ThaiPublica > คอลัมน์ > เริ่มต้นชีวิตใหม่ คุยกับวัยรุ่นหลังความสัมพันธ์เลวร้ายจบลง

เริ่มต้นชีวิตใหม่ คุยกับวัยรุ่นหลังความสัมพันธ์เลวร้ายจบลง

25 มีนาคม 2024


เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์

“แฟนเราคนนั้นไม่ใช่คนอารมณ์ร้อน เวลาทะเลาะกันครั้งแรกๆ ก็ไม่มีอะไร แต่พอเวลาโมโห เค้าก็ลงไม้ลงมือ เราอยู่กับความสัมพันธ์แบบนี้มาหลายปี และตัดสินใจไปหาจิตแพทย์ แต่วันนี้เราออกจากความสัมพันธ์นั้นแล้ว”

ผู้ให้สัมภาษณ์กล่าวกับผู้เขียนว่า ความรุนแรงในความสัมพันธ์นำไปสู่อาการวิตกกังวลจนไปหาจิตแพทย์ แต่อาการเจ็บป่วยทางกายไม่ใช่เรื่องถาวร เช่นเดียวกับการป่วยทางใจ บทความนี้จะพามาสำรวจผู้ป่วยสุขภาพจิตว่า เมื่อมองย้อนกลับไป เขามองตัวเองตอนที่ป่วยเป็นอย่างไร หายป่วยได้ยังไง แล้วเขาเลือกที่จะใช้ชีวิตต่อไปจากวันนี้และในอนาคตอย่างไร เมื่อเขาไม่ต้องอยู่กับอาการป่วยใจอีกแล้ว…ในวันที่หายป่วยใจ…เมื่อผู้ให้สัมภาษณ์ตัดสินใจออกจาก abusive relationship และเริ่มต้นชีวิตใหม่

“เหมือนขึ้นอยู่กับอารมณ์แฟน บางวันเค้าก็อารมณ์ดี บางวันมีเรื่องไม่ค่อยน่าพอใจก็ดูนิ่งๆ เราก็พยายามไม่เข้าไปยุ่ง เพราะกลัวจะไปกระตุ้นอารมณ์เค้า” ความสัมพันธ์ที่ดูเหมือนเดินอยู่บนเปลือกไข่ที่ไม่รู้จะแตกออกเมื่อไรนี้ นำมาซึ่งความไม่แน่นอนทางอารมณ์และส่งผลต่อความสัมพันธ์ “พอเค้าใจเย็นลงก็เข้ามาง้อบ้าง ส่วนใหญ่เราเป็นฝ่ายง้อและขอโทษเค้ามากกว่า ทั้งที่หลายครั้งก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองทำผิดนะ และเค้าก็ใช้กำลังก่อนตลอด”

“จนวันหนึ่งเพื่อนแนะนำให้ลองคุยกับจิตแพทย์ดู เพราะเห็นเราวิตกกังวล และคงได้ยินเราปรับทุกข์เรื่องความสัมพันธ์บ่อยๆ จนถึงวันนี้เราว่า เราเรียนรู้หลายๆ อย่าง”

การใช้กำลังกันในความสัมพันธ์ โดยเฉพาะของคู่รักนั้นแสดงออกผ่านหลายรูปแบบ เช่น การทำร้ายทางอารมณ์ ถูกด่าทอ ถูกทำให้รู้สึกแย่ ไปจนถึงการทำร้ายร่างกาย

ผู้ให้สัมภาษณ์บอกกับเราว่า สิ่งที่ดีที่สุดคือการตัดสินใจยุติความสัมพันธ์ลงให้ได้ และให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ ระหว่างทางของการจบความสัมพันธ์นี้เอง เป็นเรื่องที่แต่ละคนต้องเรียนรู้วิธีการจัดการกับมัน และพยายามก้าวต่อไปให้ได้

“เราเองเราว่า มันยากนะที่จะขอความช่วยเหลือ เอาแค่ต้องบอกเพื่อนๆ ว่าถูกแฟนทำร้ายก็แย่แล้ว กลัวคนอื่นมองเราหรือมองแฟนไม่ดี หรือฟังแล้วไม่เชื่อเรา แต่นี่เป็นขั้นตอนแรกเลยของการเยียวยา เราต้องเชื่อว่าจะมีคนรับฟังและสนใจความรู้สึกเรา” การขอรับการช่วยเหลือเป็นเรื่องสำคัญ ปัจจุบันมีหน่วยงานจำนวนมากที่สามารถให้คำปรึกษาและความช่วยเหลือได้ หากเราถูกทำร้าย

“เราเรียนรู้ว่า เราไม่ควรขอโทษเมื่อเราไม่ได้ทำผิด และเราไม่ควรปล่อยให้เกิดพฤติกรรมรุนแรง” หลายครั้งคนที่ชอบทำร้ายมักจะทำให้อีกฝ่ายเชื่อว่าอีกฝ่ายนั้นเป็นคนทำผิด และการที่ถูกทำร้ายนั้นเป็นเรื่องชอบธรรมแล้ว เป็นการทำโทษ เป็นการจัดการกับความผิดของเรา แต่จริงๆ การที่แฟนทำร้ายเรามันไม่ใช่ความผิดของเรา แม้ว่าการทำร้ายนั้นอาจเป็นการทำร้ายทางอารมณ์ หรือเป็นการทำร้ายร่างกาย โดยไม่ได้รุนแรงเหมือนในข่าว ความรุนแรงที่เกิดขึ้นแม้จะแค่ครั้งเดียว ก็มักนำไปสู่ความรุนแรงที่มากขึ้นในอนาคต

“เวลาคนทะเลาะกัน จิตแพทย์บอกว่า สิ่งที่เราควรทำคือการทำให้อารมณ์สงบลง เพื่อควบคุมสถานการณ์ แต่สิ่งที่มักเกิดขึ้นคือ ต่างฝ่ายต่างทำให้การทะเลาะหนักขึ้นไปอีก ส่วนที่แย่ที่สุดของการถูกทำร้ายคือ มันมักจะหยุดลงเมื่อเราไม่โต้ตอบ” หลังจากพบจิตแพทย์ได้ระยะหนึ่ง ผู้ให้สัมภาษณ์ก็ตัดสินใจวางแผนยุติความสัมพันธ์ “เราว่า เรื่องที่คนเป็นแฟนมีพันธะต่อกัน เช่น สัตว์เลี้ยง ธุรกิจ การรู้จักครอบครัวของอีกฝ่าย ไม่ใช่เรื่องที่จะมานั่งเสียดาย หากความสัมพันธ์มันต้องจบลง”

“มีเพื่อนเรา ตอนเลิกกับแฟน แฟนก็ตามมาเจอ เพราะแชร์ GPS ร่วมกันในโทรศัพท์ ต้องพยายามอธิบายอยู่นานกว่าจะยอมกลับบ้าน” การคิดถึงสถานที่ที่ปลอดภัยหลังการจบความสัมพันธ์เป็นเรื่องสำคัญ ทั้งหมดนี้เพื่อรักษาความปลอดภัยของตัวเราเอง การยุติความสัมพันธ์อย่างปลอดภัยเป็นเรื่องที่เราต่างต้องเรียนรู้ และไม่ควรให้โอกาส หากเราตัดสินใจยุติความสัมพันธ์ลงแล้ว

“หลังเลิกกันประมาณ 3 เดือน เราก็ยังไปหาจิตแพทย์อยู่ตลอดนะ กินยาตามที่หมอสั่ง เดือนแรกๆ หนักมาก เหมือนความปกติของชีวิตมันเปลี่ยนไป แต่พอเราเริ่มอยู่ด้วยตัวเองได้ เราเหมือนได้ชีวิตใหม่ ไม่ต้องคอยกลัวว่าใครจะมาจับผิด หรือทำอะไรไม่ถูกใจใครแล้วจะถูกใช้กำลัง หรือจะมีใครมาบังคับให้เราทำนู่นทำนี่” สุดท้ายเราต่างต้องก้าวต่อไปและรักชีวิตตัวเอง

หลังความสัมพันธ์แบบ abusive จบสิ้นแล้ว ก็เป็นเวลาให้เราเริ่มสร้างทางเดินของเราขึ้นมาอีกครั้ง ไม่มีคำว่าสายไปสำหรับทางเดินที่ปลอดภัยจากความรุนแรง “เราเรียนรู้ว่า ไม่ใช่เรื่องผิดเลยที่หลังเลิกกันแล้วเราจะนอนร้องไห้บนเตียง ไม่ทำอะไร แทบจะไม่กินอะไรเกือบสัปดาห์ เรามองมันเป็นหนึ่งในขั้นตอนที่เกิดขึ้น และหลังจากนั้น มันคุ้มค่ามาก เหมือนผ่านพายุฝน เหมือนคลื่นลมสงบแล้ว เราได้เจอกับความสุข”

ผู้ให้สัมภาษณ์แนะนำว่า ต้องเมตตากับตัวเอง ไม่กลับไปในวังวนของคนที่ทำร้ายเราอีก ปล่อยวางอดีต ปล่อยวางความกลัวลง แล้วมีความสุขอย่างเต็มเปี่ยมกับชีวิตอีกครั้ง เราไม่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของคนที่ทำร้ายเราอีกแล้ว