุน
Investor KITAS จะออกให้แก่ผู้ยื่นขอซึ่งได้ลงทุนในบริษัทในอินโดนีเซียและต้องทำงานกับบริษัทที่ลงทุน Investor KITAS มีสิทธิประโยชน์มากมาย โดยผลประโยชน์ที่ดีที่สุด ได้แก่ ความสะดวกในการยื่นขอและการยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงาน หากปฏิบัติตามข้อกำหนดการลงทุนทั้งหมด ก็ไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียมวีซ่า 1,200 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี นอกจากนี้ นักลงทุนต่างชาติไม่ต้องรอนานเพื่อเริ่มดำเนินการหลังจากการลงทุนครั้งแรก
ในอินโดนีเซีย นักลงทุนสามารถขอวีซ่านักลงทุน (KITAS) ได้สองประเภท คือ Index 313 เป็น วีซ่า 1 ปี (KITAS) Index 314
เป็นวีซ่า 2 ปี (KITAS)
ทั้งสองประเภทอนุญาตให้นักลงทุนเข้าและออกจากอินโดนีเซียได้หลายครั้งในช่วงที่วีซ่ายังไม่หมดอายุ
สิงคโปร์เตรียม 1.5 พันล้านดอลลาร์แจกเงินช่วยค่าครองชีพ

ทั้งนี้คาดว่าชาวสิงคโปร์ที่เป็นผู้ใหญ่และมีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือมีจำนวน 2.5 ล้านคน ซึ่งจะได้รับเงินช่วยค่าครองชีพพิเศษสูงถึง 500 ดอลลาร์ ในเดือนธันวาคม โดยจะได้รับเงินพร้อมกับการจ่ายเงินสดของมาตรการประกันภาษีสินค้าและบริการ (Goods and Services Tax (GST) Assurance Package) ที่ประกาศไว้ในงบประมาณ 2565 เพื่อชดเชยผลกระทบของการปรับขึ้นค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม 1% ที่จะเพิ่มขึ้นจาก 7% เป็น 8% ในวันที่ 1 มกราคม 2566
ทุกครัวเรือนในสิงคโปร์จะได้รับบัตรกำนัลของ Community Development Council (CDC) มูลค่า 100 ดอลลาร์ในเดือนมกราคมปีหน้า อีกด้วย ซึ่งเมื่อรวมกับบัตรกำนัล CDC มูลค่า 200 ดอลลาร์ที่ประกาศในช่วงงบประมาณปีนี้ จะมีการแจกบัตรกำนัลทั้งหมด 300 ดอลลาร์
กระทรวงศึกษาธิการจะเพิ่มเกณฑ์รายได้ของโครงการความช่วยเหลือทางการเงิน ในการขอชดเชยค่าใช้จ่ายในโรงเรียนให้ครอบคลุมนักเรียนจำนวนมากขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคม 2566
นายหว่อง ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังด้วย กล่าวว่า มาตรการล่าสุดที่ออกมาได้คำนึงถึงชาวสิงคโปร์ 2 กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ได้แก่ ชาวสิงคโปร์ที่มีรายได้ต่ำ และผู้สูงอายุวัยเกษียณที่ไม่มีรายได้จากการทำงาน
ผู้ที่มีรายได้น้อยจะได้รับผลกระทบมากกว่า เนื่องจากค่าจ้างอาจไม่สูงขึ้นมากพอที่จะรับมือกับราคาที่สูงขึ้น นายหว่องกล่าวและว่า ผู้เกษียณอายุที่มีอายุสูงจะได้รับผลกระทบทางลบเช่นกันเพราะไม่มีรายได้และต้องรับมือกับราคาที่สูงขึ้น
“นั่นคือเหตุผลที่เราติดตามสถานการณ์ในกลุ่มคนที่แตกต่างกัน และต้องประสบกับภาระการใช้จ่ายที่สูงขึ้น”
กระทรวงการคลัง (MOF) ระบุว่า แพ็คเกจการสนับสนุนล่าสุด ร่วมกับมาตรการก่อนหน้านี้ที่ประกาศในงบประมาณ และในเดือนเมษายนและมิถุนายน 2565 จะครอบคลุมค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นเต็มจำนวนสำหรับครัวเรือนที่มีรายได้น้อย
กระทรวงฯ ระบุ แพ็กเกจดังกล่าวจะครอบคลุมค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นมากกว่าครึ่งในปีนี้สำหรับครัวเรือนที่มีรายได้ปานกลาง
นายหว่องกล่าวว่าอัตราเงินเฟ้อทั้งปีในปี 2565 คาดว่าจะอยู่ที่ 6%
เมื่อวันศุกร์(14 ต.ค.) ธนาคารกลางสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore) กล่าวว่า แนวโน้มทั้งอัตราเงินเฟ้อและการเติบโตมีความไม่แน่นอนอย่างมาก โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะยังคงอยู่ในระดับสูงในช่วงครึ่งแรกของปี 2566
กระทรวงการคลังกล่าวว่า จะมีการสนับสนุนเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือประชาชนด้านต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้น
เมื่อวันพุธ(12 ต.ค.)ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังประกาศว่า รัฐบาลจะจัดสรรเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมประมาณ 200 ล้านดอลลาร์ เพื่อรองรับการขึ้นค่าโดยสาร 10.6% ซึ่งจะมีการทบทวนค่าโดยสารในอนาคต
“เงินอุดหนุนเพิ่มเติมนี้ช่วยบรรเทาผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของค่าโดยสารต่อผู้โดยสาร และใช้สำหรับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นในการให้บริการขนส่งสาธารณะอันเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน ค่ากำลังคน และอัตราเงินเฟ้อ” กระทรวงพลังงานระบุ
นอกจากนี้ จะมีการมอบบัตรกำนัลการขนส่งสาธารณะ 600,000 ใบมูลค่า 30 ดอลลาร์ต่อ 1 ใบแก่ครัวเรือนชาวสิงคโปร์ที่มีสิทธิ์ ซึ่งสามารถใช้เพื่อเติมเงินในบัตรโดยสารหรือซื้อบัตรโดยสารสาธารณะ
กระทรวงการคลังกล่าวว่า จะไม่มีการดึงเงินสำรองที่สะสมไว้มาใช้สำหรับแพ็คเกจการสนับสนุนใหม่ แต่จะใช้เงินจากงบประมาณที่ดีเกินคาดในช่วงครึ่งแรกของปีงบระมาณนี้ ซึ่งเริ่มในเดือนเมษายน เพราะการระบาดโควิด-19 จากสายพันธุ์โอไมครอนไม่รุนแรงอย่างที่คาดไว้ ทำให้ภาคส่วนต่างๆ ของเศรษฐกิจเปิดดำเนินการได้ และกระตุ้นให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัว
การประกาศแพ็คเกจการสนับสนุนมีขึ้นท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ปัญหาชะงักงันในห่วงโซ่อุปทานคลี่คลายลงเล็กน้อย แต่ความขัดแย้งอย่างต่อเนื่องในยูเครนและความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศยังคงสร้างแรงกดดันต่อราคาสินค้าและบริการ
“ในฐานะเศรษฐกิจแบบเปิดขนาดเล็ก สิงคโปร์มีความอ่อนไหวเป็นพิเศษต่อแรงกดดันด้านราคานำเข้า ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น อาหารและพลังงาน ในประเทศ ตลาดแรงงานที่ตึงตัวยังคงสนับสนุนการเติบโตของค่าจ้างที่แข็งแกร่ง” กระทรวงการคลังระบุ
“ดังนั้น เราต้องเตรียมพร้อมสำหรับอัตราเงินเฟ้อที่จะอยู่ในระดับสูงเป็นระยะเวลาหนึ่ง”
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา นายหว่องยังกล่าวอีกว่าจะมีการปรับ GST Assurance Package เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงกว่าที่คาดไว้
รายละเอียดเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนนี้จะมีขึ้นในงบประมาณปี 2023 และนายหว่องเน้นว่า รัฐบาลมีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ที่จะลดผลกระทบจากการเพิ่ม GST สำหรับชาวสิงคโปร์ทุกคน
อัตรา GST จะเพิ่มขึ้น 1% จาก 7% เป็น 8% ในวันที่ 1 มกราคม 2566 และเพิ่มขึ้นเป็น 9% ในวันที่ 1 มกราคม 2567
เวียดนามส่งออกไปกลุ่ม CPTPP เพิ่มขึ้น 38.7% ในช่วง 8 เดือน
รายงานของรัฐบาลระบุว่า มูลค่าการส่งออกของเวียดนามไปยังกลุ่มประเทศภาคี CPTPP หรือ ความตกลงหุ้นส่วนภาคพื้นแปซิฟิกที่ครอบคลุมและก้าวหน้า (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership)เพิ่มขึ้น 38.7% เป็น 41 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2565
เวียดนามนำเข้าจากประเทศ CPTPP รวมมูลค่า 35,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จากรายงานที่เผยแพร่โดยรัฐบาลเกี่ยวกับการดำเนินการ CPTPP ในช่วงเดือนมกราคมถึงสิงหาคม ส่งผลให้เวียดนามเกินดุลการค้าถึง 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
การส่งออกของเวียดนามไปยังแคนาดาและเม็กซิโกเพิ่มขึ้น 32% และ 9.2% โดยมีมูลค่า 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐตามลำดับ
CPTPP ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้ายุคใหม่ ลงนามในซันติอาโก ชิลี เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561 โดย 11 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ และเวียดนาม
แปดเดือนต่อมา เวียดนามให้สัตยาบันและมีผลในวันที่ 14 มกราคม 2562
เวียดนามเป็นผู้นำการฟื้นตัวของอาเซียนจากโควิด

ดัชนีของ Nikkei ประเมิน 121 ประเทศและภูมิภาค ในด้านการจัดการการติดเชื้อ การฉีดวัคซีน และการสัญจรของสังคม การได้อันดับที่สูงขึ้นบ่งชี้ว่าการฟื้นตัวมีความคืบหน้ามากขึ้น โดยมีอัตราการติดเชื้อและการเสียชีวิตที่ลดลง การครอบคลุมของการสร้างภูมิคุ้มกันที่มากขึ้น และข้อจำกัดในการสัญจรน้อยลง
กัมพูชาและเวียดนามประสบความสำเร็จเป็นประเทศแรกๆ ในการจัดการกับไวรัสโคโรน่าในช่วง 1 ปีของการระบาดใหญ่ แต่หลังจากนั้นก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสายพันธุ์เดลต้าในช่วงกลางปี 2564 ซึ่งขณะนี้แทบจะไม่ได้เริ่มฉีดวัคซีนเลย ทำให้ทั้งสองประเทศต้องใช้มาตรการที่เข้มงวด รวมถึงการล็อกดาวน์
อย่างไรก็ตาม ทั้งสองประเทศประสบความสำเร็จในการเร่งผลักดันการฉีดวัคซีน โดยเวียดนามได้รับคะแนนเต็มหรือคะแนน 30 สำหรับการฉีดวัคซีนในดัชนีล่าสุด ขณะที่กัมพูชาได้คะแนน 29
ความคืบหน้าของทั้งสองประเทศได้แปลงเป็นแนวโน้มทางเศรษฐกิจที่สดใสขึ้น ในการคาดการณ์เศรษฐกิจล่าสุด ธนาคารโลกได้เพิ่มการคาดการณ์การเติบโตประจำปีของเวียดนามเป็น 7.2% จาก 5.3%
กัมพูชาร่างนโยบายเม็ดมะม่วงหิมพานต์ระดับชาติ 2565-2570

เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม กัมพูชาได้จัดประชุมร่วมรัฐมนตรีจากหลายกระทรวงภายใต้การนำของนายเต็ก เรธ สัมเรช รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้แทนจากกระทรวงและสถาบันที่เกี่ยวข้อง และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นำโดย ริช รา รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ เพื่อทบทวนและหารือเกี่ยวกับร่างนโยบายระดับชาติว่าด้วยเม็ดมะม่วงหิมพานต์ 2565-2570 เพื่อที่จะกระจายพืชผลทางการเกษตรของประเทศ
ในระหว่างการประชุม ผู้แทนได้ทบทวนและหารือโดยละเอียดเกี่ยวกับเนื้อหาร่างนโยบายแห่งชาติว่าด้วยเม็ดมะม่วงหิมพานต์ 2565-2570 หลังการประชุมคณะทำงานด้านวิชากรของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคมปีนี้
การเปิดตัว สหพันธ์เม็ดมะม่วงหิมพานต์กัมพูชา (Cambodia Cashew Federation:CCF) ที่เพิ่งจัดตั้งและนโยบายแห่งชาติเรื่องเม็ดมะม่วงหิมพานต์ในปี 2565-2570 คาดว่าจะกระตุ้นการส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์กัมพูชาที่ได้รับความนิยม และรักษายอดรวมประจำปีไว้ที่ 1 พันล้านดอลลาร์
CCF เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ในฐานะองค์กรด้านอุตสาหกรรมเม็ดมะม่วงหิมพานต์ของกัมพูชา
วัตถุประสงค์หลักของนโยบายนี้ ได้แก่การเสริมสร้างศักยภาพของกัมพูชาในการปลูก จัดเก็บ แปรรูป บรรจุ ทำการตลาด จัดจำหน่ายและส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง รวมทั้งการตอกย้ำกัมพูชาในฐานะผู้ผลิตและซัพพลายเออร์รายใหญ่ในระดับภูมิภาคและกพื้นที่อื่นๆ
นายมาว โธรา รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ กล่าวขณะเป็นประธานในงานนี้ว่า รัฐบาลได้กำหนดให้ภาคการเกษตรเป็นแรงผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโต และเน้นไปที่เม็ดมะม่วงหิมพานต์เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ
นายโธราเน้นว่า การส่งเสริมภาคการเกษตรมีประโยชน์ทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจและประกันความมั่นคงด้านอาหาร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กัมพูชายังคงมีศักยภาพโดดเด่น
กระทรวงได้ร่างนโยบายระดับชาติเพื่อส่งเสริมการลงทุนในการเพาะปลูกและการแปรรูปเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ตลอดจนพัฒนาและปรับปรุงความสามารถในการส่งออก ด้วยข้อมูลจากผู้นำและผู้เชี่ยวชาญของรัฐบาล ภาคเอกชน และองค์กรพันธมิตร
“ในเร็วๆนี้ นโยบายนี้จะถูกนำมาใช้เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ปลูก ผู้แปรรูป และผู้ส่งออก ซึ่งสอดคล้องกับการเกิดขึ้นของ CCF ที่จัดตั้งขึ้น”
นายอัน ดาราผู้ก่อตั้ง Ample Agro Product Co Ltd ซึ่งเป็นบริษัทเกษตรกรรมรายใหญ่ที่ดำเนินการแปรรูปเม็ดมะม่วงหิมพานต์ เน้นย้ำถึงความสำคัญของ CCF และนโยบายระดับชาติในการปรับปรุงการเพาะปลูกโดยรวม การแปรรูป และความสามารถในการส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ซึ่งเป็นพืชพันธุ์เขตร้อนที่ชื่อ Anacardium Occidentale ที่มีถิ่นกำเนิดในบราซิล
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเม็ดมะม่วงหิมพานต์จะมีราคาในตลาดต่างประเทศมากกว่าข้าวสีหรือข้าวเปลือก แต่การขาดการลงทุนในการแปรรูปและบรรจุภัณฑ์ในกัมพูชา หมายความว่าประมาณ 90% ของผลผลิตในประเทศถูกซื้อโดยผู้ค้าเพื่อขายในเวียดนามในรูปแบบดิบ ส่งผลให้พลาดโอกาสมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ในแง่ของการเพิ่มมูลค่า
นายดาราคาดว่า การดำเนินการของ CCF ในดึงการลงทุนขนาดใหญ่ในการแปรรูปเม็ดมะม่วงหิมพานต์ จะช่วยลดการส่งออกแบบดิบ “ผมมั่นใจว่าเม็ดมะม่วงหิมพานต์ของกัมพูชาจะถูกส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากคุณภาพและรสชาติของมันได้รับการยอมรับแล้ว”
เม็ดมะม่วงหิมพานต์ดิบของกัมพูชาจะมีมูลค่าประมาณ 1,200 ดอลลาร์ต่อตันในเวียดนาม ขณะที่กัมพูชาเก็บเม็ดมะม่วงหิมพานต์ได้ไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านตันในแต่ละปี
กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง รายงานว่า กัมพูชาส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ 937,974.26 ตันในปีที่แล้ว มูลค่ารวม 1.60487 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 328.34%ในแง่ปริมาณ และ 233.32% ในแง่มูลค่าในปี 2563 ซึ่งหมายความว่าโดยเฉลี่ยแล้วเม็ดมะม่วงหิมพานต์หนึ่งตันที่ส่งออกโดยกัมพูชาในปี 2564 มีมูลค่า 1,711 ดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 22.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี ตลาดหลัก ได้แก่ เวียดนาม จีน ไทย อินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
ในทำนองเดียวกัน สมาคมเม็ดมะม่วงหิมพานต์แห่งกัมพูชารายงานว่า ทั้งประเทศมีพื้นที่เกษตรกรรมประมาณ 7.2 ล้านเฮกตาร์ในปีนี้ ซึ่งประมาณ 700,000 เฮกตาร์เป็นการปลูกเม็ดมะม่วงหิมพานต์
แรงงานกัมพูชาส่งเงินกลับบ้านสูงถึง 2.7 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้

นายเฮง ซัวร์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า การส่งเงินกลับประเทศจากแรงงานกัมพูชาที่ไปทำงานไปต่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากแรงงานข้ามชาติกัมพูชาส่งเงินกลับจากต่างประเทศมากขึ้น
ขณะที่จำนวนแรงงานข้ามชาติเพิ่มขึ้น นายซัวร์กล่าวว่า การส่งเงินกลับประเทศจากแรงงานกัมพูชาไปทำงานในต่างประเทศคาดการณ์ว่าจะสูงถึง 2,720 ล้านดอลลาร์ภายในสิ้นปีนี้ เพิ่มขึ้น 3.4% เมื่อเทียบกับ 2,630 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว
แรงงานข้ามชาติชาวกัมพูชาได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและส่งเสริมการใช้ชีวิตของครอบครัวผ่านการโอนเงินกลับประเทศ เช่นเดียวกับการนำทักษะและประสบการณ์มาใช้ในการพัฒนาประเทศในประเทศบ้านเกิด นายซัวร์กล่าว
“แรงงานข้ามชาติได้กลายเป็นแรงผลักดันสำคัญในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ” นายซัวร์กล่าว
ในเดือนกรกฎาคม แรงงานอพยพชาวกัมพูชาได้ทำงานใน 7 ประเทศ โดยมี 1.22 ล้านคนทำงานในประเทศไทย ส่วนอีก 6 ประเทศ ได้แก่ เกาหลีใต้ มาเลเซีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง และซาอุดีอาระเบีย
การโอนเงินกลับให้ครอบครัวของแรงงานกัมพูชาที่ไปทำงานต่างแดนข้ามชาตินั้น ส่วนใหญ่เป็นการทำธุรกรรมผ่านสถาบันการเงิน จากข้อมูลของธนาคารแห่งชาติกัมพูชา
นโยบายของกัมพูชาในการส่งคนงานไปต่างประเทศได้ช่วยสร้างงานและมีส่วนทำให้เงินตราต่างประเทศของประเทศเพิ่มขึ้น
นายเฮง ซอกกุง รัฐมนตรีต่างประเทศกระทรวงอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม กล่าวว่า แรงงานกัมพูชาข้ามแดนที่มีทักษะขเป็นปัจจัยในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะบริษัทไฮเทคมายังกัมพูชา
“แรงงานข้ามชาติกัมพูชาหลายพันคนทำงานในเกาหลีใต้ แรงงานที่มีทักษะไม่เพียงแต่ส่งเงินเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวเท่านั้น แต่เมื่อพวกเขากลับมาก็นำเทคโนโลยีและทักษะมาด้วย” นายเฮงกล่าวในเดือนสิงหาคม