ThaiPublica > เกาะกระแส > คณะกรรมการอีอีซีประกาศเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย 21 แห่ง คาดดึงเงินลงทุน 10 ปี 1.3 ล้านล้านบาท

คณะกรรมการอีอีซีประกาศเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย 21 แห่ง คาดดึงเงินลงทุน 10 ปี 1.3 ล้านล้านบาท

2 กุมภาพันธ์ 2018


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (กลาง) นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561 นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กศน.) หรือคณะกรรมการอีอีซี ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังการประชุม กนศ. ครั้งที่ 4 (1/2561) พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยมีสาระสำคัญดังนี้

คาดกฎหมายอีอีซีผ่าน สนช. กลาง ก.พ.

นายอุตตมกล่าวว่า กนศ. รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงาน ดังนี้ 1) ร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. …. ปัจจุบัน คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ. แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2561 และคาดว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะพิจารณาแล้วเสร็จภายในกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2) รับทราบรายงานผลการขอรับการส่งเสริมการลงทุนใน EEC ในปี 2560 รวมเป็นเงินลงทุน 296,890 ล้านบาท 368 โครงการ (เทียบกับ 199,327 ล้านบาทในปี 2559) โดย 84% ของคำขอลงทุนทั้งหมดในปี 2560 เป็นการส่งเสริมการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย

ด้านนายคณิศกล่าวว่า คาดว่าในปี 2561 ภายหลังจากที่กฎหมายอีอีซีผ่าน สนช. และประกาศใช้จะมีอีกหลายประเทศที่รอคอยหันมาลงทุนเพิ่มเติม ประกอบกับกระบวนการลงทุนในปัจจุบันมีความรวดเร็วมากขึ้นจากเทคโนโลยีออโตเมชัน (automation) ต่างๆ ทำให้ลดเวลาจากเดิมที่เฉลี่ย 1.5 ปี หรือ 18 เดือน เหลือเพียงประมาณ 14 เดือน ซึ่งจากปัจจัยเหล่านี้คาดว่าจะมากกว่า 300,000 ล้านบาทตามเป้าหมายที่วางไว้

อนุมัติมาตรการภาษีตามเขตพื้นที่ – ผูกเงื่อนไขฝึกฝนบุคลากร

นายอุตตมกล่าวว่า กศน. รับทราบว่าคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ EEC เพิ่มเติมให้มีความแตกต่างในแต่ละประเภท แตกต่างจากปี 2560 ที่จะให้สิทธิประโยชน์เท่าเทียมกัน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2561 เป็นต้นไป ได้แก่ 1) เขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษ เช่น เมืองการบินภาคตะวันออก ได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมในการยกเว้นภาษีนิติบุคคล เพิ่มอีก 2 ปี รวมแล้ว 8 ปี และลดหย่อนภาษีนิติบุคคล 50% เพิ่มอีก 5 ปี 2) เขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้รับสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีนิติบุคคล 50% เพิ่มอีก 5 ปี จากเกณฑ์ปกติ และ 3) เขตพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม หรือเขตอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC ได้รับสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีนิติบุคคล 50% เพิ่มอีก 3 ปี จากเกณฑ์ปกติ โดยมีเงื่อนไขเพิ่มเติมว่าใน 2 พื้นที่แรก ต้องฝึกอบรมพนักงาน มากกว่า 10 % ของพนักงานทั้งหมด หรือมากกว่า 50 คน ขณะที่พื้นที่ที่ 3 จะต้องฝึกพนักงานมากกว่า 5% ของพนักงานทั้งหมด หรือมากกว่า 25 คน

นายอุตตมกล่าวว่า กนศ. รับทราบว่าผลการรับฟังความคิดเห็นร่างแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาบุคลากรฯ 2 ครั้งที่ฉะเชิงเทราและชลบุรี สรุปได้ว่าประชาชนในพื้นที่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว นอกจากนี้ สำนักงบประมาณได้ร่วมปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณสำหรับโครงการตามแผนฯ จาก 861 ล้านบาทเหลือ 589 ล้านบาท 15 โครงการ ตามความจำเป็นเร่งด่วนและมีความพร้อมปฏิบัติ

ประกาศเขตส่งเสริมนิคมอุตสาหกรรมเป้าหมายเพิ่มเติมอีก 19 แห่ง

นายคณิศกล่าวว่า กนศ. มีมติเห็นชอบประกาศเขตส่งเสริมเขตส่งเสริมนิคมอุตสาหกรรมเป้าหมายเพิ่มเติม 19 แห่ง ประกอบด้วย จังหวัดระยอง จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ เหมราชระยอง 36, อีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง), เหมราชตะวันออก (มาบตาพุด), เหมราช อีสเทิร์นซีบอร์ด และอมตะซิตี้ มีพื้นที่ประกาศเขตส่งเสริมรวม 40,268 ไร่ และเป็นพื้นที่ที่สามารถรองรับการลงทุน 8,043 ไร่ และคาดว่าจะมีเงินลงทุนได้ 290,113 ล้านบาท

จังหวัดชลบุรี จำนวน 12 แห่ง ได้แก่ อมตะนคร1-2, ปิ่นทอง 1-5, ยามาโตะอินดัสทรีส์, เหมราชชลบุรี 1-2, เหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ดแห่งที่ 2-3 มีพื้นที่ประกาศเขตส่งเสริมรวม 42,300 ไร่ เป็นพื้นที่ที่สามารถรองรับการลงทุน 17,663 ไร่ และคาดว่าจะมีเงินลงทุนได้ 762,092  ล้านบาท

จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ ทีเอฟดี 2 มีพื้นที่ประกาศเขตส่งเสริมรวม 841 ไร่ เป็นพื้นที่ที่สามารถรองรับการลงทุน 660 ไร่ และคาดว่าจะมีเงินลงทุนได้ 51,900  ล้านบาท

ทั้งนี้ การประกาศเขตส่งเสริมนิคมอุตสาหกรรมเป้าหมายครั้งนี้จะครอบคลุมพื้นที่ 83,409 ไร่ เป็นพื้นที่ลงทุน 26,366 ไร่ และคาดว่าจะรองรับวงเงินลงทุนใน 10 ปีข้างหน้าได้ 1.104 ล้านล้านบาท หากรวมกับการอนุมัติเขตส่งเสริมนิคมอุตสาหกรรมเป้าหมายในการประชุมครั้งที่ 3 อีก 2 แห่ง จะครอบคลุมพื้นที่ 86,775 ไร่ เป็นพื้นที่ลงทุน 28,666 ไร่ และสามารถรองรับวงเงินลงทุนได้ 1.314 ล้านบาท

นายคณิศกล่าวว่า พื้นที่ทั้งหมดเป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเดิมอยู่แล้ว โดยเป็นพื้นที่ที่ยังเหลืออยู่ ดังนั้น การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายในอีอีซีจึงไม่จำเป็นต้องนำที่ดินอื่นๆ นอกเขตนิคมอุตสาหกรรมมาประกอบอุตสาหกรรมและไม่กระทบกับความเป็นอยู่ของประชาชนเพิ่มเติม

อนุมัติคุณสมบัติสมบัติต่างชาติเข้าอุตสาหกรรมอากาศยาน

นายคณิศกล่าวว่า กนศ. เห็นชอบเงื่อนไขคุณสมบัติของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอากาศยานที่เป็นนิติบุคคลที่มีผู้มีสัญชาติไทยน้อยกว่า 51% ทั้งนี้ เพื่อประสิทธิภาพในการดำเนินการและสนับสนุนการสร้างคลัสเตอร์อุตสาหกรรมอากาศยานให้เกิดขึ้นในอีอีซี ดังนี้

คุณสมบัติ

  • ต้องเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย
  • มีสำนักงานตั้งอยู่ในราชอาณาจักรไทย
  • มีสถานประกอบการตั้งอยู่ในเขตส่งเสริมของพื้นที่ EEC
  • มีวัตถุประสงค์เพื่อการผลิตอากาศยาน หรือส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน หรือหน่วยซ่อมอากาศยาน
  • ได้รับหรือมีสิทธิในใบรับรองแบบอากาศยาน หรือส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานที่ประสงค์จะผลิต (เฉพาะกรณีที่จะผลิต)
  • มีขีดความสามารถที่จะผลิตอากาศยาน ส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน ตามใบรับรองแบบหรือมีขีดความสามารถในการซ่อมบำรุงอากาศยาน
  • มีการควบคุมคุณภาพการผลิต หรือการซ่อม
  • ทั้งนี้ การดำเนินการต่อไปจะต้องจัดตั้งให้มีคณะทำงานพิจารณาความเหมาะสมด้านเทคโนโลยีมาพิจารณาเงื่อนไขในการพิจารณา 2 เรื่อง 1) ระดับเทคโนโลยีสำคัญที่ต้องการในการพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยานของไทย และ 2) แผนในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการพัฒนาบุคลากรไทย

    แผนปฏิบัติการ “โครงสร้างพื้นฐาน” 1.1 ล้านล้านบาท 168 โครงการ

    นายอุตตมกล่าวว่า กนศ. เห็นชอบแผนปฏิบัติการโครงสร้างพื้นฐานรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก รวมทั้งสิ้น 168 โครงการ วงเงินลงทุน 988,948.1 ล้านบาท โดยมีหลักการมุ่งพัฒนาโลจิสติกส์แบบไร้รอยต่อ (One Seamless Transport) เชื่อมโยงทั้งทางบก น้ำ อากาศ ในพื้นที่ EEC และพื้นที่ใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของการขนส่งโดยการแก้ไขปัญหาคอขวดและเชื่อมโยงโครงข่ายให้สมบูรณ์ ส่งเสริมการคมนาคมทางรางและน้ำ เพิ่มความปลอดภัยของการเดินทางและขนส่งทุกรูปแบบ และยกระดับคุณภาพการให้บริการของการเดินทางของนักลงทุนและนักท่องเที่ยว

    ทั้งนี้ แผนปฏิบัติการแบ่งเป็น 3 ระยะ ระยะเร่งด่วนตั้งแต่ปี 2560-2561 จำนวน 99 โครงการ วงเงิน 292,882.63 ล้านบาท ได้แก่ โครงการอู่ตะเภาระยะที่ 1 โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 โครงการท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 โครงการมอเตอร์เวย์ พัทยา-มาบตาพุด โครงการอาคารผู้โดยสาร ท่าเรือจุกเสม็ด โครงการปรับปรุงโครงข่ายถนนสายรอง

    ระยะกลางตั้งแต่ปี 2562-2564 จำนวน 62 โครงการ วงเงิน 414,360.59 ล้านบาท ได้แก่ โครงการรถไฟทางคู่ (แหลงฉบัง-มาบตาพุด-ระยอง-จันทบุรี-ตราด) โครงการก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 ท่าอากาศยานอู่ตะเภา โครงการ Air Cargo อู่ตะเภา ระยะที่ 1 โครงการ Free Trade Zone ท่าอากาศยานอู่ตะเภา โครงการมอเตอร์เวย์ แหลมฉบัง-ปราจีนบุรี โครงการปรับปรุงโครงข่ายถนนสายรอง โครงการเพิ่มโครงข่ายทางเลี่ยงเมือง

    ระยะต่อไปตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป จำนวน 7 โครงการ วงเงิน 252,879.5 ล้านบาท ได้แก่ โครงการรถไฟเชื่อมอีอีซี-ทวาย-กัมพูชา โครงการ ICD ฉะเชิงเทรา โครงการ Air Cargo อู่ตะเภา ระยะที่ 2 โครงการมอเตอร์เวย์ ชลบุรี-อำเภอแกลง และโครงการเพิ่มโครงข่ายถนนรองรับเมืองใหม่

    ทั้งนี้ หากแบ่งแผนงานตามประเภทของการเดินทาง พบว่ามีโครงการขนส่งทางถนน 90 โครงการ วงเงินคิดเป็น 21.7% ของวงเงินรวม, โครงการขนส่งทางราง 9 โครงการ วงเงินคิดเป็น 40.32%, โครงการขนส่งทางน้ำ 19 โครงการ วงเงินคิดเป็น 16.24%, โครงการขนส่งทางอากาศ 20 โครงการ วงเงินคิดเป็น 17.56%, โครงการระบบไฟฟ้า 12 โครงการ วงเงินคิดเป็น 4.9% และโครงการระบบประปา 18 โครงการ วงเงินคิดเป็น 0.08% ขณะที่แหล่งเงินส่วนใหญ่จะมาจากการร่วมลงทุนกับเอกชน 59%, งบประมาณภาครัฐ 30% เงินของรัฐวิสาหกิจ 10% และกองทุนหมุนเวียน 1%

    อนึ่ง ผลที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการ ได้แก่ ลดต้นทุนโลจิสติกส์ 2% ของจีดีพี หรือปีละ 200,000 ล้านบาท, สามารถลดต้นทุนระยะเวลา อุบัติเหตุ ฯลฯ คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 2.1-3 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ ลดความอัดแอของกรุงเทพฯ ในอนาคต โดยประชาชนสามารถเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ และ EEC เข้าสู่กรุงเทพฯ ใน 1 ชั่วโมงด้วยรถไฟความเร็วสูง และมีสนามบินอู่ตะเภาเป็นเสมือนสนามบินหลักแห่งที่ 3 ของกรุงเทพฯ ช่วยผ่อนคลายความคับคั่งของสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ

    อนุมัติแผนท่องเที่ยว 53 โครงการ -จ่อผุด S-Curve ที่ 11

    กนศ. เห็นชอบแผนปฏิบัติการการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ประกอบด้วย 53 โครงการ 4 แผนงาน ได้แก่ แผนงานการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว แผนงานการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก แผนงานการพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยว และแผนงานการสร้างความเชื่อมั่นด้านภาพลักษณ์และความปลอดภัย ในกรอบวงเงิน 31,028.22 ล้านบาท แบ่งเป็นแผนระยะสั้น 13,799.4 ล้านบาท โดยเน้นหนักไปที่แผนงานแรก, แผนระยะกลาง 17,228.82 ล้านบาท เน้นไปที่แผนงานที่ 2 และแแผนระยะต่อไป 225 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายใน 4 ปีจะมีนักท่องเที่ยวใน EEC เพิ่มขึ้นเป็น 46.7 ล้านคนจาก 29.8 ล้านคนในปัจจุบัน และมีรายได้มากกว่า 508,590 ล้านบาท จากเดิมที่มีเพียง 285,572 ล้านบาท

    นายอุตตมกล่าวว่า ที่ประชุมได้หารือถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ให้เป็ฯ S-Curve ที่ 11 ของประเทศไทยว่ายังอยู่ในช่วงหารือตามแนวคิดของนายกรัฐมนตรี โดยในวันนี้ได้มีการนำกรอบแนวคิดมาเสนอที่ประชุม แต่หลายเรื่องยังไม่นิ่ง จึงรับทราบและให้ไปสรุปแนวทางที่แน่ชัดต่อไปก่อนนำกลับมาเสนอใหม่อีกครั้ง