เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมานายแจ็ค หม่า ประธานกรรมการบริหาร อาลีบาบากรุ๊ป ได้เดินทางมายังประเทศไทย เพื่อลงนามความร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการพัฒนาด้านการลงทุนและเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งการลงทุนดังกล่าวของอาลีบาบามีมูลค่ากว่า 11,000 ล้านบาท ในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี)
ไม่เพียงแต่อาลีบาบากันเงินลงทุนหมื่นล้าน แต่ยังมีอีกหลายบริษัท หลากอุตสาหกรรม ทั้งแอร์บัส ผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ที่เข้ามาร่วมมือกับการบินไทยในการพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยาน หรือบีเอ็มดับเบิลยู และเมอร์เซเดส-เบนซ์ ที่เข้ามาลงทุนตั้งโรงงานแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า หรือบริษัทฟูจิฟิล์ม ที่จะเข้ามาลงทุนรองรับสังคมผู้สูงอายุ ในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ และการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อดูแลผู้สูงอายุ
ทั้งนี้รัฐบาลวาดหวังให้พื้นที่อีอีซีเป็นแหล่งพลิกฟื้นเศรษฐกิจ และเป็นฐานเทคโนโลยีใหม่ของประเทศ เกิดการพัฒนาคนและความรู้ให้ก้าวทันโลกอนาคต โดยคาดการณ์ว่าการลงทุนในอีอีซีจะทำให้รายได้ประชาชาติขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ต่อปี แต่ผลสำรวจจากนิด้าโพลนั้นกลับพบว่า คนไทยกว่าร้อยละ 50 ไม่รู้จัก “อีอีซี”
ทำความรู้จักอีอีซีกันอีกครั้ง

แจ็ค หม่า อาจทำให้คนไทยรู้จักอีอีซีได้มากขึ้น แต่การลงทุนของแจ็ค หม่า เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือชื่อเล่นๆ ว่า อีอีซี นั้น ตั้งอยู่บนพื้นที่ในเขต 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการนโยบายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
อีอีซีเป็นโครงการที่ต่อยอดจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ Eastern Seaboard เดิม ที่ก่อให้พื้นที่ภาคตะวันออกเป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ ผลักให้จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา มีค่าแรงขั้นต่ำอยู่อันดับต้นๆ ของประเทศเรื่อยมา
ทั้งนี้ ในพื้นที่อีอีซีมีอุตสาหกรรมที่จะได้รับการส่งเสริมทั้งหมด 10+1 อุตสาหกรรม คือ 5 อุตสาหกรรมเดิม (First S-Curve) อันได้แก่
-
1) อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต
2) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
3) อุตสาหกรรมเกษตรเทคโนโลยีชีวภาพ
4) อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร
5) อุตสาหกรรมกลุ่มท่องเที่ยวรายได้ดี และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
และ 5 อุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) ได้แก่
-
1) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์
2) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์
3) อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร
4) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ
5) อุตสาหกรรมดิจิทัล
นอกจากนี้ ยังมีอุตสาหกรรมน้องใหม่ที่เพิ่มเข้ามา คือ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ที่จะอาศัยเทคโนโลยีจากอุตสาหกรรมทั้ง 10 เป็นฐานในการสร้างอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เช่น การผลิตโดรนสำรวจทางทหาร
โดยเชื่อว่าการต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมจะสามารถเพิ่มรายได้ให้ประชากรได้ประมาณร้อยละ 70 จากเป้าหมาย อีกร้อยละ 30 จะมาจากอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมทั้ง 10 +1 นั้น จะตั้งอยู่ใน 5 พื้นที่ 21 เขตส่งเสริมนิคมอุตสาหกรรมเป้าหมาย ครอบคลุมพื้นที่ 86,775 ไร่ เป็นพื้นที่ลงทุน 28,666 ไร่ และสามารถรองรับวงเงินลงทุนได้ 1.314 ล้านบาท ประกอบด้วย
- เขตส่งเสริมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก: เมืองการบินภาคตะวันออก หรือ Special EEC Zone: Eastern Airport City ขนาดพื้นที่ 6,500 ไร่ บริเวณสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา เพื่อยกระดับสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นศูนย์กลางการบิน รองรับผู้โดยสาร 15-35-60 ล้านคน/ปี ในระยะ 5-10-15 ปี ตามลำดับ
- เขตส่งเสริมนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation: EECi) ตั้งอยู่ในบริเวณวังจันทร์วัลเล่ย์ จังหวัดระยอง ขนาด 3,000 ไร่ และบริเวณอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ขนาดพื้นที่ 120 ไร่ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมและชุมชนด้วยการพัฒนาวิจัยและนวัตกรรม
- เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Park Thailand: EECd) บริเวณอำเภอศรีราชา จังหวัด ชลบุรี ขนาดพื้นที่ 709 ไร่ เพื่อขยายและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเดิมรองรับการเป็น Data Hub ของอาเซียน
- นิคมอุตสาหกรรม Smart Park จังหวัดระยอง พื้นที่ 1,466 ไร่
- นิคมอุตสาหกรรมเหมราช อีสเทิร์นซีบอร์ด แห่งที่ 4 จังหวัดระยอง พื้นที่ 1,900 ไร่
พื้นที่อีอีซีมีแผนปฏิบัติการโครงสร้างพื้นฐานรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก รวม 168 โครงการ วงเงินลงทุน 988,948.1 ล้านบาท โดยมีหลักการมุ่งพัฒนาโลจิสติกส์แบบไร้รอยต่อ (One Seamless Transport) เชื่อมโยงทั้งทางบก น้ำ อากาศ ในพื้นที่ EEC และพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ 2% ของจีดีพี หรือปีละ 200,000 ล้านบาท สามารถลดต้นทุนระยะเวลา อุบัติเหตุ ฯลฯ คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 2.1-3 ล้านล้านบาท โดยแผนปฏิบัติการแบ่งเป็น 3 ระยะ
- ระยะเร่งด่วน ตั้งแต่ปี 2560-2561 จำนวน 99 โครงการ วงเงิน 292,882.63 ล้านบาท ได้แก่ โครงการอู่ตะเภา ระยะที่ 1, โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, โครงการอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3, โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3, โครงการท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3, โครงการมอเตอร์เวย์ พัทยา-มาบตาพุด, โครงการอาคารผู้โดยสาร ท่าเรือจุกเสม็ด, โครงการปรับปรุงโครงข่ายถนนสายรอง
- ระยะกลาง ตั้งแต่ปี 2562-2564 จำนวน 62 โครงการ วงเงิน 414,360.59 ล้านบาท ได้แก่ โครงการรถไฟทางคู่ (แหลงฉบัง-มาบตาพุด-ระยอง-จันทบุรี-ตราด) โครงการก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 ท่าอากาศยานอู่ตะเภา โครงการ Air Cargo อู่ตะเภา ระยะที่ 1 โครงการ Free Trade Zone ท่าอากาศยานอู่ตะเภา โครงการมอเตอร์เวย์ แหลมฉบัง-ปราจีนบุรี โครงการปรับปรุงโครงข่ายถนนสายรอง โครงการเพิ่มโครงข่ายทางเลี่ยงเมือง
- ระยะต่อไปตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป จำนวน 7 โครงการ วงเงิน 252,879.5 ล้านบาท ได้แก่ โครงการรถไฟเชื่อมอีอีซี-ทวาย-กัมพูชา โครงการ ICD ฉะเชิงเทรา โครงการ Air Cargo อู่ตะเภา ระยะที่ 2 โครงการมอเตอร์เวย์ ชลบุรี-อำเภอแกลง และโครงการเพิ่มโครงข่ายถนนรองรับเมืองใหม่
คนเจ็นใหม่ต้องเจออะไรกับอีอีซี
- เมืองใหม่และการท่องเที่ยว
การคาดการณ์ของรัฐบาลในการสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ไปจนถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และทางราง ช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ได้คิดเป็น 2% ของ GDP หรือปีละ 200,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สามารถลดระยะเวลาการเดินทาง และลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน รวมทั้งช่วยเหนี่ยวนําให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชน เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 2.1-3.0 ล้านล้านบาท
สำหรับประชาชนจะสามารถเดินทางจากสัตหีบเข้าสู่กรุงเทพฯ ได้ภายใน 1 ชั่วโมง ทำให้พื้นที่อีอีซีกลายเป็นชานเมืองของกรุงเทพฯ คนมีคุณภาพชีวิตไม่ต่างจากเมืองหลวง
ขณะเดียวกัน คนในพื้นที่เองก็ต้องเตรียมรับมือกับทัพนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติที่จะหลั่งไหลเข้ามามากขึ้น ในอีก 4 ปีข้างหน้าจะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า คิดเป็นจำนวน 46.72 ล้านคน พื้นที่จะมีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 1.8 เท่า คิดเป็น 508,590 ล้านบาท
รัฐบาลได้วาดภาพแผนการท่องเที่ยวในภาคตะวันออกเอาไว้ด้วยความพยายามที่จะเชื่อมโยงเส้นทางจักรยานเข้ากับสนามบินและสวนของเกษตรกร รวมถึงความร่วมมือกับอาลีบาบาในการเชื่อมโยงแผนที่อิเล็กทรอนิกส์บนสมาร์ทโฟนเข้ากับร้านอาหาร ที่พัก และสินค้าอื่นๆ
“เราไม่ได้มองแค่ 3 จังหวัดในอีอีซี แต่เรามองไปถึงจังหวัดข้างเคียงอย่างจันทบุรีและตราด ที่จะสามารถเชื่อมโยงเข้ากับอีอีซีต่อไปได้อีกในอนาคต” ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกกล่าว
อีอีซีอาจพลิกโฉมการศึกษาไทยที่ยึดติดใบปริญญา ให้ความสำคัญกับการเรียนในสายสามัญมากกว่าสายอาชีพ ซึ่ง ดร.คณิศ ตอบปัญหาต่างๆ ในเวที “ไขข้อข้องใจ มองไปข้างหน้า อนาคต EEC” ระบุว่า การศึกษาไทยมีความผิดเพี้ยนไปมาก มีประชากรวัยทำงานถึง 32% ที่ทำงานต่ำกว่าวุฒิ มีคนจบปริญญาตรีแล้วว่างงานประมาณ 30% ขณะที่ภาคธุรกิจในพื้นที่ 3 จังหวัดอีอีซี กลับขาดแคลน “ช่าง” กว่า 50,000 ตำแหน่ง
อาชีวศึกษาจึงเป็นแกนการพัฒนาตอบโจทย์ความต้องการของอีอีซี โดยได้มีการคัดเลือก 12 สถานศึกษาอาชีวะที่มีการจัดการเรียนการสอนที่ตอบโจทย์ S curve ของรัฐและความต้องการของการลงทุนยุคใหม่ มาเป็นแกนในการขับเคลื่อน โดยความร่วมมือจากสำนักงานอีอีซี บีโอไอ และผู้ประกอบการ นักลงทุนในพื้นที่ในการทำ “สัตหีบโมเดล” ผลิตบุคลากรให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน
นอกจากนี้ ในพื้นที่อีอีซียังมีการกำหนดพื้นที่สนับสนุน เช่น เขตเฉพาะที่จะจูงใจให้ต่างชาติเข้ามาตั้งสถาบันการวิจัยและพัฒนา รวมถึงพื้นที่ที่จะสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาด้านดิจิทัล การให้สิทธิประโยชน์กับสถาบันการศึกษาระดับโลกมาเปิดการเรียนการสอนในสาขาวิชาที่เป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรม ไปจนถึงการอำนวยความสะดวกให้กับผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เข้ามาทำงานในอีอีซีได้ง่ายขึ้น นานขึ้น เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้กับคนไทย
ในระยะเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมา ค่าแรงขั้นต่ำของทั้ง 3 จังหวัดอีอีซี เพิ่มขึ้นกว่า 50 บาท รวมทั้งคณะกรรมการค่าจ้างยังเตรียมนำร่องในพื้นที่ 3 จังหวัดนี้ ในการกำหนด “อัตราค่าจ้างลอยตัว” ในอนาคตอีกด้วย ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมซ่อมอากาศยานที่อีอีซีให้การสนับสนุน ก็กำลังจะเปิดตลาดช่างเงินเดือนหลักแสน และขยายโอกาสการทำงานของช่างซ่อมอากาศยานไปในระดับสากล เนื่องจากอุตสาหกรรมการบินมีแนวโน้มที่จะขายตัวอย่างต่อเนื่องไปในอีก 20 ปีข้างหน้า
หลายคนอาจวาดภาพอีอีซีเป็นแหล่งจ้างงานชั้นยอดที่จะรองรับตลาดแรงงานไทยได้อย่างมหาศาล มีค่าแรงราคาสูง แต่สิ่งที่คิดอาจไม่ง่ายเช่นนั้น เนื่องจากอุตสาหกรรมที่จะเข้ามาล้วนเป็นเรื่องของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่ต้องการแรงงานมีฝีมือ (Skilled Labor) และการที่ พ.ร.บ.อีอีซี นั้นจูงใจนักลงทุนด้วยการเปิดให้สามารถนำแรงงานมีฝีมือต่างชาติเข้ามาได้ แม้จะเป็นการสนับสนุนการเรียนรู้งานของคนไทย แต่ตำแหน่งงานก็ลดลงไปด้วยเช่นกัน และไม่เพียงการแก่งแย่งงานกับคน เทคโนโลยีสมัยใหม่เองก็ลดทอนแรงงานมนุษย์ไปมหาศาล
สิ่งเหล่านี้กำลังจะมาลบภาพของ “สาวโรงงาน” ที่ใช้แรงแลกเงิน (Unskilled Labor) ออกไป ซึ่งคนไทยอาจต้องเริ่มตระหนัก ปรับตัว และเปลี่ยนทัศนคติด้านการศึกษาเพื่อรับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น
- สิ่งแวดล้อม
อีอีซีอาจต้องใช้เวลาในการก่อร่างสร้างตัวอีกหลายปีกว่าจะเติบโตเต็มรูปแบบ ซึ่งผลสะท้อนจากโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดเดิมนั้นคือปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลภาวะจากโรงงานอุตสาหกรรม นักสิ่งแวดล้อมต่างเป็นกังวลว่าปัญหาดังกล่าวจะวนเวียนกลับมาอีกครั้งเนื่องจากพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรมครั้งนี้เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพราะพื้นที่ดังกล่าวมีความจำเป็นต้องใช้น้ำทั้งในภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือนไปจนถึงพื้นที่การเกษตร ซึ่งมีความต้องการใช้น้ำกว่า 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร
จากการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรระหว่างวันที่ 5-6 กุมภาพันธ์ 2561 ที่มีการพิจารณาแหล่งน้ำเพื่อรองรับอุตสาหกรรมในอีอีซี ดร.คณิศ ยืนยันว่ามีแหล่งน้ำเพียงพอสำหรับอีอีซีอย่างแน่นอน โดยจะมีการพัฒนาแหล่งน้ำเดิม เพื่อเพิ่มน้ำต้นทุนในระบบให้มากขึ้น และในอนาคตอาจนำเทคโนโลยี “รีไซเคิลน้ำ” มาใช้ร่วมด้วย
ด้านไฟฟ้าที่คาดว่าในปี 2578 พื้นที่อีอีซีจะต้องการใช้ไฟฟ้ากว่า 5,000 เมกะวัตต์ ดร.คณิศ ยังคงยืนยันว่าไทยสามารถปรับตัวและรับมือได้ทัน ปัญหาที่น่ากังวลอยู่ที่คุณภาพของไฟฟ้ามากกว่า ขณะที่ปัญหาขยะที่เป็นปัญหาเรื้อรังมาตั้งแต่ต้นนั้น เพียงว่าจะต้องดำเนินการแยกขยะให้ได้ทั้งระบบ
“เราขีดเส้นใต้แล้วว่าจะไม่รับของใหม่ รัฐบาลได้ประกาศพื้นที่การส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่แล้วเท่านั้น ซึ่งเคยผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมมาแล้ว โดยได้เลือกประกาศส่งเสริมในเขตนิคมอุตสาหกรรมที่มีมาตรฐานดี 21 แห่ง จาก 31 แห่งที่มีอยู่เดิม ซึ่งใน 5 อุตสาหกรรมเป้าหมายเดิมของเรา อย่างพวกยานยนต์ ก็จะมุ่งไปที่ยานยนต์ไฟฟ้า กลุ่มอิเลกทรอนิกส์ก็จะมุ่งไปทางระบบอินเทอร์เน็ต IoT (Internet of Things) ส่วน 5 อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ก็จะมีอย่างอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ดิจิทัล จะเห็นได้ว่าพวกนี้ไม่ใช่ธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่จะไปทำลายสิ่งแวดล้อม ส่วนของเก่าก็มาค่อยๆ แก้ทีละอัน” ดร.คณิศ กล่าว
ความคืบหน้าล่าสุดของ “อีอีซี”
ความคืบหน้าล่าสุดหลังจากเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์ 170 เสียงเห็นชอบให้ร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (พ.ร.บ.อีอีซี) ประกาศใช้เป็นกฎหมาย โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่ผ่านการเห็นชอบจากชอบคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ.) ไปก่อนหน้านั้น ปัจจุบันอยู่ในขั้นของการร่างเงื่อนไขการประมูล (ทีโออาร์) ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดขายซองประมูลได้ในเดือนพฤษภาคมนี้ โดยอีก 2 เรื่องที่จะเร่งดำเนินการตามมาคือ ทีโออาร์สนามบินอู่ตะเภา ซึ่งจะต้องใช้เวลาอีกประมาณ 2-3 เดือน และศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน
ด้าน พล.ร.ต. ลือชัย ศรีเอี่ยมกูล ผู้อำนวยการการท่าอากาศยานอู่ตะเภา เปิดเผยว่า สำหรับโครงการในสนามบินอู่ตะเภาที่จะเกี่ยวข้องกับอีอีซี ประกอบด้วยรันเวย์เส้นที่สอง อาคารเทอร์มินัล ศูนย์ซ่อมอากาศยานขนาด 570 ไร่ คลังสินค้าและลานจอดเฉพาะเครื่องบินสินค้า รวมถึงศูนย์ฝึกบุคลากรด้านการบิน เพื่อตอบสนองการเติบโตของการบินและการซ่อมอากาศยาน โดยความคืบหน้าล่าสุดคือการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาสำรวจออกแบบพื้นที่และข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เป็นแผนแม่บทซึ่งได้มีการลงนามการศึกษาพื้นที่ไปเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2560 ภายในปีนี้แผนงานดังกล่าวจะเสร็จสมบูรณ์ นำไปสู่การออกแบบพิมพ์เขียวของแต่ละโครงการ จากนั้นจะมีการคัดเลือกผู้ร่วมทุนประมาณปลายปี โดยการลงทุนจะเกิดขึ้นปีหน้า และการก่อสร้างจะให้ไปเสร็จพร้อมกันประมาณปี 2565-2566 ตามเป้าหมาย
ขณะที่มอร์เตอร์เวย์สายพัทยา-มาบตาพุด มีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 60% โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการเต็มรูปแบบได้ในปี 2562 ส่วนท่าเรือมาบตาพุตระยะที่ 3 เตรียมพร้อมเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในช่วงกลางปี 2561 ภายใต้งบประมาณ 11,000 ล้านบาท ด้านการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ได้เสร็จสิ้นกระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) แล้ว อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาในการพิจารณาประมาณ 6 เดือน จากนั้นจะนำเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาภายใต้โครงการ EEC Fast Track ประมาณกลางปี 2561 จะเปิดหาผู้ประกอบการภาคเอกชนเข้ามาทำเทอร์มินัลโอเปอเรเตอร์ ซึ่งคาดว่าไม่เกินต้นปี 2562 จะเดินหน้าก่อสร้างได้ ใช้เวลาในการก่อสร้าง 4-5 ปี ไม่เกินปี 2568 ท่าเทียบเรือท่าแรกของท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 จะสามารถเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ
นอกจากนี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้สั่งการในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ.) เมื่อวันที่ 18 เมษายน ที่ผ่านมาในการจัดทำแผนพัฒนาเมืองใหม่ให้ชัดเจนทั้งแผนงาน กฎหมาย ส่วนที่ไปเกี่ยวข้องกับการปกครองส่วนท้องถิ่น และมาตรการส่งเสริมการลงทุนใน 3 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 ซึ่งเป็นเมืองเก่าจะพัฒนาให้ไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ โดยมี พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนที่ 2 เมืองที่จะเป็นพื้นที่รองรับที่อยู่อาศัยของแรงงานต่างชาติ ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ไปพิจารณามาตรการส่งเสริมให้เอกชนลงทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยรองรับในส่วนนี้ และส่วนที่ 3 การพัฒนาเมืองใหม่ที่แท้จริง รองรับอีอีซี และเป็นสมาร์ทซิตี้ในทุกด้าน ทางสำนักงานอีอีซีจะเป็นผู้ดูแล
และในด้านการศึกษา “สัตหีบโมเดล” ที่สนับสนุนการเรียนการสอนอาชีวะ ในปีแรกจะมุ่งพัฒนาการเรียนการสอนให้มีคุณภาพมาตรฐานการผลิตใน 6 สาขาเพื่อผลิตอาชีวะจำนวนราว 2,000 คน และจัดปรับฐานการศึกษาสู่มาตรฐานสากล นอกจากนี้ ในการพัฒนาคนในระดับอุดมศึกษาตามมติรัฐบาลได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 29/2560 เรื่อง การส่งเสริมการจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ เมื่อวันที่ 26 พฤศภาคม 2560 ซึ่งปัจจุบันได้มีการ จัดตั้ง “มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล” ภายใต้การจัดการศึกษาร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ประเทศสหรัฐอเมริกา เเละสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) นอกจากนี้ยังมีมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (National Taiwan University: NTU) อยู่ระหว่างการยื่นเอกสาร โดยสนใจที่จะมาเปิดการเรียนการสอนในพื้นที่เมืองการศึกษาอมตะนคร จ.ชลบุรี