ThaiPublica > คอลัมน์ > ความรักชาติคือความก้าวหน้า เราจะสอนให้นักเรียนรักชาติแบบสากลอย่างไร ในยุคปัจจุบัน

ความรักชาติคือความก้าวหน้า เราจะสอนให้นักเรียนรักชาติแบบสากลอย่างไร ในยุคปัจจุบัน

23 มีนาคม 2025


เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์

ผมไปสหรัฐอเมริกาติดกัน 2 ฤดูกาลเลือกตั้งล่าสุด แม้ว่าครั้งหลังจะเป็นการไปแวะอยู่ไม่นานเพื่อต่อเครื่องไปอเมริกากลาง แต่สิ่งที่เห็นเด่นชัดอยู่ทุกครั้ง เช่นเดียวกับทุกคน คือ รถกระบะยกสูงคันโตโบกสะบัดธงชาติอเมริกันผืนใหญ่และเพลงคันทรีดังสนั่น ซึ่งก็เดาได้ว่า Donald Trump จะถูกติ๊กในบัตรเลือกตั้งของเขาในไม่กี่วันข้างหน้า

ผลสำรวจของ FiveThirtyEight ในปี 2018 พบว่า 72% ของผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกันระบุว่าตนเอง “รักชาติมาก” ขณะที่มีเพียง 29% ของผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครตที่ตอบแบบเดียวกัน ดูเหมือนว่าความรักชาติจะเกี่ยวข้องกับฝ่ายขวามากกว่า และพวกรีพับลิกันก็ชอบสถิติเช่นนี้ เพราะมันเปิดโอกาสให้พวกเขาได้กล่าวหาเดโมแครตว่า “เกลียดอเมริกา”

เมื่อพิจารณาจากอุดมการณ์พื้นฐานของทั้งสองพรรคว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น คงไม่เกินเลยที่จะสรุปว่า ฝ่ายอนุรักษนิยมให้คุณค่ากับ “ขนบธรรมเนียมและสถาบันเดิม” และต่อต้านการเปลี่ยนแปลงทางสังคมครั้งใหญ่ ในทางกลับกัน ฝ่ายก้าวหน้ามุ่งเน้นไปที่ “การเปลี่ยนแปลงทางสังคม” พยายามปฏิรูปสถาบันที่มีอยู่ และมีแนวโน้มที่จะท้าทายอำนาจมากกว่า สิ่งนี้เองเป็นโศกนาฏกรรมทางการเมืองยุคใหม่ ที่ทำให้หลายคนเชื่อว่า “คุณต้องเป็นฝ่ายอนุรักษนิยมถึงจะรักชาติได้” อีกนัยหนึ่งคือ ความรักชาติถูกผูกขาดเป็นเรื่องของฝ่ายขวาเท่านั้น

2 คำที่เกี่ยวข้องกับข้อความข้างต้น คือ Nationalist และ Patriot ซึ่งแปลว่า ชาตินิยมและรักชาติตามลำดับ ในภาพรวมคือความภาคภูมิใจในประเทศของตน แต่ทั้งสองคำมีความหมายและนัยทางการเมืองที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะในบริบทของประวัติศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย

หากจะขยายความอีกนิด “ความรักชาติ” คือการแสดงความรักต่อประเทศ โดยมุ่งไปที่การพัฒนาประเทศและแก้ไขปัญหาเพื่อทำให้ชาติดีขึ้น ในขณะที่ “การยึดถือชาตินิยม” ตั้งอยู่บนความเชื่อว่า ชาติของตนเหนือกว่าชาติอื่น และให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์ทางเชื้อชาติ วัฒนธรรม หรืออำนาจของประเทศของตนมากกว่าความร่วมมือระดับโลก

ความรักชาติที่แท้จริงคืออะไร ในความหมายที่ลึกซึ้งที่สุด สามารถนิยามได้ว่า “เป็นความรักต่อสังคมของเรา” เป็นความรักที่ไม่ได้หมายถึงการสนับสนุนทุกสิ่งที่มีอยู่อย่างไม่มีเงื่อนไข ไม่ว่าเรื่องนั้นจะถูกต้องหรือไม่ก็ตาม แต่ที่อยู่บนความจริงที่ว่า เราจะต้องไม่เพิกเฉยต่อปัญหาที่สามารถแก้ไขได้ ความรักที่แท้จริงต้องมาพร้อมกับความกล้าหาญที่ชี้ให้เห็นจุดซึ่งต้องปรับปรุง แม้ว่าเรื่องนั้นจะเจ็บปวดก็ตาม

ในทำนองเดียวกัน ความรักชาติที่แท้จริงไม่ได้มาจากการโบกธงหลังรถกระบะ แต่คือสิ่งที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา “A More Perfect Union” และอาจหมายถึง การเข้าร่วมการประท้วง ต่อต้านกฎหมายและระบบที่ไม่เป็นธรรม และหมายถึง การเลือกตั้งผู้นำที่เคารพประชาธิปไตย และไม่เคยพยายามล้มการเลือกตั้งที่ชอบธรรม

ความไม่ไว้วางใจรัฐบาลและชนชั้นนำ ปัญหาการคอร์รัปชัน และความไม่ชอบธรรมโดยรัฐ ส่งผลให้แนวคิดเรื่องความรักชาตินี้กลายเป็นเครื่องมือในการควบคุมประชาชน รวมไปถึงคนรุ่นใหม่ที่เติบโตในโลกซึ่งเชื่อมโยงกัน มีความรู้สึกถึงการเป็น “พลเมืองโลก” มากกว่าการมีอัตลักษณ์แบบชาติเดียว คนรุ่นใหม่นี้เองยังมีแนวโน้มที่จะมองว่า ความรักชาติต้องไม่เป็นเครื่องมือจำกัดเสรีภาพของบุคคล เช่น การบังคับให้แสดงความศรัทธา รวมถึงเห็นประสบการณ์ที่ผิดพลาดในอดีตของฝ่ายที่ผูกขาดความรักชาติไว้ในหลายกรณี เช่น รัฐบาลหรือกลุ่มอนุรักษนิยมที่ใช้ความรักชาติเป็นเครื่องมือในการกดทับความเห็นต่าง นอกจากนี้ แนวคิด “Post-nationalism” ตั้งคำถามมาช้านานแล้วว่า รัฐชาติยังจำเป็นอยู่หรือไม่ในโลกที่เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และปัญหาระดับโลก (เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) เกี่ยวโยงกันมากขึ้น และไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยชาติใดชาติหนึ่ง

อีกนัยหนึ่ง ในยุคโลกาภิวัตน์ที่โลกเชื่อมโยงกันหมดแล้ว ซึ่งมีคำถามมากมายต่อความเป็น “รัฐชาติ” (nation-state) ครอบคลุมไปถึงคำถามที่ว่า เหตุใดแล้วเราจึงจะต้องปกป้องผลประโยชน์ของพลเมืองและวัฒนธรรมของเรา เหตุใดความสามัคคีและความรับผิดชอบต่อสังคมจึงยังสำคัญ เราจึงจำเป็นต้องท้าทายไอเดียความรักชาติแบบเดิม และถกเถียงกันถึงความรักชาติแบบก้าวหน้า

ในมุมมองทางเศรษฐกิจและการเมือง แนวคิด Liberal Nationalism หรือ Progressive Patriotism หรือ Global Patriotism ในความหมายเดียวกัน ซึ่งแปลได้ว่า ความรักชาติแบบสากล ตั้งอยู่บนฐานที่ว่า เราควรจะสนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศ ลดการพึ่งพาต่างชาติ และปกป้องอธิปไตยจากอิทธิพลของอำนาจหรือบรรษัทข้ามชาติ รวมถึงพัฒนาวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของชาติให้ยืนอย่างมั่นคงท่ามกลางกระแสโลกได้อย่างไร

หันกลับมามองที่ประเทศไทย จากข่าวล่าสุดทั้งเรื่องชุมชนชาวยิวในปาย จีนสีเทาในไทย และนโยบายการเปิดรับนักท่องเที่ยวที่เน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ ล้วนนำไปสู่คำถามที่ว่า การที่รัฐบาล (รวมถึงพรรคร่วมและพรรคฝ่ายค้านอื่นๆ ที่เพิกเฉยต่อกรณีเหล่านี้) เดินบนเส้นทางนี้ต่อไป ถูกต้องแล้วหรือ

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวชาวอิสราเอลจำนวนมากเดินทางมาที่ปาย จนกลายเป็นชุมชนกึ่งถาวร และสร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ การล้นทะลักเข้ามาในลักษณะนี้ ควรร่วมกันแก้ปัญหาผ่านการใช้นโยบายและกฎระเบียบบริหารจัดการนักท่องเที่ยวให้สมดุล และสนับสนุนแนวคิดเมืองท่องเที่ยวที่ยั่งยืน เพื่อให้ทั้งนักท่องเที่ยวและคนท้องถิ่นได้รับผลประโยชน์ มากกว่าการเหมารวมว่าชาวยิวกำลังทำลายปาย ซึ่งจะกลายเป็นเงื่อนไขให้ฝ่ายอนุรักษนิยมแบบสุดโต่งเรียกร้องให้ชาวต่างชาติถูกควบคุมหรือไล่ออก โดยวาทกรรมความเป็นภัยต่อวัฒนธรรมท้องถิ่น จนเกิดแนวคิดต่อต้านกลุ่มชาติพันธุ์และความเชื่อที่แตกต่าง รวมถึงนโยบายการกีดกันห้ามเข้าประเทศ

หรือกรณีกลุ่มอาชญากรจีนสีเทาที่ใช้ไทยเป็นฐานหรือทางผ่านในการแทรกซึมธุรกิจผิดกฎหมาย ทั้งการค้าสารเสพติด เปิดคาสิโนออนไลน์ ฟอกเงินผ่านอสังหาริมทรัพย์ และสแกม ซึ่งอย่างหลังกำลังเล่นกับความจริงใจและความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจของผู้คนในสังคม สิ่งที่ควรเกิดขึ้นไม่ใช่การต่อต้านชาวจีนทั้งหมด นำไปสู่การเกลียดชังชาวต่างชาติ (Xenophobia) และเป็นประตูสู่การทำลายโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่คือการบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติ อุดรูรั่วช่องว่างการกฎหมาย เป็นการมองว่า สิ่งนี้คือปัญหามาจากระบบและการคอร์รัปชัน ไม่ใช่ความเป็นเชื้อชาติของคนจีน ซึ่งสองกรณีนี้คือสิ่งที่เราควรถามว่า เราจะปกป้องผลประโยชน์ของชาติอย่างไร โดยไม่กลายเป็นการเหยียดเชื้อชาติหรือการกระทำสุดโต่ง หากแนวคิดชาตินิยมสุดโต่งคือ การเรียกร้องจนนำไปสู่การเหมารวมและแนวคิดต่อต้านต่างชาติ ความรักชาติแบบก้าวหน้าต้องเชื่อว่า สิ่งนี้จะถูกแก้ปัญหาด้วยกฎหมายและนโยบายที่สมเหตุสมผล

เมื่อมองในบริบทโรงเรียนแล้ว ความรักชาติแบบก้าวหน้านี้ แตกต่างจากค่านิยมที่ถูกปลูกฝังผ่านระบบบนการต่อต้านของคนรุ่นใหม่ ซึ่งเน้นการบังคับผ่านการยืนเคารพธงชาติทุกเช้า หรือจัดบอร์ดส่งเสริมค่านิยม 12 ประการ แต่ควรเป็นแนวทางที่ทำให้คนรุ่นใหม่ “รู้สึกเป็นเจ้าของประเทศ” และอยากมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมของตนเอง เช่น สอนให้เข้าใจประวัติศาสตร์อย่างรอบด้าน ไม่ใช่แค่การยกย่องชาติ แต่รวมถึงการเรียนรู้ข้อผิดพลาดของประเทศและแนวทางพัฒนา, ทำให้นักเรียนเห็นความสำคัญของการปกป้องอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการในประเทศ สนับสนุนธุรกิจในประเทศ เทคโนโลยีท้องถิ่น และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์, ทำให้ความรักชาติเชื่อมโยงกับความเป็นธรรม ให้คนรุ่นใหม่และทุกๆ คนรักประเทศมากขึ้น เป็นความรู้สึกว่า ชาติเป็นของทุกคน ไม่ใช่ของคนบางกลุ่ม, ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางสังคม

ไม่ใช่แค่ให้รักชาติแบบท่องจำ แต่ให้ประชาชนมีพื้นที่แสดงออกในการพัฒนาประเทศ รวมถึงสนับสนุนความรักชาติที่มีความหมายเปิดกว้าง

ไม่ใช่แค่การรักรัฐบาลหรือศรัทธาต่อชนชั้นนำ แต่คือการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ สิ่งแวดล้อม และปัญหาในระดับสากล เป็นความรักชาติที่ยืดหยุ่น มีเหตุผล และเปิดกว้างต่อความแตกต่าง

ไม่ใช่เครื่องมือของรัฐในการควบคุมประชาชน ความรักชาตินี้ช่วยให้ประชาชนมีบทบาทในการสร้างชาติ ไม่ใช่แค่เชิดชูอดีต แต่ต้องทำให้ชาติเป็นสถานที่ที่น่าอยู่สำหรับทุกคนในปัจจุบันและอนาคต เป็นความรักที่ตั้งอยู่บนรากฐานของการเปิดรับการพัฒนาและเปลี่ยนแปลง บนความเชื่อต่อความเป็นธรรมทางสังคมและสิทธิพลเมือง ไม่เป็นการบังคับให้ใครต้องมารัก แต่สร้างสังคมที่ประชาชนเป็นเจ้าของและดูแลกันและกัน

โดยสรุปคือ ความรักชาติไม่ใช่การร้องเพลงชาติ แต่คือความเชื่อที่ว่า เราจะช่วยกันให้สังคมนี้ดีขึ้นสำหรับทุกคน

ไอเดียส่งเสริมความรู้สึกเป็นเจ้าของประเทศในโรงเรียน

ความรู้สึกว่า เราไม่ได้เป็นคนดูข้างสนาม แต่เป็นผู้เล่นคนสำคัญในการพัฒนาสังคม คือสิ่งที่ควรได้รับการส่งเสริมในโรงเรียนก่อนที่คนรุ่นใหม่จะถอยห่างจากการเมือง ผ่านการทำให้นักการเมืองและชนชั้นนำกลายเป็นเพียงมีมตลกไว้ขำขัน (memeified) มากกว่าความกล้าหาญที่จะตรวจสอบ ตั้งคำถาม และเปลี่ยนแปลง

แทนที่จะสอนให้นักเรียน “รักชาติแบบคลั่งชาติ” (Blind Nationalism) โรงเรียนต้องสนับสนุนให้เกิดแนวคิด “รักชาติแบบก้าวหน้า” (Progressive Patriotism) ซึ่งหมายถึง การรักชาติผ่านการพัฒนา สร้างสังคมที่เป็นธรรม และเคารพคุณค่าประชาธิปไตย

ส่วนจะสอนอย่างไร คงเป็นเรื่องที่สถานศึกษาต้องมีส่วนร่วมในการออกแบบ ซึ่งควรอยู่บนแนวทางหลักอย่างน้อย 5 ประการ
1. ให้นักเรียนเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่แค่รับฟัง
2. สอนให้รักชาติผ่านการลงมือทำ (Active Citizenship)
3. เน้นการพัฒนาชาติ ไม่ใช่แค่เชิดชูสัญลักษณ์
4. ส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
5. สร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของประเทศที่แท้จริง

ส่วนสุดท้ายของบทความนี้ อาจเป็นไอเดียให้โรงเรียนได้มีกิจกรรมส่งเสริมให้ผู้เรียนเชื่อมโยงตัวเองกับสังคมไทยและสังคมโลก เช่น

  • แทนที่จะให้นักเรียนเขียนว่า “ฉันรักประเทศไทยเพราะ…” เปลี่ยนเป็น “ฉันจะเปลี่ยนแปลงให้ประเทศไทยดีขึ้นอย่างไร”
  • ชวนทำ “รัฐธรรมนูญฉบับนักเรียน” (Student Constitution) ให้ผู้เรียนรู้ว่า ตัวเขาเองมีความเป็นเจ้าของ (Sense of Belonging) และบทบาทในการกำหนดสังคมอย่างไร ด้วยสิทธิและหน้าที่ที่มี ให้นักเรียนได้เรียนรู้หลักประชาธิปไตยตั้งแต่ในโรงเรียน
  • กิจกรรมสำรวจปัญหาในชุมชนรอบโรงเรียน เช่น ขยะล้นถนน ทางม้าลายอันตราย การใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลือง และให้นักเรียนได้เสนอวิธีการแก้ปัญหาและลงมือทำจริงทั้งกิจกรรมเฉพาะหน้าและกิจกรรมที่ยั่งยืน สิ่งนี้เองจะทำให้นักเรียนเรียนรู้ว่า การรักชาติหมายถึงการทำให้ที่ที่เราอยู่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
  • เปิดเวทีระดมไอเดียและอภิปรายปัญหาประเทศ ตั้งประเด็นที่เกี่ยวกับโครงสร้างทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การศึกษา กฎหมาย นโยบาย เช่น ควรเปลี่ยนวิธีสอนประวัติศาสตร์ไทยให้ทันสมัยขึ้นอย่างไร เราควรสนับสนุนคุณภาพชีวิตของแรงงานนอกระบบอย่างไร เราจะทำให้กระทรวงวัยรุ่นเกิดขึ้นจริงได้อย่างไร บนไอเดียที่ว่า ประเทศที่ดีต้องมีการถกเถียงและรับฟังความเห็นที่แตกต่าง
  • ชวนนักเรียน ออกแบบอนาคตประเทศ เช่น การคิดถึง 10 สิ่งที่อยากให้เป็น นโยบายที่เขาอยากให้มี ฝันถึงอนาคตสังคมหลังเรียนจบ ทำให้เขาเรียนรู้ว่า ความรักชาติที่แท้จริงคือ การมองไปข้างหน้าและสร้างอนาคตที่ดีขึ้น
  • ทำให้นักเรียนรู้จักสิทธิและหน้าที่ของเรา ให้การรักชาติไม่ใช่การเชื่อฟังรัฐ แต่คือการรู้จักสิทธิของตัวเอง เช่น สอนให้ผู้เรียนรู้ว่า หากมีความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น เขาจะมีส่วนร่วมในการแก้ไขอย่างไรได้บ้าง
  • เรียนรู้ คนมากความสามารถที่หลากหลาย ไม่ใช่แค่เจ้าผู้ปกครองหรือวีรบุรุษทางทหาร แต่รู้จักนักสิ่งแวดล้อม นักเคลื่อนไหวทางสังคม ศิลปิน นักวิทยาศาสตร์ หรือชาวต่างชาติ ที่ช่วยพัฒนาประเทศ ให้เห็นว่า การร่วมกันทำให้ประเทศนี้ดีขึ้นเป็นเรื่องของทุกคน
  • กิจกรรม “เรื่องราวจากคนรุ่นก่อน” ให้นักเรียนเรียนรู้จากอดีตผ่านเรื่องเล่าของสามัญชน เช่น สัมภาษณ์ ปู่ ย่า ตา ยาย หรือผู้สูงอายุในชุมชน ชีวิตเมื่อ 50 ปีที่แล้วเป็นอย่างไร อะไรที่คิดว่าประเทศเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น มีอะไรที่อยากให้คนรุ่นใหม่ช่วยแก้ไข ให้ความรักชาติไม่ใช่แค่เรื่องอดีต แต่คือความเข้าใจว่า เราจะต่อยอดอนาคตจากอดีตได้อย่างไร
  • กิจกรรม “ผู้นำแห่งอนาคต” จำลองให้นักเรียนได้กำหนดนโยบายมีผลต่อประเทศ เช่น ให้จำลองบทบาทสำคัญในประเทศ ระดมความคิดถึงนโยบายด้านต่างๆ เช่น จะทำอย่างไรให้ไทยเป็นประเทศที่โปร่งใสได้อย่างไร จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในไทยอย่างไรดี ควรเปลี่ยนแปลงอะไรในระบบการศึกษา เตรียมพร้อมให้นักเรียนมีบทบาทในการกำหนดทิศทางประเทศ
  • รักชาติในความหมายที่ครอบคลุมถึงธรรมชาติด้วย (Eco-Patriotism) เช่น ช่วยกันทำให้ห้องเรียนและที่บ้านเป็น Zero Waste ช่วยกันดูแลแหล่งน้ำใกล้โรงเรียน ศึกษาสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติรอบชุมชน เปลี่ยนวันลอยกระทงให้เป็นวันขอบคุณแม่น้ำ ลดกิจกรรมก่อให้เกิดมลภาวะ เช่น พานไหว้ครูใช้แล้วทิ้ง
  • กิจกรรมสร้างวิจารณญาณในการรับชม (Media Literacy & Civic Engagement) ชวนนักเรียนวิเคราะห์ข่าวและสื่อถึงอิทธิพลต่อสังคม การเมือง วัฒนธรรมที่เขาสนใจ รวมถึงตรวจสอบการนำเสนอข่าวที่บิดเบือน
  • ทัศนศึกษาแบบมีส่วนร่วม นอกจากจะเป็นทริปไปเที่ยวเพื่อความสนุกสนานแล้ว ยังสามารถชวนนักเรียนไปศึกษาสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม พื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติ ชุมชนต้นแบบด้านการจัดการทรัพยากรแหล่งน้ำ ชุมชนที่อยู่ร่วมกันบนความหลากหลายทางวัฒนธรรม ล่องเรือไฟฟ้าชมวัฒนธรรมริมน้ำ มูลนิธิที่ส่งเสริมสิทธิและคุณภาพชีวิตพี่น้องชาติพันธุ์ หรือไปเยี่ยมชมกิจการเพื่อสังคมที่ใช้นวัตกรรมแก้ปัญหาประเทศ
  • เขียนจดหมายถึงนายกฯ และชวนผู้นำท้องถิ่นมารับฟังความคิดเห็นนักเรียน ให้นักเรียนรู้ว่า เขาสามารถมีบทบาทในการแสดงความคิดเห็นกับผู้นำ ในฐานะพลเมืองเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ