ThaiPublica > คอลัมน์ > บทเรียนจากนักศึกษาที่เป็นอาจารย์ไปพร้อมๆ กัน

บทเรียนจากนักศึกษาที่เป็นอาจารย์ไปพร้อมๆ กัน

27 กุมภาพันธ์ 2024


เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์

อาจารย์และนักศึกษามักเป็น 2 บทบาทที่แตกต่างกัน ผมได้พูดคุยกับวัยรุ่นที่ครั้งหนึ่งขณะยังเรียนอยู่ก็มีโอกาสได้ไปเป็นอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัยเป็นเวลา 3 เดือน มุมมองหลายอย่างจึงเริ่มเปลี่ยนไปเมื่อต้องทำ 2 หน้าที่นี้ควบคู่กัน

ขณะที่ยังเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัย เราจะรู้สึกว่า การทำคะแนนให้ได้ในแต่ละงานนั้นเป็นดั่งเป้าหมายสูงสุด เพื่อจะได้ไล่ล่าเกรด และคว้าเกียรตินิยมอันดับ 1 หรืออันดับ 2 ในปลายเทอม นอกจากนี้ การเรียนในห้องยังควรที่จะต้องมีปฏิสัมพันธ์อันดีกับผู้สอน เพราะล้วนแล้วมีผลต่อคะแนนทั้งสิ้น การมาให้ตรงเวลา แต่งชุดที่สุภาพเรียบร้อยตามเงื่อนไขวิชานั้นๆ หรือแม้แต่การไม่ลาป่วย ลากิจพร่ำเพรื่อ เพราะอาจารย์หลายคนจะเช็คขาดทันที ยังไม่รวมถึงความพยายามแสดงความเคารพเพื่อผูกมิตรกับผู้สอนทางอ้อม เช่น การช่วยถือกระเป๋า เปิดเครื่องฉายโปรเจกเตอร์ และการเปิดกล้องเวลาเรียนออนไลน์อย่างสม่ำเสมอ

ผลที่ตามมาคือ การไล่ล่าคะแนนทั้งทางตรงและทางอ้อมนี้นำมาซึ่งแรงกดดันในการเรียนรู้ แทนที่จะรู้สึกสนุกสนานกับเนื้อหาวิชา กลับต้องพยายามทำตามโจทย์และการบ้านที่หลายครั้งก็เยอะเกินกว่าจะจัดการให้ทันในเวลาจำกัด แรงกดดันที่รวมๆ กันหลายวิชานี้เองคงทำให้ผู้เรียนจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะดรอป ลาออก ไปหาจิตแพทย์ หรือแย่ไปกว่านั้นคือ ทำร้ายตัวเอง เช่นที่เป็นข่าวต่อเนื่อง

ผู้ให้สัมภาษณ์ขณะเรียนอยู่ชั้นปีที่ 3 ก็ได้รับการชักชวนจากอาจารย์ที่รู้จักกันให้ไปช่วยเป็นอาจารย์พิเศษ ในรายวิชาปรัชญาชีวิต ของหลักสูตรอินเตอร์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ซึ่งในช่วงเวลานั้นยังเป็นการเรียนการสอนออนไลน์ หน้าที่ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าช่วยดำเนินการสิ่งที่รายวิชานี้เรียกว่า “กระบวนการ” เช่น การให้นักศึกษาจัดวงพูดคุย การอธิบายกรอบเนื้อหาสาระต่างๆ และวิธีการเก็บคะแนน รวมถึงการช่วยประเมินผลนักศึกษาในท้ายคาบด้วย แต่สิ่งที่พิเศษไปกว่านั้น คือการได้ร่วมออกแบบการเรียนทั้งวิชา ประเด็นเรื่องแรงกดดันในการเรียนรู้ จึงอยู่ในความสำคัญหลักของการร่างหลักสูตรนี้

อาจารย์ผู้สอนอีกคน ซึ่งเป็นผู้สอนหลัก ก็เป็นครั้งแรกของเขาเช่นกันที่เปลี่ยนบทบาทจากคนอ่านปรัชญา มาเป็นผู้สอนหนังสือ การออกแบบหลักสูตรจึงเป็นไปอย่างยืดหยุ่น เราตั้งใจให้วิชานี้ไม่มีการบ้าน เนื่องจากไม่ต้องการรบกวนเวลาส่วนตัวของนักศึกษา หากมีงานต้องทำ ก็ให้ใช้เวลาในคาบเรียน และแนะนำนักศึกษาตั้งแต่คาบแรกให้เตรียมขนมนมเนย เครื่องดื่ม ผ้าห่ม และอินเทอร์เน็ตให้พร้อมสำหรับการเรียนผ่านหน้าจอ รวมทั้งอนุญาตให้ลาได้โดยไม่เช็คชื่อขาดเรียน หากมีธุระ ป่วยกาย หรือป่วยใจ ผลปรากฏคือ ตลอด 3 เดือนในการเรียนนี้ แทบไม่มีนักศึกษาคนไหนลาเรียนเลย

ในส่วนของการออกแบบแต่ละคาบ คาบหนึ่งความยาวราว 3 ชั่วโมง มักเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามต่อหัวข้อที่เรียนในวันนั้นๆ เช่น ความสุขคืออะไร ความยุติธรรมอยู่ตรงไหน เราสามารถเกิดมาโดยไม่มีคุณค่าได้หรือไม่ เป็นต้น ก่อนจะนำเข้าสู่การบรรยายสั้นๆ ว่าแต่ละสำนักคิดมองเรื่องต่างๆ กันนี้อย่างไร และกิจกรรมในช่วงครึ่งท้าย เช่น การดูหนังและวิจารณ์ การตั้งวงพูดคุย รวมถึงคลาสสัมภาษณ์วิทยากรจากภายนอก เช่น ศิลปิน หรือ ผู้กำกับหนัง

ผู้ให้สัมภาษณ์เห็นว่า ในสภาพการเป็นอาจารย์ไปด้วยนี้ แล้วยังต้องใช้เวลาอีกครึ่งสัปดาห์ทำหน้าที่นักศึกษาไปพร้อมๆ กัน ทำให้รู้สึกกดดันกับหน้าที่หลังน้อยลงไปมาก อาจจะด้วยเพราะรู้สึกว่า ตนเองก็สอนได้ และการได้ค้นพบความจริงที่ว่า อาจารย์ที่ออกแบบการเก็บคะแนนอันกดดันนี้ก็ไม่ได้มีความเที่ยงตรงตามระบบที่ควรจะเป็นนัก ผลก็คือ จากที่ผู้ให้สัมภาษณ์ต้องเรียนและพยายามเก็บคะแนนเพื่อแข่งขันกับคนอื่นๆ อย่างดุเดือด ในอีกฟากหนึ่งผู้เรียนของผู้ให้สัมภาษณ์ก็แทบไม่ต้องใส่ใจเลยว่า เขาจะได้คะแนนเท่าไร ตราบใดที่ยังสนุกกับการเรียนรู้ที่ผู้ให้สัมภาษณ์และอาจารย์อีกคนออกแบบ สิ่งนี้ทำให้ผู้ให้สัมภาษณ์มองเป้าหมายและผลลัพธ์ในการเรียนใหม่

ในบทบาทของอาจารย์ เราต้องการให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาสาระที่สอน และรู้สึกว่าเกิดประโยชน์กับชีวิตบ้างเป็นอย่างน้อย หรือมากกว่านั้นคือ ช่วยผู้เรียนเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเผชิญกับโลกหลังเรียนจบ ไม่ใช่เป้าหมายระยะสั้น เช่น การพยายามได้คะแนน แม้จะเป็นเรื่องจำเป็นขณะเป็นนักศึกษาก็ตาม เมื่อลำดับความสำคัญใหม่ การออกแบบการเรียนรู้เลยเปลี่ยนไป ในฐานะของผู้ต้องสอน เราจึงพยายามอย่างเต็มที่ที่จะเคารพหุ้นส่วนทางการศึกษา เช่น นักเรียน ให้สามารถมีความสุขในการเรียนได้โดยไม่ต้องกดดันตัวเองมากจนเกินไป อาจคาดหวังให้มีแรงกดดันอยู่บ้าง ซึ่งเรียกว่าความท้าทาย หรือแรงกดดันเชิงบวก จะเหมาะสมกว่า เพื่อให้นักศึกษารู้สึกว่า ความรู้ที่เกิดขึ้นในห้องเป็นเพียงแรงกระตุ้นให้ไปควานหาที่สิ่งน่าสนใจต่อไปในอนาคตด้วยตัวพวกเขาเอง

พอถึงปลายเทอม ผู้เขียนในฐานะอาจารย์ได้เผชิญกับภาวะหนึ่งซึ่งทั้งมีเสน่ห์และต้องระวังไปในขณะเดียวกัน คือ การประเมินนักศึกษาแต่ละคน ผ่านเกณฑ์คะแนนที่ตั้งไว้แต่แรก การตัดสินนี้ไม่ใช่เพียงแค่การตัดสินใจง่ายๆ เช่น เย็นนี้จะไปกินข้าวร้านไหนดี แต่อยู่บนความตระหนักว่า นี่เป็นการตัดสินช่วงชีวิตของคนคนหนึ่ง ซึ่งพึงกระทำด้วยความระมัดระวัง อำนาจในการตัดสินนี้เอง ที่กลายเป็นภาระทางใจแก่ผู้ให้สัมภาษณ์อยู่หลายวัน ถึงท้ายที่สุด A จะเป็นตัวอักษรเดียวที่ปรากฏบนหน้าเกรดนักศึกษาในคลาสทุกคน

แต่ก็ได้เรียนรู้ว่า ในฐานะผู้สอน ซึ่งไม่ได้เป็นผู้ให้ความรู้อย่างเดียว แต่ยังต้องกำหนดเงื่อนไขด้วยว่า ผู้รับความรู้นั้นควรอยู่ในระดับใด สภาวะนี้เองทำให้ผู้ให้สัมภาษณ์มองอาจารย์ที่พยายามกดเกรดนักศึกษาแตกต่างออกไป แม้จะยังไม่เข้าใจในวันนี้ แต่เชื่อว่า หากอาจารย์และนักศึกษามีโอกาสสลับบทบาทกันบ้าง ต่างฝ่ายคงเห็นอีกฝั่งเป็นมนุษย์ที่ไม่ได้มีแต่บทบาทของการเรียน หรือการสอนในห้องอย่างเดียว แต่ยังต้องแบกรับแรงกดดันเรื่องอื่นๆ เท่าที่คนคนหนึ่งซึ่งต้องรับผิดชอบผลของการกระทำจะมีได้ด้วย