ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup สิงคโปร์ปรับเกณฑ์สิทธิภาษีสำหรับ Family Office

ASEAN Roundup สิงคโปร์ปรับเกณฑ์สิทธิภาษีสำหรับ Family Office

24 เมษายน 2022


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 17-23 เมษายน 2565

  • สิงคโปร์ปรับเกณฑ์สิทธิภาษีสำหรับ Family Office
  • สิงคโปร์ยกเลิกไม่ตรวจโควิดผู้เดินทางเข้าที่ฉีดวัคซีนครบตั้งแต่ 26 เม.ย.
  • อินโดนีเซียห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มปรุงอาหาร
  • กัมพูชามีคนจนมากขึ้นจากโควิด
  • ไทย-เวียดนามประชุมการค้าร่วมครั้งที่ 4
  • เครือซีพีสนใจขยายลงทุนในเวียดนาม
  • สิงคโปร์ปรับเกณฑ์สิทธิภาษีสำหรับ Family Office

    ที่มาภาพ: https://www.visitsingapore.com/th_th/see-do-singapore/places-to-see/singapore-river/
    ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) ได้ประกาศ เกณฑ์ใหม่ที่เข้มงวดขึ้นสำหรับสำนักงานธุรกิจครอบครัว(Family Office) ที่จะขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในสิงคโปร์ โดยกฎใหม่นี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2565

    เงื่อนไขที่ปรับแก้ไขนี้อยู่ในมาตรา 13O และมาตรา 13U ของกฎหมายภาษีเงินได้ปี 1947 (Income Tax Act of 1947) ซึ่งได้ปรับเพิ่มสินทรัพย์ขั้นต่ำภายใต้การจัดการของสำนักงานธุรกิจครอบครัว การว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน และการใช้จ่ายภาคบังคับในการลงทุนในประเทศ และอื่นๆ

    สำนักงานธุรกิจครอบครัวคือ หน่วยงานที่บริหารจัดการและดูแลกิจการ การบริหารความมั่งคั่งหรือสินทรัพย์ของเจ้าของธุรกิจครอบครัว สมาชิกในครอบครัวของธุรกิจครอบครัว จากการวิจัยของ Wealth-X ซึ่งเป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการวิจัยผู้ที่มีความมั่งคั่งสูงหรือ high-net-worth individuals ได้ประมาณการว่า ในเอเชียจะมีการส่งต่อความมั่งคั่งมูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ ให้กับคนรุ่นต่อไปในทศวรรษหน้า

    เกณฑ์ที่ปรับตามมาตรา 13O

  • สินทรัพย์ขั้นต่ำภายใต้การบริหาร
  • สำหรับสำนักงานธุรกิจครอบครัวที่จดทะเบียนตามมาตรา 13O ซึ่งถือเป็นการจดทะเบียนจัดตั้งในประเทศ ปัจจุบันกำหนดเงินทุนขั้นต่ำไว้ที่ 10 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (7.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ณ วันที่ยื่นจดทะเบียน นอกจากนี้ กองทุนจะต้องเพิ่มสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) เป็น 20 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (14.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ภายใน 2 ปี

  • การว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน
  • สำนักงานธุรกิจครอบครัวที่จดทะเบียนตามมาตรา 13O ต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน (investment professional:IP) อย่างน้อย 2 คน ในกรณีที่ไม่สามารถจ้าง IP ได้ 2 คน ณ วันที่ยื่น จะมีเวลา 2 ปีในการ IP รายที่สอง ทั้งนี้ IP ครอบคลุม เจ้าหน้าที่การตลาด(traders) นักวิเคราะห์ และผู้จัดการการลงทุน(Portfolio managers)

    นอกจากนี้ IP จะต้องมีรายได้มากกว่า 3,500 ดอลลาร์สิงคโปร์ (2,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ต่อเดือน และมีประสบการณ์ระดับหนึ่งในอุตสาหกรรมนี้
    ก่อนหน้านี้ มาตรา 13O เพียงกำหนดให้กองทุนต้องได้รับการจัดการหรือแนะนำโดยบริษัทจัดการกองทุน (FMC) ในสิงคโปร์ โดยเป็น FMC ที่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า 2544(Securities and Futures Act 2001)

  • ข้อกำหนดลงทุนในประเทศ
  • กองทุนที่บริหารโดยสำนักงานธุรกิจครอบครัวต้องลงทุนในประเทศอย่างน้อย 10%ของ AUM หรือ 10 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (7.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) แล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า โดยผลิตภัณฑ์การลงทุนอาจรวมถึง ตราสารหนี้ที่มีผ่านเกณฑ์คุณสมบัติ ตราสารทุนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตจากสิงคโปร์ กองทุนที่จัดจำหน่ายโดยผู้จัดการกองทุนที่ได้รับใบอนุญาต/จดทะเบียนจากสิงคโปร์ และการลงทุนแบบไพรเวทอิควิตี้ในบริษัทที่ไม่ใช่บริษัทจดทะเบียนในสิงคโปร์ เช่น บริษัทสตาร์ทอัพที่ดำเนินธุรกิจอยู่ในสิงคโปร์ หากกองทุนไม่สามารถลงทุนในประเทศได้ภายในเวลาที่ยื่นขอ กองทุนจะได้รับการผ่อนผันเป็นเวลา 1 ปี

  • การใช้จ่ายทางธุรกิจ
  • สำนักงานธุรกิจครอบครัวจะต้องมีรายจ่ายทางธุรกิจรวมขั้นต่ำ 200,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (146,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ต่อปี และเป็นไปตามกรอบที่แบ่งเป็นขั้นตามมูลค่าของ AUM โดยที่ประเภทของค่าใช้จ่ายนั้นรวมถึง ค่าที่ปรึกษาภาษี ค่าธรรมเนียมการจัดการ และค่าตอบแทน เป็นต้น

    ที่มาภาพ: https://www.aseanbriefing.com/news/new-criteria-for-family-offices-in-singapore-to-receive-tax-incentives/

    เกณฑ์ที่ปรับในมาตรา 13U

  • สินทรัพย์ขั้นต่ำภายใต้การบริหาร
  • มูลค่าทรัพย์สินขั้นต่ำภายใต้การบริหารยังคงไม่เปลี่ยนแปลงที่ 50 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (36.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)

  • การจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน
  • กองทุนต้องได้รับการจัดการหรือแนะนำโดย IP อย่างน้อย 3 คน โดยที่หนึ่งในนั้นจะต้องไม่ใช่สมาชิกครอบครัว หากไม่เป็นไปตามเกณฑ์นี้ในการยื่นขอ กองทุนจะได้รับการผ่อนผันเป็นเวลา 1 ปีเพื่อจ้าง IP ที่ไม่ใช่สมาชิกครอบครัว

  • ข้อกำหนดการลงทุนในประเทศ
  • เช่นเดียวกับมาตรา 13O กองทุนต้องลงทุนอย่างน้อย 10%ของ AUM หรือ 10 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (7.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในการลงทุนในประเทศ

  • การใช้จ่ายทางธุรกิจ
  • ข้อนี้จะต่างกับมาตรา 13O โดยสำนักงานธุรกิจครอบครัวที่จดทะเบียนตามมาตรา 13U จะต้องมีการใช้จ่ายขั้นต่ำในประเทศ 500,000 ดอลลาร์สิคโปร์(366,000 ดอลลาร์สหรัฐ) และการใช้จ่ายนี้ควรสอดคล้องกับการดำเนินงานของกองทุน ไม่ใช่ด้านการจัดหาเงิน

    ที่มาภาพ:https://www.visitsingapore.com/th_th/see-do-singapore/places-to-see/singapore-river/

    เกณฑ์ใหม่มีผลกับใคร
    เกณฑ์ที่ปรับแก้ไขใหม่จะมีผลกับสำนักงานธุรกิจครอบครัวที่ได้ปฏิบัติครบตามเงื่อนไข ได้แก่ FMC ที่ได้รับการยกเว้น ซึ่งจัดการทรัพย์สินในนามของครอบครัว และสำนักงานธุรกิจครอบครัวที่สมาชิกในครอบครัวเดียวกันเป็นเจ้าของหรือควบคุมทั้งหมด ครอบครัวที่เป็นทายาทสืบสายเลือดจากบรรพบุรุษคนหนึ่งและรวมถึงคู่สมรสและอดีตคู่สมรส บุตร บุตรบุญธรรมและลูกติด ทั้งนี้ FMC ที่จะได้รับการยกเว้นนั้นบริษัทต้องได้รับการยกเว้นจากข้อกำหนดในการถือใบอนุญาตบริการตลาดทุน (CMS)

    วันที่มีผลและบังคับใช้
    เกณฑ์ใหม่มีผลตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2565 แม้จะไม่บังคับใช้กับการยื่นขอที่ส่งมาก่อนหน้า และการติดต่อกับ MAS ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา นอกจากนี้เกณฑ์ใหม่ไม่มีผลกับการยื่นขออย่างเป็นทางการต่อ MAS ผ่านช่องทาง MASNET ซึ่งเป็นช่องทางการสื่อสารที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้บริการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่าง MAS และสถาบันการเงิน ก่อนวันที่ 18 เมษายน 2565 แต่การยื่นขอได้รับการอนุมัติหลังวันที่ 18 เมษายน 2565

    เกณฑ์ใหม่จะมีผลกระทบต่อสำนักงานครอบครัวของสิงคโปร์อย่างไร
    ด้วยเกณฑ์ใหม่ MAS หวังที่จะเพิ่มความเป็นมืออาชีพและคุณภาพของธุรกิจสำนักงานธุรกิจของครอบครัว นอกจากนี้ เงื่อนไขใหม่จะช่วยยกระดับความโปร่งใสของสำนักงานธุรกิจครอบครัวในประเทศ เนื่องจากบางครั้งอาจถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดสำหรับกิจกรรมอื่น นอกเหนือจากการจัดการกองทุนภายใต้ข้อกำหนดปัจจุบัน ข้อกำหนดใหม่นี้ยังสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการระบาดของโควิด-19 ของ ผ่านการส่งผ่านผลทางบวกต่อเศรษฐกิจ เช่น การสร้างงานและกระตุ้นกระแสเงินทุนไปยังธุรกิจในประเทศมากขึ้น

    ภาคธุรกิจสำนักงานธุรกิจครอบครัวเติบโตอย่างแข็งแกร่งในสิงคโปร์ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และสิงคโปร์มีชื่อเสียงในฐานะศูนย์กลางสำหรับสำนักงานธุรกิจครอบครัว โดยในปี 2020 มีการจัดตั้งขึ้น 400 แห่งเทียบกับ 200 แห่งในปี 2019

    สิงคโปร์ยกเลิกไม่ตรวจโควิดผู้เดินทางเข้าที่ฉีดวัคซีนครบตั้งแต่ 26 เม.ย.

    ผู้เดินทางที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วนทุกคน ที่เดินทางเข้าสิงคโปร์ผ่านจุดตรวจทางอากาศหรือทางทะเล จะไม่ต้องทำการตรวจหาเชื้อโควิด-19ก่อนออกเดินทางอีกต่อไปตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน จากเดิมที่กำหนดให้ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศต้องทำการตรวจภายใน 2 วันนับก่อนเดินทางเข้าสิงคโปร์

    กระทรวงสาธารณสุข (MOH) ประกาศในวันศุกร์ (22 เม.ย.) ว่า การยกเลิกครั้งนี้หมายความว่าผู้เดินทางที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วนจะไม่ต้องเข้ารับการตรวจ เพื่อเข้าสิงคโปร์ และการยกเลิกข้อกำหนดการตรวจก่อนออกเดินทางยังมีผลครอบคลุมเด็กที่ไม่ได้รับวัคซีนครบซึ่งมีอายุ 12 ปีหรือต่ำกว่าด้วย

    นอกจากนี้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ผู้ถือใบอนุญาตทำงานที่ไม่ใช่ชาวมาเลเซียซึ่งฉีดวัคซีนครบสมบูรณ์ก็ไม่ต้องยื่นขออนุญาตเข้าประเทศสิงคโปร์อีกต่อไปซึ่งรวมถึงผู้ถือใบอนุญาตทำงานที่ไม่ใช่ชาวมาเลเซียซึ่งได้รับอนุญาตในภาคการก่อสร้าง อู่ต่อเรือและกระบวนการทางทะเล จากปัจจุบันที่ต้องได้รับการอนุมัติจากกระทรวงแรงงาน แต่กลุ่มนี้ยังคงต้องจองคิวตรวจที่ศูนย์ก่อนเข้าหอพักเมื่อเดินทางมาถึง

    นายจ้างของคนงานเหล่านี้ต้องใช้ระบบการจองหอพักแบบใหม่เพื่อให้ได้หอพัก ก่อนที่คนงานของจะเดินทางมาถึงสิงคโปร์ และข้อกำหนดนี้จะครอบคลุมผู้ถือใบอนุญาตทำงานจากจีน ฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวันตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม

    อินโดนีเซียห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มปรุงอาหาร

    ที่มาภาพ: https://jakartaglobe.id/business/president-jokowi-announces-ban-on-edible-oil-export

    ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ประกาศเมื่อวันศุกร์(22 เม.ย.) จะห้ามการส่งออกน้ำมันปรุงอาหารในสัปดาห์หน้า

    การตัดสินใจดังกล่าวมีขึ้นหลังจากมีการเปิดเผยรายชื่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการค้าและนักธุรกิจ 3 คน ว่าเป็นผู้ต้องสงสัยกระทำการทุจริตการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบได้ 3 วัน ท่ามกลางราคาน้ำมันปรุงอาหารที่พุ่งสูงขึ้นหลังจากขาดแคลนวัตถุดิบหลายสัปดาห์

    “ผมเพิ่งประชุมหารือคณะรัฐมนตรีถึงเรื่องความต้องการพื้นฐานของประชาชน โดยส่วนใหญ่เกี่ยวกับสต็อกน้ำมันปรุงอาหารในประเทศ ระหว่างการประชุม ผมตัดสินใจว่า รัฐบาลจะสั่งห้ามการส่งออกน้ำมันพืชและวัตถุดิบตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน 2565” ประธานาธิบดีกล่าวในการแถลงข่าวที่ผ่านระบบสตรีมมิ่ง ผ่านช่อง YouTube ของทำเนียบประธานาธิบดี

    ประธานาธิบดีวิโดโดกล่าวว่า การห้ามการส่งออกจะมีผลไปจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง โดยจะติดตามและประเมินผลของมาตรการต่อเนื่อง เพื่อให้ปริมาณน้ำมันปรุงอาหารในประเทศมีเพียงพอและในระดับราคาที่ประชาชนหาซื้อได้

    ในวันอังคารที่ผ่านมา นายอินทรสารี วิษณุ วาร์ทนา อธิบดีการค้าต่างประเทศ ถูกระบุว่าให้เป็นผู้ต้องสงสัยทุจริตในข้อหาออกใบอนุญาตส่งออกน้ำมันปาล์มดิบให้กับบริษัทที่ไม่มีคุณสมบัติเหมาะสม ส่วนนักธุรกิจอีก 3 คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องมีเพียงชื่อย่อเท่านั้น

    “นี่เป็นเรื่องใหญ่ที่อินโดนีเซียในฐานะผู้ผลิตน้ำมันปาล์มดิบรายใหญ่ที่สุดของโลกกำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนน้ำมันปรุงอาหาร” Sanitiar Burhanuddin อัยการสูงสุด กล่าวในการประกาศเริ่มการสอบสวน

    เมื่อต้นปีนี้ รัฐบาลได้กำหนดให้มีการถูกบังคับให้ปันส่วนน้ำมันสำหรับปรุงอาหารและเข้าแทรกแซงตลาดเพื่อให้ราคาอยู่ในระดับที่ผู้บริโภคในประเทศเข้าถึงได้

    ในเดือนกุมภาพันธ์ รัฐบาลได้กำหนดราคาเพดานที่ 11,500 รูเปียะห์ต่อลิตรสำหรับน้ำมันปรุงอาหารแบบขายเหมา และ 13,500 รูเปียะห์สำหรับน้ำมันปรุงอาหารแบบบรรจุกล่องที่ไม่มีตราสินค้า และ 14,000 รูเปียะห์สำหรับน้ำมันปรุงอาหารที่มีตราสินค้า แต่ในกลางเดือนมีนาคมรัฐบาลได้ปรับเพดานราคาขึ้น และปริมาณกลับมาสู่ภาวะปกติแต่มีราคาสูงกว่าเมื่อก่อน

    ในต้นเดือนมีนาคมรัฐบาลได้ประกาศคุมเข้มส่งออกน้ำมันปาล์ม โดยให้บริษัทต่างๆ นำน้ำมันปาล์มดิบและโอเลอีนที่วางแผนจะส่งออกมาจำหน่ายในประเทศ 30% เพิ่มขึ้นจาก 20% หลังจากนั้นได้เพียงหนึ่งสัปดาห์ รัฐบาลได้ยกเลิกข้อห้ามส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์ม แต่เพิ่มภาษีส่งออกแทน

    กัมพูชามีคนจนมากขึ้นจากโควิด

    Cambodia Minister of Planning Chhay Thorn ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/501060205/poverty-rate-increases-in-cambodia-due-to-covid-19/
    อัตราความยากจนของประชากรกัมพูชาเพิ่มขึ้นจาก 13.5% ในปี 2557 เป็น 17.8% ในปี 2562 และ 2563 จากการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงวางแผน

    ในการเปิดการสัมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อส่งเสริมการนำนโยบายประชากรของประเทศปี 2559-2573(National Population Policy 2016-2030 ) ไปปฏิบัติ ที่จังหวัดเสียมเรียบ นายToun Thavrak ปลัดกระทรวงวางแผนกล่าวว่า อัตราความยากจนของกัมพูชาลดลงจาก 47% ในปี 2550 เป็น 22.9% ในปี 2552 และลดลงมาที่ 13.5% ในปี 2557 ส่งผลให้กัมพูชามีสถานะประเทศรายได้ต่ำขั้นปานกลางในปี 2558

    อย่างไรก็ตามการสำรวจเศรษฐกิจและสังคมปี 2562-2563 อัตราความยากจนไปกลับเพิ่มขึ้นไปที่ 17.8%ซึ่งส่วนใญ่เป็นผลจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 รัฐบาลได้ส่งเสริมให้นำแผนนโยบายปี2559-2573 ไปปฏิบัติภายใต้กรอบการพัฒนายั่งยืน(SDGs) ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

    การพัฒนาทุนมนุษย์เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการขยายฐานเศรษฐกิจและภาคส่วนที่จะช่วยให้กัมพูชาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลก โดยมุ่งเน้นที่การลงทุนด้านการศึกษาและสุขภาพ นอกจากนี้ภาคการศึกษามีความสำคัญสำหรับรัฐบาลในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อตอบสนองต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจด้วยภาคส่วนหลัก ๆ ได้แก่ การเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ นายถาวรรักกล่าว

    นาย Theng Pagnathun ตัวแทนของรัฐบาลกัมพูชาในฐานะอธิบดีฝ่ายการวางแผนกล่าวว่า “ทุกๆ 15 ปี กระบวนการประเมินเส้นความยากจนจะได้มีการทบทวนเพียงครั้งเดียว การปรับเปลี่ยนกระบวนการเป็นผลนี้จากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในกัมพูชา ก่อนหน้านี้กำหนดพลังงานจากอาหารและเครื่องดื่มไว้ที่ 2,200 แคลอรี และค่าสาธารณูปโภคอื่นๆ ต่ำ แต่ตอนนี้ เรากำหนดใหม่ โดยยังพลังงานไว้ 2,200 แคลอรี แต่การใช้จ่ายด้านอาหารและสิ่งที่ไม่ใช่อาหาร (เสื้อผ้า การบริโภคในครัวเรือน ฯลฯ) เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้อัตราความยากจนเพิ่มขึ้น

    ในพนมเปญ มีคนจำนวนมากที่ทำรายไม่ถึง 10,000 เรียลต่อวัน ซึ่งหมายความว่าพวกเขาอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน

    “โควิด-19 มีผลกระทบต่อความยากจน ก่อนโควิด-19 การวิจัยของเราพบว่ามีครัวเรือนที่อยู่ใต้เส้นความยากจนเพียง 500,000 ครัวเรือน แต่หลังจากวิกฤตโควิด-19 ก็เพิ่มขึ้นอีก 200,000 ครอบครัว”

    ไทย-เวียดนามประชุมการค้าร่วมครั้งที่ 4

    ที่มาภาพ: https://www.moc.go.th/th/content/category/detail/id/4/iid/4492

    เมื่อวันพุธที่ 20 เมษายน 2565นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นเจ้าภาพเปิดการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee: JTC) ไทย-เวียดนาม ครั้งที่ 4 กับนายเหวียน ห่ง เซียน (H.E. Mr. Nguyen Hong Dien) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ของประเทศเวียดนาม ที่จัดขึ้นในประเทศไทย

    นายจุรินทร์ กล่าวว่า มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับเวียดนาม เมื่อปีที่แล้วมีมูลค่าประมาณ 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ได้มีการตั้งเป้าปี 2025 จะเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันเป็น 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

    ในการประชุมฝ่ายไทยได้เสนอขอความสนับสนุนจากทางเวียดนามหลายประเด็นเช่น ประเด็นที่หนึ่ง ขอให้ทางการเวียดนามช่วยเจรจากับรัฐบาลจีนในฐานะประเทศที่มีชายแดนติดกัน เพื่ออำนวยความสะดวกการส่งผลไม้ไทยผ่านด่านเวียดนามไปจีน เช่น 1.ด่านโหย่วอี้กวานของจีน ที่อยู่ตรงข้ามกับด่านหวูหงิของเวียดนาม ปัจจุบันเปิดทำการตั้งแต่ 8.00-19.00 น. ขอให้เวียดนามช่วยเจรจากับจีนให้เปิดเป็น 24 ชั่วโมง 2.ด่านรถไฟผิงเสียงกับด่านรถไฟด่งดังของเวียดนาม เปิดทำการ 8.30-18.00 น. ขอให้ขยายเป็น 24 ชั่วโมง 3.ด่านตงซิงของจีนกับด่านหม่องก๋ายของเวียดนามซึ่งขณะนี้ปิดทำการขอให้ทางเวียดนามช่วยเจรจาอีกครั้งให้เปิดด่านต่อไป และขอให้เวียดนามและจีนช่วยเพิ่มช่องทางกรีนเลน (Green Lane)อำนวยความสะดวกส่งสินค้าไทย ที่ผ่านกระบวนการปลอดโควิดตามมาตรฐานเข้าจีนให้เร็วขึ้น และขอให้ช่วยเจรจาทั้ง 2 ฝ่ายเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกมากขึ้น ซึ่งรัฐมนตรีเวียดนามแจ้งว่าเวียดนามยินดีที่จะส่งเสริมกรีนเลนให้กับฝ่ายไทย แต่การเจรจากับจีนต้องหารือกันต่อไปเพราะเป็นนโยบาย zero covidของจีน วึ่งไทยได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับด่านของจีนแล้ว ขอโอกาสในการหารือเพราะผลไม้ไทยกำลังเริ่มออกในเดือนพฤษภาคมนี้

    ประเด็นที่สอง ขอให้ทางการเวียดนามยกเลิกการระงับการนำเข้าสินค้า 3 ตัวจากไทย คือ 1.เนื้อไก่ 2.เงาะ และ3.มะม่วง ซึ่งรัฐมนตรีเวียดนามรับไปพิจารณาต่อไป
    ประเด็นที่สาม เรื่องการส่งออกยาของไทยไปเวียดนาม ซึ่งได้มีการกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมนอกเหนือจากข้อตกลงอาเซียน ขอให้ทางเวียดนามช่วยปรับปรุงให้เป็นไปตามข้อตกลงอาเซียน ยกเลิกเอกสาร มาตรการที่เกินข้อตกลง รัฐมนตรีเวียดนามรับจะเข้าไปปรับปรุงแก้ไขให้ต่อไป
    ประเด็นที่สี่ ไทยขอให้ทางเวียดนามช่วยประชาสัมพันธ์การจัดงานแสดงสินค้าไทยในเวียดนาม โดยเฉพาะงาน Mini Thailand Week ที่จะจัดขึ้นกลางปีนี้ ที่นครเกิ่นเทอและเมืองกว่างนิงห์ ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนามรับปากจะอำนวยความสะดวกและจะส่งเจ้าหน้าที่ไปร่วมงานด้วย
    ประเด็นที่ห้า ไทยขอให้เวียดนามสนับสนุนให้ไทยใช้แพลตฟอร์มของเวียดนามเป็นช่องทางในการกระจายสินค้าสู่มือผู้บริโภคต่อไป ไม่ว่าจะเป็น Shopee Lazada เวียดนาม TIKKI และ Sendo ซึ่งรัฐมนตรีเวียดนามสนับสนุนและไทยจะสนับสนุนให้สินค้าเวียดนามเข้ามาขายในแพลตฟอร์มไทยด้วยเช่นเดียวกัน
    ประเด็นที่หก ขอให้เวียดนามสนับสนุนการลงทุนด้านพลังงานสะอาดของนักลงทุนไทยในเวียดนาม เร่งเปิดการประชุมร่วมในการส่งเสริมพลังงานสะอาดเพื่อเพิ่มการลงทุนระหว่างกันโดยเร็วที่สุด เบื้องต้นควรดำเนินการได้ในไตรมาสที่ 2 หรือ 3 เป็นอย่างช้าในปีนี้
    ประเด็นที่เจ็ด ประเด็นแรงงานเวียดนาม ขอให้เวียดนามสนับสนุนแรงงานเพิ่มเติมจากปัจจุบัน ประมงกับก่อสร้าง ขอให้เพิ่มอีก 2 สาขาคือ แม่บ้านและผู้ใช้แรงงาน
    ประเด็นที่แปด ขอให้เวียดนามเร่งขึ้นทะเบียนจีไอ สำหรับลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูนของไทยที่ไปขอขึ้นทะเบียนไว้

    ส่วนที่ประเด็นที่รัฐมนตรีเวียดนามได้นำมาหารือได้แก่
    ประเด็นแรก เรื่องการขาดดุลการค้าที่เวียดนามขาดดุลการค้ากับไทยมาก ซึ่งไทยพร้อมที่จะช่วยสนับสนุนงานต่างๆที่เวียดนามจะมาจัดในไทย อย่างไรก็ตามปีที่แล้วการนำเข้าสินค้าเวียดนามมาไทยเป็นบวกถึง 27%
    ประเด็นที่สอง เวียดนามขอให้ไทยเร่งออกใบอนุญาตนำเข้าผลไม้ 5 ชนิด คือ ส้มโอ น้อยหน่า เสาวรส ลูกน้ำนมและเงาะ ไทยเสนอให้เวียดนามใช้ช่องทาง MoU ที่ทำกับกระทรวงเกษตรฯของไทยเป็นเวทีหารือต่อไป
    ประเด็นที่สาม ขอให้ท่าเรือของไทยลดขั้นตอนการตรวจสินค้า รวมทั้งช่วยตรวจเอกสารให้เร็วขึ้น กระทรวงการคลังและคมนาคม รับเรื่องนี้ไปปรับปรุงอำนวยความสะดวกให้
    ประเด็นที่สี่ ขอให้ไทยร่วมสนับสนุนจัดงานแสดงสินค้าของเวียดนามในประเทศไทยในห้างสรรพสินค้าต่างๆ ซึ่งได้แจ้งว่ากระทรวงพาณิชย์ยินดีสนับสนุน

    และทั้ง 2 ฝ่ายมีความเป็นห่วงเรื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการค้าของทั้ง 2 ประเทศ และมีผลกระทบต่อเกือบทุกประเทศในโลก ไทยกับเวียดนามจำเป็นที่จะต้องจับมือกันให้แน่นแฟ้น รวมทั้งประเทศสมาชิกอาเซียน เพราะจะมีส่วนช่วยทำให้เราร่วมกันแก้ไขสถานการณ์ปัญหาต่างๆทางการค้าการลงทุนร่วมกันได้อย่างมีน้ำหนักยิ่งขึ้น และได้เชิญรัฐมนตรีเวียดนามเข้าร่วมการประชุมเอเปกในปลายปีนี้ด้วย

    เครือซีพีสนใจขยายลงทุนในเวียดนาม

    ที่มาภาพ: https://en.nhandan.vn/business/item/11414402-thailand-s-cp-group-interested-in-expanding-investment-in-vietnam.html

    นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือซีพี ของไทย ให้คำมั่นว่ายังคงให้ความสำคัญกับการลงทุนในเวียดนาม โดยชี้ว่าเวียดนามเป็นประเทศที่มีศักยภาพและน่าสนใจที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

    ในการพบปะกับเอกอัครราชทูตเวียดนามประจำประเทศไทย Phan Chi Thanh เมื่อวันที่ 18 เมษายน ธนินท์ เจียรวนนท์ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตและการดำเนินธุรกิจของกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ผู้ผลิตอาหารสัตว์และปศุสัตว์รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และใหญ่เป็นอันดับสี่ของโลก

    ซีพีเริ่มธุรกิจในเวียดนามในปี 2536 ในอุตสาหกรรมการเกษตรผ่าน ซีพี เวียดนาม คอร์ปอเรชั่น ซึ่งปัจจุบันเป็นบริษัทการเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนาม มีพนักงานมากกว่า 30,000 คน

    ในปี 2563 เครือซีพีได้เปิดตัวโรงงานแปรรูปไก่ในเมืองบิ่ญเซือง ซึ่งมีกำลังการผลิตไก่ 50 ล้านตัวต่อปีในระยะแรกและ 100 ล้านตัวในระยะที่สอง

    เอกอัครราชทูตฯ แสดงความยินดีกับเครือซีพีและซีพีเวียดนามกับความสำเร็จ และชี้แจงนโยบายดึงดูดการลงทุนของเวียดนามตลอดจนโอกาสในการลงทุนในเวียดนาม

    เอกอัครราชทูตฯ ยืนยันว่านักลงทุนต่างชาติ รวมทั้งซีพี เวียดนาม เป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจเวียดนาม และแนะนำว่า เครือซีพีและซีพีเวียดนาม ควรขยายการดำเนินงานและการลงทุนในเวียดนามต่อเนื่อง โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและช่วยเร่งการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลในประเทศ ซึ่งทั้งเวียดนามและไทยจะได้ประโยชน์