ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

เหตุแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงในพื้นที่ตอนกลางของเมียนมาเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 และอาฟเตอร์ช็อคที่เกิดขึ้นตามมาอีกนับร้อยครั้ง ได้สร้างความเสียหายใหญ่หลวงแก่หลายเมืองของเมียนมา ประเทศใกล้เคียง รวมถึงประเทศไทย
เฉพาะในเมียนมา ยอดผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการหลังเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว 3 สัปดาห์ มีมากกว่า 3,700 ราย สิ่งปลูกสร้าง วัด โบราณสถาน หลายแห่งได้รับความเสียหาย คลิปและภาพการพังทลายของอาคารในเมืองมัณฑะเลย์ ถูกเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวาง
ในประเทศไทย อาคาร 30 ชั้น ของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง พังถล่มลงมาภายในเวลาเพียงไม่กี่วินาที คนงานก่อสร้างเกือบ 100 ชีวิตติดอยู่ภายใต้ซากตึก แม้ใช้เวลานานถึงกว่า 2 สัปดาห์แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถกู้ร่างของคนงานเหล่านี้ออกมาได้ทั้งหมด!
ในลาว แรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวได้กระตุ้นความตื่นตัวแก่ประชาชนลาว หน่วยงานรัฐของลาว ให้ตระหนักเรื่องความมั่นคงของโรงงานผลิตไฟฟ้าและเขื่อนผลิตไฟฟ้า ซึ่งมีมากเกือบ 100 เขื่อนในลาว ตามวิสัยทัศน์ที่ต้องการเป็นแบตเตอรี่ของอาเซียน…
เย็นวันที่ 28 มีนาคม ไม่กี่ชั่วโมงหลังเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในเมียนมา กรมคุ้มครองความปลอดภัยอุตสาหกรรมพลังงานได้ปฏิบัติตามคำแนะนำว่าด้วยความปลอดภัยของเขื่อน ฉบับที่ 1231/พบ. ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2562 โดยทำหนังสือรายงานไปยังรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ เรื่องสภาพของโรงงานและเขื่อนไฟฟ้าหลังเกิดแผ่นดินไหวเมื่อช่วงบ่ายของวันเดียวกัน
เนื้อหาในหนังสือแจ้งว่า กรมคุ้มครองความปลอดภัยอุตสาหกรรมพลังงานได้ประสานงานไปยังโรงงานและเขื่อนผลิตไฟฟ้า ผ่านกลุ่ม chat ใน What’s app “แผนรับมือฉุกเฉิน” และกลุ่ม Dam safety information พบว่าโรงงานและเขื่อนผลิตไฟฟ้า 23 แห่ง ยังคงมีสภาพปกติ ไม่ได้รับผลกระทบจากแรงแผ่นดินไหว กรมคุ้มครองความปลอดภัยอุตสาหกรรมพลังงานจะมีการประสานงานต่อเนื่องกับโครงการผลิตไฟฟ้าทุกแห่ง เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยของเขื่อนและจะมีรายงานเพิ่มเติมต่อไป
สำหรับรายชื่อโรงงานและเขื่อนผลิตไฟฟ้า 23 แห่ง ที่ได้แจ้งข้อมูลว่าไม่ได้รับผลกระทบจากแรงแผ่นดินไหวในหนังสือรายงานฉบับนี้ ประกอบด้วย
เวลา 14.50 น. ของวันที่ 28 มีนาคม หลังเกิดแผ่นดินไหวที่เมียนมาได้ไม่ถึง 2 ชั่วโมง เพจ EDL-Generation Public Company ของบริษัทผลิต-ไฟฟ้าลาว มหาชน(EDL-Gen) เริ่มเผยแพร่ข้อมูลออกมาเป็นระยะ เพื่อสร้างความมั่นใจต่อผู้ลงทุนและประชาชนว่า แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเขื่อนน้ำงึม 1 ซึ่งเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าเก่าแก่ของลาว ที่มีอายุใช้งานมานานถึง 56 ปี
ตามข้อมูลที่ถูกเผยแพร่ในเพจ EDL-Generation Public Company การตรวจสอบสภาพเขื่อนน้ำงึม 1 แบ่งเป็น 2 ระดับ ประกอบด้วย

จากการตรวจสอบและประเมินผล สรุปได้ว่า โครงสร้างภายนอกเขื่อนน้ำงึม 1 ไม่มีรอยแตกหรือรอยแยก ผืนดิน 2 ฟากสันเขื่อน(Left Abutment และ Right Abutment) ยังคงเสถียร ค่าที่ได้จากการวัดด้วยอุปกรณ์ที่ติดตั้งอยู่ภายในตัวเขื่อนยังอยู่ในระดับมาตรฐาน
ทีมงานของ EDL-Gen สามารถยืนยันได้ว่า เขื่อนน้ำงึม 1 ยังคงมีเสถียรภาพและความปลอดภัย
มีการเปิดเผยข้อมูลในตอนท้ายว่า เขื่อนน้ำงึม 1 ถูกออกแบบให้ทนทานต่อแรงสั่นสะเทือนได้สูงสุดถึง 0.22 G ซึ่งสูงกว่าแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวที่เพิ่งเกิดขึ้นที่เมียนมาครั้งนี้หลายเท่า
ทีมงานของ EDL-Gen ซึ่งได้ติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในเมียนมาอย่างใกล้ชิด ได้สอบถามไปยังเขื่อนผลิตไฟฟ้า 10 แห่ง ที่ EDL-Gen เป็นเจ้าของและบริหาร ต่างได้รับการยืนยันว่าทุกเขื่อนไม่ได้รับความเสียหาย หรือได้รับผลกระทบใดๆจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้
…..
10 ปีมานี้ ลาวมีประสบการณ์ต้องเผชิญกับภัยพิบัติร้ายแรงมาแล้วหลายครั้ง ทั้งภัยที่เกิดจากธรรมชาติ และภัยที่เกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์ โดยเฉพาะภัยพิบัติที่เกิดขึ้นกับเขื่อนและโรงงานผลิตไฟฟ้า ที่ได้สร้างความเสียหาย ทั้งกับชีวิต ทรัพย์สิน ภาพพจน์ และเศรษฐกิจของประเทศ
ตัวอย่างภัยพิบัติร้ายแรงที่เกิดกับเขื่อนและโรงงานผลิตไฟฟ้าของลาวในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา
เขื่อนไฟฟ้าเซกะหมาน 3 มีกำลังการผลิต 250 เมกะวัตต์ มูลค่าการลงทุน 311.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีกลุ่มบริษัทโซงด่า(Song Da Corp) จากเวียดนาม เป็นเจ้าของสัมปทาน…

จากนั้นอีก 1 ชั่วโมง น้ำได้เริ่มท่วมบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรเป็นวงกว้าง ทำให้ประชาชนตื่นตระหนกและรีบอพยพออกจากพื้นที่
กระแสน้ำยังไหลลงไปถึงโรงผลิตไฟฟ้าของเขื่อนน้ำเงียบ 2 ที่อยู่ห่างลงไปทางใต้ของเขื่อนน้ำอ้าว สร้างความเสียหายแก่โรงไฟฟ้าดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อการคมนาคมตามเส้นทางหมายเลข D1 จากเมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ ขึ้นมายังเมืองผาไซ แขวงเชียงขวาง รถไม่สามารถสัญจรผ่านได้
อย่างไรก็ตาม ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
เขื่อนน้ำอ้าว มีบริษัทบ่อทองอินเตอร์ กรุ๊ป ของลาว เป็นเจ้าของสัมปทาน เริ่มก่อสร้างในปี 2558 ก่อนเกิดเหตุสันเขื่อนแตก เขื่อนน้ำอ้าวสร้างสำเร็จไปแล้ว 85%…

ถือเป็นกรณีเขื่อนแตกที่สร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินมากที่สุดของลาว!
เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย มีกำลังการผลิตติดตั้ง 410 เมกะวัตต์ มูลค่าการลงทุนกว่า 3.2 หมื่นล้านบาท มีผู้ถือหุ้น 4 ราย ประกอบด้วย SK Engineering Corporation และ Korean Western Company จากเกาหลีใต้ บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง ของไทย และรัฐวิสาหกิจถือหุ้นลาว…
เขื่อนน้ำงึมแก้งควน เป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก 1 เมกะวัตต์ มีบริษัทสมพูก่อสร้าง-ขัวทาง เป็นเจ้าของสัมปทาน เริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบตั้งแต่ปี 2561…
แผ่นดินไหวครั้งแรกเกิดขึ้นในเวลา 04.03 น. ขนาด ความแรง 5.9 ริกเตอร์ จากนั้นมีอาฟเตอร์ช็อคตามมาอีก 19 ครั้ง ครั้งที่แรงที่สุดเกิดขึ้นในเวลา 06.50 น. ความแรง 6.4 ริกเตอร์
เมืองหงสาเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหิน ของบริษัทไฟฟ้าหงสา ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิต 1,878 เมกะวัตต์ สูงสุดของลาวในขณะนั้น จุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหวอยู่ห่างจากตัวโรงไฟฟ้าไปทางทิศใต้ 21 กิโลเมตร
หลังเกิดแผ่นดินไหว โรงไฟฟ้าหงสาได้หยุดเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าชั่วคราวเป็นเวลา 2 วัน ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนของระบบป้องกันความเสียหายจากแรงสั่นสะเทือนของอุปกรณ์หลักในโรงไฟฟ้า มีการสำรวจความเสียหายของโรงไฟฟ้า ระบบสายส่ง เหมืองถ่านหิน เหมืองหินปูน เขื่อนน้ำเลือก และเขื่อนน้ำแก่น แต่ไม่พบความเสียหายของโครงสร้างหลักของสิ่งปลูกสร้างที่จำเป็นในการดำเนินงาน ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ พบเพียงแต่ความเสียหายเกิดขึ้นในส่วนของพื้นผิว กับผนังสิ่งปลูกสร้างบางอาคารที่มีรอยแตกร้าว
บริษัทไฟฟ้าหงสา เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง บริษัทบ้านปู พาวเวอร์ และรัฐวิสาหกิจถือหุ้นลาว วงเงินลงทุนรวม 3,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ…
แขวงไซยะบูลียาวต่อเนื่องขึ้นไปถึงแขวงผ้งสาลีในภาคเหนือสุดของลาว อยู่ในเขตรอยเลื่อนของเปลือกโลกที่ยังคงมีพลังอยู่ 2 รอยเลื่อนด้วยกัน คือ
1.กลุ่มรอยเลื่อนเมืองหงสา เป็นรอยเลื่อนที่วางตัวในแนวจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือลงมาถึงตะวันตกเฉียงใต้ ในรูปแบบการเลื่อนตัวตามแนวระนาบเหลื่อมซ้าย การเคลื่อนตัวของกลุ่มรอยเลื่อนเมืองหงสาส่งผลกระทบต่อพื้นที่ใกล้เคียง โดยในประเทศไทยได้แก่จังหวัดน่าน
2.รอยเลื่อนบ้านศาลา เป็นรอยเลื่อนที่วางตัวในแนวจากทิศเหนือลงมาทางใต้ ยาวประมาณ 50 กิโลเมตร ขนานกับรอยเลื่อนปัวในประเทศไทย
การเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนทั้ง 2 รอยเลื่อนข้างต้น ได้ส่งผลให้เกิดแผ่นดินไหวขึ้นหลายครั้งในลาว โดยเฉพาะในแขวงไซยะบูลี และผ้งสาลี นอกจากแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในเมืองหงสาเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 แล้ว ในวันที่ 20 ธันวาคม 2564 หรืออีก 2 ปีถัดมา ก็เกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.8 ริกเตอร์ ที่ความลึก 10 กิโลเมตร ห่างจากชายแดนไทยทางจังหวัดน่านเพียง 20 กิโลเมตร ซึ่งเป็นผลมาจากการขยับตัวของรอยเลื่อนบ้านศาลา หลายจังหวัดของไทย ในภาคเหนือและภาคอิสาน รับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือน
ก่อนหน้านั้นไม่ถึง 6 เดือน ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2564 แขวงไซยะบูลีก็เพิ่งเกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.8 ริกเตอร์ ที่ความลึกเพียง 1 กิโลเมตร ห่างจากชายแดนไทยที่จังหวัดน่านเพียง 16 กิโลเมตร จากการขยับตัวของกลุ่มรอยเลื่อนเมืองหงสา
จนถึงทุกวันนี้ ในแขวงไซยะบูลี ยังคงมีแผ่นดินไหวความแรงในระดับที่ชาวบ้านสามารถรับรู้ได้ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นระยะๆ
…..
ข้อมูล ณ สิ้นปี 2566 ลาวมีแหล่งผลิตไฟฟ้าขนาด 1 เมกะวัตต์ขึ้นไป 98 แห่ง มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 11,692.14 เมกะวัตต์ สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้า 58,884.27 กิกะวัตต์ชั่วโมง/ปี แบ่งเป็นเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้า 81 แห่ง โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ 12 แห่ง โรงไฟฟ้าชีวมวล 4 แห่ง และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมที่ใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหิน 1 แห่ง
เขื่อนยังคงเป็นแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าของลาว ที่มีสัดส่วนสูงที่สุดถึง 82%
การแตกของสันเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2561 ถือเป็นภัยพิบัติครั้งรุนแรงและสร้างความเสียหายมากที่สุด ที่เกิดขึ้นกับโรงงานผลิตไฟฟ้าของลาว กระตุ้นพรรคประชาชนปฏิวัติลาว รัฐบาลลาว และสภาแห่งชาติ ต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อความปลอดภัยของเขื่อน รวมถึงหามาตรการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่ได้คาดคิดมาก่อนในอนาคต
วันที่ 7 สิงหาคม 2561 หลังสันเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตกประมาณ 2 สัปดาห์ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีของลาวประจำเดือนสิงหาคม มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขภัยพิบัติ ทำหน้าที่ตรวจสอบด้านเทคนิคและคุณภาพการก่อสร้างและพัฒนาเขื่อนต่างๆทั่วประเทศ ทั้งเขื่อนที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และเขื่อนที่สร้างเสร็จแล้ว มีกระทรวงพลังงานและบ่อแร่เป็นเจ้าภาพ ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี่ ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศและจากสาธารณประชาชนจีน หากตรวจพบสิ่งผิดปกติในการออกแบบหรือการก่อสร้าง ต้องให้มีการปรับปรุงแก้ไขโดยทันที
วันที่ 27 มิถุนายน 2562 รัฐบาลลาว โดยกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ ได้ประกาศคำแนะนำ ฉบับที่ 1231/พบ.ว่าด้วยความปลอดภัยของเขื่อน
วันที่ 7 กรกฎาคม 2562 สภาแห่งชาติลาวมีมติรับรองกฏหมายว่าด้วยความปลอดภัยของเขื่อนมีเนื้อหารวม 72 มาตรา ครอบคลุมตั้งแต่ช่วงเริ่มศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ช่วงก่อสร้าง ไปจนถึงช่วงผลิตไฟฟ้า และกำหนดให้ทุกเขื่อนต้องมีแผนป้องกันและแผนรับมือฉุกเฉิน กรณีที่เกิดเหตุร้ายแรงที่ไม่คาดคิดมาก่อน ทั้งเหตุร้ายแรงที่เกิดจากธรรมชาติและน้ำมือของมนุษย์…
การที่เขื่อนและโรงงานผลิตไฟฟ้าของลาวได้เผชิญกับภัยพิบัติร้ายแรงมาแล้วหลายครั้งตลอดช่วง 10 ปีมานี้ ด้านหนึ่งอาจช่วยเสริมสร้างประสบการณ์ให้กับโรงไฟฟ้าเหล่านี้ในการรับมือกับภัยพิบัติใหม่ๆ ช่วยป้องกันไม่ให้มีความเสียหายรุนแรงหรือเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต
แต่ในอีกด้านหนึ่ง ซึ่งยังไม่อาจประมาทได้ นั่นคือ ภัยพิบัติใหม่ๆที่เกิดขึ้นบนโลกในระยะหลังๆ แต่ละครั้ง มักมีความรุนแรง สร้างความเสียหายร้ายแรงมากขึ้น จนไม่อาจนำเพียงประสบการณ์ในอดีต มาใช้รับมือหรือแก้ไขสถานการณ์ได้ทั้งหมด
อุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้าของลาวต้องตื่นตัว เตรียมความพร้อมไว้ตลอดเวลา!