ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯทั่วประเทศ-ยุบ ศบค. 30 ก.ย.นี้

ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯทั่วประเทศ-ยุบ ศบค. 30 ก.ย.นี้

23 กันยายน 2022


นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)

เมื่อ 23 กันยายน 2565 รัฐบาลประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน  – ยุบ ศบค. และคำสั่งที่ออกโดย ศบค.โดยให้ทั้งหมดมีผลตั้งแต่ 30 ก.ย.2565 เป็นต้นไป

ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  ซึ่งมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบยกเลิกประกาศการบังคับใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) รวมถึงการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 19) ลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 และข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่งที่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ใช้อำนาจแห่งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งหมด

จากอำนาจข้างต้นทำให้ศบค.ถูกยุบตามคำสั่งดังกล่าวรวมถึงคำสั่งทั้งหมดที่ออกโดย ศบค. โดยจะมีผลในวันที่ 30 กันยายน 2565 เป็นต้นไป

1. เห็นชอบยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563 และการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 19) ลงวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 รวมทั้งบรรดาข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่ง ที่นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีใช้อำนาจแห่งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งหมด โดยให้มีผลในวันที่ 30 กันยายน 2565 เป็นต้นไป เนื่องจากเหตุของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวได้คลี่คลายลงอย่างมาก โดยหน่วยงานของรัฐทั้งฝ่ายสาธารณสุข ฝ่ายปกครอง และฝ่ายความมั่นคงสามารถนำมาตรการตามกฎหมายเข้าแก้ไขปัญหาได้ตามปกติแล้ว

2. รับทราบแผนปฏิบัติการควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รองรับการเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งเป็นกรอบการดำเนินงานให้แก่จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในห้วงหลังจากการประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง โดยแผนมีรายละเอียดประกอบด้วย สถานการณ์ วิสัยทัศน์ เป้าประสงค์ ประเด็นยุทธศาสตร์ จำนวน 4 ประเด็น และกลยุทธ์ รวมถึงกิจกรรมในการดำเนินงาน โดยมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขเสนอแผนฯ ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติตามขั้นตอนต่อไป

3. รับทราบประมวลผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานด้านการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ของศูนย์ปฏิบัติการด้านต่าง ๆ ภายใต้ ศบค. จำนวน 9 ศูนย์ปฏิบัติการ ประกอบด้วย ผลการดำเนินการในห้วงที่ผ่านมารวมถึงปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะ ที่ศูนย์ปฏิบัติการต่าง ๆ ได้รวบรวมเพื่อเป็นข้อมูลในการนำไปปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินการในอนาคต

โดยรองนายกรัฐมนตรีได้กล่าวย้ำ ขอบคุณศูนย์ปฏิบัติการต่าง ๆ ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ทุกคนต่างปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็งตลอดมา และการตัดสินใจแก้ปัญหาเป็นเรื่องยาก ที่ต้องพิจารณาโดยรักษาความสมดุลระหว่างผลกระทบด้านสาธารณสุขกับผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ซึ่ง ศบค.ได้ดำเนินการอย่างประสบผลด้วยดีตลอดมา

4. รับทราบแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยว และการสร้างความเชื่อมั่นในระยะต่อไป โดยมอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา วางแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยว โดยประสานความร่วมมือกับส่วนราชการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวโดยด่วน โดยเฉพาะในช่วงก่อนเทศกาลปีใหม่ ทั้งนี้ หลังสถานการณ์โควิด-19 และการปรับตัวสู่ชีวิตวิถีใหม่ (New normal) อาจถือเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานว่าเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ระดับโลกและในประเทศไทยเริ่มเบาลงผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงผู้เสียชีวิตลดลงอีกทั้งกระทรวงสาธารณสุขได้มีการปรับให้โควิด-19 จากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง และได้มีการจัดทำกรอบนโยบายและแนวปฏิบัติของภาครัฐภาคเอกชนประชาชนเพื่อรับสถานการณ์ที่โควิด-19 เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง

“หมายความว่าเราไม่ได้ขยายระยะเวลาอีกแล้วศบค.จะสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายนเป็นต้นไป” นพ.ทวีศิลป์กล่าว

นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า “ศปก.ศบค.ขอขอบพระคุณพี่น้องประชาชน ผู้ประกอบการภาคเอกชนร่วมใจร่วมมือกันทำงาน และภาครัฐทุกภาคส่วนก็ทำงานอย่างเข้มแข็ง ทำให้เราผ่านพ้นสถานการณ์ที่มีความยุ่งยากซับซ้อนระดับโลก และได้รับคำชื่นชมระดับโลก”

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “เรื่องการเปลี่ยนผ่านไปสู่โรคเฝ้าระบาดทางศบค.ชุดใหญ่ได้วางแผนมาและทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่เกิดขึ้น วันนี้พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้กล่าวขอบคุณทุกอย่างที่เกิดขึ้นและขอให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ดำเนินการเรื่องต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมให้เกิดความเรียบร้อยต่อไป”