ThaiPublica > สู่อาเซียน > สถานะของ “แบตเตอรี่อาเซียน”!

สถานะของ “แบตเตอรี่อาเซียน”!

25 มีนาคม 2025


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

ทองสะหวัน พมวิหาน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ลาว เดินทางไปเยือนจีนตามคำเชิญของ หวัง อี้ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2568 และร่วมเซ็น MOU ว่าด้วยข้อริเริ่มความร่วมมือด้านความมั่นคงโลก(GSI) ที่มาภาพ : เพจ”ปะกาด”

วันที่ 13 มีนาคม 2568 ทองสะหวัน พมวิหาน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ สปป.ลาว เดินทางไปพบกับหวัง อี้ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่กรุงปักกิ่ง

สำนักข่าว “ปะเทดลาว” สื่อทางการของรัฐบาลลาว รายงานว่า การเดินทางไปจีนของทองสะหวันครั้งนี้ เป็นไปตามคำเชิญอย่างเป็นทางการของหวังอี้ เพื่อขยายผล “แผนแม่บทว่าด้วยการสร้างคู่ร่วมชะตากรรม ลาว-จีน ฉบับใหม่ (2024-2028)” ที่ผู้นำสูงสุดของลาวและจีนได้ร่วมลงนามกันไว้เมื่อปลายปี 2566

รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศลาว-จีน ได้ปรึกษาหารือเรื่องความร่วมมือกันในด้านต่างๆโดยยึดเอาเนื้อหาในแผนแม่บทฉบับนี้เป็นแนวทาง โดยเฉพาะโครงการพัฒนาตามแนวเส้นทางรถไฟลาว-จีน

หลังเสร็จสิ้นการหารือ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศลาว-จีนได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ(MOU) ระหว่างรัฐบาลลาวและจีน ว่าด้วยข้อริเริ่มความร่วมมือด้านความมั่นคงโลก(Global Security Initiative) หรือ GSI

เพจสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศจีน(CMG FM93) ภาคภาษาลาว ซึ่งเป็นสื่อของรัฐบาลจีน รายงานคำกล่าวของหวัง อี้ ที่บอกกับรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศลาว โดยเน้นย้ำว่า จีนยินดีร่วมมือกับลาว ผลักดันระเบียงเศรษฐกิจจีน-ลาว พัฒนาทางรถไฟจีน-ลาว ให้ดีขึ้นและเข้มแข็งกว่าเก่า รวมถึงขยายความร่วมมือในด้าน ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI , เศรษฐกิจดิจิตัล รวมถึงความร่วมมือด้านพลังงาน

การพบกันของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศลาวและจีนครั้งนี้ มีขึ้นท่ามกลางความเคลื่อนไหวที่มีนัยสำคัญต่อความร่วมมือด้านพลังงานของ 2 ประเทศ และเกี่ยวพันกับสถานะการเป็น “แบตเตอรี่อาเซียน” ของลาว ที่ปรากฏขึ้นอย่างต่อเนื่องหลายเหตุการณ์ในเวลาใกล้เคียงกัน นับแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

พิจารณาโดดๆ เหตุการณ์เหล่านี้ แต่ละเรื่องอาจดูไม่เกี่ยวข้องกัน แต่เมื่อไล่เรียงลำดับการปรากฏขึ้นของแต่ละเหตุการณ์แล้ว หลายคนเชื่อว่า ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ!

……

พิธีเปิดการก่อสร้างโครงการเชื่อมต่อสายส่งไฟฟ้า ลาว-จีน ขนาด 500 กิโลโวลต์ ระยะทางยาว 183.5 กิโลเมตร จากเ แขวงอุดมไซ ไปยังสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 ที่มาภาพ : สำนักข่าว”ปะเทดลาว”

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 ได้มีพิธีเปิดการก่อสร้างโครงการเชื่อมต่อสายส่งไฟฟ้า ลาว-จีน ขนาด 500 กิโลโวลต์ ระยะทาง 183.5 กิโลเมตร จากเมืองนาหม้อ แขวงอุดมไซ ไปยังเขตปกครองตนเองชนชาติไต สิบสองปันนา มณฑลยูนนาน

สายส่งไฟฟ้าแรงสูงเส้นนี้ ดำเนินการโดยบริษัทสายส่งไฟฟ้าแห่งชาติลาว(Electricite du Laos Transmission : EDL-T) และบริษัทโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าภาคใต้จีน(China Southern Power Grid : CSG) แบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ช่วง

ช่วงแรกเป็นการสร้างสายส่งไฟฟ้าวงจรเดี่ยวขนาด 500 กิโลโวลต์ระยะทาง 35.5 กิโลเมตร ในลาว จากเมืองนาหม้อไปยังชายแดน ดำเนินการโดย EDL-T ช่วงที่สองสร้างต่อในจีนอีก 148 กิโลเมตร ดำเนินการโดย CSG

นอกจากนี้ ยังมีการสร้างสถานีไฟฟ้าขนาด 500 กิโลโวลต์ และโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าวงจรคู่ ขนาด 230 กิโลโวลต์ เชื่อมจากระบบสายส่งหลักไปยังพื้นที่ต่างๆในภาคเหนือของลาว

โครงการนี้ เป็นการแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าระหว่างลาว-จีน ที่คาดว่าจะสูงถึง 1,500 เมกะวัตต์ โดยแต่ละปีจะมีปริมาณการส่งไฟฟ้า 3 พันล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง คาดว่าจะสร้างเสร็จในปี 2569 ซึ่งเป็นช่วงครบรอบ 65 ปี ที่ลาวและจีนมีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน

พิธีเปิดการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าถูกจัดขึ้นที่โรงแรมแลนด์มาร์ค แม่โขง ริเวอร์ไซด์ นครหลวงเวียงจันทน์ มีสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรี โพไซ ไซยะสอน รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ ฟาง หง เอกอัครราชทูตจีน ประจำลาว และหลิว เว่ย รองผู้อำนวยการใหญ่ CSG ไปร่วมงาน…

บริษัทสายส่งไฟฟ้าแห่งชาติลาว(EDL-T)เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว(EDL) กับบริษัทโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าภาคใต้จีน(CSG) ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 เพื่อเข้ารับสัมปทานจากรัฐบาลลาวในการสร้างโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าแรงสูงตั้งแต่ 230 กิโลโวลต์ขึ้นไปในลาว

โพไซ ไซยะสอน รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ ได้กล่าวไว้ในงานเปิดตัวบริษัทสายส่งไฟฟ้าแห่งชาติลาว ซึ่งจัดที่โรงแรมแลนด์มาร์ค แม่โขง ริเวอร์ไซด์ เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2567 ว่า EDL-T จะช่วยพัฒนาระบบสายส่งไฟฟ้าของลาวให้มีเสถียรภาพในการสนองไฟฟ้าในลาว และเชื่อมโยงโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าระหว่างลาวกับจีน รวมถึงประเทศรอบข้าง

พิธีเปิดตัวบริษัทสายส่งไฟฟ้าแห่งชาติลาว(EDL-T) อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2567 ที่มาภาพ : รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว

รัฐบาลลาวมีความคาดหวังว่า CSG ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าที่ใหญ่เป็นอันดับสองของจีน และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน EDL-T จะนำเอาความรู้ ความชำนาญ และเงินทุนอันจำเป็นในการบริหารการส่งกระแสไฟฟ้าที่ทันสมัย รับประกันไม่ให้เกิดไฟตก จะมีการทำธุรกิจที่มีประสิทธิภาพและมีกำไร…

ต้นเดือนกันยายน 2563 ไม่กี่วันหลังการเซ็นสัญญาร่วมทุนระหว่าง EDL กับ CSG เพื่อก่อตั้ง EDL-T สำนักข่าวรอยเตอร์ส มีรายงานว่า ลาวกำลังเผชิญปัญหาในการจ่ายหนี้สินคืนแก่จีน จนจำเป็นต้องโอนอำนาจบริหารเขื่อนและสายส่งไฟฟ้าให้จีนเพื่อใช้หนี้

รอยเตอร์สอ้างข้อมูลที่สำนักข่าวซินหัวได้เผยแพร่ไว้ในวันที่ 31 สิงหาคม 2563 ว่า EDL ได้เซ็นสัญญาร่วมทุนกับ CSG ตั้งบริษัท EDL-T ขึ้น โดยฝ่ายจีนจะเป็นผู้สร้าง บริหาร รวมถึงจัดการเครือข่ายสายส่งไฟฟ้าที่ผลิตจากเขื่อนในลาวไปขายให้แก่ประเทศอื่นๆในอนาคต

มีการเปิดเผยข้อมูลโครงสร้างการถือหุ้นใน EDL-T ว่า CSG เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ถึง 90% ที่เหลืออีก 10% เป็นการถือโดย EDL

ต่อมาวันที่ 9 กันยายน 2563 EDL ได้ออกแถลงการณ์ปฏิเสธข่าวนี้ รายละเอียดเนื้อหาของแถลงการณ์เขียนว่า

“…ประเด็นข่าวที่ว่าทางการจีนจะยึดระบบสาธารณูปโภคของประเทศลาว โดยเฉพาะเขื่อนไฟฟ้าและสายส่ง ความจริงแล้วคือไม่มีการยึดใดๆจากทางรัฐบาลจีนหรือบริษัทจีน เป็นเพียงความร่วมมือพัฒนาระบบสายส่งแรงสูงร่วมกัน ระหว่างลาวและจีนที่มีมานาน

รัฐบาลลาวและ EDL ยืนยันว่าการควบคุม บริหารจัดการด้านพลังงานไฟฟ้า ยังอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลลาว ไม่ใช่รัฐบาลประเทศอื่น การเข้ามาของบริษัท CSG ที่จริงแล้วเป็นเรื่องที่ทางการจีนส่งรัฐวิสาหกิจของจีนเข้ามาช่วยเหลือรัฐบาลลาว ทั้งในแง่เทคนิค เงินทุน ซึ่งคาดว่าจะมีเงินเข้ามาลงทุนในระบบสายส่งไฟฟ้าของประเทศลาวเป็นจำนวนมาก เพื่อตอบสนองความต้องการไฟฟ้า ที่นับวันเพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากภายในและจากประเทศที่อยู่โดยรอบ

หลายสิบปีมาแล้ว รัฐบาลลาวได้เปิดกว้างการลงทุนของภาคเอกชน โดยให้สัมปทานในแหล่งผลิตไฟฟ้า แต่ปัจจุบันได้เปิดให้สัมปทานสายส่งด้วย แต่ EDL ยังเป็นผู้ควบคุมและสั่งการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า เพื่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ และตอบสนองนโยบายของบรรดาประเทศอาเซียน ในกรอบความร่วมมือด้านพลังงาน ที่ส่งเสริมให้มี Asean Power Grid หรือการเชื่อมโยงโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าระหว่างกัน

รัฐบาลลาวคาดหมายว่า ความร่วมมือระหว่างลาวและจีน จะสร้างโอกาสด้านการตลาดเพิ่มขึ้น โดยการขยายไฟฟ้าเข้าสู่จีนและกลุ่มประเทศ CLMV เพิ่มเติม หากระบบสายส่งไฟฟ้าสามารถเชื่อมโยงกันได้ทั้งหมด

ท้ายสุดแล้ว ภายใต้รูปแบบสัมปทาน ทั้งระบบสายส่งและเขื่อนผลิตไฟฟ้าที่ได้สร้างและเริ่มผลิตไฟฟ้าไปแล้ว ต่อไปในอนาคตจะถูกโอนเป็นทรัพย์สินของรัฐบาลลาวทั้งหมด ตามสัญญา BOT ซึ่งเป็นรูปแบบการลงทุนที่เป็นมาตรฐานสากล และคาดหมายว่า มูลค่าทรัพย์สินที่จะโอนเป็นของรัฐบาลลาวจะมีมูลค่ามหาศาล…”

บริษัทโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าภาคใต้จีน(CSG) ได้เริ่มเชื่อมโยงโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าแรงสูงกับลาวมาตั้งแต่ปี 2553 เมื่อมีการก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าน้ำทา 1 ในแขวงบ่อแก้ว จากโครงการส่งไฟฟ้า 2 ทิศทาง โดยเมื่อเขื่อนน้ำทา 1 สร้างเสร็จและเริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้าได้แล้ว ในฤดูฝนจะมีการส่งไฟฟ้าส่วนเกินที่ผลิตได้จากเขื่อนน้ำทา 1 ผ่านโครงข่ายสายส่งของ CSG ไปยังมณฑลยูนนานของจีน ส่วนในฤดูแล้ง ซึ่งความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคเหนือของลาวมีมากกว่ากำลังการผลิต CSG จะส่งไฟฟ้าผ่านโครงข่ายจากจีนเข้ามาให้กับลาว

ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2562 CSG และ EDL ได้เซ็นสัญญาร่วมทุนจัดตั้งบริษัท Laos-China Power Investment Company ขึ้น เพื่อทำระบบสายส่งไฟฟ้าขนาด 115 กิโลโวลต์ตลอดเส้นทางรถไฟลาว-จีน ที่ยาวกว่า 400 กิโลเมตร เพื่อส่งกระแสไฟฟ้าให้กับทางรถไฟสายนี้…

กลับมายังสถานการณ์ปัจจุบัน

หลังพิธีเปิดการสร้างสายส่งไฟฟ้า ลาว-จีน ขนาด 500 กิโลโวลต์ เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 ผ่านไปได้เพียงสัปดาห์เดียว ในวันที่ 6 มีนาคม สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า บริษัทน้ำอู พาวเวอร์ ได้ยื่นฟ้องรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว(EDL) ที่ศาลสิงคโปร์ ให้ชำระเงินจำนวน 555 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าน้ำอู ที่ EDL ค้างจ่ายแก่บริษัทน้ำอู พาวเวอร์เป็นเวลานานกว่า 5 ปี

บริษัทน้ำอู พาวเวอร์ เป็นบริษัทลูกของ Power Construction Corp of China หรือพาวเวอร์ไชน่า รัฐวิสาหกิจด้านพลังงานไฟฟ้าของจีนที่ได้สัมปทานพัฒนาโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าน้ำอูจากรัฐบาลลาว โดยบริษัทน้ำอู พาวเวอร์ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อบริหารจัดการโครงการนี้

โครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าน้ำอูเป็นการสร้างเขื่อน 7 แห่ง กั้นแม่น้ำอูในลักษณะขั้นบันไดไล่ตามระดับความสูงตลอดแนวลำน้ำที่ยาว 448 กิโลเมตร ตั้งแต่แขวงผ้งสาลีลงมาถึงแขวงหลวงพระบาง กำลังการผลิตของเขื่อนทั้ง 7 แห่ง รวม 1,272 เมกะวัตต์ วงเงินลงทุนรวม 2.73 พันล้านดอลลาร์ การก่อสร้างเริ่มต้นในปี 2555 สร้างเสร็จและเริ่มผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ครบ 7 เขื่อนในปี 2564

ตามข่าวของรอยเตอร์ส EDL ค้างจ่ายค่าดำเนินการแก่บริษัทน้ำอู พาวเวอร์ตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 ถึงเดือนธันวาคม 2567 เป็นเงิน 486.27 ล้านดอลลาร์ บวกกับดอกเบี้ยอีก 65.79 ล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ ในคำฟ้องเดียวกัน บริษัทน้ำอู พาวเวอร์ยังเรียกค่าเสียหายจาก EDL อีก 3.02 ล้านดอลลาร์ โดยให้เหตุผลว่า EDL จ่ายเงินให้บริษัทน้ำอู พาวเวอร์เป็นเงินสกุลกีบเป็นหลัก ซึ่งผิดจากข้อตกลงที่ทำกันไว้ว่า 85% ของเงินที่ EDL ต้องจ่ายให้บริษัทน้ำอู พาวเวอร์ ต้องเป็นเงินดอลลาร์

ข่าวของรอยเตอร์ส ยังอ้างกลับไปถึงข่าวเมื่อปี 2563 ที่สำนักข่าวแห่งนี้เคยเสนอไว้ว่า EDL เผชิญกับภาวะหนี้สินที่เพิ่มสูงขึ้น จนจำต้องยอมยกสิทธิ์การควบคุมโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าให้กับบริษัทโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าภาคใต้จีน(CSG) ซึ่ง EDL ได้ออกแถลงการณ์ปฏิเสธมาครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2563

แถลงการณ์ปฏิเสธข่าวจีนยึดเขื่อนและโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าในลาว ที่ EDL เผยแพร่ออกมาเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2563

แต่สำหรับข่าวที่ EDL ถูกที่บริษัน้ำอู พาวเวอร์ ฟ้องเรียกเงิน 555 ล้านดอลลาร์ครั้งนี้ ไม่มีรายงานในสื่อทางการของรัฐบาลลาว และ EDL เอง ก็ไม่ได้ออกมาปฏิเสธข่าวนี้ เหมือนเมื่อปี 2563

การเงียบและไม่ปฏิเสธข่าว ทำให้คนที่ติดตามเรื่องราวของลาวมานานเชื่อว่า ข่าวการฟ้องร้องที่เกิดขึ้นครั้งนี้ มีน้ำหนัก…

แม้ EDL เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีบทบาทในการผลิตและขายพลังงานไฟฟ้าทั้งในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศ แต่ EDL กลับยังต้องเผชิญกับปัญหาการเงิน โดยมีสาเหตุหลักมาจากภาระหนี้สิน โดยเฉพาะหนี้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ และปัญหาที่หน่วยงานของรัฐหลายแห่ง ค้างจ่ายค่าไฟฟ้าให้กับ EDL เป็นจำวนเงินมหาศาล

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 วันเดียวกับที่มีพิธีเปิดการก่อสร้างโครงการเชื่อมต่อสายส่งไฟฟ้า ลาว-จีน ขนาด 500 กิโลโวลต์ สื่อในลาวได้เผยแพร่หนังสือแจ้งการของกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ เรื่องการปรับปรุงโครงสร้างราคาไฟฟ้าปี 2025-2029

ภาพประกอบข่าว EDL ประกาศขึ้นค่าไฟฟ้าตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2568 จากเพจข่าว”ลาวพัดทะนา”

เนื้อหาในหนังสือแจ้งการฉบับนี้ ระบุว่า รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว(EDL) ได้กำหนดราคาค่าไฟฟ้าใหม่ โดยเริ่มตั้งแต่รอบบิลเดือนมีนาคม 2568 (จากการใช้ไฟในเดือนกุมภาพันธ์ 2568) เป็นต้นไป จนถึงเดือนธันวาคม 2572

ค่าไฟใหม่ แยกประเภทผู้ใช้เป็น 2 กลุ่ม คือ ภาคที่อยู่อาศัย กับภาคไม่ใช่ที่อยู่อาศัย

ภาคที่อยู่อาศัย คิดราคาค่าไฟฟ้าโดยใช้หน่วยเป็นกีบต่อกิโลวัตต์/ชั่วโมง

ภาคไม่ใช่ที่อยู่อาศัย คิดราคาค่าไฟฟ้าเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ โคยใช้หน่วยเป็น เซ็นต์ต่อกิโลวัตต์/ชั่วโมง(USD cent/kWh)

ในหมายเหตุของหนังสือแจ้งการอธิบายว่า เนื่องจากต้นทุนของ EDL เป็นเงินตราต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ จึงจำเป็นต้องกำหนดราคาไฟฟ้าเป็นดอลลาร์สำหรับภาคที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัย โดยการเก็บเงินค่าไฟฟ้าจากกิจการที่มีแหล่งรายได้จากในประเทศเก็บเป็นกีบ ซึ่งห้องว่าการกระทรวงพลังงานและบ่อแร่จะแจ้งอัตราแลกเปลี่ยนตามที่ธนาคารแห่ง สปป.ลาว กำหนดให้กับ EDL ในแต่ละไตรมาส

ส่วนการเก็บเงินค่าไฟฟ้าจากกิจการที่มีรายได้จากการส่งออก ให้เก็บเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ

อัตราค่าไฟฟ้าที่ประกาศใหม่ ไม่ให้นำไปใช้กับโครงการที่ EDL ซื้อไฟจากต่างประเทศโดยตรงมาจ่ายให้

สำหรับลูกค้าหรือผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีสัญญาเฉพาะกับ EDL ให้เปลี่ยนมาใช้อัตราค่าไฟฟ้าตามหนังสือแจ้งการฉบับนี้

แต่ที่น่าตกใจ และเรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากชุมชนออนไลน์ของลาวมากที่สุด คือ อัตราค่าไฟฟ้าที่ประกาศใช้ใหม่ แพงกว่าอัตราเดิมถึงเกือบ 1 เท่าตัว โดยเฉพาะในภาคที่อยู่อาศัย และราคาไฟฟ้าที่ใช้ใหม่ จะมีการปรับขึ้นทุกเดือน ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2568 ไปจนถึงเดือนธันวาคม 2572!!!

ยกตัวอย่างค่าไฟฟ้าที่มีการปรับใหม่ เช่น

-ผู้ใช้ภาคที่อยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ 0-25 กิโลวัตต์/ชั่วโมง(kWh) ค่าไฟเดือนมกราคม 2568 อยู่ที่ 355 กีบ/kWh เดือนกุมภาพันธ์เพิ่มเป็น 641 กีบ/kWh เดือนมีนาคมเพิ่มเป็น 648 กีบ/kWh…

-ผู้ใช้ภาคที่อยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ 26-150 kWh ค่าไฟเดือนมกราคม 2568 อยู่ที่ 422 กีบ/kWh เดือนกุมภาพันธ์เพิ่มเป็น 710 กีบ/kWh เดือนมีนาคมเพิ่มเป็น 719 กีบ/kWh…

-ผู้ใช้ภาคที่อยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ 151-300 kWh ค่าไฟเดือนมกราคม 2568 อยู่ที่ 815 กีบ/kWh เดือนกุมภาพันธ์เพิ่มเป็น 1,119 กีบ/kWh เดือนมีนาคมเพิ่มเป็น 1,136 กีบ/kWh…
ฯลฯ

(ดูรายละเอียดอัตราค่าไฟฟ้าที่ประกาศใช้ใหม่ที่นี่ https://www.facebook.com/share/p/16BLc3CNk9/)

วันที่ 14 มีนาคม 2568 หลังการพบกันของรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศลาวและจีน ที่กรุงปักกิ่ง เพียง 1 วัน กระทรวงการเงินลาว ได้จัดแถลงข่าวเปิดขายพันธบัตรรัฐบาลชุดใหม่ผ่านตลาดหลักทรัพย์ลาว โดยออกพันธบัตรมาขายพร้อมกันทีเดียว 4 สกุลเงิน ได้แก่ พันธบัตรเงินกีบ พันธบัตรเงินดอลลาร์สหรัฐ พันธบัตรเงินบาท และพันธบัตรเงินหยวน

ตารางอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล 4 สกุลเงิน ที่มาภาพ : ข่าวเศรษฐกิจ-สังคม

มูลค่าพันธบัตรแต่ละสกุลเงินที่เปิดขาย ประกอบด้วย พันธบัตรเงินกีบ วงเงิน 2,700 พันล้านกีบ พันธบัตรเงินดอลลาร์ 100 ล้านดอลลาร์ พันธบัตรเงินบาท 6,500 ล้านบาท และพันธบัตรเงินหยวน 500 ล้านหยวน

พันธบัตรที่เปิดขาย มีอายุตั้งแต่ 1-10 ปี จ่ายดอกเบี้ยปีละ 2 ครั้ง หรือทุก 6 เดือน อัตราดอกเบี้ยที่จ่ายแตกต่างไปตามแต่อายุและสกุลเงิน โดยพันบัตรเงินกีบ อายุ 1 ปี ให้อัตราดอกเบี้ย 5.80% อายุ 2 ปี 6.90% อายุ 3 ปี 7.60% อายุ 5 ปี 7.75% อายุ 7 ปี 7.90% และอายุ 10 ปี 8.15%

พันธบัตรสกุลเงินดอลลาร์ บาท และหยวน อายุ 1 ปี อัตราดอกเบี้ย 5% อายุ 2 ปี 5.5% อายุ 3 ปี 6% อายุ 5 ปี 7% อายุ 7 ปี 7.5% และอายุ 10 ปี 8%

มีการแต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์ BCEL-KT บริษัทหลักทรัพย์ ลาว-จีน และบริษัทหลักทรัพย์ LDB-S เป็นตัวแทนจำหน่าย ร่วมกับธนาคารพาณิชย์อีก 7 แห่ง คือ ธนาคารการค้าต่างประเทศ ธนาคารส่งเสริมกสิกรรม ธนาคารพัฒนาลาว ธนาคารเอสที ธนาคารพงสะหวัน ธนาคารมารูฮานแจแปนลาว และธนาคารแห่งประเทศจีน(ฮ่องกง)

วิเลด กินนาวง(ที่ 2 จากซ้าย) หัวหน้ากรมหนี้สินสาธารณะ กระทรวงการเงิน แถลงข่าวการจำหน่ายพันธบัตรรัฐบาลประจำปี 2568 พร้อมกัน 4 สกุลเงิน ที่มาภาพ : ข่าวเศรษฐกิจ-สังคม

วิเลด กินนาวง หัวหน้ากรมหนี้สินสาธารณะ ชี้แจงว่า กระทรวงการเงินเริ่มขายพันธบัตรรัฐบาลผ่านตลาดหลักทรัพย์มาตั้งแต่ปี 2561 เริ่มจากพันธบัตรเงินกีบเพียงสกุลเดียว ต่อมาปี 2563 เริ่มขายพันธสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ตามด้วยพันธบัตรเงินบาทในปี 2566 และสกุถเงินหยวนในปี 2567

วงเงินที่สามารถระดมจากการขายพันธบัตรในช่วงที่ผ่านมา แบ่งเป็น เงินกีบ 11,400 พันล้านกีบ เงินดอลลาร์ 350 ล้านดอลลาร์ เงินบาท 15,500 ล้านบาท และเงินหยวน 500 ล้านหยวน

……

สปป.ลาว มุ่งมั่นให้ประเทศเป็น”แบตเตอรี่ของอาเซียน” มุ่งสร้างรายได้เข้าประเทศด้วยการเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าขายให้กับประเทศเพื่อนบ้าน

แต่ที่ผ่านมา เส้นทางการเป็นแบตเตอรี่อาเซียนของลาว ก็ใช่จะราบรื่นตลอดรอดฝั่ง มีตัวแปรและอุปสรรค ปรากฏขึ้นเป็นระยะ ทำให้รายได้ที่คาดว่าจะได้รับ ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง

“สถานะ”ของ”แบตเตอรี่ของอาเซียน” ย่อมสะท้อนถึง “สถานะ” ของประเทศ ด้วยเช่นกัน…

  • “แบตเตอรี่อาเซียน” … ได้เวลาชาร์จไฟ?