
องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ได้เปิดตัวยุทธศาสตร์เพื่อบรรลุเป้าหมายการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั่วโลก ภายในกลางปี 2565 ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาการระบาดสองทาง (two-track pandemic) คือ ทั้งประชาชนในประเทศยากจนที่ยังคงมีความเสี่ยง และประเทศร่ำรวยที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงจะได้รับการคุ้มครองที่เพิ่มขึ้น
องค์การอนามัยโลกได้ตั้งเป้าหมายที่จะฉีดวัคซีนให้ได้ 10% ในทุกประเทศ ทุกเขตเศรษฐกิจ และทุกเขตปกครองภายในสิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา แต่ก็ยังมี 56 ประเทศไม่สามารถทำได้ ส่วนใหญ่เป็นประเทศในแอฟริกาและตะวันออกกลาง
ยุทธศาสตร์ใหม่นี้ได้จัดทำแผนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของ WHO ในการฉีดวัคซีนให้ได้ 40% ของประชากรในทุกประเทศภายในสิ้นปีนี้ และ 70% ภายในกลางปี 2565
ดร.เทดรอส อาดานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกกล่าว ว่า “วิทยาศาสตร์ได้เข้ามามีส่วนร่วมด้วยการส่งมอบเครื่องมือที่ทรงพลังและช่วยชีวิตได้เร็วกว่าการระบาดใดๆ ในประวัติศาสตร์ แต่การกระจุกตัวของเครื่องมือเหล่านั้นในมือของบางประเทศและบริษัทต่างๆ ได้นำไปสู่หายนะระดับโลก โดยคนรวยได้รับการปกป้อง ในขณะที่คนจนยังคงเผชิญกับไวรัสอันตราย เรายังคงสามารถบรรลุเป้าหมายสำหรับปีนี้และปีหน้าได้ แต่จะต้องใช้ความมุ่งมั่น การลงมือทำ และความร่วมมือทางการเมืองที่มากกว่าสิ่งที่เราได้เห็นมาจนถึงทุกวันนี้”
นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวว่า “นี่เป็นทางออกจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 สำหรับทุกคนทั่วหนแห่ง แต่เป็นเส้นทางที่มีค่าใช้จ่าย ต้องมีการประสานงาน และวางใจได้ หากปราศจากแนวทางที่ประสานกันและเป็นธรรม ก็จะไม่สามารถลดจำนวนการติดเชื้อในประเทศใดประเทศหนึ่งได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ของทุกคน เราต้องเร่งให้ทุกประเทศมีการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมในระดับสูง”
“เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการฉีดวัคซีนทั่วโลก ควรแบ่งแนวทางการฉีดวัคซีนออกเป็น 3 ระดับ โดยผู้สูงอายุ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และกลุ่มเสี่ยงสูงทุกช่วงอายุ ในทุกประเทศจะฉีดวัคซีนก่อน ตามมาด้วยกลุ่มผู้ใหญ่ทุกกลุ่ม ในทุกประเทศและขยายการฉีดวัคซีนไปยังกลุ่มวัยรุ่นในท้ายสุด”
การฉีดวัคซีนให้ได้ 70% ของประชากรโลก ก็ต้องมีการวัคซีนอย่างน้อย 11 พันล้านโดส ณ สิ้นเดือนกันยายน ทั่วโลกมีการแจกจ่ายวัคซีนไปแล้วกว่า 6 พันล้านโดส ด้วยการผลิตวัคซีนทั่วโลกในขณะนี้ที่มีจำนวนเกือบ 1.5 พันล้านโดสต่อเดือนและเมื่อประเมินในด้านอุปทานก็มีวัคซีนเพียงพอที่จะบรรลุเป้าหมายการฉีดวัคซีนทั่วโลกหากมีการกระจายปริมาณที่เท่าเทียมกัน
ที่ผ่านมามีการจัดหาเงินทุนจำนวนมากเพื่อจัดหาวัคซีนให้กับประเทศที่มีรายได้ต่ำและระดับปานกลางถึงต่ำผ่านโครงการ COVAX, African Vaccine Acquisition Trust (AVAT) และสัญญาทวิภาคี แต่ต้องมีการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อจัดหาวัคซีนที่ยังขาดแคลนให้กับประเทศเหล่านี้ รวมทั้งการลงทุนเพื่อสนับสนุนการจัดส่งภายในประเทศ
ยุทธศาสตร์ใหม่นี้ได้สรุปการดำเนินการตามลำดับความสำคัญที่จำเป็นจากผู้รับผิดชอบด้านต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ได้แก่
สิ่งที่ทุกประเทศต้องทำ
สิ่งที่ประเทศที่มีการฉัดวัคซีนครอบคลุมสูงต้องทำ
สิ่งที่ประเทศผลิตวัคซีนต้องทำ
สิ่งที่ผู้ผลิตวัคซีนต้องทำ
สิ่งที่ภาคประชาสังคม องค์กรชุมชน และภาคเอกชนต้องทำ
สิ่งที่ธนาคารและสถาบันเพื่อการพัฒนาพหุภาคีระดับโลกและระดับภูมิภาคต้องทำ
สำหรับ WHO, Gavi, UNICEF และ CEPI ต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับธนาคารโลก องค์การการค้าโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ แอฟริกา CDC, AVAT และพันธมิตรหลักอื่น ๆ เพื่อติดตามความคืบหน้า ระบุสิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลงในการแก้ไขปัญหาคอขวด ประสานงานข้อมูล และจัดลำดับความสำคัญของการดำเนินการ รวมทั้งยังคงร่วมเป็นผู้นำและจัดการโครงการ COVAX ของ ACT-Accelerator สนับสนุนการจัดสรรวัคซีนอย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีรายได้ต่ำ ระดับปานกลางถึงต่ำ และตามหลังประเทศอื่น สนับสนุนโดยตรงให้ประเทศต่างๆ พัฒนาและคงไว้ซึ่งโครงการจัดส่งวัคซีนโควิดที่รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และมีคุณภาพสูง ซึ่งสามารถบรรลุ 3 เป้าหมายระดับโลก ซึ่งจะทำให้บรรลุเป้าหมายการฉีดวัคซีน จัดการกับการวิจัยหลัก นโยบายความปลอดภัย และประเด็นด้านกฎระเบียบที่จะเพิ่มประสิทธิภาพที่จะมีผลต่อเป้าหมายการฉีดวัคซีนทั่วโลก รวมไปถึงการที่มีประสิทธิภาพในการจัดหา การแจกจ่าย และกำหนดการวัคซีน การผสมและจับคู่ผลิตภัณฑ์ การป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ และปัญหาอื่นๆ และติดตามและรายงานความคืบหน้าการเข้าสู่เป้าหมายการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั่วโลกทุกเดือน