ASEAN Roundup ประจำวันที่ 9-15 ตุลาคม 2565
อินโดนีเซียแจก Second Home Visa เศรษฐี นักลงทุน
วิโดโด อิกัตจาห์จานา รักษาการผู้อำนวยการตรวจคนเข้าเมืองชาวอินโดนีเซีย ประกาศเมื่อวันพฤหัสบดี(13 ต.ค.) สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงและหน่วยงานรัฐบาลอื่นที่เกี่ยวข้องจะ เปิดตัวโครงการ second home visa เพื่อดึงดูดนักลงทุนและเศรษฐีพันล้านต่างชาติ
“วีซ่าพิเศษนี้จะมอบให้กับมหาเศรษฐี คนรวยทั่วโลก และนักลงทุน ที่ตั้งใจจะพำนักในอินโดนีเซียระยะยาว เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนในอินโดนีเซีย”
วิโดโดเชื่อว่า นโยบายนี้สอดคล้องกับคำสั่งของประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ในการอำนวยความสะดวกให้กับการลงทุนจากต่างประเทศในอินโดนีเซีย ซึ่งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองพร้อมที่จะสนับสนุน ด้วยการอำนวยความสะดวกเพื่อเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุนในอินโดนีเซีย
Second home visa จะเป็นเครื่องมือสำหรับผู้ที่มีความสามารถระดับโลก, ชาวอินโดนีเซียที่อยู่ในต่างประเทศ และนักท่องเที่ยวสูงอายุต่างชาติ ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาพำนักอยู่ในอินโดนีเซียได้เป็นระยะเวลา 5-10 ปี
“Second home visa ยังอยู่ในการพิจารณาขั้นตอนสุดท้าย และคาดว่าในอนาคตอันใกล้หรืออาจจะในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า โครงการนี้จะกลายเป็นข้อบังคับที่จะมีผลบังคับใช้”
วิโดโดให้คำมั่นว่า จะปฏิบัติตามนโยบายการโยกย้ายถิ่นฐาน ที่อำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนต่างชาติที่อาศัยอยู่ในอินโดนีเซีย และพร้อมที่จะรับประกันความแน่นอนสำหรับผู้ประกอบการต่างชาติในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งท้ายที่สุดจะสามารถช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจของอินโดนีเซียได้
เมื่อเร็วๆนี้อินโดนีเซียได้ปรับเปลี่ยนแปลงนโยบายหลายอย่าง เพื่อดึงดูดความสนใจของนักลงทุนต่างชาติ และหนึ่งในนั้นคือการนำ Investor KITAS มาใช้ เศรษฐกิจอินโดนีเซียเผชิญกับความท้าทายระหว่างประเทศหลายด้าน ทั้งผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน การระบาดของโควิด-19 และสงครามยูเครน-รัสเซีย
Investor KITAS เป็นความพยายามของรัฐบาลในการปรับปรุงขั้นตอนการลงทุนจากต่างประเทศ และเสนอข้อยกเว้นและสิทธิประโยชน์ในการพำนักมากมายแก่นักลงทุน
Investor KITAS จะออกให้แก่ผู้ยื่นขอซึ่งได้ลงทุนในบริษัทในอินโดนีเซียและต้องทำงานกับบริษัทที่ลงทุน Investor KITAS มีสิทธิประโยชน์มากมาย โดยผลประโยชน์ที่ดีที่สุด ได้แก่ ความสะดวกในการยื่นขอและการยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงาน หากปฏิบัติตามข้อกำหนดการลงทุนทั้งหมด ก็ไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียมวีซ่า 1,200 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี นอกจากนี้ นักลงทุนต่างชาติไม่ต้องรอนานเพื่อเริ่มดำเนินการหลังจากการลงทุนครั้งแรก
ในอินโดนีเซีย นักลงทุนสามารถขอวีซ่านักลงทุน (KITAS) ได้สองประเภท คือ Index 313 เป็น วีซ่า 1 ปี (KITAS) Index 314
เป็นวีซ่า 2 ปี (KITAS)
ทั้งสองประเภทอนุญาตให้นักลงทุนเข้าและออกจากอินโดนีเซียได้หลายครั้งในช่วงที่วีซ่ายังไม่หมดอายุ
สิงคโปร์เตรียม 1.5 พันล้านดอลลาร์แจกเงินช่วยค่าครองชีพ
นายลอว์เรนซ์ หว่อง รองนายกรัฐมนตรีประกาศเมื่อวันศุกร์(14 ต.ค.) รัฐบาลได้เตรียมแพ็กเกจเงินช่วยเหลือชุดใหม่มูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ เพื่อให้ครัวเรือนสิงคโปร์รับมือกับระดับราคาที่สูงขึ้นได้ โดยความช่วยเหลือเพิ่มเติมมุ่งไปยังกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางทั้งนี้คาดว่าชาวสิงคโปร์ที่เป็นผู้ใหญ่และมีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือมีจำนวน 2.5 ล้านคน ซึ่งจะได้รับเงินช่วยค่าครองชีพพิเศษสูงถึง 500 ดอลลาร์ ในเดือนธันวาคม โดยจะได้รับเงินพร้อมกับการจ่ายเงินสดของมาตรการประกันภาษีสินค้าและบริการ (Goods and Services Tax (GST) Assurance Package) ที่ประกาศไว้ในงบประมาณ 2565 เพื่อชดเชยผลกระทบของการปรับขึ้นค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม 1% ที่จะเพิ่มขึ้นจาก 7% เป็น 8% ในวันที่ 1 มกราคม 2566
ทุกครัวเรือนในสิงคโปร์จะได้รับบัตรกำนัลของ Community Development Council (CDC) มูลค่า 100 ดอลลาร์ในเดือนมกราคมปีหน้า อีกด้วย ซึ่งเมื่อรวมกับบัตรกำนัล CDC มูลค่า 200 ดอลลาร์ที่ประกาศในช่วงงบประมาณปีนี้ จะมีการแจกบัตรกำนัลทั้งหมด 300 ดอลลาร์
กระทรวงศึกษาธิการจะเพิ่มเกณฑ์รายได้ของโครงการความช่วยเหลือทางการเงิน ในการขอชดเชยค่าใช้จ่ายในโรงเรียนให้ครอบคลุมนักเรียนจำนวนมากขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคม 2566
นายหว่อง ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังด้วย กล่าวว่า มาตรการล่าสุดที่ออกมาได้คำนึงถึงชาวสิงคโปร์ 2 กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ได้แก่ ชาวสิงคโปร์ที่มีรายได้ต่ำ และผู้สูงอายุวัยเกษียณที่ไม่มีรายได้จากการทำงาน
ผู้ที่มีรายได้น้อยจะได้รับผลกระทบมากกว่า เนื่องจากค่าจ้างอาจไม่สูงขึ้นมากพอที่จะรับมือกับราคาที่สูงขึ้น นายหว่องกล่าวและว่า ผู้เกษียณอายุที่มีอายุสูงจะได้รับผลกระทบทางลบเช่นกันเพราะไม่มีรายได้และต้องรับมือกับราคาที่สูงขึ้น
“นั่นคือเหตุผลที่เราติดตามสถานการณ์ในกลุ่มคนที่แตกต่างกัน และต้องประสบกับภาระการใช้จ่ายที่สูงขึ้น”
กระทรวงการคลัง (MOF) ระบุว่า แพ็คเกจการสนับสนุนล่าสุด ร่วมกับมาตรการก่อนหน้านี้ที่ประกาศในงบประมาณ และในเดือนเมษายนและมิถุนายน 2565 จะครอบคลุมค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นเต็มจำนวนสำหรับครัวเรือนที่มีรายได้น้อย
กระทรวงฯ ระบุ แพ็กเกจดังกล่าวจะครอบคลุมค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นมากกว่าครึ่งในปีนี้สำหรับครัวเรือนที่มีรายได้ปานกลาง
นายหว่องกล่าวว่าอัตราเงินเฟ้อทั้งปีในปี 2565 คาดว่าจะอยู่ที่ 6%
เมื่อวันศุกร์(14 ต.ค.) ธนาคารกลางสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore) กล่าวว่า แนวโน้มทั้งอัตราเงินเฟ้อและการเติบโตมีความไม่แน่นอนอย่างมาก โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะยังคงอยู่ในระดับสูงในช่วงครึ่งแรกของปี 2566
กระทรวงการคลังกล่าวว่า จะมีการสนับสนุนเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือประชาชนด้านต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้น
เมื่อวันพุธ(12 ต.ค.)ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังประกาศว่า รัฐบาลจะจัดสรรเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมประมาณ 200 ล้านดอลลาร์ เพื่อรองรับการขึ้นค่าโดยสาร 10.6% ซึ่งจะมีการทบทวนค่าโดยสารในอนาคต
“เงินอุดหนุนเพิ่มเติมนี้ช่วยบรรเทาผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของค่าโดยสารต่อผู้โดยสาร และใช้สำหรับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นในการให้บริการขนส่งสาธารณะอันเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน ค่ากำลังคน และอัตราเงินเฟ้อ” กระทรวงพลังงานระบุ
นอกจากนี้ จะมีการมอบบัตรกำนัลการขนส่งสาธารณะ 600,000 ใบมูลค่า 30 ดอลลาร์ต่อ 1 ใบแก่ครัวเรือนชาวสิงคโปร์ที่มีสิทธิ์ ซึ่งสามารถใช้เพื่อเติมเงินในบัตรโดยสารหรือซื้อบัตรโดยสารสาธารณะ
กระทรวงการคลังกล่าวว่า จะไม่มีการดึงเงินสำรองที่สะสมไว้มาใช้สำหรับแพ็คเกจการสนับสนุนใหม่ แต่จะใช้เงินจากงบประมาณที่ดีเกินคาดในช่วงครึ่งแรกของปีงบระมาณนี้ ซึ่งเริ่มในเดือนเมษายน เพราะการระบาดโควิด-19 จากสายพันธุ์โอไมครอนไม่รุนแรงอย่างที่คาดไว้ ทำให้ภาคส่วนต่างๆ ของเศรษฐกิจเปิดดำเนินการได้ และกระตุ้นให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัว
การประกาศแพ็คเกจการสนับสนุนมีขึ้นท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ปัญหาชะงักงันในห่วงโซ่อุปทานคลี่คลายลงเล็กน้อย แต่ความขัดแย้งอย่างต่อเนื่องในยูเครนและความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศยังคงสร้างแรงกดดันต่อราคาสินค้าและบริการ
“ในฐานะเศรษฐกิจแบบเปิดขนาดเล็ก สิงคโปร์มีความอ่อนไหวเป็นพิเศษต่อแรงกดดันด้านราคานำเข้า ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น อาหารและพลังงาน ในประเทศ ตลาดแรงงานที่ตึงตัวยังคงสนับสนุนการเติบโตของค่าจ้างที่แข็งแกร่ง” กระทรวงการคลังระบุ
“ดังนั้น เราต้องเตรียมพร้อมสำหรับอัตราเงินเฟ้อที่จะอยู่ในระดับสูงเป็นระยะเวลาหนึ่ง”
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา นายหว่องยังกล่าวอีกว่าจะมีการปรับ GST Assurance Package เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงกว่าที่คาดไว้
รายละเอียดเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนนี้จะมีขึ้นในงบประมาณปี 2023 และนายหว่องเน้นว่า รัฐบาลมีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ที่จะลดผลกระทบจากการเพิ่ม GST สำหรับชาวสิงคโปร์ทุกคน
อัตรา GST จะเพิ่มขึ้น 1% จาก 7% เป็น 8% ในวันที่ 1 มกราคม 2566 และเพิ่มขึ้นเป็น 9% ในวันที่ 1 มกราคม 2567
เวียดนามส่งออกไปกลุ่ม CPTPP เพิ่มขึ้น 38.7% ในช่วง 8 เดือน
รายงานของรัฐบาลระบุว่า มูลค่าการส่งออกของเวียดนามไปยังกลุ่มประเทศภาคี CPTPP หรือ ความตกลงหุ้นส่วนภาคพื้นแปซิฟิกที่ครอบคลุมและก้าวหน้า (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership)เพิ่มขึ้น 38.7% เป็น 41 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2565
เวียดนามนำเข้าจากประเทศ CPTPP รวมมูลค่า 35,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จากรายงานที่เผยแพร่โดยรัฐบาลเกี่ยวกับการดำเนินการ CPTPP ในช่วงเดือนมกราคมถึงสิงหาคม ส่งผลให้เวียดนามเกินดุลการค้าถึง 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
การส่งออกของเวียดนามไปยังแคนาดาและเม็กซิโกเพิ่มขึ้น 32% และ 9.2% โดยมีมูลค่า 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐตามลำดับ
CPTPP ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้ายุคใหม่ ลงนามในซันติอาโก ชิลี เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561 โดย 11 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ และเวียดนาม
แปดเดือนต่อมา เวียดนามให้สัตยาบันและมีผลในวันที่ 14 มกราคม 2562
เวียดนามเป็นผู้นำการฟื้นตัวของอาเซียนจากโควิด
กัมพูชาและเวียดนามเป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่กำลังฟื้นตัวจากการระบาดใหญ่ จากการสำรวจล่าสุดของ Nikkei และ Covid-19 Recovery Indexดัชนีของ Nikkei ประเมิน 121 ประเทศและภูมิภาค ในด้านการจัดการการติดเชื้อ การฉีดวัคซีน และการสัญจรของสังคม การได้อันดับที่สูงขึ้นบ่งชี้ว่าการฟื้นตัวมีความคืบหน้ามากขึ้น โดยมีอัตราการติดเชื้อและการเสียชีวิตที่ลดลง การครอบคลุมของการสร้างภูมิคุ้มกันที่มากขึ้น และข้อจำกัดในการสัญจรน้อยลง
กัมพูชาและเวียดนามประสบความสำเร็จเป็นประเทศแรกๆ ในการจัดการกับไวรัสโคโรน่าในช่วง 1 ปีของการระบาดใหญ่ แต่หลังจากนั้นก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสายพันธุ์เดลต้าในช่วงกลางปี 2564 ซึ่งขณะนี้แทบจะไม่ได้เริ่มฉีดวัคซีนเลย ทำให้ทั้งสองประเทศต้องใช้มาตรการที่เข้มงวด รวมถึงการล็อกดาวน์
อย่างไรก็ตาม ทั้งสองประเทศประสบความสำเร็จในการเร่งผลักดันการฉีดวัคซีน โดยเวียดนามได้รับคะแนนเต็มหรือคะแนน 30 สำหรับการฉีดวัคซีนในดัชนีล่าสุด ขณะที่กัมพูชาได้คะแนน 29
ความคืบหน้าของทั้งสองประเทศได้แปลงเป็นแนวโน้มทางเศรษฐกิจที่สดใสขึ้น ในการคาดการณ์เศรษฐกิจล่าสุด ธนาคารโลกได้เพิ่มการคาดการณ์การเติบโตประจำปีของเวียดนามเป็น 7.2% จาก 5.3%
กัมพูชาร่างนโยบายเม็ดมะม่วงหิมพานต์ระดับชาติ 2565-2570
เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม กัมพูชาได้จัดประชุมร่วมรัฐมนตรีจากหลายกระทรวงภายใต้การนำของนายเต็ก เรธ สัมเรช รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้แทนจากกระทรวงและสถาบันที่เกี่ยวข้อง และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นำโดย ริช รา รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ เพื่อทบทวนและหารือเกี่ยวกับร่างนโยบายระดับชาติว่าด้วยเม็ดมะม่วงหิมพานต์ 2565-2570 เพื่อที่จะกระจายพืชผลทางการเกษตรของประเทศ
ในระหว่างการประชุม ผู้แทนได้ทบทวนและหารือโดยละเอียดเกี่ยวกับเนื้อหาร่างนโยบายแห่งชาติว่าด้วยเม็ดมะม่วงหิมพานต์ 2565-2570 หลังการประชุมคณะทำงานด้านวิชากรของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคมปีนี้
การเปิดตัว สหพันธ์เม็ดมะม่วงหิมพานต์กัมพูชา (Cambodia Cashew Federation:CCF) ที่เพิ่งจัดตั้งและนโยบายแห่งชาติเรื่องเม็ดมะม่วงหิมพานต์ในปี 2565-2570 คาดว่าจะกระตุ้นการส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์กัมพูชาที่ได้รับความนิยม และรักษายอดรวมประจำปีไว้ที่ 1 พันล้านดอลลาร์
CCF เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ในฐานะองค์กรด้านอุตสาหกรรมเม็ดมะม่วงหิมพานต์ของกัมพูชา
วัตถุประสงค์หลักของนโยบายนี้ ได้แก่การเสริมสร้างศักยภาพของกัมพูชาในการปลูก จัดเก็บ แปรรูป บรรจุ ทำการตลาด จัดจำหน่ายและส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง รวมทั้งการตอกย้ำกัมพูชาในฐานะผู้ผลิตและซัพพลายเออร์รายใหญ่ในระดับภูมิภาคและกพื้นที่อื่นๆ
นายมาว โธรา รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ กล่าวขณะเป็นประธานในงานนี้ว่า รัฐบาลได้กำหนดให้ภาคการเกษตรเป็นแรงผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโต และเน้นไปที่เม็ดมะม่วงหิมพานต์เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ
นายโธราเน้นว่า การส่งเสริมภาคการเกษตรมีประโยชน์ทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจและประกันความมั่นคงด้านอาหาร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กัมพูชายังคงมีศักยภาพโดดเด่น
กระทรวงได้ร่างนโยบายระดับชาติเพื่อส่งเสริมการลงทุนในการเพาะปลูกและการแปรรูปเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ตลอดจนพัฒนาและปรับปรุงความสามารถในการส่งออก ด้วยข้อมูลจากผู้นำและผู้เชี่ยวชาญของรัฐบาล ภาคเอกชน และองค์กรพันธมิตร
“ในเร็วๆนี้ นโยบายนี้จะถูกนำมาใช้เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ปลูก ผู้แปรรูป และผู้ส่งออก ซึ่งสอดคล้องกับการเกิดขึ้นของ CCF ที่จัดตั้งขึ้น”
นายอัน ดาราผู้ก่อตั้ง Ample Agro Product Co Ltd ซึ่งเป็นบริษัทเกษตรกรรมรายใหญ่ที่ดำเนินการแปรรูปเม็ดมะม่วงหิมพานต์ เน้นย้ำถึงความสำคัญของ CCF และนโยบายระดับชาติในการปรับปรุงการเพาะปลูกโดยรวม การแปรรูป และความสามารถในการส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ซึ่งเป็นพืชพันธุ์เขตร้อนที่ชื่อ Anacardium Occidentale ที่มีถิ่นกำเนิดในบราซิล
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเม็ดมะม่วงหิมพานต์จะมีราคาในตลาดต่างประเทศมากกว่าข้าวสีหรือข้าวเปลือก แต่การขาดการลงทุนในการแปรรูปและบรรจุภัณฑ์ในกัมพูชา หมายความว่าประมาณ 90% ของผลผลิตในประเทศถูกซื้อโดยผู้ค้าเพื่อขายในเวียดนามในรูปแบบดิบ ส่งผลให้พลาดโอกาสมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ในแง่ของการเพิ่มมูลค่า
นายดาราคาดว่า การดำเนินการของ CCF ในดึงการลงทุนขนาดใหญ่ในการแปรรูปเม็ดมะม่วงหิมพานต์ จะช่วยลดการส่งออกแบบดิบ “ผมมั่นใจว่าเม็ดมะม่วงหิมพานต์ของกัมพูชาจะถูกส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากคุณภาพและรสชาติของมันได้รับการยอมรับแล้ว”
เม็ดมะม่วงหิมพานต์ดิบของกัมพูชาจะมีมูลค่าประมาณ 1,200 ดอลลาร์ต่อตันในเวียดนาม ขณะที่กัมพูชาเก็บเม็ดมะม่วงหิมพานต์ได้ไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านตันในแต่ละปี
กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง รายงานว่า กัมพูชาส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ 937,974.26 ตันในปีที่แล้ว มูลค่ารวม 1.60487 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 328.34%ในแง่ปริมาณ และ 233.32% ในแง่มูลค่าในปี 2563 ซึ่งหมายความว่าโดยเฉลี่ยแล้วเม็ดมะม่วงหิมพานต์หนึ่งตันที่ส่งออกโดยกัมพูชาในปี 2564 มีมูลค่า 1,711 ดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 22.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี ตลาดหลัก ได้แก่ เวียดนาม จีน ไทย อินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
ในทำนองเดียวกัน สมาคมเม็ดมะม่วงหิมพานต์แห่งกัมพูชารายงานว่า ทั้งประเทศมีพื้นที่เกษตรกรรมประมาณ 7.2 ล้านเฮกตาร์ในปีนี้ ซึ่งประมาณ 700,000 เฮกตาร์เป็นการปลูกเม็ดมะม่วงหิมพานต์
แรงงานกัมพูชาส่งเงินกลับบ้านสูงถึง 2.7 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้
การส่งเงินกลับประเทศของแรงงานกัมพูชาที่ไปค้าแรงงานนต่างแดนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมเป็นเงิน 2,630 ล้านดอลลาร์ในปี 2564 เพิ่มขึ้น 11.4% เมื่อเทียบกับปี 2561 กระทรวงแรงงานและอาชีวศึกษาเปิดเผยเมื่อวันที่ 12 ต.ค.และการส่งเงินกลับประเทศคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในปีนี้นายเฮง ซัวร์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า การส่งเงินกลับประเทศจากแรงงานกัมพูชาที่ไปทำงานไปต่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากแรงงานข้ามชาติกัมพูชาส่งเงินกลับจากต่างประเทศมากขึ้น
ขณะที่จำนวนแรงงานข้ามชาติเพิ่มขึ้น นายซัวร์กล่าวว่า การส่งเงินกลับประเทศจากแรงงานกัมพูชาไปทำงานในต่างประเทศคาดการณ์ว่าจะสูงถึง 2,720 ล้านดอลลาร์ภายในสิ้นปีนี้ เพิ่มขึ้น 3.4% เมื่อเทียบกับ 2,630 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว
แรงงานข้ามชาติชาวกัมพูชาได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและส่งเสริมการใช้ชีวิตของครอบครัวผ่านการโอนเงินกลับประเทศ เช่นเดียวกับการนำทักษะและประสบการณ์มาใช้ในการพัฒนาประเทศในประเทศบ้านเกิด นายซัวร์กล่าว
“แรงงานข้ามชาติได้กลายเป็นแรงผลักดันสำคัญในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ” นายซัวร์กล่าว
ในเดือนกรกฎาคม แรงงานอพยพชาวกัมพูชาได้ทำงานใน 7 ประเทศ โดยมี 1.22 ล้านคนทำงานในประเทศไทย ส่วนอีก 6 ประเทศ ได้แก่ เกาหลีใต้ มาเลเซีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง และซาอุดีอาระเบีย
การโอนเงินกลับให้ครอบครัวของแรงงานกัมพูชาที่ไปทำงานต่างแดนข้ามชาตินั้น ส่วนใหญ่เป็นการทำธุรกรรมผ่านสถาบันการเงิน จากข้อมูลของธนาคารแห่งชาติกัมพูชา
นโยบายของกัมพูชาในการส่งคนงานไปต่างประเทศได้ช่วยสร้างงานและมีส่วนทำให้เงินตราต่างประเทศของประเทศเพิ่มขึ้น
นายเฮง ซอกกุง รัฐมนตรีต่างประเทศกระทรวงอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม กล่าวว่า แรงงานกัมพูชาข้ามแดนที่มีทักษะขเป็นปัจจัยในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะบริษัทไฮเทคมายังกัมพูชา
“แรงงานข้ามชาติกัมพูชาหลายพันคนทำงานในเกาหลีใต้ แรงงานที่มีทักษะไม่เพียงแต่ส่งเงินเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวเท่านั้น แต่เมื่อพวกเขากลับมาก็นำเทคโนโลยีและทักษะมาด้วย” นายเฮงกล่าวในเดือนสิงหาคม