ThaiPublica > เกาะกระแส > “อาลีบาบา” จับมือรัฐบาลไทยลงทุนดิจิทัลฮับ – ชี้มีวิสัยทัศน์ “ยกระดับ-สร้างโอกาส” ธุรกิจเอสเอ็มอีร่วมกัน

“อาลีบาบา” จับมือรัฐบาลไทยลงทุนดิจิทัลฮับ – ชี้มีวิสัยทัศน์ “ยกระดับ-สร้างโอกาส” ธุรกิจเอสเอ็มอีร่วมกัน

19 เมษายน 2018


เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2561 ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายแจ็ค หม่า ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้งกลุ่มอาลีบาบา ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจภายใต้กรอบความร่วมมือ Smart Digital Hub and Digital Transformation Strategic Partnership

เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2561 ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายแจ็ค หม่า ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้งกลุ่มอาลีบาบา ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจภายใต้กรอบความร่วมมือ Smart Digital Hub and Digital Transformation Strategic Partnership จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่

1) ความร่วมมือในด้านการค้าการลงทุนและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ระหว่างสำนักงาน EEC และ Alibaba.com Singapore e-Commerce Private Limited

2) ความร่วมมือด้านการลงทุน Smart Digital Hub ในพื้นที่ EEC ระหว่างสำนักงาน EEC กรมศุลกากร และบริษัท Cainiao Smart Logistics Network Hong Kong Limited

3) ความร่วมมือด้านการพัฒนา SMEs และบุคลากรด้านดิจิทัลระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และ Alibaba Business School

4) ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวผ่านดิจิทัลและการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง ระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และบริษัท Zhejiang Fliggy Network Technology Company Limited เช่น การแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวเมืองรองและสินค้าชุมชน

นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือในโครงการต่างๆ ที่จะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัลและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของไทยอีก 4 ด้าน ได้แก่

1) โครงการลงทุนสร้างศูนย์ Smart Digital Hub ในพื้นที่ EEC โดยศูนย์นี้จะอาศัยเทคโนโลยีระดับโลกของอาลีบาบาในด้านการประมวลข้อมูลโลจิสติกส์เพื่อสร้างความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงสุดในการขนส่งสินค้าระหว่างไทยกับจีน การขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนสู่ประเทศเพื่อนบ้าน (CLMV) และการส่งสินค้าไปยังที่อื่นทั่วโลก นอกจากนี้ ยังได้มีการประสานกับกรมศุลกากรในการยกระดับพิธีการทางศุลกากรให้เป็นระบบดิจิทัลด้วย ซึ่งการตั้งศูนย์ Smart Digital Hub นี้จะช่วยผลักดันให้เหล่าธุรกิจ Startup และ SME ไทยสามารถพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ โดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลให้เข้าถึงตลาดทั่วโลกได้ รวมถึงจะเป็นศูนย์กลางการในการดำเนินกิจกรรมวิจัยพัฒนาดิจิทัลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสำนักงาน EEC จะเชื่อมประสาน Smart Digital Hub กับ เขตนวัตกรรมดิจิทัล หรือดิจิทัลพาร์ค (EECd) และเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) ด้วย

2) โครงการความร่วมมือด้านการพัฒนาบุคลากรในด้านดิจิทัลและการส่งเสริมธุรกิจผ่าน e-Commerce ซึ่งอาลีบาบาจะร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ในการพัฒนากลุ่มคนเก่งหรือดาวเด่นด้านดิจิทัล (Digital Talent) โดยอาลีบาบาได้เสนอให้วิทยาลัยธุรกิจอาลีบาบา หรือ Alibaba Business School (ABS) มาร่วมสนับสนุนการใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ โดยจะเชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษาและภาคเอกชน ทั้งนี้ ภายใต้โครงการนี้ อาลีบาบาจะเปิดโอกาสให้นักศึกษา นักวิจัย อาจารย์ รวมถึงผู้ประกอบการไทย ไปร่วมเข้าโครงการฝึกอบรมพัฒนาในด้านดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซให้มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง รวมทั้งสร้างเครือข่าย (Networking) กับดาวเด่นหรือ Talents ทั่วโลกที่ประเทศจีนอีกด้วย

3) โครงการร่วมส่งเสริมพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลอีคอมเมิร์ซสำหรับผู้ประกอบการ SME และ Startup ของไทย เพื่อยกระดับขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเน้นให้ผู้ประกอบการมีความเข้าใจ ได้เรียนรู้และเสริมทักษะการใช้เทคโนโลยีไทยให้สามารถเข้าถึง Regional Global Value Chain โดยอาลีบาบาจะจัดทีมงานร่วมลงพื้นที่กับทีมงานของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยใช้เครือข่าย ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 สู่อนาคต (Industry Transformation Center: ITC) ในระดับภาคและจังหวัดของกระทรวงอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้สามารถพัฒนาและเข้าถึงผู้ประกอบการ SME และผู้ประกอบการ Startup ระดับชุมชนทั่วประเทศ

​4) อาลีบาบา จะร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในการจัดทำ Thailand Tourism Platform สำหรับประเทศไทยโดยเฉพาะเพื่อจัดกิจกรรมด้านการตลาดร่วมกันบนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่สามารถเชื่อมโยงกับสื่อและช่องทางต่างๆ ของ ททท. รวมทั้งจะร่วมมือกันในด้านการใช้ข้อมูลทางการท่องเที่ยว (Tourism Big Data) เพื่อเจาะลูกค้ากลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนร่วมมือกันส่งเสริมการท่องเที่ยวในไทยให้รองรับกับยุทธศาสตร์และแนวทางการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเมืองรองและการท่องเที่ยวในระดับชุมชนของรัฐบาล

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี

“สมคิด” ชี้อาลีบาบามาถูกเวลา

ดร.สมคิดกล่าวว่า อาลีบาบาได้ทำการศึกษาข้อมูลเปรียบเทียบในระดับภูมิภาคและตัดสินใจที่จะลงทุนสร้างดิจิทัลฮับ (Smart Digital Hub) ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี เนื่องจากมีความเชื่อมั่นในนโยบายประเทศไทย 4.0 และอนาคตที่สดใสของเศรษฐกิจไทย โดยดิจิทัลฮับที่จะสร้างขึ้นนี้ นับเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยเชื่อมโยง SMEs ไทยในทุกระดับ ทุกท้องถิ่น รวมถึงกลุ่ม OTOP และกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศ ให้สามารถเข้าถึงตลาดจีนและตลาดโลก ความร่วมมือกับอาลีบาบาที่เกิดขึ้นในวันนี้ เป็นความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ที่จะเป็นประโยชน์ต่อ SMEs และเกษตรกรของไทย ซึ่งจะขยายไปยังอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมอื่นๆ ในขณะเดียวกันยังจะเป็นแรงเสริมขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยด้วย

“ย้อนกลับไปช่วงที่ไปโรดโชว์ที่หางโจวและได้หารือกับท่านประธานแจ็ค หม่า เกือบ 3 ชั่วโมง วันนั้นเราแลกเปลี่ยความเห็นกันหลายอย่าง ก็มีจุดหนึ่งที่ท่านแสดงแผนที่ให้ดูปักหมุดหมูบ้านต่างๆ ซึ่งอาลีบาบามีส่วนร่วมช่วยเหลือรัฐบาลจีน ใช้อินเทอร์เน็ต ใช้ความรู้ของอาลีบาบาไปช่วยยกระดับความสามารถทางดิจิทัลให้แก่หมู่บ้านในต่างจังหวัดยากจน ให้พวกเขาสามารถใช้ออนไลน์ พัฒนาสินค้าและบริการ และเอาสินค้าที่เดิมไม่รู้จะขายใครสามารถขายไปต่างประเทศได้ ผ่านระบบออนไลน์ที่อาลีบาบาช่วยเกื้อกูลสิ่งเหล่านี้ ผมเห็นแผนที่นั้น ผมเลยบอกว่ารัฐบาลไทยต้องการสิ่งเหล่านี้อย่างยิ่ง คนไทยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรยากจน ทุกปีสินค้าออกมาล้นตลาดไม่รู้จะไปขายที่ไหน แต่ถ้ามีตลาดโลกรองรับ สิ่งเหล่านี้จะช่วยเกษตรกรมหาศาล มีรายได้มากขึ้น มีชีวิตที่ดีขึ้น ผมเชื่อว่าเขาต้องการเปลี่ยนแปลงก็อยู่ที่ว่าจะช่วยเขาอย่างไร ล่าสุดเพียง 2 วันที่อาลีบาบาให้ความร่วมมือกับไทยและได้ลองให้สั่งทุเรียนจากไทย มีคำสั่งเข้ามา 60,000 รายการ แล้วเราไม่ได้มีทุเรียนอย่างเดียว เรามีสารพัดอย่างเลย สิ่งเหล่านี้ชี้ชัดว่าถ้าเรามีความร่วมมือแบบนี้อย่างดี คนที่ห่างไกลจะมีโอกาสจะมีชีวิตที่ดีขึ้นแน่นอน สิ่งนี้แหละคือสิ่งที่รอคอยมาปีกว่า” ดร.สมคิดกล่าว

ดร.สมคิดกล่าวต่อว่า อาลีบาบามาถูกเวลาอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว ทำให้การปฏิรูปเป็นไปได้เพราะประชาชนเริ่มมีเงินในกระเป๋า, มาในจังหวะที่ไทยกำลังเร่งเปลี่ยนผ่านธุรกิจเอสเอ็มอีของไทยให้ไปสู่ยุคดิจิทัลจากเทคโนโลยีในปัจจุบัน, มาในจังหวะที่กำลังปฏิรูปเกษตรกรให้ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ และพร้อมเข้าไปขายในตลาดโลก ซึ่งสอดคล้องกับโครงการของอาลีบาบาที่เคยทำกับรัฐบาลจีน เป็นต้น

นายแจ็ค หม่า ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้งกลุ่มอาลีบาบา

“อาลีบาบา” เชื่อสิ่งที่ทำส่งเสริมโอกาสเอสเอ็มอี ไม่ใช่ผูกขาด

ด้านนายแจ็ค หม่า กล่าวว่า จีนกำลังก้าวขึ้นสู่การเป็นตลาดผู้บริโภคที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ด้วยการขยายตัวของกำลังซื้อของคนชั้นกลางที่มีจำนวนมากกว่า 300 ล้านคนในปัจจุบัน ประกอบกับนโยบายเปิดการค้าเสรีของจีน คงไม่มีเวลาที่ดีกว่านี้อีกแล้ว ที่ประเทศต่างๆ จะใช้โอกาสนี้ในการส่งสินค้าไปยังตลาดจีน ที่สำคัญคือผลิตผลทางการเกษตรของไทย ไม่ว่าจะเป็นข้าวหอมมะลิ ทุเรียน หรือผลไม้ต่างๆ ล้วนเป็นสินค้าที่ชาวจีนชื่นชอบ ไทยมีจุดแข็งในเรื่องผู้คนและวัฒนธรรมของไทย ประกอบกับนโยบายประเทศไทย 4.0 ทำให้เรามั่นใจในอนาคตและศักยภาพการเติบโตของไทย ทั้งนี้ กลุ่มอาลีบาบายืนยันที่จะเป็นพันธมิตรในระยะยาวกับประเทศไทยในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่โลกดิจิทัล

“สิ่งที่อาลีบาบาจะทำในไทยคือภารกิจที่จะช่วยธุรกิจขนาดเล็ก เกษตรกร เด็กรุ่นใหม่ สิ่งสำคัญที่อาลีบาบาให้ความสำคัญคือวิสัยทัศน์ต่ออนาคตที่เหมือนกันและความกล้าที่จะเปลี่ยนของรัฐบาลที่จะมีนโยบายส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดย่อมและคนรุ่นใหม่ให้เติบโต รวมทั้งมีคำมั่นระยะยาวของรัฐบาลที่จะบรรลุเป้าหมายนั้น ไม่ใช่กับอาลีบาบา ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นและเงินก็ซื้อไม่ได้ อาลีบาบาจึงมองหาประเทศที่เชื่อในอนาคต เชื่อในเทคโนโลยี เชื่อในการค้าเสรี อีคอมเมิร์ซ ธุรกิจขนาดเล็ก คนรุ่นใหม่ ซึ่งเราตื่นเต้นกับโยบาย 4.0 ของรัฐบาล  ตื่นเต้นกับนโยบายอีอีซี มันเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นที่จะได้เห็นว่ากำลังจะมี Digital Hub พวกนี้คือสิ่งที่เราเชื่อ”

ขณะที่ความกังวลว่าอาลีบาบาจะเข้ามาผูกขาดธุรกิจ นายแจ็ค หม่า กล่าวว่า ตนและบริษัทเชื่อในการค้าเสรีและพร้อมจะสนับสนุนให้มีนโยบายการค้าที่ดีขึ้น มีกิจกรรมที่มากขึ้น และให้มั่นใจว่าการค้าจะมีความทั่วถึงมากขึ้น นั่นคือวิสัยทัศน์ของอาลีบาบาที่จะทำให้โลกเข้าถึงกันและกันมากขึ้น ยั่งยืนมากขึ้น และสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนา ธุรกิจขนาดเล็ก และคนรุ่นใหม่ๆ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย เพราะถ้าธุรกิจขนาดเล็กเติบโตได้อาศัยเทคโนโลยี อาลีบาบาก็เติบโตไปได้ด้วย

“แต่ไม่ว่าคุณจะทำอะไรในโลก คนก็จะสงสัยและวิจารณ์ ตราบใดที่คุณยังทำธุรกิจ ไม่ว่าจะคุณตั้งใจจะทำมันแค่ไหน คนก็ยังวิจารณ์ สิ่งสำคัญขอให้รู้ว่าแจ็ค หม่าและทีมของเขา ไม่สนใจเรื่องพวกนี้ เราสนใจในที่เราเชื่อว่าโลกควรจะเป็นอย่างไร เราอยากจะแบ่งปัน เราอยากจะสร้างโลกไปด้วยกัน เพราะท้ายที่สุดผมก็จะเกษียณ ป่วย แก่ และก็ตาย แต่ทุกคนควรจะมาที่โลกนี้ไม่ใช่มาทำงาน แต่มาทำอะไรบางอย่าง หาความสุขและทำให้คนอื่นมีความสุข ดังนั้น อาลีบาบาจะไม่ผูกขาดสิ่งเหล่านี้ ณ เวลาแบบนี้ ลืมเรื่องผูกขาดไปได้แล้ว มันแทบเป็นไปไม่ได้ในโลกสมัยนี้  เรารู้ว่าเราคือใคร อะไรที่เราต้องการ และเราจะสนับสนุนการค้า การเข้าถึงการค้าเสรี และโลกาภิวัตน์”

นายแจ็ค หม่า ร่วมแถลงข่าวหลังการลงนาม MOU

ย้อนรอยเจรจา “อาลีบาบา”  1 ปี 6 เดือน

อนึ่ง การมาเยือนของนายแจ็ค หม่า และจุดเริ่มต้นความร่วมมือของอาลีบาบาและรัฐบาลไทย ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่การประชุมจี 20 ณ ประเทศจีน ในเดือนกันยายน ปี 2559 ซึ่ง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายแจ็ค หม่า ได้หารือกันถึงความเป็นไปได้ของการร่วมมือ ต่อมาวันที่ 11 ตุลาคม 2559 นายแจ็ค หม่า มาเยือนไทยและขึ้นปาฐกถา ณ กระทรวงการต่างประเทศ  ในหัวข้อ “Talk by Mr. Jack Ma on Global Trade Revolution:  Building a New e-Trade Platform for SMEs”

หลังจากนั้น วันที่ 9-11 ธันวาคม 2559 ในขณะเดินสายชักชวนนักลงทุน ณ เมืองหางโจว ประเทศจีน ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ โดยได้ลงนามบันทึกความตั้งใจร่วมกับนายแจ็ค หม่า 4 ประเด็น ได้แก่

  1. ฝึกอบรมเหล่าผู้ประกอบการ SME ทางด้านอีคอมเมิร์ซให้ได้ถึง 30,000 ราย โดย Lazada Group ซึ่งเป็นของ Alibaba จะมารับบทบาทนี้เป็นหลัก และจะเข้ามาร่วมแชร์ประสบการณ์เพื่อให้รัฐบาลไทยสามารถสร้าง National e-Commerce Platform ได้สำเร็จด้วย
  2. ทำโครงการพัฒนาบุคลากร People and Talent Development Programme เพื่อฝึกอบรมบุคลากรราว 10,000 คนให้มีทักษะทางเทคโนโลยีมากขึ้น
  3. Alibaba และ Lazada จะร่วมแบ่งปันประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการทำ Supply Chain และ Logistics ให้กับไปรษณีย์ไทย
  4. พัฒนาความร่วมมือต่างๆ เพิ่มเติม ภายใต้โครงการ Eastern Economic Corridor Development ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็น Hub ทางด้าน Digital Technology ในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แม้ว่าต่อมาในช่วงต้นปี 2560 จะมีข่าวการลงทุนเขตเสรีดิจิทัล (Digital Free Trade Zone: DFTZ) ของอาลีบาบาในประเทศมาเลเซีย แต่รัฐบาลไทยก็ออกมายืนยันว่าความร่วมมือยังคงมีอยู่ และตลอดปี 2560 ได้มีการหารือในระดับต่างๆ มาอย่างต่อเนื่องจนนำมาสู่การลงนามความร่วมมือในวันนี้